แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1442


    ครั้งที่ ๑๔๔๒


    สาระสำคัญ

    รูปร่างกายเป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔

    อถ.ส.ม.อรรถกถาสติสูตรที่ ๒ - การรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยเพียงธาตุต่างๆ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๘


    ใครเป็นคนรู้ว่ามีจักขุปสาทรูปที่ว่า จักขุวิญญาณัสสะ อาธารภาวปัจจุปัฏฐานัง มีความเป็นที่รองรับคือเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ เป็นอาการปรากฏ ถ้าไม่มีการเห็น แสดงว่าจักขุปสาทไม่มี ใช่ไหม

    ฉะนั้น อาการของจักขุปสาทที่ทำให้รู้ได้ว่ามีจักขุปสาท คือ เมื่อเห็น ขณะที่เห็นทำให้สามารถรู้ได้ว่า จักขุปสาทรูปต้องมี แต่เมื่อใดไม่เห็นอีกแล้ว เช่น ตาบอด จักขุปสาทรูปไม่เกิด เพราะว่าไม่มีจักขุปสาทรูป ฉะนั้น ที่รู้ว่าจักขุปสาทรูปมี ก็เพราะมีการเห็น แสดงว่าจักขุปสาทรูปเกิดและยังไม่ดับในขณะนั้น

    จักขุปสาทรูปมีชั่วในขณะที่มีการเห็น เมื่อมีการเห็นเกิดขึ้น แสดงว่าขณะนั้น มีจักขุปสาทรูป

    ทางตา เห็นมากมายหลายอย่าง แต่เห็นผิดๆ ทั้งนั้น คือ ไม่ได้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งซึ่งสามารถปรากฏ เมื่อกระทบกับจักขุปสาท และมีอายุที่สั้นที่สุด ดับไปแล้วเมื่อกี้นี้ และจักขุวิญญาณคือจิตเห็นซึ่งจะเกิดต่อข้างหน้า ก็ต้องอาศัยจักขุปสาทในอนาคตข้างหน้า เพราะว่าจักขุปสาทในขณะนี้ดับแล้ว แต่ปัจจัยที่จะให้เกิดจักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้ ยังมีอย่างอื่นอีกนอกจากนี้

    ถ้าไม่พิจารณาจะไม่คิดเลยว่า เพียงแค่จักขุปสาทรูปยังไม่สามารถทำให้เกิดจักขุวิญญาณได้ เพราะถ้ามีแต่เพียงจักขุปสาทรูปเพียงรูปเดียว การเห็นเกิดไม่ได้ แต่ที่ยกจักขุปสาทรูปขึ้นมาก็เพราะว่าเป็นทวาร เป็นทางเฉพาะสำหรับจิตประเภทนี้ ที่จะเกิดขึ้นเห็น เนื่องจากรูปที่เกิดจากกรรมทั้งหมดต้องอาศัยรูปอื่นๆ อุปถัมภ์ด้วย เพราะว่ารูปที่เกิดจากกรรม ได้แก่ จักขุปสาทรูปซึ่งอยู่ตรงกลางตา เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถรับกระทบเฉพาะสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตา รูปนี้จะอยู่ได้อย่างไรเฉพาะลำพังรูปนี้รูปเดียว หรือว่าโสตปสาทรูปก็ตาม ฆานปสาทรูปก็ตาม ชิวหาปสาทรูปก็ตาม กายปสาทรูปก็ตาม จะต้องอาศัยรูปอื่นๆ เป็นปัจจัยด้วย คือ จะต้องอาศัยรูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็นหรือความร้อน ต้องอาศัยรูปที่เกิดจากอาหาร ต้องอาศัยรูปที่เกิดจากจิต ชีวิตจึงจะดำรงอยู่ได้จนมีการเห็น ไม่ใช่มีเฉพาะเพียง จักขุปสาทรูปอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ก้อนเนื้อที่รวมกันเป็น รูปร่างกาย มีกระดูก ม้าม ปอด หัวใจ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นก้อนแท่งที่ ยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรา ชั่วคราว ในขณะที่ยังไม่ตาย ต้องอาศัยรูปอื่นที่เกิดร่วมกันอุปถัมภ์ด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะกัมมชรูป หรือรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียวเท่านั้น

    เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในอุปาทขณะ มีกัมมชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตเท่านั้น จิตตชรูปยังไม่มี อุตุชรูปยังไม่มี อาหารชรูปยังไม่มี ในอุปาทขณะของปฏิสนธิจิตจะมีแต่กัมมชรูป แต่ในฐิติขณะของปฏิสนธิจิต เริ่มมีอุตุชรูป คือ รูปที่เกิดเพราะความเย็น ความร้อน

    อุตุ ได้แก่ ธาตุไฟ ความเย็นความร้อนที่สม่ำเสมอเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดขึ้นในฐิติขณะของปฏิสนธิ นี่เริ่มที่จะอาศัยซึ่งกันและกันแล้ว เพราะว่าในร่างกายของเราจะมีแต่เฉพาะกัมมชรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในอนุขณะที่ ๒ ของปฏิสนธิจิต คือ ในฐิติขณะก็มีอุตุชรูป กลุ่มของรูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นปัจจัย แสดงให้เห็นว่า ในร่างกายนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะกัมมชรูป ต้องมีอุตุชรูป ต้องมีอาหารชรูป และต้องมีจิตตชรูปด้วย

    สำหรับรูปที่เกิดจากอาหาร เวลาที่ไม่รับประทานรู้ได้เลยว่า หิวเพราะอะไร ธาตุไฟซึ่งมีอยู่แผดเผาทำให้เกิดความทุกข์ทางกายขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยอาหารบำรุงเลี้ยง ทำให้มีรูปกลุ่มที่เกิดเพราะอาหาร ได้แก่ อาหารชรูป เป็นปัจจัยอุปถัมภ์กัมมชรูปและอุตุชรูปด้วย

    นอกจากนั้น การที่รูปจะเคลื่อนไหวได้ ต้องอาศัยจิตตชรูป คือ รูปที่เกิดจากจิต เพราะถ้ามีแต่รูปซึ่งเกิดจากกรรม เช่น จักขุปสาท หรือรูปซึ่งเกิดจากอุตุ รูปซึ่งเกิดจากอาหาร ก็ยังทำอะไรไม่ได้ ได้แต่อยู่เฉยๆ จักขุปสาทจะเคลื่อนไหวหรือกลอกไปมาไม่ได้ ถ้าไม่อาศัยจิตตชรูป

    เพราะฉะนั้น ที่จะมีการเคลื่อนไหวทำกิจการงานต่างๆ ได้ ต้องอาศัยกลุ่มของรูปกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน จึงทำให้รูปทั้งหลายมีการเคลื่อนไหว มีการประกอบกิจการงาน แม้แต่ขณะที่จะเห็น ก็ต้องอาศัยจิตตชรูปอุปการะด้วย

    ทุกคนตื่นขึ้นมาไม่ได้คิดเลย ชีวิตประจำวันก็ลืมตาขึ้นในขณะที่ต้องการจะเห็น ไม่ได้พิจารณาเลยว่า รูปอะไรบ้างเกิดขึ้นในขณะนั้น

    อรรถกถา สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อรรถกถาสติสูตรที่ ๒ อธิบายการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยความเป็นเพียงธาตุต่างๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และต้องรู้ลักษณะของ ธาตุต่างๆ ในขณะที่นามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ที่ทำให้ชีวิตดำเนินไปทุกๆ ขณะ แม้แต่ในขณะที่ลืมตาจะดู

    ไม่เคยคิดเลยว่ามีรูปอะไรบ้างในขณะนั้น แต่ในขณะที่ลืมตาจะดูนั้น วาโยธาตุซึ่งเกิดขึ้นเพราะจิตที่จะดูนั้น เป็นสมุฏฐานทำให้รูปไหว คือ

    กลีบตาล่างจมเบื้องล่าง กลีบตาบนหนีไปเบื้องบน ด้วยการซ่านไปแห่ง วาโยธาตุ จากนั้นจักขุวิญญาณได้สำเร็จกิจ คือ การเห็นได้เกิดขึ้น

    นี่คือชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ตื่นลืมตาขึ้นมาก็ไม่รู้ว่าเป็นธาตุ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงลักษณะของธาตุต่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่การที่จะดูก็เป็นเพราะว่า วาโยธาตุที่เกิดเพราะจิตที่ต้องการจะดูเป็นสมุฏฐานทำให้รูปไหว คือ กลีบตาล่างจมเบื้องล่าง กลีบตาบนหนีไปเบื้องบน ด้วยการซ่านไปแห่งวาโยธาตุ ซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่มีใครๆ ชื่อว่า เปิดได้โดยสะดวก

