แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1610


    ครั้งที่ ๑๖๑๐


    สาระสำคัญ

    อถ. มังคลสูตร

    ลักษณะของอโทสเจตสิก - เรื่องขันติวาทีดาบส

    ความอดกลั้นนั้น ชื่อว่า ขันติ

    เมตตาผู้ที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชาและอกุศลธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๐


    สำหรับท่านอื่นที่มีอัธยาศัยต่างกับอตุลอุบาสก คือ สะสมขันติ ความอดทน ความไม่โกรธ ซึ่งถ้าได้สะสมมากๆ จะอดทนได้ต่อสถานการณ์ทุกอย่าง แต่ต้องเป็น ผู้ที่เคยสะสมมามาก

    ข้อความใน อรรถกถา มังคลสูตร มีว่า

    ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ การสนทนาธรรม ๑ กรรม ๔ อย่าง มีความอดทนเป็นต้นนี้ เป็นมงคลอันสูงสุด

    ความอดทน คือ ความไม่โกรธ ความไม่โลภ ความไม่เดือดร้อน ต้องอดทน ทั้งที่จะไม่เกิดโลภะและที่จะไม่เกิดโทสะ

    คาถาว่าด้วยความอดทนมีว่า

    ภิกษุผู้ประกอบด้วยความอดทนคือความอดกลั้นใด ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาการ ผิดแปลก เป็นประหนึ่งว่าไม่ได้ยิน และเป็นประหนึ่งว่าไม่เห็นบุคคลผู้ด่าอยู่ ด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ หรือผู้เบียดเบียนอยู่ด้วยการฆ่าและการจองจำเป็นต้น ดุจขันติวาทีดาบสฉะนั้น หรือย่อมทำไว้ในใจโดยความเป็นผู้เจริญ เพราะความไม่มีความผิดยิ่งไปกว่านั้น ดุจท่านพระปุณณเถระฉะนั้น

    ความอดทน คือ ความอดกลั้นนั้น ชื่อว่าขันติ

    เคยเป็นอย่างนี้ไหม ไม่มีอาการผิดแปลก เป็นประหนึ่งว่าไม่ได้ยิน และเป็นประหนึ่งว่าไม่เห็นบุคคลผู้ด่าอยู่ หรือว่าผู้เบียดเบียนอยู่ด้วยการฆ่าและการจองจำ เป็นต้น นี่คือลักษณะของอโทสเจตสิก

    เรื่องขันติวาทีดาบสมีว่า

    ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์ชื่อกุณฑะ ในกรุงพาราณสี บวชเป็นดาบสอยู่ในหิมวันต์ประเทศเป็นเวลานาน เพื่อจะเสพของเค็มและของเปรี้ยวจึงไปสู่กรุงพาราณสี อันเสนาบดีบำรุง พักอยู่ในพระราชอุทยาน

    ต่อมาวันหนึ่ง พระราชาทรงพระนามว่า กลาปุ เสวยน้ำจัณฑ์มึนเมา เสียพระสติ มีพวกนักฟ้อนห้อมล้อม เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน ได้ทรงนิทรา ทอดพระเศียรลงบนตักของหญิงซึ่งเป็นที่รักและพอพระหฤทัยคนหนึ่ง

    ครั้งนั้น หญิงพวกอื่นต่างพากันทอดทิ้งพระราชาเสีย เที่ยวไปใน พระราชอุทยาน เห็นพระโพธิสัตว์นั่งอยู่ที่โคนไม้รังซึ่งมีดอกบานสะพรั่ง จึงไหว้ท่าน แล้วนั่งฟังธรรมอยู่

    พระราชาทรงตื่นบรรทมขึ้น เมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นหญิงเหล่านั้นจึงกริ้ว ทรงถือพระขรรค์เสด็จไป ทีนั้นหญิงที่ทรงโปรดปรานมากคนหนึ่งได้คว้าเอาพระขรรค์จากพระหัตถ์ของพระองค์ไปเสีย

