แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1595


    ครั้งที่ ๑๕๙๕


    สาระสำคัญ

    อรรถสาลินี อธิบายนิทเทสแห่งทิฏฐิวิสุทธิ - กรรมนี้เป็นของตน กรรมนี้ไม่ใช่เป็นของตน

    ทรงแสดงเรื่องอกุศลและกุศลหาประมาณมิได้

    พระธรรมไม่ได้อยู่เฉพาะในตำรา

    ขุ.ปฏิ. วิโมกขกถา - ธรรมอันเป็นประธานแห่งวิโมกข์

    ให้พรแก่ตัวเอง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๙


    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมหลายนัย เพื่ออนุเคราะห์ให้เห็นประโยชน์ของกุศลและโทษของอกุศล แม้ใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทสแห่ง ทิฏฐิวิสุทธิ ข้อ ๑๓๗๓ ซึ่งมีข้อความที่อาจจะแปลกจากที่เคยได้ยินกัน เพราะว่า ตามธรรมดาย่อมเคยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน แต่ใน อัฏฐสาลินี ข้อนี้ มีข้อความว่า

    คำว่า กัมมัสสกตาญาณ ได้แก่ ปัญญาที่รู้ว่า กรรมนี้เป็นของตน กรรมนี้ไม่ใช่เป็นของตน ในกรรม ๒ อย่างนั้น กรรมที่ตนหรือคนอื่นทำจงยกไว้

    เพราะว่าเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า กรรมที่ตนกระทำไว้แล้วจะเป็นของคนอื่นไม่ได้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อกุศลกรรมทั้งหมดไม่ใช่ของตน กุศลกรรมชื่อว่าเป็นของตน

    เป็นการแยกว่า กรรมใดไม่ใช่ของตน และกรรมใดเป็นของตน คือ อกุศลกรรมทั้งหมดไม่ใช่ของตน กุศลกรรมชื่อว่าเป็นของตน แต่อย่าเพิ่งดีใจว่า เวลาทำอกุศลกรรมแล้วจะไม่ใช่ของตน เพราะว่านี่เป็นอีกนัยหนึ่ง

    อกุศลกรรมทั้งหมดไม่ใช่ของตน กุศลกรรมชื่อว่าเป็นของตน เพราะเหตุไร

    เพราะหักประโยชน์ และเพราะไม่ให้เกิดประโยชน์ ส่วนกุศลกรรมชื่อว่า เป็นของตน เพราะไม่หักประโยชน์ และเพราะให้เกิดประโยชน์

    ถูกไหม เวลาที่อกุศลกรรมเกิดขึ้น ทำลายทุกอย่าง การรบราฆ่าฟัน การเบียนเบียด การประทุษร้าย ไม่ว่าจะเป็นด้วยกาย ด้วยวาจา เวลาที่อกุศลกรรมเกิดแล้วย่อมหักประโยชน์ ทำลายทุกอย่าง ถ้ามีทรัพย์สมบัติข้าวของ เวลาโกรธจัดๆ บางคนอาจจะทำลายทรัพย์สมบัติข้าวของที่มีอยู่ เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลกรรมเกิด ทรัพย์สมบัติข้าวของนั้นจะยังเป็นของตนอยู่ได้ไหม ในเมื่ออกุศลกรรมนั้นทำลายสิ่งที่เคยเป็นของๆ ตนแล้ว

    จะเห็นได้ว่า อกุศลกรรมไม่ใช่ของตน เพราะหักประโยชน์ และเพราะไม่ให้เกิดประโยชน์ คือ เวลาที่อกุศลกรรมให้ผล จะทำให้ทรัพย์สมบัติทุกอย่างที่เป็นของตนนั้น พินาศสูญเสีย ไม่เป็นของตนอีกต่อไป ไม่ให้เกิดประโยชน์ แม้สิ่งที่เคยเป็นของตน ก็ยังสูญเสียไปเมื่ออกุศลกรรมนั้นให้ผล เพราะฉะนั้น อกุศลกรรมจึงไม่ใช่ของตน วันหนึ่งๆ มีเรื่องสูญเสียเล็กๆ น้อยๆ อยู่เรื่อยๆ หรือเปล่า นี่ไม่ใช่ของตน