    ถ้าจะให้ใครมาจับตาลืมขึ้น ก็ยังยากกว่าที่วาโยธาตุจะทำเอง ใช่ไหม ง่ายที่สุดเพียงแต่หลับตาและลืมตาขึ้น นั่นเป็นกิจของวาโยธาตุซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ซึ่งทำได้โดยสะดวกและรวดเร็ว

    ทุกคนกระพริบตาบ้างหรือเปล่า ถ้าขาดสติจะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นรูป หรือเป็นนาม ในขณะที่หลับตามีเห็นไหม จะเห็นได้ไหม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะปรากฏไหม แต่จะมีสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏได้ก็ต่อเมื่อวาโยธาตุที่เกิดเพราะ จิตเป็นสมุฏฐานทำให้ลืมตาขึ้น จากนั้นจักขุวิญญาณก็ได้สำเร็จกิจ คือ การเห็น ได้เกิดขึ้น

    ข้อความต่อไปใน อรรถกถาสติสูตรที่ ๒ แสดงว่า

    ชวนวิถีทางปัญจทวาร ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดการเหลียว การแล หรือการหลงว่า นี้เป็นหญิง นี้เป็นชาย

    เพราะทางตาเห็นแต่เพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่มีการรู้อย่างอื่นเกินไปกว่านั้น

    . เมื่อกี้อาจารย์กล่าวว่า การเห็นต้องมีจักขุปสาท ตามที่ศึกษามา ปสาทรู้ไม่ได้ ใช่ไหม และที่อาจารย์กล่าวว่า มี จะทราบได้อย่างไร รู้ได้อย่างไร

    สุ. ขณะนี้เห็นไหม

    . เห็น

    สุ. ถ้าไม่มีจักขุปสาทเห็นไหม

    . ทราบโดยการศึกษา ใช่ไหม

    สุ. เพราะฉะนั้น อาการปรากฏของจักขุปสาท คือ จิตเห็น เป็นที่รองรับ เป็นที่ตั้ง คือ จิตเห็นเกิดขึ้นที่ไหน ขณะใด แสดงว่าที่นั้นมีจักขุปสาทรูป

    . จะรู้ได้อย่างไร

    สุ. เป็นอาการปรากฏให้เข้าใจ

    . ให้เข้าใจเท่านั้น แต่จะประจักษ์เมื่อ ...

    สุ. แล้วแต่ปัญญาของใครจะระลึกลักษณะของรูปนั้น เพราะว่าทางตา ที่กำลังเห็น ขณะนี้อะไรปรากฏ ควรจะศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปพยายามรู้จักขุปสาทรูปซึ่งไม่ได้ปรากฏ ต้องศึกษาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ

    . ขณะที่เห็นตามปกติธรรมดา ห้ามไม่ได้ที่จะเห็นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เราจะวินิจฉัยได้อย่างไรว่า ขณะที่เราเห็นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น ขณะนั้นเป็นการเห็นด้วยจิตที่รู้ในความหมายของนิมิตที่ปรากฏ หรือเห็นไปในข้างที่เป็นทิฏฐิ คือ ขณะที่รู้นั้น รู้ด้วยทิฏฐิ หรือรู้ด้วย ...

    สุ. รู้ทางมโนทวาร

    . แต่ขณะที่รู้ทางมโนทวารนั้น รู้ด้วยทิฏฐิ หรือรู้ด้วยการรู้ความหมายของนิมิตที่ปรากฏ

    สุ. ถ้าทิฏฐิ ต้องหมายความถึงมีความยึดมั่นในสิ่งนั้นว่า ต้องเป็นตัวตน ที่เที่ยง ถ้าฟังและเข้าใจว่า เป็นที่สิ่งที่ปรากฏทางตา และรู้ว่า ในขณะที่เห็นดับไป ก็มีการรู้ความหมายของสิ่งที่เห็นเป็นธรรมดา แม้แต่ผู้ที่ดับความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับแล้ว มโนทวารวิถีก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไรโดยที่ไม่ใช่ความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดซึ่งเป็นสักกายทิฏฐิ ต้องเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากการรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะต้องเป็นการยึดมั่นจริงๆ ว่า ต้องมีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน

    . สักกายทิฏฐิจะเกิดก่อนรู้ความหมาย หรือเกิดภายหลังที่รู้ความหมายแล้ว

    สุ. แล้วแต่เกิดขึ้นขณะใด ก็เป็นสักกายทิฏฐิขณะนั้น

    . หมายความว่า เกิดขณะใดก็ขณะนั้น ขอบคุณครับ

    . คนตาบอดถือว่าไม่มีจักขุปสาท ใช่ไหม

    สุ. ถูกต้อง

    . ผมได้ดูข่าวภาพยนตร์ทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ได้เอากล้อง ส่องแล้วเอาสายโยงไปถึงท้ายทอยซึ่งเป็นส่วนที่รับการเห็นของสมอง ปรากฏว่าคนนั้นได้เห็น แต่ไม่ได้เห็นเป็นภาพชัดเจนอย่างนี้ เห็นเป็นจุดๆ เป็นคนเหมือนกัน ขณะนั้น เราจะเรียกกลุ่มสายที่เป็นเส้นสายทางวิทยาศาสตร์นั้นว่า เป็นกลุ่มที่เทียบเคียงกับ จักขุปสาทได้หรือเปล่า

    สุ. สัญญา ความจำ มีได้ แต่ไม่ใช่จักขุวิญญาณที่เห็น

    ตาบอดตั้งแต่กำเนิด หมายความว่าต้องเป็นผลของอกุศลกรรมซึ่งเบียดเบียนไม่ให้จักขุปสาทเกิด ซึ่งไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ปัญหา คือ ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ใครเป็นผู้ที่ตาบอดตั้งแต่กำเนิด นอกจากผู้ที่รู้เรื่องกรรม เพราะว่าเวลาที่คลอดจากครรภ์มารดาแล้วตาบอด ก็ไม่แน่ว่าผู้นั้นตาบอดตั้งแต่กำเนิดหรือเปล่า เพราะคำนิยามของคำว่าตาบอดตั้งแต่กำเนิด หมายความว่าผู้นั้นเกิดขึ้นด้วย ปฏิสนธิจิตซึ่งกรรมเบียดเบียนทำให้จักขุปสาทไม่เกิดเมื่อถึงเวลาที่จักขุปสาทควรจะเกิด เพราะฉะนั้น สำหรับบุคคลนั้นจะไม่มีการเห็น แต่ถ้าคลอดจากครรภ์มารดาซึ่งไม่ใช่ ตาบอดตั้งแต่กำเนิด อาจจะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้จักขุปสาทเกิดได้

    . เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มเครื่องมือนั้นเราจะสงเคราะห์อยู่ใน กลุ่มไหน เป็นกลุ่มกรรมก็ไม่ได้

    สุ. ต้องเป็นรูป

    . เป็นรูป และสงเคราะห์เป็นจักขุปสาทได้หรือไม่

    สุ. รูปที่ทำให้สัญญาความจำในสิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะว่าคนเราเกิดมาไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว จำทุกอย่างในชาตินี้และชาติก่อนๆ ซึ่งเคยจำมาแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่าที่เราจำได้ในชาตินี้เป็นการจำสิ่งที่มีในชาตินี้เท่านั้น หรือผสมรวมกับความจำในชาติก่อนด้วย ใช่ไหม

    อย่างชาติก่อนก็เห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาของชาติก่อนก็ดับตั้งแต่ชาติก่อน แต่ความจำยังสืบต่อมาได้โดยที่เรา ไม่รู้ว่าจำอะไรไว้บ้าง จนกว่าจะมีญาณที่สามารถระลึกชาติได้ เมื่อนั้นจึงจะรู้ว่า ได้จำอะไรไว้ในใจของเราพอที่สติจะระลึกได้ถึงชาติก่อนๆ เหตุการณ์ก่อนๆ วงศาคณาญาติก่อนๆ ได้

    แต่เวลานี้เมื่อญาณนั้นยังไม่มี ก็ดูเหมือนว่า เราจำได้เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว เรื่องราวชาติก่อนๆ หายไปไหนหมด จำไม่ได้ นึกไม่ออก แต่ความจริงสัญญาจำไว้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น สัญญา ความจำ มี ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ก็คงจะทำให้เกิดสัญญาความจำทางตาเท่านั้น แต่ไม่ใช่การเห็นซึ่งเป็นจักขุวิญญาณ

