แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1609


    ครั้งที่ ๑๖๐๙


    สาระสำคัญ

    การอบรมเจริญเมตตา (ไม่ใช่การท่อง)

    ธัมมปทัฏฐกถาโกธวรรควรรณนา เรื่องอตุลอุบาสก - บุคคลพึงละความโกรธเสีย

    ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ไม่ใช่เรา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๐


    ท่านที่ท่องเมตตาได้ เคยพิจารณาจิตใจไหมว่า ยังไม่ชอบคนนั้นบ้าง ยังไม่ชอบคนนี้บ้าง แต่ท่องได้ทุกบรรทัด คล่อง เก่ง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่การปฏิบัติ

    สำหรับเมตตานั้น

    พวกพรหมทั้งหลายมีจิตปราศจากโทสะอยู่ฉันใด ผู้ประกอบด้วยเมตตา ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นอยู่เสมือนกับพรหม ดังนั้น จึงตรัสเรียกว่า พรหมวิหาร ก็เพราะปราศจากโทษ โดยอรรถว่า ประเสริฐ

    และถ้าเมตตานั้นเป็นไปในอารมณ์ไม่มีประมาณ ก็เป็นอัปปมัญญา คือ ประมาณไม่ได้

    เรื่องของความโกรธเป็นเรื่องเก่า พร้อมกับธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก และ คงจะต้องมีความโกรธคู่กับโลกต่อไป ทั้งในปัจจุบันจนถึงอนาคต ตราบใดที่ยังไม่ได้ ดับกิเลสจะพ้นความโกรธไม่ได้ แต่ขอให้พิจารณาว่า ถ้าเป็นผู้ที่สะสมความโกรธ และอีกท่านหนึ่งสะสมความไม่โกรธ ความต่างกันของ ๒ บุคคล ขอยกตัวอย่างข้อความใน ธัมมปทัฏฐกถา โกธวรรควรรณนา เรื่องอตุลอุบาสก ซึ่งแสดง ให้เห็นว่า ผู้ที่สะสมความโกรธ โกรธแม้แต่ผู้ที่ทรงคุณความดี

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภอุบาสก ชื่ออตุละ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า โปราณเมตํ เป็นต้น

    เรื่องมีว่า อตุลอุบาสกเป็นชาวพระนครสาวัตถี มีอุบาสกเป็นบริวาร ๕๐๐ วันหนึ่งพาพวกอุบาสกเหล่านนี้ไปพระวิหาร เพื่อต้องการฟังพระธรรม

    เจตนาดีไหม อตุลอุบาสกพาบริวาร ๕๐๐ คนไปพระวิหารเพื่อที่จะฟังพระธรรม

    ท่านใคร่จะฟังธรรมในสำนักของท่านพระเรวตเถระ ท่านก็ได้ไปยังสำนักของท่านพระเถระ เมื่อไหว้ท่านพระเถระแล้วนั่ง

    แต่ไม่ว่าใครจะไปหาใคร เรื่องอะไรก็ตาม ควรที่จะได้รู้อัธยาศัยของผู้ที่ตน ไปหาด้วย สำหรับท่านพระเรวตะ ท่านเป็นผู้ที่ยินดีในการหลีกเร้น เป็นผู้ที่มีปกติ เที่ยวไปผู้เดียวเหมือนราชสีห์ เพราะฉะนั้น ท่านก็ไม่กล่าวอะไรเลยกับอตุลอุบาสก

    บางคนเป็นอย่างนี้ไหม สะสมมาที่จะไม่พูดมาก ก็มีทั้งคนที่พูดน้อย มีทั้ง คนที่พูดปานกลาง และมีทั้งคนที่พูดมาก เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าแต่ละท่านสะสมมา ที่จะพอใจแบบไหน แต่บางคนเมื่อสะสมความไม่พอใจ ก็ไม่พอใจทุกแบบ แม้แต่ ผู้ที่ไม่พูดเลยก็โกรธ

    อตุลอุบาสกโกรธที่พระเถระไม่กล่าวอะไรเลย ท่านก็ลุกขึ้นไปยังสำนักของ ท่านพระสารีบุตรเถระ

    ที่พระวิหารเชตวันมีที่อยู่ของพระเถระแต่ละท่าน เพราะฉะนั้น อตุลอุบาสกก็ ลุกขึ้นและไปยังสำนักของท่านพระสารีบุตรเถระ ผู้เป็นอัครสาวก ผู้ทรงปัญญาอันเลิศ