    สิ่งที่เคยเป็นของตน เสื้อสักตัวหนึ่ง ถ้าถูกรีดไหม้ ยังจะเป็นของตนไหม ใส่ไม่ได้ ใช้ไม่ได้ หรือเสื้อที่ถูกตะปูเกี่ยวเป็นรอย อกุศลกรรมหักประโยชน์เพราะ ไม่ให้เกิดประโยชน์ ในขณะนั้นแทนที่จะเป็นของตนอยู่ต่อไป ก็ไม่ใช่ของตนแล้ว ในเมื่อเป็นอกุศลกรรม และเป็นผลของอกุศลกรรม

    สำหรับกุศลกรรม ก็ตรงกันข้าม ไม่หักประโยชน์ใดๆ ในขณะที่กุศลกรรมเกิด มีการช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นประโยชน์ทั้งตนเองและบุคคลอื่น และเวลาที่กุศลกรรมให้ผล ย่อมนำมาซึ่งทรัพย์สมบัติสิ่งของให้เป็นของตน ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่ใช่ของตนเลย แต่เวลาที่กุศลกรรมให้ผลขณะใด ทรัพย์สมบัติสิ่งของทั้งหลายก็เป็นของตนเมื่อนั้น เพราะฉะนั้น กุศลกรรมชื่อว่าเป็นของตน

    ข้อความในอรรถกถาอุปมาว่า

    เหมือนคนมีทรัพย์และมีโภคะที่เดินทางไกล ในระหว่างทางได้ยินโฆษณา การเล่นฉลองตามฤดูกาลในหมู่บ้านและในตำบลเป็นต้น ผู้ที่มีทรัพย์ มีโภคะ ก็ไม่ได้คิดว่า เราเป็นคนจรมา จะอาศัยใครจึงจะเล่นการเล่นฉลองตามฤดูกาลได้ เพราะว่าเมื่อมีทรัพย์ มีโภคะ ก็ย่อมใช้ทรัพย์ ใช้โภคะนั้นเล่นการเล่นฉลองตามฤดูกาลได้ตามใจชอบ เพราะฉะนั้น ในการเดินทางนั้นย่อมจะผ่านทางกันดารไปได้โดยสบาย ฉันใด บุคคลผู้ตั้งอยู่ในกัมมัสสกตาญาณนี้ก็เหมือนฉันนั้น สร้างกรรมอันเป็น วัฏฏคามีไว้เป็นอันมาก เสวยความสุข บรรลุอรหัตตผลโดยง่าย นับไม่ถ้วน

    ทุกคนคงจะไม่ลืมว่า กำลังเดินทางอยู่ทุกขณะจิต แล้วแต่ว่าจะผ่านอะไรบ้าง จะผ่านทางทุรกันดาร จะผ่านที่ที่มีการเล่นสนุกสนานรื่นเริง และสามารถร่วมเล่นสนุกสนานรื่นเริงเพราะมีทรัพย์ หรือว่าไม่มีทรัพย์ ไม่สามารถร่วมการเล่นฉลอง รื่นเริงนั้นได้โดยสบาย เพราะเหตุว่า ผู้ที่ไม่ได้กระทำกุศลกรรมไว้ ย่อมต้องผ่าน ทางทุรกันดารของชีวิตไปด้วยความยากลำบาก

    สิ่งของในโลกนี้ ที่น่าปลื้มใจมีมากไหม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ผ่านไปตามถนนหนทาง ตามร้านสรรพสินค้าต่างๆ มีสิ่งที่น่าปลื้มใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายมากไหม และสิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะเป็นของใครบ้าง ที่จะได้ใช้ไปในการเดินทางชีวิต ก็เป็นเรื่องของกุศลกรรมเป็นของตน แต่อกุศลกรรมไม่ใช่ของตน

