แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1449


    ครั้งที่ ๑๔๔๙


    สาระสำคัญ

    ลักขณรูปที่ ๔ คือ อนิจจตารูป

    อรรถสาลินี - อธิบายอากาศธาตุ

    รูปที่เรียกว่า อากาศธาตุเป็นไฉน

    อากาศธาตุนิทเทส - อากาโส, ลักษณะทั้ง ๔ ของอากาศ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘


    สำหรับลักขณรูปที่ ๔ คือ อนิจจตารูป

    สภาวะที่ชื่อว่าอนิจจัง เพราะอรรถว่า ไม่เที่ยง คือ มี แล้วหามีไม่ ภาวะแห่งอนิจจังนั้น ชื่อว่าอนิจจตา ความไม่เที่ยง

    ชื่อว่าอันตรธาน เพราะอรรถว่า เป็นที่อันตรธาน จริงอยู่ รูปถึงมรณะแล้วย่อมอันตรธาน คือ ย่อมถึงความไม่เห็น

    หายไปหมด ทุกๆ รูป รูปที่เกิดแล้วดับแล้ว เกิดแล้วดับแล้ว ในทุกขณะ หายไปหมดทุกๆ รูป คือ ไม่เห็น

    เมื่อกี้มหาภูตรูปใดที่เกิด ดับไปแล้ว ไม่ปรากฏแล้ว หรือรูปทางตาก็ตามที่ ไม่กระทบกับจักขุปสาท รูปใดเกิดแล้ว รูปนั้นก็ดับไปแล้ว และรูปที่ดับไปแล้ว ก็ ไม่เห็นรูปนั้นอีก ไม่สามารถที่จะเห็นรูปที่ดับไปได้ ชื่อว่าอันตรธาน

    ไม่ใช่แต่รูปอย่างเดียวเท่านั้น ขันธ์ ๕ ทั้งหมดก็อันตรธานไป แต่ ส่วนมากจะพิจารณาเฉพาะรูปเท่านั้น ถ้าเป็นรูปที่ไม่มีโรค และเกิดโรคขึ้น รูปที่ไม่มีโรคนั้นก็อันตรธานไป กลายเป็นรูปที่เป็นโรค

    คนที่กำลังป่วยไข้ได้เจ็บเป็นโรคชนิดหนึ่งชนิดใด แสดงว่ารูปที่ไม่มีโรคนั้นอันตรธานไป และกำลังมีรูปที่เป็นโรคอย่างหนึ่งอย่างใด เวลาที่หายโรคแล้ว รูปที่เป็นโรคก็อันตรธาน และมีรูปใหม่ที่ไม่มีโรค

    นี่คือการเกิดขึ้นและดับไปของรูปต่างๆ และไม่ใช่แต่เฉพาะรูปเท่านั้น ขันธ์ ๕ ทั้งหมดก็อันตรธานไป แสดงให้เห็นว่า ทุกๆ ขณะนี้ ไม่ใช่แต่รูปเท่านั้นที่อันตรธาน แม้จักขุวิญญาณที่เห็น โสตวิญญาณที่ได้ยิน กายวิญญาณที่กำลังกระทบสัมผัสสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง ก็อันตรธานไปเลย อันตรธานไปหมด ไม่ได้กลับมาเกิดอีกเลย

    เพราะฉะนั้น ความอันตรธานนั้นแหละพึงทราบว่า เป็นลักษณะความไม่เที่ยงแห่งขันธ์ ๕

    ลักษณะที่เป็นอนิจจตารูป คือ

    ปริเภทลักขณา รูปัสสะ อนิจจตา อนิจจตารูปมีความทำลาย (คือ การแตกไป ดับไป) เป็นลักษณะ

    สังสีทนรสา มีความจมลงเป็นรสะ

    ศัพท์นี้ตรงกันข้ามกับเกิดขึ้น จะใช้คำว่า ดับไป หรือจมลงก็ได้ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    ขยวยปัจจุปัฏฐานา มีความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    ปริภิชชมานรูปปทัฏฐานา มีรูปที่กำลังจะทำลายไปเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ของอนิจจตารูป

