แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1563


    ครั้งที่ ๑๕๖๓


    สาระสำคัญ

    จดหมายจาก โรงเรียนบ้านสันจำปา จ. เชียงราย

    จดหมายจากเรือนจำกลางลพบุรี

    ขุ.จู. โสฬสมาณวกปัญหานิทเทส - ผู้ที่ไม่อยู่ปราศจากพระผู้มีพระภาค

    อยู่ใกล้พระรัตนตรัย - การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๙


    มีจดหมายของท่านผู้ฟังที่ได้ประโยชน์จากสติในการฟังพระธรรม ท่านเขียนมาจากโรงเรียนบ้านสันจำปา ต.แม่พริก อ.แม่สรวย จ. เชียงราย ท่านเขียนถึงคุณธงชัย

    วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

    กราบเรียนท่านผู้จัดรายการธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ที่นับถือ (หมายความถึง ท่าน พ.อ. ธงชัย แสงรัตน์)

    ตามที่ท่านได้ส่งหนังสือพระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน แปลโดย อาจารย์สุจินต์ บัดนี้กระผมได้รับหนังสือเรียบร้อยแล้วและกำลังอ่านอยู่ รู้สึกว่า เป็นหนังสือที่ดีมีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่สนใจใฝ่ศึกษาธรรม โดยที่จะได้เข้าใจ สภาพธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น มีสติระลึกได้ไม่หลงลืม หลังจากที่กระผมอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง ก็จะนำหนังสือและความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้ผู้อื่นต่อไป

    ขณะนี้กระผมได้ติดตามรับฟังรายการจากสถานีวิทยุ สวพ. ๔ พิษณุโลก ในเวลา ๒๒.๐๐ น. ปรากฏว่า สามารถรับฟังได้ชัดเจนดี เวลาที่ออกอากาศ ก็เหมาะสม ไม่ดึกจนเกินไป และเป็นเวลาที่ทุกคนว่างเว้นจากภารกิจที่จะกระทำ ส่วนรายการที่นำมาออกอากาศนั้น ก็นับว่ามีประโยชน์มาก

    สำหรับการฟังซึ่งบรรยายโดยอาจารย์สุจินต์ ทำให้เกิดความเข้าใจธรรม หลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน กระผมมีความเห็นว่า รายการนี้ควรจะมีอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการเผยแพร่ธรรมไปยังผู้ฟังเป็นจำนวนมากได้ในเวลาที่พร้อมกัน

    ในโอกาสนี้ กระผมขออวยพรให้ท่านผู้จัดบรรลุในพระธรรม และกระผมหวังว่าคงจะได้รับเมตตาจากท่านในการที่จะส่งมอบหนังสือเล่มต่อๆ ไปให้กระผมอีก จึง ขอกราบขอบพระคุณไว้ล่วงหน้าอีกครั้งหนึ่ง

    ขอแสดงความนับถือ

    และมีจดหมายของท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ต้องโทษ ท่านเขียนถึง คุณธงชัย

    เรือนจำกลางลพบุรี

    วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๙

    กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ (หมายความถึงท่าน พ.อ. ธงชัย แสงรัตน์)

    กระผมได้รับหนังสือที่ส่งมาให้กระผมแล้วทั้ง ๔ เล่ม ขอกราบขอบพระคุณ ในความเมตตากรุณาของอาจารย์เป็นอย่างสูง และกระผมได้เขียนจดหมายติชมไปยัง พ.อ.สุวิทย์ ตามความประสงค์ของท่านอาจารย์แล้ว กระผมได้ใคร่ครวญแล้ว สำหรับความเคารพและความซาบซึ้งในพระคุณของท่านที่ทำให้ผมได้มีโอกาสได้เข้าใจธรรมชั้นสูง ซึ่งผมถือว่าเป็นโอกาสชีวิตอันมีค่ายิ่งของผม ผมจึงขอเรียกหาท่านว่า อาจารย์