    . คือ เป็นเพียงไปทำให้เกิดสัญญาในอดีตปรากฏ ใช่ไหม

    สุ. แล้วแต่จะเป็นขณะไหน

    . แต่ในขณะนั้น เขาก็เอารูปให้เป็นรูปารมณ์

    สุ. แล้วแต่ขณะไหน

    . เขาเห็นอย่างนั้นจริงๆ

    สุ. ก็แล้วแต่ขณะไหน นั่นเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ว่า ผู้นั้นมีจักขุปสาท จริงๆ หรือเปล่า แต่ถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่ว่าจะจำรูปเหมือนเห็นทุกประการ แต่ก็ไม่ใช่จักขุวิญญาณ ถ้าเป็นจักขุวิญญาณ ต้องเป็นเห็นขณะนี้ที่อาศัยจักขุปสาทเกิด แต่ถ้าเป็นการจำเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ว่าจะเป็นในขณะนี้หรือขณะที่ผ่านไปแล้วก็ตาม ต้องเป็นเพราะว่ามีสัญญาความจำในสิ่งนั้น

    . ข้อความที่ว่า เราตถาคตเห็นด้วยจักษุ กับเห็นด้วยทิพพจักษุ ต่างกันตรงไหน

    สุ. คนตาบอดไม่มีทิพพจักขุ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงทิพพจักขุ ต้องเป็นผู้ที่มีจักขุปสาทที่สามารถเห็นอาโลกะคือแสงสว่างได้ และเมื่อเป็นทิพพจักขุแล้ว แสงที่เห็นจะสามารถทำให้เห็นสิ่งที่ไกลหรือใกล้ซึ่งมีอะไรปิดบังไว้โดยที่จักขุธรรมดา ไม่สามารถจะเห็นได้

    . ต้องอาศัยจักขุปสาทหรือเปล่า

    สุ. ผู้นั้นต้องมีจักขุปสาทด้วย แต่การเห็นนั้น เห็นทางมโนทวาร เรื่องที่ น่าสงสัยมีมาก แต่ที่น่าจะหมดความสงสัยที่สุด คือ ทางตาที่กำลังเห็นในขณะนี้จริงๆ

    . ในขณะที่จุติจิตดับไป ร่างกายของเรา หรือจักขุรูปก็จะกลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ

    สุ. มีเพียง ๘ รูปเท่านั้น เพราะว่ารูปที่เกิดจากกรรมทั้งหมด ทุกรูปดับพร้อมกับจุติจิต หมายความว่าในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ กัมมชรูปจะเกิดทุกขณะของจิต คือ ทั้งในอุปาทขณะ ในฐิติขณะ และในภังคขณะ เพราะฉะนั้น เมื่อจุติจิตดับ กัมมชรูปดับหมด ก็หมายความว่า ก่อนจุติจิตจะเกิด ๑๗ ขณะ กัมมชรูปไม่เกิด

    . จุติจิตดับแล้ว กลายเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ

    สุ. เมื่อไม่มีกัมมชรูป ก็มีแต่เฉพาะอุตุชรูป คือ รูปที่เกิดจากอุตุ ซึ่งรูปที่เกิดจากอุตุของซากศพก็มีเพียง ๘ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา

    . บุคคลธรรมดาจุติจิตยังไม่เกิด แต่ตาบอดมองไม่เห็น อาจารย์พูดว่า เนื่องจากรูปปะปนกันในจักขุ มีรูปปะปนกัน ใช่ไหม

