แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1441


    ครั้งที่ ๑๔๔๑


    สาระสำคัญ

    อส. ลักษณะของจักขุวิญญาณ

    ความต่างกันทางปัญจทวารกับทางมโนทวาร

    อส.จิตตุปปาทกัณฑ์ - ปัจจัยที่จะให้เกิดจิตเห็น

    ม.มู.มหาหัตถิปโทปมสูตร - แสดงเหตุให้เกิดจักขุวิญญาณ ๓ เหตุ


    สนทนาธรรมที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๘


    สำหรับลักษณะของจักขุวิญญาณ ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    จักขุสันนิสสิตรูปวิชานนลักขณัง มีการรู้รูปซึ่งอาศัยจักขุปสาทเป็นลักษณะ

    รูปมัตตารัมมณรสัง มีอารมณ์เพียงรูปเท่านั้นเป็นรสะ

    รูปาภิมุขภาวปัจจุปัฏฐานัง มีความมุ่งต่อรูปหรือมีภาวะเผชิญกับรูป เป็นปัจจุปัฏฐาน คือ อาการปรากฏ

    รูปารัมมณายะ กิริยามโนธาตุยา อปคมนปทัฏฐานัง มีการไปปราศแห่ง กิริยามโนธาตุ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นปทัฏฐาน

    ลักษณะของจักขุวิญญาณมีอย่างเดียว คือ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ มีการรู้รูปซึ่งอาศัยจักขุปสาทเป็นลักษณะ

    ถ้าพูดถึงลักษณะของจักขุวิญญาณ อย่าคิดว่า เราที่กำลังเห็น แต่ขอให้เป็นลักษณะของจักขุวิญญาณจริงๆ คือ สภาพรู้ ธาตุรู้ ที่กำลังเห็นเท่านั้น ไม่ใช่ใครเลย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน กำลังเป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะรู้รูป ที่ต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นลักษณะ มีอารมณ์เพียงรูปเท่านั้นเป็นรสะคือเป็นกิจ แสดงให้เห็นว่า จักขุวิญญาณรู้อารมณ์อื่นไม่ได้เลยนอกจากรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏ ซึ่งน่าจะพิจารณาว่า ขณะที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ นั้น ไม่ใช่ขณะที่ จักขุวิญญาณเห็น แต่ต้องเป็นจิตขณะอื่นหลังจากที่จักขุวิญญาณดับไปแล้ว เพราะว่าจักขุวิญญาณจะเห็นเพียงรูปเท่านั้น คือ หมายถึงเฉพาะรูปารมณ์ซึ่งเป็นเพียง สีสันวัณณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ซึ่งคนตาบอดไม่เห็น

    นี่เป็นการแยกจิตทางจักขุทวารที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏ ออกจากทางมโนทวาร ซึ่งรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร

    สำหรับปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดจักขุวิญญาณ คือ มีการไปปราศแห่งกิริยามโนธาตุ ซึ่งได้แก่ปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเองเป็นปทัฏฐาน ถ้าปัญจทวาราวัชชนจิตไม่เกิดต่อจากภวังคจิตและดับไป จักขุวิญญาณในขณะนี้จะเกิดไม่ได้เลย แม้ว่ามีจักขุปสาทก็ตาม ก็ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนและดับไป จึงจะเป็นเหตุใกล้ให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นได้

    . ที่ท่านอาจารย์อธิบายเมื่อกี้ ขณะที่เป็นจิตเห็น จะเห็นรูปที่คนตาบอดไม่เห็น ขณะที่รู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จะเป็นจิตทางมโนทวาร แต่ผมอ่านในหนังสือพบว่า มโนทวารที่มีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ก็มีอยู่ จะหมายความว่าอะไร

    สุ. หมายความว่า เวลาที่ปัญจทวารวิถีดับไปหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีต้องเกิดขึ้นรับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาคือรูปารมณ์ต่อจากทางปัญจทวารวิถีก่อน เป็นวาระที่ ๑ หลังจากนั้นเมื่อภวังค์เกิดคั่น มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดอีก ที่รู้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ

    . แต่มีขณะที่ยังไม่รู้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งเป็นมโนทวารวิถีแล้วก็มี คือ มโนทวารวิถีแรกๆ

    สุ. แน่นอน แต่เมื่อจะพูดให้เข้าใจ ซึ่งในขณะนี้เราไม่สามารถรู้ ความละเอียดถึงอย่างนั้นได้ เพียงแต่เริ่มที่จะแสดงให้เห็นว่า ความต่างกันของ ทางปัญจทวาร คือ เพียงแค่เห็นรูปารมณ์ ในขณะที่ทางมโนทวารรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะแม้จะรู้ว่าทางปัญจทวารเห็นเพียงสี และทางมโนทวารรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็ยังแยกไม่ได้ ใช่ไหม

