แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1648


    ครั้งที่ ๑๖๔๘


    สาระสำคัญ

    ฟังพระธรรมให้ละเอียด ไม่สามารถคิดเองได้

    ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ธรรมคืออะไร มีอะไรบ้าง

    ข้าใจสิ่งที่เรียนหรือสิ่งที่ได้ฟัง ลึกซึ้งและถูกต้องแค่ไหน

    อริยสัจจะมี ๓ รอบ (สัจจญาณ ๑ กิจจญาณ ๑ กตญาณ ๑)

    จับด้ามมีด


    สนทนาธรรมระหว่างไปนมัสการสังเวชนียสถานที่ประเทศอินเดีย

    เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๐


    สุ. แม้แต่โลภะ รู้ว่าเป็นโลภะ แต่ตราบใดที่ยังเป็นเรา หรือโลภะของเรา ขณะนั้นทำอย่างไรๆ ก็ไม่สามารถดับโลภะได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องเป็นขั้นๆ

    ถ้าคิดถึงว่ากว่าทุกคนจะมีความรู้ในทางโลก ก็ต้องเรียนกันถึง ๒๐ ปี ๓๐ ปี และบางวิชาการก็ต้องศึกษาค้นคว้ากันไปเรื่อยๆ ไม่จบสิ้น ฉะนั้น พระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ไม่ใช่จะอาศัยเพียงไม่กี่วัน หรือไม่กี่ประโยค ก็สามารถจะเข้าใจได้ ซึ่งทุกท่านที่ได้จบวิชาการทางโลกมาแล้วกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีอะไรที่จะยากและลึกซึ้งเท่ากับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้

    แม้แต่เรื่องโลภะ ก็จะต้องศึกษาจริงๆ เพียงได้ยินก็อย่าประมาทคิดว่า เป็นเรื่องที่รู้จักแล้ว เข้าใจแล้ว และคงจะมีวิธีง่ายๆ ที่จะละได้ แต่อกุศลทั้งหมด ต้องละด้วยปัญญาที่จะต้องอบรมเจริญขึ้นตามลำดับขั้น ถ้าในขั้นการฟังพระธรรมยังไม่มี มีแต่การคิดเอง หรือเข้าใจเองว่า คงจะเป็นอย่างนี้ คงจะเป็นอย่างนั้น หรือ คิดว่า วิธีนั้นง่ายดีกว่า หรือวิธีลัดก็จะต้องมี นั่นแสดงว่าไม่ได้มีพระธรรมเป็นสรณะ แต่มีความคิดเห็นของตนเอง หรืออาจจะฟังต่อๆ กันมาว่า ไม่ยากในการที่จะละกิเลส

    ถ้าเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ และรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงจะรู้ว่า ต้องศึกษา พระธรรมโดยละเอียด และน้อมประพฤติปฏิบัติตามทุกขั้น แม้แต่ในขั้นของการอบรมขัดเกลากิเลสที่สติจะระลึกในขณะที่อกุศลจิตกำลังเกิดขึ้น ก็จะต้องละเอียดขึ้นๆ จนกว่าสภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตนเลย

    แม้แต่เพียงคำว่า ไม่ใช่ตัวตน หรืออนัตตา คำเดียว ก็ประมาทไม่ได้เลย ทั้ง ๓ ปิฎกแสดงความเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย และไม่ใช่ สภาพธรรมที่จะพึงยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลด้วย

    ถ้าได้ฟังความหมายของอนัตตาอย่างนี้ในวันนี้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีการบ้านมากที่จะคิดที่จะพิจารณาธรรมต่อไป คือ จะต้องรู้ว่าขณะนี้อะไรเป็นอนัตตา และทำไมจึงกล่าวว่า ธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่กล่าวว่า เราหรือคนนั้นคนนี้เป็นอนัตตา แต่กล่าวว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ธรรมคำเดียว ก็จะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมคืออะไร และธรรมนั้นเป็นอนัตตาอย่างไรด้วย นี่คือการที่จะศึกษาพระธรรมโดยไม่ผิวเผิน คือ โดยการพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ในอรรถของพยัญชนะที่ได้รับฟัง ถ้าผ่านไป ผิวเผิน ไม่มีทางที่จะเข้าใจพระธรรมได้

