แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1459


    ครั้งที่ ๑๔๕๙


    สาระสำคัญ

    อรรถกถาปริยายสูตร - โพชฌงค์ ๗ โดยปริยาย

    พระธรรมมีประโยชน์สูงสุดในชีวิต (เข้าใจพระธรรมด้วยการศึกษา และประพฤติปฏิบัติตาม)

    อฺ .เอก .พรรณนาเอตทัคคบุคคล - เรื่องท่านพระอานนท์เถระ

    ปรมัตถทีปนีอถ. ขุ. อิติวุตตก - เหตุผลที่กล่าว วุตฺตํ ไว้ ๒ ครั้ง

    ปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๘


    อรรถกถาปริยายสูตร ที่กล่าวถึงโพชฌงค์ ๗ โดยปริยายเป็นโพชฌงค์ ๑๔ แม้แต่วิริยสัมโพชฌงค์ก็มีความเพียร ๒ อย่าง จึงเป็นความเพียร ๒ หรือว่า เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ ๒ คือ ความเพียรทางกาย ๑ ความเพียรทางใจ ๑

    ความเพียรใดๆ ทั้งหมดที่ไม่ใช่ความเพียรทางใจ ความเพียรนั้นเป็นความ เพียรทางกาย ขณะที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามธรรมดา ก็เป็นความเพียรทางใจ แต่ถ้าเพียรที่จะไม่ให้เกิดการง่วงนอน หรือ เพียรที่จะให้อิริยาบถเป็นไปโดยสม่ำเสมอเพื่อจะได้สะดวกสบายในการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นความเพียรทางกาย

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านสามารถพิจารณาได้ถึงความเพียรที่มี ๒ อย่าง ซึ่งผู้ที่ มีปกติเจริญสติปัฏฐานย่อมสามารถรู้ได้ด้วยตนเองว่า ขณะใดเป็นความเพียรทางกาย ในขณะใดเป็นความเพียรทางใจ

    สำหรับอุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ ความวางเฉยในสัตว์ ๑ ความวางเฉย ในสังขาร ๑ นี่คือการที่ทุกท่านปรารถนาจะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวด้วยความสุขและ ความทุกข์ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจพระธรรม จะมีความหวั่นไหวมากในชีวิตประจำวัน เพราะบางขณะก็สุข แต่ความสุขนั้นก็ไม่ยั่งยืน ไม่นานเลย ต่อมาก็อาจจะเป็นความทุกข์ที่ใหญ่หลวงก็ได้ ถ้าใครสามารถวางเฉยได้ในสัตว์และสังขารทั้งปวง ผู้นั้นจะต้องเข้าใจพระธรรมด้วยการศึกษา ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามจนกว่าจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น พระธรรมมีประโยชน์สูงสุดในชีวิต ซึ่งจะทำให้คลายทุกข์โทมนัสทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นในกาลใดๆ ทั้งสิ้น แต่ต้องเข้าใจในพระธรรมด้วยการศึกษาอย่างละเอียด มิฉะนั้นจะทำให้เข้าใจเผิน หรือว่าเข้าใจผิด

    ขอกล่าวถึงลักษณะของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ซึ่งการศึกษาของพุทธบริษัทในครั้งโน้น ไม่มีใครเป็นเลิศเท่ากับท่านพระอานนท์

    อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พรรณนาเอตทัคคบุคคล เรื่องท่าน พระอานนท์เถระ มีข้อความว่า

    ในบทว่า พหุสสุตานัง แปลว่า ผู้เป็นพหูสูต เป็นต้น พระเถระแม้อื่นๆ ผู้มีพหูสูต ผู้มีความเพียร และผู้เป็นอุปัฏฐากก็มีอยู่ แต่ท่านพระอานนท์เถระเมื่อ เล่าเรียนพระพุทธพจน์ก็ดำรงอยู่ในคลังแห่งพระปริยัติ เล่าเรียนในพระศาสนาของ พระผู้มีพระภาค เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นพหูสูต

    ผู้ที่ฟังที่เป็นพหูสูตมีมาก แต่แม้กระนั้นผู้ที่เป็นเลิศในการเป็นผู้ฟังมาก ก็คือท่านพระอานนท์เถระ

    ท่านชื่อว่า เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้มีสติเล่าเรียนพระพุทธพจน์แล้วทรงจำไว้ มีกำลังมากกว่าพระเถระเหล่าอื่น เพราะเหตุนั้นท่านจึงชื่อว่า เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีสติ

    ในการฟังพระธรรมต้องมีสติด้วย ถ้าไม่มีสติการฟังนั้นจะไม่แจ่มแจ้ง เพราะว่าฟังไป ลืมไป แต่ถ้าฟังด้วยความตั้งใจ ด้วยสติที่ระลึกตามคำที่ได้ยิน และพิจารณา ทรงจำไว้ ย่อมจะทำให้เป็นผู้ที่มีกำลังในการทรงจำ

    ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอานนท์นอกจากจะเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูตแล้ว ยังเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีสติ และท่านพระอานนท์นั้น เมื่อตั้งอยู่ในบทหนึ่งได้ ก็เรียนรู้บทได้อีก ๖๐,๐๐๐ บท ย่อมรับรู้บททั้งหมดโดยครบถ้วนตามทำนองที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วนั่นแหละ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีคติ

    คือ เมื่อได้ยินได้ฟังเพียงบทเดียว แต่การรับพระธรรมที่ได้ฟังพร้อมทั้งการพิจารณาแทงตลอดในเหตุในผลของสภาพธรรมนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว คือ เป็นผู้ที่ไปในธรรมที่ได้ยินได้ฟังอย่างรวดเร็ว จึงเป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีคติ

    นอกจากนั้น ความพากเพียรในการเล่าเรียน ความเพียรในการสาธยาย ความเพียรในการทรงจำพระพุทธพจน์ และความพากเพียรในการถวายการอุปัฏฐากบำรุงพระผู้มีพระภาคของท่านพระอานนท์เถระนั้น ไม่เหมือนกับความพากเพียรของพระภิกษุเหล่าอื่น เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่า เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีฐิติ

    เพราะฉะนั้น สำหรับท่านพระอานนท์ ท่านก็เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุอื่นถึง ๕ ประการ คือ

    • ๑. เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต
    • ๒. เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีสติ
    • ๓. เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีคติ
    • ๔. เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้มีฐิติ
    • ๕. เป็นผู้เลิศกว่าพระภิกษุทั้งหลายผู้อุปัฏฐาก

    การฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จะเห็นได้ว่า ต้องอาศัยความละเอียดจริงๆ มิฉะนั้นคงจะไม่มีการพรรณนาความเป็นผู้เลิศของท่านพระอานนท์ ถึงอย่างนี้ว่า ท่านต้องไม่เป็นผู้ที่ฟังเผิน และไม่เป็นผู้ที่ทิ้งสิ่งที่ได้ฟังแล้ว แต่จะต้องไตร่ตรองพิจารณา จนกระทั่งสามารถรับพระธรรมได้ทั้งหมดในการสังคายนา ซึ่ง ท่านเป็นผู้ที่วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม

    ขอกล่าวถึงลักษณะของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นประโยชน์ที่ท่านพระอานนท์ได้ทรงจำไว้โดยละเอียดจริงๆ ซึ่งมีข้อความบางประการใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถาขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ข้อว่า เหตุผลที่กล่าว วุตตัง (วุตฺตํ) ไว้ ๒ ครั้ง

    ท่านผู้ฟังที่สนใจคงจะอ่านอรรถกถานี้เองได้ในตอนต้น ซึ่งเป็นข้อความที่ยาว ในข้อนี้กล่าวถึงเหตุผลที่กล่าววุตตัง ไว้ ๒ ครั้ง

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไรในที่นี้ท่านกล่าวคำว่า วุตตัง เหตัง ภควตา ไว้แล้ว จึงกล่าวคำว่า วุตตัง ไว้อีกเล่า

    แม้แต่ความละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของพยัญชนะที่ทำไมเมื่อกล่าวคำนั้นแล้ว จึงกล่าวคำนี้อีก ก็ต้องมีคำที่แสดงเหตุผลไว้ด้วย

    ตอบว่า ท่านกล่าวคำว่า วุตตัง ไว้อีก ก็เพื่อแสดงความแน่นอน โดยปฏิเสธการได้ฟังตามกันมา เหมือนอย่างว่า คนบางคนได้ฟังมาจากคนอื่นแล้วพูด ถ้าว่าเรื่องนั้นคนอื่นนั้นมิได้พูดเอง คือ คนอื่นนั้นมิได้พูดเอง เพราะมีคนอื่นพูดไว้อีกทีหนึ่ง และเรื่องนั้นคนอื่นนั้นก็มิได้พูดเอง โดยที่แท้ได้ฟังมาอีกต่อหนึ่ง ฉันใด ในที่นี้หาเป็นฉันนั้นไม่

