แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1496


    ครั้งที่ ๑๔๙๖


    สาระสำคัญ

    อถ.มหิฬามุขชาดก - ความโน้มเอียงผิด (การสะสมของกิเลสต่อไปอีกทุกขณะ)

    ขุ.เอกนิบาตชาดก อถ.วิสวันตชาดก - เรื่องของท่านพระสารีบุตร (ความเป็นผู้ตรงต่อสัจจะ)

    พระธัมมปทัฏกถา อถ.ตัณหาวรรควรรณนา - เรื่องท้าวสักกะเทวราช, การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙


    สมัยนั้น มีสหาย ๒ คนผู้เป็นชาวเมืองราชคฤห์ ในสหาย ๒ คนนั้น คนหนึ่งบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาค คนหนึ่งบวชในสำนักของท่านพระเทวทัต

    มีเหตุปัจจัยที่ต่างกัน

    สหายทั้งสองนั้นย่อมพบปะกันเสมอ อยู่มาวันหนึ่งภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่าน พระเทวทัตก็กล่าวกะภิกษุสหายว่า

    ผู้มีอายุ ท่านจะเที่ยวบิณฑบาตมีเหงื่อไหลอยู่ทุกวันๆ ทำไม ท่านนั่งในวิหารที่ตำบลคยาสีสะเท่านั้น จะได้บริโภคโภชนะดีด้วยรสเลิศต่างๆ ข้าวปายาสเห็นปานนี้ไม่มีในวิหารนี้ ท่านจะมัวเสวยทุกข์อยู่ทำไม ประโยชน์อะไรแก่ท่าน การมายัง คยาสีสะแต่เช้าตรู่แล้วดื่มข้าวยาคูพร้อมด้วยแกงอ่อม เคี้ยวของควรเคี้ยว ๑๘ ชนิด แล้วบริโภคโภชนะดีด้วยรสเลิศต่างๆ ไม่ควรหรือ

    เพียงเท่านี้ท่านผู้ฟังอาจจะไม่เห็นโทษ แต่พระผู้มีพระภาคทรงเห็นโทษแม้เพียงเล็กน้อยต่อการที่ภิกษุซึ่งบวชในสำนักของพระผู้มีพระภาคจะไปฉันอาหารในสำนักของท่านพระเทวทัต และการชักชวนของศิษย์ของท่านพระเทวทัตจะเห็นความโน้มเอียงผิดที่เริ่มเกิด ซึ่งเป็นความคิดที่เห็นว่า การประพฤติเช่นนั้น คือ การไม่บิณฑบาต เป็นการสมควร เพราะฉะนั้น เป็นความเห็นที่ผิดจากความประพฤติที่สมควรของ สมณวิสัย

    ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด เพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านี้ จะไม่รู้ว่า เป็นการสะสมของกิเลสต่อไปอีกทุกๆ ขณะ ซึ่งจะทำให้ไกลจากการรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าขาดการพิจารณาให้ตรงกับเหตุและผลจริงๆ แม้แต่ในเรื่องที่คิดว่า เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย

    ภิกษุสหายนั้นถูกพูดบ่อยๆ เข้า ก็เป็นผู้ประสงค์จะไป

    ทีแรกยังไม่ไป แต่ถูกชวนเข้าบ่อยๆ ในที่สุดก็ไป

    จำเดิมแต่นั้นจึงไปยังคยาสีสะ บริโภคแล้วมายังพระเวฬุวันต่อเมื่อเวลาสาย ภิกษุนั้นไม่อาจปกปิดไว้ได้ตลอดไป ไม่ช้านักข่าวก็ปรากฏว่า ภิกษุนั้นไปคยาสีสะบริโภคภัตที่เขาอุปัฏฐากท่านพระเทวทัต

    ลำดับนั้น สหายทั้งหลายพากันถามภิกษุนั้นว่า

    ผู้มีอายุ ได้ยินว่า ท่านบริโภคภัตที่เขาอุปัฏฐากท่านพระเทวทัตจริงหรือ

    ภิกษุนั้นกล่าวว่า ใครกล่าวอย่างนั้น

    สหายเหล่านั้นกล่าวว่า คนโน้น และคนโน้นกล่าว

    ภิกษุนั้นกล่าวว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ผมไปยังคยาสีสะบริโภคจริง แต่ท่าน พระเทวทัตไม่ได้ให้ภัตแก่ผม คนอื่นๆ ให้

    เป็นการคิดที่ไม่ถูกต้อง เพียงเล็กๆ น้อยๆ คิดว่า เมื่อไม่รับจากท่าน พระเทวทัตโดยตรง รับจากคนอื่นก็เป็นการสมควร แต่ขอให้เห็นโทษภัยแม้แต่การไป สู่สำนักของท่านพระเทวทัตเพียงเพื่อบริโภคภัตตาหาร ซึ่งภิกษุรูปนั้นไม่เห็นว่าเป็นโทษ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เป็นผู้พิจารณาธรรมให้เที่ยงตรงจริงๆ การอบรมเจริญปัญญา ให้ตรงจริงๆ ก็เป็นการยาก

