แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1448


    ครั้งที่ ๑๔๔๘


    สาระสำคัญ

    ลักษณะของจิตประเภทต่างๆ

    อส รูปกัณฑ์ - ลักษณะของโอชา

    อรรถสาลินี - ลักขณรูป ๔

    เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรม คือ ธาตุไฟที่กายปสาท

    สภาวะที่ชื่อว่า อนิจจัง เพราะอรรถว่า ไม่เที่ยง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๘


    ในคราวก่อนเป็นเรื่องของจักขุวิญญาณ ซึ่งกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่เป็นการยากที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ซึ่งเป็นแต่เพียงสภาพเห็น หรือสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เพราะว่านามธรรมเป็นสภาพธรรมที่ละเอียด ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสัณฐาน เป็นแต่เพียงอาการรู้ หรือธาตุรู้ แต่ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ก็โดยอาศัยวัตถุ หรือว่าโดยอาศัยอารมณ์ เช่น จิตมีจริง แต่จิตนี้เกิดที่ไหน และ รู้อารมณ์อะไร ถ้าไม่กล่าวถึงกิจของจิต หรือว่าที่เกิดของจิต หรืออารมณ์ของจิต ก็ไม่สามารถพิจารณาได้ตามความเป็นจริงว่า ที่มีจิตนั้น ในขณะนี้จิตอยู่ที่ไหน

    และสำหรับรูป แม้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่การเกิดของรูปแต่ละรูปซึ่งเกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานต่างๆ ก็ทำให้มีอาการปรากฏเห็นเป็นวัตถุต่างๆ บุคคลต่างๆ โดยที่ไม่รู้เลยว่าแท้ที่จริงแล้วแต่ละกลุ่มหรือแต่ละกลาปของรูปนั้น ต้องอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป ถึงแม้ว่าจะช้ากว่าจิตก็จริง แต่ก็ดับไปอย่างเร็วมาก ทำให้ไม่เห็นว่าเป็นแต่เพียงรูปแต่ละประเภทซึ่งเกิดปรากฏแต่ละทางและดับไป

    การที่จะกล่าวถึงรูป ๒๘ รูป กล่าวได้หลายนัย คือ ค่อยๆ นับไปตามเหตุ ตามผล เช่น มหาภูตรูป ๔ ไม่มีใครไม่รู้จัก ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ และเมื่อมีมหาภูตรูป ๔ ก็ต้องมีอุปาทายรูป ๔ คือ สี ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ โอชา ๑ รวม ๘ รูป แยกจากกันไม่ได้เลย และต้องมีลักขณรูป ๔ เพราะว่ารูปใดที่เกิดขึ้น รูปนั้นต้องดับไป เพราะฉะนั้น ลักษณะของรูปๆ หนึ่งที่เกิดขึ้นจะมี ๔ อย่าง คือ ขณะเกิดเป็นอุปจยรูป ขณะที่ยังไม่ดับกำลังเจริญสืบต่อเป็นสันตติรูป ขณะเสื่อมเป็นชรตารูป และขณะดับเป็นอนิจจตารูป แม้ว่าจะเป็นรูปชั่วขณะที่สั้นมาก แต่ต้องมีลักษณะถึง ๔ เพราะว่ารูปมีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะของจิต นี่ก็เพิ่มรูปขึ้นเรื่อยๆ จาก ๘ รูป เป็นอีก ๔ รูป คือ ลักขณรูป ๔ รวมเป็น ๑๒ รูป

    . ลักษณะของรูป สีไม่สงสัย กลิ่นไม่สงสัย รสก็ไม่สงสัย แต่โอชา ลักษณะของโอชา

    สุ. ลักษณะของโอชา เป็นรูปที่ทำให้เกิดรูป เพราะว่ารูปที่เกิดจากกรรม ก็เป็นประเภทหนึ่ง รูปที่เกิดจากจิตก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง รูปที่เกิดจากอุตุก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง แต่ทั้งรูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากจิต ไม่พอที่จะดำรงอยู่ได้ ต้องอาศัยรูปที่เกิดจากอาหารด้วย เพราะฉะนั้น โอชาเป็นรูปที่อยู่ในอาหารที่เป็นคำๆ เป็นสมุฏฐานที่ทำให้รูปก่อตั้งขึ้นเป็นอาหารชรูป

