แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1451


    ครั้งที่ ๑๔๕๑


    สาระสำคัญ

    อรรถสาลินี - แสดงลักษณะของรูปายตนะ

    ลักษณะของโสตวิญญาณ

    พระผู้มีพระภาคตรัสอายตนะ ๑๒ โดยความเป็นทวาร ๖

    ทรงแสดงจักขายตนะและโสตายตนะก่อน เพราะมีอุปการะมาก

    ธัมมารมณ์ รู้ได้เฉพาะมโนทวารวิถีเท่านั้น


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘


    ข้อความใน อัฏฐสาลีนี แสดงลักษณะของรูปายตนะ คือ รูปที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ว่า

    ชื่อว่าสนิทัสสนะ เพราะเป็นไปกับนิทัสสนะ คือ ภาวะที่จักษุจะพึงเห็นได้ ชื่อว่าสัปปฏิฆะ เพราะเป็นไปกับปฏิฆะ คือ การกระทบ

    เห็นได้และกระทบได้ มีรูปเดียว คือ รูปายตนะ หรือรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา รูปอื่นทั้งหมดเป็นอนิทัสสนะ เพราะว่าไม่มีนิทัสสนะ คือ ภาวะที่จักษุจะพึงเห็นได้ คือ มองไม่เห็น

    เพราะฉะนั้น รูปทางตาที่เห็นทำให้ยุ่งมาก เพราะไม่รู้ความจริงของรูปที่เป็นเพียงสิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทและปรากฏ คนส่วนใหญ่จะบอกว่า เมื่อเห็น ก็รู้ทันทีว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ไม่สามารถแยกขาดสภาพที่กำลังปรากฏทางตาชั่วขณะ ที่เห็นและภายหลังจึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอะไรออกได้ แต่ก็ควรจะคิดว่า ตอนที่เป็นเด็กเล็กๆ เวลาเห็นก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็ยังมีได้ ไม่ใช่ว่ามีไม่ได้

    และถ้าได้อบรมเจริญปัญญาจริงๆ ย่อมสามารถรู้ว่า ในขณะที่เพียงเห็นและ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา นั่นไม่ใช่ขณะที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ซึ่งเป็นการรู้ทาง มโนทวารวิถี

    บางท่านบอกว่า ต้องทำสมาธิก่อนจึงจะพิจารณานามธรรมและรูปธรรมได้ชัดเจน คือ ท่านเข้าใจว่า จะต้องมีจิตที่ตั้งมั่นคงเป็นสมาธิรู้อารมณ์เดียว เมื่อไม่มี สิ่งอื่นเลย จะทำให้สามารถพิจารณาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ชัดเจนกว่าขณะที่ไม่เป็นสมาธิ

    แต่สภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ จะให้สมาธิเกิดก่อนและรู้สภาพของเห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้ได้อย่างไร จะทำสมาธิแบบไหนที่จะทำให้รู้ว่า เห็นที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน จะใช้สมาธิอย่างไหน หรือว่าจะทำสมาธิ แบบไหนจึงจะรู้ได้ และถ้าต้องอาศัยสมาธิ ก็ต้องเปลี่ยนสติปัฏฐานทั้งหมดเป็น สมาธิปัฏฐาน

    นี่คือความต่างกัน เปลี่ยนไม่ได้เลย เพราะว่าไม่มีการเจริญสมาธิ หรือจะทำสมาธิแบบอื่นใดทั้งสิ้นที่จะทำให้รู้ว่า ที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นเพียงสภาพรู้อย่างหนึ่ง นอกจากสติจะระลึกได้ในขณะนี้เองและน้อมศึกษา คือ โน้มไปที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นอาการรู้อย่างหนึ่ง ไม่ใช่หลับสนิท เพราะว่าเห็น เพราะฉะนั้น ที่เห็น เป็นอาการรู้ เป็นสภาพรู้ทางตา อาศัยจักขุปสาท