    . ถ้าเราแยกได้ว่า ขณะใดถ้าไม่ได้มีอารมณ์เป็นปรมัตถ์ ขณะนั้นก็เข้าใจว่าเป็นมโนทวารวิถี เพราะว่าขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    สุ. ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ สามารถบอกได้ไหมว่า เมื่อไรเป็นปัญจทวารวิถี เมื่อไรเป็นมโนทวารวิถี

    . ต้องปัญญาเกิดจึงจะบอกได้

    สุ. แต่ในขณะนี้เองยังไม่สามารถที่จะบอกได้

    . ถ้าเราไม่มีปัญญาถึงขนาดที่จะแยกความละเอียดว่า มโนทวารวิถีที่มีปรมัตถ์อารมณ์ ต่างจากปัญจทวารวิถีที่มีปรมัตถ์อารมณ์ เราไม่สามารถแยก ๒ อย่างนี้ได้ แต่เราสามารถแยกได้อย่างหยาบๆ คือ ขณะใดที่มีอารมณ์เป็นปรมัตถ์อารมณ์ เราก็ทราบว่าขณะนั้น ...

    สุ. ก็ยังแยกไม่ออกอีก

    . แยกไม่ออก ถ้าจะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ต้องแยกขาดถึง ความละเอียดขนาดนั้น ใช่ไหม

    สุ. รู้ความต่างกันของทางปัญจทวารกับทางมโนทวาร

    . ผู้ใดที่มีญาณขั้นนี้แล้วจะทราบได้ไหมว่า มโนทวารวิถีที่มีอารมณ์เป็นปรมัตถอารมณ์ ต่างกับจักขุวิญญาณวิถีที่เป็นปัญจทวารวิถี

    สุ. ขณะใดที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ขณะนั้นสภาพธรรมจะไม่ปรากฏกับปัญญาที่ถึงขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณ ด้วยเหตุนี้วิปัสสนาญาณมีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดขึ้น ที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ก็ประจักษ์แจ้งช่วงขณะนั้นและ ดับไป เมื่อดับแล้วอวิชชาที่เคยเคยสะสมมามาก ความไม่รู้ที่เคยสะสมมามาก ลักษณะของโลภะบ้าง อกุศลธรรมอื่นๆ บ้างก็มี เป็นปัจจัยให้ปัญญาที่ไม่ถึงขั้นวิปัสสนาญาณเกิด

    นี่เป็นเหตุที่วิปัสสนาญาณไม่ได้เกิดมากและบ่อย แต่ขณะใดก็ตามที่ วิปัสสนาญาณเกิด ขณะนั้นเป็นปัญญาที่กำลังประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงทางมโนทวาร เมื่อเป็นทางมโนทวารก็ย่อมสามารถรู้ว่า ขณะใดเป็นการรู้อารมณ์ทางมโนทวาร

    . ปัญญาขั้นภาวนามยปัญญา จะวินิจฉัยตัวเองได้ไหม หรือต้องอาศัยปัญญาขั้นอื่นวินิจฉัยว่าปัญญาที่เกิดขณะนั้น …

    สุ. ปัญญาขั้นภาวนา ไม่ใช่อาศัยปัญญาขั้นอื่น เพราะถ้ายังเป็นปัญญา ขั้นฟัง หรือเป็นปัญญาขั้นจินตามยปัญญา หรือเป็นปัญญาขั้นที่เกิดพร้อมสติที่ กำลังศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณที่ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมทางมโนทวาร ขณะนั้นก็ต่างกันอยู่แล้วในตัว เพราะฉะนั้น เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดประจักษ์แจ้งจริงๆ ทางมโนทวาร ก็ไม่ต้องอาศัยปัญญาขั้นอื่นเทียบเคียง เพราะว่าเป็นขณะที่กำลังประจักษ์แจ้งลักษณะสภาพธรรมทางมโนทวาร อยู่แล้ว ก็ไม่มีความสงสัยทางมโนทวาร