    ไม่ใช่เพราะประเพณีปฏิบัติ หรือผมจะอ้างความสนิทสนมเพื่อจะหวังผลประโยชน์อื่นใด นอกไปจากความรู้และความก้าวหน้าของธรรมปฏิบัติเท่านั้น แต่ด้วยความจริงใจเป็นอย่างยิ่งของผม ซึ่งถือว่าผมจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีพ่อแม่ ความรู้และปัญญาของผมจะเจริญขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากครูอาจารย์ แม้จะไม่เคยพบเห็นหรือรู้จักกันมาก่อน แต่ผมเชื่อว่ากุศลกรรมของผมที่ได้เคยได้รับการอนุเคราะห์ส่งเสริมจากท่านอาจารย์มาก่อน ขอได้โปรดรับความนอบน้อมด้วยความเคารพอย่างจริงใจจาก ผมด้วย โดยเฉพาะท่านอาจารย์สุจินต์นั้น ผมเองได้ตั้งใจไว้ก่อนที่จะได้เขียนจดหมายจะขอหนังสือจากท่านอาจารย์ คือ ตอนที่ผมได้ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ แล้วเข้าใจในธรรมว่า ถ้าผมออกไปก็จะหาโอกาสกราบแทบเท้าท่านที่กรุงเทพ ซึ่งทราบว่าท่านมาบรรยายธรรมที่วัดบวรทุกวันอาทิตย์ นับเป็นความรู้สึกของคนที่ได้พบสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต จึงสำนึกถึงคุณของบุคคลผู้ประทานสิ่งนั้นให้ผม

    ตอนนี้กระผมก็อยากจะแจ้งให้ท่านอาจารย์สุจินต์ทราบว่า เมล็ดพืชที่ท่านอาจารย์หว่านไว้ทั่วไปมาเป็นเวลานานปี ตอนนี้ได้มามางอกงามอยู่ในใจของผม เมล็ดหนึ่ง เมื่อท่านอาจารย์ให้เบอร์โทรของท่านอาจารย์สุจินต์ ผมก็คิดว่า ระยะเวลาอันใกล้นี้ผมต้องไปกราบพบท่านอย่างแน่นอน นอกจากจะไปกราบขอบคุณแล้ว ก็ยังมีธรรมอีกมากมายที่ผมยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่แจ่มแจ้ง แม้แต่ฟังวิทยุวันละ ๓๐ นาที และอ่านหนังสือ ยังเกิดประโยชน์แก่ผมเพิ่มขึ้นทุกวัน บางวันผมฟังวิทยุแล้วเข้าใจธรรมที่อาจารย์สุจินต์บรรยาย แล้วเกิดรู้สึกดีอกดีใจ แทบจะยกมืออนุโมทนาสาธุ ถ้าหากมีโอกาสสนทนาธรรมกับอาจารย์แล้ว ผมจะไม่ละโอกาสนี้เลย

    ท่านอาจารย์ครับ อันที่จริงก็อย่างที่ผมได้เรียนบอกท่านอาจารย์แล้วว่า ผมได้นับถืออาจารย์สุจินต์เป็นครูอาจารย์ตั้งแต่ผมฟังเทปสทร. กรุงเทพ และผมก็ได้แสดงการปกป้องและชี้แนะให้คนอื่นเข้าใจ โดยใช้การสังวรในการอ่าน ที่ผมกังวลเพราะ ผมคิดว่า หากมีใครสักคนหนึ่งเกิดสนใจธรรมปฏิบัติ แต่ไม่มีโอกาสได้เลือกศึกษา เผอิญมาเจอคำสอนที่ผิดๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ก็จะเสียเวลาและโอกาส

    ผมขอยกตัวอย่างที่เขาเขียนว่า ทำอารมณ์พระโสดาบันให้เกิดกับตัวโดย

    ๑. อย่าถือว่าร่างกายขันธ์ ๕ นี้เป็นเรา เป็นเพียงธาตุ ๔ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

    ๒. ไม่สงสัยในคุณของพระรัตนตรัย

    ๓. ถือศีล ๕ ให้ได้ (เขาถือว่าละสังโยชน์ ๓ ข้อแรกแล้ว) และทำใจให้นึกถึงพระนิพพานว่า สงบ ไม่ทุกข์ ไม่เกิดอีก นึกว่าถ้าเราตายขณะนั้นต้องไปนิพพานให้ได้