    พระราชาตรัสถามว่า

    สมณะ ท่านมีปกติกล่าวอะไร

    ขันติวาทีดาบสตอบว่า

    มีปกติกล่าวขันติ มหาบพิตร

    พระราชาตรัสว่า

    ชื่อว่าขันตินั้น คืออะไร

    ขันติวาทีดาบสกล่าวว่า

    คือ ความไม่โกรธในเมื่อคนอื่นด่าอยู่ ประหารอยู่ และดูหมิ่นอยู่

    พระราชาตรัสว่า

    บัดนี้ เราจะเห็นความที่ขันติของท่านมีอยู่

    พระองค์รับสั่งให้เรียกคนฆ่าโจรมา แล้วตรัสว่า

    เจ้าจงฆ่าดาบสชั่วคนนี้ให้ล้มลงบนแผ่นดิน ให้การประหารสัก ๒,๐๐๐ ครั้ง ในทั้ง ๔ ข้าง คือ ข้างหน้า ข้างหลัง และในข้างทั้งสอง

    เขาได้ทำตามรับสั่งแล้ว พระราชาตรัสถามอีกว่า

    ท่านมีปกติกล่าวอะไร

    ขันติวาทีดาบสทูลว่า

    มีปกติกล่าวขันติ มหาบพิตร ก็พระองค์สำคัญว่า ขันติมีในระหว่างหนังของอาตมาภาพหรือ ขันตินี้ไม่ได้มีในระหว่างหนังนี้ แต่ขันตินี้ตั้งอยู่ภายในหทัยอันลึกของอาตมาภาพ

    พระราชาตรัสว่า

    เจ้าจงตัดมือและเท้าของดาบสนี้

    ซึ่งเขาก็ได้ทำตามรับสั่งแล้ว พระราชาจึงตรัสถามแม้อีก ขันติวาทีดาบสก็ได้กล่าวว่า

    มีปกติกล่าวขันติ มหาบพิตร ก็พระองค์ทรงสำคัญว่า ขันติมีอยู่ที่ปลายมือปลายเท้าของอาตมาภาพหรือ ขันตินี้ไม่มีที่ปลายมือปลายเท้านี้

    พระราชารับสั่งให้ตัดหูและจมูกของดาบส ซึ่งเขาก็ได้ทำตามรับสั่ง แล้ว พระราชาก็ได้ตรัสถามอย่างนั้นอีก และขันติวาทีดาบสได้ทูลโดยนัยดังกล่าวแล้ว พระราชากริ้วมาก เอาพระปราษณี คือ ส้นพระบาท กระทืบลงตรงกลางอกของ พระโพธิสัตว์ แล้วเสด็จหลีกไป ถูกแผ่นดินสูบที่ประตูพระราชอุทยานนั่นเอง เกิดในอเวจีแล้ว

    ก็เมื่อพระราชานั้นพอเสด็จหลีกไปแล้ว เสนาบดีเช็ดโลหิตของพระโพธิสัตว์ พยุงให้นั่งลงแล้ว เรียนอย่างนี้ว่า

    ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีประสงค์จะโกรธ ก็พึงโกรธต่อพระราชาผู้ทำความผิด ในท่านเท่านั้น อย่าโกรธต่อผู้อื่นเลย

    ขันติวาทีดาบสได้ฟังคำนั้นจึงกล่าวคาถานี้ใน ขันติวาทีชาดก ใน ทุติยวรรค จตุกนิบาต มีข้อความว่า

    พระราชาพระองค์ใดรับสั่งให้ตัดมือ เท้า หู และจมูกของเราแล้ว ขอพระราชาพระองค์นั้น จงทรงดำรงพระชนม์ชีพตลอดกาลนานเถิด เพราะคนเช่นเราหาโกรธไม่

