แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1586


    ครั้งที่ ๑๕๘๖


    สาระสำคัญ

    อโลภเจตสิก - สภาพที่ละความเห็นแก่ตัว

    สภาพธรรมทั้งหลายมีก็เหมือนไม่มี (เพราะมีอายุที่สั้นมาก)

    เจริญกุศลทุกประการ (พื่อการขัดเกลากิเลส)

    เรื่องความละเอียดของธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


    สำหรับลักษณะของอโลภเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ไม่เห็นแก่ตัว

    ทุกคนมีความเห็นแก่ตัวแน่นอน เมื่อมีความรู้สึกว่าเป็นเรา หรือเป็นตัวตน ก็ย่อมมีความเห็นแก่ตัวมากกว่าที่จะเห็นแก่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวัน จึงมีความรักตัว ทำทุกอย่างเพื่อตัว ด้วยความเห็นแก่ตัว ซึ่งในขณะนั้นเป็น อกุศลทั้งหมด เป็นโลภมูลจิตทั้งหมด มากมายเหลือเกินในชีวิตประจำวัน แต่ขณะใดที่อโลภเจตสิกเกิด ขณะนั้นละความเห็นแก่ตัวทุกขั้น

    และกว่าอโลภเจตสิกซึ่งเป็นสภาพที่ละความเห็นแก่ตัวจะเจริญขึ้น เพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถดับความเห็นแก่ตัวได้เป็นสมุจเฉท จะต้องเห็นการเจริญขึ้นของ อโลภเจตสิกเป็นขั้นๆ เช่น อโลภะขั้นแรก คือ ขั้นของทาน ขณะนั้นละความ เห็นแก่ตัวโดยคิดถึงประโยชน์สุขของคนอื่น ถ้าไม่มีประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นเครื่อง ให้ระลึกหรือให้คิดถึง ทานกุศลในขณะนั้นก็เป็นไปไม่ได้ ก็ยังคงคิดถึงแต่ประโยชน์สุขของตนเอง แต่ขณะใดที่มองเห็นบุคคลอื่นซึ่งมีความจำเป็นควรได้รับวัตถุปัจจัยเป็นการช่วยเหลือ และมีการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น เป็นกุศลขั้นทาน ละความเห็นแก่ตัว โดยคิดถึงประโยชน์สุขของคนอื่น

    พิจารณาดูว่า ทานกุศลในวันหนึ่งๆ เป็นไปในลักษณะนี้หรือเปล่า

    อโลภะ ขั้นศีล คือ การเว้นทุจริตเบียดเบียนบุคคลอื่นทางกาย ทางวาจา ขณะนั้นเป็นการละความเห็นแก่ตัว คือ ไม่คิดถึงแต่ประโยชน์สุขของตนเอง ซึ่งขณะที่วิรัติทุจริตกรรมนั้นก็ต้องคิดถึงประโยชน์สุขของผู้นั้นด้วย มิฉะนั้นย่อมจะเบียดเบียน ผู้นั้น แต่ขณะใดที่เว้นการเบียดเบียนด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ขณะนั้นก็เป็นการละความเห็นแก่ตัวโดยคิดถึงประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นโดยการช่วยเหลือสงเคราะห์ หรือโดยการละเว้นกายทุจริต วจีทุจริตก็ตาม

    สำหรับอโลภะขั้นสมถะ คือ ความสงบของจิตจากอกุศล ขณะนั้นละความ เห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์สุขของตนเอง ไม่เกี่ยวกับคนอื่น ขณะใดที่รู้สึกว่าจิตใจ เป็นอกุศลด้วยโลภะหรือด้วยโทสะก็ตาม ถ้าระลึกได้ในขณะนั้นก็มีความเมตตาเกิดขึ้น มีการให้อภัยเกิดขึ้น มีความกรุณาเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่มีความเห็นแก่ตัวว่า ตนเองต้องถูก หรือตนเองต้องสำคัญ หรือตนเองต้องยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นอโลภะขั้นสมถะ เป็นการละความเห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์สุขของตนเอง เพราะว่าเห็นภัยของอกุศลทั้งหลาย

