แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1673


    ครั้งที่ ๑๖๗๓


    สาระสำคัญ

    สติเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย (ไม่ใช่การจ้อง การดู ด้วยความเป็นตัวตน)

    การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน (เริ่มเข้าใจตั้งแต่ขั้นการฟัง)

    ม.ม.อัฏฐกนาครสูตร

    นิทานกถา คัมภีร์กถาวัตถุ - เหตุไม่ตรง ผลที่ตรงก็เกิดไม่ได้

    การศึกษาพระวินัยปิฎก เพื่อจุดประสงค์อะไร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๓๐


    ท่านผู้ฟังเล่าให้ฟังว่า เหมือนกับแมวตะครุบหนู เวลาที่กำลังจ้องดู การเคลื่อนไหวทุกอย่างๆ ดิฉันก็เรียนให้ทราบว่า ถ้าฟังคำบรรยายของดิฉันแล้ว จะไม่มีคำชี้แจงหรือการให้เป็นแมวตะครุบหนูเลย

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นการฟังธรรมหลายๆ แบบ ซึ่งยังไม่ได้แยกการ เจริญสติปัฏฐานว่า การเจริญสติปัฏฐาน คือ ตามปกติ ที่นามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และสติก็เป็นอนัตตา มีการระลึกที่จะศึกษา เมื่อใช้คำว่า ศึกษา ก็คือ พิจารณา สังเกต เป็นการเริ่มที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขั้นที่ไม่ใช่เพียงการฟัง แต่เมื่อมีสภาพธรรมกำลังปรากฏและสติระลึกได้ ก็ระลึกรู้อยู่ที่ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และพิจารณาลักษณะนั้นว่า เป็นสภาพรู้หรือไม่ใช่สภาพรู้ ตามปกติ ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูก ที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก ก็จะไม่สงสัย เพราะว่าสติเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และเป็นอนัตตา ขณะใดที่สติเกิดก็สังเกตพิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏมากน้อยแล้วแต่สติ ไม่มีการบังคับบัญชาว่า ให้จ้องแบบแมวตะครุบหนู และรู้ไปทั่วจนกระทั่งการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ปัญญาไม่เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วแบบนั้นได้

    แม้แต่คำว่า นามธรรม เพียงคำเดียว สภาพรู้ หรือธาตุรู้ อาการรู้ ที่จะให้รู้ ในขณะที่กำลังเห็น ก็ต้องอาศัยการฟังแล้วฟังอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก สังเกตบ่อยๆ และค่อยๆ คุ้น ค่อยๆ ชินกับลักษณะที่เป็นอาการรู้ และไม่ใช่เฉพาะ ทวารเดียว ขณะที่กายกระทบก็รู้ว่า ธาตุรู้ ลักษณะรู้ ไม่ใช่ลักษณะที่แข็ง แต่เป็นสภาพที่กำลังรู้แข็ง ขณะที่เสียงปรากฏก็รู้ว่า ธาตุรู้ สภาพรู้ ไม่ใช่เสียงที่กำลังปรากฏ แต่เป็นอาการรู้เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะหมดความสงสัยในเรื่องอื่นทั้งหมด และ ไม่สนใจในสิ่งที่ผิดปกติ แม้แต่ขณะที่ทำสมาธิ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ความไม่รู้จะทำให้เกิดอาการต่างๆ ที่ผิดปกติ ตามตัวอย่างที่เล่าให้ฟังว่า ศีรษะหมุนไป หรือ จะไม่ให้หมุนก็ได้ แต่ก็ไม่รู้เหตุว่าเป็นเพราะอะไร แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญา

    ท่านผู้ฟังท่านอื่น มีข้อคิดเห็นอย่างไรบ้างไหมในเรื่องนี้

    ผู้ฟัง สมัยเมื่อผมฟังธรรม ๕ – ๖ ปีที่แล้ว ก็มีลักษณะอาการเหมือน แมวตะครุบหนูเหมือนกัน จ้องเลย นามเกิดหรือไม่เกิด คอยดูเกิดดับ ขณะเดียวกันก็เจริญสมาธิด้วย นั่นก็ทำให้เกิดอาการผิดปกติไป ซึ่งผมก็ไม่รู้ตัว แต่หลังจากที่ได้ สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์หลายครั้ง อาจารย์ก็แนะนำเหมือนอย่างที่แนะนำวันนี้ จากวันนั้นมาฟังแล้วความเข้าใจเพิ่มขึ้น การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นปกติ ในชีวิตประจำวันก็มาถึง

    พูดยากเหมือนกันว่าจะต้องทำอย่างไร คือ ต้องฟังต่อไป และอาการที่ว่า ขณะอยู่ในสมาธิ แน่นอนที่สุดความทุกข์อะไรก็ไม่มี และเป็นความหวังของปุถุชนที่ว่า การเจริญสติปัฏฐานต้องการได้ผลกัน ผมเชื่อว่าเป็นกันทุกคน เพราะว่าเราผ่านมาในทางโลก ศึกษาอะไรก็อยากจะสำเร็จ ให้ถึงจุดนั้น

    แต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่เป็นอย่างนั้น และการฟังเพิ่มขึ้นๆ จนความเข้าใจเพิ่มขึ้นแล้ว เรื่องความหวังจะน้อยลงไป ปุถุชนจะทำอะไรก็มีความหวัง เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว ก็มีการจับรูปจับนาม ทำสมาธิ เพราะฉะนั้น ทางที่จะแนะนำ ไม่มีอะไรมากไปกว่า ให้ฟังต่อไป เท่านั้นเอง

    สุ. สำหรับท่านผู้ฟังที่ท่านถามเมื่อสักครู่นี้ ขอให้ท่านทิ้ง ขณะใดก็ตามที่ ไม่มีปัญญา อย่าสนใจ แม้ว่าจะสงสัยก็ไม่มีประโยชน์ที่จะกระทำต่อไป ปัญญา ไม่เกิดขึ้น ก็ย่อมไม่หายสงสัย

    การอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่เริ่มเข้าใจตั้งแต่ขั้นการฟังที่รู้ว่าเป็นขั้นหนึ่ง ยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง แต่อาศัยความเข้าใจเรื่องนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกได้ว่า ทำไมเมื่อนามธรรมกำลังเห็น และไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา

    ถ้าเกิดระลึกได้อย่างนี้ สติจะค่อยๆ น้อมไปพิจารณาว่า ลักษณะรู้หรือธาตุรู้ ในขณะที่กำลังเห็น ก็คือปกติธรรมดาอย่างนี้เอง และในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ทุกๆ ขณะนั้นเอง ก็มีนามธรรมและรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเป็นการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่การไม่รู้ และถ้าทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดและมีความสงสัย ก็อย่าได้ทำสิ่งนั้นต่อไป เพราะไม่ทำให้หายสงสัยได้ แต่ควรละความต้องการทั้งหมดมาเป็นระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้เอง ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำไปด้วยความอดทน เพราะสติไม่ได้เกิดบ่อย เมื่อเกิดแล้วการที่จะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ค่อยเป็นค่อยไปที่ปัญญาจะเพิ่มขึ้น

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านถามว่า ถ้ารู้ว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรมแล้ว อย่างไรต่อไป ปัญหานี้ไม่ต้องถามเลย ขอเพียงให้รู้จริงๆ ว่า ขณะที่กำลังเห็น เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน และรูปธรรมเป็นอย่างไรจริงๆ เท่านี้ ไม่ใช่ว่า รู้แล้วเพียงฟังเท่านี้ และปฏิบัติแล้ว รู้แล้ว จะทำอย่างไรต่อไป เพราะว่าการทำต่อไป ก็คือ อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติที่ปรากฏต่อไปนั่นเอง ไม่มีอย่างอื่นเลย แต่ปัญญาจะเพิ่มขึ้นๆ ตามลำดับ

    สำหรับเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับท่านผู้ฟังส่วนมาก เมื่อเป็นผู้ตรงก็รู้ว่า ขณะใดที่เห็น ก็ยังเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้น การที่จะละความสนใจ ละความติดในนิมิตอนุพยัญชนะลงไปได้ ที่จะรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร ก็ควรที่จะได้ทราบว่า การละความสนใจในสิ่งที่ปรากฏ การละคลายความติดในนิมิตอนุพยัญชนะ ไม่ใช่การทำเป็นไม่รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร

    นี่เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณา การที่จะละคลายความติดใน นิมิตอนุพยัญชนะในสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ไม่ใช่เป็นการทำเป็นไม่รู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร ไม่ใช่ผิดปกติเลย ก็เหมือนในขณะนี้ ตามธรรมดา แต่สติระลึกได้ที่จะรู้ว่า สิ่งที่เคยเข้าใจว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ที่เคยคิด เคยยึดมั่นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ นั้น โดยสภาพที่แท้จริงแล้ว ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ดูเหมือนว่าฟังกลับไปกลับมาบ่อยๆ แต่ความจริงต้องเป็นอย่างนั้น โดยการที่ระลึกได้เนืองๆ พิจารณาเนืองๆ แต่ไม่ใช่ทำเป็นไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร

    เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องหลอกลวง ไม่ใช่เรื่องแสร้ง ไม่ใช่เรื่องทำเป็น แต่เป็นเรื่องการละคลายการติดเพราะรู้ ค่อยๆ รู้ขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น จะทำให้คลายการติดในนิมิตและ อนุพยัญชนะลงได้

    ถ. ฟังธรรมไปเรื่อยๆ จนถึงจุดๆ หนึ่ง กระผมเข้าใจว่า สติในขั้นการฟังเกิดขึ้น สามารถประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม โดยเราไม่ต้องไปนั่งทำอะไรเลย ตัวของ เราเอง ขันธ์ ๕ ต่างๆ จะค่อยๆ ปรุงแต่งให้เราน้อมนำไปทีละเล็กทีละน้อย จากการที่เราเป็นคนขี้โมโห ก็ขัดเกลาได้บ้างทีละเล็กทีละน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่า เราลดโทสะได้ เพียงแต่ว่าในขณะที่โทสะเกิด สติสามารถระลึกขึ้นมาได้ แทนที่เราจะโกรธยาวๆ นานๆ เป็นวัน เป็นเดือน จ้องอาฆาตอย่างนั้น ก็สามารถตัดตอนได้ชั่วคราว ในลักษณะเดียวกัน โลภะ ความอยากได้สิ่งใด ถ้าหากว่าสติไม่เกิด หรือความเข้าใจในขั้นการฟังไม่มี เราก็ยังอยากได้สิ่งนั้น อยากจะเป็นหัวหน้ากอง เป็นอธิบดี เป็นรัฐมนตรี แต่ในขณะที่สติเกิดเราก็เข้าใจว่า ที่เราได้เป็นอย่างนี้ เพราะเราได้สร้างเหตุมาได้ผลแค่นี้ ก็จะเกิดหิริโอตตัปปะ ในขณะที่สติเกิด หมายความว่าเราได้เริ่มประพฤติปฏิบัติธรรมโดยถูกต้องตามพระธรรมคำสั่งสอน ผมเข้าใจในลักษณะนี้ อาจารย์คิดว่าการประพฤติธรรมอย่างนี้ ถูกต้องไหม

