แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1465


    ครั้งที่ ๑๔๖๕


    สาระสำคัญ

    เสียงที่สำคัญที่สุดในสังสารวัฏฏ์ (เสียงของพระธรรม)

    ปรมัตถทีปนีอถ.ขุ.อิติวุตตกะ - แสดงความหมายในอิติศัพท์

    กิเลสมี ๓ ขั้นอถ.ขุ.ชาดก.อถ.อปัณณกชาดก - ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ได้


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๒๘


    เรื่องของเสียง และโสตวิญญาณ สภาพที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้ ซึ่งการได้ยินเสียงมีอยู่เกือบจะเรียกได้ว่าตลอดเวลาที่ตื่น เวลาที่ตื่น ลืมตาก็มองเห็น สิ่งต่างๆ นอกจากจะมองเห็นสิ่งต่างๆ แล้ว ยังได้ยินเสียงต่างๆ ด้วยเป็นอันมาก จนนับไม่ถ้วนว่า ได้ยินเสียงอะไรบ้างแล้ว บางครั้งก็เป็นเสียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านไป อย่างเช่น เสียงฝนตก หรือเสียงนก โดยไม่ทราบเลยว่า แม้เพียงเสียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้ยินแต่ละครั้งนั้น จิตใจก็หวั่นไหวไปแล้วตามเสียงนั้น

    นี่คือความรวดเร็วของสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการได้ยินเสียงต่างๆ บางเสียงก็เป็นเสียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้จิตใจหวั่นไหวไปเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่รู้สึกตัว แต่บางเสียงก็ทำให้จิตใจหวั่นไหวมาก เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่เสียงที่ได้ยิน

    เสียงที่ได้ยินแล้วทำให้จิตใจหวั่นไหวมาก ก็ทำให้เกิดความยินดีบ้าง ความยินร้ายบ้าง หรือว่าทำให้เกิดความนิยม ความชื่นชม หรือความรังเกียจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกท่านจะพิจารณาถึงความสำคัญของเสียงที่ได้ยินอยู่เสมอ และเสียงชนิดไหนทำให้จิตใจหวั่นไหวมากน้อยแค่ไหน แต่เสียงที่สำคัญที่สุดในสังสารวัฏฏ์ ที่มีประโยชน์มาก คือ เสียงที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง

    ในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ถ้ามีโอกาสได้ฟังเสียงซึ่งเป็นเรื่องของพระธรรม จะทำให้ชาตินั้นมีโอกาสอบรมเจริญปัญญา ทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้นจนกระทั่งในวันหนึ่ง ในชาติหนึ่งนั้น สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    แต่การฟังพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมากจริงๆ ถ้าขาดการพิจารณาไตร่ตรองโดยถี่ถ้วนรอบคอบ แทนที่เสียงนั้นจะเป็นประโยชน์ เสียงนั้นก็กลับเป็นโทษ คือ ทำให้เข้าใจสภาพธรรมไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน และโทษคือไม่สามารถทำให้รู้แจ้ง อริยสัจธรรมได้ เพราะว่าสภาพธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง แม้แต่เรื่องเสียงที่กำลังปรากฏ และเรื่องของการได้ยินซึ่งกำลังได้ยินเสียง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะละเลย เพราะ ดูเหมือนกับว่าเพียงเสียงกับได้ยิน ก็ผ่านไปแล้ว แต่ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งลักษณะของเสียงและได้ยิน ตราบนั้นก็ยังคงเต็มไปด้วยกิเลสที่ไม่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง และก็ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แม้ท่านพระอานนท์ ก็ต้องฟังด้วยความอุตสาหะ ไม่ใช่แต่เฉพาะคนในยุคนี้สมัยนี้เท่านั้น แม้คนในสมัยก่อนซึ่งเป็นเอตทัคคะ ก็ต้องฟังพระธรรมด้วยความอุตสาหะจริงๆ

    ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ แสดงความหมายใน อิติศัพท์ ว่า

    พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคนั้น มีความหมายที่ละเอียดด้วยนัยต่างๆ มีสมุฏฐานมาจากอัธยาศัยเป็นอเนก สมบูรณ์ด้วยอรรถและพยัญชนะ มีปาฏิหาริย์ต่างๆ ลึกซึ้งด้วยธรรม อรรถ เทศนา และปฏิเวธ มากระทบคลองแห่งโสตปสาทของสรรพสัตว์ตามสมควรแก่ภาษาของตนๆ ใครเล่าจะสามารถเข้าใจได้ครบ ทุกประการ ข้าพเจ้า (คือ ท่านพระอานนท์) แม้ยังความเป็นผู้ประสงค์จะฟังให้เกิดขึ้นด้วยเรี่ยวแรงทั้งหมด ก็ฟังมาแล้วอย่างนี้ คือ แม้ข้าพเจ้าก็ฟังมาด้วยประการ อย่างหนึ่ง

    นี่คือข้อความที่ท่านพระอานนท์ได้ทรงจำด้วยความอุตสาหะจริงๆ และผล ของการฟังพระธรรมของแต่ละบุคคลย่อมต่างกันไปตามการสะสม ซึ่งความต่างกันนั้น มีตั้งแต่ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมด้วยพระองค์เอง จนกระทั่งแม้ในสมัยนี้ ก็จะเห็นอัธยาศัยที่ต่างๆ กันของผู้ฟัง ซึ่งทำให้เกิดผลต่างๆ กันด้วย

    ความต่างกันของผู้ที่รับฟังพระธรรมเทศนา แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและสหาย ๕๐๐ คนของท่าน ก็ฟังธรรมต่างกัน

    อรรถกถา ขุททกนิกาย ชาดก เอกนิบาต อรรถกถา อปัณณกชาดก มีข้อความว่า

    อปัณณกะ หมายถึงข้อปฏิบัติที่เป็นไปอย่างแน่นอน คือ ไม่ผิด เป็นเครื่องที่นำออกจากทุกข์ได้

    ครั้นนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ตรัส อปัณณกธรรมเทศนา

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ถามว่า ก็เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะปรารภใคร

    ตอบว่า เพราะปรารภสาวกของเดียรถีย์ สหายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

    พระธรรมที่ทรงแสดงมีมากที่ว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคนั้น มีความหมายที่ละเอียดด้วยนัยต่างๆ มีสมุฏฐานมาจากอัธยาศัยเป็นอเนก เมื่อแต่ละคนมีอัธยาศัยที่สะสมมาต่างๆ กัน ก็เป็นเหตุให้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาต่างๆ กัน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เรื่องมีว่า วันหนึ่ง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีชักพาพวกสาวกของอัญญเดียรถีย์ ๕๐๐ คน ผู้เป็นสหายของท่าน ให้ถือระเบียบดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ เป็นอันมาก และนํ้ามัน นํ้าผึ้ง นํ้าอ้อย และผ้า ไปยังพระวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น สละเภสัชและผ้าถวายแก่ ภิกษุสงฆ์ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    สาวกของอัญญเดียรถีย์แม้เหล่านั้น ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว แลดู พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคอันงามดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญ แลดูพระวรกายดุจ กายพรหมอันประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะและพระอนุพยัญชนะ แวดวงด้วย พระรัศมีด้านละวา แลดูพระพุทธรังสีอันเปล่งออกเป็นวงๆ (ดุจพวงอุบะ) เป็นคู่ๆ จึงนั่งใกล้ๆ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระธรรมกถาอันไพเราะวิจิตรด้วยนัย ต่างๆ ด้วยพระสุรเสียงประดุจเสียงพรหมน่าสดับฟังแก่สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว มีจิตเลื่อมใส ลุกขึ้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำลายสรณะของอัญญเดียรถีย์แล้ว ได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ

    จำเดิมแต่นั้น พวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น มีมือถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปยังพระวิหาร ฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล กระทำอุโบสถกรรม พร้อมกับท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นนิตยกาล