    ในข้าวมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และมีโอชาด้วย ถ้ามีแต่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม จะไม่เป็นอาหารที่ทำให้เกิดรูปขึ้นมาได้อีก ฉะนั้น ที่ใดที่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่นั้นต้องมีสี มีกลิ่น มีรส และมีโอชา

    แต่โอชาไม่ใช่รส รสปรากฏเมื่อกระทบลิ้น เป็นรูปต่างหากอีกรูปหนึ่ง ไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่น รสนั้นสามารถกระทบกับลิ้น และชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นลิ้มรสต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ที่รับประทานอาหารและรู้สึกว่ามีรสหลายชนิด หวานก็เป็นรสชนิดหนึ่ง เค็มก็เป็นรสชนิดหนึ่ง เปรี้ยว เฝื่อน ฝาด ขม เป็นรสแต่ละชนิด ซึ่งไม่ใช่โอชา เพราะว่าเป็นรูปที่กระทบกับชิวหาปสาท และชิวหาวิญญาณก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นลิ้มรส ในขณะที่กำลังรู้รสต่างๆ คือ ชิวหาวิญญาณกำลังลิ้มรสที่กระทบกับ ชิวหาปสาท แต่ไม่ได้ลิ้มรสของปฐวี หรือรสของเตโช หรือรสของอาโป หรือรสของวาโย ซึ่งเป็นมหาภูตรูป ๔ เพราะมหาภูตรูป ๔ ไม่ใช่รส

    มหาภูตรูป ๔ เป็นที่อาศัยของรสฉันใด มหาภูตรูป ๔ ก็เป็นที่อาศัยของโอชา อีกรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดกลุ่มของรูปที่เกิดจากโอชานั้นขึ้น

    ในร่างกายจะต้องมีรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานประเภทหนึ่ง มีรูปกลุ่มที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐานประเภทหนึ่ง มีรูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐานประเภทหนึ่ง และต้องมีรูปที่เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานอีกประเภทหนึ่ง จึงจะดำรงอยู่ได้

    ลักษณะของโอชารูป ขอกล่าวถึงข้อความใน อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์

    โอชากขโณ กพฬิงกาโร อาหาโร กพฬิงการาหารมีโอชาเป็นลักษณะ

    รูปาหรณรโส มีการนำมาซึ่งรูปเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    อุปัตถัมภนปัจจุปัฏฐาโน มีการอุปถัมภ์เป็นปัจจุปัฏฐาน

    กพฬัง กัตวา อาหริตัพพวัตถุปทัฏฐาโน มีวัตถุที่บุคคลพึงทำเป็นคำ แล้วกลืนกินเป็นปทัฏฐาน

    ข้อความที่ว่า โอชากขโณ กพฬึงกาโร อาหาโร กพฬิงการาหารมีโอชาเป็นลักษณะ นี่เป็นสิ่งซึ่งทุกคนจำเป็นต้องรับประทานอาหาร เพราะว่าโอชารูปอยู่ในอาหาร เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ และเป็นรูปที่ทำให้เกิดรูป เพราะฉะนั้น อาหารที่เป็นวัตถุ เช่น ข้าว ปลา ผัก ผลไม้ต่างๆ ย่อมนำอันตรายออก คือ แก้หิวได้ แต่ไม่อาจเพื่อรักษาร่างกาย คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สามารถนำอันตรายออก เป็นอาหารที่หนักท้อง แก้หิว แต่ไม่อาจเพื่อรักษาร่างกาย เพราะว่าไม่ใช่โอชารูป ซึ่งจะเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปกลุ่มที่จะอุปถัมภ์รูปอื่นๆ เช่น รูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากจิต และรูปที่เกิดจากอุตุ

    อาหารที่เป็นโอชา ย่อมรักษา คือ บำรุงร่างกาย แต่ไม่อาจเพื่อนำอันตรายออก คือ ถ้าเฉพาะโอชารูปจริงๆ เท่านั้น ไม่สามารถแก้หิวได้ ถ้ากลั่นกรองเอาแต่โอชาของอาหารที่เป็นคำๆ มาบริโภค โอชาสามารถเป็นสมุฏฐานให้เกิดกลุ่มของรูปที่เกิดจากอาหารได้ แต่แก้หิวไม่ได้