    แสดงให้เห็นว่า พระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคตรัส ไม่ใช่ว่าพระองค์ฟังมาจากคนอื่น หรือคนอื่นพูดแล้วพระผู้มีพระภาคตรัสตาม แต่เป็นพระธรรมที่พระองค์ตรัสด้วยพระองค์เอง

    เป็นความจริง พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงสดับมาจากบุคคลอื่น ตรัสสิ่งที่พระองค์ทรงบรรลุด้วยพระองค์เองด้วยพระสยัมภูญาณ เพราะเหตุนั้น เพื่อแสดงความแปลกกันของวุตตัง ๒ คำนี้ ท่านจึงได้กล่าวคำว่า วุตตัง ซ้ำถึง ๒ ครั้ง

    มีคำอธิบายดังนี้ว่า ก็ข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ก็แลข้อนั้นพระผู้มีพระภาคเองตรัสไว้ หาใช่ผู้อื่นกล่าวไว้ไม่เลย หาใช่พระองค์ได้ทรงสดับต่อมาจากคนอื่นไม่ จริงอยู่ การกล่าวซ้ำ ย่อมช่วยให้เข้าใจความหมายของกันและกัน เพราะเหตุนั้น จึงไม่มีข้อเสียหายในเพราะการกล่าวซ้ำ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดที่ได้ฟัง คือ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสเอง ไม่ใช่ฟังจากบุคคลอื่นกล่าว

    แม้พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระธรรมเสนาบดี คือ ท่านพระสารีบุตรเป็นต้น ก็ฉันนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม ปรินิพพานแล้วก็ตาม ก็กล่าวคล้อยตามเทศนาของพระองค์ หาได้มีวาทะเป็นต่างๆ กันในเทศนานั้นไม่ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสไว้แล้ว ในกาลต่อมาจากนั้น แม้พระอริยสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์ก็กล่าวไว้ ท่านกล่าวคำว่า วุตตัง ไว้ อย่างนั้นซ้ำ ๒ ครั้ง ก็เพื่อจะแสดงว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคไม่ขัดแย้งกับ พระอริยเจ้าทั้งหลาย ดังพรรณนามาฉะนี้

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นพระอริยบุคคล คำที่กล่าวจะต้องเหมือนกับคำที่ พระผู้มีพระภาคตรัส และคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระอริยเจ้าทั้งหลายจะไม่แสดงเป็นคำอื่นเลย เพราะฉะนั้น พระอริยะ และพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคำเดียวกัน

    . กล่าว วุตตัง คือ กล่าวยืนยัน ใช่ไหม

    สุ. ขอความรู้ท่านที่รู้บาลีด้วย เชิญคุณนิภัทร

    นิ. ตามรูปศัพท์ วุตตัง เป็นกิริยา แปลว่า อันท่านกล่าวแล้ว ตรัสไว้แล้ว

    สุ. แสดงให้เห็นว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้แล้ว ที่ท่านพระอานนท์กล่าว จะต้องกล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาพระธรรม คือ ผู้ที่กล่าวตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ไม่ใช่เป็นของบุคคลหนึ่งบุคคลใด แม้แต่ในครั้งปฐมสังคายนา ท่านพระอานนท์ก็กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคกล่าวแล้ว

    การศึกษาธรรม การพิจารณาธรรม จะไม่ใช่การศึกษาธรรมของบุคคลอื่น นอกจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้ว

    . ในสมัยพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ หรือแม้แต่ในสมัยหลังที่ยังมีพระอรหันต์หรือพระอริยบุคคลอยู่ การกล่าวหรือการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ก็คงจะเป็นแนวเดียวกันหมด คือ ไม่มีการแย้ง หรือค้าน แต่ในปัจจุบันนี้ ทั้งๆ ที่เอาพระสูตรหรือพระพุทธพจน์มากล่าว เช่น มหาสติปัฏฐานสูตร สำนักไหนก็อ้างทั้งนั้นว่า เอามาจากมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่มีสำนักไหนบอกว่าที่สอนนั้นไม่ใช่มหาสติปัฏฐานสูตร จึงไม่มีใครสามารถยืนยันหรือชี้ขาดลงไปได้ว่า มหาสติปัฏฐานสูตรที่อ้าง ท่านอ้างมาถูกหรือผิด ผมเห็นว่า เป็นอันตรายอย่างมาก อยากจะให้ท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะว่า การศึกษาพระธรรมวินัยจะศึกษาอย่างไรจึงจะได้อรรถ คือ เนื้อความที่ถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์