    อาจารย์ลองนึกดูเถอะครับ อย่าว่าปัญญาระดับอาจารย์เลย แม้ปัญญาระดับผมก็ยังวินิจฉัยออก แม้แต่สังโยชน์ ๓ ข้อแรกก็ยังไม่เข้าใจความหมาย ไม่เข้าใจวิปัสสนาภาวนา และที่บอกว่า ให้นึกถึงแต่พระนิพพานที่มีแต่ความสุขหากตาย ตอนนั้นจะได้ไป ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะยังไม่เข้าใจนิพพานเลย เพียงแต่นึกถึงความสงบของนิพพาน ก็เป็นเพียงอุปสมานุสสติ อันเป็นสมถกัมมัฏฐาน ๑ ใน ๔๐ นั่นเอง และขณะที่จิตนึกปรารถนาสงบ ปรารถนานิพพาน ก็เป็นกิเลส คือ โลภะ เป็นภวตัณหา ในเมื่อมีภพอยู่ ชาติก็ต้องมี ดังนั้นจึงยังไม่ถึงนิพพาน (นี่เป็นความเห็นของผมเอง หากผิดพลาดโปรดชี้แนะในโอกาสต่อไปด้วย)

    อย่างที่เรียนบอกอาจารย์แล้วว่า ผมทั้งอ่านทั้งฟังมาตลอด ๒ ปี ผมจึงมีโอกาสเลือกได้ เพราะผมศึกษาแทบทุกสำนักที่เผยแพร่ธรรม ไม่ว่าทางตำราหรือวิทยุ ในที่สุดก็พบผู้ชี้ทางซึ่งเข้าใจพระธรรมในพระไตรปิฎกได้ถูกต้อง ผมถือว่าธรรม เป็นสัจจะ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่แล้วแต่ใครจะตีความไปได้ อาจารย์ครับ เมื่อผมได้เขียนมาแล้วก็จะไม่ละโอกาสอันจะเกิดประโยชน์สำหรับผม ก่อนที่ผมจะเรียนถามปัญหาบางอย่างจากอาจารย์

    ซึ่งข้อความตอนนี้เป็นปัญหาของท่านผู้เขียนในเรื่องที่เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท และคุณธงชัยก็ได้เขียนตอบไปแล้ว

    อีกฉบับหนึ่งเป็นจดหมายของท่านผู้ฟังที่ได้ประโยชน์จากสติในการฟัง ท่านเขียนถึงท่าน พ.อ. ธงชัย แสงรัตน์

    วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๙

    เรียนคุณธงชัยทราบ

    ดิฉันได้รับหนังสือที่คุณธงชัยส่งไปให้แล้ว ดีใจมาก หนังสือที่คุณธงชัยส่งไปให้นั้น ดิฉันได้อ่านเป็นประจำ เพราะมีประโยชน์สำหรับดิฉันมาก

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า หนังสือธรรมนี้ ผู้ที่ได้รับและสนใจในธรรมย่อมจะ อ่านเป็นประจำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ

    ข้อความต่อไปในจดหมายมีว่า

    อดีตดิฉันเป็นคนมีจิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว และรู้สึกน้อยใจตัวเองอยู่เสมอ ดิฉันเป็นคนที่มีความหลังที่สุดแสนจะทรมานใจเป็นอย่างยิ่ง ถ้าดิฉันได้เขียนและเล่าความเป็นมาของชีวิตดิฉันให้คุณธงชัยฟัง คงไม่รู้กี่หน้ากระดาษ ขอให้รู้ไว้แต่เพียงว่า มิตรประจำของคุณธงชัยคนนี้เป็นคนอาภัพ ตลอดเวลา ๒๖ ปี ย่าง ๒๗ ปีนี้ ดิฉันรู้สึกเหมือนกับว่า ตัวดิฉันเองอยู่ลอยๆ ในโลกนี้คนเดียว ความจริงแล้วดิฉันไม่อยากจะ รื้อฟื้นความหลังขึ้นมาหรอก เพราะอดที่จะน้อยใจตัวเองไม่ได้ เวลานี้ดิฉันกำลังอยู่กับปัจจุบัน และกำลังพบกับแสงสว่างในชีวิต คือ หลักธรรมคำสั่งสอนของ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ประเสริฐยิ่ง ถ้าผู้ใดนำมาปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันให้ถูกต้องแล้ว ผู้นั้นจะมีแต่ความสุข พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์สามารถทำให้เปลี่ยนนิสัยของเราได้ เพราะทำให้มีสติและปัญญา ไม่ให้เราหลงลืมสติถ้าเราเดินในทางที่ผิด สำหรับอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ดิฉันซึ้งในการ ตอบปัญหาของท่านจริงๆ

    ท้ายนี้ ดิฉันจะไม่ขอลืมพระคุณของคุณธงชัยเลย และขออวยพรให้คุณธงชัย จงประสบแต่ความสุขจนชั่วชีวิตตราบนานแสนนานเทอญ