    เมื่อท่านไปถึงสำนักของท่านพระสารีบุตรแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    พวกท่านมาด้วยต้องการอะไร

    อตุลอุบาสกกล่าวว่า

    ท่านขอรับ ผมพาอุบาสกเหล่านี้เข้าไปหาพระเรวตเถระเพื่อต้องการฟังธรรม พระพระเรวตเถระไม่กล่าวอะไรแก่ผมเลย ผมโกรธท่านจึงมาที่นี้ ขอท่านจงแสดงธรรมแก่ผมเถิด

    ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจงนั่งเถิด

    และได้แสดงอภิธรรมกถาอย่างมากมาย เพราะว่าท่านเป็นผู้เลิศในทางปัญญา

    อตุลอุบาสกฟังแล้วก็โกรธว่า ชื่อว่าอภิธรรมกถา ละเอียดยิ่งนัก สุขุมยิ่งนัก ท่านพระเถระแสดงอภิธรรมอย่างเดียวมากมาย พวกเราต้องการอะไรด้วย พระอภิธรรมนี้

    ไม่พูดเลย ก็ไม่ชอบ แต่เมื่อแสดงอย่างละเอียด ก็ไม่ชอบอีก

    เมื่อโกรธแล้วก็ได้พาบริษัทของตนไปยังสำนักของท่านพระอานนท์เถระ เพื่อขอฟังธรรม อตุลอุบาสกกล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า

    ท่านขอรับ พวกผมเข้าไปหาพระเรวตเถระเพื่อต้องการฟังธรรม ไม่ได้แม้แต่การสนทนาและปราศรัยในสำนักของท่านเลยโกรธ แล้วจึงมายังสำนักของท่าน พระสารีบุตรเถระ แม้ท่านพระสารีบุตรเถระก็แสดงอภิธรรมอย่างเดียว ละเอียดนัก มากมายแก่พวกผม พวกผมโกรธพระเถระจึงได้มา ณ ที่นี้ ขอท่านจงแสดงธรรมกถาแก่พวกผมเถิดขอรับ

    นี่คืออตุลอุบาสกซึ่งโกรธ แต่ท่านพระเถระเหล่านั้นท่านไม่โกรธเลย แม้ว่า อตุลอุบาสกจะกล่าวว่า ได้ไปหาท่านพระเรวตะแล้ว ได้ไปหาท่านพระสารีบุตรแล้ว จิตใจของท่านก็ไม่ได้หวั่นไหวไปตามคำของอตุลอุบาสก

    ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

    ถ้าอย่างนั้น ขอพวกท่านจงนั่งฟังเถิด

    ท่านก็ใจดีกันมากๆ ไม่ว่าใครจะไปขอฟังธรรมก็ให้โอกาสเสมอ

    ท่านพระอานนท์ได้แสดงธรรมแก่พวกอุบาสกเหล่านั้นแต่น้อยๆ ทำให้เข้าใจง่าย แต่อตุลอุบาสกก็โกรธท่านพระอานนท์ที่แสดงธรรมน้อย จึงได้พาบริษัทของตน ไปยังสำนักของพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง

    สมัยนั้นเมื่อได้ฟังธรรมจากท่านพระสารีบุตร จากท่านพระอานนท์ซึ่งเป็นพหูสูต ก็ยังโกรธได้ สมัยนี้ไม่มีพระอรหันต์ ไม่มีท่านพระโสดาบันผู้เป็นพหูสูตอย่าง ท่านพระอานนท์ เพราะฉะนั้น ท่านที่ได้ฟังธรรมจะรู้สึกไม่พอใจบ้างไหม ถ้าได้ฟังจากท่านผู้นั้นบ้าง ท่านผู้นี้บ้าง ซึ่งถ้าไม่เป็นผู้ที่อดทนก็อาจจะขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ แต่ให้ทราบว่า สมควรไหม

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะเจริญเมตตาหรืออโทสะให้มากกว่าการสะสมความโกรธซึ่งจนกระทั่งวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าได้ฟังธรรมจากพระอัครสาวกหรือท่านผู้เป็นพหูสูตแล้ว อาจจะโกรธอย่างอตุลอุบาสก

    พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นสิ่งที่เตือนใจพุทธบริษัททุกประการ ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด และคิดที่จะอบรมเจริญกุศลธรรมยิ่งขึ้น

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกะพวกเขาว่า

    อุบาสกทั้งหลาย พวกท่านมาทำไมกัน

    เขากราบทูลว่า

    เพื่อต้องการฟังธรรม พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็พวกท่านฟังธรรมแล้วหรือ

    เขากราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เบื้องต้นพวกข้าพระองค์เข้าไปหาพระเรวตะ ท่านไม่กล่าวอะไรกับพวกข้าพระองค์ พวกข้าพระองค์โกรธท่าน แล้วจึงไปหาท่าน พระสารีบุตร ท่านพระสารีบุตรแสดงอภิธรรมแก่พวกข้าพระองค์มากมาย พวก ข้าพระองค์กำหนดอภิธรรมนั้นไม่ได้จึงโกรธ แล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ท่านพระอานนท์แสดงธรรมแก่พวกข้าพระองค์น้อยนัก พวกข้าพระองค์โกรธแม้ต่อท่าน แล้วมาในที่นี้

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ และต่อไปข้างหน้า คือ การนินทาและสรรเสริญ

    พระผู้มีพระภาคทรงสดับถ้อยคำของเขาแล้ว จึงตรัสว่า

    อตุละ ข้อนั้นเขาเคยประพฤติกันมาตั้งแต่โบราณทีเดียว ชนทั้งหลายติเตียน ทั้งคนนิ่ง ทั้งคนพูดมาก ทั้งคนพูดน้อยทีเดียว ด้วยว่าคนอันพึงถูกผู้อื่นติเตียน อย่างเดียวเท่านั้น หรือว่าคนอันพึงได้รับสรรเสริญอย่างเดียว ไม่มีเลย แม้พระราชาทั้งหลาย คนบางพวกก็นินทา บางพวกก็สรรเสริญ แผ่นดินใหญ่ก็ดี พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ดี ธาตุมีอากาศเป็นต้นก็ดี คนบางพวกนินทา คนบางพวกสรรเสริญ

    จริงไหม วันนี้พระจันทร์เต็มดวง หรือเว้าๆ แหว่งๆ หรือมีเมฆบัง รัศมีน้อย นั่นก็เป็นเรื่องของการพูดถึงทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ตามความคิดความเห็นของตน

    แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประทับนั่งแสดงธรรมในท่ามกลางบริษัท ๔ บางพวกนินทา บางพวกสรรเสริญ ก็การนินทาและสรรเสริญของพวกอันธพาล ไม่เป็นประมาณ แต่ผู้ที่ถูกบัณฑิตผู้มีปัญญาติเตียน จึงชื่อว่าเป็นอันติเตียน ผู้อันบัณฑิตสรรเสริญแล้ว ชื่อว่าเป็นอันสรรเสริญ ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาในคาถาธรรมบท โกธวรรคที่ ๑๗ ข้อ ๒๗ ดังนี้ว่า

    บุคคลพึงละความโกรธเสีย

    ตรัสไว้เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี และเป็นประโยชน์จนถึงพุทธบริษัทในสมัยนี้ ที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตาม

    พึงละมานะเสีย พึงก้าวล่วงสังโยชน์เสียทั้งหมด ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกตาม บุคคลนั้นผู้ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล บุคคลใดแลพึงห้าม ความโกรธที่เกิดขึ้นแล้วไว้ได้ ดุจบุคคลห้ามรถซึ่งกำลังแล่นไปได้ ฉะนั้น เรากล่าวบุคคลนั้นว่า เป็นสารถี บุคคลนอกนี้เป็นคนถือเชือก

    พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนมักกล่าวเหลาะแหละด้วยความสัตย์ พึงกล่าว คำสัตย์ ไม่พึงโกรธ แม้เมื่อมีของน้อยถูกขอแล้วก็พึงให้ บุคคลพึงไปในสำนัก ของเทวดาทั้งหลายเพราะเหตุ ๓ ประการนี้ มุนีเหล่าใดผู้ไม่เบียดเบียน สำรวมแล้วด้วยกายเป็นนิตย์ มุนีเหล่านั้นย่อมไปสู่สถานที่ไม่จุติ ที่คนทั้งหลายไปแล้วไม่เศร้าโศก อาสวะทั้งหลายของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ ศึกษาเนืองๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน ผู้น้อมไปแล้วสู่นิพพาน ย่อมถึงความไม่มี