    สุ. หมายความว่า มีดี มีโลหิต มีอะไรที่มาทำให้การเห็นเกิดขึ้นไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๕ ตอนที่ ๑๔๔๑ – ๑๔๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    Tag  กัมมชรูป  กัลยาณปุถุชน  กัสสปโคตตสูตร  กายปโยค  กายสังขาร  กุศลมูล  จตุตถฌาน  จักขุทวารวิถีจิต  จักขุทิพย์  จักขุประสาท  จักขุวิญญาณ  จับงูพิษที่หาง  จิตตชรูป  จิตเป็นสมุฏฐาน  ชวนวิถี  ฌาน  ฌานจิต  ฌานสมาบัติ  ญาณสมภาร  ฐิติ  ฐิติขณะ  ตติยสักกนมัสสนสูตรที่ ๑๐  ตติยอัจฉริยสูตร  ทัสสนานุตตริยะ  ทิพยจักขุ  ทุจริตกรรม  ทุศีล  ท่านอนาถบิณฑิก  ธรรมสังเวช  ธัมมานุสสติ  นวังคสัตถุศาสน์  นิมิต  นิสสรณัตถปริยัติ  บาลีและอนุสนธิ  บุญสมภาร  ปฏิญญาณ  ปฏิปทา  ปฏิภาณปฏิสัมภิทา  ปฏิสนธิจิต  ปฏิเวธญาณ  ปณิธาน  ปรมัตถธรรม  ประจักษ์แจ้ง  ปริยัติ  ปริยุฏฐานกิเลส  ปริเวกวิตักกะ  ปัจเจกมุนี  ปัญจทวาร  ปาริจริยานุตตริยะ  ปุถุชน  ปุพเพกตปุญญตา  พระขีณาสพ  พระธรรมกถึก  พระธรรมภัณฑาคาริกะ  พระพุทธวจนะ  พระลกุณฏกภัททิยเถระ  พระวินัย  พระสัพพัญญุตญาณ  พระสัพพัญญู  พระสูตร  พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ  พระอภิธรรม  พระอริฏฐภิกขุ  พระอริยบุคคล  พระโสณกุฏิกัณณะเถระ  พลสมาบัติ  พหุสูตร  พุทธกิจ ๕  พุทธจริยา  พุทธอุปัฏฐาก  พุทธานุภาพ  พุทธานุสสติ  ฟุ้งซ่าน  ภวังคจิต  ภังคขณะ  ภัณฑาคาริกปริยัติ  มรรคผล  มรรคมีองค์ ๘  มหากุศลญาณสัมปยุตต์  มหาบริจาค ๕  มหาปฏิญญา  มังคลสูตร  มิจฉาทิฏฐิ  มิจฉาสมาธิ  มุนิมุนี  มโนทวารวิถี  ยมกปาฏิหาริย์  รสายตนะ  รูปารมณ์  รู้ชัด  ลาภานุตตริยะ  วจีปโยค  วจีวิญญัติ  วาระ  วาโยธาตุ  วิตักกเจตสิก  วิถีจิต  วิบากจิต  วิปฏิสาร  วิเวกวิตก  วีติกกมกิเลส  สกทาคามิมรรค  สติปัฏฐาน  สมณโคดม  สมถภาวนา  สมาทาน  สมาบัติ ๘  สมุฏฐาน  สรณะ  สวนานุตตริยะ  สักกายทิฏฐิ  สังคายนา  สังฆานุสสติ  สังเวช  สัจจกนิคัณฐบุตร  สัญญา  สัททารมณ์  สัทธัมมสวนะ  สัปปุริสสูปัสสยะ  สัพพัญญู  สาธยาย  สารีปุตตสูตร  สิกขานุตตริยะ  สุทัตตสูตร  อกุศลวิตก  อจินไตย  อธิคม  อธิจิตสิกขา  อธิปัญญาสิกขา  อธิศีลสิกขา  อนัตตา  อนาคามิมรรค  อนาคาริยมุนี  อนุตตริยะ ๖  อนุสสตานุตตริยะ  อนุสสติ  อนุสัยกิเลส  อปันณกธรรม  อภิญญา  อภิญญาจิต  อรรถกถา  อรรถกถาจารย์  อรรถกถาทุติยกามภูสูตร  อรรถกถาทุติยอุรุเวลสูตร  อรรถกถาวิตักกสูตร  อรรถกถาสติสูตร  อรรถกถาอปัณณกชาดก  อรรถกถาโลภสูตร  อรรถและพยัญชนะ  อรหัตมรรค  อริยสัจจธรรม  อริยสัจจ์ ๔  อลคัททูปมปริยัติ  อัจจยสูตร  อัจฉริยอัพภูตธรรม  อัตตสัญญา  อัตตสัมมาปณิธิ  อัปปนาสมาธิ  อาคาริยมุนี  อานาปานสติสมาธิ  อาสยะ  อาหารชรูป  อิทธิปาฏิหาริย์  อุชฌานสัญญิกา  อุชฌานสัญญีสูตร  อุตริมนุสสธรรม  อุตุชรูป  อุนัพพสุสูตร  อุปัฏฐาก  อุปาทขณะ  อเสกขมุนี  อเหตุกจิต  เขมวิตก  เขมวิตักกะ  เทวทัตตสูตร  เทศนาญาณ  เวไนยสัตว์  เสกขมุนี  เหตุปัจจัย  เอตทัคคะ  โยนิโสมนสิการ  โลกียะ  โลกุตตรมรรค  โลกุตตระ  โลภสูตร  โสตทวารวิถีจิต  โสตทิพย์  โสตวิญญาณ  โสตาปัตติมรรค  โสตายตนะ  โสภณธรรม  ไตรสิกขา  
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564