    สุ. ก็เป็นชีวิตจริงๆ ของท่านที่เข้าใจพระธรรม เพราะว่าแต่ละท่านก็มีชีวิตตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งสำหรับเรื่องของแนวทางเจริญวิปัสสนา ท่านผู้ฟังทุกท่าน ก็อยากจะได้รับฟังชีวิตของเพื่อนธรรมที่สนใจประพฤติปฏิบัติธรรม จะได้ทำให้ ท่านผู้ฟังที่เพิ่งเริ่มฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนาได้เข้าใจว่า เป็นตัวท่านตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เป็นอย่างอื่นเลย เพียงแต่ว่ามีความรู้ความเข้าใจ ในชีวิตประจำวันถูกต้องขึ้น โดยที่แต่ก่อนเคยเข้าใจว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็เริ่มพิจารณา เริ่มเข้าใจว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ สภาพธรรมที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก ในวันหนึ่งๆ

    ค่อยๆ เข้าใจละเอียดขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถศึกษาลักษณะที่เป็นนามธรรม และลักษณะที่เป็นรูปธรรมได้เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชัดขึ้น เพราะว่าอวิชชาในวันหนึ่งๆ มีมากมาย ทั้งที่เคยสะสมมาแล้ว และที่เพิ่มขึ้นในวันหนึ่งๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ก็มีปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติ และไม่รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ มากกว่าที่จะมีสติและรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    ด้วยเหตุนี้การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นเรื่องชีวิตในแต่ละภพ แต่ละชาติ แต่ละวัน ที่จะค่อยๆ เกิดขึ้นเป็นไปจริงๆ ไม่สามารถจะเร่งรัด หรือพยายามที่จะให้ปัญญารู้แจ้งชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยวิธีนั้นหรือโดยวิธีนี้ ซึ่งไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

    นิทานกถา คัมภีร์กถาวัตถุ มีข้อความว่า

    มีผู้มีความคิดเห็นว่า มรรคผลเกิดขึ้น ต้องอาศัยเปล่งคำว่า ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ

    นี่เป็นความคลาดเคลื่อนของการหาวิธีปฏิบัติอื่น นอกไปจากการที่สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ที่มั่นคงในการเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ทำอย่างอื่น ไม่หาวิธีอื่น แม้แต่ผู้ที่มีความคิดเห็นว่า มรรคผลเกิดขึ้นต้องอาศัยเปล่งคำว่า ทุกข์หนอ ทุกข์หนอ ก็ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    การฟังพระธรรม ต้องขจัดความหวัง ความต้องการที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ถ้าเหตุไม่ตรง ผลที่ตรงก็เกิดไม่ได้ ผล คือ การประจักษ์ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ โดยที่สติไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะพยายามแสวงหาวิธีอื่นเพียงใด ถ้าขณะนั้นไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้ว ไม่สามารถทำให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้

    อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหปติวรรค อัฏฐกนาครสูตร มีข้อความว่า

    ท่านอย่าแสดงลอยๆ ว่า ข้าพเจ้าได้สูตรมาแล้ว ผู้แก้ปัญหา (คือ ผู้อธิบายข้อความธรรม) ควรเรียนในสำนักของพระอริยเจ้าจนรู้แจ้งอรรถรสแล้วจึงแก้ปัญหา

    นี่แสดงถึงความละเอียด ความสุขุมของสภาพธรรม ที่ผู้ฟังน้อมประพฤติปฏิบัติสามารถที่จะรู้แจ้งได้จริงๆ แต่ข้อความนี้ก็เพียงเตือนให้รอบคอบ เพราะว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลย่อมไม่รู้ว่าใครเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาเหตุผลของพระธรรมทั้ง ๓ ปิฎกให้สอดคล้องกัน จึงสามารถรู้จุดประสงค์ของพระธรรมเทศนา และรู้จุดประสงค์ของท่านเองในการศึกษาพระธรรมด้วย