    ลักษณะของอโลภเจตสิก เป็นโสภณสาธารณเจตสิก เกิดกับกุศลจิต ทุกประเภท ทุกดวง เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปทางกาย ทางวาจา หรือว่าเป็นไปในทาน เป็นไปในในศีล เป็นไปในในความสงบของจิต เป็นไปใน การเจริญสติปัฏฐาน ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงลักษณะของอโลภเจตสิกในขณะนั้นก็ได้ ใช่ไหม ในเมื่อเข้าใจลักษณะของอโลภเจตสิกแล้วว่า เป็นสภาพธรรมที่ไม่ติดข้อง ไม่เห็นแก่ตัว เป็นสภาพธรรมที่สละ บริจาค เพราะฉะนั้น กุศลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นกุศลที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยสักเพียงไร ก็ต้องมีอโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    อย่างเช่น ท่านที่อ่านพระวินัยปิฎก พระวินัยปิฎกแสดงอาจาระ คือ ความประพฤติทางกาย ทางวาจาของพระภิกษุ ที่แสดงความเคารพนอบน้อมใน พระรัตนตรัย แม้ในการที่จะปิดประตูหน้าต่าง ก็ต้องกระทำด้วยความเรียบร้อย ด้วยเสียงค่อยๆ เบาๆ ไม่ใช่ปิดอย่างแรงตามใจชอบ เพียงเท่านี้เกิดกุศลจิตได้ไหม ที่จะพิจารณา วันหนึ่งๆ ซึ่งทุกบ้านก็ต้องปิดประตูหน้าต่างกันอยู่เป็นประจำ พิจารณาจิตในขณะที่ปิดประตูหน้าต่างที่บ้านกับปิดเปิดประตูหน้าต่างที่วัดว่า เป็นจิตที่เหมือนกันไหม

    ท่านที่มาฟังการบรรยายธรรมที่นี่ คงไม่ทราบว่า มีท่านที่มาก่อนเวลา และ มีการทำกุศลที่ควรแก่การอนุโมทนา ทั้งเปิดหน้าต่าง ต้มน้ำ เตรียมน้ำสำหรับ ท่านที่มาฟังคำบรรยาย จัดเก้าอี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่แม้กระนั้นก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ ยิ่งละเอียดก็ยิ่งจะเจริญกุศลได้เพิ่มขึ้น ที่จะรู้ว่าการเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านั้น เป็น ความนอบน้อมในสถานที่หรือในพระรัตนตรัยเพิ่มขึ้นหรือเปล่า

    ถ้าปิดเปิดประตูเหมือนอยู่บ้าน จัดโต๊ะ จัดเก้าอี้เหมือนอยู่บ้าน เป็นกุศลจิตได้ เป็นญาณวิปปยุตต์ก็ได้ หรือบางครั้ง บางขณะ อาจจะเป็นอกุศลจิต ก็ได้ ถ้าประตูฝืด หน้าต่างฝืด ต้องใช้กำลังมาก

    เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ละเอียดที่จะไม่เว้นข้อความหนึ่งข้อความใดในพระไตรปิฎกที่จะเกื้อกูลในชีวิตประจำวัน ที่จะเป็นการเจริญกุศลยิ่งขึ้น ก็จะมีการ เช็ดปัดกวาดถูสถานที่ที่ควรเคารพด้วยความเคารพนอบน้อมเพิ่มขึ้น แม้ว่าเป็นสิ่ง ซึ่งอาจจะข้ามไป แต่เมื่อได้พิจารณาโดยละเอียด และพิจารณาจิต จะเห็นได้ว่า ทำให้กุศลจิตเจริญได้ เพราะว่าขณะนั้นละความเห็นแก่ตัว ความสบายที่จะทำ ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเคยที่บ้าน แต่กระทำด้วยความนอบน้อมเพิ่มขึ้นเมื่อเป็นสถานที่ ที่ควรแก่การเคารพ

    บางท่านอาจจะมีมดเกาะ และด้วยความตกใจ ก็สลัดไปแรงๆ โดยลืมระวังว่า การสลัดแรงๆ นั้น จะทำให้มดไปกระทบกับสิ่งอื่นและเจ็บหรือถึงตายได้

    นี่เป็นสิ่งซึ่งดูเล็กน้อยจริงๆ แต่ถ้าเกิดได้มากขึ้นในปกติประจำวัน จะเห็นได้ว่า ขณะใดที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ขณะใดที่เป็นไปในทาน ในศีล ในสมถะ ในสติปัฏฐาน ขณะนั้นเป็นกุศล เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเรื่อง ของอกุศลไว้โดยบท โดยพยัญชนะ โดยธรรมเทศนาหาประมาณมิได้ แม้ในเรื่อง ของกุศล ก็โดยนัยเดียวกัน