    ต้องพิจารณาอย่างนี้เนืองๆ บ่อยๆ จึงจะรู้ว่า ธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้ ในขณะที่กำลังเห็น คือ อย่างนี้เอง หรือในขณะที่ได้ยินก็เหมือนกัน จะไปทำสมาธิแบบไหนอย่างไรที่จะให้รู้ว่า ในขณะที่เสียงปรากฏนั้นมีสภาพรู้ มีธาตุรู้ที่กำลังได้ยินเสียง จะทำสมาธิอย่างไรที่จะรู้อย่างนี้ นอกจากสติจะระลึกบ่อยๆ ว่า ในขณะที่เสียงปรากฏ ไม่ใช่ในขณะที่หลับ ไม่ใช่ในขณะที่ตาย เมื่อเสียงปรากฏแสดงว่า มีสภาพรู้เสียง มีธาตุรู้เสียง ที่กำลังได้ยินเสียงในขณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยสติ การระลึกได้ ไม่ใช่อาศัยสมาธิ

    ถ้าใครยังคิดว่าต้องทำสมาธิก่อน ถามจริงๆ ว่า สมาธิที่จะทำนั้น ทำอย่างไร ที่จะให้รู้ได้ว่า เห็นขณะนี้เป็นสภาพรู้ หรือว่าได้ยินในขณะนี้เป็นสภาพรู้

    จักขุวิญญาณเกิดได้กี่ทวาร ทวารเดียว

    รูปารมณ์รู้ได้กี่ทวาร ๒ ทวาร

    สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมได้โดยไม่ลืม มิฉะนั้นแล้ว อาจจะลืมได้ ที่ไม่ลืม คือ รู้ว่าจักขุวิญญาณเกิดได้ทางทวารเดียว คือ ทางจักขุทวาร จักขุทวารคือจักขุปสาทนั่นเอง เป็นทางให้จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กระทบกับจักขุปสาท

    ถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่มีหนทางที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏได้ เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้เกิดได้ทางทวารเดียว คือ ทางจักขุทวารเท่านั้น แต่รูปารมณ์ปรากฏได้ ๒ ทวาร คือ ปรากฏทางจักขุทวารแล้วก็ยังปรากฏ ทางมโนทวารวิถีด้วย เสียงปรากฏทางโสตทวารวิถีแล้วดับไป ก็ยังปรากฏทาง มโนทวารวิถีด้วย

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเห็นขณะใด การได้ยินขณะใด ทางจักขุทวารวิถีก็ดี หรือทางโสตทวารวิถีก็ดี ดับไปแล้ว ทางมโนทวารวิถีจะเกิดต่อรู้อารมณ์ที่ทางปัญจทวารหนึ่งทวารใดรู้เสมอไป เป็นปกติ ทำให้มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน ทั้งของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือของเสียงที่ปรากฏทางหู ทำให้เข้าใจความหมายต่างๆ ได้ด้วยสัญญา ความจำ ทำให้เป็นเรื่องเป็นราว เป็นทุกข์ หรือว่าเป็นสุขมากมาย ก็โดยอาศัยทางใจที่รู้ในความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั่นเอง

    . รูปารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวาร กับรูปารมณ์ที่ปรากฏทางมโนทวาร มีอะไรต่างกันบ้างไหม