    นี่คือผลของการที่มีมิตรดี มีสหายดี เมื่อมิตรสหายเป็นท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นอริยสาวก ก็สามารถชักจูงสหายของท่านซึ่งนับถือคำสอนอื่น มีผู้อื่นเป็นสรณะ ให้มาฟังพระผู้มีพระภาคได้ แต่จิตของแต่ละคน สะสมมาละเอียดลึกซึ้งมาก วันนี้เป็นอย่างนี้ วันอื่นก็เป็นอย่างอื่นได้ โดยไม่ได้คาดหมาย หรือโดย ไม่อาจที่จะคาดคิดได้ว่า ทำไมจึงได้เป็นอย่างนั้นๆ ได้ เพราะว่าการสะสมของจิต มีทั้งความเห็นถูก และความเห็นผิดในอดีตที่เคยเห็นผิดมาแล้ว เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า จะมีปัจจัยฝ่ายใดที่ทำให้ความเห็นถูกเจริญงอกงามขึ้น หรือทำให้ความเห็นผิด ซึ่งเคยสะสมมานั้นงอกงามขึ้น

    สำหรับสหายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเป็นสาวกของอัญญเดียรถีย์ เมื่อได้ทิ้งพวกอัญญเดียรถีย์ และกลับมามีพระผู้มีพระภาคเป็นสรณะตามท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ก็ได้ฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล กระทำอุโบสถกรรมพร้อมกับ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นนิตยกาล

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จจากกรุงสาวัตถี กลับไปกรุงราชคฤห์ อีกแล ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้ว สาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นก็ได้ทำลายสรณะนั้นเสีย กลับไปถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะอีก ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นเค้ามูลเดิมของตนนั่นเอง

    ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งอยู่ที่พระนครราชคฤห์ ๗ - ๘ เดือน ได้เสด็จกลับไปยังพระวิหารเชตวันเหมือนเดิมอีก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็พาสาวก อัญญเดียรถีย์เหล่านั้นไปเฝ้าพระศาสดาแม้อีก บูชาพระศาสดาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พวกสาวกอัญญเดียรถีย์ แม้เหล่านั้น ก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงความที่พวกสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกจาริกไปแล้ว ได้ทำลายสรณะที่รับไว้ กลับไปถืออัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ ดำรงอยู่ในฐานะเดิมอีก

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม พวกสาวกอัญญเดียรถีย์ก็กราบทูลรับว่า จริง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร อุบาสกทั้งหลาย ในโลกธาตุเบื้องล่างจดอเวจีมหานรก เบื้องบนจด ภวัคคพรหม ตามขวางหาประมาณมิได้ ชื่อว่าบุคคลเช่นกับพระพุทธเจ้า โดยคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น ย่อมไม่มี บุคคลที่ยิ่งกว่า จักมีมาแต่ไหน

    แล้วทรงประกาศคุณของพระรัตนตรัย แล้วทรงแสดงพระธรรม คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ที่ย่อมให้ถึงโสตาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค แล้วตรัสว่า

    พวกท่านทำลายสรณะเห็นปานนี้ ชื่อว่ากระทำกรรมอันไม่สมควร แล้วตรัสว่า

    แม้ในกาลก่อน มนุษย์ทั้งหลายถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่สรณะว่าเป็นสรณะ โดยการถือเอาด้วยการคาดคะเน โดยการถือเอาผิด

    เมื่อท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีได้ฟัง ท่านก็กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคตรัสถึงเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสเล่าถึงเหตุการณ์แม้อันระหว่างภพปกปิดไว้ให้ปรากฏ ดุจทำลายกลุ่มหมอก นำพระจันทร์เพ็ญออกมาฉะนั้น

    ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีการพยากรณ์อดีตชาติได้เลยว่า แต่ละคนในชาตินี้ที่เป็นอย่างนี้ เพราะเคยสะสมมาแล้วในอดีตอย่างนั้นๆ จึงทำให้ แม้ความคิด ความเห็น หรือกาย วาจา เป็นไปตามการสะสม

    เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าผู้ใดมีโอกาสได้ฟังพระธรรม แต่ฟังเผิน ไม่พิจารณาให้รอบคอบโดยละเอียดจริงๆ เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงเกิดจาก การตรัสรู้ โพธิญาณ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถแสดงได้อย่างพระผู้มีพระภาค