    เพราะฉะนั้น อาหารแม้ทั้ง ๒ รวมกันแล้วย่อมอาจเพื่อรักษา ย่อมอาจแม้เพื่อนำอันตรายออกไป คือ แก้หิวด้วย และทำให้เกิดกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐานด้วย

    นี่เป็นเหตุที่จะต้องบริโภคอาหารเป็นคำๆ ไม่ใช่เอาแต่เฉพาะโอชาอย่างเดียว เพราะว่ามหาภูตรูปจะมีธาตุไฟซึ่งเผาผลาญร่างกาย และทำอันตรายด้วย คือ ทำให้มีความรู้สึกหิว

    มีคำถามว่า ก็อะไรเล่าชื่อว่าอันตราย

    ตอบว่า เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรม คือ ธาตุไฟที่กายปสาท

    จริงอยู่ เมื่อวัตถุมีข้าวสุกเป็นต้นไม่มีภายในท้อง เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมตั้งขึ้นจับเยื่อกระเพราะอาหาร ย่อมยังบุคคลให้พูดว่า ข้าพเจ้าหิวแล้ว จงให้อาหารเถิด และในเวลาที่กินอาหารแล้ว เตโชธาตุอันเกิดแต่กรรมนั้นก็ละเยื่อกระเพาะอาหารไปจับวัตถุที่เป็นอาหาร ทีนั้นสัตว์นั้นก็มีจิตไม่กระวนกระวาย

    นี่คือทุกวันในชีวิตประจำวันที่เกิดหิวขึ้นเพราะเหตุใด และที่จะให้หายหิว ก็เพราะเหตุใด แต่ในมหาภูตรูป ๔ จะมีอุปาทายรูป ๔ เกิดร่วมด้วย คือ สีที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท กลิ่นเมื่อกระทบกับฆานปสาทก็ปรากฏเป็นกลิ่นต่างๆ รสเมื่อกระทบกับชิวหาปสาทจึงปรากฏได้ แต่สำหรับโอชาไม่ปรากฏ เพราะว่า ในอุปาทายรูป ๔ คือ สี ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ โอชา ๑ อุปาทายรูป ๓ สีปรากฏเมื่อกระทบตา กลิ่นปรากฏเมื่อกระทบจมูก รสปรากฏเมื่อกระทบลิ้น สำหรับโอชา ไม่ปรากฏ แต่เป็นรูปที่มีอยู่ในมหาภูตรูป รูปทุกกลุ่มจะปราศจากโอชาไม่ได้ เพราะว่าเป็นอวินิพโภครูป ๘ เป็นรูปที่ไม่แยกออกจากกัน

    . เป็นรูปที่ปรากฏทางมโนทวาร ใช่ไหม

    สุ. รูปใดก็ตามทั้งหมดที่ไม่รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รูปนั้นย่อมอาจรู้ได้ทางใจ อาจรู้ได้ แต่ไม่ทราบว่าจะรู้เมื่อไร

    . อาจรู้ได้ แต่ตอนนี้คงยังไม่รู้

    สุ. และใครจะรู้ ก็ตามควรแก่ปัญญาของผู้นั้น

    . คงจะเป็นปัญญา

    สุ. ซึ่งความจริงไม่น่าจะมีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องการจะรู้โอชารูป แต่รู้ว่า โอชารูปมีแน่นอน เพราะเมื่อบริโภคอาหารแล้วก็เจริญเติบโตขึ้น ย่อมแสดงว่ามีกลุ่มของรูปที่เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน

    รูปภายนอกมีโอชาไหม รูปที่ไม่มีใจครองมีโอชาไหม มี รูปที่มีใจครองทุกๆ กลุ่มที่ตัวทั้งหมด แม้แต่กลุ่มที่เล็กที่สุดของเส้นผมมีโอชาไหม ต้องมี เพราะว่าเป็น รูปที่แยกจากกันไม่ได้

    สำหรับรูป ๘ รูป รูปใดก็ตามที่เกิดขึ้นต้องมีลักขณรูป ๔ คือ ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่เจริญขึ้น ขณะที่เสื่อมลง และขณะที่ดับไป

    . จัดว่าเป็นสุขุมรูปด้วยใช่ไหม

    สุ. เป็น เพราะว่ารูปหยาบมีเพียง ๑๒ รูปเท่านั้น

    สำหรับลักขณรูป ๔ ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    อุปจยรูปมีลักษณะ คือ

