แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1603


    ครั้งที่ ๑๖๐๓


    สาระสำคัญ

    ม.ม. รัฏฐปาลสูตร - ธัมมุทเทส ๔

    ปัญญาเป็นเหตุถึงที่สุดในโลก

    มโนทวาร กับ มโนกรรม ต่างกันอย่างไร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๐


    เมื่อท่านรัฐปาละทำภัตกิจที่บ้านมารดาบิดาของท่านแล้ว ท่านก็ได้ไปนั่งพักกลางวันที่โคนไม้แห่งหนึ่งในพระราชอุทยานมิคาจีระของพระเจ้าโกรัพยะ เมื่อพระเจ้าโกรัพยะทรงทราบว่า ท่านพระรัฐปาละนั่งพักกลางวันอยู่ในพระราชอุทยาน ก็ได้เสด็จไปพบ

    เพราะทุกคนรู้จักท่านพระรัฐปาละซึ่งในอดีตเป็นบุตรของตระกูลที่เลิศว่า มีทุกอย่างสมบูรณ์เพียบพร้อมหมด แต่ก็ยังสละทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปได้ ฉะนั้น เมื่อพระเจ้าโกรัพยะทรงทราบว่า ท่านพระรัฐปาละนั่งพักกลางวันอยู่ในพระราชอุทยาน ก็ได้เสด็จไปพบ และได้ตรัสแก่ท่านพระรัฐปาละว่า

    ท่านรัฐปาละผู้เจริญ ความเสื่อม ๔ ประการนี้ ที่คนบางพวกในโลกนี้ ถึงเข้าแล้ว ย่อมปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ความเสื่อม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน คือ ความเสื่อมเพราะชรา ๑ ความเสื่อมเพราะเจ็บไข้ ๑ ความเสื่อมเพราะโภคสมบัติ ๑ ความเสื่อมจากญาติ ๑ ...

    แต่ท่านรัฐปาละไม่ได้มีความเสื่อมเหล่านั้นเลย ท่านรัฐปาละรู้เห็นหรือ ได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเสียเล่า

    ท่านพระรัฐปาละได้ถวายพระพรว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์ทรงแสดง ธัมมุทเทส ๔ ข้อ ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ธัมมุทเทส ๔ คือ

    ธัมมุทเทสข้อที่หนึ่งว่า โลกอันชรานำเข้าไป ไม่ยั่งยืน ดังนี้แล อัน พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    เห็นภัยของความชราว่า ต้องมีแน่นอน เมื่อชราแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยน ไม่เหมือนเดิม ตั้งแต่ร่างกายที่ไม่แข็งแรง ตลอดไปจนทุกสิ่งทุกอย่าง น่าที่จะหน่าย ที่จะเบื่อในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น บางคนเห็นโทษของชรา จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    ธัมมุทเทสข้อที่สองว่า โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตนดังนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    ธัมมุทเทสข้อที่สามว่า โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป ดังนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    ธัมมุทเทสข้อที่สี่ว่า โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ดังนี้แล อันพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นผู้ทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

    ข้อความตอนท้ายของพระสูตร ข้อ ๔๕๑ มีข้อความว่า

    ท่านพระรัฐปาละได้กล่าวคำนี้แล้ว ครั้นแล้วภายหลังได้กล่าวคาถาประพันธ์นี้อื่นอีกว่า

    เราเห็นมนุษย์ทั้งหลายในโลกที่เป็นผู้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์แล้วย่อมไม่ให้ เพราะความหลง โลภแล้วย่อมทำการสั่งสมทรัพย์ และยังปรารถนากามทั้งหลายยิ่งขึ้นไป พระราชาทรงแผ่อำนาจชำนะตลอดแผ่นดิน ทรงครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นที่สุด มิได้ทรงรู้จักอิ่มเพียงฝั่งสมุทรข้างนี้ ยังทรงปรารถนาฝั่งสมุทรข้างโน้นอีก พระราชาและมนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมากยังไม่สิ้นความทะเยอทะยาน ย่อมเข้าถึงความตาย เป็นผู้พร่องอยู่ ละร่างกายไปแท้ ความอิ่มด้วยกามย่อมไม่มีในโลกเลย