    . จักขุวิญญาณ เป็นอเหตุกจิต เป็นวิบาก อนุสัยกิเลสเกิดได้ไหม

    สุ. อนุสัยกิเลส หมายความถึงกิเลสที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก่อนอื่นที่จะพูดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด ต้องเข้าใจเรื่องนั้นก่อน

    กิเลสมี ๓ ขั้น กิเลสอย่างละเอียด ได้แก่ อนุสัยกิเลส กิเลสอย่างกลาง คือ กิเลสที่เกิดขึ้นกระทำกิจ ได้แก่ อกุศลเจตสิก และกิเลสอย่างหยาบ วีติกกมกิเลส ซึ่งทำให้เกิดทุจริตกรรมต่างๆ ทั้งหมดเป็นอกุศลธรรม แต่มีทั้งอย่างละเอียด อย่างกลาง และอย่างหยาบ

    . ทั้ง ๓ อย่างนี้ ถ้าจะเกิด ต้องเกิดในอกุศลจิตเท่านั้น ใช่ไหม

    สุ. ถ้ากล่าวอย่างนี้ หมายความว่า ถ้าอกุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นจะไม่เป็นอนุสัย เพราะจะไม่เป็นสภาพธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานดวงต่อไป ถ้าอกุศลไม่เกิดเลยหมายความว่าอกุศลดับหมดแล้ว แต่เมื่ออกุศลเกิด แสดงว่าอกุศลที่เกิดนั่นเอง จะเป็นอนุสัยกิเลสสืบต่อไปอีก

    . อย่างนั้นวิบากจิต ก็ยังพูดไม่ได้ว่า ไม่มีอนุสัยกิเลส

    สุ. ต้องแยก วิบากจิตของใคร ถ้าเป็นจักขุวิญญาณของพระอรหันต์ ไม่มีแน่นอน

    . หมายถึงของปุถุชน

    สุ. ถ้าเป็นจักขุวิญญาณของปุถุชน อนุสัยครบทั้ง ๗ ถ้าอนุสัยกิเลสไม่มี คือ ดับหมดแล้ว จะมีอกุศลเกิดได้อย่างไรหลังจากที่จักขุวิญญาณดับ อนุสัยกิเลสจะอยู่ในจิตดวงไหน

    . หมายความว่า วิบากจิตก็มีอนุสัยกิเลส แต่ยังไม่เกิด ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่อกุศลเจตสิกซึ่งเป็นปริยุฏฐานกิเลสที่เกิดร่วมกับจิต แต่เนื่องจากเวลาที่อกุศลจิตเกิด ดับไปแล้วก็จริง แต่เมื่ออกุศลนั้นๆ ยังไม่ได้ถูกประหารด้วย โลกุตตรมรรค เพราะฉะนั้น จึงเป็นเชื้อให้เกิดอกุศลต่อไปข้างหน้า

    โดยมากบางท่านจะผ่านข้อความในพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่ว่า ราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในโลภมูลจิต ปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ในโทสมูลจิต ใช่ไหม ทำให้เข้าใจว่า เฉพาะเวลาที่โลภมูลจิตเกิดมีอนุสัย แต่ความจริงแล้ว จิตเกิดขึ้นทีละขณะและ ก็ดับ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้น เช่น โลภมูลจิต มีความยินดี มีความพอใจในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ย่อมแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ต้องมีอนุสัยกิเลสก่อน ถ้าไม่มีอนุสัยกิเลสก่อน โลภเจตสิกจะเกิดกับโลภมูลจิตนั้นได้อย่างไร เพราะถ้าโลภเจตสิกดับหมดแล้ว จะไม่เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตในขณะนั้นเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อ โลภมูลจิตเกิดขึ้นขณะใด ย่อมแสดงว่า ก่อนที่โลภมูลจิตจะเกิด ต้องมีอนุสัยกิเลสนอนเนื่องอยู่ในจิตเป็นปัจจัย ทำให้โลภมูลจิตยังมีปัจจัยเกิดขึ้น และโลภมูลจิตซึ่งเกิดนั้นเอง แสดงให้เห็นว่า เพราะโลภเจตสิกยังไม่ดับ จึงเป็นเชื้อ เป็นปัจจัย เป็นอนุสัยสืบต่อไปข้างหน้าด้วย