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่ละเอียด สุขุมมาก การที่คิดว่าเข้าใจสภาพธรรมแล้ว ก็ยังไม่สามารถหยั่งลงไปเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม เพราะแม้แต่ผู้ที่กำลังระลึกลักษณะของรูป และเริ่มพิจารณาศึกษาอาการลักษณะของรูปแต่ละรูปที่ปรากฏว่าไม่ใช่สภาพรู้ ก็ยังไม่สามารถรู้ถึงความละเอียดของลักขณรูปทั้ง ๔ คือ อุปจยรูป สันตติรูป ชรตารูป และอนิจจตารูปได้ จนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์ตามขั้นของปัญญาที่จะประจักษ์ได้

    รูป ๑๒ รูป คือ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๔ รวมเป็นอวินิพโภครูป ๘ และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะต้องมีลักษณะ ๔ คือ ลักขณรูป ๔ รวมเป็น ๑๒ รูป

    รูปแต่ละกลุ่มที่เกิดขึ้นเล็กมาก เพราะว่ามีอากาศธาตุคั่นอยู่ เพราะฉะนั้น อากาศธาตุก็เป็นปริจเฉทรูป เป็นรูปที่มีจริงรูปหนึ่ง เพิ่มขึ้นอีก ๑ รูป รวมเป็น ๑๓ รูป

    รูปทั้งที่ไม่มีใจครองและที่มีใจครอง ทั้งหมดจะต้องมีอากาศธาตุ หรือ ปริจเฉทรูปคั่นอยู่ระหว่างกลุ่มหรือกลาป ทุกๆ กลาปที่ละเอียดที่สุด

    อัฏฐสาลินี อธิบายอากาศธาตุ มีข้อความว่า

    รูปที่เรียกว่า อากาศธาตุ เป็นไฉน คือ อากาศ ธรรมชาติที่นับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติที่นับว่าความว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติที่นับว่าช่องว่าง ธรรมชาติอันมหาภูตรูป ๔ ไม่ถูกต้องแล้วอันใด รูปทั้งนี้เรียกว่า อากาศธาตุ

    ทุกคนชินกับลักษณะที่ว่างเปล่า ซึ่งเป็นช่องว่างที่เรียกกันว่า อากาศ

    ข้อความอธิบาย อากาศธาตุนิทเทส ข้อ ๖๓๗ มีว่า

    ที่ชื่อว่าอากาโส ด้วยอรรถว่า อันใครๆ ไถไม่ได้ ทำให้เป็นริ้วรอยไม่ได้ คือ อันใครๆ ไม่อาจเพื่อจะไถ หรือเพื่อจะตัด หรือเพื่อจะทำลายได้

    มีใครจะตัดอากาศ ทำลายอากาศ ทำให้อากาศเป็นริ้วเป็นรอยได้ไหม ก็ไม่ได้ แต่ทำให้มหาภูตรูป หรือวัณณะที่ปรากฏให้เป็นริ้วเป็นรอยได้

    อากาโสนั่นแหละเรียกว่า อากาสคตัง

    แปลว่า อากาศเหมือนกัน ไม่ว่าจะใช้คำว่าอากาโส หรืออากาสคตังก็ตาม

    อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอากาสคตัง ด้วยอรรถว่า เป็นธรรมชาติที่นับว่าอากาศ

    เป็นการอธิบายศัพท์ในภาษาบาลีแต่ละศัพท์ๆ ว่า แท้ที่จริงก็หมายถึง อากาศธาตุนั่นเอง แม้จะใช้คำอื่น เช่น

    ที่ชื่อว่าอฆัง อันแปลว่า ความว่างเปล่า ด้วยอรรถว่า สิ่งอะไรๆ กระทบไม่ได้ อธิบายว่า เป็นสิ่งที่อะไรๆ ไม่อาจกระทบได้ อฆังนั่นแหละเป็นอฆคตัง อันแปลว่า ธรรมชาติที่นับว่าความว่างเปล่า

    เป็นเรื่องของภาษาซึ่งใช้คำต่างๆ แต่ต้องเข้าใจความหมายของคำนั้นด้วยว่า ศัพท์หนึ่งหมายความถึงอะไร

