แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1565


    ครั้งที่ ๑๕๖๕


    สาระสำคัญ

    อวิชชาไม่สามารถรู้ความจริง

    เห็นโทษของอกุศลจึงเจริญเมตตา

    สติปัฏฐานต้องมีปรมัตถธรรม

    ไม่มีเราในสิ่งที่ปรากฏทางตา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๙


    เพราะฉะนั้น วิถีจิตทางตาเมื่อมีปัจจัยที่จะปรากฏ ก็ยังเกิดขึ้นปรากฏอยู่ แต่จะเริ่มเห็นการไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะทางตา เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และเพราะขณะนั้นสติกำลังใส่ใจพิจารณาลักษณะของแข็ง

    ไม่อย่างนั้นทางตาจะไม่มีวันดับเลย ถ้าไม่เห็นว่าทางตา เพียงชั่วขณะจริงๆ เวลาที่ทางหูเสียงปรากฏทางตาต้องไม่มีตามความเป็นจริง แต่เมื่อทางตายังปรากฏอยู่โดยไม่ขาดสาย ก็เพราะสภาพธรรมยังไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง แต่จะเกิด ความเข้าใจขึ้น เห็นว่าทางตาต้องเล็กน้อยมาก สติจึงสามารถระลึกที่แข็งที่กายได้ จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริง

    แม้แต่ทางตา ซึ่งทุกท่านก็สงสัยว่าจะดับอย่างไร ถ้าไม่พิจารณาโดยทั่วทั้ง ๖ ทวาร ทางตาดับไม่ได้แน่ และเมื่อพิจารณาแต่ละทวาร แม้ว่าทางตาจะเห็น แต่ขณะนั้นก็ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ เพราะว่าสติกำลังระลึกลักษณะของแข็ง ที่กำลังปรากฏทางกาย

    ผู้ฟัง ฟังดูยาก คงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมแทบไม่ได้เลย ไม่มีความหวังที่จะ รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    สุ. ท่านที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็คงเคยคิดอย่างนี้มาแล้วว่า ต้องเป็นสิ่งที่ยาก แน่นอน ท่านต้องเคยคิดมาก่อน แต่ท่านไม่ละความเพียร เพราะ ท่านรู้ว่าเป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งอวิชชาเท่านั้นไม่สามารถรู้ได้ อวิชชา ไม่มีทางรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ แต่วิชชาสามารถ ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ ถ้ารู้หนทางที่จะเจริญปัญญา ไม่ท้อถอย เพราะว่าเป็นของจริงที่พิสูจน์ได้

    ถ. ถ้าผมไม่บำเพ็ญบารมีครบทั้ง ๑๐ ทัศ จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม

    สุ. ให้ทานแล้ว ใช่ไหม ทุกคนต้องเคยให้ทาน จะมากจะน้อยก็ไม่เป็นไร รู้สึกว่าไม่มีข้อสงสัยในเรื่องของทาน รักษาศีลด้วย ใช่ไหม

    ถ. กระพร่องกระแพร่ง

    สุ. และฟังธรรมด้วย

    ถ. ก็ยังกระพร่องกระแพร่ง

    สุ. ก็ตามแต่ แต่วันหนึ่งๆ ทานที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว ก็ยังไม่สามารถทำให้กุศลจิตเกิดได้มาก เพราะว่าวาระที่ให้ทานเป็นวาระที่สั้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะ ให้ทานสักเท่าไร เมตตาเวลาที่คิดถึงบุคคลอื่น ยากหรือง่าย

    ถ. ยาก

    สุ. ถ้ายังคงเมตตายากอยู่อย่างนี้ จะดับกิเลสได้ไหม

    ถ. ก็คงไม่ได้

    สุ. เพราะฉะนั้น เจริญเมตตาดีกว่าไหม ซึ่งความจริง ถ้าหิริโอตตัปปะเกิด โดยการเห็นโทษของอกุศล เช่น โทสะ ความพยาบาท ความผูกโกรธ ความขุ่นเคือง จะเห็นได้ว่าเมตตาเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าอย่างอื่น เพราะไม่ต้องอาศัยวัตถุ ไม่ต้องอาศัยการตระเตรียม เพียงแต่โยนิโสมนสิการ พิจารณาด้วยความถูกต้องแยบคายเท่านั้นเอง