    . ธรรมต้องมีการเรียน การปฏิบัติ และปฏิเวธ ทั้ง ๓ ระดับด้วยกัน ฟังที่ท่านอาจารย์อธิบาย ก็หมายความว่า ให้ปฏิบัติโดยตรง โดยเรียนน้อยๆ อย่างนั้นจะใช่หรือไม่

    สุ. การเรียนน้อยหรือเรียนมากไม่สำคัญเลย สำคัญที่ความเข้าใจใน สิ่งที่เรียนหรือสิ่งที่ได้ฟังว่า ลึกซึ้งและถูกต้องแค่ไหน เช่น คำว่า ธรรม แสดงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่สภาวะธรรมชาติแต่ละอย่าง เช่น การเห็น เป็นสภาวะธรรมชาติอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนก เป็นเป็ด เป็นคน เป็นเทพ การเห็น ก็เป็นแต่เพียงการเห็น

    การได้ยินก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าในนรก ในมนุษย์ บนสวรรค์ ก็จะต้องมีการ ได้ยิน ซึ่งเป็นสภาพธรรม เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น แต่ เมื่อไม่ได้พิจารณาว่า ขณะนี้ที่มีทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏได้นั้น เพราะเกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นจึงจะเกิดได้ ถ้าไม่ละเอียดจนกระทั่งถึง สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง เพียงชั่วแต่ละอย่างซึ่งต่างก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน ก็จะยังคงยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นเรา และตราบใดที่ยังหลงยึดถือสภาพธรรมที่เพียงเกิดขึ้นและดับไปว่าเป็นเรา เมื่อนั้นก็ไม่สามารถดับกิเลสได้เลย

    ต้องประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเห็นขณะนี้ กำลังได้ยินขณะนี้ว่า เป็นสภาวะธรรมชาติแต่ละอย่างที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ และไม่ใช่ สภาพธรรมอันเดียวกัน ประเภทเดียวกันเลย และสภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดนั้นมีมากที่จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตา ความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลยิ่งขึ้นของสภาพธรรมนั้นๆ จนกระทั่งสัมมาสติซึ่งเป็นมรรคหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ และสัมมาทิฏฐิก็พิจารณาศึกษาจนกระทั่งสภาพธรรมปรากฏโดยความเป็นอนัตตา ไม่มีการปรากฏว่า เป็นเรากำลัง นั่งอยู่ในขณะนี้ เพราะว่าลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้เป็นอย่างหนึ่ง ลักษณะของรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้เป็นอย่างหนึ่ง

    ต้องค่อยๆ ขยายความหมายของธรรมออกไปเป็นธรรมแต่ละประเภท และ สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมประเภทนั้นๆ ที่เกิดปรากฏไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น สภาพธรรมจึงจะปรากฏตามความเป็นจริงได้

    . การเรียนนานหรือไม่นาน ไม่สำคัญ อยู่ที่ความเข้าใจ แต่จะแน่ใจ ได้ขนาดไหนว่า เราเข้าใจแล้ว

    สุ. เพียงคำเดียวว่า ธรรม ก็จะต้องเข้าใจโดยการมีการบ้านว่า ธรรมทั้งหลายมีอะไรบ้าง ทางตาในขณะนี้เป็นธรรมหรือเปล่า กำลังรับประทาน รสเปรี้ยว เค็ม หวาน รสเปรี้ยว เค็ม หวาน เป็นธรรมหรือเปล่า กำลังเคลื่อนไหวเหยียดคู้ นั่ง นอน ยืน เดิน เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นธรรมหรือเปล่า เพราะว่า พระธรรมที่ทรงแสดงต่างกับความหมายในทางโลก แม้แต่คำว่านามธรรมกับรูปธรรม

    นามธรรมไม่ใช่ชื่อ แต่หมายความถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ รูปธรรมหมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ ต้นไม้ ใบหญ้า ก้อนหิน นาฬิกา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นรูปธรรมแต่ละลักษณะซึ่งไม่ใช่สภาพรู้เลย ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เห็น ไม่คิด ไม่สุข ไม่ทุกข์