    สำหรับอโลภะขั้นวิปัสสนา ก็เป็นการละความเห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์สุขของตนเอง คือ เพื่อดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    นี่เป็นสิ่งที่พอจะมองเห็นได้ แต่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดว่า แม้การละความเห็นแก่ตัวขั้นทานและขั้นศีล ซึ่งเป็นการละความเห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์สุขแก่ คนอื่น แต่แท้จริงแล้วก็เป็นประโยชน์สุขแก่ตนเองด้วย เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่ การสะสมโลภะ โทสะ หรืออกุศลอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยที่จะสะสมต่อไปให้เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยที่ดีงาม คือ เป็นผู้ที่มีทานุปนิสัย สำหรับตนเอง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า กุศลทั้งหลายต้องทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น แม้จะเห็นได้ชัดว่าในขณะนั้นเป็นประโยชน์ผู้อื่น โดยยังไม่เห็นว่าแม้ขณะนั้นก็เป็นประโยชน์ตนด้วย

    สำหรับอโลภะที่เป็นกุศลขั้นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เป็นประโยชน์สุขแก่ตนเอง เพราะว่าขณะนั้นไม่มีความเดือดร้อนเพราะอกุศล และเป็นการอบรม เจริญปัญญาเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเพื่อดับกิเลสของตนเอง แต่โดยความละเอียดแล้ว ขณะนั้นเป็นการละความเห็นแก่ตัวเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นด้วย เพราะว่าเป็นเหตุที่จะทำให้บุคคลอื่นไม่เดือดร้อนจากการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดอบรมเจริญ ความสงบขั้นสมถะ และอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสของตนเองเป็นสมุจเฉท

    นอกจากนั้น การอบรมเจริญกุศลขั้นวิปัสสนาภาวนาที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉทนั้น ยังสามารถเกื้อกูลบุคคลอื่นในทางธรรม ให้เจริญหนทางข้อปฏิบัติที่ถูกต้องได้

    . อโลภเจตสิกเป็นโสภณสาธารณเจตสิก เกิดได้กับมหากุศลทั้ง ๘ ดวง แต่เหตุที่จะให้เกิดมหากุศล หรือให้เกิดอโลภเจตสิก ที่ว่ามีโยนิโส คือ การพิจารณาโดยแยบคายเป็นปทัฏฐาน การพิจารณาโดยแยบคายจะไม่ประกอบด้วยปัญญาหรือ

    สุ. เวลาที่กุศลจิตเกิด เป็นญาณวิปปยุตต์มีไหม

    . มี

    สุ. ขณะนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก

    . แต่ที่ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก ที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์นั้น ต้องในขณะที่สติปัฏฐานเกิดอย่างเดียวเท่านั้นหรือ

    สุ. มิได้ กุศลทุกขั้น แม้แต่ในขั้นของทาน ก็เป็นญาณสัมปยุตต์ได้ อโลภเจตสิกเป็นการไม่เห็นแก่ตัว เป็นเหตุให้กระทำกุศลขั้นต่างๆ เริ่มตั้งแต่ขั้นทาน ซึ่งควรจะพิจารณาความต่างกันของทาน กับทานบารมี

    ถ้าเป็นผู้ที่มีความเห็นผิด เช่น เชื่อว่าตายแล้วไม่เกิดอีก ไม่รู้เรื่องของการ ดับกิเลสเลย แม้ว่าจะมีการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น ก็ไม่ใช่ทานบารมี เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังให้ทานนั้น ไม่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะว่า ไม่มีจุดประสงค์ที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    คนที่มีความเห็นผิด ไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิด ก็ยังมีการให้ทาน แต่ไม่รู้เรื่องของการดับกิเลส เพราะฉะนั้น ในขณะที่ให้ทาน ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศลญาณสัมปยุตต์ และไม่ใช่ทานบารมีด้วย เพราะว่าท่านผู้นั้นไม่มีจุดประสงค์ที่จะดับกิเลส

