แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1486


    ครั้งที่ ๑๔๘๖


    สาระสำคัญ

    เรื่องการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น (ตามการสะสมอัธยาศัย)

    กุศลอยู่ที่จิต (สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ)

    ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องของจิต


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๘


    สุ. การปฏิบัติธรรมต้องเป็นผู้ตรงต่อตัวเอง ตรงต่อสภาพธรรมที่ปรากฏ คนไม่พูด นิ่งๆ ในใจคิดร้ายต่อคนอื่นได้ไหม คนนั้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดี แม้ว่าจะเป็น ผู้ที่พูดน้อยจริง แต่ขาดเมตตาในบุคคลอื่น หรืออาจจะเห็นว่า การไม่พูดกับคนอื่น เพราะว่าคนอื่นไม่ดีก็ได้ ใช่ไหม

    เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถ้าเห็นใครพูดน้อย อย่าเพิ่งชื่นชมสรรเสริญ หรืออย่าเพิ่งติเตียน ตราบใดที่ยังไม่รู้ซึ้งถึงใจของคนนั้นว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล และถ้าจะเดินตามๆ กันไป ใช้คำว่า เดินธุดงค์ กุศลจิตหรืออกุศลจิตในขณะที่เดิน

    การอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส เพราะฉะนั้น การที่จะประพฤติปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด จุดประสงค์ คือ เพื่อรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งแล้วแต่อัธยาศัย อย่างท่านพระมหากัสสปะ ท่านเป็นพระเถระที่เลิศในทางธุดงค์ ตามอัธยาศัยที่ท่านสะสมมาจริงๆ

    การที่ผู้ใดก็ตามมีศรัทธาที่จะบวชเป็นพระภิกษุ รักษาศีลตามพระวินัยบัญญัติโดยที่ไม่ต้องธุดงค์ได้ ในเมื่อไม่ได้สะสมอัธยาศัยที่จะขัดเกลายิ่งขึ้นด้วยธุดงค์คุณ ๑๓ ข้อ ท่านก็เป็นผู้ที่รักษาพระวินัยบัญญัติครบถ้วนโดยไม่รักษาธุดงค์ได้ แต่ถ้าผู้ใดสะสมอัธยาศัยมาที่จะเจริญสมณธรรม อบรมเจริญปัญญาตามเพศของบรรพชิตเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ยังมีอัธยาศัยที่จะรักษาธุดงค์คุณ ขัดเกลาเพิ่มขึ้นอีกตามความสามารถ แต่ให้รู้ว่า เรื่องของธุดงค์ทั้งหมด เป็นการขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้นกว่าการที่จะเพียงรักษาพระวินัยบัญญัติในเพศของบรรพชิต

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะเดินและเรียกว่า เดินธุดงค์ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ต้องรู้ว่ากุศลอยู่ที่จิต อกุศลก็อยู่ที่จิต ไม่ใช่อยู่ที่การเดินและจะเป็นกุศล แต่ไม่ว่าในขณะใดก็ตามจะต้องพิจารณาว่า ในขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรืออกุศล ไม่ใช่เพียงทำตามประเพณี หรือทำตามความคิดว่า ควรจะทำอย่างนั้น

    . เหตุไฉนผู้ปฏิบัติโมเนยยปฏิบัติ จึงมีอายุไม่เท่ากัน

    สุ. คงเป็นเพราะการสะสมในอดีตชาติ ซึ่งท่านเป็นผู้ที่นอกจากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมดับกิเลสเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านยังสะสมมาที่จะเป็นผู้พอ ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็นก็พอ ทางหูได้ยินเสียงก็พอ ทางจมูกได้กลิ่นก็พอ ทางลิ้นลิ้มรสก็พอ ทางกาย ทางใจ พอทั้งหมด คือ ไม่ต้องมีการแสวงหา ไม่มีการติด ไม่ว่าใครจะสรรเสริญ ยกย่อง เคารพสักการะ ท่านก็เป็นผู้ที่พอทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ชีวิตของท่านที่จะอยู่ในสังสารวัฏฏ์ก็เป็นไปตามกรรมที่ได้สะสมมา

    . ความพอใจในการมีอายุน้อยของท่าน คงไม่ใช่เนื่องจากการฆ่าสัตว์ ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่

