แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1665


    ครั้งที่ ๑๖๖๕


    สาระสำคัญ

    ผู้มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ความไม่รู้สิ่งที่มีจริง (ปัญหาต่างๆ จึงมีมากมาย)

    ค่อยๆ น้อม ค่อยๆ พิจารณาลักษณะของสภาพธรรม (ไม่คิดถึงเหตุการณ์)

    ขุ.ปฏิ.ญาณกถา - ญาณ ด้วยอรรถว่า รู้ธรรมนั้นๆ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐


    สุ. เป็นเรื่องความไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงมีการคิดนึกตรึกตรองเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งทั้งหมดย่อมมาจากการไม่รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง ถ้าได้ศึกษาพระธรรมด้วยการฟังเรื่องที่เกี่ยวกับลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกระทั่งเข้าใจขึ้น ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะเข้าใจได้เอง

    ขอกล่าวถึงคำถามของท่านผู้ฟังอาทิตย์ก่อน ซึ่งหลังจากที่บรรยายแล้ว ท่านถามว่า ถ้าเห็นคนตกน้ำ และรู้ว่าเป็นนามเป็นรูปจะทำอย่างไร

    นี่เป็นคำถามที่ท่านคงจะกลัวว่า ถ้ารู้ว่าเป็นนามเป็นรูปแล้วจะไม่ช่วย

    แต่ขณะที่กำลังช่วยคนตกน้ำ เห็นหรือเปล่า ก็เห็นเหมือนเดี๋ยวนี้ และขณะนี้ ยังสามารถระลึกพิจารณาได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน เพียง แค่นี้ก่อน ทางตากับทางหู คนละลักษณะ เป็นจิตคนละประเภท จิตชนิดหนึ่งกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา และจิตอีกประเภทหนึ่งได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู เริ่มแยก ในขณะที่เห็นและได้ยินออกจากกัน เป็นปกติ และอาจจะระลึกทางกาย ขณะที่มี อ่อนหรือแข็งกำลังปรากฏ ก็เป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่จิตที่เห็น ไม่ใช่จิตที่ได้ยิน

    ต้องมีจิตเกิดดับสลับกันอย่างรวดเร็วมากในขณะนี้ฉันใด ในขณะที่กำลังช่วยคนตกน้ำก็มีอ่อนมีแข็ง ถ้าขณะนั้นเพียงสติระลึกที่อ่อนที่แข็ง ก็ไม่ได้ทำให้ไม่ช่วย คนนั้น ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ยังคงเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิด คือ เป็นปกติ และมีสภาพธรรมที่เกิดดับอยู่พร้อมที่จะ ให้สติระลึก ไม่ต้องคอยเลือกว่าโอกาสนั้นหรือโอกาสนี้ ขณะไหนก็ได้ สติจะเริ่มเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และถ้าสามารถจะรู้ได้จริงๆ ว่า ทางปัญจทวารวิถีจิตต่างกับมโนทวารวิถีจิต หรือทางโสตทวารวิถีจิตที่ได้ยินต่างกับ มโนทวารวิถีจิตที่กำลังคิดถึงความหมายของแต่ละคำ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน จะเป็นการรู้ที่ถูกต้องไหม ถ้าระลึกอย่างนี้จะถูกหรือจะผิด ควรหรือ ไม่ควรที่จะระลึก

    ผู้ฟัง สติปัฏฐานต้องเกิดสลับกัน แน่นอน และสำหรับคนที่จะช่วยคนตกน้ำ ก็ไม่ต้องเป็นห่วง สติที่ระลึกที่รูปธรรมนามธรรมนั้น นิดเดียวจริงๆ ไม่ต้องห่วงว่า เขาจะจมน้ำตาย ยังไม่ตายแน่ เพราะว่าจมลงไปสำลักน้ำทีหนึ่ง ยังมากกว่าสติ ที่ระลึกอีก เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเป็นห่วง

    ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ก็ต้องมีสมมติสลับกับปรมัตถ์ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกพระอานนท์หรือพระสารีบุตรไม่ถูก ก็เหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ให้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน อย่าห่วงว่าสติปัฏฐานจะเกิดตลอดเวลา ยาวนาน เป็นไปไม่ได้ แม้แต่พระอรหันต์หรือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สติก็เกิดสลับเหมือนกัน ไม่ต้องห่วง

    ในขณะขับรถสติปัฏฐานเกิด ไม่ยิ่งกว่าช่วยคนตกน้ำหรือ เพราะเร็วมาก ปรู๊ดปร๊าดชนเลย ระลึกแข็ง นิดเดียวจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วง

    สุ. อย่าลืม สภาพธรรมทั้งหลายเกิดทุกๆ ขณะ ย่อยเหตุการณ์ใหญ่ ลงมาเป็นแต่ละขณะจิต เป็นทางตาเห็นขณะหนึ่ง และทางใจคิดเรื่องสิ่งที่เห็น ทางหูได้ยินวาระหนึ่ง และทางใจก็คิดเรื่องเสียงที่ได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สลับกับทางใจที่คิดตลอดเวลาจะรวดเร็วสักแค่ไหน ขอให้คิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้ยังไม่ประจักษ์แจ้งตามที่ผู้ตรัสรู้แล้วท่านประจักษ์แจ้ง แต่ด้วยการฟัง ค่อยๆ น้อม ค่อยๆ พิจารณา ไม่ต้องคิดถึงเหตุการณ์ทั้งหมด เพราะการที่ปัญญาจะเจริญได้ ก็ต่อเมื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละทาง

    บางท่านบอกว่า เริ่มจะเข้าใจที่ว่าผลของกรรมที่ได้รับในชาตินี้ต้องเกิดจากกรรมที่เป็นเหตุในอดีต เริ่มเข้าใจ แต่นั่นยังเป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ แต่สามารถเข้าใจกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไหมว่า นี่เป็นผลของกรรมที่เกิดจากเหตุในอดีต ในขณะที่กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ก็เป็นผลของกรรมซึ่งเกิดจากเหตุในอดีต เพราะฉะนั้น ย่อยเหตุการณ์ ทั้งเหตุการณ์ลงมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้ไม่สามารถรู้ได้ว่ากำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นผลของกรรมอะไร หรือกำลังได้ยินเดี๋ยวนี้เป็นผลของกรรมอะไร แต่สามารถเห็นความต่างกันของวิบากจิตกับกุศลจิต หรืออกุศลจิต เช่น เห็นในขณะนี้อาศัย จักขุปสาท ซึ่งไม่มีใครสามารถจะทำให้เกิดขึ้นได้เลยนอกจากกรรม นี่เห็นกรรม

    ถ้าพิจารณาจะเห็นได้เลยว่า ที่เคยคิดว่าเป็นเราตั้งแต่เกิดจนตาย เคยยึดถือว่าเป็นเรา ไม่เคยพิจารณาเลยว่า รูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มาจากไหน หาเหตุซิว่าใครเอามาให้ อยู่ดีๆ ก็มีขึ้นมาในโลก แต่ตามความเป็นจริง กรรมเป็นปัจจัยให้รูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเกิดโดยละเอียดทีเดียว แตกย่อยออกไป ถ้าจะคิดถึงเฉพาะตา ก็ต่างและห่างไกลจากหู ห่างไกลจากจมูก ห่างไกลจากลิ้น แม้ว่าจะอยู่ในส่วนของสรีระคือกายส่วนบน แต่ถ้าแยกออกเป็นกลุ่มๆ ของรูป ที่ละเอียดมาก จะเห็นได้ว่า มีรูปมากมาย