    ลักษณะของสภาพที่สุข ทุกข์ เห็น ได้ยิน คิดนึก จำได้ เหล่านี้เป็นสภาพ ของนามธรรมแต่ลักษณะ ซึ่งจะต้องรู้ว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่ว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็เพราะเป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นและดับไปทันที แต่เมื่อไม่ประจักษ์การเกิดดับ ก็ยังคงเห็นสิ่งที่ปรากฏรวมๆ กันเป็นก้อน เป็นแท่งว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา

    . ฟังอาจารย์แล้วคล้ายๆ กับจะเข้าใจ แต่เมื่อนำไปพิจารณา พิจารณาไม่ได้ ยังเห็นว่าเป็นคนอยู่

    สุ. แน่นอน เพราะว่าการฟังในวันนี้อาจจะเป็นเพียงความเข้าใจในสิ่งที่ ได้ฟังคำเดียวหรือสองคำ แต่ ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงนับคำไม่ถ้วน ซึ่งเป็นเรื่องของสภาพธรรมทั้งหมด เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทุกสิ่งซึ่งพิสูจน์ได้ทันที และละเอียดขึ้น ลึกขึ้น จนกระทั่งสติสามารถระลึกตามได้ ขณะนั้นจึงเป็นการปฏิบัติ

    . การได้ฟังเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ กัน เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ใช่ไหม

    สุ. ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ

    . ทั้งๆ ที่เข้าใจแล้ว

    สุ. ก็เข้าใจอีกเรื่อยๆ เมื่อฟังเรื่อยๆ ก็เข้าใจขึ้นอีกเรื่อยๆ

    . แสดงว่าครั้งแรกยังเข้าใจไม่ลึกซึ้ง

    สุ. แน่นอน นอกจากผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีมาจนได้ฟังคาถาสั้นๆ ก็สามารถแทงตลอดได้เลย แต่ระยะเวลา ๒,๕๓๐ ปีนี่ก็ห่างไกลมามาก ก็ควรที่จะคิดถึงกาลเวลาที่ผ่านมา และคิดถึงความสนใจในพระธรรมของตัวเองแต่ละบุคคลด้วยว่า มีความสนใจเพียงพอที่จะศึกษาจริงๆ ที่จะให้เข้าใจจริงๆ หรือคิดว่า รอไว้ก่อน หรือว่ายังไม่จำเป็น ยังไม่เห็นประโยชน์จริงๆ นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

    . อาจารย์บอกว่า สติเกิดและปัญญาพิจารณา ฟังดูเหมือนว่า ต้องมีเวลาให้พิจารณา

    สุ. ยังไม่ต้องกล่าวถึงสติกับปัญญาเลย เพียงแต่ว่าสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ คืออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจสติก็เกิดไม่ได้ ไม่ใช่รีบร้อนที่จะให้สติเกิด แต่ต้องเข้าใจลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก่อน และไม่ใช่เข้าใจตามหนังสือ แต่เข้าใจ ในขณะนี้เดี๋ยวนี้ว่า ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร อย่างเช่น เห็น ทุกคนก็มีอยู่ ไม่สงสัยเรื่องเห็น แต่เห็นไม่ใช่เรา จะรู้ได้อย่างไร

    เมื่อไรเห็นนั้นจึงจะไม่ใช่เรา ก็ต่อเมื่อได้ฟังเพิ่มเติมว่า เห็นเป็นสภาพรู้ และ สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรม อย่างหนึ่งซึ่งสามารถกระทบกับจักขุปสาท เพียงจักขุปสาทที่ยังไม่ดับกับสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ยังไม่ดับกระทบกัน ก็ทำให้เกิดการเห็นชั่วขณะและดับไป

    และดับไปนี่ต้องเป็นปัญญาที่ต้องอบรมเจริญอีกมากจึงจะประจักษ์ใน ไตรลักษณะ โดยไม่ใช่เพียงฟัง และไม่ใช่โดยเพียงคิด แต่โดยประจักษ์จริงๆ ว่า กำลังเห็นขณะนี้ดับ จึงจะสามารถละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้

    . จะต้องใช้เวลานานเท่าไร

    สุ. แล้วแต่บุคคล แล้วแต่การสะสมของความเข้าใจและสติปัญญา ผู้ที่บรรลุเร็วอย่างท่านพระพาหิยะ ท่านไม่ต้องใช้เวลานานเลย ซึ่งข้อความใน อรรถกถามีว่า พระภิกษุบางรูปเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วก็มีศรัทธาอุปสมบท และภายในเวลาไม่นาน ท่านก็ได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์

