แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1578


    ครั้งที่ ๑๕๗๘


    สาระสำคัญ

    เครื่องเตือนสำหรับหิริโอตตัปปะที่จะเกิดขึ้น

    โอวาทสูตร - เป็นผู้ว่ายาก

    ผู้ที่มักโกรธและก็ผูกโกรธ

    ส.นิ.อโนตตัปปสูตร - ความเพียรและหิริโอตตัปปะ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


    สำหรับผู้ที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่เห็นอกุศลว่าเป็นโทษนั่นก็อย่างหนึ่ง หรือแม้เห็นว่าอกุศลเป็นโทษแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมให้กุศลเกิด นี่ก็เป็นอหิริกะ อโนตตัปปะ อีกขั้นหนึ่ง ท่านผู้ฟังเป็นอย่างนั้นหรือเปล่าในชีวิตประจำวัน

    โอวาทสูตรที่ ๒ ข้อ ๔๙๐ ณ พระวิหารเวฬุวัน สถานที่เดียวกับ โอวาทสูตรที่ ๑ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระมหากัสสปะกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย

    ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ภิกษุทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับอนุศาสนีโดยเคารพ บุคคลบางคน ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ไม่มีความเพียร ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดคืนหรือวันของเขาที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เปรียบเหมือนพระจันทร์ในข้างแรม ย่อมเสื่อมจากวรรณะ จากมณฑล จากรัศมี จากความยาวและความกว้าง ในคืนหรือวันที่ผ่านมา ฉันใด บุคคลบางคนไม่มีศรัทธา ... ไม่มีหิริ ... ไม่มีโอตตัปปะ ... ไม่มีความพากเพียร ... ไม่มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลาย ตลอดคืนหรือวันของเขา ที่ผ่านมา เป็นอันหวังได้แต่ความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น หวังความเจริญไม่ได้เลย เหมือนฉะนั้น

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีศรัทธานี้เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีหิรินี้เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลไม่มีโอตตัปปะนี้เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลเป็นคนเกียจคร้านนี้เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมีปัญญาทรามนี้เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลมักโกรธนี้ เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่บุรุษบุคคลผูกโกรธนี้เป็นความเสื่อมโทรม ข้อที่ไม่มีภิกษุ ผู้กล่าวสอนนี้เป็นความเสื่อมโทรม

    สำหรับผู้ที่มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ มีความเพียร มีปัญญาในกุศลธรรมทั้งหลายก็ตรงกันข้าม ซึ่งเปรียบเหมือนพระจันทร์ข้างขึ้นย่อมเปล่งปลั่งด้วยวรรณะ ด้วยมณฑล ด้วยรัศมี ด้วยความยาวและความกว้าง

    ข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    ผู้ว่ายาก เป็นผู้ที่ฟังอนุศาสนีแล้วไม่รับเอาโดยความเคารพ

    คือ ไม่ปฏิบัติตามคำสอน ไม่ใช่นอบน้อมกราบไหว้และคิดว่า นั่นคือรับเอา แต่เวลาที่ไม่รับเอา คือ ไม่ปฏิบัติตาม

    เมื่อไม่ปฏิบัติตามคำสอน เป็นผู้ชื่อว่ารับเอาโดยไม่เคารพ

    ทุกท่านเห็นพระจันทร์บ่อยๆ บางคนก็ชอบดูพระจันทร์ แต่เคยระลึกถึงคำที่พระผู้มีพระภาคและท่านพระมหากัสสปะกล่าวถึงพระจันทร์หรือเปล่าว่า ขณะไหน เป็นข้างแรม ขณะนั้นคืออกุศลธรรม ขณะไหนเป็นข้างขึ้น ขณะนั้นคือกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้น เพียงการเห็นพระจันทร์ สำหรับผู้ที่ฟังพระธรรมก็จะระลึกได้ถึง ใจของตนเองว่า เหมือนข้างแรมหรือข้างขึ้น ซึ่งเป็นพุทธโอวาทที่ทำให้ทุกคนที่มีอัธยาศัยต่างๆ กันสามารถระลึกถึงตนเองได้ แม้แต่ในการดูพระจันทร์

