แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1585


    ครั้งที่ ๑๕๘๕


    สาระสำคัญ

    มโนรถปุรณี องฺ. เอก - ผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

    อัฏฐสาลินีรูปกัณฑ์ - เหตุมี ๔ อย่าง

    มนสิการ มี ๓ อย่าง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


    สำหรับสภาพธรรมแต่ละประเภท พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพฐานะของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะถึงแม้ว่าเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท แต่เจตสิกที่เป็นมูล มีเพียง ๖ ซึ่งเป็นอกุศลมูล ๓ คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ และเป็นโสภณมูล ๓ คือ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑

    สำหรับเจตสิกซึ่งเป็นมูล เป็นสภาพธรรมที่ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นแดนเกิด เป็นสภาพให้เกิด เป็นสมุฏฐาน เป็นที่บังเกิดของกุศลธรรมทั้งหลาย

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกุศลทั้ง ๔ ภูมิ ไม่ว่าจะเป็นขั้นกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ หรือโลกุตตรภูมิ ก็ต้องเกิดจากสภาพธรรมที่เป็นกุศลมูลทั้งสิ้น เพราะว่ากุศลทุกขั้น ทุกระดับ ทุกประเภท จะเกิดขึ้นโดยปราศจากโสภณมูล คือ อโลภเจตสิกและอโทสเจตสิกไม่ได้เลย และต้องไม่ปราศจากโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ ด้วย แต่เมื่อแสดงโดยสภาพที่เป็นมูลก็ได้แก่ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก และอโมหเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวัน ในวันหนึ่งๆ ถ้ารู้ว่าขณะใดกุศลจิตเกิด ขณะนั้นรู้จักคุ้นเคยกับมูลได้ โดยสังเกตว่าขณะนั้นต้องมีมูล คือ ต้องมีอโลภเจตสิก และอโทสเจตสิกซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น กุศลนั้นๆ จึงเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นในขั้นของทาน ในขั้นของศีล ในขั้นของการฟังพระธรรม การแสดงธรรม หรือการอบรมจิตด้วยความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ หรือการอบรมเจริญปัญญาด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งทุกอย่างในชีวิตที่เป็นผลจะต้องมาจากเหตุ

    ข้อความใน มโนรถปูรณี อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๑๘๕๙ มีข้อความสั้นๆ ว่า

    สิ่งใดที่ไม่เคยคิดไว้ย่อมมีได้ก็มี สิ่งใดที่เคยคิดไว้กลับเสื่อมสลายไปก็มี เพราะว่าโภคทรัพย์จะสำเร็จแก่สตรี หรือสำเร็จแก่บุรุษ มิได้สำเร็จด้วยการคิดเอาเท่านั้น

    นี่เป็นชีวิตประจำวันของทุกท่าน ซึ่งจะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่ได้คาดหวังเลยว่า สิ่งนี้สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นเป็นไป สิ่งใดที่ไม่เคยคิดไว้ย่อมมีได้ก็มี ทั้งที่เป็นกุศลวิบาก ผลของกุศล และที่เป็นอกุศลวิบาก ผลของอกุศล และ สิ่งใดที่เคยคิดไว้กลับเสื่อมสลายไปก็มี สิ่งที่หวังไว้แน่นอนกลับเสื่อมสลายไปตามเหตุ คือ กรรมที่ได้กระทำ ไว้แล้ว เพราะฉะนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมูล คือ เหตุ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลมูล หรืออกุศลมูล

    ในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ถ้ามีเหตุการณ์ที่ทำให้คาดคะเนไม่ได้เลยว่า อะไรจะเกิดขึ้น ก็เป็นการที่คอยรับรู้ว่า จะเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เพราะว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย

    สำหรับสภาพธรรมที่เป็นเหตุ ที่ทรงแสดงไว้มี ๔ อย่าง ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ มีว่า

    เหตุมี ๔ อย่าง คือ เหตุเหตุ ปัจจัยเหตุ อุดมเหตุ สาธารณเหตุ

    เหตุเหตุ คือ เหตุที่เป็นมูล หรือเหตุที่เป็นเหตุปัจจัย

    ซึ่งได้แก่ อกุศลเหตุ ๓ กุศลเหตุ ๓ และอัพยากตเหตุ ๓ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว พ้นไปจากโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกแล้วไม่ใช่เหตุเหตุ แต่ว่าเป็นปัจจัย เป็นเหตุ โดยเหตุอื่น ซึ่งไม่ใช่เหตุเหตุ