    อาจยลักขโณ รูปัสสะ อุปจโย อุปจยรูปมีความเริ่มเกิดเป็นลักษณะ คือ มีการเกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นลักษณะ

    ปุพพันตโต รูปานัง อุมมุชชาปนรโส มีการยังรูปทั้งหลายให้ผุดขึ้นเป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    นิยาตนปัจจุปัฏฐาโน ปริปุณณภาวปัจจุปัฏฐาโน วา มีความมอบให้เป็น ปัจจุปัฏฐาน หรือความบริบูรณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน

    อุปจิตตรูปปทัฏฐาโน มีรูปที่ถึงอุปาทขณะเป็นปทัฏฐาน

    นี่คือความละเอียดของธรรม

    ทุกคนรู้ว่ารูปเป็นสภาพที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีกรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดขึ้น เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดขึ้น มีอุตุ คือ ความเย็นหรือความร้อน ซึ่งเมื่อมีแล้ว ก็ยังเป็นสมุฏฐานก่อตั้งให้เกิดกลุ่มของรูปซึ่งเกิดจากอุตุนั้นด้วย และเมื่อมีจิต จิตนั่นเองก็เป็นสมุฏฐานทำให้เกิดกลุ่มของรูปซึ่งเกิดจากจิต

    ข้อความในอรรถกถาแสดงลักษณะที่ละเอียด แม้แต่การเกิดของรูปก็ต้องมีลักษณะ ๔ เช่น ในอุปจยขณะ ขณะที่เกิด อุปจยรูป คือ ในขณะที่เริ่มเกิดเป็น ขณะแรกนั้น มีความเริ่มเกิดเป็นลักษณะ ขณะนี้รูปเกิดดับไปแล้วไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น จะไปรู้ถึงขณะอุปจยรูปซึ่งเพิ่งเกิดก็เป็นสิ่งที่ยาก ใช่ไหม เพราะถ้าจิตเป็นสมุฏฐาน รูปที่เกิดเพราะจิตจะเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต

    ในขณะนี้ จิตก็กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว และในอุปาทขณะของจิตนั้นเอง จิตตชรูปก็เกิด และมีอุปจยลักขณะ คือ ขณะที่เริ่มเกิด ซึ่งคงจะไม่มีใครสามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดในขณะที่เริ่มเกิดของรูปนั้นได้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ใน ๑๗ ขณะของรูปนั้น ขณะที่เริ่มเกิดก็ไม่ใช่ขณะที่เป็นสันตติขณะ และขณะใดที่เป็นสันตติขณะ ขณะนั้นไม่ใช่อุปจยขณะ ขณะที่รูปสืบต่อแล้วจากขณะที่เกิด ต้องไม่ใช่ รูปในขณะที่เกิด

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่เกิด อุปจยรูปมีความเริ่มเกิดเป็นลักษณะ มีการยังรูปทั้งหลายให้ผุดขึ้น เพราะว่าอุปจยรูปจะเกิดขึ้นมาเองลอยๆ ไม่ได้ อุปจยรูปเป็นแต่เพียงการเกิดขึ้นของกลุ่มของรูป สมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใดก็แล้วแต่ เช่น เมื่อ อวินิพโภครูปเกิดขึ้น ธาตุดินต้องเกิด ไม่ใช่มีอุปจยรูปต่างหากเกิด แต่ว่ากลุ่มของ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชานั่นเอง มีการยังรูปทั้งหลายให้ผุดขึ้น นั่นคือกิจของอุปจยรูป คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมในขณะที่เริ่มเกิด

    มีความมอบให้เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือความบริบูรณ์เป็นปัจจุปัฏฐาน

    รูปทุกรูปขณะที่เกิดต่างกับขณะที่เจริญที่เป็นสันตติ เพราะฉะนั้น ขณะที่เกิดของรูปก็คือขณะที่มอบให้ หรือขณะที่บริบูรณ์ เป็นอาการที่ปรากฏ ถ้าไม่มีการเริ่มเกิดขึ้น รูปนั้นจะบริบูรณ์หรือปรากฏไม่ได้เลย มหาภูตรูป ถ้าไม่มีอุปจยขณะ สภาพที่อ่อน แข็ง เย็น ร้อนก็ปรากฏไม่ได้