    ต่างกันแล้ว ใช่ไหม การสะสมความไม่โกรธซึ่งเป็นขันติ สามารถที่จะไม่โกรธได้ทุกสถานการณ์ ซึ่งคงจะเป็นอีกนานแสนนานของแต่ละชีวิตของแต่ละท่าน แต่ถ้าเริ่ม เริ่มเดี๋ยวนี้ที่จะรู้สึกว่า เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะคนอื่น แต่เป็นเพราะกิเลสของท่านเองเท่านั้น และที่จะดับกิเลสได้หมดเป็นสมุจเฉท ก็ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ขันติวาทีดาบส ถูกพระราชาสั่งให้กระทำอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ไม่โกรธ แต่ถึงอย่างนั้นท่านก็ยังละกิเลสไม่ได้ กิเลสของท่านยังมี โทสะของท่านก็มีอยู่

    สุ. จนกว่าปัญญาจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ถ. แต่ทำไมถึงได้ทนได้

    สุ. ก็สะสมไปเรื่อยๆ วันนี้หัดทนนิดหน่อย วันต่อๆ ไปก็จะทนเพิ่มขึ้น อีกได้ เพราะรู้ว่าคนที่กล่าวคำต่างๆ กำลังโกรธ หรือกำลังเข้าใจผิด หรือกำลังเหลวไหล กำลังพูดสิ่งที่ไม่มีสาระ ทำไมใจของท่านถึงจะเดือดร้อนกับคำที่ไม่มีสาระ เรื่องที่ไม่มีสาระเหล่านั้น ควรที่จะเมตตาในผู้ที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชาและอกุศลธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แต่เป็นเหตุที่จะให้ได้รับ อกุศลวิบากสำหรับบุคคลนั้น ฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่น่าสงสาร มากกว่าที่จะน่าโกรธ

    ถ. แสดงว่าท่านคงจะเข้าใจสภาวธรรมอยู่แล้ว

    สุ. แน่นอน ต้องเป็นผู้ที่เจริญโสภณธรรม และเห็นโทษของอกุศลธรรม

    ถ. ขันติกับอโทสะ ไม่ใช่ตัวเดียวกันหรือ

    สุ. อโทสะ ความไม่โกรธ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังไม่โกรธเป็นขันติ หรือเปล่า

    ถ. เนื่องจากท่านยังไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านย่อมมีโทสะ แต่ทำไมท่านไม่มีโทสะ

    สุ. เวลาที่เป็นพระโพธิสัตว์ และแต่ละชาติก็บำเพ็ญพระบารมีต่างๆ จนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์ที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ในบางกาล บางโอกาส บางเดือน บางวัน ท่านผู้ฟังเป็นคนดีไหม ตั้งใจทำดี ทำได้พอสมควร ก็หลายวันอยู่ หรืออาจจะเต็มวัน แต่อาจจะไม่ตลอดเดือน อาจจะไม่ตลอดปี และ ขยายออกไปให้เป็นช่วงชีวิตในชาติหนึ่งๆ ในชาติหนึ่งอาจจะได้บำเพ็ญกุศลกรรม โสภณธรรมเอาไว้พอสมควร แต่ชาติต่อไปเมื่อมีเหตุมีปัจจัยที่จะให้ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็เกิดได้ เพราะว่ายังไม่ดับเป็นสมุจเฉท

    อย่างบางท่านตั้งใจว่าจะถวายทาน ขณะที่กระทำก็กระทำด้วยความผ่องใส จริงๆ ชั่วขณะ แต่อีกหลายวันต่อมา คนอื่นมาขออะไร ก็อาจจะไม่ให้ก็ได้ ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป ตลอดไป สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    กุศลกรรมหรือกุศลธรรมทั้งหลาย เกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยเฉพาะกาลหนึ่งๆ เท่านั้น และดับไป ถ้าพิจารณาว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนที่ยั่งยืนเลย ทุกคนมีทั้งกุศลและอกุศล ถ้ายังไม่เป็นพระอริยบุคคล ก็มีความเป็นปุถุชนหนาด้วยกิเลสเหมือนกัน เพราะว่ายังไม่ได้ดับกิเลสใดๆ เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ควรที่จะเข้าใจ เห็นใจ และอภัยให้คนที่ขณะนั้นมีปัจจัยให้อกุศลจิตเกิด และตัวเองก็ ไม่เดือดร้อน เพราะว่าอภัยให้ได้ แต่ให้ทราบว่า เป็นกาลๆ เฉพาะกาลๆ ไม่ใช่ตลอดไป วันหนึ่งใจดีมาก วันหลังโกรธมาก ให้ทานมากอาทิตย์หนึ่ง อีกอาทิตย์หนึ่งอาจจะโกรธมากก็ได้ หรืออาจจะไม่ให้อะไรเลยก็ได้