    สำหรับกุศลเหตุ ๓ เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก อกุศลเหตุ ๓ เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก อัพยากตเหตุ ๓ ไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่า อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เกิดกับวิบากจิตก็ได้ เกิดกับกิริยาจิตก็ได้ และเมื่อเป็นวิบากจิต เป็นเป็นกิริยาจิต ก็ไม่เป็นเหตุเหตุที่จะให้เกิดวิบาก

    ประการต่อไป

    ปัจจัยเหตุ คือ เหตุปัจจัย หมายความถึงปัจจัยทุกอย่างเป็นเหตุ เช่น มหาภูตรูปเป็นปัจจัยแห่งการบัญญัติรูปขันธ์ ชื่อว่าปัจจัยเหตุ

    ถ้าไม่มีมหาภูตรูป จะมีการเรียกหรือรู้รูปใดๆ ได้ไหม ถ้าปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปนั่นเองเป็นปัจจัยเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการบัญญัติรูปขันธ์ว่า นี่คือรูป ชื่อว่าปัจจัยเหตุ หรืออุปาทายรูปก็เกิดขึ้น เพราะมหาภูตรูปเป็นปัจจัย นั่นก็คือปัจจัยเหตุ ซึ่งไม่ใช่เหตุเหตุ เพราะว่าเหตุที่เป็นเหตุมีเพียง ๖ แต่นี่ปัจจัยทุกปัจจัยเป็นเหตุโดยเป็นปัจจัย

    ประการต่อไป

    อุดมเหตุ ได้แก่ เหตุที่เป็นหลักเป็นประธาน

    เช่น สภาพธรรมที่สำเร็จเป็นกรรมแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก จึงชื่อว่า อุดมเหตุ เพราะว่าเป็นเหตุที่สมบูรณ์แล้วที่จะทำให้เกิดวิบากได้

    ถ้าเกิดความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในชีวิตประจำวันธรรมดา ยังไม่สำเร็จเป็นกรรม ยังไม่ใช่อุดมเหตุที่จะทำให้เกิดวิบาก ต่อเมื่อใดสำเร็จเป็นกรรมแล้ว จึงเป็นอุดมเหตุ คือ เป็นเหตุที่สมบูรณ์ที่จะทำให้ วิบากเกิดขึ้น

    นี่เป็นการพิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลว่า ขณะใด เป็นเหตุเหตุ ขณะใดเป็นปัจจัยเหตุ และขณะใดเป็นอุดมเหตุ

    ประการต่อไป

    สาธารณเหตุ คือ เหตุทั่วไป ได้แก่ อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร

    เป็นเหตุที่สาธารณะทั่วไปโดยไม่เฉพาะเจาะจงจริงๆ เพราะว่าอวิชชา เป็นปัจจัยแก่สังขารได้ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล

    ชีวิตประจำวันที่ไม่รู้เรื่องของปรมัตถธรรมเลย ไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย แต่แม้กระนั้นก็มีเจตนาที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง โดยมีอวิชชานั่นเองเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงเป็นสาธารณเหตุ คือ เหตุทั่วไปของกรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล

    ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงเหตุ ควรทราบว่า ที่ใช้คำว่า เหตุปัจจัย หมายคลุมทั้ง ที่เป็นเหตุเหตุ ๑ ปัจจัยเหตุ ๑ อุดมเหตุ ๑ และสาธารณเหตุ ๑ แต่ถ้ากล่าวโดยเจาะจงที่เป็นเหตุเหตุจริงๆ เหตุที่เป็นเหตุจริงๆ ต้องได้แก่ เจตสิก ๖ ดวงที่เป็น อกุศลเหตุ ๓ และโสภณเหตุ ๓

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแม้เรื่องเหตุ เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาของ สภาพธรรมในชีวิตประจำวันในวันหนึ่งๆ เวลาที่อกุศลจิตเกิด มีอวิชชาเป็น สาธารณเหตุ เวลากุศลจิตเกิดก็ยังมีอวิชชานั่นเองเป็นสาธารณเหตุ เพราะว่ายังไม่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดขึ้นๆ จุดประสงค์ก็เพื่อให้ เห็นชัดเจนในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมแต่ละอย่างในวันหนึ่งๆ

