แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1588


    ครั้งที่ ๑๕๘๘


    สาระสำคัญ

    มนสิการเจตสิกไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    อรรถสาลินี อรรถกถากัณฑ์ - มโนทวาราวัชชนจิต (มีอารมณ์ได้ทุกอารมณ์ทั้ง ๖ ทวาร)

    อรรถสาลีนี อินทรียอคุตตทวารตาทุกะ - สังวรและอสังวร


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๙


    แต่ละบุคคลเมื่อจะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ควรพิจารณาจิตใจของตนเองโดยละเอียดจริงๆ อย่างท่านที่รักษาอุโบสถศีล ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ประโยชน์ว่า การที่ท่านสะสมอุโบสถศีลในวันหนึ่งคืนหนึ่งนั้นเพื่อความไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ถ้ายังติดและจะรักษา ก็เป็นการยากมาก ซึ่งคงจะทำให้เกิดความ อึดอัดใจ นอกจากนั้น ยังต้องเป็นผู้ที่ไม่ติดในลาภ ในยศ ในบรรดาศักดิ์ ในความสำคัญตน ในตัวตน และในความเป็นตัวตนด้วย สำหรับผู้ที่รักษาศีลอุโบสถเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น สะสมไปเพื่อที่จะให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง

    และเมื่อยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังไม่ใช่พระโสดาบัน กำลังของกิเลสซึ่งแต่ละท่านมีอยู่จะทำให้ผู้ที่พิจารณาตนเอง รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลสอีกมากที่ท่านควรจะขัดเกลา ยังไม่ถึงพร้อมที่จะเป็นผู้ที่รักษาอุโบสถศีลได้ด้วยความไม่อึดอัดใจ

    อย่างท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านฟังพระธรรม และบางโอกาสท่านก็ดื่มเหล้า ตามกาลเทศะ บุคคลอื่นก็ถามท่านว่า ฟังพระธรรม และเจริญสติปัฏฐาน ยังดื่มเหล้าตามกาลเทศะอีก ท่านก็บอกว่า ท่านพิจารณาตัวของท่านแล้วเห็นว่า ท่านยังมีกิเลสอื่นที่สำคัญที่จะต้องขัดเกลายิ่งกว่านี้มาก

    นี่ก็เป็นแต่ละบุคคล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็น พระอริยบุคคลถึงขั้นพระโสดาบัน ศีล ๕ ก็ยังไม่สมบูรณ์ แต่ว่าแต่ละบุคคลก็รู้จักตนเองตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ท่านที่เจริญสติปัฏฐาน แม้ว่าจะมีการดื่ม ในบางกาลเทศะ ก็คงไม่ใช่ผู้ที่มีความต้องการที่จะเสพสุราจนมึนเมาจนกระทั่งถึง ความเสียสติ หรือขาดสติ

    . ถ้าพูดถึงโยนิโสมนสิการ หมายถึงมนสิการเจตสิกอย่างเดียว ใช่ไหม

    สุ. มนสิการเจตสิก เป็นความใส่ใจด้วยดีที่เกิดกับกุศลจิตทั้ง ญาณสัมปยุตต์และญาณวิปปยุตต์ แต่มนสิการเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    . ถ้าโวฏฐัพพนะกระทำโยนิโสมนสิการ คำว่า โยนิโสมนสิการ หมายถึงมนสิการเจตสิกหรือเปล่า ขณะที่กุศลจิตจะเกิด โวฏฐัพพนะต้องกระทำโยนิโสมนสิการใช่ไหม

    สุ. ท่านผู้ฟังควรจะพิจารณาถึงฐานะของจิต มโนทวาราวัชชนะกระทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร เป็นชาติกิริยา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร มี โสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นจึงไม่ใช่โสภณจิต ไม่ใช่จิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร เพียงเกิดขึ้นโดยอนันตรปัจจัยกระทำกิจสืบต่อจาก สันตีรณกิจ

    . ข้อความที่ว่า ถ้าโวฏฐัพพนะกระทำโยนิโสมนสิการ มีความหมายว่าอย่างไร

    สุ. โดยแยบคายของมโนทวาราวัชชนะ ในขั้นของการสะสมที่ได้ สะสมมาแล้วเท่านั้นเอง แต่โดยสภาพของจิตไม่ใช่เป็นโสภณ เพราะฉะนั้น โวฏฐัพพนจิตกระทำโวฏฐัพพนกิจ ซึ่งจิตอื่นกระทำกิจนี้ไม่ได้ และเมื่อถึงกาลที่มีปัจจัยที่จะทำให้มีจิตนี้เกิดขึ้นกระทำกิจตามการสะสม จิตนี้ก็เพียงเกิดขึ้นเป็นกิริยาจิต กระทำกิจตามการสะสม ถ้าจะใช้คำว่า โยนิโส ก็หมายความถึงการสะสมที่เป็นไปมาแล้วด้วยดีที่ทำให้จิตนี้เกิดขึ้นกระทำกิจนั้น และกุศลจิตจึงเกิดต่อ

