แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1593


    ครั้งที่ ๑๕๙๓


    สาระสำคัญ

    ประโยชน์ที่แท้จริงของการศึกษาพระธรรม

    องฺ จตุกฺก. โยธาชีววรรค - บุคคลใดเป็นพหุสูตร คือผู้ที่ศึกษามาก

    “ทุกขสมุทัย” เมื่อไร

    ผู้ที่เป็นบัณฑิต - ผู้ที่เจริญกุศลทุกประการ

    ผู้ที่กำลังปฏิบัติธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๙


    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งศึกษาปริยัติ ท่านศึกษาพระอภิธรรม แต่ท่านไม่เข้าใจ ท่านสับสน เพราะว่าเป็นการศึกษาเรื่องชื่อทั้งหมด คำภาษาบาลี เวลาที่มีคนถาม ท่านก็ตอบได้ แต่วันหนึ่งๆ ท่านก็คิดเรื่องต่างๆ ที่วุ่นวายใจอยู่เรื่อยๆ ทำให้ท่านเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ในเมื่อท่านก็ศึกษาปริยัติ ศึกษาพระธรรมแล้ว ทำไมไม่ได้ประโยชน์ นอกจากจะรู้ชื่อต่างๆ เท่านั้น แต่ภายหลังเมื่อท่านได้ฟังเรื่องจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมแล้ว ท่านก็รู้ว่า ที่เรียนปริยัติมาแล้วนั้น อยู่ในหนังสือเท่านั้นจริงๆ ไม่ได้ออกมานอกตำราเรียนเลย ไม่ว่าจะเป็นจิตกี่ดวง กี่ประเภท ล้วนแล้วแต่อยู่ในหนังสือทั้งหมด ยังไม่ได้ออกมาศึกษา ยังไม่ได้ออกจากตำรามาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ในชีวิตจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ในขณะนี้ จึงทำให้ท่านงงและสับสน

    แต่ภายหลังเมื่อทราบจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมแล้ว ท่านก็รู้ว่า ประโยชน์ที่แท้จริงของการศึกษาพระธรรม คือ เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏข้างนอกหนังสือ อย่าไปเก็บไว้เฉพาะในหนังสือที่เป็นบรรทัด เป็นหน้าต่างๆ เป็นปริจเฉทต่างๆ แต่จะต้องศึกษาในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เป็นการรู้คำ หรือรู้ชื่อในหนังสือเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีจุดประสงค์ที่จะเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็ไม่มุ่งที่จะเพียงแต่รู้ชื่อภาษาบาลียาวๆ หรือยากๆ แต่ต้องเข้าใจในอรรถว่า คำนั้นหมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้อย่างไร แม้แต่โยนิโสมนสิการ คือ ขณะไหน ขณะที่กำลังฟังนี้เอง และเข้าใจ ก็โยนิโสมนสิการแล้ว และที่สงสัยว่า นั่นเป็นโยนิโสหรือเปล่า นี่เป็นโยนิโสหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องของในหนังสือหรือในตำรา แต่ในขณะนี้เองที่กุศลจิตเกิด และกำลังพิจารณา กำลังเข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นกุศลจิต จึงเป็นโยนิโสมนสิการ

    และมีท่านผู้ฟังอีก ๒ ท่าน ซึ่งต่างกับท่านผู้ฟังท่านนี้ ซึ่งเมื่อได้ทราบชีวิตของแต่ละท่านแล้ว จะเห็นได้ว่า ผู้ที่สนใจในธรรมและศึกษาธรรม มีชีวิตและมีความคิดเห็นต่างๆ กัน อย่าง ๒ ท่านนี้ ท่านมาฟังการบรรยายธรรมที่นี่ แต่ท่านชวนกัน สัญญากันว่า จะไม่เรียน จะฟังอย่างเดียวเท่านั้น คือ จะไม่ยอมเรียนอย่างที่เรียนๆ กัน แต่เมื่อได้ฟังไป พิจารณาไป และค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ ท่านก็สามารถเข้าใจสิ่งที่ ได้ฟังเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ก่อนนี้ท่านเข้าใจว่า การเรียนปริยัตินั้นจะต้องคร่ำเคร่งศึกษาเฉพาะในตำราอย่างเดียว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

    การฟังพระธรรมเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะโดยนัยใดๆ ก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้ว นั่นคือปริยัติ ขณะใดที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นคือกำลังศึกษาปริยัติ

    และขณะที่เป็นการปฏิบัติ คือ แม้ในขณะที่กำลังฟัง ในขณะนี้เอง สติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละลักษณะได้ เสียงก็มี ได้ยินก็มี คิดก็มี เห็นก็มี เข้าใจก็มี เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งสติสามารถระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้

    บางท่านยังสงสัยเรื่องของสติปัฏฐานว่า สติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร และเกิดขึ้นเมื่อไร ก็ขอให้ทราบว่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน นี่เป็นสิ่งที่ลืมไม่ได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะเห็น จะได้ยิน จะคิดนึก ล้วนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานไม่ใช่อื่นไกลเลย เป็นขณะที่ระลึกตรงลักษณะของ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ อย่างแข็ง ตั้งแต่เช้ากระทบมาโดยตลอด ตั้งแต่ตื่น กระทบแข็งแล้ว ใช่ไหม ทางกายทวาร รู้สึกตัวก็แข็งแล้ว หยิบ จับ ไม่ว่าจะเป็น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน มุ้ง ถ้วย จาน ชาม แปรงสีฟัน ช้อนส้อม กระดาษ สมุด ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่กระทบสัมผัสแล้วแข็ง แต่สติไม่ได้ระลึก

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกตรงลักษณะของสิ่งที่มีจริงตามปกติ ตามธรรมดา และเริ่มพิจารณาเพื่อที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน โดยลักษณะนั้น เป็นเพียงแข็ง ไม่ใช่ลักษณะอื่น ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่รส และขณะที่แข็งปรากฏ สภาพที่กำลังรู้แข็งนั้นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จนกว่าจะหมดความ เป็นเรา

    นี่คือสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญไปจากชาติหนึ่งสู่อีกชาติหนึ่งๆ จนกว่าจะ ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เมื่อเข้าใจเรื่องของการศึกษาธรรมซึ่งเป็นปริยัติ การปฏิบัติคงจะไม่ต้องเดือดร้อนใจว่า เป็นผู้ที่ศึกษาน้อย ไม่ได้ศึกษาตามตำรามากอย่างท่านผู้อื่น แต่ เป็นผู้ที่เข้าใจลักษณะสภาพธรรมเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกได้มีผู้ที่ทูลถาม พระผู้มีพระภาคว่า บุคคลใดเป็นพหูสูต คือ ผู้ที่ศึกษามาก

    อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต โยธาชีววรรค ข้อ ๑๘๖ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของอะไรที่บังเกิดขึ้นแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า โลกอันอะไรหนอแลนำไป โลกอันอะไรชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของอะไรที่บังเกิดขึ้นแล้ว ดังนี้หรือ

    ภิกษุกราบทูลว่า

    อย่างนั้น พระเจ้าข้า

    สิ่งที่เป็นใหญ่ที่สำคัญที่สุด ซึ่งชักนำให้กระทำทุกสิ่งทุกอย่างนั้นคืออะไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ โลกอันจิตแลนำไป อันจิตชักมา และบุคคลย่อมลุอำนาจของจิต ที่บังเกิดขึ้นแล้ว

    เวลาที่กล่าวว่า ใครดี ใครชั่ว เพราะอะไร ก็เพราะจิตดีหรือจิตชั่ว ถ้าจิตดี ก็กล่าวว่า บุคคลนั้นเป็นคนดี เพราะว่ากายก็ดี วาจาก็ดีตามจิตที่ดี แต่ถ้าจิตไม่ดี จะกล่าวว่าคนนั้นดีได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การเป็นบุคคลใด ย่อมต้องแล้วแต่จิต และบุคคลย่อมลุอำนาจของจิตที่บังเกิดขึ้นแล้ว

    ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า

    ดีแล้วพระเจ้าข้า

    แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ ทรงธรรม

    บางท่านอาจจะคิดว่า ท่านอายุมากแล้วจึงได้มาศึกษาพระธรรม ซึ่งคงจะศึกษาพระธรรมได้เพียงเล็กน้อย ไม่เป็นพหูสูต แต่การเป็นพหูสูตไม่ใช่เพียงฟังเรื่องชื่อ หรือว่าศึกษาเรื่องชื่อ แต่ต้องเป็นการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ฟังและ พิจารณาโดยถูกต้อง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้หรือ

    ภิกษุกราบทูลว่า

    อย่างนั้น พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ เราแสดงธรรมเป็นอันมาก คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพพูตธรรม เวทัลละ ถ้าแม้ภิกษุรู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแห่งคาถา ๔ บาทแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไซร้ ก็ควรเรียกว่า เป็นพหูสูต เป็นผู้ทรงธรรม

    เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ทั่วถึงอรรถของธรรมที่ได้ฟังด้วยการปฏิบัติตาม จึงจะเป็นพหูสูต มิฉะนั้นไม่ชื่อว่าเป็นพหูสูต

    แม้แต่เพียงอรรถของคำว่า อนัตตา คำเดียว ครอบคลุมพระธรรมทั้งหมด ทั้ง ๓ ปิฎก ทุกโลก เพราะว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าถึงอรรถความหมายของอนัตตาจริงๆ ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตาอย่างไร

    เมื่อได้ฟังเรื่องของการเห็นและปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็น ก็จะสามารถรู้ถึงความเป็นอนัตตาของเห็นในขณะนี้ได้ แต่โดยขั้นของการฟังและเข้าใจ ซึ่งยังไม่พอ จะต้องโดยการปฏิบัติอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ในอรรถนั้นได้จริงๆ ว่า แม้ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏทางตา ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ด้วยเหตุนี้ ไม่ใช่เพียงการเรียนเรื่องชื่อ แต่ต้องเป็นการเข้าใจและ ประพฤติปฏิบัติให้เข้าถึงอรรถของพระธรรมที่ทรงแสดงจริงๆ มิฉะนั้นก็ไม่ชื่อว่าพหูสูต

    ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า

    ดีแล้วพระเจ้าข้า

    แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส

    นี่พูดถึงเรื่องของการดับกิเลสแล้ว

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าบุคคลผู้สดับ มีปัญญาชำแรกกิเลส ผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลส ดังนี้หรือ

    ภิกษุกราบทูลว่า

    อย่างนั้น พระเจ้าข้า

    มาถึงอีกจุดประสงค์หนึ่งของการฟังให้เข้าใจและประพฤติปฏิบัติตาม คือ ถึงการดับกิเลสด้วย ซึ่งจุดประสงค์สูงสุดของการฟังพระธรรม ไม่ใช่เพียงการฟังเฉยๆ แต่จะต้องให้ถึงบรรลุจุดสุดยอด คือ การดับกิเลสเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าไม่อาศัยการฟังพระธรรมจะไม่มีโอกาสที่จะดับกิเลสเลย เพราะฉะนั้น ควรจะทราบว่า ฟังทำไม พิจารณาธรรมทำไม ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทำไม ก็เพื่อการ ดับกิเลส

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า นี้ทุกข์ และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกขสมุทัย และได้เห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกขนิโรธ และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ได้สดับว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา และเห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่สดับนั้นด้วยปัญญา ดูกร ภิกษุ บุคคลเป็นผู้สดับมีปัญญาชำแรกกิเลสอย่างนี้แล

    ท่านที่ยังไม่ทราบว่าตื่นขึ้นมาก็เป็นโลภะแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ยังจะต้องพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นี้ทุกขสมุทัย และได้เห็นแจ้งแทงตลอดเนื้อความแห่งคำที่ได้สดับนั้นด้วยปัญญา

    ทุกขสมุทัย เมื่อไร ตั้งแต่ตื่น เห็นโดยสติระลึก ไม่ใช่ทำอย่างอื่นที่จะให้โลภะไม่เกิด เพราะว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีโลภะ ในเมื่อยังไม่ได้ดับโลภะ ต้องเห็น โลภะก่อน ตื่นขึ้นมาไม่เคยเห็นโลภะเลย แต่ต่อจากนี้ไป ตื่นแล้วเห็นโลภะ ถูกไหม และควรเห็นไหม