    ถ. ที่เทียบเคียงหมายความว่า เทียบเคียงกับบัญญัติที่พระพุทธองค์ ทรงแสดงไว้ แต่ไม่ได้เทียบเคียงในลักษณะของปรมัตถธรรม คือ ขณะใดที่ปัญญา ขั้นภาวนาเกิด ขณะนั้นต้องประจักษ์ลักษณะของปรมัตถธรรมแจ่มแจ้งโดยไม่ต้องอาศัยปัญญาขั้นอื่น แต่ขณะที่ปัญญาขั้นภาวนาเกิดขึ้น ปัญญาขั้นภาวนาก็ต้องดับไป และในขณะที่ปัญญาขั้นภาวนาเกิด จะมีอารมณ์เป็นปรมัตถอารมณ์ ใช่ไหม และขณะนั้นจะวินิจฉัยตัวเองได้ไหม หรือว่าต้องอาศัยปัญญาขั้นนั้นดับไปแล้ว …

    สุ. ถ้าประจักษ์แจ้งแล้ว ไม่ใช่การรู้จนกระทั่งไม่ต้องมานั่งวินิจฉัยหรือ ในเมื่อกำลังประจักษ์แจ้ง

    . คือ วินิจฉัยกับบัญญัติที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ วินิจฉัยกับปริยัติ

    สุ. หมายความว่า คิดว่าจิตขณะนั้นชื่ออะไรอย่างนั้นหรือ หรือ สภาพของจิตในขณะเมื่อกี้เป็นจิตดวงไหนในจิต ๘๙ ดวง อย่างนั้นหรือ

    ความคิดนึก เป็นสิ่งซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ แม้แต่วิปัสสนาญาณก็ไม่ได้ห้าม การคิดในขณะนั้น เพราะว่าจิตเกิดคิดทางมโนทวาร ซึ่งทวารอื่นไม่เกิดปะปนเลย

    ในขณะนี้ถ้าใครกำลังคิด ก็ยังเห็น ใช่ไหม และยังได้ยิน แสดงว่า ทางมโนทวารที่คิดยังมีทวารอื่นปะปนอยู่ แต่เวลาที่วิปัสสนาญาณเกิดคิดในขณะนั้น ไม่มีทวารอื่นปะปนเลย เพราะฉะนั้น จึงรู้ว่าสภาพคิดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

    . แต่ขณะคิดนั้น อารมณ์ไม่ได้เป็นปรมัตถ์

    สุ. ขณะนั้นสติต้องระลึกที่ลักษณะของคิด และสภาพนั้นปรากฏโดย ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งแสดงว่าเป็นปัญญาพร้อมสติอยู่แล้วในช่วงที่เป็นวิปัสสนาญาณที่จะ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแจ่มแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

    เวลาที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณและเกิดคิด ไม่ค่อยอยากจะคิด ใช่ไหม อยากจะให้สติระลึกเฉพาะลักษณะของรูป หรือลักษณะของนาม ใช่ไหม เพราะบางคนบอกว่า เวลาสติระลึกลักษณะของรูปนิดหนึ่งก็คิดแล้วว่า รูปปรากฏทางกาย หรือเย็นเป็นรูป รู้เย็นเป็นนาม ก็เดือดร้อนกับความคิด เพราะว่ายังไม่ได้ถึงขั้นของปัญญาที่รู้ว่า ความคิดทางมโนทวารซึ่งไม่มีทวารอื่นเกี่ยวข้องเลยนั้น เป็นลักษณะของสภาพที่ เป็นอนัตตา ที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นแต่เพียงธาตุรู้ เป็นอาการรู้เท่านั้น

    วิปัสสนาญาณจะไม่หวั่นไหว ทันทีที่หวั่นไหวไม่ใช่วิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้น คนที่ยังไม่ได้อบรมปัญญาจนกระทั่งเจริญขึ้นจริงๆ ชินกับลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมจริงๆ หวังแต่เพียงผล จะหวั่นไหวอยู่เสมอ คิดก็หวั่นไหวว่า คิดอีกแล้ว แสดงให้เห็นว่า ยังไม่ได้ระลึกลักษณะสภาพที่คิดจนกระทั่งรู้ว่าลักษณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น

    . ขณะที่อาจารย์พูดว่า ขณะนั้นก็คิดอย่างนั้นอีกแล้ว ก็เป็นอีก ลักษณะหนึ่งแล้ว ใช่ไหม เพราะว่าเลยมาแล้ว

    สุ. ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง

    . ซึ่งเกิดตามมาใหม่ เช่น ในขณะที่เราคิดว่า ก็คิดอย่างนั้นอีกแล้ว

    สุ. ก็เป็นแต่เพียงสภาพคิด ให้เข้าใจว่า ขณะใดที่คิดก็คือนามธรรม ชนิดหนึ่งที่คิด ถ้าไปโยงว่าตามมาหรืออะไรมา ก็เป็นเรื่องเป็นราว เป็นการผูกไว้ด้วยความเป็นตัวตน แต่ถ้ารู้ว่า จะคิดอะไร คิดเมื่อไร ก็คือคิดเท่านั้นแหละ จะคิด เรื่องอะไร ก็คือคิดเท่านั้นแหละ ก็ไม่เดือดร้อนว่าตามมาอีกแล้ว ใช่ไหม

