แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1615


    ครั้งที่ ๑๖๑๕


    สาระสำคัญ

    คิดเรื่องที่เห็น (ทำให้เกิดสุขเกิดทุกข์มากมาย)

    อยู่ในโลกของความคิด

    เรื่องจิต เจตสิก รูป

    ความอดทนในชีวิตประจำวัน

    พระธรรมเป็นสรณะ (ไม่เพียงขั้นการฟัง แต่ต้องประพฤติปฏิบัติตาม)

    การอบรมมนสิการ (พิจารณาในสิ่งที่ถูก)


    สนทนาธรรมที่พุทธสมาคม จังหวัดแพร่

    วันเสาร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๓๐


    สุ. ที่ถามเรื่องจิตและขอให้พูดถึงเรื่องจิต ก็ขอกล่าวถึงจิตที่สามารถ พิสูจน์ได้ในขณะนี้ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะว่าจักขุปสาทไม่เห็น ตัวจักขุปสาทจริงๆ เป็นรูป ไม่เห็นอะไรเลย ตัวโสตปสาท หู ก็ไม่ได้ยินอะไรเลย แต่เป็นทางเป็นรูปที่สามารถกระทบสี กระทบเสียง กระทบกลิ่น กระทบรส กระทบสิ่งที่เย็นร้อนอ่อนแข็ง ทำให้มีการรู้สิ่งต่างๆ และคิดสิ่งต่างๆ

    วันหนึ่งๆ จะพิสูจน์ธรรม ไม่ยาก ทันทีที่ระลึกได้มีธรรมให้พิสูจน์ อย่าง อ่อนหรือแข็งมีแล้ว นี่คือจิตที่กำลังรู้อ่อนหรือแข็ง ถ้าเอาใบไม้กระทบกับใบไม้ ใบไม้จะไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกกระทบอ่อนหรือแข็ง เพราะว่าไม่มีจิต แต่บุคคลใดก็ตามกระทบสิ่งใดก็ตาม เช่น กระทบไฟที่ร้อน รู้ความร้อนของไฟขณะใด ขณะที่กำลังรู้ในความร้อนนั้น ขณะนั้นเป็นจิตประเภทหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพรู้โดยอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้โลกนี้ปรากฏ ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีสภาพรู้ ธาตุรู้ มีแต่รูปอย่างเดียว ก็ไม่มีโลกนี้ปรากฏกับใครเลย

    และที่ขอให้กล่าวถึงเรื่องจิต เจตสิก รูป

    จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม ไม่ใช่แต่เฉพาะรูปอย่างเดียว ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นรูป ซึ่งเป็นทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นรู้รูปนั้นๆ เช่น ถ้ากระทบจากส่วนที่สูงที่สุดของกายก็แข็ง กระทบส่วนที่ต่ำที่สุดที่ฝ่าเท้าพื้นเท้าก็แข็ง แต่รูปไม่ใช่สภาพรู้ จิต เจตสิกเป็นสภาพรู้ และทั้งจิต เจตสิก และรูปเป็นสังขารธรรม

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ควรจะเข้าใจความหมายของสังขารธรรมว่า สังขารธรรม คือ ธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ถ้าเข้าใจคำนี้ ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะรู้ได้เลยว่า ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง มิฉะนั้นเกิดไม่ได้ และสิ่งใด ก็ตามที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป นั่นคือความหมายของสังขารธรรม ซึ่งตลอดทั้ง ๓ ปิฎกจะไม่เปลี่ยนความหมายนี้เลย

    ถ้าได้ยินคำว่าสังขารธรรมขณะใด ก็หมายความถึงสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่ มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วดับไปนั่นเอง

    เมื่อจิตเป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จิตจึงเป็นสังขารธรรม เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่อาศัยจิตเกิดขึ้น เช่น ความชอบใจ ความต้องการอารมณ์ เป็นเจตสิกซึ่งเป็นโลภเจตสิก ความขุ่นเคืองใจ ความหยาบกระด้างของจิตเป็น โทสเจตสิก ไม่ใช่จิต เพราะว่าเจตสิกเกิดร่วมกับจิตจริง ดับพร้อมจิตจริง แต่เจตสิก มีหลายชนิด และบางชนิดเกิดกับจิตประเภทหนึ่ง บางชนิดเกิดกับจิตอีกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้น จิตประเภทหนึ่งก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากน้อยต่างๆ กัน และเป็นแต่ละประเภทด้วย เช่น ขณะที่ชอบ สนุกสนานเบิกบานใจ ไม่ใช่ขณะที่กำลังโศกเศร้าเสียใจ เพราะฉะนั้น ตัวจิตมี เกิดขึ้นแล้วดับไป กำลังสนุกสนาน ดับไป สักประเดี๋ยวอาจจะมีข่าวร้าย ร้องไห้เสียใจ ก็เป็นจิตและเจตสิกอีกประเภทหนึ่ง