    ในอรรถกถายังแสดงว่า ภายในเวลาไม่นานนั้น บางรูปก็ ๑๒ ปี บางรูป ก็มากกว่านั้น บางรูปถึง ๖๐ ปีก็ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นปัญญาเฉพาะตัว เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า กำลังเห็นขณะนี้ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร รู้หรือยัง ถ้าไม่รู้และไม่อบรมเจริญความรู้ ก็ยังละกิเลสไม่ได้

    ไม่ต้องไปทำอย่างอื่นเลย เพียงแต่อบรมความรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏด้วยการฟังบ้าง ด้วยการพิจารณาบ้าง จนกว่าสติจะค่อยๆ เริ่มเกิดระลึก และ ในขณะนั้นยังต้องพิจารณาด้วยสติ ไม่ใช่ด้วยการคิดเป็นคำหรือว่าเป็นเรื่อง เพราะว่าขณะนั้นจิตกำลังรู้คำ ไม่ใช่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เนื่องจากขณะที่กำลังคิด ไม่ใช่ขณะที่เย็น ไม่ใช่ขณะที่แข็ง แต่เป็นขณะที่กำลังมีคำเป็นอารมณ์ คือ เป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้

    แต่ละคำในภาษาไทยที่เรานำมาใช้ คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ในพระธรรม ฉะนั้น จะอาศัยความเข้าใจในภาษาไทยไปเข้าใจหรือไปคิดเอาเอง ไม่ได้เลย แม้แต่คำว่า อารมณ์ ก็ต้องเข้าใจ มิฉะนั้นไม่ทรงแสดงพระธรรมไว้ถึง ๔๕ พรรษา เพื่อเกื้อกูลแก่พวกปทปรมะที่ไม่สามารถบรรลุอริยสัจธรรมใน ครั้งที่ทรงแสดงธรรมได้ แต่จะบรรลุได้ในกาลภายหลังต่อๆ มา ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เป็นผู้ที่ศึกษาโดยละเอียด เป็นผู้ที่ตรง คือ เป็นผู้ที่รู้ว่าปัญญารู้อะไร และในขณะนี้ปัญญาเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ แม้ในขั้นของการฟัง และยังต่อๆ ไปอีกหลายขั้น กว่าจะประจักษ์แจ้งได้ในไตรลักษณะ ซึ่งนี่คือทุกขอริยสัจจะ เพราะฉะนั้น อริยสัจจะจึงมีถึง ๓ รอบ สัจจญาณ ๑ กิจจญาณ ๑ กตญาณ ๑

    ไม่ใช่ว่าเพียงฟัง แต่เห็นจริงๆ ว่า ทุกขสัจจ์ไม่ใช่อื่น นอกจากกำลังเห็น เกิดแล้ว ดับแล้ว กำลังได้ยิน เกิดขึ้นและดับแล้ว กำลังคิดคำหนึ่ง เกิดขึ้นและ ดับแล้ว นี่คือทุกขอริยสัจจะ ไม่ใช่อื่นที่จะต้องไปทำขึ้นมา แต่ทุกขณะมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ไม่ใช่มีตัวตนทำให้เกิดขึ้น อย่างการได้ยิน ไม่มีใครสามารถทำให้ได้ยินเกิด ได้เลย และเมื่อมีปัจจัยที่จะได้ยิน ใครก็ห้ามการได้ยินไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ นี่คือ ทุกขอริยสัจจะ ที่ได้ยินแล้วก็ดับ

    ถ้าแน่ใจจริงๆ ว่า ทุกขอริยสัจจะไม่ใช่อื่นนอกจากสิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ทุกขณะ ทุกนาที ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะทำให้เป็นสัจจญาณ ซึ่งจะเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้กิจจญาณเกิด จนกระทั่งถึงกตญาณได้ คือ การประจักษ์แจ้งจริงๆ

    . สติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวารได้ด้วย แต่ทางปัญจทวารไม่สามารถรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ที่จะรู้เป็นลักษณะของรูปธรรม เป็นนามธรรม ต้องทาง มโนทวาร เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเกิดทางปัญจทวารก็ได้ และต่อมาทางมโนทวาร อย่างนั้นถูกไหม