    เพราะฉะนั้น เริ่มพิจารณาเห็นในขณะนี้ว่า รูปที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน อย่ายึดถือรวมกันเป็นก้อนเป็นแท่งรวมกันไปอย่างนั้น ซึ่งจะเห็นว่าเป็นก้อน เป็นแท่งใหญ่ และบางท่านก็เริ่มจะแยกออกเป็นส่วนๆ อย่างหยาบ คือ แยกเป็น ผมบ้าง ขนบ้าง เล็บบ้าง ฟันบ้าง หนังบ้าง แต่นั่นก็ยังแยกเป็นส่วนใหญ่ ถ้าแยกเฉพาะ เป็นกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีอากาศธาตุคั่นอยู่อย่างละเอียดตลอดทั่วทั้งกาย และแต่ละรูปก็เกิดดับตามเหตุตามปัจจัยอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้ว่า กำลังเห็นในขณะนี้ต้องเป็นวิบาก เพราะว่าบังคับไม่ได้เลยที่จะไม่ให้เห็น ทางหูก็บังคับไม่ได้ที่จะไม่ให้ ได้ยิน แต่หลังจากที่เห็นแล้ว จิตต่างกันไป บางคนเป็นกุศล บางคนเป็นอกุศล หลังจากที่ได้ยินแล้วก็ต่างกันไป คือ บางคนเป็นกุศล และบางคนก็เป็นอกุศล

    จะเห็นได้ว่า ส่วนใดที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เช่น เห็นและได้ยิน อาศัยรูปซึ่งเกิดจากกรรม คือ จักขุปสาท กระทบกับรูปารมณ์ คือ สิ่งที่กระทบตา เป็นปัจจัยให้เห็นสิ่งที่ดีหรือเห็นสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งการเห็นนั้นต้องเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม ถ้าเพียงเข้าใจอย่างนี้จะทำให้รู้สภาพธรรมเพิ่มขึ้น ที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนในวันหนึ่งๆ แต่ต้องอาศัยการฟัง ต้องอาศัยการพิจารณา และอาศัย การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงด้วย

    ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ญาณกถา ข้อ ๗๖ มีข้อความว่า

    ชื่อว่าญาณ ด้วยอรรถว่า รู้ธรรมนั้นๆ

    ใช้คำว่า รู้ และขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ทางตาที่กำลังเห็น เห็นก็เป็นธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็เป็นธรรม ทางหู ได้ยินเป็นธรรม เสียงเป็นธรรม ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สภาพปรมัตถธรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุนั้น ชื่อว่าญาณ ด้วยอรรถว่า รู้ธรรมนั้นๆ ต้องรู้ทีละอย่าง ที่กำลังปรากฏ และสติระลึกศึกษาพิจารณาจนรู้ชัด และสภาพธรรมนั้นปรากฏตามความเป็นจริง จึงจะชื่อว่ารู้ธรรมนั้นๆ

    ส่วนในขณะที่ฟังพระธรรม

    ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดซึ่งธรรม ที่ได้สดับมาแล้วว่า ธรรมเหล่านี้ควรเจริญ (คือ ภาวนา) หรือธรรมนี้ควรรู้แจ้ง ควรทำให้แจ้ง เป็นต้น ชื่อว่าสุตมยญาณ

    การฟังมีหลายอย่าง ฟังแล้วไม่พิจารณาให้ถูกต้อง ให้เข้าใจว่าตรงกับ สภาพธรรมไหม ท่านผู้ฟังที่เขียนจดหมายถามมา ท่านก็เป็นผู้ที่อ่าน และท่านคงเป็นผู้ที่ฟังด้วย แต่การอ่านและการฟังต้องรู้ว่า ฟังเรื่องของสภาพธรรม และเป็นเรื่องที่แสดงเหตุผลลักษณะของสภาพธรรมให้เกิดความเข้าใจขึ้นหรือเปล่า ถ้าเป็นเรื่องของธรรมที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น นั่นเป็นประโยชน์ จากการฟัง คือ ชื่อว่าสุตมยญาณ เพราะเป็น ปัญญาเครื่องทรงจำธรรมที่ได้ สดับมาแล้ว คือ เครื่องรู้ชัดซึ่งธรรมที่ได้สดับมาแล้วว่า ธรรมเหล่านี้ควรเจริญ

    เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแล้วเกิดปัญญาพิจารณาเห็นจริงว่า ควรที่จะได้อบรมเจริญขึ้น นั่นคือประโยชน์ของการฟัง

    ในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ไม่ใช่อบรมเจริญปัญญาแล้วไปเปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างที่ถามว่า ถ้าเห็นคนตกน้ำ ถ้ารู้ว่าเป็นนามเป็นรูปจะทำอย่างไร ทุกอย่างเป็นปกติเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนเลย และถ้าไม่รู้ว่าเป็นนามเป็นรูป จะทำอย่างไร ก็เหมือนกัน จะทำอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลว่า บุคคลนี้ จะทำอย่างนั้น บุคคลนั้นจะทำอย่างนี้ ตามเหตุตามปัจจัยที่ได้สะสม เพียงแต่ผู้ที่ได้ฟังเรื่องของการอบรมเจริญภาวนาจะไม่ละโอกาสสักขณะเดียวที่สติจะเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้ง ๖ ทาง

    สำหรับในขั้นต้น ทุกท่านเป็นผู้ตรงต่อตัวเองที่จะรู้ว่า ทั่วทั้ง ๖ ทางหรือยัง เพราะว่าสติย่อมไม่สามารถมีความชำนาญคล่องแคล่วตั้งแต่ตอนเริ่มที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้ทั่วทั้ง ๖ ทาง เพียงแต่ว่าขณะใดที่มีเหตุปัจจัยพร้อมที่สติ จะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น และไม่เลือกโอกาสด้วย ในระหว่างที่ช่วยคนตกน้ำ ก็ไม่แน่ว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น หรือในขณะที่ไม่ช่วย ก็ไม่แน่ว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดในขณะนั้น หรือแม้ในขณะนี้ ก็ไม่แน่ว่าสติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะว่าสติเป็นอนัตตา

    ไม่มีใครสามารถเจาะจง หรือเลือกให้สติเกิดตอนนั้นตอนนี้ หรือไปกลัวว่า เมื่อสติเกิดรู้ว่าสภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม จะไม่ช่วยคนที่ตกน้ำ

    ทุกอย่างเป็นปกติ ตามเหตุตามปัจจัย เพียงแต่สติจะระลึกลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าตามความเป็นจริง ทางตาที่เห็น เมื่อจักขุทวารวิถีวาระที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปแล้ว เร็วมากแค่ไหน คิดดู ภวังคจิตเกิดคั่น ไม่มีใครสามารถนับได้ว่ามากน้อยเท่าไร และมโนทวารวิถีจิตเกิด สืบต่อ รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาวาระหนึ่ง ดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิต ที่เกิดต่อจากนั้น จึงจะเห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เพราะฉะนั้น ที่ทุกท่านกำลังนั่ง เห็น และรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทันที จะเริ่มรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมต้องเกิดดับอย่างเร็วที่สุด เมื่อเกิดแล้วดับไป สภาพธรรมอื่น ก็เกิดสืบต่อ เป็นไปอย่างรวดเร็วจนไม่รู้ว่าทางจักขุทวาร สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ยังไม่ใช่ขณะที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ แสดงให้เห็นว่า จิตเกิดดับสลับอย่างเร็วที่สุด คิดถึงสภาพอะไรก็ได้ที่เกิดดับๆ สืบต่ออย่างเร็วมาก จนกระทั่งปรากฏว่า เมื่อเห็นก็รู้ทันทีว่าเป็นคนนั้น คนนี้ ฉะนั้น จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละทางตามความเป็นจริงมากเพียงไร จึงจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    นิ. ทุกคนรู้สึกเป็นห่วงเรื่องการปฏิบัติว่าจะปฏิบัติอย่างไร ผมก็อยากจะเรียนเรื่องส่วนตัวว่า สมัยหนึ่งผมห่วงเรื่องการปฏิบัติมาก จนต้องเข้าห้องปฏิบัติ ก่อนเข้าห้องปฏิบัติ อาจารย์จะสอนอารมณ์กัมมัฏฐานให้