    จะเห็นได้ว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธาน และเจตสิกก็เกิดร่วมด้วย รูปก็เกิดดับ เพราะฉะนั้น ทั้งจิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม เป็นธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นและดับไป

    จิตของใครไม่ดับบ้าง ตั้งแต่เข้ามาที่นี่จนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ มีจิตของใครไม่ดับบ้าง มีไหม

    โดยการศึกษาพระธรรม สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง จิต เจตสิก รูปเป็นสังขารธรรม เพราะฉะนั้น ต้องไม่เที่ยง ไม่เที่ยงนี่อย่างรวดเร็วมาก คือ ทันทีที่เกิดขึ้นก็ดับไป เพราะฉะนั้น ไม่มีใครรู้ว่าจิตเกิดจริงๆ และดับจริงๆ แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วจากการที่ทรงตรัสรู้ ก็เป็นหนทางที่จะทำให้ พุทธบริษัทได้ศึกษา พิจารณาพระธรรม และอบรมเจริญปัญญาได้ โดยการเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้นก่อน เมื่อเข้าใจจริงๆ จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติซึ่งเป็น สภาพธรรมที่ระลึกได้ รู้ว่าในขณะนี้จิตไม่เที่ยง เจตสิกไม่เที่ยง รูปไม่เที่ยง แต่ก็ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง เป็นเพียงขั้นที่เพิ่งจะเริ่มสังเกต พิจารณา

    ตั้งแต่ตื่นมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ทุกคนมีรูปร่างกายซึ่งกระทบเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งตลอดเวลา ตื่นขึ้นมาจากที่นอน ที่นอนอ่อนหรือแข็งไหม ลุกขึ้นมาเพื่อที่จะบริหารบำรุงร่างกาย อาบน้ำชำระร่างกาย หยิบแปรงสีฟัน ขัน สบู่ แข็งไหม ถึงเวลาบริโภคอาหาร ช้อนส้อม มีด ถ้วยจานชาม แข็งไหม จนกระทั่งออกจากบ้าน บางท่านอาจจะเดินถือร่ม หรือขับรถยนต์ไปที่ต่างๆ แข็งไหม ก็มีเย็นร้อนอ่อนแข็งปรากฏตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา แต่ไม่รู้ในความเกิดดับ

    เพราะฉะนั้น เย็นร้อนอ่อนแข็งธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ปรากฏทางตาธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน เสียงที่ปรากฏทางหูธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน กลิ่น รส ทุกขณะที่ปรากฏธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน ทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น หรือทำให้ปัญญาเจริญขึ้น

    นี่เป็นความต่างกันของผู้ที่ศึกษาพระธรรม กับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม

    ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกิเลสเพิ่มขึ้น ไม่มีใครปฏิเสธเลย ไม่ใช่พระอรหันต์ผู้หมดกิเลส เพราะฉะนั้น เห็นสิ่งที่พอใจ ต้องพอใจ ต้องชอบ เห็นสิ่งที่ไม่พอใจ ก็ต้องขุ่นเคืองใจเป็นของธรรมดา แต่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาสามารถพิจารณาอ่อนหรือแข็งในชีวิตประจำวันนั่นเอง ซึ่งวันนี้ลืมสังเกตทั้งๆ ที่กำลังกระทบแข็ง แม้ในขณะนี้ ก็ไม่ได้สังเกต แต่ผู้ที่จะ ดับกิเลสเริ่มสังเกตว่า แข็งมี เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เห็น ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น และปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ จนสามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ด้วยการฟังพระธรรมและเข้าใจขึ้น นี่คือการอบรมเจริญปัญญา

    ก็ขออนุโมทนาทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันสนทนาธรรมและฟังธรรมในวันนี้ด้วย

    ผู้ฟัง ทุกท่านรู้สึกว่าสนใจกัน ผมคิดว่าเราได้รับความรู้เป็นที่กระจ่างขึ้น อีกมากจากท่านอาจารย์สุจินต์ ในเรื่องเกี่ยวกับธรรม ในเรื่องเกี่ยวกับปัญญา ในเรื่องเกี่ยวกับวิปัสสนา ในเรื่องอะไรต่างๆ ที่ท่านได้กรุณาอธิบายให้เราฟัง