    ผู้ฟัง จะเรียนเพิ่มเติมที่ท่านผู้หนึ่งกล่าวว่า ธุดงค์ เดินไปในป่า ผ่านเสือ สิงห์ กระทิง แรด และมีชีวิตรอด ก็มาคุยว่า ตัวเองได้ไปผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้ว ผมอยากใช้คำว่า เป็นการเดินผจญภัย มากกว่าเดินธุดงค์

    สุ. ทุกคนต้องเป็นผู้ตรง คือ ต้องอบรมเจริญปัญญาตามเพศ ธุดงค์ ๑๓ ข้อนั้นได้แสดงไว้แล้วว่า สำหรับภิกษุรักษาได้ทั้งหมด สำหรับสามเณรได้กี่ข้อ สำหรับภิกษุณีได้เท่าไร สำหรับอุบาสกอุบาสิกาได้เพียง ๒ ข้อ คือ เฉพาะในเรื่องของอาหาร เป็นผู้ที่ไม่ติดในรส จึงจะรักษาธุดงค์ในเรื่องของอาหารได้ คือ เป็นผู้ที่บริโภคในภาชนะเดียวและในที่เดียว เมื่อนั่งบริโภคที่ไหนแล้วก็พอ ไม่มีการขวนขวายย้ายไปเพิ่มเติมที่อื่นอีก มีอาหารอะไรที่จะบริโภค ก็บริโภคอาหารนั้นที่นั้นเท่านั้น

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ถ้ายังไม่ใช่บรรพชิต ก็ไม่ควรถือข้อปฏิบัติของบรรพชิต เพราะตามความเป็นจริงยังไม่ใช่บรรพชิต จิตใจก็ต้องไปตามเพศคฤหัสถ์

    เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง และการศึกษาเรื่องของจิต ก็เพื่อให้เข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในวันหนึ่งๆ เพื่อให้สติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมนั้น และพิจารณาจนละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    การเป็นพุทธบริษัทที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะ ขัดเกลากิเลส ต้องไม่ใช่เป็นผู้ที่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยขาดเหตุผล หรือโดย ไม่พิจารณาว่า ถูกหรือไม่ถูก ฉะนั้น ขนบธรรมเนียม หรือพิธีต่างๆ ที่ทุกท่าน ได้เห็น หรืออาจจะเคยปฏิบัติมา ควรจะพิจารณาว่า ขนบธรรมเนียมต่างๆ นั้น มีเพื่อให้เกิดกุศลจิต หรือเพื่อให้เกิดความไม่รู้ ไม่เข้าใจ

    เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าขณะที่กำลังกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปตามธรรมเนียมโดยความไม่รู้ และจะอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลส จะเป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด อย่าทำเพียงตามขนบธรรมเนียมประเพณี แต่ต้องเข้าใจในเหตุผลนั้นด้วยว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างนั้นๆ เพื่อกุศลจิตเกิด หรือเพื่อความไม่รู้ ไม่เข้าใจ อย่างการไหว้พระด้วยเครื่องบูชาสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน ของหอม เป็นต้น ถ้าถามว่า ดอกไม้กี่ดอก อย่างนี้เข้าใจหรือไม่เข้าใจในธรรมเนียมนั้น หรืออยากจะทำให้ถูกเพราะคิดว่ากุศลอยู่ที่จำนวนดอกไม้ แต่ความจริงไม่ใช่ กุศลอยู่ที่จิต อย่าลืม ถ้าจิตกำลังไม่รู้ กำลังวุ่นวายคิดว่าจะต้องอย่างนั้น จะต้องอย่างนี้ ในขณะนั้นไม่ใช่กุศลเลยสักขณะเดียว