    . แสดงว่าโยนิโสมนสิการ โวฏฐัพพนะ หมายถึงจิต ใช่ไหม ไม่ใช่เจตสิก

    สุ. ขณะใดที่เป็นโสภณจิต หรือกุศลจิต เป็นโยนิโสมนสิการ ต้อง พิจารณาหลายอย่าง ต้องพิจารณาถึงชาติของจิตด้วย และต้องพิจารณาถึงกิจของ จิตด้วย ถ้าพิจารณาถึงกิจของจิต จิตนี้เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการที่เกิดก่อนชวนจิต ซึ่งเป็นกุศลหรืออกุศล แต่จิตนี้เกิดขึ้นโดยอนันตรปัจจัยสืบต่อจากสันตีรณจิต โดยชาติเป็นกิริยา เพราะฉะนั้น พิจารณาโดยแยบคายที่กุศลจิตจะเกิดต่อตามการสะสม เป็นปัจจัยทำให้จิตนี้เกิดขึ้นกระทำกิจอย่างนั้น

    ความแยบคาย ต้องเป็นความแยบคายของกุศลที่ได้สะสมแล้ว ที่เป็นปัจจัย ทำให้มนสิการในขณะนั้นทำให้กุศลจิตเกิดต่อหลังจากที่โวฏฐัพพนจิตดับไปแล้ว

    . ถ้าอย่างนั้นระหว่างกุศลจิตและอกุศลจิตเกิด โวฏฐัพพนจิตไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

    สุ. ไม่เกี่ยว ดับไปแล้ว ก่อนที่อกุศลจิตจะเกิดทางปัญจทวาร มโนทวาราวัชชนจิตทำโวฏฐัพพนกิจ และทางมโนทวาร มโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนชวนจิต

    . ถ้าอย่างนั้น ข้อความที่ว่า โวฏฐัพพนะกระทำโยนิโสมนสิการ ไม่มีความหมายเลย

    สุ. หมายความว่า เกิดก่อนชวนจิต จึงชื่อว่าชวนปฏิปาทกะ

    . ขณะที่ตาเห็นรูป ระลึกรู้ในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ขณะนั้นต้องมีโยนิโสมนสิการ

    สุ. ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นโยนิโสมนสิการ

    . แต่กุศลนั้นอาจจะยังไม่ถึงขั้นมีปัญญา

    สุ. แน่นอน เพราะว่ามนสิการไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    . มนสิการไม่ใช่ปัญญาแน่นอน แต่ว่าโยนิโสมนสิการ

    สุ. ก็ยังเป็นมนสิการนั่นเองถ้าเกิดกับมหากุศลญาณวิปปยุตต์ แม้เกิดกับมหากุศลญาณสัมปยุตต์ มนสิการก็เป็นมนสิการ ไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    . เพราะฉะนั้น ถ้าพูดว่า โยนิโสมนสิการ จะเป็นปัญญาไม่ได้

    สุ. มนสิการแยกกับปัญญาเจตสิก

    . โยนิโสมนสิการ คือ มนสิการ เป็นเจตสิกเกิดกับกุศล อกุศลได้

    สุ. นี่เป็นเรื่องของศัพท์ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านผู้ฟังไม่เข้าใจ เพราะถ้าใส่ใจโดยแยบคาย โดยถูกต้องแล้วควรจะเป็นปัญญา ใช่ไหม แต่ปัญญาเป็นสภาพที่รู้ชัด รู้จริง รู้ถูก ไม่ใช่ในขณะที่กำลังใส่ใจ พิจารณา

    สภาพที่ใส่ใจ สนใจ เป็นลักษณะของมนสิการเจตสิก ซึ่งปัญญาไม่ทำหน้าที่นี้ ปัญญาเป็นสภาพที่แทงตลอด รู้ชัด เป็นสภาพรู้ และอยู่ดีๆ ปัญญาจะเกิดไม่ได้ ปัญญาต้องอาศัยการอบรมเจริญขึ้นเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ขั้นการฟัง ก็ต้องฟังด้วยดี ฟังด้วยกันหลายคน ใครสนใจฟัง และพิจารณาเหตุผลด้วยความแยบคาย นั่นคืออาการ กิจของมนสิการเจตสิก

