แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1601


    ครั้งที่ ๑๖๐๑


    สาระสำคัญ

    พระพุทธประสงค์ (เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ)

    องฺ.จตุกฺกอุมังคสูตร - ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม (รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมบาท)

    อยู่ในโลกของความคิด (สุขทุกข์กับความคิด)

    ท่านอาจารย์ ส. เอณิชังคสูตร - ทุกข์ทั้งหลายมาจากนามรูป

    ขุ.มหา.- เหลือแต่ชื่อเท่านั้น


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๐


    ถ้าเข้าใจว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้จำ ก็จะมีการอ่าน หรือการฟัง และท่องจำ แต่ไม่ได้พิจารณาให้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ว่า เป็นจริงตามที่ทรงแสดงไว้หรือไม่

    อย่างเช่น ทรงแสดงว่า ขณะเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ถ้าท่องว่า ทุกขอริยสัจได้แก่จิตกี่ดวง ได้แก่เจตสิกกี่ดวง ได้แก่รูป เพื่อที่จะจำ ก็ไม่เข้าใจ พุทธประสงค์ที่ทรงแสดงเรื่องของจิตกี่ดวงที่เป็นทุกขสัจว่า ไม่ว่าจะเป็นจิตใดก็ตาม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่ทรงแสดงว่าจำนวนเท่านั้นก็เพื่อว่า ในขณะนี้เองก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น จิตเห็นในขณะนี้ก็รวมอยู่ในทุกขสัจ จิตได้ยินในขณะนี้ จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส โลภะ โทสะ หรือกุศลต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็รวมอยู่ในจิตที่เป็น ทุกขอริยสัจ

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะท่องจำจำนวน ก็ให้รู้พระพุทธประสงค์ที่ทรงแสดง ทุกขสัจได้แก่จิตอะไรบ้างนั้นว่า เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่ไม่ใช่ตัวตน ตามข้อความใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต โยธาชีววรรคที่ ๔ อุมมังคสูตร ข้อ ๑๘๖ ที่ว่า

    … รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถา ๔ บาทแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้ ก็ควรเรียกว่า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ฯ

    ไม่ใช่การจำได้มากๆ โดยไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ว่าจะฟังเรื่องอะไร จะสั้นสักเพียงไรก็ตาม ขอให้เข้าใจในอรรถนั้นจริงๆ ให้เป็นผู้ รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถา ๔ บาทนั้นแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังทั้งหมดในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะทรงแสดงเรื่องของโลภะ สติระลึกลักษณะของโลภะ ทรงแสดงเรื่องของโทสะ สติระลึกลักษณะของโทสะ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จึงเป็นพหูสูต

    แต่ถ้าโลภมูลจิตมีกี่ดวง ประกอบด้วยเจตสิกเท่าไร และไม่ระลึกลักษณะของโลภมูลจิต ขณะนั้นก็ไม่สามารถเข้าใจในสภาพที่เป็นเพียงจิต แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ ถ้าโดยนัยนั้น จะรู้มากเท่าไรก็ไม่ใช่พหูสูต เพราะไม่รู้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้นๆ สามารถพิสูจน์ได้ในขณะที่โลภมูลจิตเกิดโดยระลึกรู้ตามความเป็นจริงตามที่ทรงแสดง สามารถรู้ทั่วถึงในความหมาย ในอรรถของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นพหูสูต

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องรู้ว่า เป็นการรู้ทั่วถึงในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรมนั่นเอง สามารถแยกรู้ได้ว่า สุขทุกข์ในวันหนึ่งๆ นี้ เกิดจากปรมัตถธรรม หรือว่าเกิดจากบัญญัติธรรม

