แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1470


    ครั้งที่ ๑๔๗๐


    สาระสำคัญ

    ส.ส.อัจจยสูตร ข้อ ๙๕๒ - คนพาลมี ๒ จำพวก และบัณฑิตก็มี ๒ จำพวก

    ขุ.อิติวุตตกะ จวมานสูตร - กุศลจิตของเทวดาที่อนุโมทนาผู้ที่จะเกิดในมนุษย์

    บุพนิมิตแห่งความตาย ๕ ประการ

    ส.ม.ปฐมคิลานสูตร ข้อ ๔๑๕


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๘


    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อัจจยสูตร ข้อ ๙๕๒ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

    ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุสองรูปโต้เถียงกัน ในการโต้เถียงกันนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้พูดล่วงเกิน ฯ ครั้งนั้นแล ภิกษุผู้พูดล่วงเกินนั้นแสดงโทษโดยความเป็นโทษ (รับผิดและขอโทษ) ในสำนักของภิกษุนั้น ภิกษุนั้นไม่รับ ฯ

    ครั้งนั้นแล ภิกษุเป็นอันมากพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลให้ทรงทราบเรื่องนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนพาลมี ๒ จำพวกนี้ คือ ผู้ไม่เห็นโทษโดยความ เป็นโทษ ๑ ผู้ไม่รับตามสมควรแก่ธรรมเมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คนพาลมี ๒ จำพวกนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตมี ๒ จำพวกนี้ คือ ผู้เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ๑ ผู้รับตามสมควรแก่ธรรมเมื่อผู้อื่นแสดงโทษ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตมี ๒ จำพวกนี้แล ฯ

    บัณฑิตดูจะเป็นไม่ยาก คือ ไม่เก็บความโกรธไว้ และเห็นว่าสิ่งใดเป็นโทษ ก็ไม่ยึดถือสิ่งนั้น แต่เวลาที่กำลังโกรธ และไม่ยกโทษให้คนอื่น ลืมว่าการเป็นบัณฑิตซึ่งแท้ที่จริงก็ไม่ยากอะไร เพียงแต่ไม่โกรธต่อไปอีกและให้อภัยคนอื่น แต่ในขณะที่อกุศลจิตเกิดนั้น เป็นบัณฑิตไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพาล มีข้อความในพระไตรปิฎกกล่าวว่า คือ ผู้ที่เพียงมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเท่านั้น ไม่สามารถที่จะเจริญกุศลหรือทำประโยชน์ ได้มากกว่านั้น เพราะฉะนั้น คนพาลก็อยู่ไปวันหนึ่งๆ โดยที่มีลมหายใจเข้าและมี ลมหายใจออก แต่ไม่ได้เจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพเมื่อจะทรงยังเทวดาชั้นดาวดึงส์ให้พลอยยินดี ณ สุธรรมาสภา จึงได้ตรัสพระคาถานี้ในเวลานั้นว่า

    ขอความโกรธจงตกอยู่ในอำนาจของท่านทั้งหลาย ขอความเสื่อมคลาย ในมิตรธรรมอย่าได้เกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ติเตียนผู้ที่ไม่ควรติเตียนเลย และอย่าได้พูดคำส่อเสียดเลย ก็ความโกรธเปรียบปานดังภูเขา ย่อมย่ำยี คนลามก ฯ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมบางครั้งดูเหมือนง่าย หรือแม้แต่ท้าวสักกะ คือพระอินทร์เองก็ยังได้ตรัสพระคาถาว่า ขอความโกรธจงตกอยู่ในอำนาจของท่านทั้งหลาย

    เวลาโกรธและไม่สามารถจะยับยั้งได้ ก็ขอให้ดูการกระทำอกุศลกรรม หรือทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจา บางครั้งไม่ถึงกับทำร้ายเบียดเบียนประทุษร้าย แต่วาจาทุจริตเกิดแล้ว แสดงให้เห็นว่า ในขณะนั้นความโกรธไม่ได้อยู่ในอำนาจ เพราะว่าทำให้ล่วงทุจริตทางกาย ทางวาจา