    . ในขณะที่ให้ทาน ที่จะให้เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ จะเป็นลักษณะอย่างไร

    สุ. ขณะที่กำลังให้ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขอให้สังเกตการให้ในวันหนึ่งๆ ว่า จิตในขณะที่ให้มีความเข้าใจอะไร มีความคิดอย่างไรในขณะที่ให้

    บางท่านอาจจะเห็นประโยชน์จึงให้ แม้คนอื่นจะบอกว่า ไม่สมควรให้ แต่ท่านผู้นั้นก็ยังพิจารณาเห็นประโยชน์ของการให้ เพราะว่าเป็นการละคลายความติดในวัตถุที่จะให้ เนื่องจากพิจารณาเห็นสมควรที่จะให้

    เรื่องของการให้ เป็นเรื่องที่ต่างอัธยาศัยจริงๆ บางคนอาจจะบำเพ็ญทานกับพระภิกษุผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ บางท่านก็สงเคราะห์คนตกทุกข์ได้ยากโดยเห็นว่า พระภิกษุผู้ประพฤติดีประพฤติชอบนั้น ไม่เป็นผู้ที่ขาดแคลนขัดสน แต่ผู้อื่นกำลังเดือดร้อน ป่วยไข้ ทุกข์ยาก เป็นผู้ที่ควรจะได้รับความเมตตา เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นที่มีอัธยาศัยสะสมมาก็สงเคราะห์ผู้ที่ยากไร้ แต่บางท่านสะสมมาที่จะ มีความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่จะให้วัตถุทาน เพื่อให้บุคคลอื่นมีความสุข มี ความสะดวกสบาย และบางท่านก็อาจจะให้วิชาความรู้เป็นทาน

    จะเห็นได้ว่า เรื่องของการให้ แต่ละท่านสะสมมาต่างๆ กันจริง แต่ในขณะที่กำลังให้เป็นจิตที่รู้ว่า ให้เพื่อขัดเกลากิเลส เพราะรู้ว่าบุคคลนั้นมีความจำเป็น และ ท่านสามารถสงเคราะห์ได้ท่านก็สงเคราะห์ โดยรู้ว่า ขณะนั้นจะเป็นเหตุให้โลภะ ของท่านเบาบางลงได้ด้วยการกระทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เป็นกุศล อย่างนั้น พิจารณาอย่างนั้น ขณะนั้นเป็นญาณสัมปยุตต์ เพราะรู้ว่าถ้าขาดทานบารมี วันหนึ่งๆ ในชีวิตไม่มีการให้เลย ชาติหนึ่งไม่มีการให้เลย กิเลสจะดับได้อย่างไร แต่เมื่อรู้ว่าชาติหนึ่งถ้ามีการให้บ้าง ก็สามารถจะดับกิเลสได้ในวันหนึ่ง จะช้าหรือเร็ว ก็แล้วแต่อโลภะซึ่งจะเป็นเหตุให้เจริญกุศลทุกขั้นต่อไป

    . อย่างนี้เรียกว่า ปัญญา หรือมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา เกิดในขณะที่ให้ทาน แต่ปัญญาเกิดขึ้นในขณะที่ให้ทาน ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นอย่างไร

    สุ. ไม่ใช่ตัวเรา ในขณะนั้นเป็นนามธรรมกับรูปธรรม สติระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางหนึ่งทางใด ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นขณะนั้นแล้วแต่จะมีหรือไม่มี ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก แม้แต่ความนอบน้อมในขณะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นหิริโอตตัปปะ เป็นความเคารพ เป็นความยำเกรง ไม่ใช่เป็นเรา เพราะถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญ สติปัฏฐานจริงๆ จะรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายมีก็เหมือนไม่มี เพราะว่ามีอายุที่สั้นมาก คือ เพียงชั่วขณะที่ปรากฏและหมดไป สิ่งใดที่มีในขณะที่ปรากฏและหมดไป ปรากฏและหมดไป ปรากฏและหมดไปอยู่เรื่อยๆ สิ่งนั้นก็เสมือนไม่มี เพราะเป็น ชั่วขณะที่เล็กน้อยและสั้นมาก อย่างเสียง มี ชั่วขณะที่สั้นมาก ดับไปแล้ว เมื่อสิ่งนั้นดับไปแล้ว ก็เสมือนไม่มี เพราะว่าดับหมดไปแล้ว จะว่ามี ก็ไม่ถาวร เพราะว่าเพียง ชั่วขณะที่สั้นเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังถวายทานก็ดี หรือกำลังเป็นทานกุศลกับ บุคคลหนึ่งบุคคลใดก็ดี สติสามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ และรู้ความจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มี เสมือนไม่มี และตามความจริงก็ต้องเป็น อย่างนั้นด้วย