    ภิกษุผู้สหายกล่าวว่า

    ผู้มีอายุ ท่านพระเทวทัตเป็นเสี้ยนหนามต่อพระพุทธเจ้า เป็นผู้ทุศีล ยัง พระเจ้าอชาตศัตรูให้เลื่อมใส แล้วยังลาภสักการะให้เกิดแก่ตนโดยไม่ชอบธรรม ท่านบวชในศาสนาอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์เห็นปานนี้ แล้วบริโภคโภชนะอันเกิดขึ้นแก่ท่านพระเทวทัตโดยไม่ชอบธรรมเลย มาเถอะ เราทั้งหลายจักนำท่านไปยังสำนักพระศาสดา

    แล้วพาภิกษุนั้นมายังโรงธรรมสภา

    ไม่ทราบว่าในแต่ละภพแต่ละชาติ แต่ละท่านจะมีการพิจารณากาย วาจาของตนเองและของบุคคลอื่นละเอียดลึกสักแค่ไหน เพราะว่าเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องที่ ลึกมาก ถ้าไม่มีการกระทำทางกายหรือวาจาแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ออกมา ก็ยากที่จะสังเกตได้ว่า ใครเป็นผู้ที่นอบน้อมบูชาพระผู้มีพระภาคอย่างจริงใจ เพราะในขณะนั้น มีพระภิกษุเป็นอันมาก แม้ท่านพระเทวทัตด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่สังเกตจากกาย วาจาให้ลึกลงไปจริงๆ ย่อมไม่สามารถจะรู้ได้

    เมื่อพระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรภิกษุนั้น ก็ได้ตรัสถามว่า

    ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพาภิกษุนี้ผู้ไม่ปรารถนา มาแล้วหรือ

    ไม่ปรารถนาในที่นี้ ลึกลงไป คือ ไม่ปรารถนาเป็นผู้ตรงต่อกุศลธรรมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้บวชในสำนักของพระองค์ แล้วบริโภคโภชนะอันเกิดขึ้นแก่ท่านพระเทวทัตโดยไม่ชอบธรรม

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ดูกร ภิกษุ ได้ยินว่า เธอบริโภคโภชนะอันเกิดแก่พระเทวทัตโดยไม่ชอบธรรมจริงหรือ

    ภิกษุนั้นกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระเทวทัตไม่ได้ให้ภัตแก่ข้าพระองค์ คนอื่นๆ ให้แก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์จึงบริโภคภัตนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ภิกษุ เธออย่ากระทำการหลีกเลี่ยงในเรื่องนี้ พระเทวทัตเป็นผู้ไม่มีอาจาระ เป็นผู้ทุศีล เธอบวชในศาสนานี้ แล้วคบหาศาสนาของเราอยู่นั่นแล ยังบริโภคภัตของพระเทวทัตได้อย่างไรเล่า เธอมีปกติคบหาอยู่แม้เป็นนิตยกาล ก็ยังคบหาพวกคนที่เห็นแล้วๆ

    คือ เห็นแล้วว่า เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับพระผู้มีพระภาค

    เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้แล้ว ได้กล่าวถึงการสะสมในอดีตชาติของภิกษุรูปนั้นเพราะฉะนั้น น่าจะพิจารณาสังเกตชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละชาติจริงๆ โดยละเอียด และเป็นผู้ต้องตรงต่อกุศลธรรม

    การเป็นผู้มีอธิษฐานบารมี คือ ความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศลเพื่อดับกิเลส ต้องมีสัจจบารมี คือ ความเป็นผู้ที่ตรงและจริงต่อความตั้งใจนั้นด้วย

    ขอกล่าวถึงข้อความใน ขุททกนิกาย เอกนิบาตชาดก อิตถีวรรค อรรถกถา วิสวันตชาดกที่ ๙ เป็นเรื่องของท่านพระสารีบุตร ที่แสดงความเป็นผู้ตรงต่อความตั้งใจคือสัจจะของท่าน อันเนื่องมาจากความสลดใจของท่านเกี่ยวกับอาหาร

    ข้อความมีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภท่าน พระสารีบุตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ธิรัตถุ ตัง วิสัง วันตัง ดังนี้

    ได้ยินว่า ในคราวที่ท่านพระสารีบุตรเถระขบฉันของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้ง พวกมนุษย์พากันนำของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งเป็นจำนวนมากมาสู่วิหารเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ ของที่เหลือจากที่ภิกษุสงฆ์รับเอาไว้ยังมีมาก แต่พวกมนุษย์พากันพูดว่า พระคุณเจ้าทั้งหลายโปรดรับไว้ เพื่อภิกษุที่ไปในบ้านด้วยเถิด