    . เพราะฉะนั้น ที่พูดว่า อนุสัยกิเลสจะนอนเนื่องอยู่แต่เฉพาะในอกุศลจิต ๑๒ ดวง ก็ไม่ถูก

    สุ. คิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ขณะที่เป็นอกุศลจิต เช่น โลภมูลจิต ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ใช่ไหม ขณะนั้นไม่ใช่จักขุวิญญาณ ไม่ใช่สัมปฏิจฉันนจิต ไม่ใช่สันตีรณจิต ไม่ใช่โวฏฐัพพนจิต แต่ โลภมูลจิตนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มาจากไหน ถ้าไม่มีอนุสัยกิเลสคือกิเลสที่ยังไม่ได้ดับด้วยโลกุตตรมรรค เพราะฉะนั้น ต้องมีอนุสัยกิเลสนอนเนื่องอยู่ในจิตเป็นปัจจัย ทำให้อกุศลจิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น

    การศึกษาธรรมต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ต้องเข้าใจความต่างกันของอนุสัยกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส และวีติกกมกิเลส มิฉะนั้น จะปะปนกัน

    ถ้าขณะนั้นมีแต่อนุสัย แสดงว่าอกุศลเจตสิกไม่ใช่ปริยุฏฐานกิเลส เพราะว่าอกุศลจิตต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยจึงเป็นปริยุฏฐานกิเลส เพราะมีสภาพของอกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจการงานของอกุศลธรรมนั้นๆ ไม่ใช่ว่าไม่มีอกุศลเจตสิกเกิด ทำกิจการงานใดๆ แต่เพราะอกุศลเจตสิกเกิดจึงทำกิจการงานของอกุศลเจตสิก จึงเป็นปริยุฏฐานกิเลส และเมื่อใดล่วงทุจริตกรรม ขณะนั้นก็มีกำลังแรง เป็นวีติกกมกิเลส

    . ชาติของจิตมี ๔ ชาติ มีกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ในขณะที่วิบากจิตเกิด ขณะนั้นอนุสัยยังไม่ได้ปัจจัยก็ไม่เกิด ผมเข้าใจถูกไหม

    สุ. มรรคจิตดับอนุสัยกิเลส แสดงให้เห็นว่า การเกิดมาในโลกนี้ เป็นมนุษย์หรือเป็นเทวดาก็ตาม ยังไม่หมดกิเลสจึงเกิด เพราะฉะนั้น จึงอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับอนุสัย โลภมูลจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและก็ดับ ไม่ต้องมีอะไรไปดับโลภมูลจิต ที่เกิดแล้ว เพราะว่าโลภมูลจิตอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นและต้องดับ เป็นสังขารธรรม แต่อนุสัยกิเลส เป็นพืชเชื้อให้เกิดอกุศลทั้งหลายซึ่งมี ๗ ประเภท เป็นธรรมที่ต้องดับด้วยโลกุตตรมรรค เพราะว่าปัญญาขั้นอื่นไม่สามารถดับอนุสัยกิเลสได้ บางครั้ง เป็นกุศล แต่ไม่ได้ดับกิเลส จนกว่าโลกุตตรกุศลจิตซึ่งเป็นมรรคจิตเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นจึงดับอนุสัยกิเลสได้ และอนุสัยกิเลสใดที่มรรคจิตใดดับแล้ว กิเลสนั้นๆ จะไม่เกิด อีกเลย

    จิตเกิดขึ้นทีละดวง แสดงอยู่แล้วว่า ต้องมีอนุสัยกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ จึงเป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดได้ โทสมูลจิตเกิดได้ โมหมูลจิตเกิดได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๗ ตอนที่ ๑๔๖๑ – ๑๔๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564