    สุ. สติปัฏฐานทางปัญจทวารรู้เฉพาะลักษณะของรูป ซึ่งทางมโนทวารวิถีต้องรับต่อจากทางปัญจทวารทุกครั้ง ชวนวิถีจะต้อง ๒ ทวาร ทางปัญจทวารและ ทางมโนทวาร

    . เรามักจะพูดถึงอกุศลว่า เกิดทางตาและต่อทางใจ ถ้าพูดถึงสติ สติธรรมดาไม่มีปัญหา แต่สติปัฏฐาน เมื่อเกิดทางปัญจทวารแล้วต่อทางมโนทวาร แต่การมีสติปัฏฐานทางปัญจทวารเป็นการรู้ลักษณะของรูป แต่ไม่ชัด ต้องต่อทาง มโนทวาร ...

    สุ. ไม่ใช่ไม่ชัด หมายความว่ารู้ลักษณะของรูปอย่างเดียว ทางปัญจทวารต้องรู้ลักษณะของรูปอย่างเดียวที่ยังไม่ดับ ซึ่งเป็นเครื่องที่จะทำให้ทางมโนทวารประจักษ์ชัดในสภาพธรรมนั้นได้ เพราะความรู้ของทางปัญจทวาร เพราะสติเกิดทางปัญจทวาร

    . ทำไมทางปัญจทวารรู้เฉพาะรูป

    สุ. ปัญจทวารรู้นามธรรมไม่ได้

    . หมายความว่า นามธรรมจะปรากฏทางตาไม่ได้ เพราะไม่ใช่สี จะปรากฏทางหูไม่ได้เพราะไม่ใช่เสียง เป็นอย่างนี้ เพราะว่ารู้ได้ทางตาเฉพาะสี และทางกายเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางกาย ซึ่งนามธรรมปรากฏทางตา ทางหู ทางลิ้นไม่ได้

    สุ. เพราะฉะนั้น การได้ฟังธรรมและเกิดความเข้าใจขึ้น ก็ต่างกับที่ ไม่เคยฟังเลย ซึ่งไม่มีโอกาสจะเข้าใจ และการที่สติจะเริ่มระลึก ค่อยๆ น้อมไป รู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏ ตามความเป็นจริงได้

    , โดยใช้วิธีที่ว่า ให้สติน้อมไปในสติปัฏฐาน ในเรื่องของสติที่จะคิด ที่จะนึก

    สุ. มิได้ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา จะรู้ได้ว่า การได้ยิน ไม่มีใครทำให้ เกิดได้เลย ต้องมีเหตุปัจจัยของได้ยิน ได้ยินจึงเกิด ฉันใด การที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้น ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่ฟังจนกระทั่งเข้าใจ จนกระทั่งเป็นสังขารขันธ์ จนกระทั่งปรุงแต่งให้ระลึกตามที่ได้ยินได้ฟังอย่างนี้

    ถ้าฟังมา ๑ ชั่วโมงแล้ว ยังไม่ปรุงให้สติปัฏฐานเกิด ถ้าฟังอีก ๒ วัน ก็ไม่รู้ว่า สติปัฏฐานจะเกิดหรือเปล่า ถ้าฟังอีก ๓ ปี ก็อาจจะเป็นปัจจัยปรุงให้สติปัฏฐาน เกิดบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าเราจะรีบร้อนอยากให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ เพราะว่า นั่นเป็นความหวัง นั่นเป็นความต้องการ ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้องนั้น ต้องละความหวังในผล โดยรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะที่สติระลึก ขณะนั้นรู้อะไรหรือเปล่า เพราะว่าสติจริงๆ แล้ว ไม่ยาก เพราะสภาพธรรมกำลังมี กำลังปรากฏ อย่างแข็ง ตื่นปุ๊บก็มีแต่แข็งแล้ว ลุกขึ้นจากที่นอน หยิบนั่นถือนี่ เข้าห้องน้ำ เดินไปเดินมา หยิบช้อนส้อม หยิบปากกา เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ทุกอย่างแข็งทั้งหมดที่กระทบตลอดวัน แต่สติไม่ได้ระลึกความจริงว่า แข็งตั้งแต่เช้าที่ระลึกมาล้วนแต่ดับไปๆ ทุกอย่าง ทุกขณะ ไม่ใช่แข็งอันเดียวกันเลย ถ้ากระทบแข็งครั้งที่ ๑ ยกมือขึ้น กระทบแข็งครั้งที่ ๒ ก็ไม่ใช่อันเก่าแล้ว