    ขอความเสื่อมคลายในมิตรธรรมอย่าได้เกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย

    การที่มิตรจะแหนงหน่าย หรือคลายความสนิทสนมกัน ก็เพราะเสียงหรือวาจาได้ เพราะฉะนั้น เป็นการเตือนให้เห็นสิ่งที่มีและใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่างเสียงหรือ วาจา ถ้าใช้ในทางกุศลก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเป็นไปในทางอกุศล ย่อมทำให้แม้มิตร ก็แหนงหน่าย หรือคลายความสนิทสนม

    ก็ความโกรธเปรียบปานดังภูเขา

    เพราะฉะนั้น โลภะและโมหะซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความโกรธต้องมากมายสัก แค่ไหนด้วย ในเมื่อมองเห็นความโกรธว่า มีมากและแรง ก็ย้อนกลับไปถึงเหตุของความโกรธ คือ โลภะและโมหะด้วย

    ข้อความในพระไตรปิฎก มีข้อความสั้นๆ ที่แสดงให้เห็นคำพูดที่จะต้องระวัง เพราะแม้ว่าบางท่านจะไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำไม่จริง หรือไม่พูดคำหยาบคาย แต่แม้คำพูดเหน็บแนมเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นเพราะอกุศลจิต

    ซึ่งพวกพราหมณ์ก็ได้กล่าวโทษพระภิกษุ และได้ไปหาพราหมณ์ด้วยกัน แต่พราหมณ์ผู้ใหญ่ เมื่อได้ฟังแล้วก็พิจารณาเห็นว่า คำพูดอย่างนั้นไม่เหมาะสมกับท่าน เพราะฉะนั้น ท่านควรจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วยตนเองและกราบทูลถาม นี่สำหรับผู้ที่สะสมความเห็นถูกและมีโยนิโสมนสิการ รู้ว่าคำพูดอย่างใดสมควรและคำพูด อย่างใดไม่สมควร

    เพราะฉะนั้น ที่บางท่านกล่าวว่า ท่านมีความเห็นถูกในเรื่องการปฏิบัติ แต่ยังอดที่จะติเตียนหรือว่ากล่าวบุคคลอื่นที่มีความเห็นผิดไม่ได้ ก็จะได้ระลึกถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ว่า อาศัยความเห็นถูก บางท่านก็ยังว่ากล่าวติเตียน หรือบางท่านถึงกับด่าบริภาษพวกมิจฉาทิฏฐิ และบางท่านก็ถึงกับยกตนข่มคนอื่น แสดงให้เห็นว่า เวทนาหรือวิตกที่เป็นอกุศล ย่อมเกิดเพราะความเห็นถูกได้

    ถ้าแต่ละคนไม่พูดเลย หรือไม่มีกายวาจาอย่างไรเลย คนอื่นก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น คำพูดแสดงถึงจิตใจด้วย

    ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ จวมานสูตร ข้อ ๒๖๑ข้อ ๒๖๒ แสดงให้เห็นกุศลจิตของเทวดาที่อนุโมทนาผู้ที่จะเกิดในมนุษย์ ข้อความมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดเทวดาเป็นผู้จะต้องจุติจากเทพนิกาย เมื่อนั้นนิมิต ๕ ประการย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง ๑ ผ้าย่อมเศร้าหมอง ๑ เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ ๑ ผิวพรรณเศร้าหมองย่อมปรากฏที่กาย ๑ เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายทราบว่า เทพบุตรนี้จะต้องเคลื่อนจาก เทพนิกาย ย่อมพลอยยินดีกะเทพบุตรนั้นด้วยถ้อยคำ ๓ อย่างว่า แน่ะท่านผู้เจริญ ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑ ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑ ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑ ฯ

    ไม่มีใครทราบว่า ท่านมาจากเทพนิกายชั้นหนึ่งชั้นใด และก่อนมาสู่โลกมนุษย์ จะต้องมีเทวดาที่อนุโมทนายินดีด้วยในการที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่การเกิดเป็นมนุษย์ อย่าลืมว่า การที่เทวดาอื่นจะพลอยยินดีด้วยนั้น คือ ขอท่านจากเทวโลกนี้ไปสู่สุคติ ๑ ครั้นไปสู่สุคติแล้ว ขอจงได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ๑ ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑ ฯ

    ทุกคนอยากจะได้ลาภ คือ สุคติ สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ ด้วยยศ ด้วยเกียรติ ด้วยสกุล แต่ว่า ครั้นได้ลาภที่ท่านได้ดีแล้ว ขอจงเป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยดี ๑ คือ เป็นผู้เจริญกุศลมากๆ ไม่ใช่เมื่อได้แล้วก็ให้อกุศลจิตเกิดมากๆ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย อะไรเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว อนึ่ง อะไรเป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์แล เป็นส่วนแห่งการไปสู่สุคติของเทวดาทั้งหลาย ซึ่งเทวดาเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ย่อมได้ศรัทธาในธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว นี้แลเป็นส่วนแห่งลาภที่เทวดาทั้งหลายได้ดีแล้ว ก็ศรัทธาของเทวดานั้นแล เป็นคุณชาติตั้งลง มีมูลเกิดแล้วประดิษฐานมั่นคง อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใครๆ ในโลก พึงนำไปไม่ได้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้แล เป็นส่วนแห่งการตั้งอยู่ด้วยดีของเทวดาทั้งหลาย ฯ

    ทุกท่านที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม และอาจจะมาจากเทวโลก ก็ได้รับอนุโมทนาจากเทวดา และควรที่จะให้ศรัทธาในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ตั้งมั่นคง ด้วยการเจริญกุศลเพิ่มขึ้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เมื่อใด เทวดาจะต้องจุติจากเทพนิกายเพราะความสิ้นอายุ เมื่อนั้นเสียง ๓ อย่างของเทวดาทั้งหลายผู้พลอยยินดีย่อมเปล่งออกไปว่า

    แน่ะท่านผู้เจริญ ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้วจงถึงสุคติ จงถึงความเป็นสหายแห่งมนุษย์ทั้งหลายเถิด ท่านเป็นมนุษย์แล้ว จงได้ศรัทธาอย่างยิ่งในพระสัทธรรม ศรัทธาของท่านนั้น พึงเป็นคุณชาติตั้งลงมั่น มีมูลเกิดแล้ว มั่นคงในพระสัทธรรม ที่พระตถาคตประกาศดีแล้ว อันใครๆ พึงนำไปมิได้ตลอดชีพ

    ท่านจงละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และอย่ากระทำอกุศลกรรมอย่างอื่นที่ประกอบด้วยโทษ กระทำกุศลด้วยกาย ด้วยวาจาให้มาก กระทำกุศลด้วยใจ หาประมาณมิได้ หาอุปธิมิได้ แต่นั้นท่านจงกระทำบุญอันให้เกิดสมบัตินั้นให้มาก ด้วยทาน แล้วยังสัตว์แม้เหล่าอื่นให้ตั้งอยู่ในพระสัทธรรม ในพรหมจรรย์ เมื่อใดเทวดาพึงรู้แจ้งซึ่งเทวดาผู้จะจุติ เมื่อนั้นย่อมพลอยยินดีด้วยความอนุเคราะห์นี้ว่า แน่ะเทวดา ท่านจงมาบ่อยๆ ฯ

    จบ จวมานสูตรที่ ๔

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    บุพนิมิตแห่งความตาย ๕ ประการ ย่อมเกิดขึ้น หรือปรากฏแก่เทพนั้น ผู้มีมรณะปรากฏแล้ว คือ ดอกไม้ที่เทพบุตรนั้นประดับนั้นจะเหี่ยว คือ หมดความงดงาม เหมือนโยนไปที่แดดในเวลาเที่ยง