    ทันทีที่มีการเคลื่อนไหวก็รู้แล้วว่า ขณะนั้นมีความต้องการ ไม่ใช่ทาน ไม่ใช่ศีล ไม่ใช่สมถะ ไม่ใช่สติปัฏฐานขณะใด ขณะนั้นเป็นความต้องการ แต่สติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดต่างขณะ และระลึกลักษณะของความต้องการที่กำลังเคลื่อนไหวไป ในขณะนั้นได้ และจะเห็นจริงๆ ว่า มีแต่โลภะ ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดแรก

    ภิกษุนั้นชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า

    ดีแล้วพระเจ้าข้า

    แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก

    ทุกคนอยากจะมีปัญญาและเป็นบัณฑิตกันทั้งนั้น แต่ต้องทราบว่า การที่จะเป็นบัณฑิตมีปัญญาจริงๆ นั้น คืออย่างไร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดีละ ดีละ ภิกษุ ปัญญาของเธอหลักแหลม ปฏิภาณของเธอดีจริง ปริปุจฉาของเธอเข้าที เธอถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าบุคคลผู้เป็นบัณฑิต มีปัญญามาก บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล บุคคลจึงเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก ดังนี้หรือ

    ภิกษุกราบทูลตอบว่า

    อย่างนั้น พระเจ้าข้า

    ใครที่จะเป็นบัณฑิต ควรจะพิจารณาข้อความต่อไปที่พระผู้มีพระภาคตรัส

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุ บุคคลผู้เป็นบัณฑิตมีปัญญามากในธรรมวินัยนี้ ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น เมื่อคิดย่อมคิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ตนและผู้อื่น และเกื้อกูล แก่โลกทั้งหมดทีเดียว ดูกร ภิกษุ บุคคลเป็นบัณฑิตมีปัญญามากอย่างนี้แล

    โดยอีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ที่เป็นบัณฑิต เป็นผู้ที่เจริญกุศลทุกประการ จึงไม่เบียดเบียนตนเองและไม่เบียดเบียนบุคคลอื่น และเมื่อคิด คิดเพื่อเกื้อกูลแก่ตน เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เกื้อกูลแก่ตนและผู้อื่น และเกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว นั่นคือผู้ที่เป็นบัณฑิต

    พิจารณาตนเองได้ ใช่ไหม ได้ฟังพระธรรมมามากแล้ว ยังคิดเบียดเบียนตน และเบียดเบียนผู้อื่น หรือว่าคิดเกื้อกูลตนเองและเกื้อกูลผู้อื่น เกื้อกูลโลก

    ขณะใดที่ขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นเบียดเบียนตนและเบียดเบียนบุคคลอื่นด้วย แต่ขณะใดที่ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ในขณะนั้นก็เกื้อกูลตน เกื้อกูลผู้อื่น และเกื้อกูลแก่โลกทั้งหมดทีเดียว

    มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ท่านเขียนจดหมายมา ข้อความในจดหมายนั้นกล่าวว่า ท่านได้ฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนา และท่านได้แสดงธรรมตามแนวทางนี้ และตามที่ท่านศึกษาในพระไตรปิฎก แต่มีผู้ถามท่านว่า ท่านปฏิบัติตามที่ท่านแสดงด้วยหรือเปล่า

    นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ท่านรู้สึกอึดอัดใจที่มีผู้ถามท่านว่า ท่านปฏิบัติได้ตามที่ท่านแสดงหรือเปล่า แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีข้อที่จะต้องอึดอึดใจเลย เพราะว่า ทุกท่านนอกจากพระอรหันต์บุคคลเดียวเป็นผู้ที่กำลังปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าไม่ปฏิบัติ แม้แต่การฟัง ฟังเพื่ออะไร ฟังเพื่อให้เข้าใจ เข้าใจเพื่ออะไร ก็เพื่อปฏิบัติถูก

    เพราะฉะนั้น ในการฟัง ก็เพื่อปฏิบัติธรรม และเมื่อฟังเข้าใจแล้ว ก็ น้อมประพฤติปฏิบัติด้วย เพราะว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์ตราบใด ตราบนั้นยังเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมอยู่



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๐ ตอนที่ ๑๕๙๑ – ๑๖๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564