    เช่น การศึกษาพระวินัยปิฎกเพื่อจุดประสงค์อะไร ผู้ที่ทราบว่า พระธรรมวินัย มี ๓ ปิฎก ก็ศึกษาทั้ง ๓ ปิฎกเป็นการดี คือ พระวินัยก็ควรที่จะเข้าใจด้วยตามสมควรแก่เพศ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ และไม่ได้เข้าใจเรื่องพระวินัยเลย อาจจะทำสิ่งที่ขัดกับ พระวินัย บางท่านไม่ใส่บาตร ท่านบอกว่าลำบาก ใส่เงินดีกว่าสะดวกมากสำหรับพระ เป็นปัจจัยที่ท่านจะใช้สอยได้ทุกอย่าง นี่คือผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องของพระวินัย ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ของพระธรรมว่า เพื่อการขัดเกลากิเลส

    ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองว่า เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก ซึ่งทุกคนไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ถ้าเป็นผู้ที่เริ่มรู้จักตัวเอง ก็จะเห็นตัวเองว่าไม่ดี ไม่ดีในที่นี้หมายความว่า ไม่ดีเพราะเต็มไปด้วยกิเลส ถ้าใครยังไม่เห็นกิเลสของตัวเอง ผู้นั้นก็จะไม่ขัดเกลากิเลส ไม่แม้แต่จะฟังพระธรรม ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของพระไตรปิฎก แต่ผู้ที่ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยบ้าง พระสูตรบ้าง หรือ พระอภิธรรมบ้าง ก็เพื่อให้เกิดปัญญารู้จักตนเองตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดรู้สึกตัวว่ากิเลสทำให้กายวาจาไม่ดี เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เป็นทุกข์ และตนเองก็เดือดร้อนด้วย การศึกษาพระวินัยจะเห็นได้ จริงๆ ว่า ผู้ที่เห็นประโยชน์ ถ้าได้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยของพระภิกษุแล้ว แม้คฤหัสถ์ก็มีกายวาจาที่งาม ซึ่งสามารถจะกระทำได้จริงๆ โดยไม่จำเป็นต้อง เป็นเพศบรรพชิต ถ้ายังไม่ได้สะสมเหตุปัจจัยที่สามารถจะดำเนินชีวิตในเพศ ของบรรพชิต แม้คฤหัสถ์ที่ได้เห็นประโยชน์ของการประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ก็ยังสามารถที่จะกระทำได้ และจะเห็นได้จริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิต และจะเป็น ผู้ที่ละเอียดขึ้น เป็นผู้ที่รอบคอบขึ้น เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อแม้ด้วยวาจากับบุคคลอื่น ทุกข้อ ในเรื่องของพระวินัย

    และเมื่อศึกษาพระสูตร ตัวอย่างของชีวิตแต่ละบุคคลในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ไม่ประมาท เพราะว่า การสะสมมีทั้งฝ่ายที่เป็นอกุศลและฝ่ายที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น การสะสมของอกุศล ก็ดี การสะสมของกุศลก็ดี จะเห็นได้ในชีวิตประจำวันว่า ฝ่ายใดมีกำลังมากกว่า

    ฝ่ายที่เป็นอกุศลมีกำลังมากกว่า หรือว่าฝ่ายที่เป็นกุศลมีกำลังมากกว่า แม้แต่นายเปสสะบุตรควาญช้างซึ่งได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ฟังธรรม แต่ก็มีปัจจัย ของอกุศลจิตที่จะเกิดที่จะทูลลากลับไป จึงพลาดโอกาสที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล เพราะว่าไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาเหตุปัจจัยได้เลย ผู้ที่สะสมการเจริญกุศลทุกประเภทโดยไม่ประมาทก็ยังมองเห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระอริยบุคคล อกุศลก็ยังมีกำลังอยู่มาก เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลยังมีกำลังอยู่มาก การฟังพระธรรมก็ฟังได้ไม่มากนัก วันหนึ่งๆ จะได้ฟังก็ไม่กี่ชั่วโมง เทียบกับเวลาของอกุศล ซึ่งในเรื่องของเพียงการฟัง จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่แล้วจะฟังเท่าที่กุศลจิตเกิด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๘ ตอนที่ ๑๖๗๑ – ๑๖๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    28 ธ.ค. 2564