    สุ. ไม่ต่างกันเลย ต่างกันที่ทวารเท่านั้นเอง อุปมาเหมือนเวลาที่นกบินไปเกาะกิ่งไม้ เงาของนกก็ทาบไปที่กิ่งไม้ทันทีที่นกเกาะที่กิ่งไม้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต่างกัน เช่นในขณะนี้ แยกไม่ออก และที่จะรู้ว่าไม่ต่างกัน คือ ขณะนี้ทางจักขุทวารวิถี มีรูปารมณ์ปรากฏ ดับไป มีภวังคจิตคั่น และมโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรู้รูปารมณ์ต่อ เหมือนกันเลย ไม่มีความต่างกัน เพราะการที่รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาททำให้เกิดจักขุทวารวิถีจิต ดับไปแล้วก็จริง ภวังคจิตเกิดคั่น แต่การเห็นทางจักขุทวารวิถีนั้นเองเป็นปัจจัยทำให้ภวังคจลนะไหว ภวังคุปัจเฉทะเกิด มโนทวาราวัชชนจิตรำพึงถึง รูปารมณ์ที่เพิ่งดับไป และชวนวิถีทางมโนทวารก็เกิดขึ้นรู้รูปารมณ์นั้นต่อ

    สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นวิบากจิต ๑๕ ดวง กิริยาจิต ๓ ดวง ซึ่งวิบากจิต ๑๕ ดวง เป็นอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง กุศลวิบากจิต ๘ ดวง

    สำหรับอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ได้แก่

    อุเปกขาสหคตัง จักขุวิญญาณัง คือ จิตเห็นที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑

    อุเปกขาสหคตัง โสตวิญญาณัง คือ จิตได้ยินที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑

    อุเปกขาสหคตัง ฆานวิญญาณัง คือ จิตได้กลิ่นที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑

    อุเปกขาสหคตัง ชิวหาวิญญาณัง คือ จิตลิ้มรสที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑

    ทุกขสหคตัง กายวิญญาณัง คือ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายที่เกิดร่วมกับทุกขเวทนา เพราะเป็นผลของอกุศลกรรม ๑

    อุเปกขาสหคตัง สัมปฏิจฉันนจิตตัง คือ สัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดร่วมกับ อุเบกขาเวทนา ๑

    อุเปกขาสหคตัง สันตีรณจิตตัง คือ สันตีรณจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑

    นี่เป็นผลของอกุศลกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปาณาติบาต อทินนาทาน หรืออกุศลกรรมใดๆ ที่ได้กระทำแล้ว จะเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง ไม่มีมากกว่านั้นเลย

    สำหรับทางฝ่ายกุศลวิบากมี ๘ ดวง ได้แก่

    จักขุวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑

    โสตวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑

    ฆานวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑

    ชิวหาวิญญาณเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑

    กายวิญญาณเกิดร่วมกับสุขเวทนา เพราะเป็นผลของกุศลกรรม ๑

    สัมปฏิจฉันนจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑

    สันตีรณจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๑

    และเพิ่มสันตีรณจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาอีก ๑

    รวมเป็นกุศลวิบากจิต ๘ ดวง เป็นอเหตุกจิตซึ่งไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ เกิดร่วมด้วย

    สำหรับจักขุวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบาก จะเห็นสิ่งที่ไม่ดีทางตา ถ้าเป็น กุศลวิบาก จะเห็นสิ่งที่ดีทางตา

    สำหรับโสตวิญญาณ เป็นสภาพที่ได้ยินเสียง รู้เฉพาะเสียงที่กระทบกับ โสตปสาท

    ลักษณะของโสตวิญญาณ คือ

    มีการรู้เสียงเป็นต้นซึ่งอาศัยโสตะเป็นต้นเป็นลักษณะ หรือจะกล่าวว่า มีการรู้เสียงซึ่งอาศัยโสตะเป็นลักษณะ

    มีอารมณ์สักว่าเสียงเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    มีภาวะเผชิญเสียงคือรู้เสียงที่กระทบเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    มีความไปปราศแห่งกิริยามโนธาตุ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งมีเสียงเป็นอารมณ์เป็นปทัฏฐาน

    ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ย่อมหมายถึงว่าสัททรูปคือเสียงกระทบกับ โสตปสาทแล้ว ฉะนั้น เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับ โสตวิญญาณต้องเกิด จะไม่ให้โสตวิญญาณเกิดนั้น ไม่ได้เลย