    สำหรับเหตุให้เกิดอโลภะ คือ โยนิโสมนสิการ การกระทำไว้ในใจโดยอุบาย อันแยบคาย คือ โดยถูกต้องตามลักษณะของสภาพธรรม โดยถูกต้องตามเหตุและผล

    แต่มีหลายท่านที่คิดว่าจะต้องทำโยนิโสมนสิการ บางคนก็บอกว่า ต้องให้ เป็นโยนิโส แต่จะเป็นไปได้ตามใจชอบไม่ได้ เพราะว่าโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นและดับไปในชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้น ซึ่งมนสิการนั้นมี ๓ อย่าง คือ

    อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ ได้แก่ มนสิการเจตสิก เป็นเจตสิกที่ ยังใจให้ไปสู่อารมณ์ เป็นสภาพที่สนใจ ใส่ใจในอารมณ์

    เจตสิกเกิดร่วมกันหลายประเภทในขณะที่จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งๆ และ มนสิการเจตสิกก็เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง แต่ลักษณะของมนสิการเจตสิก ถ้าจะอุปมาในระหว่างเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดพร้อมกัน ก็เป็นสภาพ ที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ มีการมุ่งสู่อารมณ์เป็นลักษณะ เปรียบเทียบได้กับมีหลายๆ คนอยู่ในที่หนึ่งที่ใด อาจจะมีการฟังธรรม หรือมีการแสดง มีวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ดูก็ได้ แต่ใครในกลุ่มบุคคลนั้นเป็นผู้ที่กำลังสนใจในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ลักษณะนั้น คือ มนสิการเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ มุ่งเข้าสู่อารมณ์เป็นลักษณะ นี่คืออารัมมณปฏิปาทกมนสิการเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง แม้ในขณะนี้เอง กำลังใส่ใจสนใจขณะใด ขณะนั้นก็ปรากฏลักษณะสภาพที่ให้รู้ได้ว่าเป็น มนสิการเจตสิก

    วิถีปฏิปาทกมนสิการ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่ยังใจให้สู่วิถี หรือยังใจให้ดำเนินสู่วิถี เพราะถ้าจิตดวงนี้ไม่เกิด จิตอื่นๆ ที่เป็นวิถีจิตจะเกิดไม่ได้

    โมหวิจเฉทนี ข้อ ๑๙ มีคำอธิบายว่า

    ชื่อว่ามนสิการ โดยอรรถวิเคราะห์ว่า ทำใจอันต่างจากใจมีในก่อน ดังนี้บ้าง

    ก่อนที่วิถีจิตจะเกิดต้องเป็นภวังคจิต เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่ง เป็นวิถีปฏิปาทกมนสิการ ทำใจอันต่างจากใจมีในก่อน เพราะว่าใจก่อนนี้เป็นภวังคจิต ไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดจึงต่างกับภวังคจิต เพราะเป็นวิถีจิตขณะแรกที่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ชวนปฏิปาทกมนสิการ ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ยังใจให้ดำเนินสู่ชวนวิถี เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ชวนวิถีจิตต้องเกิด จะมีชวนวิถีจิตเกิดโดยไม่มี มโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนไม่ได้ เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตจึงเป็น ชวนปฏิปาทกมนสิการ เป็นจิตที่ ยังใจให้ดำเนินสู่ชวนวิถี

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บรรดามนสิการ ๓ ประการนี้ อารัมมณปฏิปาทกะ ชื่อว่ามนสิการ ได้แก่ มนสิการเจตสิก โดยอรรถวิเคราะห์ว่า ทำไว้ในใจ มนสิการนั้นมีการยังสัมปยุตตธรรมให้แล่นไปตรงต่ออารมณ์เป็นลักษณะ มีการประกอบสัมปยุตตธรรมไว้ด้วยอารมณ์ เป็นรส มีความเผชิญหน้าต่ออารมณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นธรรมนับเนื่องในสังขารขันธ์ พึงเห็นว่า ราวกะสารถีของสัมปยุตตธรรมทั้งหลายด้วยความเป็นธรรมช่วยให้ดำเนินไปสู่อารมณ์