    เป็นโชคดีของพวกเราอย่างที่สุดที่ได้อาจารย์สุจินต์มาเป็นผู้ตอบปัญหาต่างๆ ให้พวกเราได้รับทราบ ซึ่งผมคิดว่าเป็นครั้งแรกในจังหวัดแพร่ที่มีการตอบปัญหา และชี้แจงให้เข้าใจแบบนี้ เท่าที่เราทำมาก็อย่างที่พวกเรารู้ อะไรก็ไม่รู้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ อะไรต่างๆ คือ ความไม่รู้ทั้งนั้น นี่ก็เป็นการเริ่มต้น ผมคิดว่าเราจะต้องดำเนินการกันต่อไป สมาชิกทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นผู้ช่วยกันคิดพิจารณาว่า เราควรจะดำเนินการอย่างไรให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง

    ในโอกาสที่พวกเราได้ฟังคำอธิบายตอบปัญหาของท่าน ผมคิดว่าเราได้ประโยชน์อย่างยิ่ง ขอความกรุณาพวกท่านทั้งหลายได้โปรดปรบมือให้เกียรติท่าน อีกครั้งหนึ่ง

    (เสียงปรบมือ)

    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๐

    สุ. การศึกษาพระธรรม หรือในการฟังพระธรรม และในการน้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมนั้น ต้องเป็นผู้ที่อดทน เรื่องของความอดทนเป็นเรื่องของ อโทสเจตสิก ซึ่งท่านที่ไม่อยากจะมีโทสะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่อดทน กุศลทั้งหลายย่อมเจริญไม่ได้ แม้แต่ในการฟังพระธรรม หรือการศึกษาพระธรรม หรือการน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ก็ต้องอาศัยความอดทนเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าต้องอดทนแม้แต่การที่จะพยายามฟัง เพราะพระธรรมไม่ใช่สิ่งที่ง่าย เพียงฟังครั้งเดียวอาจจะยังไม่เข้าใจ โดยตลอด จะต้องมีความพยายามในการฟัง และพยายามพิจารณาเพื่อให้เข้าใจ ความลึกซึ้งของพระธรรมด้วย ถ้าไม่เข้าใจความลึกซึ้งของพระธรรมก็ปฏิบัติตามไม่ได้ ซึ่งชีวิตประจำวันเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า แม้จะได้ฟังพระธรรมและมีความเข้าใจ แต่อกุศลก็ช่างเกิดบ่อยและรวดเร็วมาก แสดงให้เห็นว่า ต้องอดทนที่จะฟังต่อไป พิจารณาความลึกซึ้งต่อไป จนกว่าจะประพฤติปฏิบัติตามได้มากยิ่งขึ้น

    สำหรับความอดทนในชีวิตประจำวันมีโดยตลอดที่จะให้พิจารณาเห็นได้ เช่น ในการฟังพระธรรม จะต้องอดทน สละเวลาของความสำราญ ความสุขรื่นเริง การพักผ่อน เพื่อฟังพระธรรม เพราะบางคนคิดว่าการพักผ่อนสำคัญมาก แต่ลืมเรื่องการพักผ่อนโดยกุศลจิตเกิดด้วยการฟังพระธรรม ซึ่งนั่นเป็นการพักผ่อนจากอกุศล มิฉะนั้นถึงจะพักผ่อนสนุกสนานสำราญใจอย่างไรก็ตาม ขณะนั้นก็เป็นไปด้วยอกุศลได้ คือ ด้วยความพอใจ ในขณะที่กำลังมีความรู้สึกสบายกายและสบายใจ

    แม้แต่ในชีวิตประจำวัน เช่น ความร้อนหรือความหนาว ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ละเอียดจะไม่ได้สังเกตเลยว่า มีอโทสเจตสิกหรือว่ามีโทสเจตสิก หลายท่านไม่ชอบอากาศร้อน เวลาที่อากาศร้อนมากๆ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครบังคับบัญชาหรือไปเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้น เป็นบทฝึกหัดความอดทนที่จะสังเกตตัวเองว่า บ่นบ้างหรือเปล่า

    คิดดู เพียงแค่บ่น ทันทีที่วจีวิญญัติทำให้เกิดเสียงที่เกิดจากจิตในขณะนั้น เป็นเครื่องพิจารณาได้ถึงความไม่อดทน เพราะขณะที่บอกว่า ร้อนเหลือเกิน ร้อนมาก ทนไม่ไหว ทำไมร้อนอย่างนี้ ในขณะนั้นคงจะไม่ทราบว่า เป็นโทสมูลจิต