    ดูกร อตุละ การนินทาหรือการสรรเสริญนี้มีมาแต่โบราณ มิใช่มีเพียงวันนี้ คนย่อมนินทาแม้ผู้นั่งนิ่ง แม้ผู้พูดมาก แม้ผู้พูดพอประมาณ ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก บุรุษผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียว ไม่ได้มีแล้ว จักไม่มี และไม่มีในบัดนี้ ถ้าว่าผู้รู้ใคร่ครวญแล้วทุกวัน ย่อมสรรเสริญบุคคลใดผู้มีความประพฤติไม่ขาด เป็นนักปราชญ์ ตั้งมั่นแล้วในปัญญาและศีล ใครย่อมควรเพื่อจะนินทาบุคคลนั้น ผู้เหมือนดังแท่งแห่งทองชมพูนุท

    นี่คือการกล่าวถึงที่อตุละติเตียนท่านพระเรวตะ ท่านพระสารีบุตร และท่าน พระอานนท์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟัง อตุละก็พิจารณาถึงความไม่ควรของตน ที่เกิดอกุศลในท่านเหล่านั้น

    แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายก็ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้น แม้พรหมก็สรรเสริญบุคคลนั้น

    ภิกษุพึงรักษาความกำเริบทางกาย พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย ละกายทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยกาย พึงรักษาความกำเริบทางวาจา พึงเป็นผู้สำรวมด้วยวาจา ละวจีทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยวาจา พึงรักษาความกำเริบทางใจ พึงเป็น ผู้สำรวมด้วยใจ ละมโนทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตด้วยใจ

    นักปราชญ์ทั้งหลายสำรวมแล้วด้วยกาย สำรวมแล้วด้วยวาจา สำรวมแล้ว ด้วยใจ ท่านเหล่านั้นแล สำรวมเรียบร้อยแล้ว

    จบ โกธวรรคที่ ๑๗

    ท่านที่สำรวมกาย แต่วาจายังไม่ได้สำรวม ก็ยังไม่พอ ท่านที่สำรวมกายแล้ว สำรวมวาจาแล้ว ก็ยังไม่พอ ยังต้องสำรวมใจอีก ซึ่งคนอื่นไม่สามารถล่วงรู้ถึงใจ ของท่านได้ นอกจากตัวท่านเอง เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิด ควรที่จะสำรวมใจ ละมโนทุจริต และพึงประพฤติสุจริตด้วยใจ คือ แทนที่จะคิดถึงสิ่งอื่น บุคคลอื่น ที่จะทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ก็เตือนให้ระลึกถึงกิเลสของตนเอง

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ในกาลจบเทศนา อุบาสกเหล่านั้นดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ดังนี้แล

    ท่านผู้ฟังอยากอีก ใช่ไหม ฟังแล้ว จบแล้ว ก็อยากเป็นอย่างอุบาสกเหล่านั้น เมื่อไรจะถึงเร็วๆ แต่ยังเป็นไปไม่ได้ ถ้าปราศจากเหตุที่สมควรแก่ผล แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ แม้ในขณะที่กำลังฟังพระธรรมเทศนา สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมปัญญาไม่ใช่เรื่องอื่น นอกจากระลึกเพื่อที่จะ รู้ชัดจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา เพราะเป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมเท่านั้น ทุกภพ ทุกชาติ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น มีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปแล้วสติระลึก

    ข้อที่น่าสังเกต และควรระลึกได้อย่างยิ่งในขณะที่โกรธ คือ ขณะใดที่โกรธ ขณะนั้นคิดถึงแต่ความไม่ดีของคนอื่น ลืมระลึกถึงกิเลสของตนเอง ขณะที่โกรธใคร ให้ทราบว่า ขณะนั้นลืมระลึกถึงกิเลสของตนเอง แต่ถ้าขณะใดที่สติเกิดระลึกได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต และไม่โกรธ สามารถเกิดเมตตาเพิ่มขึ้นได้