    อนึ่ง ญาติทั้งหลายพากันสยายผมคร่ำครวญถึงผู้นั้น พากันกล่าวว่า ได้ตายแล้วหนอ พวกญาตินำเอาผู้นั้นคลุมด้วยผ้าไปยกขึ้นเชิงตะกอน แต่นั้นก็ เผากัน ผู้นั้นเมื่อกำลังถูกเขาเผา ถูกแทงอยู่ด้วยหลาว มีแต่ผ้าผืนเดียว ละโภคสมบัติไป ญาติก็ดี มิตรก็ดี หรือสหายทั้งหลายเป็นที่ต้านทานของบุคคล ผู้จะตายไม่มี ทายาททั้งหลายก็ขนเอาทรัพย์ของผู้นั้นไป ส่วนสัตว์ย่อมไปตามกรรม ที่ทำไว้ ทรัพย์อะไรๆ ย่อมติดตามคนตายไปไม่ได้ บุตร ภรรยา ทรัพย์ และ แว่นแคว้นก็เช่นนั้น บุคคลย่อมไม่ได้อายุยืนด้วยทรัพย์ และย่อมไม่กำจัดชราได้ ด้วยทรัพย์ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนี้ว่า น้อยนัก ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

    ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจน ย่อมกระทบผัสสะ ทั้งคนพาล ทั้งนักปราชญ์ ก็กระทบผัสสะเหมือนกัน แต่คนพาลย่อมนอนหวาดอยู่เพราะความที่ตนเป็นพาล ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ ปัญญาเป็นเหตุถึงที่สุดในโลกนี้ได้ คนเป็นอันมากทำบาปกรรมเพราะความหลงในภพน้อยภพใหญ่ เพราะไม่มีปัญญาเครื่องให้ถึงที่สุด

    สัตว์ที่ถึงการท่องเที่ยวไปมาย่อมเข้าถึงครรภ์บ้าง ปรโลกบ้าง ผู้อื่นนอกจาก ผู้มีปัญญานั้น ย่อมเชื่อได้ว่าจะเข้าถึงครรภ์และปรโลก หมู่สัตว์ผู้มีบาปธรรมละโลกนี้ไปแล้วย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเองในโลกหน้า เปรียบเหมือนโจรผู้มีความผิด ถูกจับเพราะโจรกรรมมีตัดช่องเป็นต้น ย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตนเอง ฉะนั้น

    ความจริงกามทั้งหลายวิจิตร มีรสอร่อยเป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูป มีประการต่างๆ มหาบพิตร อาตมภาพเห็นโทษในกามทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น จึงบวชเสีย ผลไม้ทั้งหลายยังไม่หล่นทีเดียว มาณพทั้งหลายทั้งหนุ่มทั้งแก่ย่อมมี สรีระทำลายได้ มหาบพิตร อาตมภาพรู้เหตุนี้จึงบวชเสีย ความเป็นสมณะเป็น ข้อปฏิบัติอันไม่ผิด เป็นคุณประเสริฐแท้ ดังนี้แล

    จบ รัฐปาลสูตรที่ ๒

    วันนี้บางท่านฟังแล้วอาจจะลืม แต่บางท่านฟังแล้วอาจจะพิจารณาธรรม ที่ประสบพบเห็นได้ ที่บ้านทุกคนมีต้นไม้ใบหญ้า บางท่านมองดูใบไม้บางใบยังไม่ ทันแก่ ยังไม่ถึงความเหี่ยวแห้งจริงๆ ก็หลุดจากขั้วหล่นแล้ว ฉันใด ชีวิตของทุกๆ คนก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ทั้งๆ ที่มีความยินดีติดข้องในกาม ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะอย่างไม่รู้จักอิ่ม แต่เมื่อถึงเวลาก็ไม่มีทรัพย์สมบัติใดที่จะตามไป ได้เลย ทุกคนย่อมเป็นไปตามกรรม