    ทานก็ให้มาแล้ว ก็ยังทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัวได้ ศีลก็ได้วิรัติทุจริตไปแล้ว แต่ใจก็ยังโกรธ ผูกโกรธ พยาบาท เศร้าหมองขุ่นมัวได้ และทำไมเพียงแต่จะเจริญความสงบของจิตด้วยสมถะ เพราะแม้เป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่ มีปกติเจริญปัญญาด้วยการเจริญสติปัฏฐานก็ตาม แต่บางเวลาที่จิตไม่สงบเกิดขึ้น หิริโอตตัปปะเห็นโทษ เกรงกลัว และรังเกียจละอายอกุศลธรรมในขณะนั้นไหม เพราะฉะนั้น จะเว้นเป็นบางข้อก็ไม่สมควร เพราะว่าเมตตาและอุเบกขาไม่ใช่สิ่งที่ ยากเลย

    ถ. ขณะที่เราอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้ว่าสติปัฏฐานที่เราอบรมเจริญอยู่นั้นเป็นสติปัฏฐานที่แท้จริงหรือไม่ คิดว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้ากล่าวตาม หลักวิชาการที่ได้ศึกษามา สติปัฏฐานก็มี ๒ อย่าง คือ ตัวสติเองเป็นสติปัฏฐาน และปัฏฐานนั้นเองเป็นสติปัฏฐาน ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกที่ปัฏฐานนั้น คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งให้สติเกิด ตามหลักฐานก็น่าจะเป็นสติปัฏฐานที่แท้จริง แต่ถ้าเป็นการระลึกไปในสัจจะอื่น เช่น สมมติสัจจะ ซึ่งไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ ก็น่าจะคลาดเคลื่อน ความเห็นอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะผิดถูกอย่างไร

    สุ. การเจริญสติปัฏฐานต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ไม่ใช่มี สมมติบัญญัติเป็นอารมณ์

    ถ. มิได้ เมื่อสักครู่บอกว่า ถ้าเราระลึกไปในบัญญัติ โดยสำคัญว่า เป็นปรมัตถ์ ขณะนั้นก็คลาดเคลื่อนแล้ว อย่างนี้ถูกไหม

    สุ. แน่นอน เพราะว่าสติปัฏฐานต้องมีลักษณะของสภาพธรรมเป็นอารมณ์

    ถ. บางแห่งที่แนะนำธรรมในทำนองว่า ต้องระลึกรู้อยู่เสมอ จะนั่งก็ให้รู้ตัว จะยืน จะเดิน จะนอนก็ให้รู้ตัว หรือจะกระทำอะไรก็ตามก็ต้องให้รู้ตัว ลักษณะ อย่างนั้นเป็นบัญญัติ ก็คงไม่ถูกต้องแล้ว ใช่ไหม

    สุ. สติปัฏฐานต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เพราะคำว่าปรมัตถธรรม หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีลักษณะของ สภาพปรมัตถธรรมนั้นๆ แต่ละอย่างปรากฏ

    ถ. เพราะฉะนั้น บางแห่งที่แนะนำว่า จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะทำอะไรให้รู้ตัว เพื่อเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็คงไม่ถูกต้อง ใช่ไหม