    ท่านที่พิจารณาชีวิตในวันหนึ่งๆ โดยไม่ให้พระธรรมอยู่เฉพาะในตำรา ในหนังสือ แต่พิจารณาธรรมที่ได้ศึกษาข้างนอกหนังสือ จะยิ่งเห็นได้ว่า ขณะใดที่ กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นมืดมัวด้วยโมหะ แต่อาจจะไม่รู้ ใช่ไหม เพราะสิ่งนั้นก็สวย สิ่งนี้ก็อร่อย ขณะนั้นลืมแล้วว่า กำลังเห็นว่าสวย กำลังเห็นว่าอร่อย ขณะนั้น มืดมัวด้วยโมหะ ไม่รู้ความจริงของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปชั่วขณะจิตเดียว และก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ หลงแค่ไหน และโลภะซึ่งเป็นสมุทัยมากแค่ไหน ยิ่งเป็นผู้ละเอียด จะยิ่งเห็นความต่างกันด้วยสติว่า ลักษณะของกุศลธรรมและ อกุศลธรรมนั้นต่างกัน

    ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค วิโมกขกถา ข้อ ๕๑๔ มีข้อความว่า

    ธรรมอันเป็นประธานเป็นไฉน

    ธรรมอันเป็นไปในฝักฝ่ายความตรัสรู้ เป็นกุศล ไม่มีโทษ เกิดในภาวนานั้น นี้ธรรมอันเป็นประธาน ฯ

    เวลาที่รู้ว่ากุศลธรรมและอกุศลธรรมต่างกัน จะรู้ชัดเจนขึ้นด้วยการ เจริญปัญญา แต่ถ้าปัญญาไม่ถึงขั้นที่จะรู้จริงๆ ในลักษณะที่ต่างกันของกุศลและอกุศล ก็ไม่สามารถละกิเลสได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ฝักใฝ่ในการตรัสรู้ซึ่งเป็น กุศล ไม่มีโทษ ขณะนั้น ธรรมอันเป็นประธานเป็นไฉน ธรรมอันเป็นไปในฝักฝ่ายความตรัสรู้ เป็นกุศล ไม่มีโทษ เกิดในภาวนานั้น นี้ธรรมอันเป็นประธาน

    ถ้าไม่มีประธาน ไม่มีฉันทะที่จะเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะดับกิเลส วันหนึ่งๆ ก็เป็นไปตามกำลังของอกุศลอยู่เสมอ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีฉันทะ มีการฝักใฝ่ในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน มีการที่จะดับกิเลสโดยเจริญกุศลในวันหนึ่งๆ ก็จะทำให้สติสามารถระลึกได้ แม้ขณะที่กำลังเป็นอกุศลตามปกติในวันหนึ่งๆ

    หลายท่านอยากจะเปลี่ยนชีวิตจากวันหนึ่งๆ ที่เต็มไปด้วยอกุศล ให้เป็น วันหนึ่งๆ ที่เต็มไปด้วยกุศล อยากอย่างนี้หรือเปล่า ผิดหรือถูก ต้องคิด เป็นเพียงความอยาก แต่จะเป็นจริงได้อย่างไร

    ตามความเป็นจริง ไม่ใช่สำเร็จด้วยความอยาก แต่ต้องสำเร็จด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ฝืนไม่ให้มีโลภะ แต่ต้องเป็นการรู้จักโลภะตามความเป็นจริง เดินไปด้วยโลภะที่จะดื่มน้ำสักแก้วหนึ่ง อย่างท่านที่มาฟังคำบรรยายก็ปฏิบัติอยู่ เป็นประจำ หน้าร้อนมักจะดื่มน้ำกัน ในขณะนั้นเมื่อเป็นผู้มีฉันทะที่จะเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้โลภะจะเกิด สติปัฏฐานก็ยังเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ โดยไม่ฝืน โดยไม่คิดว่าจะเปลี่ยนให้เป็นกุศลไปตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของแม้อกุศลซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำตามความเป็นจริง จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

    และเมื่อปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น จึงจะละคลายความเป็นตัวตนลงไป โดย ยังจะต้องมีโลภะนั่นเองเป็นสมุทัยที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไป จนกว่าจะสามารถถึงการดับโลภะได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับขั้น

    เพราะฉะนั้น อย่าหวังที่จะไม่ให้โลภะเกิด หรืออย่าหวังที่จะเปลี่ยนให้เป็นกุศลได้มากๆ เพราะถึงจะมากอย่างไร ก็ยังมีปัจจัยทำให้อกุศลเกิดมากกว่ากุศลอยู่นั่นเอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ธรรมอันเป็นประธานแห่งวิโมกข์ (คือ การหลุดพ้นจากกิเลส) เป็นไฉน