    เพราะฉะนั้น สำคัญที่ดอกไม้หรือเปล่า พระผู้มีพระภาคทรงปรารถนาดอกไม้หรือเปล่า แต่การมีธรรมเนียมที่จะสักการบูชาด้วยดอกไม้ก็เพื่อให้เกิดกุศลจิต เพราะว่าการไปนมัสการพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดซึ่งเป็นผู้มีศีล มีคุณ จะไปหาอย่าง มิตรสหายเพื่อนฝูง ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรอย่างยิ่ง พิจารณาจิตใจในขณะนั้นก็ได้ ถ้าไปหาด้วยดอกไม้ธูปเทียน จะรู้สึกว่าเป็นกุศลจิตที่มีความนอบน้อมเคารพในคุณ ของผู้มีศีล เพราะฉะนั้น ขนบธรรมเนียมต่างๆ ก็เพื่อให้เกิดกุศล แต่ถ้าไม่มีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นกุศลก็ได้ ไม่ใช่ว่าไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาและเข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เพื่อจะได้ ไม่เป็นผู้ที่ทำไปโดยความไม่รู้ และไม่เป็นผู้ที่กลัวว่า ทำอย่างนั้นจะเป็นกุศลไหม ทำอย่างนี้จะเป็นกุศลหรือเปล่า

    . สมัยนี้รู้สึกว่า จะเอาอาการ เอารูปแบบเป็นบุญ เป็นกุศล มีบางสำนัก บอกว่า ถ้าเป็นพระอย่าไปนั่งหลับตาทำสมาธิบ้าง ไม่ทำการงานบ้าง ไม่เป็นสัมมา การเข้าป่าก็ดี การธุดงค์ก็ดี เป็นการเห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง ผมถามว่า ทำไม ท่านบอกว่า ดูที่องค์มรรค สัมมาวาจา ต้องพูด คือ พูดอย่างดีนั่นเอง ผมก็ถามว่า สัมมาวาจาพระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอย่างไร ท่านก็ตอบไม่ได้ ผมก็บอกว่า สัมมาวาจา คือ เจตนาที่งดเว้นวจีทุจริต ๔ เพราะฉะนั้น การไม่พูดนี่ก็เป็นสัมมาวาจา ใช่ไหม

    สุ. ขณะใดที่วิรัติทุจริต

    . ผมก็ว่า ไม่จำเป็นต้องพูด ถ้าจิตของเรามีเจตนางดเว้นวจีทุจริต ๔ ก็ถือว่าเป็นสัมมาวาจาแล้ว ในองค์มรรคอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรามีเจตนาในการ ละทุจริตทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ ท่านบอกว่า ต้องอยู่ที่อาการ เขาถามผมว่า ถือศีล ๘ หรือเปล่า ผมก็บอกว่า ศีล ๕ ผมรักษาได้ก็แล้วกัน ศีล ๘ เป็นอย่างไร เขาถามว่า ผมยังนอนพื้นอยู่หรือเปล่า ผมบอกว่า นอนพื้น ผม จะนอนก็ได้ ไม่นอนก็ได้ แต่ทำไมท่านไปดูอาการนอนพื้น ท่านบอกว่า ต้องนอนพื้นจึงจะเป็นศีล ๘ ผมบอกว่า ถ้าดูที่อาการนอนพื้น หมูหมากาไก่ก็ต้องมีศีล ๘ ท่านก็ว่าก็มี ขอทานก็ต้องมี ผมบอกว่า อย่างนั้นไม่ถูกแล้ว ไม่ได้อยู่ที่อาการอย่างนั้น ฉะนั้น ที่อาจารย์บอกว่า อยู่ที่จิต ถูกต้อง ผมสนับสนุน อาการหลอกเราได้ ต้องดู กันที่จิต ในสมัยนี้ ผมรู้สึกว่า ดูกันที่อาการกันมาก ที่อาจารย์พูดมา ผมยินดีด้วย และขออนุโมทนา

    สุ. ท่านผู้ฟังมีความเห็นอย่างไรบ้างในเรื่องของกุศล อกุศล กับขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ

    . อย่างที่เขาเอาของกินต่างๆ มาเซ่นเทวดา หรือเซ่นพระพรหม เซ่นอะไรต่างๆ นี่ มีผลไหม

    สุ. ผลคืออะไร

    . กุศล

    สุ. ต้องการผลอะไร

    . ต้องการ เช่น ลาภ อยากจะถูกหวยบ้าง อยากจะเจริญรุ่งเรือง อยากจะให้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