    สุ. เรื่องของสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะฉะนั้น บางท่านอ่าน มหาสติปัฏฐานและเข้าใจเองว่าต้องเป็นผู้ที่ฝึกอบรมสติ แต่ต้องมีคำอธิบายให้เข้าใจชัดเจนกว่านั้นอีกว่า สติระลึกลักษณะของอะไร ทางไหน ให้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่า ให้ระลึกลอยๆ ระลึกลอยๆ ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    บางท่านเคยไปปฏิบัติแบบที่ท่านใช้คำว่า อานาปานสติ คือ ระลึกที่ลมหายใจ และท่านก็เข้าใจว่าโลกุตตรธรรมได้เกิดแก่ท่านแล้ว เป็นชาวอังกฤษมาที่เมืองไทย และท่านก็บอกว่า ปัญญาไม่เกิดก่อนนั้นเลย หมายความว่าปัญญาจะเกิดต่อเมื่อ โลกุตตรจิตเกิด ก่อนนั้นปัญญาไม่เกิดเลย เพราะสำหรับท่านไม่มีปัญญาใดๆ เลย จริงๆ แม้แต่ถามว่า ในขณะที่ระลึกที่ลักษณะของลมหายใจอะไรปรากฏ ก็ตอบไม่ได้ แต่ท่านเข้าใจว่า ท่านระลึกลักษณะของลมหายใจเข้า ระลึกลักษณะของลมหายใจออก เมื่อถามว่า ลมหายใจเข้ามีลักษณะอย่างไร ลมหายใจออกมีลักษณะอย่างไร คือ กล่าวถึงลักษณะของปรมัตถธรรม ท่านตอบไม่ได้เลย

    อีกท่านหนึ่ง ท่านศึกษาอภิธรรม แต่ท่านปฏิบัติแบบเดียวกัน ท่านก็บอกว่า ขณะที่มีการเคลื่อนไหว นั่นแหละคือลักษณะของลมหายใจ แสดงให้เห็นว่า ตอบโดยปริยัติ แต่ในขณะที่กำลังปฏิบัติอย่างนั้นจริงๆ ไม่ได้รู้ลักษณะของ ปรมัตถธรรม เพราะว่าปัญญาไม่เกิดเลย เมื่อถามถึงลักษณะของลมหายใจ ท่าน ตอบไม่ได้ แต่ผู้ที่ศึกษาแล้วตอบตามตำราว่า ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวที่จมูกเข้าไปข้างใน นั่นคือลมหายใจ เพราะว่าอาจารย์ท่านนั้นบอกว่าอย่างนั้น

    แสดงให้เห็นว่า บางท่านปฏิบัติแล้ว ในขณะที่กำลังปฏิบัติ สติไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของปรมัตถธรรม แต่โดยการศึกษาก็มาพิจารณาได้ว่า ในขณะที่กำลังปฏิบัตินั้น ขณะที่รู้ว่าเข้าหรือออกนั้น เป็นลักษณะของลมหายใจ

    ถ. เจริญอย่างไรจึงจะเรียกว่า เป็นการอบรมให้สติเกิด

    สุ. เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้องก่อน

    ถ. เบื้องแรกต้องมีความเข้าใจถูกต้องก่อน

    สุ. แน่นอนที่สุด เพราะสติจะต้องระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่มีความเข้าใจในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเลย ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะว่าไม่ทำให้ปัญญาศึกษาพิจารณาโดยถูกต้อง เช่น ในขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ไม่รู้อะไรเลยที่เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาตามความเป็นจริง และจะให้เจริญ สติปัฏฐาน จะทำอย่างไร ในเมื่อไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ได้มีการฟังและพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจว่า ขณะที่ส่องกระจก ทำไมจึงคิดว่ามีเราในกระจก ทุกคนเลย ใช่ไหม

    มีใครบ้างไหมที่ส่องกระจกและคิดว่าเงาในกระจกนั้นไม่ใช่ตัวท่าน ทุกวัน ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นตัวเองเลย แต่ครั้งใดที่ส่องกระจกก็ยึดถือเงาในกระจกว่าเป็นเรา ฉันใด เวลานี้ ทางตา รูปารมณ์ ก็เสมือนกระจก แต่ทุกท่านเข้าใจว่า มีคนอยู่ในกระจก ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เป็นความเข้าใจที่ถูกหรือผิด

    เพียงส่องกระจก และระลึกได้ว่า ไม่มีเราในกระจก ฉันใด รูปารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลยในรูปารมณ์ที่ปรากฏ