    เคยดูบ่อยๆ ไหม วันนี้ลองดู ข้างขึ้นหรือข้างแรม และไม่ใช่ว่าทุกท่านจะมีแต่ข้างขึ้น ใช่ไหม ขณะที่เห็นข้างแรม อหิริกะ อโนตตัปปะในวันนั้นมีอะไรบ้าง แทนที่จะเห็นเฉยๆ ก็ยังเป็นประโยชน์ที่จะระลึกได้ว่า พระจันทร์ข้างแรมเหมือนอกุศลของท่านในวันนั้นซึ่งมีอะไรบ้าง

    และสำหรับ ข้อที่บุรุษบุคคลมักโกรธนี้เป็นความเสื่อมโทรม พระผู้มีพระภาคและท่านพระมหากัสสปะไม่เว้นที่จะกล่าวเติมในเรื่องที่เหมาะที่ควรแก่บุคคลที่จะพิจารณา แม้ว่าใน โอวาทสูตรที่ ๑ จะได้กล่าวถึงบุคคลผู้ว่ายาก และไม่มีหิริโอตตัปปะ เป็นคนเกียจคร้าน มีปัญญาทราม ใน โอวาทสูตรที่ ๒ ก็ยังกล่าวถึงผู้ที่มักโกรธและผูกโกรธ ซึ่งเป็นความเสื่อมโทรม

    ผู้ที่มักโกรธและผูกโกรธ พิจารณาหรือเปล่าว่า เพราะอะไรขณะนั้นจึงโกรธ โกรธใคร โกรธความไม่ดีของคนอื่น ใช่ไหม ปักใจในความไม่ดีของคนอื่น แต่ลืมพิจารณาว่า ความไม่ดีของคนอื่นก็เกิดขึ้นและดับไปเพียงขณะหนึ่งๆ แต่ความ ผูกโกรธของท่านเองซึ่งปักใจในบุคคลนั้น เกิดนานเท่าไร มากกว่าอกุศลคือความไม่ดีของคนอื่นที่ทำให้ท่านยังคงปักใจโกรธอยู่หรือเปล่า หรือยังไม่ลืมที่จะคิดถึงความไม่ดีนั้นและยังคงโกรธ ซึ่งในขณะนั้นหิริโอตตัปปะไม่เกิดเลย ฉลาดที่จะรู้ความไม่ดีของ คนอื่น แต่ไม่ฉลาดที่จะรู้อกุศลของตนเองซึ่งกำลังโกรธในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะทำให้ระลึกได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังปักใจโกรธบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็คือคิดเอง เป็นความคิดของตนเองจริงๆ ซึ่งท่านผู้นั้น ขณะนั้นอาจจะบำเพ็ญกุศลอยู่ ความไม่ดีของบุคคลนั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะและดับไป แต่สำหรับคนที่โกรธความไม่ดีของบุคคลนั้น ก็ยังคงเป็นอกุศลอยู่ และนานตราบเท่าที่ยังผูกโกรธไว้

    ทุกท่านไม่ควรที่จะลืมว่า อีกไม่นานก็ถึงชาติหน้า และชาติหน้า ท่านอยากจะเป็นบุคคลประเภทไหน อยากจะมีกิเลสน้อยหรืออยากจะมีกิเลสมาก ดูเหมือนว่าชาตินี้กิเลสมาก แต่ชาติหน้าอยากมีกิเลสน้อย เหตุกับผลก็ไม่ตรงกัน ในเมื่อชาตินี้ยังมีกิเลสมาก และชาตินี้ก็ไม่ขัดเกลากิเลส ไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่ละคลาย ชาติหน้าจะกิเลสน้อยไม่ได้