    ทางตา เห็นเป็นนาม สีเป็นรูป ทางหู ได้ยินเป็นนาม เสียงเป็นรูป ทางจมูก ได้กลิ่นเป็นนาม กลิ่นเป็นรูป ทางลิ้น รู้รสเป็นนาม รสเป็นรูป ทางกาย รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งเป็นนาม เย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏเป็นรูป ทางใจ ยืน เดิน นั่ง นอนเป็นรูป ที่รู้ว่ายืน เดิน นั่ง นอนเป็นนาม ก็ท่อง ท่องได้แล้ว อาจารย์บอกว่า เอาล่ะเข้าใจแล้ว ไปปฏิบัติได้ ก็เข้าไปปฏิบัติเพื่อหานามหารูป เพื่อให้เห็นนามเห็นรูป เวลานั่งก็ยกมือ ไม่มีว่างเลย ต้องเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เห็นนามเห็นรูป และเดิน ยืน ก็คอยกำหนดเพื่อให้รูปให้นามโผล่ออกมาให้เห็น ความเข้าใจ เป็นอย่างนั้น ผมมารู้ตอนหลังว่า การเป็นห่วงเรื่องปฏิบัติโดยไม่มีความเข้าใจ เป็นอันตรายจริงๆ ไม่รู้จะปฏิบัติไปทำไม ถ้าไม่เข้าใจข้อปฏิบัติ หรือไม่เข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้น ผมอยากจะฝากเพื่อนสหายธรรมทั้งหลายว่า ไม่ต้องห่วงเรื่อง การปฏิบัติ ควรห่วงเรื่องความเข้าใจธรรมว่า ท่านเข้าใจธรรมหรือยัง แค่ไหน อย่างธรรมคืออะไร เข้าใจหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจธรรม อย่าไปปฏิบัติ จะไม่รู้อะไรเลย ใครว่าอะไรผิดอะไรถูก หรือใครเขียนอะไร อาจารย์นี้ว่าอะไร อาจารย์โน้นว่าอะไร จะไม่รู้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก เพราะอะไร ก็เพราะเราไม่เข้าใจธรรม ใครว่าอาจารย์ไหนดี ก็ตามไปปฏิบัติทั้งนั้น สาเหตุเพราะไม่เข้าใจธรรม

    ที่อาจารย์พร่ำสอนอยู่ทุกวันเรื่องธรรม ธรรมไม่ใช่เรื่องอื่น เป็นปกติ ในชีวิตประจำวัน ขณะนี้ในชีวิตประจำวันอย่างนี้ ใครรู้บ้างว่าอะไรเป็นธรรม ถ้ายังไม่รู้ก็พยายามฟัง ฟังให้รู้ ให้เข้าใจธรรม เข้าใจธรรมเมื่อไร ปฏิบัติจะมีมาเอง จะเกิดขึ้น เพราะเหตุที่เราเข้าใจธรรมเป็นปัจจัยให้เรามีสติเกิดขึ้นได้ ถ้ายังไม่เข้าใจ ไปเพียรให้ สติเกิดอย่างไรก็ไม่มีทาง ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดถึงเรื่องการฟังธรรม ผมคิดว่า แต่ละท่านความเข้าใจใน การฟังธรรมไม่เหมือนกัน ผมขอพูดเรื่องส่วนตัวของผมเอง ผมมีความเข้าใจอยู่ อย่างหนึ่งที่ประทับใจและยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติเรื่อยมา คือ อาจารย์พูดเรื่องกุศลกับอกุศลในชีวิตประจำวัน ผมก็จำได้เลาๆ ไม่ละเอียดนักว่า ลักษณะของกุศลเป็นสภาพธรรมที่ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นภัย และไม่ใช่ลักษณะของโลภะที่มีความหวัง ความต้องการ ความอยาก และไม่ใช่ลักษณะที่เป็นโทสะ คือ ความขุ่นข้องหมองใจ ความขัดข้อง ความขัดเคือง และไม่ใช่ลักษณะของโมหะซึ่งไม่เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลในชีวิตประจำวัน ซึ่งใครก็ตามถ้าหากไม่เข้าใจเรื่องกุศลและอกุศล ในชีวิตประจำวัน จะไม่สามารถเจริญกุศลในชีวิตประจำวันได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๗ ตอนที่ ๑๖๖๑ – ๑๖๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 94
    28 ธ.ค. 2564