    ผ้าที่เทพบุตรนั้นนุ่งห่มแล้ว มีสีเหมือนพระอาทิตย์อ่อนๆ ที่ทอแสงอยู่ในอากาศที่ปราศจากเมฆหมอกในสรทสมัย มีสีต่างๆ จางลง ไม่แวววาว เศร้าหมอง เหมือนถูกโยนลงไปในโคลนแล้วขยำในขณะนั้นทีเดียว

    ในขณะนั้น หยาดเหงื่อหลั่งไหลออกจากรักแร้ทั้งสองของเทพบุตรผู้มีร่างปราศจากคราบเหงื่อไคลมาก่อนเหมือนแก้วมณีโดยกำเนิดที่บริสุทธิ์ดีและเหมือนรูปหล่อทองคำที่ศิลปินผู้เชี่ยวชาญตกแต่ง แล้วก็ไม่ใช่ไหลออกจากรักแร้อย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่เหงื่อกาฬก็จะไหลออกจากร่างกายทั้งสิ้นของเทพบุตรนั้น

    ตอนปฏิสนธินั้น ร่างกายจะแผ่รัศมีพวยพุ่งไปตลอดสถานที่ แล้วแต่ว่าจะเป็นโยชน์ ๑ บ้าง ๒ โยชน์บ้าง จนถึงที่ประมาณ ๑๒ โยชน์บ้าง ตามอานุภาพ (คือ ตามผลของกุศลกรรม) จะปราศจากชราภาพ มีฟันหักและหนังย่นเป็นต้น ความหนาว ความร้อน จะไม่เข้าไปกระทบกระทั่ง จะเป็นเหมือนเทพธิดารุ่นสาว อายุราว ๑๖ ปี จะเป็นเหมือนเทพบุตรรุ่นหนุ่มอายุราว ๒๐ ปี แต่ในขณะที่จะจุติ ความผิดรูปผิดร่างจะเข้ามาแทนที่ คือ ร่างกายจะหมดรัศมี หมดเดช จะไม่ยินดี ไม่มีความชื่นใจในทิพอาสน์สำหรับเล่น แต่ว่าบุพนิมิตย่อมปรากฏเฉพาะเทวดา ผู้มีศักดิ์ใหญ่

    สำหรับลาภที่ประเสริฐที่สุด ที่เทวดาอนุโมทนาให้ผู้ที่จะเกิดในมนุษย์ คือ ได้ศรัทธาในพระศาสนา เพราะเหตุว่า

    การใช้เงิน ทอง นา และสวนเป็นต้น ย่อมนำความสุขในการใช้สอยมาให้สรรพสัตว์เพียงห้ามทุกข์ มีความหิวและความกระหายเป็นต้น บรรเทาความยากจนเงินทองเสียได้ เป็นเหตุให้ได้รับรัตนะมีแก้วแหวนเงินทอง ฉันใด แม้ศรัทธาที่เป็น โลกียะและโลกุตตระก็ฉันนั้น จะนำวิบากสุขที่เป็นโลกียะและโลกุตตระมาให้ตามควร จะหักห้ามทุกข์มีชาติชราเป็นต้นเสียได้ จะระงับความยากจนคุณธรรมเสียได้ จะเป็นเหตุให้ได้รับรัตนะมีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น และจะนำมาซึ่งสันติในโลกแก่ เหล่าชนผู้ปฏิบัติด้วยสัทธาธุระ สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

    ผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล เอิบอิ่มด้วยยศและโภคะ จะอยู่ประเทศใดๆ ก็เป็นผู้ที่เขาบูชาแล้วในประเทศนั้นๆ ทีเดียว ดังนี้

    ผู้มีศรัทธาเท่านั้น จะทำบุญมีทานเป็นต้นได้

    คิดดู ที่ไม่มีการให้ทาน ไม่มีการทำบุญประการต่างๆ ก็เพราะขาดศรัทธา เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการให้ทานและมีกุศลกรรมต่างๆ ขณะนั้นย่อมแสดงว่า เพราะมีศรัทธา