    . ขณะที่คิดว่าตามมาอีกแล้ว ก็เลยมากี่ขณะแล้วก็ไม่ทราบ เลยมามากมายแล้ว

    สุ. เป็นการยึดมั่นในตัวตนที่ยังคิดว่า ความคิดตามมา ไม่ใช่เป็นแต่เพียง คิดอะไรก็คือคิดเท่านั้นเอง กลัวความคิด ใช่ไหม ไม่อยากคิด เพราะว่าคิดแล้ว ไม่สบายใจบ้าง นี่ก็มีหลายอย่างซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเหนียวแน่น หนาแน่นมากจริงๆ

    สำหรับจักขุวิญญาณเป็นอเหตุกวิบากจิต คือ จิตซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุ แม้ว่ามีกรรมเป็นเหตุให้เกิด เพราะว่าวิบากจิตทั้งหมดต้องมีกรรมเป็นปัจจัย แต่ต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายอย่าง ไม่ใช่อาศัยกรรมอย่างเดียวเท่านั้นเป็นปัจจัย

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    ที่ชื่อว่าจักขุวิญญาณนั้น เพราะอรรถว่าเป็นวิญญาณแห่งจักขุ

    คือ ขาดจักขุปสาทไม่ได้

    ที่มีเหตุสำเร็จแล้ว

    ต้องพร้อมด้วยเหตุที่สำเร็จ คือ ต้องมีจักขุปสาทรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยที่ยังไม่ดับไป พร้อมทั้งปัจจัยอื่นๆ ด้วย แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน แท้ที่จริงแล้วต้องมีเหตุปัจจัยเฉพาะของสิ่งนั้นจริงๆ มิฉะนั้นแล้ว การเห็นในขณะนี้ก็เกิดไม่ได้

    สำหรับปัจจัยให้เกิดจิตเห็น ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีว่า

    อสัมภินนัตตา จักขุสสะ เพราะจักขุประสาทยังไม่แตกดับ

    อาปาถคัตตา รูปานัง เพราะรูปมาสู่คลอง คือ กระทบกับจักขุปสาท

    อาโลกสันนิสสิตัง อาศัยแสงสว่าง

    มนสิการเหตุกัง อาศัยมนสิการ (คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต) เป็นเหตุ

    เพราะฉะนั้น ปทัฏฐาน เหตุใกล้ที่จะให้เกิดจักขุวิญญาณ คือ มนสิการเหตุกัง ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งต้องเกิดก่อน

    ข้อความในอรรถกถาส่วนมากจะแสดงเหตุของจักขุวิญญาณไว้ ๔ อย่าง แต่ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงเหตุให้เกิดจักขุวิญญาณเพียง ๓ อย่าง

    สำหรับปัจจัยที่จะให้เกิดจักขุวิญญาณ ๔ อย่าง คือ

    เพราะจักขุปสาทยังไม่แตกดับ

    ข้อความในบางแห่ง ในคำแปลของอรรถกถาบางเล่ม บางฉบับจะแปลว่า เพราะจักขุวิญญาณไม่ปะปนกัน และคำอธิบายมีว่า จักขุของคนตายย่อมเป็นอันปะปนกัน

    หมายความว่า เมื่อตายแล้วมีลูกตาจริง แต่ไม่มีจักขุปสาท เป็นเพียงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมปนเปกันไปเท่านั้นเอง ซึ่งไม่ใช่จักขุปสาทรูป เพราะว่า จักขุปสาทรูปหรือรูปทั้งหมดที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานจะดับพร้อมกับจุติจิต

    สำหรับจักษุของคนมีชีวิตที่ดับไปแล้วก็ดี หรือว่าถูกดี หรือเสมหะ หรือโลหิตพัวพันแล้วบ้าง ก็ไม่สามารถจะเป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ชื่อว่าย่อมเป็นอันปะปนกัน