    สุ. ทำกุศลกรรมอะไรที่จะได้ผลอย่างนั้น

    . เช่น การไหว้เจ้าที่เจ้าทาง การเอาของต่างๆ ไปไหว้

    สุ. อย่างงั้นก็ง่าย ถ้าอยากจะได้ก็ไหว้เอา

    . ถ้าอย่างนั้น การบูชาที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร

    สุ. การกระทำกุศลที่เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

    โดยมากท่านผู้ฟังคิดที่จะทำกุศล แต่ไม่ได้คิดว่า จิตในขณะนี้เป็นกุศลหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ คือ ต้องรู้ขณะจิตว่า จิตในขณะนี้เป็นกุศลไหม ยังไม่ต้องไปถึงการกระทำ เพราะว่าจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก ถ้าไม่รู้ว่าขณะใด เป็นอกุศล ขณะใดเป็นกุศล กุศลย่อมเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงการกระทำทางกาย หรือคำพูดทางวาจา ควรรู้ว่า ขณะนี้จิตเป็นกุศลไหม ถ้าเพียงแต่คิดว่าจะทำกุศล และลืมจิต มุ่งแต่จะทำกุศล แต่จิตจริงๆ ในขณะที่ทำกุศลนั้น เป็นกุศลมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นเฉพาะเจตนาที่ คิดจะกระทำ หรือเป็นกุศลในขณะที่กำลังให้ทานเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลหนึ่ง บุคคลใด แต่ก่อนนั้นและหลังนั้นเป็นอกุศลทั้งนั้นก็ได้

    . เพราะฉะนั้น การบูชาเทวดาหรือบูชาพระพรหมก็ดี ...

    สุ. ขณะนั้นจิตเป็นกุศลหรือเปล่า อย่าเพิ่งคิดถึงการกระทำ คิดถึงจิต เป็นกุศลหรือเปล่า ทำเพราะว่าต้องการลาภ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า ก็ไม่ใช่แล้ว เพราะฉะนั้น แทนที่จะบอกว่า นี่เป็นกุศล นั่นไม่เป็นกุศล ทุกคนควรที่จะพิจารณาจิต และรู้ว่า จิตขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ถ้าขณะที่ต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังมีความติด ยังมีความปรารถนาอยู่ ขณะนั้นเป็นอกุศล แม้ว่าทางกายจะกระทำกุศลบ้าง แต่กุศลนั้นมีเพียงเล็กน้อยนิดเดียว นอกจากนั้นก็เป็นอกุศลมากมาย โดยเฉพาะถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผล หรือเหตุไม่ตรงกับผล ก็ไม่ใช่กุศล เป็นแต่การกระทำที่เข้าใจว่าเป็นกุศลเท่านั้น

    . ถ้าอย่างนั้น ควรเจริญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

    สุ. บุญกิริยาวัตถุ เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล สมถะและวิปัสสนา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นในเรื่องของทาน จะต้องพิจารณาว่า เป็นไปในเรื่องของศีล หรือเปล่า การนอบน้อม การระลึกถึงคุณของบุคคลอื่น ขณะใดที่จิตใจอ่อนโยน ไม่แข่งดี และไม่ดูหมิ่น แต่คิดถึงคุณของคนอื่น แม้ว่ายังไม่ได้เอาอาหารไปให้ แต่ในขณะที่จิตใจอ่อนโยนนอบน้อม ในขณะนั้นก็เป็นกุศล แม้จะยังไม่แสดงความ นบนอบโดยการไหว้ แต่จิตใจในขณะที่อ่อนโยนและคิดถึงคุณของบุคคลอื่น ขณะนั้น ก็เป็นกุศล

    เพราะฉะนั้น ควรเข้าใจจริงๆ ว่า กุศลอยู่ที่จิต อย่าเอาการกระทำมาคิดว่า เราจะทำกุศล โดยไม่คำนึงถึงจิตใจว่า กุศลจิตเกิดมากน้อยแค่ไหน หรือเกิดเล็กน้อยเหลือเกินและเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจ อย่างเช่น กุศลจิตเกิดคิดจะถวายภัตตาหารกับพระภิกษุ แต่เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ๕ รูป หรือ ๑๐ รูป หรือ ๙ รูป ในขณะนั้นรู้ได้เลยว่า เป็นอกุศลอีกแล้วโดยความไม่รู้ เพียงรูปเดียวได้ไหม ถ้าเป็นกุศล