    ถ้าเป็นบัญญัติธรรม ก็หลงสุข หลงทุกข์ในสิ่งซึ่งไม่มีอะไรเป็นของจริง นอกจากเป็นการคิดนึกเท่านั้นเอง เหมือนสัญญา คือ กำมือเปล่า ซึ่งทำให้เกิดความหวังว่า มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เมื่อปรากฏตามความเป็นจริงก็ไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ปรมัตถธรรม ก็ยังคงอยู่ในโลกของบัญญัติ และไม่สามารถประจักษ์ทุกขสัจซึ่งท่องว่า ได้แก่จิตเท่าไร ได้แก่เจตสิกเท่าไร ได้แก่รูป นั่นคือการท่อง การจำ แต่ไม่สามารถประจักษ์ทุกขสัจได้

    ถ. สังโยชน์มี ๑๐ พระอรหันต์ละได้หมดแล้ว แต่วาสนาพระอรหันต์ยัง ละไม่ได้ วาสนานี่จัดว่าเป็นอะไร เป็นกิเลสหรือเปล่า

    สุ. เป็นการสะสม ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วมีแต่วิบากกับกิริยา ท่านผู้ฟังชอบที่จะขีดเส้น ใส่กล่อง วัด ตัดด้วยไม้บรรทัด ด้วยอะไรก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่า เรื่องการปรุงแต่งของสภาพธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมาวัด หรือมาขีด มาคั่น ขอแต่ให้ทราบว่า ขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จะเพียงพอไหม หรือแทนที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นเรื่องของความสงสัย เป็นความคิดต่างๆ

    เรื่องของธรรม เป็นเรื่องที่น่าคิด จะรู้น้อย แต่พิจารณามาก เข้าใจจริงๆ และประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หรือว่าจะรู้มาก แต่ไม่รู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างไหนจึงจะเป็นพหูสูต เพราะว่าการจำเรื่อง อ่านเรื่อง รู้เรื่อง ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่การพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรมา อย่างสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้เท่านี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีทางไหนบ้างที่จะพิสูจน์ได้ ทางตาที่กำลังเห็น พิสูจน์ได้แล้ว ทางหูที่กำลังได้ยินก็พิสูจน์ได้ ทางจมูกที่ได้กลิ่นก็พิสูจน์ได้ ทางลิ้นที่กำลังลิ้มรส ก็พิสูจน์ได้ ทางกายที่กระทบสัมผัสก็พิสูจน์ได้ ทางใจคิดนึกก็พิสูจน์ได้ พร้อมที่จะให้พิสูจน์ พอไหมที่จะเป็นพหูสูต ที่จะเป็นผู้รู้ทั่วถึงอรรถ และปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    แข็งมีปรากฏทุกวัน ตั้งแต่เช้าที่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา เป็นสิ่งที่ทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น หรือว่าทำให้กิเลสลดลง น่าคิดไหม เพียงเท่านี้ สีสันธรรมดาที่ปรากฏ ในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่จะทำให้กิเลสเพิ่มขึ้น หรือจะทำให้กิเลสลดลงถึงกับ ดับกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้ นี่เป็นสิ่งที่น่าคิดว่า เป็นของธรรมดาๆ แต่ผลคือ กิเลสเพิ่มขึ้น หรือว่ากิเลสลดลง

    ถ. อาจารย์บอกว่า วาสนา เป็นอกุศลอย่างเดียว

    สุ. เป็นสิ่งที่ไม่ดี

    ถ. เป็นสิ่งที่ไม่ดี พระอรหันต์ที่ท่านยังมีวาสนา ท่านก็ยังละสิ่งไม่ดีไม่ได้

    สุ. แต่ท่านไม่มีอกุศล เป็นสิ่งที่จะต้องทราบ อกุศลได้แก่อกุศลธรรมประเภทต่างๆ ๙ กองตามที่ได้ศึกษากันมาแล้ว ซึ่งพระอรหันต์ดับหมด แต่ยังมี กายวาจาที่เรียกว่า สิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่ใช่เกิดจากอกุศล