    เพราะฉะนั้น ความชราก็ดี หรือโรคภัยต่างๆ ก็ดี ไม่ใช่ว่าทรัพย์จะเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ แต่ความเป็นผู้มีปัญญา ซึ่งอบรมเจริญการรู้แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สามารถทำให้ถึงที่สุด คือ ที่สุดของการท่องเที่ยวไปในครรภ์และในปรโลกได้

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านเขียนคำถาม กล่าวถึงข้อมูลตามที่ท่านศึกษา คือ กามวิถีที่แบ่งโดยทวารแห่งการรู้อารมณ์ได้ ๒ ทาง คือ ๑. กามวิถีทางปัญจทวารวิถี ๒. กามวิถีทางมโนทวารวิถี

    ซึ่งไม่ได้ผิดไปจากขณะนี้เลย ที่ใช้คำว่า กาม หรือ กามวิถี คือ ขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในขณะนี้เอง

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ขออย่าได้อยู่ในตำรา แต่ให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้แต่การใช้คำว่า กามวิถี คือ จิตขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    กาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตั้งแต่อเวจีมหานรกจนถึงเทวภูมิชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เป็นภูมิของกาม ขันธ์ใดก็ดี อายตนะใดก็ดี ธาตุใด ก็ดี ที่เกิดในระหว่างนี้ทั้งหมด ชื่อว่าเป็นกามธาตุ เพราะฉะนั้น กามวิถี คือ ในขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยินนี้เองที่กล่าวว่า แบ่งโดยทวารแห่งการรู้อารมณ์ได้ ๒ ทาง คือ ๑. ทางปัญจทวารวิถี ๒. ทางมโนทวารวิถี

    แสดงให้เห็นว่า ทันทีที่เห็น ทางตาดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิต ก็เกิดขึ้นรู้รูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะนั้นต่อ

    ข้อความต่อไปท่านเขียนว่า

    อารมณ์ ๖ ที่มาปรากฏแก่มโนทวารวิถีนี้ (เฉพาะทางมโนทวารวิถี ไม่ใช่การเห็นทางตา การได้ยินทางหู เป็นต้น) มาสู่มโนทวารวิถีได้ ๒ ทาง คือ

    ๑. รับอารมณ์ ๖ ที่ปรากฏทางมโนทวารวิถีโดยตรงเรียกว่า สุทธมโนทวารวิถี

    ถ้าเข้าใจความหมาย เรื่องชื่อไม่สำคัญ เพราะว่าชื่อเป็นคำภาษาบาลีที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงกับผู้ใช้ภาษาบาลี ในขณะนี้ ผู้ฟังใช้ภาษาไทยเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่สามารถจะจำภาษาบาลีได้ก็ดี แต่ต้องเข้าใจความหมายด้วย ไม่ใช่เพียงจำเฉยๆ ข้อสำคัญที่สุด คือ ไม่ใช่จำภาษาบาลี แต่ไม่รู้ความหมายภาษาไทย หรือไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ๒. รับปัญจารมณ์ที่เนื่องมาจากปัญจทวารวิถีเรียกว่า ตทนุวัตติกมโนทวารวิถี หรือ อนุพันธกมโนทวารวิถี คือ เกิดสืบต่อจากปัญจทวารวิถี เพื่อให้รู้เรื่องราวอันเป็นบัญญัติตามโวหารของชาวโลก

    เข้าถึงอรรถ ไม่ใช่เพียงแต่จำชื่อ

    ข้อความต่อไป ตามข้อมูลที่ท่านเขียนมา

    ตทนุวัตติกมโนทวารวิถีหรืออนุพันธกมโนทวารวิถีที่เกิดสืบต่อจากปัญจทวารวิถี มีอยู่อย่างละ ๔ วิถี คือ ๑. อตีตัคคหณวิถี ๒. สมูหัคคหณวิถี ๓. อัตถัคคหณวิถี ๔. นามัคคหณวิถี