    . ส่วนใหญ่ผมเห็นเขาเจาะจงทุกอย่าง ต้องมีดอกไม้ ต้องมีธูปเทียน

    สุ. ถ้าคนที่ไม่เข้าใจในเหตุผล กุศลจิตก็ไม่เกิด เป็นแต่เรื่องต้องทำทั้งนั้น ถ้าไม่คิดอย่างนั้น แต่พิจารณาให้ถูกต้องว่า การที่เราจะมีความนอบน้อมต่อบุคคลอื่น จะมีทางที่แสดงออกทางกายอย่างไรบ้าง และเกิดกุศลจิตที่จะกระทำอย่างนั้นจริงๆ ด้วยความเข้าใจถูก ด้วยกิริยาอาการที่นอบน้อมซึ่งเกิดจากจิตที่เป็นกุศลในขณะนั้น ในขณะนั้นจะไม่มีความรู้สึกว่า วุ่นวาย เดือดร้อน ล่อกแล่ก หรือไม่สงบ ใช่ไหม แต่จะเป็นลักษณะอาการของความสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ

    ไม่เดือดร้อน ไม่วุ่นวาย ไม่หวั่นไหวในขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ต้องเป็นเรื่องละเอียด อย่างวันเกิด บางคนคิดว่าจะทำกุศล กุศลอะไรในวันเกิดที่จะทำ โดยมากคิดถึงเรื่องถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ แต่เพื่อตัวเองหรือเปล่า ถ้ามีความคิดว่า ต้องจำนวนเท่าไร เพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้ คือ ติดอยู่ที่จำนวน ลืมว่า ที่กระทำนั้นเป็นเพราะกุศลจิตคิดที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ

    ถ้าคิดเรื่องการเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ สำหรับบางคนที่ต้องมีการทำบุญในวันเกิด ก็เพราะว่าปกติวันหนึ่งๆ อาจจะไม่ค่อยได้ทำกุศลอะไร หรือเป็นผู้ที่กระทำอยู่แล้ว แต่วันพิเศษก็อยากจะกระทำให้ยิ่งขึ้นให้มากขึ้นก็ได้ ซึ่งก็ต้องพิจารณาจิตอีกว่า ด้วยกุศลจริงๆ ที่รู้สึกว่า บุญที่ได้ทำไปแล้ว ที่ทำอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น ยังไม่พอ ถ้าคิดว่าที่ทำไปแล้วยังไม่พอ เป็นโอกาสที่จะทำให้มากขึ้นเท่าที่จะกระทำได้ ก็แล้วแต่มนสิการของแต่ละบุคคล แต่ส่วนใหญ่ วันเกิดของใคร คิดถึงตัวเอง ใช่ไหม วันเกิดของเรา เพราะฉะนั้น จะทำสิ่งซึ่งเป็นสิริมงคลให้กับใคร หรือคิดว่าจะสละวัตถุนั้นเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น นี่เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาแล้วใช่ไหมว่า ทำเพื่อใคร

    และการที่จะเกิดกุศล ไม่ใช่แต่เฉพาะการถวายภัตตาหารแก่ภิกษุสงฆ์ หรือไม่ใช่หวังให้เกิดกุศลกับตนเอง แต่เป็นวันพิเศษที่จะทำให้เกิดกุศลได้อีกหลายอย่าง เพราะถ้าระลึกถึงพระคุณของมารดาบิดาผู้ให้กำเนิด ทำให้มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ได้ศึกษาพระธรรม ได้เจริญกุศลอื่นๆ เป็นอันมาก และให้วันเกิดนั้นเป็นกุศลจริง คือนอกจากจะทำทาน ถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ ยังระลึกถึงพระคุณของผู้มีคุณ เช่น มารดา บิดา ซึ่งทุกวันๆ อาจจะระลึกถึงน้อย หรือบางท่านอาจจะวุ่นวายกับธุรกิจมาก ไม่ได้ระลึกถึงคุณของท่านเท่าที่ควรก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นกุศลยิ่งขึ้นอีก ก็ระลึกถึงคุณของมารดาบิดา

    เรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ว่า การขัดเกลากิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องพิจารณาสภาพของจิตโดยละเอียดจริงๆ พร้อมทั้งเหตุผลด้วยว่า กุศลต้อง เป็นกุศล แต่ถ้าขณะใดที่มีอย่างอื่นเกิดแทรก ขณะนั้นก็เป็นอกุศล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๙ ตอนที่ ๑๔๘๑ – ๑๔๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564