    . โยนิโสมนสิการ น่าจะเป็นเรื่องของปัญญา

    สุ. ถ้าเป็นปัญญาก็ไม่ใช่มนสิการเจตสิก เพราะว่าเจตสิกมี ๒ อย่าง มนสิการเจตสิกกับปัญญาเจตสิก ในขณะที่ปัญญาเจตสิกเกิดร่วมกับมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ปัญญาทำกิจของปัญญา มนสิการทำกิจของมนสิการ

    . แต่ว่าโยนิโสมนสิการ

    สุ. ขณะใดที่เป็นกุศล ถ้าคิดอย่างนี้แล้วก็สะดวกใจ ใช่ไหม ไม่ว่าจะเป็นกุศลญาณวิปปยุตต์ หรือกุศลญาณสัมปยุตต์ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้น โยนิโสมนสิการ

    โยนิโสมนสิการไม่ได้เกิดแยกต่างหากไปจากกุศลจิตและโสภณเจตสิกอื่นๆ เลย กระทำกิจของมนสิการ ในขณะที่ผัสสะทำกิจของผัสสะ เวทนาทำกิจของเวทนา มนสิการทำกิจของมนสิการ เมื่อมนสิการพิจารณาแยบคายถูกต้อง ปัญญาก็รู้แจ้งชัดในลักษณะของอารมณ์นั้น

    . โยนิโสมนสิการ ให้นึกถึงกุศลไว้ก่อนเท่านั้น

    สุ. ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นมนสิการเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ไม่ใช่ว่าไม่มีมนสิการ มี แต่มนสิการนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการ แยกกุศลกับอกุศลก่อน

    . แต่เท่าที่ฟังๆ มา โยนิโส น่าจะเป็นเรื่องของปัญญา

    สุ. ยังคงเป็นลักษณะสภาพที่ใส่ใจ สนใจในอารมณ์ แต่อย่างถูกต้อง และถ้าเกิดกับมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ก็ไม่ได้แยกกัน มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่มนสิการเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง และปัญญาเจตสิกเป็นอีกประเภทหนึ่ง

    สภาพธรรมเกิดกับท่านทุกวัน แต่ไม่สามารถจะรู้ตามความเป็นจริงได้ ถ้า พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด

    . ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของนามและรูป ขณะนั้นศึกษาและใส่ใจ ขณะนั้น ใส่ใจเป็นมนสิการ

    สุ. ขณะนั้นมีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วยครบ

    . แต่ปัญญายังไม่เกิด เพราะลักษณะของรูปและนามยังไม่ปรากฏ ถูกไหม

    สุ. ปัญญาอาจจะอ่อนมาก และค่อยๆ เจริญขึ้นได้

    . แต่ขณะที่มนสิการโดยการศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้น ได้ชื่อว่า มนสิการ

    สุ. ขณะนี้กำลังฟัง เป็นกุศลหรือเปล่าที่กำลังฟัง หรือว่าเป็นอกุศล ไม่เข้าใจ สงสัย งง ขณะนั้นก็เป็นกุศลไม่ได้ แต่ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นกุศล และสภาพของปัญญาก็เป็นสภาพที่รู้

    เป็นชีวิตประจำวัน แม้ในขณะนี้เอง ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงไว้ โดยละเอียด ก็ไม่สามารถรู้ได้

    อัฏฐสาลินี อรรถกถากัณฑ์ พรรณนาขยายความหมวดติกะ ข้อ ๑๔๒๙ มีข้อความว่า

    มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเกิดก่อนกุศลจิตและอกุศลจิต มีอารมณ์ได้ทุกอารมณ์ทั้ง ๖ ทวาร

    ไม่เว้นเลย ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด เจตสิก รูป แม้นิพพาน แต่โดยสภาพ ที่เป็นอโสภณจิต เพราะว่าเป็นอเหตุกจิต เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตซึ่ง เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการนั้น จึงเหมือนคนเซ่อ อุปมาเหมือนเด็กค่อมเตี้ย รับใช้พระราชา ซึ่งพระราชานั้นย่อมเป็นที่เคารพของชาวโลกทั้งมวล แต่เด็กรับใช้ ค่อมเตี้ยนั้นก็ไม่ได้เคารพอย่างยิ่ง ไม่เหมือนอย่างบัณฑิตผู้มีปัญญา เพราะว่า เด็กรับใช้ค่อมเตี้ยนั้นเป็นคนโง่เขลา ฉันใด มโนทวาราวัชชนจิตก็ฉันนั้น

    มโนทวาราวัชชนจิตเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร ถ้าเป็นทางปัญจทวารเมื่ออารมณ์กระทบกับจักขุปสาทรูป หรือโสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป มโนทวาราวัชชนจิตยังไม่เกิด แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน และเมื่อ ดับไปแล้ว ปัญจวิญญาณนั้นๆ จึงเกิดขึ้น ทำกิจเห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือ ลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เมื่อปัญจวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิต ก็เกิด เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณจิตก็เกิด เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตซึ่งเป็นมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดก่อนกุศลหรืออกุศล