    คือ ภิกษุบางรูปไม่อยู่ในที่นั้น ท่านออกไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาตบ้าง

    ขณะนั้น ภิกษุหนุ่มซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของท่านพระสารีบุตรไปในบ้าน พวกภิกษุก็รับส่วนของเธอไว้ แต่ว่าเมื่อภิกษุนั้นยังไม่กลับ และเป็นเวลาสายมากแล้ว ภิกษุทั้งหลายก็ถวายของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้งนั้นแด่ท่านพระสารีบุตร เมื่อท่าน พระสารีบุตรฉันแล้ว ภิกษุหนุ่มรูปนั้นจึงได้ไปถึง

    ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะภิกษุรูปนั้นว่า

    ผู้มีอายุ ฉันบริโภคของเคี้ยวที่เก็บไว้เพื่อเธอหมดแล้ว

    ภิกษุนั้นกล่าวว่า

    ข้าแต่พระคุณเจ้า ธรรมดาของอร่อย ใครจะไม่ชอบเล่า ขอรับ

    ความสลดใจเกิดขึ้นแก่พระมหาเถระเจ้า ท่านจึงอธิษฐานไว้ว่า ตั้งแต่บัดนี้ไป จักไม่ฉันของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้ง

    ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาเหตุการณ์ในครั้งนั้น ถ้าท่านเป็นภิกษุรูปนั้นท่านจะรู้สึกอย่างไร และจะกล่าวคำอย่างนั้นกับท่านพระสารีบุตรไหม หรือท่านจะรู้สึกอย่างไร แม้ท่านไม่ใช่ภิกษุรูปนั้น แต่ได้ยินภิกษุรูปนั้นกล่าวกับท่านพระสารีบุตรอย่างนั้น ซึ่งแสดงถึงสภาพของจิตที่ขาดความเคารพ เป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศลธรรม จึงสามารถกล่าวคำอย่างนั้นต่อท่านพระสารีบุตรได้ และเมื่อท่านพระสารีบุตรได้ยิน ท่านก็รู้ซึ้งถึงสภาพของอกุศลจิตของคนที่กล่าวคำอย่างนั้น ทำให้ท่านเกิดความสลดใจ และไม่อยากให้บุคคลที่ยังมีกิเลสมากอย่างนั้นเกิดอกุศลต่อๆ ไปอีก ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงอธิษฐานไม่ฉันของเคี้ยวที่ทำด้วยแป้ง

    ข่าวว่า ตั้งแต่บัดนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระเจ้าไม่เคยฉันอาหารที่ชื่อว่า ของเคี้ยวทำด้วยแป้งเลย ความที่ท่านไม่ฉันของเคี้ยวทำด้วยแป้งเกิดแพร่หลายไปในหมู่ภิกษุ ภิกษุทั้งหลายนั่งในธรรมสภาพูดกันถึงเรื่องนั้น

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสถามว่า

    ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรเล่า

    เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรแม้จะเสียชีวิต ก็ไม่ยอมรับสิ่งที่ตนทิ้งเสียครั้งหนึ่งอีกทีเดียว

    แล้วได้ตรัสเรื่องในอดีตชาติของท่านพระสารีบุตร

    ท่านได้สะสมที่จะเป็นผู้มีสัจจบารมี ตรงกับความตั้งใจมั่นของท่าน

    เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าพิจารณาโดยรอบคอบจริงๆ กับผู้ที่สามารถพิจารณารู้ว่าตนเองมีอกุศลมากเท่าไร จะทำให้ไม่ประมาทจริงๆ เพราะว่าเพียงประมาทนิดเดียว การพิจารณาสภาพธรรมไม่ตรงตามเหตุและผล จะเป็นเหตุให้ห่างไกลต่อการเป็นผู้ตรงต่อข้อปฏิบัติที่ถูกต้องในการที่จะขัดเกลากิเลส

    ในคราวก่อน ได้กล่าวถึงเรื่องการอุทิศส่วนกุศล ซึ่งได้กล่าวว่า กุศลทุกประเภทที่ทุกท่านกระทำแล้ว สามารถอุทิศให้บุคคลอื่นอนุโมทนาได้ ไม่ว่าจะเป็นกุศลที่เป็นไปในทาน หรือในศีล ในการฟังธรรม และการแสดงธรรม ซึ่งมีท่านผู้ฟังได้ไปขอให้ดิฉันอุทิศส่วนกุศลในการแสดงธรรมให้ท่านอนุโมทนา