    ถ. เกิดจากการสั่งสม

    สุ. เกิดจากการสะสม พระอรหันต์มีจิตเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ วิบากจิต กับกิริยาจิต ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล เพราะฉะนั้น ธรรมต้องสอดคล้องกัน ต้องพยายามคิด พยายามพิจารณาถึงอรรถ ไม่ใช่โดยพยัญชนะอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจ ให้สอดคล้องกันถึงอรรถด้วย ไม่ใช่เรียนแต่คำหรือเรื่อง แต่ต้องเข้าใจสภาพตามความเป็นจริงของธรรมแต่ละประเภทด้วย

    วันนี้ เห็น เป็นปัจจัยให้กิเลสเพิ่มหรือเป็นปัจจัยให้กิเลสลด จะต้องเห็นไป ทุกชาติ จะต้องได้ยินไปทุกชาติ ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไป ทุกชาติ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง เพื่อให้ปัญญาเจริญขึ้นเพื่อรู้สิ่งที่ กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง

    นี่คือพระพุทธประสงค์ของการศึกษาธรรม จะน้อยหรือจะมากก็ตาม เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกได้

    ที่ท่านผู้ฟัง ฟังเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ละเอียดขึ้น เจตสิกประเภทต่างๆ ละเอียดขึ้น รูปประเภทต่างๆ ละเอียดขึ้น ไม่ควรลืมจุดประสงค์ว่า เพื่อให้รู้ลักษณะของธรรมที่ได้ยินได้ฟัง และเพื่อเกื้อกูลให้ปัญญาละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    เพียงแข็ง แค่นี้น่าสนใจไหม หรือว่าไม่เอา จะเอามากมายที่โน่น ที่นี่ ชื่อต่างๆ ยากๆ และละเลยแข็งซึ่งสามารถจะทำให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ได้ เมื่อรู้ความจริงของแข็งที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ มีสภาพธรรมที่จะทำให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ ถ้าลดลงมาอีก ก็ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ถึงความเป็นพระสกทาคามีบุคคล ถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ถึงความที่ปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นปัญญาที่สมบูรณ์ตามลำดับขั้น

    วันหนึ่งๆ อยู่ในโลกของความคิด สุขทุกข์กับความคิด เพราะไม่สามารถรู้ชัดในลักษณะของปรมัตถธรรม ต่อเมื่อใดรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ เมื่อนั้น จึงจะสามารถประจักษ์แจ้งในการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมได้ เพราะว่า บัญญัติไม่เกิดดับ เป็นแต่เพียงความคิดนึกเท่านั้น

    ท่านผู้ฟังเขียนมาถามว่า ที่อาจารย์บอกว่า วาสนาเป็นอกุศล เป็นได้อย่างไร วาสนาหมายถึงอะไร และบารมีต่างกับวาสนาอย่างไร

    ไม่ทราบเมื่อกี้เข้าใจหรือเปล่าที่ว่า วาสนาไม่ดี แต่ไม่ใช่อกุศลจิต ไม่ใช่ อกุศลเจตสิก สำหรับพระอรหันต์ดับอกุศลธรรมทั้งหมด แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าดับวาสนาไม่ได้ คือ ยังมีความประพฤติทางกายทางวาจาที่ดูไม่งาม อย่างการเดินเร็วๆ เหมือนวิ่ง ใครเห็นจะว่าอย่างไร บางท่านกล่าวว่าเหมือนลิง หรือว่าใครชอบ แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่มีอกุศลจิต มีแต่การกระทำที่สะสมมาจนชิน ทางกาย ทางวาจาที่ไม่งาม นั่นคือความหมายของวาสนา

