แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1591


    ครั้งที่ ๑๕๙๑


    สาระสำคัญ

    “รู้เฉพาะตน” - ธรรมที่จะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง

    กุศลไม่ใช่อยู่ที่วัตถุแต่อยู่ที่จิต


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


    ข้อความต่อไปใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พราหมณวรรคที่ ๑ พราหมณสูตร ข้อ ๔๙๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ บุคคลผู้โกรธถูกโทสะครอบงำ มีจิตอันโทสะกลุ้มรุมแล้ว ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนคนอื่นบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองและคนอื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิตบ้าง เมื่อละโทสะได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนตนเองเลย ย่อมไม่คิด แม้เพื่อจะเบียดเบียนคนอื่น ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนตนเองและคนอื่น ทั้งสองฝ่าย ย่อมไม่เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิต

    ดูกร พราหมณ์ แม้ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล ธรรมย่อมเป็นคุณชาติอัน ผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ...

    ไม่มีคนอื่นเห็นอกุศลของท่านได้ชัดเจนเท่ากับตัวท่าน ตัวท่านเท่านั้นที่สามารถรู้อกุศลจิตทุกระดับขั้นของท่านได้ว่า เป็นอกุศลประเภทใด ประเภทโลภะ หรือว่าประเภทโทสะ แต่ข้อสำคัญ คือ ขณะที่คิดเบียดเบียนคนอื่นและยังไม่รู้ว่าเป็นอกุศล สติควรที่จะเกิดระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นเพราะโลภมูล หรือว่าโทสมูล

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ บุคคลผู้หลง ถูกความหลงครอบงำ มีจิตอันความหลง กลุ้มรุมแล้ว ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนคนอื่นบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองและคนอื่นทั้งสองฝ่ายบ้าง ย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ที่เป็นไปทางจิตบ้าง เมื่อละโมหะได้เด็ดขาดแล้ว ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนตนเองเลย ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนคนอื่น ย่อมไม่คิดแม้เพื่อจะเบียดเบียนตนเองและคนอื่นทั้งสองฝ่าย ย่อมไม่เสวยทุกข์โทมนัสที่เป็นไปทางจิต

    ดูกร พราหมณ์ แม้ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล ธรรมย่อมเป็นคุณชาติอัน ผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

    พราหมณ์นั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์ แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยหวังว่าคนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป

    มีสิ่งที่ควรดูมาก ใช่ไหม และน่าดูจริงๆ เพราะว่าเป็นประโยชน์ เป็นของจริง เมื่อเห็นแล้วเป็นประโยชน์มหาศาล เพราะว่าไม่ใช่ของหลอกลวง ไม่ใช่ของที่ไม่มี แต่เป็นของจริงที่มี และควรที่จะเห็น

    . ประโยคที่ว่า รู้เฉพาะตน หมายความว่าคนอื่นรู้ไม่ได้ ใช่ไหม

    สุ. แน่นอน เวลานี้ใครทราบใจของท่านผู้นี้บ้างไหม

    . และการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสบอกกับพระภิกษุว่า ภิกษุรูปนั้นตรัสรู้เป็นพระอรหันต์แล้ว อย่างนี้ชื่อว่า รู้ผู้อื่นได้ไหม

    สุ. แน่นอน เพราะว่าความรู้มีหลายขั้น นี่พูดถึงผู้ที่ยังไม่มีความรู้เลย ใจของตัวเองก็ยังไม่รู้ จะไปรู้ใจของคนอื่น ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือท่านที่มีคุณวิเศษได้บรรลุธรรมขั้นคุณวิเศษแล้ว รู้ใจ ของตนเองก่อนแล้วจึงสามารถรู้ใจของคนอื่นได้ สำหรับท่านที่ยังไม่รู้แม้แต่ใจของตนเองและจะกล่าวว่า รู้ใจของคนอื่น ก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

    . ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ผู้ที่ไม่บรรลุก็จะไม่เห็น ใช่ไหม

    สุ. ก็โลภะขณะนี้มี ก็ไม่รู้ โทสะมี ก็ไม่รู้

    . ผู้ที่ไม่บรรลุก็รู้ได้เวลาโลภะเกิด อย่างผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน

    สุ. รู้ หรือว่านึก หรือว่ารู้จักชื่อ ใส่ชื่อได้ พอใจตื่นเต้นก็เรียกชื่อออกมาว่า โลภะ แต่ลักษณะที่เป็นโลภะที่ไม่ใช่เรา เป็นอย่างไร

    . ก็เฉพาะผู้บรรลุเท่านั้นที่จะพึงเห็นเอง ถ้าไม่บรรลุก็ไม่เห็น

    สุ. ก่อนที่จะบรรลุ ต้องเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมก่อน จึงจะเห็นได้ ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึก จะเห็นได้อย่างไร

    . คนที่ถามนี่เป็นใคร ที่พระผู้มีพระภาคตอบว่า ธรรมอันผู้บรรลุจะพึง เห็นเอง

    สุ. ก็เป็นพราหมณ์คนหนึ่ง คงไม่ต้องทราบชื่อเสียง เพราะว่าพราหมณ์นั้นเวลานี้ก็ไม่อยู่แล้วในโลกนี้ และจะเป็นพราหมณ์คนไหนต่อไปก็ไม่ทราบ หรืออาจจะเป็นชาติไหนก็ไม่ทราบในขณะนี้ แต่ครั้งหนึ่งคือพราหมณ์คนหนึ่งที่ได้เฝ้าและทูลถาม สงสัยหรือว่าต้องเป็นพราหมณ์คนไหน หรือคนไหนก็ได้ คนหนึ่ง

    . ที่พราหมณ์แสดงตนเป็นอุบาสก แสดงว่าพราหมณ์นั้นรู้ธรรม เห็นธรรมแล้ว

    สุ. ในอรรถกถาไม่ได้อธิบายอะไรเลย

    . แต่บอกว่า ขอถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ตลอดชีวิต

    สุ. ท่านผู้ฟังกำลังขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดชีวิตหรือเปล่า

    . อนาคตไม่ทราบ

    สุ. แต่ในขณะนี้

    . ในขณะนี้ก็ขอถึง

    สุ. ก็ขอถึง พราหมณ์ในอดีตจะกลับมาเป็นใครอีกในชาตินี้ก็ไม่มีใครรู้ ท่านผู้ฟังสนใจเหตุการณ์ในอดีตเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี แต่คงจะไม่ลืมว่า สังสารวัฏฏ์ ที่ยาวนาน พราหมณ์ทั้งหลายที่ปรากฏข้อความในพระไตรปิฎกคงจะไม่กระจัดกระจายไปไหน ก็คงจะเกิดวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ และผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังพระธรรม ก็มีโอกาสได้ยินได้ฟังตามที่เคยประพฤติปฏิบัติมา

    . พราหมณ์ ๒ ท่านนี้ในสมัยพุทธกาล อายุตั้ง ๑๒๐ ปี ยังมีคำถามที่ แยบยลขนาดนี้ ไม่แก่หง่อมถึงขนาดไม่มีปัญญาจะถาม ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าคนใน สมัยพุทธกาลอายุแก่ขนาดนั้น ยังมีสติสัมปชัญญะ

    สุ. ก็เป็นบุญของพราหมณ์ ๒ ท่าน ซึ่งแม้ว่าอายุจะล่วงกาลผ่านวัยมา ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์

    ผู้ฟัง ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต มงคลวรรค ที่อาจารย์บรรยายนี้ ความจริงผมสนใจและได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่ก่อนศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยว่า จะทำอะไร ไม่ต้องเลือกฤกษ์เลือกยาม มงคลวรรคนี้สนับสนุนอย่างดีเลย ไม่ต้องรอ ไม่ต้องอะไรทั้งนั้น ผมเองจะย้ายบ้าน จะทำอะไรต่อมิอะไรไม่เคยมีฤกษ์มียามเลย วันนี้ได้ฟังมงคลวรรค ทำให้จิตใจมั่นคงยิ่งขึ้นที่จะถือปฏิบัติอย่างนี้

    สุ. ขออนุโมทนา

    อรรถกถา พราหมณสูตร อธิบายพยัญชนะหลายคำ เช่น คำว่า

    บทว่า สัมโมทนียัง ได้แก่ ให้เกิดการบันเทิงใจ

    นี่เป็นคำพูดที่เกิดจากกุศลจิตได้ ซึ่งจะทำให้เป็นคำพูดที่น่าฟัง และทำให้คนฟังรู้สึกสบายใจ เพราะฉะนั้น เวลาพบปะมิตรสหายหรือว่านานๆ จะได้พบกันก็ควรที่จะมีสัมโมทนียัง คือ การพูดที่จะให้เกิดการบันเทิงใจด้วยกุศลจิต