    ทุกอย่างที่เป็นตัวของท่าน สมบัติของท่าน ญาติพี่น้องของท่าน ชั่วขณะ จิตเดียวที่สิ่งนั้นปรากฏ และหมดไป เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนไม่มี แม้ว่ามี ก็เพียงชั่วขณะที่ยังไม่ดับ และก็ดับไปอย่างรวดเร็ว และสิ่งนั้นก็ไม่กลับมาอีกเลย

    . มหากุศลญาณสัมปยุตต์รู้สึกว่าเกิดยากจริงๆ ขณะที่ให้ทาน ที่จะประกอบด้วยมหากุศลญาณสัมปยุตต์ก็รู้สึกว่าจะเกิดยาก ส่วนใหญ่จะเป็น ญาณวิปปยุตต์ คือ เคยให้ก็ให้ เห็นเขาให้ก็ให้ อะไรทำนองนี้ ไม่ค่อยจะได้พิจารณาถึงเหตุถึงผลอะไร และที่จะให้มีสติเกิดในขณะนั้นเป็นการเจริญสติปัฏฐานก็ยิ่งยาก ทำอย่างไรจึงจะเกื้อกูลให้สติปัญญาเกิดขึ้นในการให้ทาน และในการทำกิจวัตรประจำวันของเรา

    สุ. ต้องอดทน ต้องอดทนที่จะฟังพระธรรม เข้าใจพระธรรม และ น้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วย ข้อสำคัญที่สุด คือ เมื่อเข้าใจแล้วน้อมประพฤติ ปฏิบัติตาม เป็นหนทางเดียวจริงๆ ถ้าเพียงแต่เข้าใจพระธรรม ไม่มีประโยชน์เลย แต่เมื่อเข้าใจแล้ว และเห็นความยากของโสภณธรรมทั้งหลายที่จะเกิดขึ้นแต่ละขั้นๆ จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่ละโอกาสที่จะทำกุศลทันที เพราะรู้ว่าถ้าพลาดโอกาสนั้น อกุศลก็เกิดอีก

    เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถจะทำกุศลได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น เพราะว่า ชีวิตแต่ละภพแต่ละชาติสั้นมาก ไม่ทราบว่าชาติหน้าจะมาถึงเร็วหรือช้า จะเกิดที่ไหน เป็นบุคคลใด และจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้เจริญกุศลอีกไหม ดังนั้น เมื่อมี โอกาสที่จะเจริญกุศลได้ก็ควรกระทำโดยเร็ว หรือโดยทันที และต้องเข้าใจเรื่องของทานบารมีด้วย เพราะว่าทุกท่านมีการให้ทาน แต่ทานของท่านจะเป็นทานบารมีต่อเมื่อมีจุดประสงค์ที่จะดับกิเลส

    สำหรับเรื่องของการดับกิเลส เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะข้ามลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ได้เลย ที่จะต้องรู้ ที่จะต้องเข้าใจ โดยชัดเจน และเมื่อมีจุดประสงค์ที่จะดับกิเลส ก็ต้องเป็นผู้ที่เจริญกุศลทุกประการด้วย

    คำว่า เจริญกุศลทุกประการ ต้องเป็นทุกประการจริงๆ คือ ทั้งในขั้นของทาน ขั้นของศีล ขั้นความสงบของจิตจากอกุศล และการเจริญสติปัฏฐานด้วย มิฉะนั้น บางคนอาจจะพอใจเพียงขั้นทานและขั้นศีล แต่ในขั้นความสงบของจิตหรือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน อาจจะยังรอไว้ก่อนก็เป็นได้