    ถ้าไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ จะเดินสวยเพราะอกุศลได้ไหม จะเดินไม่สวยเพราะอกุศลได้ไหม ได้แน่นอน ใช่ไหม เพราะว่ายังมีอกุศลอยู่ กิริยาอาการมารยาทน่าดู ในการบริโภคอาหาร ในการเดิน ในการพูด ในการนั่ง ในการนอนด้วยโลภะได้ และบางท่านก็มีกายวาจาที่ไม่งามด้วยอกุศลเหมือนกัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ดับอกุศลทั้งหมด ไม่มีอกุศลธรรมเลย แต่การสะสมความเคยชินของการกระทำ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ละไม่ได้ แม้ว่าอกุศลจิตไม่เกิด เพราะว่าเรื่องของใจเป็นกุศลและอกุศล จริง แต่เรื่องของกิริยาอาการทางกาย ทางวาจา กระทำไป ด้วยกุศลก็ได้ ด้วยอกุศลก็ได้ แม้ดับอกุศลหมดแล้ว ก็ยังคงมีการกระทำทางกาย ซึ่งอาจจะไม่เหมาะ ไม่น่าดูเลย หรือทางวาจา อย่างบางท่านใช้คำว่า คนถ่อย จนติดปาก แต่คนที่ยังมีกิเลสอยู่และใช้คำว่า คนถ่อย ก็เป็นความต่างกันของผู้ที่ดับอกุศลกับผู้ที่ยังมีอกุศล ผู้ที่ยังมีอกุศลพูดคำว่าคนถ่อยกับผู้อื่นด้วยความสำคัญตน คนอื่นถ่อย ตัวเองคงจะไม่ถ่อย จึงได้ว่าคนอื่นถ่อยในขณะนั้น

    แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว เคยสะสมกายวาจามา แม้ว่าจะดับอกุศลแล้ว อกุศลธรรมคืออกุศลเจตสิกไม่มีเลย กุศลจิตก็ไม่มีเลย แต่ความคุ้นเคยกับกาย วาจาที่ได้ทำมามากจนติด แม้ว่าในขณะนั้นอกุศลจิตไม่เกิด แต่ก็มีกิริยาจิตที่ทำให้กายวาจาเป็นไปโดยไม่น่าดู นั่นคือความหมายของวาสนา

    คำถามต่อไปท่านถามว่า บารมีต่างกับวาสนาอย่างไร

    บารมีก็ต้องเป็นการสะสมที่จะให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน

    พระธรรมทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟัง ไม่ว่าจะจากพระสูตรหรือพระอภิธรรมก็ตาม เป็นข้อความที่ควรแก่การพิจารณา แม้จะเป็นสิ่งซึ่งดูเสมือนว่าจะเป็นประโยชน์น้อยสำหรับบางท่าน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าพิจารณาให้ทั่วถึงในอรรถนั้นๆ จริงๆ จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอยู่กับทุกท่านได้ เช่น ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เอณิชังคสูตรที่ ๑๐ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    กามคุณ ๕ มีใจเป็นที่ ๖ บัณฑิตประกาศแล้วในโลก บุคคลเลิกความพอใจในนามรูปนี้ได้แล้ว ก็พ้นจากทุกข์ได้อย่างนี้ ฯ

    สั้นนิดเดียว ใช่ไหม เพียงให้ เลิกความพอใจในนามรูปนี้ได้แล้ว ก็พ้นจากทุกข์ได้อย่างนี้

    ครอบคลุมถึงอริยสัจและธรรมข้ออื่นๆ ไหม เพียงแต่จะเลิกได้อย่างไร เท่านั้นเอง เพราะว่าทุกข์ทั้งหลายมาจากนามรูป เมื่อไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ก็ย่อมจะยินดีเพลิดเพลินในกามคุณ ๕ มีใจเป็นที่ ๖ เพราะฉะนั้น เห็นจริงหรือยังว่า ทุกขอริยสัจคืออะไร วันหนึ่งๆ ทุกขสัจคืออะไร

    ขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เหลือ เว้นตัณหา เป็นทุกข์ โดยนัยของทุกขอริยสัจ ไม่ต้องกล่าวถึงจิตกี่ดวง เจตสิกกี่ดวงก็ได้ เพียงแต่รู้ความจริงว่า ขันธ์ ๕ ที่เป็นไป ในภูมิ ๓ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ เว้นโลกุตตรภูมิ แม้จะไม่กล่าวโดยจำนวน แต่กล่าวโดยข้อความว่า ขันธ์ ๕ ที่เป็นไปในภูมิ ๓ ที่เว้นตัณหา เป็นทุกข์ โดยนัยของทุกขอริยสัจ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้เองกำลังเป็นกามภูมิ ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น สามารถที่จะพิจารณาจนกระทั่งรู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่เที่ยง แต่ถ้าไม่สามารถแยกปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติ อย่างทางตากับที่กำลังคิดถึง สีสันวัณณะต่างๆ จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปได้ไหม ก็ไม่มีทางเลย