    จะเห็นได้ว่า มโนทวาราวัชชนจิตสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอารมณ์ ไม่เว้นเลย ไม่ว่าจะเกิดในอบายภูมิเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็มีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนกุศลจิต และอกุศลจิตทั้ง ๖ ทวาร ไม่ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นรูปพรหม หรือเกิดเป็นอรูปพรหมซึ่งเป็นพรหมที่ไม่มีรูปเลย เป็นผลของอรูปาวจรกุศลจิตทำให้ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิก็มีมโนทวาราวัชชนจิต แม้ว่าจะไม่มี การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ไม่มีรูปร่างใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีรูป ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย แต่เมื่อมีใจที่ให้ปฏิสนธิจิตเกิด และจะให้เป็นภวังคจิตโดยตลอดไม่มีวิถีจิตเกิดเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับจิตที่จะเกิดในอรูปพรหมภูมิก็ต้องไม่ใช่จิตประเภท เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย แต่อกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิต และโมหมูลจิตยังเกิดได้ เว้นโทสมูลจิตไม่เกิดในพรหมภูมิทั้งรูปพรหมและอรูปพรหม เพราะว่าเป็นภูมิที่ได้บำเพ็ญกุศลถึงขั้นที่ละความยินดีเพลิดเพลินในกามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีปัจจัยทำให้โทสมูลจิตเกิด

    เมื่อเกิดเป็นอรูปพรหมภูมิแล้ว และเป็นภวังคจิต โดยอรูปาวจรวิบากเกิดสืบต่อจากอรูปาวจรวิบากจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ เมื่ออรูปาวจรวิบากจิตที่ทำกิจปฏิสนธิเป็น อรูปพรหมบุคคลดับไปแล้ว อรูปาวจรวิบากจิตก็เกิดสืบต่อทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติความเป็นอรูปพรหมบุคคล และมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้นเป็นวิถีจิตขณะแรก ก่อน ที่จะเป็นกุศลหรืออกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด

    เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่สามารถรู้อารมณ์ได้มากกว่าจิต อื่นๆ เพราะว่าไม่เว้นเลย แต่โดยสภาพไม่ใช่โสภณจิต เป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอเหตุกกิริยาจิต ทำกิจเพียง ๒ กิจเท่านั้น คือ อาวัชชนกิจทางมโนทวาร และโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร เกิดขึ้นเพียงหนึ่งขณะก่อนที่ชวนวิถีจิตจะเกิด ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะมีมรรคจิตเป็นอารมณ์ก็ดี มีผลจิตเป็นอารมณ์ก็ดี หรือมีนิพพานเป็นอารมณ์ก็ดี แต่ก็มีโดยฐานะที่ไม่เหมือนอย่างผู้ที่เป็นบัณฑิต แต่เหมือนกับเด็กค่อมเตี้ยที่รับใช้พระราชา เป็นคนที่โง่เขลา คือ ไม่ใช่เป็นโสภณจิต

    ในขณะนี้มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดก่อนกุศลจิตและอกุศลจิตทั้ง ๖ ทวาร ที่จะมีกุศลจิตและอกุศลจิตเกิดโดยไม่มีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนนั้น เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ จิตนี้จึงชื่อว่าชวนปฏิปาทกมนสิการ เพราะว่าเกิดก่อนชวนจิต

    ข้อสำคัญให้ทราบว่า ก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด มโนทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อน แล้วแต่ว่าจะเกิดทางปัญจทวาร หรือเกิดทางมโนทวาร

    อัฏฐสาลีนี นิกเขปกัณฑ์ อธิบายนิทเทสอินทริยอคุตตทวารตาทุกะ ข้อ ๑๓๕๒ มีข้อความที่อธิบายเรื่องของการสังวรและอสังวร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งก็คือขณะที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตนั่นเอง เมื่อมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึกทางใจ ในชีวิตประจำวัน

    ถ้าไม่ทรงแสดงไว้โดยหลายนัย จะทำให้เป็นผู้ที่ประมาท ไม่รู้ว่าวันหนึ่งๆ เมื่อเห็นแล้วเป็นอสังวรมากกว่าเป็นสังวร เพราะว่าปล่อยไปตามอารมณ์ที่กระทบ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดี ความยินดีพอใจก็เกิด ถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ โทสมูลจิตก็เกิด นี่คือในขณะที่เป็นอสังวร แต่สังวรหรืออสังวรก็ดี ต้องเป็นในขณะที่เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๙ ตอนที่ ๑๕๘๑ – ๑๕๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564