    ที่ชื่อว่าวิวโร ช่องว่าง ด้วยอรรถว่า เป็นช่อง เป็นรู วิวโรนั่นแหละเป็นวิวรคตัง แปลว่า ธรรมชาติที่นับว่าช่องว่าง

    คำว่า ธรรมชาติอันเป็นมหาภูตรูป ๔ ไม่ถูกต้องแล้ว ตรัสถึงอากาศโล่ง อันมหาภูตรูปเหล่านี้ไม่ถูกต้องแล้วนั่นเอง

    นี่คือลักษณะของอากาศ

    ข้อความต่อไป แสดงลักษณะทั้ง ๔ ของอากาศ คือ

    รูปปริจเฉทลักขณา อากาศธาตุมีการคั่นไว้ซึ่งรูปเป็นลักษณะ

    แม้แต่ความว่าง หรือช่องว่าง หรืออากาศธาตุซึ่งว่าง เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ต้องมีลักษณะของตนๆ ด้วย ซึ่งลักษณะของอากาศ คือ มีการคั่นไว้ซึ่งรูป เป็นลักษณะ เมื่ออากาศมีอยู่ในที่ใด ที่นั้นต้องมีการคั่นรูปเป็นลักษณะ

    อากาสธาตุรูปปริยันตัปปกาสนรสา มีการประกาศที่สุดของรูปเป็นรสะ

    รูปไม่ได้ติดต่อกันไปเป็นพืดโดยไม่มีที่สุด แต่การที่รูปหนึ่งๆ จะสิ้นสุดที่ไหน ตรงไหน ก็เพราะว่ามีอากาศทำกิจประกาศความเป็นที่สุดของรูปนั้นๆ เป็นรสะ

    รูปมริยาทปัจจุปัฏฐานา มีขอบเขตของรูปเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    อสัมผุฏฐภาวฉิททวิวรภาวปัจจุปัฏฐานา วา หรือมีภาวะอันมหาภูตรูปถูกต้องไม่ได้ มีภาวะที่ภูตรูปคั่นไว้ และมีภาวะที่เป็นช่องว่างโล่งเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    ปริจฉินนรูปปทัฏฐานา มีรูปที่กำหนดเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้

    เมื่อรูปทั้งหลายอันอากาศธาตุใดคั่นไว้แล้ว รูปนั้นก็มีเบื้องบน เบื้องต่ำ และเบื้องขวางโดยอากาศธาตุนั้น

    แสดงว่าอากาศธาตุล้อมรอบคั่นไว้ทำให้ปรากฏว่า รูปหนึ่งรูปใดก็ตามที่มีอยู่ จะมีอากาศอยู่เบื้องบน มีอากาศอยู่เบื้องล่าง หรือว่ามีอากาศอยู่เบื้องขวาง

    . อากาศ หรือปริจเฉทรูป เราก็นึกว่า อากาศเป็นรูปอย่างหนึ่ง อาจารย์ก็พูดอย่างนั้นด้วย แต่เวลาที่อธิบายว่า อากาศหมายถึงช่องว่าง หรือเป็นที่ล้อมรอบของรูป หรือมีการคั่นรูปไว้เป็นลักษณะ คำอธิบายนี้ไม่ได้บอกว่า อากาศเป็นรูป

    สุ. อากาศมีไหม หรือมีแต่มหาภูตรูป

    . มีทั้ง ๒ อย่าง

    สุ. มีแน่ๆ ใช่ไหม ไม่ได้มีแต่มหาภูตรูปแน่นอน

    . ปริจเฉทรูป มักจะเข้าใจว่า เป็นรูปอย่างหนึ่ง อาจารย์ก็บอกอย่างนั้น

    สุ. ใช่

    . แต่ที่อธิบายมา ไม่มีตอนไหนที่บอกว่า อากาศเป็นรูป เพียงแต่บอกลักษณะทั่วๆ ไปว่า มีการคั่นไว้เป็นลักษณะ หรืออะไรก็ตาม ผมจึงคิดว่า ปริจเฉทรูป คือ ช่องว่างระหว่างรูป คำว่าปริจเฉทรูป รูปคำนี้ หมายถึงมหาภูตรูปหรือเปล่า หรือเพียงแต่อธิบายว่า ระหว่างมหาภูตรูปมีช่องว่างอยู่ แต่คำว่าปริจเฉทรูปไม่ได้เป็นคำนามแทนชื่ออากาศ เพียงแต่อธิบาย เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึงมีช่องว่างระหว่างรูป ฉะนั้น คำว่า ปริเฉทรูป รูปคำนี้แทนมหาภูตรูปใช่ไหม ไม่ได้แทนคำว่าอากาศ