    สำหรับชาติหน้า ทุกคนจะเป็นบุคคลใหม่ ซึ่งจะไม่ย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้ อีกเลย และถ้าใครมีปัญญาถึงขั้นรู้อดีตของชาติหน้า ซึ่งก็คือชาตินี้เอง ชาติหน้า ก็อาจจะคิดว่า ชาติก่อนไม่ควรทำอย่างนี้เลย ไม่ควรผูกโกรธอย่างนั้น ไม่ควรกล่าววาจาอย่างนั้น แต่ก็ได้กระทำไปแล้ว

    เพราะฉะนั้น ชาตินี้ยังมีโอกาสอยู่ที่หิริโอตตัปปะจะเกิด และละคลายอกุศล เพื่อชาติหน้าจะได้ไม่ย้อนกลับมาคิดว่า ชาติก่อนนี้ไม่ควรทำอกุศลอย่างนั้นๆ เลย ควรรู้เดี๋ยวนี้ และละเดี๋ยวนี้ หิริโอตตัปปะเกิดเดี๋ยวนี้ จะได้ไหม เท่านั้นเอง ปัญหา อยู่ที่ได้หรือไม่ได้ ทั้งๆ ที่รู้

    สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุต อโนตตัปปิสูตร ข้อ ๔๖๔ ข้อ ๔๖๙ ข้อความโดยย่อว่า

    ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสี ครั้งนั้นท่านพระสารีบุตรออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยกัน และได้สนทนาธรรม

    ซึ่งท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระมหากัสสปะว่า

    ท่านกัสสป ผมกล่าวดังนี้ว่า ผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ผู้ไม่มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความตรัสรู้ ไม่ควรเพื่อพระนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม

    นี่คือความสำคัญของความเพียรและหิริโอตตัปปะ เพราะถ้าไม่เพียร ไม่มีทาง ที่จะเจริญกุศลขึ้นจนสามารถดับกิเลสได้ และถ้าหิริโอตตัปปะไม่เกิดบ่อยๆ เนืองๆ ที่จะเห็นโทษของอกุศล ผู้นั้นก็ ไม่ควรเพื่อความตรัสรู้ ไม่ควรเพื่อพระนิพพาน ไม่ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม

    ส่วนผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ผู้มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้ควรเพื่อ ความตรัสรู้ ควรเพื่อพระนิพพาน ควรเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม

    ท่านผู้ฟังคิดถึงการดับกิเลสเป็นสมุจเฉทหมด อีกไกลมากไหม ไกลมากจริงๆ เพราะฉะนั้น กลับมาที่ใกล้ๆ คือ ไม่ใช่แต่เฉพาะจะเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว แต่ควรจะรู้ลักษณะจิตของตนเองที่เป็นอกุศลแต่ละขณะ เพื่อที่หิริจะเกิดเพิ่มขึ้น

    ข้อความต่อไป จะเห็นพระคุณของท่านพระสารีบุตร ซึ่งท่านได้ถาม ท่านพระมหากัสสปะว่า

    ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลส เป็นผู้ไม่มีความสะดุ้งกลัว และด้วยเหตุเพียงเท่าไร จึงจักได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส เป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว

    ดูเป็นคำถามธรรมดาๆ ซึ่งทุกคนก็อาจจะตอบได้ หรือท่านอาจจะกล่าวว่า ก็รู้กันอยู่แล้ว แต่แม้กระนั้นพระคุณของท่านพระสารีบุตรซึ่งไม่เว้นโอกาสที่จะถามเรื่อง ที่เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทรุ่นหลังที่จะเป็นผู้ไม่ประมาท เพื่อที่จะได้มีความเพียรและมีหิริโอตตัปปะ ซึ่งคำตอบของท่านพระมหากัสสปะก็น่าสนใจ เพราะว่า เป็นชีวิตประจำวันของทุกท่าน และคงไม่มีท่านผู้ใดปฏิเสธ