    นี่เป็นท่านผู้หนึ่งซึ่งท่านเคยมีความทุกข์ แต่สติก็ทำให้ท่านระลึกได้ เมื่อเข้าใจเหตุและผลของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ท่านก็เป็นผู้ที่ พบแสงสว่างในชีวิต คือ หลักธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาค และเป็นผู้ที่อยู่กับปัจจุบันแทนที่จะคิดถึงอดีตซึ่งทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้สึกน้อยใจเหมือนอย่างที่ เคยเป็น

    สำหรับผู้ที่เข้าใจพระธรรม และมีชีวิตแวดล้อมอยู่กับพระธรรมด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณา ด้วยการน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ย่อมเป็นไปตามลำดับขั้นของปัญญาของแต่ละท่าน

    ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โสฬสมาณวกปัญหานิทเทส มีข้อความที่ แสดงว่า ผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว เป็นผู้ที่ไม่อยู่ปราศจากพระผู้มีพระภาค คือ พราหมณ์พาวรีถามท่านพระปิงคิยเถระผู้เป็นหลานของท่าน เมื่อกลับมาหลังจากที่ได้เฝ้าทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคและได้บรรลุอรหัตแล้ว ท่านถามว่า

    ดูกร ปิงคิยะ ท่านอยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าผู้โคดมพระองค์นั้น ซึ่งมี พระปัญญาเป็นเครื่องปรากฏ มีพระปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน แม้ครู่หนึ่งหรือหนอ

    ทุกคนมีชีวิตอยู่ แล้วแต่ว่าจะอยู่อย่างไร อยู่ใกล้ชิดใคร

    ท่านพระปิงคิยเถระกล่าวตอบว่า

    ท่านพราหมณ์ อาตมามิได้อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นผู้โคดม ซึ่งมีพระปัญญาเป็นเครื่องปรากฏ มีพระปัญญากว้างขวางดังแผ่นดิน แม้ครู่หนึ่ง

    ท่านกล่าวต่อไปว่า

    ท่านพราหมณ์ อาตมาย่อมเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยจักษุ อาตมาเป็นผู้ไม่ประมาทตลอดคืนและวัน นมัสการอยู่ตลอดคืนและวัน อาตมาย่อมสำคัญการไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้านั้นนั่นแล

    ซึ่งคำอธิบายใน ข้อ ๖๒๗ มีว่า

    คำว่า นมัสการอยู่ ในอุเทศว่า นมสฺสมาโน วิวสามิ รตฺตึ ดังนี้ ความว่า นมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยจิตบ้าง ด้วยการปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์บ้าง ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรมบ้าง ย่อมอยู่ คือ ยับยั้งอยู่ตลอดคืนและวัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่านมัสการอยู่ตลอดคืนและวัน

    สำหรับผู้ที่เจริญพุทธานุสสติ คือ ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอยู่เสมอ หรือระลึกถึงคุณของพระธรรม หรือแม้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเตือนให้ระลึกถึงพระธรรมได้ โดยการที่ระลึกได้ถึงพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เหมือนกับจะกล่าวเป็นข้อความได้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านเล่าให้สหายธรรมของท่านฟัง เวลาที่ท่านเห็นจิ้งจกเกาะอยู่ที่เพดานและตกลงมาเข้าไปในปากแมวพอดี ซึ่งเป็นการเห็นวิบากกรรมที่ ทำให้ระลึกได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิด ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น จิ้งจกจะรู้ไหมว่า อะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า แต่กรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่กระทำกิจของพระศาสนา มีการใฝ่ใจในพระธรรม บางท่านก็ถอดเทป หรือว่าพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวกับธรรมเพื่อแจกจ่ายให้มิตรสหาย ของท่านได้มีโอกาสอ่าน ได้มีโอกาสศึกษาธรรม บางทีท่านอาจจะไม่ทราบว่า ขณะนั้นมีอะไรเป็นวัตถุเป็นที่ตั้งของศรัทธาของท่านที่ทำให้ท่านกระทำอย่างนั้น โดยที่ว่าเป็นการสะสมของเหตุปัจจัยซึ่งมีการกระทำอย่างนั้นเป็นประจำ แต่เมื่อได้ฟัง พระธรรมโดยละเอียดแล้ว ย่อมทราบว่า ในขณะนั้นท่านมีพระธรรมเป็นวัตถุที่ตั้ง ของศรัทธา คือ การที่จะใคร่เข้าใจ การที่จะได้ปฏิบัติตามพระธรรม เป็นปัจจัยที่ทำให้ขวนขวายพากเพียรเจริญกุศลในการกระทำกิจของพระศาสนา ด้วยการถอดเทป ด้วยการฟังธรรม ด้วยการพิมพ์ธรรมต่างๆ