    นี่แปลตามรูปศัพท์ ซึ่งบางครั้งจะแปลว่า เพราะจักขุปสาทยังไม่แตกดับ และบางแห่งจะแปลว่า เพราะจักขุปสาทไม่ปะปนกัน เพราะถ้ามีโรคตาชนิดหนึ่ง ชนิดใดซึ่งเกิดเพราะดีบ้าง หรือเสมหะบ้าง หรือโลหิตบ้างพัวพัน ย่อมทำให้ตานั้น มืดมัว ไม่เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิด เพราะว่าปะปนด้วยรูปอื่น นี่สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่สำหรับคนที่ตายแล้ว ชื่อว่ารูปนั้นปะปนกับรูปอื่นๆ ทั้งหมด เพราะว่า จักขุปสาทไม่ได้เกิด มีแต่เพียงรูปของลูกตาเท่านั้น ซึ่งเป็นแต่เพียงธาตุดินน้ำไฟลม แต่โดยศัพท์จริงๆ ควรจะพิจารณาว่า เพราะจักขุปสาทยังไม่แตกดับ

    รูปมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ ขณะที่จักขุปสาทรูปเกิด ช่วงเวลา ๑๗ ขณะของจิต ในขณะที่ยังตั้งอยู่ยังไม่ดับไปนั้นเองเป็นปัจจัยให้ จักขุวิญญาณเกิด ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นเล็กน้อยมาก แต่ต้องอาศัยจักขุปสาทรูปที่ยังไม่ดับจักขุวิญญาณจึงจะเกิดได้ ถ้าจักขุปสาทรูปดับ จักขุปสาทรูปที่ดับไม่มีทางเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้น

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาหัตถิปโทปมสูตร แสดงเหตุที่ให้เกิด จักขุวิญญาณ ๓ เหตุ คือ

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ท่านมีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยไม้และอาศัยเถาวัลย์ ดินเหนียวและหญ้าแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่าเป็นเรือนฉันใด ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย อากาศอาศัยกระดูกและเอ็น เนื้อและหนังแวดล้อมแล้ว ย่อมถึงความนับว่าเป็นรูป ฉันนั้นเหมือนกันแล

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่าจักษุอันเป็นไปในภายใน เป็นของ ไม่แตกทำลายแล้ว และรูปทั้งหลายอันเป็นภายนอกย่อมไม่มาสู่คลองจักษุ ทั้ง ความมนสิการอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้นก็ไม่มี ความปรากฏแห่งส่วนแห่งวิญญาณ อันเกิดแต่จักษุและรูปนั้นก็ยังมีไม่ได้ก่อน

    แสดงให้เห็นว่า จะขาดปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดไม่ได้ คือ ต้องเป็นความ พร้อมเพรียงของปัจจัย ๓ คือ จักขุปสาทที่ยังไม่ดับ ๑ และรูป รูปารมณ์ที่กระทบกับจักขุปสาท ๑ และปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ที่กล่าวว่า ทั้งความมนสิการอันเกิดแต่จักษุและรูปนั้นก็ไม่มี ซึ่งหมายความถึงปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ได้กล่าวถึงแสงสว่าง เพราะถ้ามีจักขุปสาท แม้ในที่มืดก็ยังเห็นว่ามืด ไม่เหมือนกับผู้ไม่มีจักขุปสาทเลย

    เงาแดดเมื่อเทียบกับแสงสว่าง มืดไหม แต่ก็ยังเห็นด้วยจักขุ ขณะนั้น จักขุวิญญาณยังรู้ว่า เป็นสีที่มืด ไม่ใช่สีที่สว่าง

    สำหรับลักษณะของจักขุปสาท ใน อัฏฐสาลินี มีข้อความว่า

    รูปาภิฆาตารหภูตัปปสาทลักขณัง ทัฏฐุกามตานิทานกัมมสมุฏฐานภูตัปปสาทลักขณัง วา จักษุมีความใสเป็นปสาทของภูตรูปอันควรแก่การกระทบรูปเป็นลักษณะ หรือมีความเป็นปสาทของภูตรูปอันมีกรรมเป็นสมุฏฐาน ซึ่งมีความประสงค์จะดู เป็นเหตุ

    ให้รู้ว่า กรรมทำทุกอย่าง แม้แต่เป็นปัจจัยให้เกิดจักขุปสาทรูป ให้เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    รูเปสุ อาวิญจนรสัง มีความชักมาที่รูปเป็นรสะ คือ กระทบกับรูป

    จักขุวิญญาณัสสะ อาธารภาวปัจจุปัฏฐานัง มีความเป็นที่รองรับคือเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ เป็นอาการปรากฏ

    ทัฏฐุกามตานิทานกัมมชภูตปทัฏฐานัง มีภูตรูปอันเกิดแต่กรรมอันเกิดแต่เหตุ คือความเป็นผู้ใคร่จะเห็นเป็นปทัฏฐาน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๕ ตอนที่ ๑๔๔๑ – ๑๔๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564