    ท่านพระมหากัสสปกล่าวว่า

    ภิกษุไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลส และไม่มีความสะดุ้งกลัว โดยคิดว่า อกุศลธรรมลามกที่ยังไม่เกิดเมื่อเกิดขึ้นแก่เรา จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์

    ขอให้พิจารณา ไม่ใช่ไม่รู้ คนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะรู้ แต่หิริโอตตัปปะไม่เกิด เพราะผู้นั้นคิดว่า อกุศลธรรมลามกที่ยังไม่เกิดเมื่อเกิดขึ้นแก่เรา จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ คือ รู้ แต่ทำไม่ได้ หรือไม่ทำ หรือไม่คิดที่จะทำ ไม่เพียรที่จะละ

    ข้อความต่อไป ท่านกล่าวว่า

    ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลสและไม่สะดุ้งกลัว โดยคิดว่า อกุศลธรรม อันลามกบังเกิดขึ้นแล้วเมื่อเรายังละไม่ได้ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์

    ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด แต่ก็เกิด ขณะนั้นเมื่อเกิดก็เป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ หรือแม้แต่อกุศลธรรมที่เกิดในขณะนี้ เมื่อยังละไม่ได้ ก็จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ รู้ทั้ง ๒ อย่างในเรื่องของอกุศล แต่ไม่ทำความเพียรเพื่อเผากิเลส และไม่มีความสะดุ้งกลัว

    พุทธบริษัททุกคนรู้ ใช่ไหม อกุศลมีโทษแค่ไหน แต่ขณะใดที่ไม่เพียร ขณะใดที่ไม่มีความสะดุ้งกลัว ก็เพราะทั้งๆ รู้ แต่หิริไม่เกิด โอตตัปปะไม่เกิด เป็นชีวิตประจำวันของทุกคนหรือเปล่า คงไม่มีใครปฏิเสธ และถ้าไม่เป็นอย่างนี้ ก็หมายความว่าคนนั้นมีกุศลตลอดเวลา เพราะเมื่อรู้แล้วหิริก็เกิด แต่ไม่ใช่เสมอไป นี่เป็นเรื่องของอกุศล ขอให้พิจารณาในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน จะรู้ไหมว่า อกุศลเกิดในขณะที่กุศลไม่เกิด

    วันหนึ่งๆ เกือบจะไม่รู้เลยใช่ไหมว่า อกุศลเกิดแล้วมากมายตั้งแต่เช้า แต่เมื่อไม่รู้ ก็จะเห็นแต่อกุศลกรรมขั้นที่เป็นอกุศลกรรมบถทางกาย ทางวาจา ทางใจ คิดว่าขณะใดที่ฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยหรือสัตว์ใหญ่ ขณะนั้นเป็นอกุศล เข้าใจว่าอย่างนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน แต่ก็ยังทำ เพราะว่าขณะนั้นอหิริกะและอโนตตัปปะ มีกำลัง

    พุทธบริษัทฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อยบ้างไหม ทั้งๆ ที่รู้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ ขณะนั้น ไม่เพียรที่จะระงับอกุศลในขณะนั้น นี่คือทางกาย

    สำหรับทางวาจา ก็มีคำพูดที่เป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์ แต่ก็ยังพูด เพราะว่าอหิริกะ อโนตตัปปะ ไม่ใช่ว่าไม่รู้อีกเหมือนกัน นี่เป็นเรื่องของชีวิตตาม ความเป็นจริง

    สำหรับทางใจ เวลาที่คิดถึงคนอื่น คิดดีหรือไม่ดี คิดด้วยเมตตาหรือไม่ใช่ด้วยเมตตา และขณะใดที่ไม่ได้คิดด้วยเมตตารู้ไหมว่า เป็นโทษ นำมาซึ่งความเสื่อม แต่แม้อย่างนั้น ทั้งๆ ที่รู้ อหิริกะ อโนตตัปปะ ก็ยังเกิด และคิดอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลเกิด ถ้าสติไม่ระลึก ก็ไม่มีทางที่จะละคลายอกุศล นั้นๆ เลย ซึ่งอกุศลนั้นๆ ก็จะเพิ่มขึ้นและมีกำลัง