    บทว่า สาราณียัง ได้แก่ ที่สมควรให้ระลึกถึงกัน

    ถ้าเป็นคนที่มีจิตใจเป็นมิตรกัน การกระทำและวาจาย่อมทำให้ระลึกถึงกัน เพราะว่าเป็นการกระทำที่ดีต่อกัน และวาจาก็เป็นวาจาที่ดีต่อกัน เป็นการแสดงให้ เห็นถึงกุศลจิตในขณะนั้นได้ เวลาที่สติเกิดจะรู้ได้ว่าในขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด

    บทว่า สันทิฏฐิโก ธัมโม โหติ ความว่า เป็นธรรมที่จะพึงเห็นได้ด้วยตนเอง

    ทุกอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสิ่งที่สามารถประจักษ์แจ้งรู้ได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตประเภทใดๆ ขั้นใดๆ ก็ตาม

    บทว่า อกาลิโก ความว่า ไม่ให้ผลในกาลอื่น

    บทว่า เอหิปัสสิโก เป็นข้อความที่พราหมณ์ทูลถามถึงอาคมนียปฏิปทา (คือ ข้อปฏิบัติเพื่อที่จะให้บรรลุผล) ว่า พระธรรมอันผู้ปฏิบัติสามารถเพื่อที่จะชี้ได้ อย่างนี้ว่า เอหิ ปัสสะ คือ จงดูว่าเป็นจริงอย่างนั้น

    อหิปัสสิโก คือ จงดู ว่าเป็นจริงอย่างนั้น

    พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดที่เกี่ยวกับสภาพธรรม สามารถที่จะเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะได้พิสูจน์ ไม่ใช่เพียงแต่ได้ฟังเฉยๆ แต่ จงดูว่าเป็นจริงอย่างนั้นด้วย

    บทว่า โอปนยิโก ความว่า พึงน้อมจิตของตนเข้าไปพิจารณา

    ไม่ใช่พิจารณาอื่น แต่พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏ คือ ควรเข้าถึงด้วย การปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงในขั้นของการฟังเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลในขณะนี้ เป็นสิ่งที่พึงน้อมจิตเข้าไปพิจารณา เพื่อให้รู้จริงว่า สภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงประจักษ์แจ้งแล้ว

    ข้อความตอนท้ายในอรรถกถามีว่า

    ในพระสูตรนี้ พราหมณ์ทูลถามถึงโลกุตตรมรรค แม้พระศาสดาก็ตรัส โลกุตตรมรรคนั้นเหมือนกัน ด้วยว่าโลกุตตรมรรคนั้น ชื่อว่าสันทิฏฐิกะ เพราะจะต้องเห็นด้วยตนเอง ฉะนี้แล

    สำหรับในสูตรต่อไป คือ สูตรที่ ๕ นิพพุตสูตร ข้อ ๔๙๕ ก็ได้แสดงว่า พระนิพพานเป็นสันทิฏฐิกัง อกาลิกัง โอหิปัสสิกัง เป็นต้น เพราะว่าเป็นสภาพธรรม ที่จะพึงเห็นได้เอง และจงดูว่าเป็นจริงอย่างนั้น

    . การปิดทองฝังลูกนิมิต เป็นกุศลหรือเปล่า

    สุ. กุศลไม่ใช่อยู่ที่ลูกนิมิต ไม่ใช่อยู่ที่ข้าว ไม่ได้อยู่ที่อาหาร กุศลอยู่ที่จิต

    . เป็นประเพณีของคนไทยทั่วๆ ไป คือ การไปทำบุญ การปิดทอง ฝังลูกนิมิต คนไทยทั่วไปถือว่าเป็นกุศลอย่างสูงอยากจะเรียนถามอาจารย์

    สุ. ไม่ใช่เป็นการฟังตาม แต่เป็นการพิจารณาว่า จิตที่ปราศจากโลภะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศล

    ขณะที่ฝังลูกนิมิต ปิดทองลูกนิมิต ขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด คนอื่นจะบอก ได้ไหม โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิตเป็นอกุศลจิต และมหากุศลจิตเกิดสลับกันได้ โดยที่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็จะบอกได้โดยตำราเท่านั้นว่า ขณะใดที่โลภะ โทสะ โมหะไม่เกิด ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ในขณะที่กำลังปิดทองลูกนิมิต ขณะนั้นจิตเป็นอะไร คนอื่นบอกไม่ได้

    ถ้าไม่กล่าวถึงเรื่องปิดทองรูปนิมิต ขณะที่กำลังสวดมนต์ ซึ่งทุกคนสวดมนต์กันเป็นประจำ ขณะนั้นจิตเป็นอะไร บอกได้ไหมว่า เป็นกุศลหรือเปล่า

    . ถ้าไม่คำนึงถึงจิต ดูที่การกระทำ

    สุ. ไม่ได้เลย ถ้าไม่คำนึงถึงจิตและจะกล่าวว่าเป็นกุศลหรืออกุศลไม่ได้ เพราะว่ากุศล อกุศลต้องเป็นจิต ไม่ใช่เป็นข้าว น้ำ ลูกนิมิต หรือว่าจีวร สบง

    . ถ้าอย่างนั้นจะทำเพื่ออะไร ปิดทองฝังลูกนิมิต ที่เรียนถามอาจารย์ เพราะเป็นความนิยม

    สุ. ขอประทานโทษ ท่านผู้ฟังต้องการอะไร การกระทำทุกอย่างต้องมีวัตถุประสงค์ ถ้าไม่มีวัตถุประสงค์ย่อมไม่เกิดผลตามที่ต้องการ ไม่ใช่เพียงทำ ตามๆ กัน แต่ท่านผู้ฟังต้องการอะไร ต้องทราบจุดประสงค์ว่า ต้องการอะไร

    . ได้ยินมา จึงเรียนถามอาจารย์ ถ้าถูกก็จะได้ปฏิบัติ

    สุ. ดิฉันก็เรียนถามจุดประสงค์ก่อน เพราะว่าจุดประสงค์ต้องถูก ถ้าจุดประสงค์ไม่ถูก การกระทำทุกอย่างถูกไม่ได้

    . เราได้ยินได้ฟังมาจากผู้หลักผู้ใหญ่ ถ้าไม่เห็นประโยชน์และไม่ทำ จะเป็นการขัดกับประเพณีที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาไหม

    สุ. ท่านผู้ฟังต้องการอะไร จะต้องคิด ต้องตอบก่อนว่า ต้องการอะไร ต้องการความถูก หรือความผิด ต้องการเหตุ ต้องการผล ต้องการกุศล หรืออกุศล หรือว่าต้องการอะไร กุศลก็มีหลายขั้น ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ เป็นกุศลแต่ละประเภท

    . อย่างการเรี่ยไรสร้างโบสถ์ สร้างอะไรต่างๆ เมื่อได้รับการบอกให้เรี่ยไร ความรู้สึกก็เกิดขึ้นว่า เดี๋ยวนี้วัดเมืองไทยมีมาก แต่การเผยแพร่ธรรมที่ถูกต้องมีน้อย มีความรู้สึกว่าไม่เกิดกุศล เรียนถามอาจารย์ว่า ความรู้สึกอย่างนี้เป็นอกุศล ใช่ไหม และเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เมื่อเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทยว่า ถึงฤดูกาลเทศกาลจะต้องมีการทอดผ้าป่าสร้างโบสถ์อะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นกุศล เป็น มหากุศล ตามที่คนทั่วๆ ไปเข้าใจ

    สุ. เป็นกุศลอีกแล้ว เป็นมหากุศลอีกแล้ว กุศลต้องอยู่ที่จิต

    . จึงอยากเรียนถามอาจารย์ว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไร

    สุ. เพราะฉะนั้น พิจารณาจิต

    . ถ้าอย่างนั้นก็คงเป็นอกุศล ไม่เป็นกุศล

    สุ. ก็เป็นผู้ตรง ธรรมต้องเป็นเรื่องตรง กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล

    . จะเป็นความถูกต้องไหมที่คิดอย่างนั้น จะได้ปฏิบัติให้ถูก เปลี่ยนจิตใจถ้าคิดอย่างนั้นมันผิด