    ที่จริงควรใช้คำว่า วาระ มากกว่าคำว่า วิถี แต่ ๒ คำนี้ทุกคนก็ใช้สับกัน อยู่เสมอ จึงควรเข้าใจว่า วิถีจิตหมายถึงขณะที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต จักขุวิญญาณเป็นวิถีจิต สัมปฏิจฉันนจิตเป็นวิถีจิต สันตีรณจิตเป็นวิถีจิต โวฏฐัพพนจิตเป็นวิถีจิต ชวนจิต เป็นวิถีจิต ตทาลัมพนจิตเป็นวิถีจิต ซึ่งในวาระหนึ่งๆ ที่เกิดสืบต่อจะมีวิถีจิตกี่ประเภท นี่จึงจะเป็นความชัดเจน แต่ส่วนใหญ่มักจะพูดตามความเคยชิน คือ ใช้คำว่า วิถี แทนคำว่า วาระ

    และขอให้ทราบว่า เมื่อปัญจทวารวิถี ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีวาระแรกจะมีอารมณ์เดียวกับปัญจทวารวิถีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางทวารหนึ่งทวารใดที่ดับไป เป็นวาระ ที่ ๑ ต่อจากนั้นเป็นวาระที่ ๒ คิดถึงสัณฐาน วาระที่ ๓ คิดถึงความหมาย วาระที่ ๔ คิดถึงชื่อ นั่นเป็นสิ่งที่เข้าใจในภาษาไทยได้

    ข้อมูลต่อไปท่านกล่าวว่า

    อารมณ์ทั้ง ๖ จำแนกโดยประเภทใหญ่ๆ แล้วมี ๔ ประเภท คือ ๑. กามอารมณ์ ๒. มหัคคตอารมณ์ ๓. บัญญัติอารมณ์ ๔. โลกุตตรอารมณ์

    ถ้าเข้าใจเรื่องของกามาวจรจิตก็พอที่จะทราบได้ว่า ขณะใดที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือกามาวจรจิตเป็นอารมณ์ ขณะนั้นชื่อว่ามีกามอารมณ์

    มหัคคตอารมณ์ คือ ขณะใดที่มีมหัคคตจิต ฌานจิต เป็นอารมณ์ ขณะนั้นก็ชื่อว่ามีมหัคคตอารมณ์

    ขณะใดที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะนั้นก็ชื่อว่ามีบัญญัติอารมณ์

    ขณะใดที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นก็เป็นโลกุตตรอารมณ์

    เรียกตามชื่อของสภาพธรรมนั่นเอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    บัญญัติอารมณ์ องค์ธรรม ได้แก่ บัญญัติธรรม ๒ ประการ คือ อรรถบัญญัติ และสัททบัญญัติ

    นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน คือ เมื่อเห็นทางตา ก็รู้ความหมายของสิ่งที่เห็นทางใจ หรือเมื่อได้ยินเสียงทางหู ก็รู้ความหมายของเสียง คือ รู้คำ ทางใจ

    คำถามของท่านมีว่า

    ๑. มโนทวารกับมโนกรรมต่างกันอย่างไร เพราะทำหน้าที่อย่างไร

    ๒. บัญญัติอารมณ์ปรากฏทางปัญจทวารวิถีหรือไม่ เพราะเหตุใด

    บัญญัติอารมณ์ปรากฏทางปัญจทวารวิถีไม่ได้ เพราะว่าปัญจทวารวิถีมี ปรมัตถอารมณ์เป็นอารมณ์ คือ ขณะที่ทางตาเห็น จะต้องมีรูปกระทบกับจักขุปสาท และยังไม่ดับไป จิตที่อาศัยจักขุปสาทเกิดเป็นจักขุทวารวิถี มีรูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น จะมีบัญญัติเป็นอารมณ์ไม่ได้

    ๓. ตามที่เห็น ได้ยิน คิดนึกเป็นบัญญัติ หรือเป็นเครื่องหมายของบัญญัติ และที่ได้กลิ่น ลิ้มรส มีบัญญัติหรือมีเครื่องหมายของบัญญัติหรือไม่ ไม่เข้าใจบัญญัติ กับเครื่องหมายของบัญญัติ

    ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เท่านี้พอไหม ที่จะเข้าใจ ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    สำหรับคำถามข้อ ๑. ที่ถามว่า มโนทวารกับมโนกรรมต่างกันอย่างไร เพราะทำหน้าที่อย่างไร

    เรื่องของธรรม เป็นเรื่องที่ควรจะได้ฟังและพิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่พยายามจำชื่อเท่านั้นว่าชื่ออะไร อย่างได้ยินคำว่า มโนทวารกับมโนกรรม ก็ควรที่จะได้คิดตั้งแต่ มโนคืออะไร ทวารคืออะไร กรรมคืออะไร เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ

    มโน คือ ใจ

    กรรม คือ การกระทำ ซึ่งได้แก่เจตนาเจตสิก

    ทวาร คือ ประตู หรือทางที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าทราบแต่ละคำ แต่ละความหมายแล้ว จะได้พิจารณาถึง อรรถจริงๆ ของคำที่ทรงแสดงเป็นภาษาบาลี

    ขอกล่าวถึงคำว่า กรรม ก่อน

    กรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวาย เป็นเจตสิก ชนิดหนึ่งที่เกิดกับจิตทุกดวง ถ้ากล่าวอย่างนี้จะทำให้แปลกสำหรับท่านที่เข้าใจว่า เจตนาต้องเป็นเพียงกุศลเจตนาหรืออกุศลเจตนา แต่ความจริงแล้ว เจตนาเป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เจตสิกที่ต้องเกิดกับจิตทุกดวง ทุกขณะ ทุกภพ ทุกชาติ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะตื่นหรือจะหลับ ก็ต้องมีเจตนาเจตสิก เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า เจตนาก็ต้องต่างกันเป็นชาติ ๔ ชาติ คือ ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี เพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ว่า กรรม ที่ใช้คำว่า กรรม และมโนกรรมนี้ คืออย่างไร

    สำหรับเจตนาซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ขวนขวายในการกระทำ เป็นสภาพที่จงใจ เกิดกับจิตทุกดวง โดยเป็นสหชาตกัมมปัจจัย ชื่อฟังดูยาว แต่ความจริงง่าย คือ เมื่อเจตนาเป็นกรรม และเจตนาก็เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เจตนาเป็นกัมมปัจจัย แต่เป็นกัมมปัจจัยโดยเกิดพร้อมกันกับธรรมอื่น ซึ่งเกิดเพราะเจตนานั้น จึงเป็นสหชาตกัมมปัจจัย สหชาต คือ เกิดร่วมกันนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องของกรรมหรือมโนกรรม ให้เข้าใจลักษณะของเจตนาเจตสิกจริงๆ ว่า เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งที่เกิดกับทุกขณะจิต ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ปฏิสนธิจิตก็มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น จิตเกิดขึ้นกระทำกิจของจิตนั้น และเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกับจิตนั้นก็กระทำกิจของเจตสิกนั้นๆ ร่วมกับจิต ซึ่งเจตสิกนั้นเกิดร่วมด้วย

    ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เจตนาเจตสิกขณะนั้นก็เป็นชาติวิบากเช่นเดียวกับจิต และเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต จิตทำกิจปฏิสนธิ คือ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เจตนาเจตสิกที่เกิดกับปฏิสนธิจิตนั้นก็ขวนขวายกระทำกิจของตนในขณะที่ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เป็นสภาพที่ขวนขวายในกิจโดยชาติที่เป็นวิบากที่เกิดร่วมกับปฏิสนธิ

    นี่คือลักษณะของเจตนาเจตสิก ซึ่งใช้คำว่า กรรม เป็นสภาพที่จงใจ ขวนขวาย ไม่ว่าจะเกิดกับจิตขณะไหน เป็นชาติไหนทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น คงจะเข้าใจลักษณะของเจตนาแล้วว่า เกิดอยู่เป็นประจำ ไม่ขาดเลย เพราะว่าต้องเกิดกับจิตทุกประเภท



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๑ ตอนที่ ๑๖๐๑ – ๑๖๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564