    เมื่อเสียงกระทบกับโสตปสาทแล้ว ทุกครั้งที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดและ ดับไป โสตวิญญาณต้องเกิด

    ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี พระผู้มีพระภาคตรัสอายตนะ ๑๒ โดยความเป็นทวาร ๖ และโดยความเป็นอารมณ์แห่งวิญญาณ ๖

    โดยความเป็นทวาร ๖ ได้แก่ จักขวายตนะ ๑ โสตายตนะ ๑ ฆานายตนะ ๑ ชิวหายตนะ ๑ กายายตนะ ๑ มนายตนะ ๑

    โดยความเป็นอารมณ์แห่งวิญญาณ ๖ คือ รูปายตนะ สิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ สัททายตนะ เสียงที่ปรากฏทางหู ๑ คันธายตนะ กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ๑ รสายตนะ รสที่ปรากฏที่ลิ้น ๑ โผฏฐัพพายตนะ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่ปรากฏที่กายปสาท ๑ และธัมมายตนะ อารมณ์ที่จิตรู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น ๑

    สำหรับบรรดาอายตนะภายใน จักขวายตนะปรากฏ เพราะมีสนิทัสสนรูปและสัปปฏิฆรูปเป็นอารมณ์ จึงทรงแสดงเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นทรงแสดง โสตายตนะเป็นต้น ซึ่งมีอนิทัสสนรูป คือ รูปที่เห็นไม่ได้ และสัปปฏิฆรูปเป็นอารมณ์

    นี่คือการกล่าวถึงชีวิตประจำวัน อย่างเรื่องได้ยินกับเรื่องเสียง เป็นปกติธรรมดาจริงๆ เมื่อใดเสียงจึงปรากฏ ก็เมื่อมีอายตนะภายใน คือ โสตปสาทรูปซึ่งเป็น โสตายตนะ ฉะนั้น ถ้าใครไม่มีโสตปสาทรูป แม้มีเสียง ก็ไม่ได้ยิน สำหรับผู้นั้น เสียงไม่ปรากฏ

    อีกประการหนึ่ง บรรดาอายตนะภายใน ทรงแสดงจักขวายตนะและ โสตายตนะก่อน เพราะมีอุปการะมาก โดยที่เป็นเหตุแห่งทัสสนานุตริยะและ สวนานุตริยะ

    สำหรับทางหู มีความสำคัญโดยเป็นสวนานุตริยะ ทำให้มีการได้ยินได้ฟังสิ่งที่ประเสริฐสุด คือ พระธรรม

    แต่ถ้ามีแต่โสตปสาท ไม่มีเสียง ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เหมือนกับถ้ามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย แต่ไม่มีรูปกระทบตา ไม่มีเสียงกระทบหู ไม่มีกลิ่นกระทบจมูก ไม่มีรสกระทบลิ้น ไม่มีโผฏฐัพพะกระทบกาย ก็ไม่มีความหมายใดๆ ทั้งสิ้น แต่เพราะสภาพธรรมทั้งหลายไม่ได้มีแต่จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท แต่ยังมีธาตุซึ่งเป็นรูปธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งกระทบกับอายตนะแต่ละทาง ทำให้เกิดการประชุมกัน มีการรู้อารมณ์เกิดขึ้นแต่ละขณะจิตและดับไป

    ซึ่งถ้าพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีชื่อเลย อย่างการเห็น ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง การได้ยินก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง การได้กลิ่นก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เอาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนออก จะเห็นตามความเป็นจริงว่า แต่ละขณะนี้เป็นเพียงแต่ละธาตุ ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ กันเกิดขึ้นปรากฏ และ ดับไป

