แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1632


    ครั้งที่ ๑๖๓๒


    สาระสำคัญ

    ผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน (ไม่ใช่เป็นแบบเป็นวิธี)

    ปรารภแล้ว ปรารภอีก (สติระลึกอีกบ่อยๆ เนืองๆ)

    ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจ

    ข้อที่ทำให้สติไม่เกิดอยู่ที่ไหน

    ความเป็นอนัตตาของสัมมาสติ

    ธรรมใดเกิดแต่เหตุ ตถาคตแสดงเหตุและความดับแห่งธรรมนั้น


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๐


    ถ. สมัยพุทธกาล พระสาวกท่านได้ฟังโดยตรงจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ยังมีบางรูปที่ปรารภพระธรรมผิด อย่างปรารภโพชฌงค์ผิด สมัยนี้เหตุการณ์ ก็ล่วงเลยมาตั้ง ๒,๕๓๐ ปีแล้ว เราจะมีหลักอะไรหรือเปล่าว่า ที่เราปรารภสติปัฏฐานเป็นการปรารภที่ถูกต้อง

    สุ. ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถูก ไม่คิดวิธีอื่นที่จะทำให้รู้เร็วขึ้น สติเกิดมากขึ้น ไม่แสวงหาอุบายอื่น เพราะว่าหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมทรงแสดงไว้ว่ามีทางเดียว คือ การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะถ้าไม่เป็นปกติ ช่วงขณะที่กำลังทำนั้นทั้งหมด กับขณะที่เป็นผู้ที่มีปกติแต่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรม ขณะที่ปกติไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมเพราะมุ่งจะทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น กับระหว่างที่มีปกติแต่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นตัวตน

    ถ. คำว่า มีปกติเจริญสติ หมายความแค่ไหน

    สุ. เดี๋ยวนี้ เป็นปกติอย่างนี้ ปกติจริงๆ ขณะนี้ เป็นนามธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามธรรมดา ตามปกติ ยังไม่ต้องไปทำอะไรเลยสักอย่างเดียว สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ขณะนั้นเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. จะเจริญสติเป็นปกติได้ นักศึกษาธรรมจะต้องรู้ว่า สติหมายถึงอะไร

    สุ. ใช่ คือ ขณะที่สติเกิด ไม่ใช่ขณะที่เห็นธรรมดาที่เพียงเห็นเท่านั้น ขณะที่สติเกิด ไม่ใช่ได้ยินอย่างธรรมดาที่เพียงได้ยิน แต่สติจะต้องระลึกศึกษาพิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในสภาพที่เป็นสภาพรู้ว่า ต่างกับรูปธรรม ที่ไม่ใช่สภาพรู้แต่ละทาง ตามปกติ

    ถ. เรื่องสติที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่เข้าใจยากจริงๆ โดยมากจะนึกว่า ที่ระลึก ที่ปรากฏ จะทึกทักเข้าใจว่าเป็นสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ยาก ไม่ทราบว่า จะมีข้อแนะนำอย่างไรจึงจะช่วยให้คิดในทางที่ถูกต้อง ที่จะเป็นสติปัฏฐานขึ้นได้

    สุ. หนทางเดียว เมื่อระลึกแล้วยังไม่รู้ สติก็ระลึกอีก บ่อยๆ เนืองๆ ปรารภ คือ เริ่ม บ่อยๆ เนืองๆ เริ่มแล้วเริ่มอีกจนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น ไม่มีหนทางอื่น อย่าไปคิดว่าจะทำอย่างไร ถ้าจะทำอย่างไร ก็คือเป็นตัวเราต้องการจะทำ ซึ่งทำไม่ได้ นอกจากระลึกทันทีเท่านั้น หนทางเดียวจริงๆ

    ถ. ระลึกทันที ยังระลึกไม่ได้

    สุ. ไม่ได้ก็ฟัง เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะปรุงแต่งให้การระลึกที่เป็นสัมมาสติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และแม้ระลึกแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น จะต้องระลึกอีก ดับอีก ระลึกอีก ดับอีก จนกว่าจะค่อยๆ ชิน ค่อยๆ เพิ่มขึ้น มากขึ้น