    มีท่านผู้ฟังเขียนความเห็นมา ๓ ข้อ และคำถาม ๔ ข้อ

    ข้อ ๑. สัญญากับนึกคิดนั้นต่างกัน คือ ตามที่ปรากฏ สัญญาเกิดขึ้นได้ ทุกขณะเมื่อรับอารมณ์ แม้มิได้ตั้งใจสัญญาก็เกิดขึ้นได้ ส่วนนึกคิดนั้นเกิดทาง มโนทวารหลังจากที่รับอารมณ์แล้ว และขณะที่นึกคิด ก็รับอารมณ์ของนึกคิดทาง มโนทวารพร้อมกันไปด้วย (เฉพาะทวารนี้อารมณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน เรียกว่า รับบัญญัติอารมณ์) แต่นึกคิดต้องอาศัยสัญญาที่เกิดมาประกอบ (สัญญาที่เกิดขึ้น ทั้งในช่วงที่เป็นภวังค์ และในช่วงที่นึกคิด)

    สุ. มากไปไหม หรือว่าน้อยไป หรือว่าพอดีแล้ว แต่ละเรื่องๆ ก็เป็นเรื่องที่ แล้วแต่ฉันทะที่จะเห็นด้วย หรือสนใจในสิ่งที่ท่านผู้อื่นสนใจหรือเปล่า อย่างเรื่องนี้ เป็นเรื่องของสัญญาเจตสิก กับจิตที่คิดนึกทางมโนทวาร

    การศึกษาธรรม ถ้าเว้นพยัญชนะหรือข้อความที่สับสน และพยายามเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ และศึกษาประกอบเพื่อให้เข้าใจละเอียดขึ้น ถูกต้องขึ้น ก็เป็นประโยชน์ อย่างสัญญาเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง ขณะที่เกิดกับวิบากจิต สัญญานั้นก็เป็นวิบาก ขณะที่เกิดกับกิริยาจิต สัญญานั้นก็เป็นกิริยา ขณะที่เกิดกับกุศลจิต สัญญานั้นก็เป็นกุศล ขณะที่เกิดกับอกุศลจิต สัญญานั้นก็ เป็นอกุศล ขณะที่เกิดขึ้นกับวิถีจิตทางตาก็เป็นสัญญาทางตา คือ จำสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ขณะที่เกิดกับวิถีจิตที่เกิดขึ้นทางหู รู้อารมณ์ทางหู ขณะนั้นก็เป็นสัญญา คือ การจำสิ่งที่ปรากฏทางหู

    ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกัน

    อย่างนี้พอที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ ไหม เรื่องของสัญญาที่เกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท แต่ในขณะที่เป็นปัญจทวารวิถี คือ กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ยังไม่ดับ กำลังได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหูที่ยังไม่ดับ เสียงยังไม่ดับ อารมณ์ยังไม่ดับ ขณะที่กำลังได้กลิ่นทางจมูกซึ่งกลิ่นที่ปรากฏยังไม่ดับ ขณะที่กำลังลิ้มรสที่ปรากฏทางลิ้น คือ รสนั้นยังไม่ดับ ขณะที่รู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวทางกายที่ยังไม่ดับ ขณะนั้นไม่ใช่การคิดนึก

    เท่านี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องคิดมากมายให้สับสน คือ ต้องเข้าใจลักษณะของสัญญาเจตสิก และสภาพของจิตทางมโนทวารซึ่งคิดนึก