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ก่อนที่จะไปกระทำสิ่งใดๆ ก็ตามเพื่อให้ประจักษ์การ เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ขอเพียงให้รู้ความจริงว่า ปรมัตถธรรมที่เป็นรูปปรากฏทางตาโดยไม่ใช่การคิดนึกเรื่องของสิ่งที่ปรากฏเมื่อไร เมื่อนั้นจะเข้าใจว่า บัญญัติธรรมต่างกับปรมัตถธรรมอย่างไร แต่ถ้ายังไม่แยกและคิดว่า จะไปพากเพียรระลึกลักษณะของนามธรรมนั้นบ้าง รูปธรรมนี้บ้าง เพื่อให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและ ดับไป จะเป็นไปไม่ได้เลย ตราบใดที่ยังไม่รู้ขณะที่ต่างกันของปรมัตถอารมณ์กับ บัญญัติอารมณ์

    ขุททกนิกาย มหานิทเทส ข้อ ๒๐๑ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ชนทั้งหลายที่เห็นกันก็ดี ที่ได้ยินชื่อเรียกกันก็ดี ชนเหล่านั้นที่จากไปแล้ว ยังเหลือแต่ชื่อเท่านั้น ที่พูดถึงกันอยู่

    นี่แสดงถึงปรมัตถธรรมกับบัญญัติหรือเปล่า

    คิดถึงคนอื่น หรือว่าคิดถึงตัวท่าน ในขณะที่ได้ยินข้อความนี้ คิดถึงคนที่จากไป หรือคิดถึงว่า แม้ตัวท่านเองก็จะเป็นบุคคลนี้อยู่อีกไม่นานเลย

    บุคคลนี้ในชาตินี้เป็นอย่างไร ย่อมประจักษ์แจ้งกับตัวของท่านเองแล้วว่า ชาตินี้ท่านเป็นอย่างนี้ ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ มีการเห็น การได้ยิน การได้รับผลของกรรมที่เป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบากอย่างไร แต่อีกไม่นานก็จะเป็นบุคคลอื่น พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้

    เพราะฉะนั้น ทุกท่าน ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่เมื่อสิ้นชีวิตแล้วเท่านั้น ที่จะเหลือแต่ชื่อ แม้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีแต่ชื่อเท่านั้นทุกๆ ขณะ เพราะว่า มีสภาพธรรมอะไรบ้างที่เหลือจากเมื่อกี้นี้ ไม่มีเลย ใช่ไหม เห็นเมื่อกี้ดับไปแล้ว ได้ยินเมื่อกี้ก็ดับไปแล้ว คิดนึกก็ดับไปแล้ว เหลือแต่ชื่อ ใช่ไหม ที่เรียกกันว่าคนนี้หรือคนนั้น

    แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมทุกขณะที่เกิด ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะขณะที่สิ้นชีวิตแล้ว แม้แต่ในขณะนี้เอง ก็มีแต่เพียงชื่อ

    มีใครคิดว่าไม่จริงบ้าง

    ไม่มีอะไรเหลือ ทุกๆ ขณะที่ผ่านไป และอีกไม่นานก็จะเป็นคนอื่น ไม่ใช่คิดถึงแต่เฉพาะผู้ที่ล่วงลับไปแล้วซึ่งไม่มีโอกาสจะพบอีก จะเห็นอีก ที่จะคิดถึงก็คิดถึง แต่เพียงชื่อจริงๆ แต่แม้ตัวท่านเอง อีกไม่นานก็เป็นเช่นนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๑ ตอนที่ ๑๖๐๑ – ๑๖๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564