    ถ. ถ้าเช่นนั้นก่อนที่จะมีสติระลึกได้ ต้องอาศัยการศึกษา การฟังให้เข้าใจ

    สุ. ให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ทำอย่างอื่น ข้อสำคัญที่สุดที่ทุกคนจะต้องระลึกถึงเสมอ คือ ให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ทำอย่างอื่นนอกจากระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ. ไม่ใช่แบบมีวิธีที่จะต้องทำ

    สุ. เป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นแบบ เป็นวิธีประการหนึ่งประการใด ต้องหมายความว่า ไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง คำถามเหล่านี้ มีผู้ถามมาหลายๆ ครั้ง และอาจารย์ก็เคยตอบ หลายครั้งว่า ต้องฟังๆ ผู้ที่รับฟังไปแล้วก็อยากจะมีสติมากๆ ก็เปิดเทปอาจารย์ตั้งแต่เช้ายันเย็น ว่างก็หยิบมาฟัง ถ้าไม่มีงานทำด้วยก็ฟังตลอด เมื่อฟังไปมากๆ ก็กลับมาถามอีกว่า ฟังก็แล้ว แต่สติยังไม่เกิด

    สุ. พิจารณาดูว่า มีข้อที่ทำให้สติไม่เกิดอย่างไรบ้างไหม มีอะไรที่เป็นข้อบกพร่องหรือข้อเสียในขณะนั้นหรือเปล่าที่ทำให้สติไม่เกิด เพราะถ้าฟังเพราะอยากให้สติเกิด ความอยากก็ปิดบังแล้ว เริ่มพยายามที่จะทำทุกทางไปอีก ทำไมไม่เป็นผู้ที่ฟังเพื่อเข้าใจพระธรรม และทิ้งเรื่องอื่นให้เป็นหน้าที่ของสังขารขันธ์ มิฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องของสังขารขันธ์เพื่ออะไรว่า ไม่มีตัวตน

    เวทนาขันธ์เป็นสภาพรู้สึก ไม่ใช่สภาพปรุงแต่ง สัญญาขันธ์เป็นสภาพจำ แต่สังขารขันธ์เป็นสภาพที่ปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นสติ ไม่ว่าจะเป็นปัญญา ไม่ว่าจะเป็นวิริยะ ไม่ว่าจะเป็นเจตสิกใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่เวทนาเจตสิกและสัญญาเจตสิก เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น ไม่มีตัวตน อย่าไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพราะต้องการ แต่ให้รู้ว่าการเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งจะเป็นสังขารขันธ์ที่เป็นปัจจัย ให้สัมมาสติเกิด โดยไม่หวังว่า ฟังสัก ๒๔ ชั่วโมงแล้วคอย คอยแล้วไม่เกิด ก็ไม่ทราบว่า จุดเสีย หรือจุดบกพร่อง หรือข้อที่ทำให้สติไม่เกิดอยู่ที่ไหน ซึ่งความจริง เริ่มตั้งแต่ทำเพราะอยาก หรือต้องการให้เป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ผมไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่ผมขอเพิ่มเติมว่า อย่าไปหวังว่า ฟังแล้ว สมมติว่าวันนี้ฟังแล้ว ๑๐ ชั่วโมง พรุ่งนี้ฟังอีก ๑๐ ชั่วโมง ฟังไปจนอาทิตย์หนึ่งแล้ว ก็ไปรอ ไปหวัง ผมเคยนั่งฟังอาจารย์วันหนึ่งหลายครั้ง ประมาณสัก ๒ – ๓ ชั่วโมง แต่ขณะนั้นผมพิจารณาไปด้วย และการฟังนั้นก็เพิ่มความเข้าใจ ผมมีความรู้สึกว่า การฟังนั้นเกื้อกูลทำให้มีสติระลึกบ่อยขึ้น แต่ผมไม่ได้ฟังเพื่อต้องการสติมากๆ ซึ่งพระสูตรหนึ่งมีข้อความว่า เหตุที่จะให้เกิดสัมมาทิฏฐิ คือ ๑.ปรโตโฆสะ ได้แก่ การฟังนั่นเอง และ ๒. โยนิโสมนสิการ เรามีครบไหม เรามีพร้อมไหม ในขณะที่ ฟังเทปของอาจารย์ ถ้าเรามีการฟังที่ถูกต้องและมีโยนิโสมนสิการที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่า สติจะเกิดได้มาก ผมฟังแล้วได้ประโยชน์