    ไม่ทราบหายสงสัยหรือยัง

    ข้อ ๒. ตามที่ทราบกันทั่วไป มโนทวารนั้นกระทำกรรมด้วย เพราะถือเอาเจตนาเจตสิกที่ปรากฏทางมโนทวารเป็นเจตนากระทำกรรม แต่ตามหลักนี้นำไปใช้ ในชีวิตประจำวันของผมไม่ได้ จะทำให้สับสน ในชีวิตประจำวัน ผมถือเอาทวารทั้ง ๖ ทำหน้าที่รับอารมณ์เป็นปรมัตถ์ (อัตโนมัติ ไม่ได้กระทำกรรม) รับอารมณ์ทั้ง ๔ คือ กามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ บัญญัติอารมณ์ และโลกุตตรอารมณ์ ส่วนกรรมนั้นกระทำขึ้นได้ ๓ ทาง คือ มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม การกระทำกรรมเป็น การสนองตอบต่อการรับอารมณ์ (การนั่งปล่อยให้จิตเป็นภวังค์เฉยๆ ไม่เรียกว่า กระทำกรรม แต่เรียกว่าใช้กรรม) เมื่อรับอารมณ์มา อาจตัดสินใจทำตามที่เคยทำมาในอดีต หรือจะนึกคิดให้เกิดปัญญาแล้วทำตามแนวใหม่ในทันทีก็ได้ (ทำตามแนวใหม่นี้เรียกว่า เป็นไปตามกรรมที่นึกคิด)

    สุ. ที่ท่านกล่าวว่า ในชีวิตประจำวัน ผมถือเอาทวารทั้ง ๖ ทำหน้าที่รับอารมณ์เป็นปรมัตถ์ (อัตโนมัติ ไม่ได้กระทำกรรม) รับอารมณ์ทั้ง ๔ คือ กามอารมณ์ มหัคคตอารมณ์ บัญญัติอารมณ์ และโลกุตตรอารมณ์

    นี่ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน ใช่ไหม หรือว่าเป็นชีวิตประจำวันที่มีอารมณ์ทั้ง ๔ ชีวิตประจำวันจริงๆ มีกามอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์ แต่ไม่ถึงมหัคคตอารมณ์ และโลกุตตรอารมณ์

    ถ้าได้ฟังเรื่องของกรรมในคราวก่อนที่ว่า ได้แก่เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิต ทุกดวง และเป็นชาติต่างๆ เช่นเดียวกับสัญญาเจตสิก และเวลาที่เกิดกับวิถีจิตทางปัญจทวาร ไม่มีการกระทำกรรมใดๆ ทางกาย ทางวาจา แม้แต่เจตนาเจตสิก ซึ่งเกิดกับชวนจิตทางปัญจทวารก็ชื่อว่ามโนกรรม แต่ไม่ใช่อกุศลกรรมบถ หรือกุศลกรรมบถ เพราะฉะนั้น ต้องพยายามเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม และ พิจารณาไปเรื่อยๆ จะไม่สับสน

    ข้อ ๓. การเจริญอานาปานสติในชีวิตประจำวัน เป็นผลดีต่อการเจริญ สติปัฏฐาน ๔ เป็นอย่างมาก เพราะไม่ขัดกัน สามารถทำได้พร้อมกันในอารมณ์ อันเดียวกัน มีวิธีการ คือ ใช้การสังเกตลมหายใจเข้าออก ลมหายใจที่หยาบที่ละเอียด การกลั้นลมหายใจ การถอนหายใจ และอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงลมหายใจด้วย แต่การเปลี่ยนแปลงของลมหายใจสังเกต ได้ง่ายกว่า และเมื่อควบคุมลมหายใจได้ ก็ควบคุมอารมณ์ได้