    สุ. ไม่ว่าจะพูดอะไรออกมาก็ตาม คำพูดนั่นแหละเป็นวจีวิญญัตติรูปซึ่งทำให้เกิดเสียงให้เข้าใจความหมาย เพราะแม้ว่าอากาศมี แต่ถ้าไม่พูด ไม่แสดง ไม่บ่งว่าหมายความถึงสิ่งใด ก็ไม่รู้ ใช่ไหม แต่เมื่ออากาศมี และต้องอาศัยคำบัญญัติเพื่อให้รู้ความหมายว่า หมายความถึงอะไร …

    . คำถาม คือ เป็นรูปหรือเปล่า

    สุ. มีแต่มหาภูตรูปเท่านั้นหรือที่เป็นรูป นี่คือคำถามที่จะต้องตอบ

    . ผมถามว่า ปริจเฉทรูป หรืออากาศ เป็นรูปหรือเปล่า

    สุ. ดิฉันก็เรียนถามให้คิดว่า มีแต่มหาภูตรูปเท่านั้นหรือ เพื่อจะได้รู้ว่า อากาศมีหรือเปล่า เป็นรูปหรือเปล่า

    . แต่ผมหมายถึงเป็นรูปที่มีตัวตน อย่างมหาภูตรูป ถ้าอากาศเป็นรูป ก็ถามว่า อากาศเป็นธรรมชาติที่ผันแปรไปด้วยความร้อนหรือ

    สุ. อากาศไม่ใช่ธาตุไฟ อากาศไม่ใช่ธาตุดิน อากาศไม่ใช่ธาตุน้ำ อากาศไม่ใช่ธาตุลม แต่อากาศมีไหม

    . แต่เราจะพูดได้อย่างไรว่า ปริจเฉทรูปคือช่องว่างนั้น เป็นรูป อากาศนั้น เป็นรูป

    สุ. เพราะว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะมหาภูตรูป และอุปาทายรูป ๔

    . หมายความว่ามีรูปอย่างอื่นด้วย

    สุ. ใช่ ถ้ามีแต่มหาภูตรูปและอุปาทายรูป จะมีแต่สิ่งที่ติดกันเป็นพืด โดยไม่มีอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้น เป็นคำตอบว่า ไม่ใช่มีแต่เฉพาะมหาภูตรูป

    . เพราะฉะนั้น ที่ว่า รูป คือ ธรรมชาติที่ผันแปรด้วยความร้อน หมายถึงรูปอะไร ถ้าเทียบรูปกับคำว่ารูปคืออะไร

    สุ. รูป ก็คือสิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้หรือธาตุรู้ และแต่ละรูปซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งมีลักษณะของตนๆ ถ้าอากาศเป็นมหาภูตรูป ก็ไม่ใช่อากาศ เพราะฉะนั้น อากาศไม่ใช่มหาภูตรูป และอากาศก็มีจริงๆ ด้วย

    . ผมรู้ว่ามีจริงๆ แต่เราจะถือว่าเป็นรูปได้หรือ

    สุ. เมื่อตอบว่าอากาศมีจริง และอากาศไม่ใช่นามธรรม เพราะฉะนั้น อากาศเป็นอะไร

    . เป็นอสังขตธรรมก็ได้ เป็นสังขตธรรมก็ได้

    สุ. อากาศมีจริง อากาศไม่ใช่นามธรรม อากาศเป็นอะไร

    . เป็นบัญญัติธรรมก็ได้

    สุ. บัญญัติ ไม่ใช่สิ่งที่มีจริงๆ เพียงแต่เป็นคำ …

    . บัญญัติหมายถึงสิ่งที่มีจริงก็ได้ ไม่มีจริงก็ได้ ถ้าไม่มีสภาวะรองรับ ก็ถือว่าไม่มีจริง