    สุ. เวลาที่สติเกิด จะด้วยประการใดๆ ก็ตาม และคิดว่าถ้าทำอย่างนั้นบ่อยๆ สติก็จะเกิดอีกบ่อยๆ ขณะนั้นขอให้พิจารณาว่า เป็นการติด หรือเป็นการละ

    เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาแม้ในขณะนั้น ถ้าเคยมีสติบ่อยๆ ตอนที่สวดมนต์ไหว้พระ ก็อาจจะอยากทำอย่างนั้นสักวันละหลายๆ ครั้งเพื่อสติจะได้เกิด นั่นแสดงถึงความติด ไม่ใช่แสดงถึงการละ

    เพราะฉะนั้น กว่าจะละความต้องการออกไปได้จริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ที่ต้องไม่ติด แม้จะรู้ว่าขณะนั้นทำสิ่งใดแล้วสติมักจะเกิด ก็จะต้องรู้ว่าในขณะอื่น ที่ไม่ทำสิ่งนั้น ปัญญาก็ต้องสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมและละการยึดถือว่า เป็นตัวตนด้วย ไม่ใช่ไปละเฉพาะตอนที่ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดและสติเกิด โดยที่ขณะอื่น สติไม่เกิด

    ขณะอื่นที่สติไม่เกิด ก็จะต้องอบรมเจริญสติปัฏฐานต่อไปอีก เพื่อให้สติสามารถระลึกได้ และปัญญาสามารถรู้ชัดแม้ในขณะอื่นว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน

    เป็นเรื่องของการรู้เพิ่มขึ้น จึงจะละได้ ถ้าความรู้ไม่เพิ่มขึ้น และมีความยินดีความต้องการเข้ามาแทรกแซงเมื่อไร จะเป็นเครื่องกั้นทันที ปัญญาไม่สามารถจะเจริญต่อไปได้

    อย่างในขณะนี้ ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นตัวตน ต่อเมื่อใดสติเริ่มเกิดระลึกบ้าง จะเป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมโดยไม่เลือก ไม่ว่าจะเป็นในขณะไหน อารมณ์อะไร ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ อย่าให้ความต้องการมาชักพาให้ไขว้เขวไป นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

    ผู้ฟัง การศึกษาธรรม เราจะมุ่งหวังเพื่อให้สติเกิด ผมว่าเป็นการปรารภที่ผิด แต่ถ้าฟังเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ หรือที่อาจารย์ได้นำมาชี้แจงแนะนำ มีความเข้าใจถูกต้องตรงตามที่อาจารย์ต้องการให้เข้าใจหรือที่พระพุทธองค์ประสงค์ให้เข้าใจไหม ผมว่าความเข้าใจสำคัญที่สุด ที่ทุกคนต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า เรามีความเข้าใจพระธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเรื่องนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน

    สุ. นี่เป็นสิ่งที่สำคัญและมีประโยชน์มาก เพราะถ้าท่านผู้ฟังซึ่งได้รับฟัง พระธรรมมา ๒๐ ปีบ้าง หรือเกือบจะ ๓๐ ปี บางท่านอาจจะ ๑๐ กว่าปี บางท่านอาจจะ ๕ ปี ถามจริงๆ ว่า ท่านอยากจะหมดกิเลสแล้วหรือยัง หรือว่ายังชอบกิเลสอยู่มาก แต่ละบุคคลตามความเป็นจริง ไม่ใช่ฝืนอัธยาศัย

    บางท่านศึกษาพระธรรม แต่โลภะก็ยังคงมีมากตามการสะสมมาในสังสารวัฏฏ์ ยังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในเรื่องราว ความสนุกสนานต่างๆ จริงหรือไม่จริง หรือเวลานี้ไม่มีใครต้องการ