    สุ. เมื่อมีการควบคุมได้ ก็ไม่ใช่อนัตตา นี่คือความต่างกัน เพราะฉะนั้น ที่ท่านคิดว่า เป็นผลต่อการเจริญสติปัฏฐาน แต่ความจริง ไม่เป็นผล เพราะว่า เป็นการจงใจ เจาะจงที่จะรู้เพียงอารมณ์เดียว ไม่เป็นอนัตตาโดยที่ว่า กำลังเห็นนี้ สติระลึกได้ไหม ถ้ายังไม่ได้ เมื่อไรจะรู้ว่าไม่ใช่เราที่เห็น และสิ่งที่ปรากฏก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้นเอง และเมื่อไรจะถ่ายถอนความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ถ้าเพียงแต่รู้ที่ลมหายใจ

    คำถามข้อที่ ๑. ความคิดเห็นอันไหนจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ผิด

    สุ. การปฏิบัติที่ผิด ควรที่จะรู้ว่า ขณะใดที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ทางตามีสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหูมีสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นของจริง ถ้าสติไม่ระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏแล้ว ผิดทั้งหมด

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    แม้การอบรมเจริญสมถะถึงฌานจิตก็ผิด เมื่อเปรียบเทียบกับมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้ แต่ว่าฌานจิตไม่เป็นการดับกิเลส ไม่ใช่การเจริญปัญญาที่จะดับกิเลส

    เพราะฉะนั้น หนทางใดๆ ก็ตาม ที่ไม่ใช่สัมมามรรค ที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ หนทางทั้งหมดเป็นมิจฉามรรค

    คำถามข้อที่ ๒. มีอะไรอีกบ้างที่ผมควรได้รู้เพิ่มเติม

    สุ. ทางตา สติเกิดบ้างหรือยัง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ สติเกิดบ้างหรือยัง

    การที่จะต้องรู้เพิ่มเติม ไม่ใช่ถามคนอื่น เพราะว่าคนอื่นไม่สามารถรู้ปัญญาของท่านผู้อื่นได้ แต่ต้องเป็นปัญญาของท่านผู้นั้นเอง ซึ่งเป็นผู้ตรงว่าไม่รู้อะไร และยังมีความคิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนทางไหนบ้าง

    ถ้าไม่เคยระลึกรู้ถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเลย และบอกว่า เห็น ไม่เป็นสัตว์ ไม่เป็นบุคคล ได้ไหม ในเมื่อเหตุไม่มีเลย จะกล่าวอ้างว่า ขณะนี้กำลังเห็น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่ใช่ผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองต้องรู้หนทางว่าอบรมเจริญอย่างไรจึงจะรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นตัวของท่านเอง ไม่ใช่ให้ผู้อื่นบอกว่า มีอะไรอีกบ้างที่ ท่านควรรู้เพิ่มเติม

    เกือบจะเต็มแล้ว ใช่ไหม ต้องการเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย หรือว่ายังอีกมาก ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ

    คำถามข้อที่ ๓. เนื่องจากดวงตามีเลนส์แก้วตา จึงมองระยะใกล้ไกลได้ แต่มองได้ไม่พร้อมกัน จึงทำให้เห็นรูปภาพกับรูปร่างต่างกัน ถูกหรือไม่

    สุ. นี่เป็นเรื่องคิด เรื่องรูปภาพ เรื่องรูปร่าง เรื่องรูปภาพไม่มีความลึก แต่รูปร่างมีความลึก แทนที่จะศึกษาลักษณะของเห็นในขณะที่กำลังเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน และสิ่งที่ปรากฏ ไม่จำเป็นต้องนึกถึงรูปภาพหรือรูปร่าง ลึกหรือไม่ลึก แต่ ให้รู้ว่า เพราะอะไรพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในเมื่อใครๆ ก็เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ใครผิด ใครถูก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทแล้วยังไม่ดับเท่านั้นเอง

    นี่เป็นความเห็นถูก เป็นการตรัสรู้ชอบ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องอบรมจนกว่าจะรู้ชอบอย่างนี้ และรู้ว่าหลังจากที่เห็นแล้ว ที่คิดไม่ใช่ขณะที่ กำลังเห็น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๑ ตอนที่ ๑๖๐๑ – ๑๖๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564