    สิ่งที่อ่อนหรือแข็ง มี เมื่อกระทบสัมผัสในขณะที่เห็น เป็นธาตุแข็ง ธาตุอ่อน ธาตุร้อน ธาตุเย็น แต่ไม่ใช่รูปารมณ์

    ต้องแยกรูปารมณ์ออกว่า รูปารมณ์ก็เหมือนกระจก ส่วนเวลาที่กระทบสัมผัสกระจกก็แข็ง เพียงแข็ง ใช่ไหม ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลใดๆ ในกระจกเลย แต่ทำไมเวลาที่เห็นก็ถือว่าเป็นเรา แต่พอกระทบสัมผัสก็รู้ว่าเป็นเพียงแข็ง เพราะฉะนั้น เมื่อเทียบกับกระจก ซึ่งก็เป็นรูปารมณ์เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกระจกหรือไม่ใช่กระจก ลักษณะของรูปารมณ์ก็คือ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนใดๆ ทั้งสิ้นในรูปารมณ์ที่ปรากฏ

    ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้ ไม่รู้อย่างนี้ สติปัฏฐานจะเกิดระลึกอะไรทางตา เช่นเดียวกับทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน ต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจ เรื่องลักษณะของสภาพธรรมขั้นปริยัติ คือ ขั้นฟังเรื่องของสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าสติจะเกิดเพราะเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยขั้นการศึกษา โดยขั้นการฟัง พอที่จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ถูกต้องว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา หลับตาแล้วก็ไม่ปรากฏเลย

    ถ. การที่สติจะเกิด ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องอารมณ์นั้นอารมณ์นี้

    สุ. แน่นอน สติเป็นอนัตตา

    ถ. เกิดกับอารมณ์ไหน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางใจ ได้ทั้งนั้น

    สุ. มิฉะนั้น พระผู้มีพระภาคต้องทรงแสดงสติปัฏฐานเดียว

    ถ. สมมติว่าตาไม่เห็นรูป หรือหลับไปแล้ว จักขุปสาทยังเกิดอยู่หรือเปล่า

    สุ. จักขุปสาทรูปมีอะไรเป็นสมุฏฐาน ... กรรม ถ้ากรรมเป็นสมุฏฐาน เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิต และในขณะที่ปฏิสนธิจิตยังไม่ดับ คือ ในฐีติขณะ ก็มีกัมมชรูปเกิด และในภังคขณะก็มีกัมมชรูปเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นใน ภพไหน ภูมิไหน

    ในภูมิมนุษย์ จักขุปสาทรูปไม่ได้เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต แต่ในภูมิของเทวดา ที่เป็นอุปปาติกะกำเนิด หรือเปรต หรือสัตว์นรก ก็มีจักขุปสาทรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิ แต่สำหรับผู้ที่เกิดในครรภ์ เมื่อถึงกาลที่จักขุปสาทรูปจะเกิด กรรมก็เป็นปัจจัยทำให้ รูปนั้นๆ เกิด ไม่ใช่ว่าเราจะไปบันดาล ตราบใดที่กรรมยังเป็นสมุฏฐานให้รูปใดเกิด รูปนั้นก็ยังเกิดอยู่ ถ้าคนตาบอดเพราะกรรมเป็นปัจจัย กรรมก็ไม่เป็นปัจจัยให้ จักขุปสาทรูปเกิด ซึ่งใครก็ไปทำอะไรไม่ได้เลย

    ถ. ขณะที่หลับ ปสาททั้ง ๕ ไม่รับรู้อารมณ์แล้ว เพราะหลับสนิท แสดงว่าในขณะนั้นปสาทรูปทั้ง ๕ ก็ยังเกิดอยู่ตลอดเวลา

    สุ. ไม่ใช่แต่เฉพาะปสาทรูปทั้ง ๕ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า รูปใดเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน กรรมก็เป็นสมุฏฐานให้รูปนั้นเกิด ไม่ใช่แต่เฉพาะจักขุปสาทรูป ทั้งตัวที่คิดว่าเป็นเราไม่ได้ดับนั่นแหละ กายปสาทรูปทั่วทั้งตัว หรือว่ารูปใดๆ ก็ตาม ซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ใครจะรู้หรือไม่รู้ กรรมก็เป็นสมุฏฐานให้รูปนั้นเกิด