    เพราะขาดสติ เพราะสติไม่ได้ระลึก จึงไม่รู้ความจริง สภาพธรรมมีอยู่ตลอดเวลา เพียงอาศัยการฟังให้เข้าใจว่า การที่ปัญญาจะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ ต้องอาศัยสติระลึกตรงลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรมและสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงความจริงว่า ไม่มีตัวตนเลย สภาพธรรมทุกอย่างจะต้องเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง หรือรูปธรรมเท่านั้น หาความเป็นตัวตนในนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้เลย แต่เมื่อปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ความเป็นตัวตนก็แฝงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นว่า เป็นเรา เราจึงยึดรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นเรา หรือของเรา และยึดถือนามธรรมทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งได้กลิ่น ทั้งลิ้มรส ทั้งกระทบสัมผัส ทั้งคิดนึกว่า เป็นเราทั้งหมด เพราะฉะนั้น จึงมีการเข้าใจผิด คิดว่ามีเราอยู่ตลอดเวลา

    นี่เป็นความเห็นผิด ต้องเข้าใจจุดนี้ก่อน และสภาพธรรมก็กำลังปรากฏ ถ้าสติระลึก และค่อยๆ น้อมไปศึกษาในลักษณะที่เป็นนามธรรม ในลักษณะที่เป็นรูปธรรม จะคลายความเป็นตัวตนออกไปทีละน้อยๆ เหมือนจับด้ามมีด ซึ่งไม่มีทาง ที่จะรู้ได้เลยว่าจะสึกเมื่อไร ไม่ต้องไปตั้งความหวังว่าเมื่อไรจะสึก แต่ให้มีปัญญารู้ว่า ขณะที่สติระลึกนั้น รู้อะไรเพิ่มขึ้นหรือเปล่า ถ้ายังไม่รู้ ก็รู้เสีย ศึกษาเสีย รู้ชัดขึ้นเสีย ไม่ใช่ไปคอยผลว่า พิจารณาหรือสติระลึกมา ๒๐ ปีแล้ว เมื่อไรจะบรรลุ ไม่ใช่เรื่องบรรลุ แต่เป็นเรื่องกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏว่า ความรู้นั้นขั้นไหน แค่ไหน

    . อย่างนี้จะทำให้เสียภาวะความเป็นปกติไปหรือเปล่า สมมติว่า ตื่นขึ้นมาเจอสภาพแข็งอยู่ตลอดเวลาอย่างที่อาจารย์ได้กล่าวมา และเราไปกำหนดรู้ว่า สภาพแข็งตลอดเวลา เดินเหยียบพื้นก็ต้องรู้ว่าแข็ง ค่อยๆ เดิน ค่อยๆ กำหนด

    สุ. อย่างนั้นไม่ใช่สัมมาสติเลย สัมมาสติเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เหมือน ได้ยินเกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ทำให้ได้ยินเกิดขึ้นซิ ทำได้ไหม ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้ได้ยิน ทำให้ได้ยินเกิดขึ้นได้ไหม อย่างคนหูหนวก จะทำให้เขา ได้ยิน ได้ไหม

    . ก็ต้องผ่าตัดหู

    สุ. มิได้ เขายังหูหนวกอยู่ จะทำให้เขาได้ยินได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะขาดปัจจัย หรือคนที่มีหู มีโสตปสาท แต่ไม่มีเสียงมากระทบ จะให้เขาได้ยินได้ไหม

    แสดงให้เห็นว่า ทุกขณะ สภาพธรรมทุกอย่างเกิดเพราะปัจจัย ถูกหรือผิด ถ้าสภาพธรรมทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย สติก็ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้น จะไปให้มีสติทั้งวันเป็นไปไม่ได้ แข็งทั้งวันมีจริง แต่ที่จะให้สติระลึก ที่แข็งทั้งวัน เป็นไปไม่ได้ ต้องแล้วแต่ปัจจัยที่สติจะเกิดเมื่อไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๕ ตอนที่ ๑๖๔๑ – ๑๖๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    10 ก.พ. 2566