    ทุกคนต้องตรงต่อตัวเองว่า การได้รับฟังพระธรรม แม้จะได้ฟังมามาก และ เห็นคุณประโยชน์จริงๆ แต่ทุกคนที่ปัญญายังไม่ได้อบรมจนกระทั่งสามารถ ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมถึงขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นอย่างคมกล้า ก็ยังเหมือนต้นไม้อ่อนๆ ซึ่งในบางกาลส่วนใหญ่ก็จะเพลิดเพลินไปในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และความสนุกสนานต่างๆ

    หลังจากออกจากที่นี่แล้ว แน่นอนที่ทุกคนจะต้องไปสู่สิ่งที่ตนพอใจ ไม่ว่า ท่านพอใจจะไปที่ไหน จะคบหาสมาคมกับมิตรสหายสนุกสนาน หรือจะทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใดก็ตาม จะดูโทรทัศน์ หรือจะดูหนัง หรือจะทำอาหาร หรือจะปลูกต้นไม้ อะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องของอัธยาศัยจริงๆ เพราะฉะนั้น ส่วนหนึ่งในชีวิต คือ การเริ่มฟังพระธรรม เริ่มเข้าใจพระธรรม และเริ่มอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะต้อง ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ไม่ใช่การหักโหม หรือไม่ใช่การฝืนอัธยาศัย หรือไม่ใช่การที่ว่าสติไม่เกิดและก็อยากจะมีสติ แต่ในขณะที่อยากมีสติ ก็กลัว ไม่อยากจะรู้แจ้งนิพพาน บางคนเป็นอย่างนั้น เพราะปัญญาไม่ได้อบรมจริงๆ แต่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ ไม่ได้กลัวพระนิพพานเลย แต่ยังไม่ถึงความต้องการที่จะไม่มีกิเลสเสียเลย เพียงแต่ว่ากิเลสก็มีด้วย และเป็นผู้ที่สนใจศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจพระธรรมด้วย

    และสำหรับบางท่านที่สะสมมามาก ก็เป็นผู้ที่ใคร่ต่อไปอีกที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตามเพิ่มขึ้น จะโดยวิธีหนึ่งวิธีใดก็แล้วแต่ อาจจะเป็นผู้ที่เสียสละเวลาในการฟัง ในการสนทนาธรรม ในการเผยแพร่พระธรรม แล้วแต่ความสามารถ แล้วแต่โอกาส แล้วแต่อัธยาศัย แต่ให้ทราบว่า สังสารวัฏฏ์ยังต้องอยู่อีกยาวนานมาก พร้อมกับการเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติจริงๆ ค่อยๆ ก้าวไปด้วยความมั่นคง ด้วยความแน่ใจในหนทางที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่ด้วยการที่คิดว่า อยากจะให้สติเกิดมากๆ นั่นเพียงอยาก

    ถ้ามีคนถามว่า ทำอย่างไรสติจะเกิดมากๆ รู้ได้เลยว่า นั่นเพียงอยาก แต่อยากจะหมดอย่างอื่นไหม อยากจะหมดโลภะไหม อยากจะหมดความสนุกสนาน รื่นเริงต่างๆ ไหม เมื่อยังไม่อยากจะหมด ก็เป็นของธรรมดาที่สติย่อมจะเกิดน้อยกว่า ตามการสะสม แต่ก็ต้องอาศัยความพากเพียร ความไม่ท้อถอย ความอดทน และ การฟังพระธรรม เพื่อประโยชน์ที่ว่า จะได้สะสมไปจนกว่าจะเป็นสัญญาที่มั่นคง ในการที่จะรู้ว่า ปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริง และเพิกอิริยาบถ นี่สำคัญที่สุด เพราะถ้ายังมีการควบคุมประชุมรวมกันอยู่ก็หมายความว่า ปัญญา ยังไม่เจริญถึงขั้นที่จะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละทวารจริงๆ

    ผู้ฟัง ที่ผมกล่าวว่า ความเข้าใจสำคัญที่สุด ผมมาเทียบเคียงดูกับตัวเองที่ได้ฟังอาจารย์มาหลายปีแล้ว คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ สติก็ไม่เกิด แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจว่า จะให้เกิด แต่มาสังเกตตอนหลังๆ ที่สติเกิดบ้าง ก็เพราะความเข้าใจดีขึ้น ความเข้าใจเพิ่มขึ้น แม้แต่สวดมนต์ไหว้พระแต่ก่อนสติไม่เคยเกิดเลย สวดมาหลายปีแล้ว ตอนหลังมีความเข้าใจในสติปัฏฐานเพิ่มขึ้น รู้สึกว่าสติเกิดบ้างบางครั้งบางคราว ในขณะที่สวดมนต์ หรือแม้เวลาที่ออกกำลังกายก็เกิดได้ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจให้เกิด ผมมาย้อนคิดว่า เพราะเราได้ศึกษาเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ดีขึ้น ละเอียดขึ้น ถ้าหากไม่ได้ศึกษา ไม่เข้าใจแล้ว ที่จะไปมุ่งหวังเร่งรัดให้สติเกิด ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้

    สุ. นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสัมมาสติว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย

    ถ. ข้อความที่ว่า ธรรมใดเกิดแต่เหตุ ตถาคตแสดงเหตุและความดับ แห่งธรรมนั้น ขอให้อาจารย์แสดงความคิดเห็นเพื่อความเข้าใจด้วย

    สุ. กำลังเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่มีรูปกระทบกับจักขุปสาท จะเห็น ได้ไหม

    ถ. การประชุมพร้อมแห่งธรรมทั้ง ๓ ถ้าไม่มีรูป ไม่มีจักขุ ไม่มีจักขุวิญญาณ ...

    สุ. นี่คือเหตุที่ให้เกิดธรรมแต่ละประเภททางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ. แสดงว่าโลกที่เป็นโลก เพราะจักขุปสาท รูปารมณ์ และจักขุวิญญาณประชุมพร้อมกัน หรือโสตปสาท เสียง พร้อมทั้งโสตวิญญาณ จนถึงที่อาจารย์ กล่าวว่า เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่ทำให้เราเข้าใจว่าเป็นโลก ก็ชื่อว่า ธรรมเกิดขึ้นแต่เหตุ เพราะอาศัยรูปนี้เป็นรูปารมณ์ ใช่ไหม ที่บอกว่า เห็นต้นไม้ และเข้าใจว่าเป็นต้นไม้ แต่ไม่เข้าใจว่าเป็นธาตุดิน มีลักษณะแข้นแข็ง อะไรอย่างนี้

    สุ. สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กำลังมีจริง กำลังปรากฏ ไม่จำเป็นต้องใช้ คำว่า รูป ก็ได้ แต่ให้รู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่สภาพรู้ ชื่อไม่สำคัญเลยเวลาศึกษาลักษณะของสภาพธรรม แต่ที่ใช้ชื่อเรียกสภาพธรรม เพื่อให้เข้าใจ

    ถ. จากการศึกษาพระพุทธศาสนาของผม เข้าใจว่า ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเพื่อให้ละความเข้าใจผิดของสัตว์ผู้มีอวิชชา แต่อวิชชาแน่นหนา ละยาก อุบายแห่งมารก็มีมาก ความเข้าใจถูกเป็นสัมมาทิฏฐิ จนเป็นมรรคมีองค์ ๘ ถึงนิพพานได้ คือ ความสงบแห่งใจ ใช่ไหม ที่อาจารย์มักจะย้ำเสมอว่า จิตสงบไหม

    สุ. เป็นการอบรมเจริญปัญญา

    ถ. ปัญญา คือ วิปัสสนา สมถะ คือ อบรมจิต ใช่ไหม

    สุ. อบรม แต่ไม่สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ถ. สมถะประกอบไว้เนืองๆ กับวิปัสสนา คู่กันได้หรือเปล่า

    สุ. สมถะคืออะไร

    ถ. ผมเข้าใจว่า เป็นการอบรมจิตไม่ให้ซ่านไปในอารมณ์

    สุ. หมายความว่า สงบได้ไหม สมถะ

    ถ. ก็คงจะได้

    สุ. ก็คงจะได้ ก็น่าที่จะเข้าใจ พิจารณาต่อไปว่า สงบนั้นคืออย่างไร

    ถ. สงบจากกิเลส

    สุ. สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ และกิเลส เพราะฉะนั้น ขณะที่สงบ ต้องเป็นกุศล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๔ ตอนที่ ๑๖๓๑ – ๑๖๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    28 ธ.ค. 2564