    ที่จริงแล้ว ตามปกติดิฉันก็ได้อุทิศส่วนกุศลในการแสดงธรรม เวลาที่กล่าวบูชาคุณพระรัตนตรัยหลังจากการบรรยาย และสำหรับท่านผู้ฟังเอง ก็ควรอุทิศส่วนกุศล ในการฟังธรรมของท่านให้ผู้อื่นอนุโมทนาด้วย

    ท่านที่ได้ไปขอให้ดิฉันอุทิศส่วนกุศลในการแสดงธรรมให้ท่านอนุโมทนา ท่านได้อ่านจาก พระธัมมปทัฏกถา อรรถกถา ตัณหาวรรควรรณนา เรื่องท้าวสักกะเทวราช ซึ่งมีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ท้าวสักกเทวราช ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า สัพพทานัง เป็นต้น

    เรื่องมีว่า ในสมัยหนึ่ง เทวดาในดาวดึงส์เทวโลกประชุมกันแล้ว ตั้งปัญหาขึ้น ๔ ข้อว่า บรรดาทานทั้งหลาย ทานชนิดไหนหนอแลบัณฑิตกล่าวว่าเยี่ยม บรรดา รสทั้งหลาย รสชนิดไหนบัณฑิตกล่าวว่ายอด บรรดาความยินดีทั้งหลาย ความยินดีชนิดไหนบัณฑิตกล่าวว่าเลิศ ความสิ้นไปแห่งตัณหาแล บัณฑิตกล่าวว่าประเสริฐที่สุด เพราะเหตุไร

    ทุกท่านทำทาน ควรที่จะได้รู้ว่า ทานชนิดไหนบัณฑิตกล่าวว่าเยี่ยม ทุกท่านบริโภครส ก็จะได้รู้ว่ารสชนิดไหนบัณฑิตกล่าวว่ายอด ทุกท่านมีความยินดี วันหนึ่งๆ ยินดีดีใจในแต่ละเรื่อง ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง แต่ใน บรรดาความยินดีทั้งหลาย ความยินดีชนิดไหนบัณฑิตกล่าวว่าเลิศ ความสิ้นไปแห่งตัณหาแล บัณฑิตกล่าวว่าประเสริฐที่สุดเพราะเหตุไร

    ทุกคนไม่อยากจะหมดโลภะ แต่ ความสิ้นไปแห่งตัณหาแล บัณฑิตกล่าวว่า ประเสริฐที่สุด

    ทุกท่านยังต้องการมีโลภะ แต่ควรรู้ว่า ถ้าหมดโลภะได้ประเสริฐที่สุด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่หมด แต่ขอให้รู้ความจริงว่า ถ้าหมดได้ประเสริฐที่สุด

    เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการเห็นโทษของโลภะ และเห็นประโยชน์ของธรรมที่ดับโลภะ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาสามารถดับโลภะได้จริงๆ

    เมื่อเทวดาในชั้นดาวดึงส์ทั้งหลายไม่อาจวินิจฉัยปัญหานี้ได้ ก็ได้ประชุมกัน แล้วได้ไปสำนักของท้าวจาตุมหาราชิกาทั้ง ๔ ท้าวจาตุมหาราชิกาทั้ง ๔ ก็ได้ให้เทวดาไปทูลถามท้าวสักกะ เพราะว่าท่านเองไม่สามารถอธิบายอรรถของปัญหาธรรม ๔ ข้อนั้น

    ท้าวสักกะทรงทราบว่า ปัญหานี้คนอื่นย่อมไม่รู้เนื้อความ เพราะเป็นวิสัยของพระผู้มีพระภาค จึงพาเทวดาเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระวิหารเชตวัน ในเวลากลางคืน และได้กราบทูลถามปัญหานั้นต่อพระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดีละ มหาบพิตร ตถาคตบำเพ็ญบารมี ๓๐ ทัศ บริจาคมหาบริจาค ๕ คือ บริจาคอวัยวะ ๑ บริจาคทรัพย์ ๑ บริจาคบุตร ๑ บริจาคภรรยา ๑ บริจาคชีวิต ๑ แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็เพื่อตัดความสงสัยของชนผู้เช่นพระองค์นี่แหละ ขอพระองค์จงทรงสดับปัญหาที่พระองค์ถามแล้วเถิด

    บรรดาทานทุกชนิด ธรรมทานเป็นเยี่ยม บรรดารสทุกชนิด รสแห่งพระธรรมเป็นยอด บรรดาความยินดีทุกชนิด ความยินดีในธรรมประเสริฐ ส่วนความสิ้นไปแห่งตัณหาประเสริฐที่สุดแท้ เพราะความเป็นเหตุให้สัตว์บรรลุพระอรหัต ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

    ธรรมทานย่อมชนะทานทั้งปวง รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๐ ตอนที่ ๑๔๙๑ – ๑๕๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564