    สุ. เพราะฉะนั้น อากาศมีจริงๆ หรือเปล่า

    . มี

    สุ. มีจริง และไม่ใช่นามธรรม ฉะนั้น เป็นอะไร

    . ก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง

    สุ. ถ้าใช้คำว่ามีจริง ไม่ใช่บัญญัติ เพราะว่าบัญญัติเป็นแต่คำที่หมายรู้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ต้องใช้บัญญัติเลย สิ่งนั้นก็ยังมีจริงอยู่

    . เรื่องมีหรือไม่มี ไม่มีปัญหา เพราะเรา ...

    สุ. เพราะว่ามีแน่ เพราะฉะนั้น มีปัญหาแต่เพียงว่า เมื่อมีแน่แล้ว เป็นอะไร

    . ผมว่า ไม่เป็นรูป แต่อาจารย์บอกว่า เป็นรูปอย่างหนึ่ง ผมจึงสงสัย

    สุ. ถ้าไม่ใช่นามธรรม ก็ต้องเป็นรูปธรรม สิ่งที่มีจริง ถ้าไม่ใช่นามธรรม ต้องเป็นรูปธรรม

    . อากาศอาจจะเป็นรูปธรรมก็ได้ เป็นนามธรรมก็ได้

    สุ. เป็นนามธรรมไม่ได้

    . แสดงว่า เหลือแต่รูปธรรมอย่างเดียว

    สุ. อากาศธาตุ ต้องเป็นรูปธรรม

    เช่นเดียวกับนิพพาน เป็นสิ่งที่มีจริง แต่เมื่อนิพพานไม่ใช่รูปธรรม นิพพานเป็นนามธรรม แต่นิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ นิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่ใช่ สภาพที่เกิดขึ้น นี่คือความต่างกัน

    ต้องเข้าใจความหมายว่า สิ่งที่มีจริง ถ้าไม่ใช่นามธรรมก็เป็นรูปธรรม เช่น อากาศ และสิ่งที่มีจริง เมื่อไม่ใช่รูปธรรมก็เป็นนามธรรม เช่น นิพพาน แต่นิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก เป็นนามธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ และไม่ใช่สภาพที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น

    นิพพานเป็นนามธรรม เพราะไม่ใช่รูปธรรม เช่นเดียวกับที่อากาศเป็นรูปธรรม เพราะว่าอากาศไม่ใช่นามธรรม

    นี่เป็นสิ่งซึ่งแม้ว่ามีปรากฏ แต่ก็ยังเป็นที่ตั้งของความสงสัยได้ เพราะถ้าไปคิดถึงวิชาการอื่น จะทำให้เกิดความสงสัยในลักษณะของอากาศ แต่ถ้าคิดถึง สภาพปรมัตถธรรมว่า สภาพใดที่เป็นของจริง มีจริง เมื่อสภาพนั้นไม่ใช่นามธรรม สภาพนั้นก็เป็นรูปธรรม ฉะนั้น อากาศธาตุก็เป็นรูปธรรมหนึ่งใน ๒๘ รูป

    อากาศธาตุ กระทบสัมผัสได้ไหม

    อากาศอันใครๆ ไถไม่ได้ ทำให้เป็นริ้วรอยไม่ได้ ไม่อาจที่จะตัด หรือไม่อาจที่จะทำลายได้ นั่นคือสภาพของอากาศ เพราะฉะนั้น ไม่มีใครกระทบสัมผัสอากาศได้

    กระทบสัมผัสอะไรได้ ถ้ากระทบสัมผัสอากาศไม่ได้ ทางกายกระทบสัมผัสอากาศไม่ได้ แต่กระทบสัมผัสโผฏฐัพพะ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม เพียง ๓ ธาตุเท่านั้นที่สามารถกระทบสัมผัสทางกายได้