    กำลังรับประทานอาหาร และสัตว์เลี้ยงหิวมาก แสดงกิริยาอาการให้รู้ว่า หิว เพราะว่าผิดเวลากินของสัตว์เลี้ยงแล้ว จะเห็นหิริโอตตัปปะได้ไหม ถ้ารับประทานต่อไป ไม่คำนึงถึงความหิวของสัตว์เลี้ยง ขณะนั้นสติจะเกิดระลึกลักษณะของโลภะ ในขณะที่รับประทานต่อได้ไหม เพราะฉะนั้น แม้ในขณะชีวิตปกติประจำวันก็ยังสามารถระลึกถึงลักษณะของอหิริกะและอโนตตัปปะได้ ถ้าหิริเกิด เมตตาทันที กระทำสิ่งที่ตรงกันข้าม แต่ถ้ายังคงนั่งรับประทานจนอิ่มด้วยความอร่อย สติปัฏฐาน อาจจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโลภะในขณะนั้นซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    แต่การที่หิริโอตตัปปะจะเพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดแม้แต่ ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้หิริโอตตัปปะเพิ่มกำลังขึ้นได้ โดยการคิดถึงความ ทุกข์ยากของคนอื่นมากกว่าการคิดถึงความสุขสบายของตนเอง ซึ่งในวันหนึ่งๆ ก็พอที่จะรู้ได้ว่า หิริมาก โอตตัปปะมาก หรือว่าอหิริกะมาก อโนตตัปปะมาก

    หรือแม้แต่ความอดทนที่จะทำตามมารยาท นี่ก็เป็นเรื่องของจิตอีกเหมือนกัน ใช่ไหม ถ้าใครมารยาทดีก็ทำให้คนอื่นสบายใจ แต่แม้กระนั้นบางคนซึ่งเป็นผู้เห็นแก่ความสุขของตนเอง ก็ไม่สนใจที่จะเกิดหิริในขณะนั้นที่จะคำนึงถึงความสบายใจของ คนอื่น แต่ถ้าขณะนั้นมีหิริโอตตัปปะ ขณะนั้นก็จะเป็นตามมารยาทที่สมควร และ การที่จะพิจารณาเรื่องของมารยาท เมื่อหิริมีคือทำตามมารยาทที่ควรแล้ว ยังเพิ่มมารยาทที่งามขึ้นกว่านั้นอีกได้ไหม

    นี่คือพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้ ถ้าเป็นเรื่องของมารยาท ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพระวินัยบัญญัติ ซึ่งไม่พ้นไปจากหิริโอตตัปปะในชีวิตประจำวันนั่นเอง

    สำหรับกุศล ผู้ที่รู้ว่ากุศลมีประโยชน์อย่างไร แต่ยังไม่ทำความเพียรเครื่อง เผากิเลส และไม่สะดุ้งกลัว ก็เป็นชีวิตประจำวันอีก โดยที่ผู้นั้นคิดว่า กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อไม่เกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ คือ รู้ว่ากุศลดี แต่ก็ไม่ทำ เมื่อไม่ทำก็ต้องเสื่อมหรือว่าเสียประโยชน์ แต่ก็ยังไม่ทำ นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน

    และสำหรับกุศลธรรมนั้น ผู้ที่ไม่มีความเพียรเครื่องเผากิเลสและไม่สะดุ้งกลัว ก็คิดว่า กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเมื่อดับคือไม่เกิดอีกเพราะเสื่อมไป จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ทั้งๆ ที่รู้อย่างนี้ ก็ไม่ทำความเพียรเครื่องเผากิเลสและ ไม่สะดุ้งกลัว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๘ ตอนที่ ๑๕๗๑ – ๑๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564