    . ขณะที่น้อมใจไปเพื่อพระอริยสงฆ์ จะเป็นญาณสัมปยุตต์ได้ไหม

    สุ. ขณะนั้นก็แล้วแต่ เป็นญาณวิปปยุตต์ก็ได้ หรือเป็นญาณสัมปยุตต์ก็ได้ เพราะว่าเรื่องของญาณเป็นเรื่องของปัญญาที่ละเอียดมาก

    . การกระทำทาน ถ้ากระทำไปเพื่อเกื้อกูลการเจริญสติปัฏฐาน รู้ประโยชน์ของการเจริญสติปัฏฐานและทำทาน อย่างนี้จะเป็นญาณสัมปยุตต์ไหม

    สุ. เป็นเรื่องความละเอียดของธรรม ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่สติระลึกโดยละเอียดจริงๆ มิฉะนั้นโลภะจะแทรกเข้ามาได้อีกทันที

    ถ้าเป็นไปเพื่อการดับกิเลส เพื่อการขัดเกลาจิต อย่างนั้นถูกต้อง แต่ถ้า ทำเพื่อให้เป็นบาทให้สติเกิดระลึก หวังสติปัฏฐานที่จะเกิด นั่นก็แทรกความหวัง เข้ามาอีก ซึ่งกิเลสทั้งหลายจะดับเป็นสมุจเฉทได้ ก็ต่อเมื่อปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้ความหวังที่เกิดขึ้นอย่างบางเบา สติก็ต้องระลึกรู้ลักษณะที่เป็นอโสภณในขณะนั้นว่า ไม่ใช่หนทาง ถ้าเป็นหนทางจริงๆ คือ สติระลึกทันที โดยไม่หวังว่าจะทำอย่างนั้นเพื่ออย่างนี้

    บางท่านอ่านพระไตรปิฎกหลายเล่มโดยหวังให้สติเกิด คือ ทำหลายๆ อย่าง บางท่านก็หาสิ่งแวดล้อม จะต้องอยู่ในสถานที่อย่างนั้นโดยหวังที่จะให้สติเกิด แทนที่สติจะระลึกทันที ซึ่งเป็นหนทางเดียวไม่ใช่อย่างอื่น เพียงแต่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง

    แต่เรื่องของความหวัง เรื่องของโลภะ ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถจะห้าม จะยับยั้ง จะดับได้ มีแต่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้นที่จะรู้และดับได้ โดยรู้ว่า แม้ในขณะนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงความหวังที่เกิดขึ้นและดับไป ซึ่ง ทันทีที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็ตัดเรื่องของโลภะไปเลย แต่ถ้าหวังทำ อย่างอื่นก่อน และขณะที่กำลังหวังนั้นสติไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับความหวังนั้นได้

    เรื่องของอกุศลจิต มีมาก และวันหนึ่งๆ ถ้ากุศลจิตไม่เกิดเลย วันนั้นรู้ตัว หรือเปล่าว่า มืดมิดด้วยอวิชชาและด้วยอกุศล แต่ดูสนุกสนานรื่นเริงดี ใช่ไหม

    นี่เป็นเรื่องของความไม่รู้ทั้งหมด ในขณะที่กำลังเพลิดเพลินด้วยโลภะ กำลังพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ วันนี้สนุกจริง วันนี้สบายมาก ในขณะนั้นให้ทราบว่า ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิดและอกุศลกลุ้มรุม ขณะนั้นมืดมิด ไม่รู้หนทางที่จะทำให้กิเลสละคลายลงไปได้ แต่ผู้ที่เห็นอกุศลมากเท่าไรตามความ เป็นจริง ก็ยิ่งเป็นผู้ที่เพียรที่จะขัดเกลากิเลสเพื่อดับอกุศลนั้นๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๙ ตอนที่ ๑๕๘๑ – ๑๕๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564