    เพราะฉะนั้น ทางตาที่กำลังเห็น อย่างที่มีข้อสงสัยว่า เห็นอากาศไม่ได้ เป็นการถูกต้อง เพราะเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ส่วนที่จะรู้ว่า ขณะใดเป็นช่องว่าง ขณะนั้นต้องรู้ทางมโนทวาร

    แสดงให้เห็นว่า รูปารมณ์ไม่ใช่อากาศธาตุ รูปารมณ์เป็นเพียงรูปที่กระทบกับจักขุปสาท แต่เวลาที่จะรู้ว่าที่ใดเป็นช่องว่าง ขณะนั้นต้องเป็นการรู้ทางมโนทวาร

    เป็นชีวิตประจำวันอีกเหมือนกัน เพียงรูปารมณ์ทางเดียวและมีช่องว่าง อากาศธาตุ และรู้ด้วยว่าตรงไหนเป็นช่องว่าง ขณะนั้นให้ทราบว่า ขณะที่ทางตาเห็นเป็นจักขุวิญญาณที่กำลังรู้รูปารมณ์ ไม่ใช่เป็นมโนทวารวิถีจิตซึ่งรู้ว่าตรงไหนเป็นช่องว่าง

    , อาจารย์พูดว่า นิพพานไม่ใช่จิต นิพพานเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง นามธรรมเท่าที่เรียนมา เป็นธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้ นิพพานเป็นนามธรรมเหมือนกัน แต่เป็นสภาพไม่รู้ ใช่ไหม

    สุ. ไม่รู้อารมณ์

    การศึกษาธรรมต้องกว้างขวาง ปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่ไม่ใช่รูปธรรม สภาพธรรมนั้นเป็นนามธรรม จิตเป็นนามธรรม เจตสิกเป็นนามธรรม นิพพานเป็นนามธรรม แต่เมื่อนิพพานไม่ใช่จิต นิพพานไม่ใช่เจตสิก นิพพานก็เป็นนามธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้อารมณ์ และนิพพาน ไม่ใช่นามธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ส่วนจิตและเจตสิกเป็นนามธรรมที่เป็นสภาพรู้อารมณ์ และมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น

    . จิตเป็นนามธรรมที่ยังปรุงแต่ง นิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่ปรุงแต่ง

    สุ. ที่ไม่มีการเกิดขึ้น

    สิ่งที่ปรากฏทางตาและทำให้ยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังพูด กำลังหัวเราะ กำลังร้องไห้ต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ต้องมีกลุ่มของรูปเพิ่มขึ้นที่ทำให้ปรากฏทางตาเป็นอาการต่างๆ และ มีสัญญาความจำเกิดขึ้นหมายรู้รูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา และรู้ทางใจว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร และกำลังอยู่ในลักษณะอาการอย่างไร เพราะว่ามีรูปอื่นเกิดร่วมด้วย

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงรูปทั้ง ๒๘ รูปโดยย่อๆ ว่า นอกจาก ๑๓ รูปนี้แล้ว ยังมีจักขุปสาทรูป ๑ โสตปสาทรูป ๑ ฆานปสาทรูป ๑ ชิวหาปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ อีก ๕ รูป รวมเป็น ๑๘ รูป ซึ่งทุกคนก็มีอยู่ และมีหทยรูปอีก ๑ ซึ่งเป็นที่เกิดของจิตทั่วไป รวมเป็น ๑๙ รูป มีชีวิตินทริยรูปอีก ๑ รวมเป็น ๒๐ รูป มีภาวรูปอีก ๒ คือ อิตถีภาวรูป ๑ ปุริสภาวรูป ๑ รวมเป็น ๒๒ รูป และมีวิการรูป ๓ คือ รูปที่เบา รูปที่อ่อน รูปที่ควรแก่การงาน รวมเป็น ๒๕ รูป และมีวิญญัตติรูป ๒ คือ กายวิญญัตติรูป ๑ วจีวิญญัตติรูป ๑ รวมเป็น ๒๗ รูป และมีสัททรูป คือ เสียง อีก ๑ รวมเป็น ๒๘ รูป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๕ ตอนที่ ๑๔๔๑ – ๑๔๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564