    ชีวิตของแต่ละคน แต่ละท่าน ในภพหนึ่งชาติหนึ่งก็ต่างกันไป

    ถ. พระพุทธองค์ตรัสเรื่องโลกธรรม ๘ อตุลอุบาสกก็ได้บรรลุเป็น พระโสดาบัน แสดงว่าอตุลอุบาสกและบริวาร ๕๐๐ ต้องฟังธรรมอย่างอื่นมาแล้วมาก ใช่ไหม

    สุ. ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา อบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ไม่ใช่ฟังเรื่องโลกธรรม ๘ เรื่องสรรเสริญนินทาอย่างเดียว

    สุ. การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เป็นสิ่งที่ผู้ได้ฟังพระธรรมเทศนาเข้าใจ และประพฤติปฏิบัติกันเป็นประจำ เพราะฉะนั้น อาศัยพระธรรมเทศนาแต่ละสูตร เพื่อเกื้อกูลให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

    ถ. ที่ท่านพระสารีบุตรเทศนาอภิธรรมกถาตั้งมากมาย ไม่ได้เกื้อกูลท่านเลย

    สุ. สะสมมาที่จะรู้สึกว่า ละเอียดยิ่งนัก และท่านที่ต้องการฟัง อย่างละเอียดเรื่องของอภิธรรม และดูว่าท่านจะเหมือนอตุละหรือไม่ ก็อ่าน ธรรมสังคณีปกรณ์ พระไตรปิฎกคัมภีร์แรก จะได้ทราบว่า ท่านรู้สึกอย่างอตุละ หรือเปล่า

    ถ. ท่านชอบง่ายๆ

    สุ. และคนอื่นล่ะ แต่ง่ายหรือยากไม่สำคัญ ขอให้ธรรมนั้นเกื้อกูลให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะฟังมากหรือฟังน้อยไม่สำคัญ ให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้เพียงคำสั้นๆ คาถา ๔ บาท ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพียงเท่านี้ ถ้าเข้าใจจริงๆ จะทำให้สติระลึกจนกว่าจะรู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก ขณะนี้เอง

    ถ. ธรรมที่ท่านอตุลอุบาสกฟัง โลกธรรม ๘ ที่ท่านฟังแล้วท่านเข้าใจ ตามความเป็นจริงนั้น เพราะท่านเข้าใจสภาวะ ก็คงตรงกับที่ท่านพระสารีบุตรแสดงอภิธรรมให้ฟัง เพราะว่าอภิธรรมพูดถึงเรื่องสภาวะของธรรมต่างๆ แจกแจงไป เป็นรายละเอียด ถ้าหากท่านไม่เข้าใจอย่างนั้น คงจะไม่ได้บรรลุพระโสดาบัน

    สุ. แต่ในขณะนั้นท่านไม่อยากจะฟังมากๆ กาลนั้น สมัยนั้น แต่ท่าน ต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยพระธรรมที่ทรงแสดง เช่น เรื่องของโลกธรรม เพราะอะไรทุกคนจึงได้ขวนขวายต้องการโลกธรรมฝ่ายดี ถ้าไม่ใช่เพื่อตัวเอง เพราะว่ามีความยึดมั่นในความเป็นตัวตนอย่างมาก เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่า ลาภก็ดี ยศก็ดี สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี เป็นเรา จึงขวนขวาย

    แต่ถ้ารู้ว่าไม่ใช่เรา ก็เห็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นของธรรมดา และถ้าสามารถจะรู้จนกระทั่งว่า เป็นเพียงชั่วขณะจิตเดียว ตัวตนอยู่ที่ไหน ไม่มีเลย หลงยึดถือสิ่งที่เกิดดับว่าเป็นเรา ว่าเป็นตัวตน ต่อเมื่อใดปัญญาเจริญขึ้น คลายความยึดถือสภาพธรรมที่เกิดดับ และรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นธรรมฝ่ายใด ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป เมื่อเกิดแล้วดับแล้ว เราอยู่ที่ไหน เราเมื่อกี้อยู่ที่ไหน เราชั่วขณะเดียวที่ได้ยินเมื่อกี้อยู่ที่ไหน ก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถคลายความเป็นตัวตนได้ จะเข้าใจว่า แม้ธรรมที่ เป็นโลกธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็เกื้อกูลในการที่จะคลายความยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๑ ตอนที่ ๑๖๐๑ – ๑๖๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564