    สำหรับความสำคัญของโสตวิญญาณ คือ จิตที่ได้ยินเสียง มีมาก ถ้าโสตวิญญาณ คือ จิตได้ยิน ไม่เกิดสักขณะเดียว โลกนี้จะเงียบสักแค่ไหน ไม่ว่าเสียงอะไรทั้งนั้นไม่มีเลย ทางตาเพียงเห็นเป็นสีสันวัณณะต่างๆ มีสัญญาความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏ มีการหมายรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เป็นสัตว์ เป็นบุคคล มีการเคลื่อนไหว มีการแสดงอากัปกิริยา มีการเดิน มีการกระทำการงานต่างๆ แต่ ไม่มีการพูด ไม่มีเสียง โลกนี้จะเป็นอย่างไร คงจะเงียบมาก เพราะไม่มีแม้แต่เสียงแผ่วๆ เบาๆ ไม่ปรากฏเลย

    สำหรับผู้ที่ไม่มีโสตปสาท ให้คิดถึงสภาพของผู้ที่หูหนวก โดยเฉพาะตั้งแต่กำเนิด คือ เพราะปฏิสนธิจิตเป็นอุเปกขาสันตีรณกุศลวิบากที่กรรมอื่นตัดรอนทำให้โสตปสาทไม่เกิด สำหรับบุคคลนั้นเสียงไม่ปรากฏ ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการรับรู้เรื่องราวใดๆ ทางหูเลย ฉะนั้น บุคคลนั้นจึงไม่สามารถอบรมเจริญปัญญาจนสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะว่าไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมเพื่อจะได้เข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น เสียงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะโสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น และสำหรับผู้ที่เป็นมนุษย์ ก็มีความสามารถที่จะรู้ความสูงต่ำของเสียง มีสัญญาความจำในเสียง จนสามารถรู้ความหมายของเสียงต่างๆ และพิจารณาจนกระทั่งสติปัญญาเจริญขึ้น สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

    สำหรับโสตวิญญาณ มีเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง และเป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง

    โสตวิญญาณกุศลวิบาก เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาในขณะที่ได้ยินเสียงที่ น่าพอใจ ส่วนโสตวิญญาณอกุศลวิบากก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาในขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ขณะใดที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นโสตวิญญาณอกุศลวิบากจิตเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา และในขณะใดที่ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ก็ไม่หลงลืมสติ ระลึกลักษณะของเสียง หรือระลึกลักษณะของ สภาพที่ได้ยิน และรู้ว่าทั้ง ๒ อย่างเป็นธาตุที่ต่างกัน คือ เสียงมีลักษณะที่ปรากฏ ในขณะนี้เป็นเสียงที่ปรากฏ ปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้เสียง หรือได้ยินเสียง ซึ่งเป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น สภาพที่กำลังรู้เสียง ต้องไม่ใช่ลักษณะของเสียงที่กำลังปรากฏ ซึ่งขณะนั้นจะรู้ได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เป็นกุศลวิบากเกิดขึ้นได้ยินเสียงที่น่าพอใจ หรือเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอกุศลวิบาก เกิดขึ้นได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน ยังไม่กล่าวถึงสุข ทุกข์ โทมนัส โสมนัสใดๆ ที่เกิดหลังจากโสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียงและดับไป เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะต้องพิจารณาความสำคัญของโสตวิญญาณ ที่นำมาซึ่งโทมนัสหรือโสมนัสมากมาย เพราะว่าสุขทุกข์ใดๆ ที่เกิดขึ้น อาศัยทางตาได้ ทางหูได้ ทางจมูกได้ ทางลิ้นได้ ทางกายได้ แต่ทุกข์จริงๆ ซึ่งไม่เนื่องกับใจ ต้องอาศัยกายปสาท หรือกายวิญญาณเท่านั้น สำหรับโสมนัสเวทนาและโทมนัสเวทนาอาศัยเกิดได้หมด หลังจากเห็น หลังจากได้ยิน หลังจากได้กลิ่น หลังจากลิ้มรส หลังจากรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๖ ตอนที่ ๑๔๕๑ – ๑๔๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564