    ส่วนใหญ่ของผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม ถ้าพิจารณาจริงๆ แล้ว อยู่ไม่ห่าง จากพระรัตนตรัย เพียงแต่จะระลึกได้เป็นไปในกุศลมากน้อยแค่ไหน เพราะแม้แต่ ในขณะที่อกุศลจิตเกิด สติปัฏฐานก็ยังเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอกุศล ในขณะนั้นได้ ซึ่งนั่นก็คือการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ ความกำหนด (คือ การพิจารณา) ความเลื่อมใสยิ่ง ศรัทธา สัทธินทรีย์ สัทธาพละ ที่ปรารภถึงพระผู้มีพระภาค ชื่อว่าศรัทธา ในอุเทศว่า สทฺธา จ ปีติ จ มโน สติ จ ดังนี้

    ความอิ่มใจ ความปราโมทย์ ความเบิกบานใจ ความยินดี ความปลื้มใจ ความเป็นผู้มีอารมณ์สูง ความเป็นผู้มีใจดี ความที่จิตผ่องใสยิ่ง ปรารภถึง พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าปีติ

    จิต ใจ มนัส หทัย จิตขาว มโน มนายตะ มนินทรีย์ วิญญาณ วิญญาณขันธ์ มโนวิญญาณธาตุอันเกิดแต่วิญญาณขันธ์ ปรารภถึงพระผู้มีพระภาค ชื่อว่ามโน

    ความระลึก ความระลึกชอบ ปรารภถึงพระผู้มีพระภาค ชื่อว่าสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ศรัทธา ปีติ มนะ และสติ

    นี่เป็นในขณะที่จิตผ่องใส เบิกบาน เวลาที่ระลึกถึงพระรัตนตรัย คือ พระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า ธรรมเหล่านี้ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดม ความว่า ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมไม่หายไป ไม่ปราศไป ไม่ละไป ไม่พินาศไปจากศาสนาของพระโคดม คือ จากศาสนาของพระพุทธเจ้า ศาสนาพระชินเจ้า ศาสนาของ พระตถาคต ศาสนาของพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าธรรมเหล่านี้ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดม

    ตราบใดที่ยังมีการศึกษาพระธรรมของพระผู้มีพระภาคโดยละเอียด ตราบนั้นศรัทธา ปีติ มนะ และสติ ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระผู้มีพระภาค เพราะว่าศาสนาของพระผู้มีพระภาคเป็นสัจธรรม เป็นธรรมที่แสดงเรื่องของสิ่งที่มีจริง ที่ปรากฏ ที่พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีการศึกษา พิจารณา เข้าใจโดยละเอียด และประพฤติปฏิบัติตามจนเกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น ศรัทธา ปีติ มนะ และสติ ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระผู้มีพระภาค

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่สำคัญในการศึกษาพระธรรม

    ถ. ธรรม ๔ ประการที่ว่าจะไม่หายไปจากศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอยู่ข้อหนึ่ง คือ มนะ ตอนแรกผมฟังเป็นมานะ มนะในที่นี้หมายถึงอะไร

    สุ. ใจที่ประกอบด้วยศรัทธาและสติ

    ถ. มนะ ในที่นี้หมายถึงใจที่เป็นกุศล

    สุ. ใช่

    ถ. พระอรหันต์ ท่านมีสติทุกขณะจิตไหม

    สุ. อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง ไม่มีสติเกิดร่วมด้วย

    ถ. หมายความว่า ไม่มีสติอยู่ทุกขณะจิต

    สุ. ถ้าจะกล่าวว่าทุกขณะจิต ก็หมายความว่าต้องเว้น ใช้คำว่า เว้น อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะฉะนั้น สำหรับคนทั่วๆ ไปจึงกล่าวว่า พระอรหันต์มีสติทุกขณะ เพราะว่าปุถุชนไม่ได้เป็นอย่างพระอรหันต์ แต่คำว่า ทุกขณะในที่นี้ สำหรับท่านผู้รู้ ท่านที่ศึกษาแล้ว ท่านก็เว้นไปในตัว คือ เว้นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๗ ตอนที่ ๑๕๖๑ – ๑๕๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564