    อย่างรูปของทุกท่านเมื่อวานนี้ดับแล้ว นี่แสดงถึงเวลาที่นาน คือ เมื่อวานนี้ กับวันนี้ แต่ความจริงรูปเมื่อกี้เองดับหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานใดทั้งสิ้น แต่เมื่อกรรมยังเป็นปัจจัยให้รูปนี้เกิดต่อไป ก็ปรากฏเสมือนว่ารูปนี้ไม่ได้ดับเลย ซึ่งความจริงแล้ว รูปเมื่อครู่นี้ต้องดับไปหมดแล้ว

    ถ. มีคนตั้งคำถามว่า พระไตรปิฎกเป็นตำราหรือไม่

    สุ. ทั้งหมดต้องไปสรุปที่ ต้องพิจารณาก่อน ไม่ใช่เป็นตำราก็เชื่อ และไม่ได้พิจารณาอะไรเลย ถึงแม้ว่าเป็นตำรา ก็ต้องพิจารณาก่อน

    สำหรับโสภณสาธารณเจตสิกดวงต่อไป คือ ดวงที่ ๓ และดวงที่ ๔ ได้แก่ หิริเจตสิก และโอตตัปปเจตสิก

    เวลาที่สติเจตสิกเกิด ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย และลักษณะที่พอจะปรากฏให้เห็นได้ต่อจากลักษณะของสติ คือ หิริเจตสิก และ โอตตัปปเจตสิก

    หิริเจตสิก เป็นเจตสิกที่รังเกียจและละอายต่อบาป มีการยำเกรง และมี ความเคารพเป็นลักษณะ

    โอตตัปปเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกรงกลัวบาป มีปกติกลัวต่อโทษ และเห็นภัยของบาปเป็นลักษณะ

    ทั้งหิริและโอตตัปปะเกิดร่วมกันทุกครั้ง ไม่แยกกัน เพราะว่าเป็นโสภณสาธารณเจตสิก

    ลักษณะของหิริเจตสิก คือ

    ปาปโตชิคุจฉนลักขณา มีความรังเกียจบาปเป็นลักษณะ

    ปาปานังอกรณรสา มีการไม่ทำบาปเป็นกิจ

    ปาปโตสังโกจนปัจจุปัฏฐานา มีการถอยกลับจากบาปเป็นอาการปรากฏ

    อัตตคารวปทัฏฐานา มีความเคารพในตนเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    ขณะใดที่รู้สึกรังเกียจและละอายในการที่จะเป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นลักษณะของหิริเจตสิก

    ลักษณะของโอตตัปปเจตสิก คือ

    อุตตาสนลักขณัง มีความเกรงกลัวบาปเป็นลักษณะ

    ปาปานังอกรณรสัง มีการไม่ทำบาปเป็นกิจ

    ปาปโตสังโกจนปัจจุปัฏฐานัง มีการถอยกลับจากบาปเป็นอาการปรากฏ

    ปรคารวปทัฏฐานัง มีความเคารพผู้อื่นเป็นเหตุใกล้

    ขณะใดที่เว้นจากความชั่ว บาป อกุศล ทุจริตทั้งปวง แม้ว่าจะเล็กน้อย สักเพียงใด ขณะนั้นก็เป็นเพราะหิริและโอตตัปปะ ซึ่งเป็นสภาพที่รังเกียจ ละอาย กลัวเกรงโทษของบาป

    ทุกคน ทุกวันๆ ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ใช่ไหม การที่จะไม่ทำบาปเกิดจากอะไร หรือการที่จะไม่ทำอกุศลทุจริตเกิดจากอะไร เพราะกลัวคนอื่นรู้ หรือว่าเปล่าเลย เพราะรังเกียจที่จะกระทำสิ่งนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๗ ตอนที่ ๑๕๖๑ – ๑๕๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564