    เพราะฉะนั้น อุปจยขณะของมหาภูตรูปนั้น มีความมอบให้ หรือความบริบูรณ์ที่จะปรากฏเป็นลักษณะอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวปรากฏได้

    มีรูปที่ถึงอุปาทขณะเป็นปทัฏฐาน

    แล้วแต่ว่าสมุฏฐานใดจะก่อตั้งให้รูปประเภทใดเกิดขึ้น อุปจยรูปนั้นก็มีรูปที่ถึง อุปาทขณะนั่นเองเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด นี่คือขณะเริ่มเกิด

    ต่อไป คือ สันตติรูป ขณะสืบต่อ

    ปวัตติลักขณา รูปัสสะ สันตติ สันตติรูปมีความเป็นไปอยู่เป็นลักษณะ ยังไม่ดับ สืบต่อเป็นไป

    อนุปปพันธนรสา มีความสืบต่อเป็นรสะ คือ สืบต่อรูปเบื้องต้นกับรูปเบื้องปลายในกลาปนั้นเองไม่ให้ขาดตอนเป็นกิจ

    อนุปปัจเฉทปัจจุปัฏฐานา มีความไม่ขาดจากกัน คือ รูปเบื้องต้นกับรูปเบื้องปลายยังไม่ได้ขาดตอนคือยังไม่ดับ เป็นการสืบต่อของรูปเบื้องต้นกับรูปเบื้องปลายเป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการปรากฏ

    อนุปปพันธรูปปทัฏฐานา มีรูปสืบต่อเป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นรูปประเภทใด

    นี่ยังไม่ดับเลย ไม่มีใครรู้เลยว่าขณะนี้รูปที่เกิดดับไปแล้วเท่าไร แต่ว่าชั่วขณะที่เป็นอุปจยะและเป็นสันตตินั้น รูปยังไม่ดับ

    ขณะต่อไป คือ ลักขณะที่ ๓ ชรตารูป ขณะเสื่อมของรูป

    รูปปริปากลักขณา รูปัสสะ ชรตา มีความหง่อมแห่งรูปเป็นลักษณะ

    อุปนยรสา มีการน้อมเข้าไปใกล้ความตายเป็นรสะ

    สภาวานปคเมปิ นวภาวาปคมปัจจุปัฏฐานา มีความปราศจากความใหม่ แม้ยังไม่ปราศจากภาวะของตนเป็นปัจจุปัฏฐาน คือ เป็นอาการปรากฏ

    วีหิปุราณภาโว วิยปริปัจจมานรูปปทัฏฐานา มีรูปที่หง่อมอยู่เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    โดยทั่วไปจะไม่เห็นความชรา หรือว่าชรตารูปของรูปแต่ละกลุ่มๆ แต่จะปรากฏเมื่อกลุ่มของรูปรวมกันมากๆ ปรากฏเห็นเป็นความเก่า ความคร่ำคร่า ความหง่อม ความชรา แต่ตามความจริงถ้ารูปแต่ละกลุ่มไม่หง่อม ไม่เก่า ไม่คร่ำคร่า ไม่ชรา ลักษณะของสภาพที่หง่อม เก่า คร่ำคร่า ชรานั้น ก็ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของชรตารูป แม้ในกลุ่มของรูปที่ยังไม่ดับก็จะต้องมีความหง่อมแห่งรูปเป็นลักษณะ เมื่อรวมๆ กันเข้าก็เห็นเป็นสภาพที่เก่า สภาพที่หง่อม

    มีการน้อมเข้าไปใกล้ความตายเป็นรสะ

    ถ้าเห็นรูปใดที่เก่าแก่มาก ชรามาก โดยเฉพาะรูปที่มีใจครอง ก็เป็นเครื่องหมายรู้ได้ว่า มีการน้อมเข้าไปใกล้ความตายเป็นรสะ คือ เป็นกิจของชรตารูป

    มีความปราศจากความใหม่ แม้ยังไม่ปราศจากภาวะของตนเป็นปัจจุปัฏฐาน

    รูปที่เพิ่งเกิดเป็นรูปใหม่จริงๆ แต่ว่าชั่วคราว สั้นมาก และปราศจากความใหม่แล้ว เพราะว่าใกล้ต่อการที่จะดับ

    และ มีรูปที่หง่อมอยู่เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิดรูปนี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๕ ตอนที่ ๑๔๔๑ – ๑๔๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564