    ถ้าถามว่า คนขับสำคัญไหม สำคัญแค่ไหน ก็สำคัญแค่ขับ แต่จะขับไปใน ทางถูกหรือทางผิดต้องแล้วแต่บุคคลที่กำกับคนขับ หรือบุคคลที่ชี้ทาง ซึ่งเป็นผู้ที่รู้ทาง และต้องเป็นโสภณเจตสิก เพราะฉะนั้น แต่ละลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นกระทำกิจในวันหนึ่งๆ แม้ว่าแต่ละท่านจะไม่รู้จักลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภท แต่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของเจตสิกแต่ละประเภทโดยละเอียด เพื่อให้ เห็นในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ที่ท่านจะทำโยนิโส ก็คิดดูว่า จะทำขณะไหน จะทำเมื่อไร ขณะที่ จักขุวิญญาณเกิดขึ้น เป็นวิบาก เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะทำโยนิโสได้ไหม

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจว่า ขณะใดที่กุศลธรรมเกิด ขณะนั้นมนสิการโดยถูกต้อง เป็นโยนิโสมนสิการโดยกำเนิด โดยใจ ไม่ใช่โดย บุคคลหนึ่งบุคคลใด

    เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ แม้แต่โยนิโสมนสิการ ก็เกิดขึ้นเป็นไปโดยกำเนิด โดยใจ ไม่ใช่ว่าโดยบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะทำ โยนิโสมนสิการได้ มิฉะนั้นก็ยังคงจะเห็นว่า มีเรา หรือมีตัวตน แทนที่จะระลึกรู้ได้ว่า ขณะนี้เป็นอกุศลจิต เป็นอโยนิโสมนสิการ แต่เวลาที่จิตเปลี่ยนกลับเป็นกุศล ระลึกได้ ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการแล้ว โดยไม่มีใครสามารถเป็นตัวตนทำโยนิโสมนสิการได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ส่วนคำว่า วิถีปฏิปาทกนั้น เป็นชื่อของปัญจทวาราวัชชนจิต คำว่า ชวนปฏิปาทกนั้น เป็นชื่อของมโนทวาราวัชชนจิต ทั้งสองนั้นมิได้ประสงค์เอาในที่นี้

    เพราะฉะนั้น ที่เป็นโยนิโสมนสิการ ก็เป็นมนสิการเจตสิก เพราะถ้ากล่าวถึงวิถีปฏิปาทกมนสิการจะหมายถึงปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งต้องเกิดก่อน ทวิปัญจวิญญาณ และในขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพที่รู้อารมณ์ที่กระทบทางทวาร เท่านั้นเอง

    สำหรับเหตุที่ทำให้เกิดอโลภเจตสิก ได้แก่ โยนิโสมนสิการ

    สำหรับกุศลจิตที่เป็นมหากุศลมีถึง ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท คือ ที่เป็น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง และเป็นมหากุศลญาณวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ๔ ดวง แต่แม้มหากุศลไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ต้องเป็นโยนิโสมนสิการ มิฉะนั้นแล้วเป็นกุศลไม่ได้

    เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ สภาพของ ปัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้ชัด แต่ลักษณะของมนสิการเจตสิกเป็นสภาพที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ด้วยความถูกต้อง ด้วยความแยบคาย แต่สภาพของปัญญานั้นไม่ใช่ เป็นการสนใจหรือใส่ใจ แต่เป็นสภาพที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นในขั้นของความเข้าใจ ก็เป็นความเข้าใจในเหตุและในผลที่เป็นขั้นของปัญญา ซึ่งเป็นความรู้ ไม่ใช่เป็นขั้นของเพียงขณะที่กำลังใส่ใจ หรือขณะที่กำลังสนใจ เพราะถ้าใส่ใจหรือสนใจด้วยดี ด้วยความถูกต้อง ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่ถ้าใส่ใจโดย ไม่ถูกต้อง เช่น สิ่งที่ไม่เที่ยง ก็เห็นว่าเที่ยง ขณะนั้นต้องเป็นอโยนิโสมนสิการ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๙ ตอนที่ ๑๕๘๑ – ๑๕๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564