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความทุกข์ยากลำบาก ในเรื่องของที่อยู่อาศัย ในเรื่องของลมฟ้าอากาศ ในเรื่องของอาหาร ในเรื่องของกิจการงาน ในเรื่องของการคบค้าสมาคม ทุกอย่างเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าไม่เป็นผู้ที่ละเอียด โทสมูลจิตจะเกิดในขณะที่มีความรู้สึกไม่พอใจ เพียงความรู้สึกไม่ชอบ ความรู้สึกไม่พอใจ และการพูดเพียงคำเล็กๆ น้อยๆ โดยที่ว่าในขณะนั้นขาดความอดทน เพราะถ้าอดทนจริงๆ ขณะนั้นจิตใจจะไม่หวั่นไหวไปกับความยากลำบาก ต่างๆ แต่เวลาที่มีเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดในชีวิตประจำวันเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า อกุศลย่อมเกิดมากกว่า

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อไปอีก ในการฟังพระธรรม พิจารณา พระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติตามธรรมด้วย มิฉะนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟังพระธรรมจะน้อยมาก และที่จะกล่าวว่ามีพระธรรมเป็นสรณะ ไม่ใช่เพียงในขั้น ของการฟัง แต่ในขั้นของการที่จะต้องประพฤติปฏิบัติตามด้วย

    วันหนึ่งๆ พิจารณาจิตของตนเองว่า มีการเจริญในกุศลธรรมที่เป็นอโทสะ เป็นประธานเพิ่มขึ้นไหม คือ ความไม่โกรธ ความไม่เดือดร้อน ความไม่กังวล และเป็นผู้ที่มีความอดทน แม้แต่การที่จะไม่ให้วจีวิญญัติเกิดขึ้นบ่นเรื่องของความร้อน หรือความหนาว ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้ที่ระลึกได้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต

    บางท่านอาจจะมีความโกรธที่บ่อยกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นของธรรมดา แต่อย่าให้ถึงกับเป็นความผูกโกรธ หรือความเกลียด เพราะถ้าถึงขั้นนั้นแล้วจะเป็นการขาดสติ ที่จะไม่รู้ตัวว่า ขณะนั้นเป็นผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมหรือเปล่า

    และถ้าจะพิจารณาถึงการที่พระผู้มีพระภาคได้ประสูติเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี กว่าที่จะได้ประสูติในชาติสุดท้าย ต้องทรงบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป หลังจากที่ทรงได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และกว่าจะได้ ทรงตรัสรู้ เมื่อประสูติแล้วก็จะต้องมีการอบรม มนสิการ พิจารณาในสิ่งที่ถูก ในสิ่งที่ควร จนกระทั้งแม้เมื่อสละเพศคฤหัสถ์แล้ว ก็ยังต้องพากเพียรหาหนทางที่จะทรงตรัสรู้อริยสัจธรรมถึง ๖ พรรษา และเมื่อตรัสรู้แล้ว ก็ยังอีก ๔๕ พรรษาที่ได้ทรงแสดงพระธรรม มากยิ่งกว่าบุคคลอื่น

    อย่างท่านผู้ฟัง คงจะฟังพระธรรมตอนเช้าและตอนค่ำ ซึ่งเป็นเวลาที่สะดวก และสำหรับบางท่านอาจจะฟังมากกว่านั้นอีกถ้ามีเวลา แต่ถ้าเทียบกับพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ก่อนจะเสด็จบิณฑบาต เมื่อเป็นเวลาที่ยังเช้านัก ก็ยังเห็นเป็นโอกาส ควรที่จะได้ไปพบกับผู้ที่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วจะเป็นประโยชน์กับผู้นั้น แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นเดียรถีย์ ยังไม่ได้รับฟังพระธรรม ยังไม่มีความเห็นถูก แต่ก็มี พระมหากรุณาที่จะเสด็จไปก่อนที่จะเสด็จบิณฑบาต และเมื่อเสด็จบิณฑบาตแล้ว หลังภัตกิจ หลังจากที่ทรงพักผ่อนเพียงเล็กน้อย ก็ได้ทรงแสดงพระธรรม ไม่ว่าจะประทับอยู่ ณ สถานที่ใดก็ตาม แม้ตอนเย็น แม้ตอนค่ำ และตอนดึก

    ไม่มีใครได้กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์โลกเท่าพระผู้มีพระภาค แต่อย่าลืมว่า ที่ทรงพระมหากรุณากระทำอย่างนั้นเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้รับฟังพระธรรม จึงควรน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาคุณที่ได้ทรงแสดงพระธรรมไว้เป็นอันมาก เพื่อให้ทุกท่านเป็นผู้ที่ว่าง่ายต่อการที่กุศลจิตจะเกิด เป็นผู้ที่อดทน และเป็นผู้ที่ไม่ว่ายากในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๒ ตอนที่ ๑๖๑๑ – ๑๖๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564