    แล้วจะประสบทรัพย์ที่เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจอันมโหฬาร และจะยังประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่นนั่นแหละให้ถึงพร้อมด้วยบุญนั้น แต่บุญเหล่านั้น จะไม่อำนวยประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าแก่ผู้ไม่มีศรัทธาเลย

    การที่เทวดาบอกให้มาบ่อยๆ คือ เมื่อได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ย่อมไปสู่สุคติภูมิ เพราะฉะนั้น เทวดาเหล่านั้นหวังจะให้เทพบุตรซึ่งจุติลงมาเกิด ในมนุษย์ได้บรรลุโสดาบัน จึงกล่าวอย่างนี้

    สำหรับเสียง เสียงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ แต่ก็มีเสียงที่ทำให้เกิดความไม่แช่มชื่นใจ และถ้าเป็นเสียงที่ดี ก็สามารถรักษาได้แม้โรค

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปฐมคิลานสูตร ข้อ ๔๑๕ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปอาพาธ ไม่สบาย เป็นไข้หนัก อยู่ที่ปิปผลิคูหา

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่าน พระมหากัสสปถึงที่อยู่ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสถาม ท่านพระมหากัสสปว่า

    ดูกร กัสสป เธอพออดทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาคลายลง ไม่กำเริบขึ้นแลหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบขึ้นไม่ปรากฏ แลหรือ

    ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์กำเริบหนัก ยังไม่คลายไป ความกำเริบขึ้นย่อมปรากฏ ความทุเลาไม่ปรากฏ

    แต่ละท่านคงต้องประสบกับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าในสังสารวัฏฏ์ แล้วแต่ว่าจะเป็นชาติไหน เพราะแม้ว่าจะเป็นถึงพระอรหันต์ เช่น ท่านพระมหากัสสปะ ก็ยังมีอกุศลกรรมในอดีตที่ทำให้ทุกขเวทนาของท่านมากจนกระทั่งในความรู้สึกของท่านนั้นทนไม่ได้จริง ๆ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร กัสสป โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน

    ดูกร กัสสป สติสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน … ฯลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

    ดูกร กัสสป โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้แล เรากล่าวไว้ชอบแล้ว อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

    ท่านพระมหากัสสปกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค โพชฌงค์ดีนัก ข้าแต่พระสุคต โพชฌงค์ดีนัก

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหากัสสปปลื้มใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ท่านพระมหากัสสปหายจากอาพาธนั้นแล้ว และอาพาธนั้นอันท่านพระมหากัสสปละได้แล้ว ด้วยประการฉะนี้แล

    จบ สูตรที่ ๔

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ได้ยินว่า เมื่อท่านพระมหากัสสปเถระตั้งใจฟังโพชฌงคภาวนานี้อยู่ ได้มีความดำรินี้ว่า เมื่อเราแทงตลอดอยู่ซึ่งสัจจะทั้งหลายในวันที่ ๗ แต่วันที่เราบวชแล้ว โพชฌงค์เหล่านี้ก็ปรากฏ ก็เมื่อท่านคิดอยู่ว่า คำสอนของพระศาสดานำสัตว์ออกจากทุกข์ ดังนี้ โลหิตก็ผ่องใส อุปาทายรูปก็หมดจด โรคหายไปจากกายเหมือน หยาดน้ำตกในใบบัวฉะนั้น

    สำหรับเรื่องของโพชฌงค์ แม้แต่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านก็อาพาธ เป็นไข้หนักอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปเยี่ยมและตรัสโพชฌงค์ ท่านก็หายจากอาพาธ เพราะว่าความป่วยไข้ของท่านเหล่านี้ เกิดจากความเย็นอ่อนๆ ซึ่งเกิดขึ้นด้วยการถูกต้องลมจากต้นไม้ที่มีดอกเป็นพิษที่บานแล้วที่เชิงภูเขา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๗ ตอนที่ ๑๔๖๑ – ๑๔๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564