    สุ. ทานกุศลเพื่ออะไร ต้องคิด ใช่ไหม ผู้ที่จะกระทำกุศลแม้ขั้นทาน ก็ต้องพิจารณาว่า ทานกุศลนี้เพื่ออะไร เพื่อต้องการได้บุญมากๆ หรือเพื่อสงเคราะห์ ช่วยเหลือบุคคลอื่น ต้องพิจารณา

    . จะบริจาคเงินก็มีความคิดว่า ไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร

    สุ. ก็ใช้เงินนั้นให้เป็นประโยชน์ในทางที่ควร

    . แต่ปุถุชนถ้าไม่ทำอย่างนั้น ก็เหมือนกับเราไม่ใช่ชาวพุทธ

    สุ. มิได้ การทำกุศลมีหลายประเภท การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้ นักเรียนขาดแคลนอาหารกลางวัน คนเจ็บไข้ได้ป่วย ครอบครัวซึ่งกำลังทุกข์ยาก แล้วแต่ว่าท่านผู้ฟังจะเกิดกุศลจิตคืออโลภะความไม่เห็นแก่ตัวขณะใด และสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศล ทำให้จิตใจปลาบปลื้มโสมนัสได้ตามประเภทของกุศล คือ ถ้าเป็นกุศลซึ่งท่านไม่มีฉันทะ ท่านอาจจะเพียงทำ แต่จิตใจไม่ได้เกิดปีติเบิกบานผ่องใสเลย แต่ถ้าเป็นกุศลประเภทที่ท่านมีฉันทะที่จะทำ จิตใจของท่านก็จะเอิบอิ่มและปลาบปลื้มโสมนัสในกุศลนั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องตามๆ คนอื่น เป็นตัวของตัวเอง และรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริงว่า กุศลไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่จิต

    . ถ้าเป็นการให้ทานแก่คนที่ขาดแคลน

    สุ. ทำแล้วเกิดปีติที่ได้ช่วยเหลือเขา ก็ทำ

    . อย่างการบริจาค หรือสละเงินเพื่อสร้างโบสถ์ สร้างวัดอะไรอย่างนี้ ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร คงจะเป็นอกุศล คือ มีความรู้สึกว่าวัดในเมืองไทยมากเกินไป

    สุ. ถ้ามีความรู้สึกในเหตุผล เป็นเหตุผล ขณะนั้นไม่ใช่อกุศล ถ้ามีใคร อยากจะสร้างวัดที่สูงที่สุดในโลกในประเทศไทย เพื่ออะไร และอยากจะทำไหม มองลึกลงไปถึงจุดประสงค์ของแต่ละอย่างเพื่อจะได้ศึกษา พิจารณา เพื่อจะได้เกิดกุศลโสมนัสจริงๆ อย่างท่านผู้ฟังซึ่งอาจจะติดขนบธรรมเนียมประเพณี คิดดู ขณะนั้นเพราะอะไรจึงติดในขนบธรรมเนียมประเพณี ถ้าไม่ใช่เพราะความรักตัวเอง

    เมื่อมีความรักตัวเอง สำคัญตนเอง ก็มีความพอใจที่จะให้ได้สรรเสริญ ไม่ใช่ ได้นินทา หรือคำติเตียน ใช่ไหม แต่ถ้าความเป็นตัวตนน้อยลง คำนินทาหรือ คำสรรเสริญ ถ้ามาจากบัณฑิต นั่นเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา แต่ถ้ามาจากคนพาลผู้ไม่รู้เหตุผล ก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องไปเสียใจ หรือว่าไปกังวลใจ

    . บางทีมีพระภิกษุและมีบุคคลด้วย มาถึงหน้าบ้าน มีถุงมีซองมา ขอเรี่ยไร ไม่ทราบว่าจะปฏิเสธอย่างไรจึงจะไม่น่าเกลียด

    สุ. ก็บอกว่า ทำกุศลอย่างอื่น มีศรัทธาที่จะทำกุศลอย่างอื่น ก็แล้วแต่ ใครจะตอบอย่างไร ทำอย่างไรก็ตามอัธยาศัย แต่ว่าทุกคนมีสิทธิเสรี เป็นอิสระ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๐ ตอนที่ ๑๕๙๑ – ๑๖๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564