    นิพพานอันเป็นที่ดับ เป็นอารมณ์ของธรรมเหล่านั้น (หมายความถึง เป็นอารมณ์ของโลกุตตรจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมกัน) นี้เป็นธรรมอันเป็นประธาน แห่งวิโมกข์ ฯ

    การที่จะดับกิเลสได้นี้ ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพานตราบใด แม้ว่าปัญญาจะเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดดับ แต่ก็ยังดับกิเลสไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ธรรมอันเป็นประธานแห่งวิโมกข์เป็นไฉน นิพพานอันเป็นที่ดับ เป็นอารมณ์ของธรรมเหล่านั้น นี้เป็นธรรม อันเป็นประธานแห่งวิโมกข์

    เพราะฉะนั้น ผู้อบรมเจริญปัญญาจะไม่หลงผิดว่า หมดกิเลสแล้ว โดยยังไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดดับในขณะนี้ หรือแม้ว่าประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปแล้ว ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า กิเลสยังไม่ดับจนกว่าจะถึงการรู้แจ้ง ลักษณะของพระนิพพาน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ธรรมอันเป็นข้าศึกแก่วิโมกข์เป็นไฉน

    ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ทรงเตือน ทรงชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เป็นข้าศึกของวิโมกข์ ก็มี

    อกุศลมูล ๓ ทุจริต ๓ อกุศลธรรมแม้ทุกอย่าง เป็นข้าศึกแก่วิโมกข์ นี้ธรรมอันเป็นข้าศึกแก่วิโมกข์

    เพราะฉะนั้น ใครที่ต้องการจะดับกิเลส อย่าลืม อกุศลธรรมแม้ทุกอย่าง เป็นข้าศึกแก่วิโมกข์ ทุกคนรู้ว่าอีกนานกว่าจะถึงวันที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ดับกิเลสได้ แต่ก็อย่าให้นานออกไปยิ่งกว่านั้นอีก โดยที่ไม่ควรจะละเลย หรือว่าปล่อยให้อกุศลที่เกิดขึ้นกับท่านซึ่งท่านรู้ว่ามีอะไรบ้างนั้น ยังคงครอบงำและกลุ้มรุมอยู่ต่อไป อย่างท่านที่ผูกโกรธ ก็ควรจะรู้ว่า ไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าเป็นข้าศึกแก่วิโมกข์ แก่การดับกิเลส แก่การรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ธรรมอันอนุโลมต่อวิโมกข์เป็นไฉน

    ทุกท่านอยากจะถึงพระนิพพานเร็วๆ ใช่ไหม ก็ควรจะได้รู้ว่า ธรรมอะไร น้อมไปอนุโลมต่อวิโมกข์

    กุศลมูล ๓ สุจริต ๓ กุศลธรรมแม้ทุกอย่าง เป็นธรรมอันอนุโลมต่อวิโมกข์ นี้ธรรมอันอนุโลมต่อวิโมกข์

    มีกุศลอะไรที่จะทำ ทำทันที เพราะอนุโลมต่อวิโมกข์

    เกือบจะปีใหม่แล้ว โดยมากทุกท่านให้พรคนอื่น ให้พรมิตรสหาย ให้พร ใครต่อใคร แต่ให้พรตัวเองบ้างดีไหม

    พร คือ ความตั้งใจที่จะทำกุศลที่สามารถจะกระทำได้

    แม้ว่าคนอื่นจะให้พรท่านสักเท่าไรก็ตาม แต่ถ้าท่านไม่ให้พรแก่ตัวของท่านเอง คือ ไม่ตั้งใจทำกุศลทุกประการที่สามารถจะกระทำได้ ก็เป็นแต่เพียงความคิดเรื่องพร แต่พรจริงๆ นั้น คือ ความตั้งใจที่จะกระทำกุศล

    และกุศลก็อย่าคิดแต่เพียงเรื่องของทานอย่างเดียว เพราะว่ากุศลควรจะเป็น ทุกประการ ไม่ใช่แต่เฉพาะทานเท่านั้น อย่างท่านที่อาจจะไม่ได้พิจารณาจิตของ ตนเอง ถ้าให้พรแก่ตัวเองบ้าง ก็คือเริ่มพิจารณาจิตของตนเอง ไม่ใช่เพียงแต่ให้ ทานกุศลเท่านั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖๐ ตอนที่ ๑๕๙๑ – ๑๖๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564