    สุ. ศึกษาโดยละเอียดจริงๆ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ถ้าได้อ่านและพิจารณาจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องตรวจ สอบทานกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง และไม่ควรจะเว้นพยัญชนะ ซึ่งดูเหมือน ไม่สำคัญ แต่ความจริงสำคัญ เช่น ในเรื่องของสติปัฏฐานมีคำว่า เป็นผู้มีปกติระลึกลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม เพราะฉะนั้น อย่าทิ้งคำว่า มีปกติ หรือเป็นปกติ เป็นผู้มีปกติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ได้ยินว่า บางท่านฟังเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนาและเข้าใจว่าเข้าใจแล้ว โดยปริยัติ แต่พอถึงปฏิบัติก็บอกว่า เนื่องจากสติไม่เกิด จึงต้องไปสำนักหนึ่งสำนักใด หรือต้องเข้าห้องเพื่อที่จะให้สติเกิด

    แสดงให้เห็นว่า เวลาฟัง เข้าใจว่าตนเองเข้าใจแล้ว แต่การที่จะรู้ว่า เข้าใจจริงๆ หรือเปล่า ต้องดูจากการปฏิบัติว่า ปฏิบัติอย่างที่เข้าใจ หรือไม่ได้ปฏิบัติอย่างที่เข้าใจ

    เพราะถ้าเข้าใจจริงๆ คือ เป็นผู้มีปกติ ขณะนี้ เป็นปกติ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาจะต้องสามารถประจักษ์แจ้งความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่เมื่อมีความต้องการที่จะให้สติเกิด ขณะนั้นลืมคำว่า อนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่มีความต้องการที่ชักนำ ที่เมื่อสติไม่เกิดก็ต้องทำอย่างอื่น แทนที่จะระลึกทันทีที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏตามเหตุตามปัจจัย

    สภาพธรรมในขณะนี้ ตามปกติ มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดเป็นไปตามธรรมชาติ โดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่ามีบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะไปสามารถสร้างหรือบังคับให้ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปตามปกติเป็นอย่างนี้ แต่ทุกขณะในชีวิตของแต่ละคน เป็นสภาพธรรมตามปกติ ที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นเป็นปกติอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามปกติ

    ผู้ที่เข้าใจว่า เข้าใจ แต่เมื่อไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ย่อมแสดงว่า ยังไม่เข้าใจสิ่งที่ตนเองคิดว่าเข้าใจแล้ว เพราะถ้าเข้าใจจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีปกติระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทันที โดยไม่ไปทำอย่างอื่น มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นตัวตนพยายามที่จะทำอย่างอื่นขึ้น โดยลืมว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นในขณะนี้เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามธรรมชาติ ตามปกติ ซึ่งปัญญาจะต้องแทงตลอดจริงๆ

    เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ซึ่งมีมากเหลือเกินในพระไตรปิฎก ควรที่จะได้พิจารณาให้มั่นคงว่า ต้องเป็นตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ต้องเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ละเอียดและพิสูจน์ได้ โดยไม่ใช่ความคิดความเห็นของบุคคลอื่น นอกจากเป็นการศึกษาตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ตามที่ได้กล่าวแล้ว กล่าวแล้ว

    ข้อความต่อไป เรื่องของวุตตัง คือ ที่ได้กล่าวแล้ว มีว่า

    อีกประการหนึ่ง ท่านกล่าวคำว่า วุตตัง ไว้ ๒ ครั้ง ก็เพื่อแสดงว่า พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคมีนัยอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ตรัสไว้ แม้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องชาติ โคตร และจำนวนอายุเป็นต้น แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ไม่มีความแตกต่างกันด้วยพระธรรมเทศนา เหมือนกับที่ไม่ทรงมีความแตกต่างกันด้วยพระคุณมีทศพลญาณเป็นต้น

    พระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสไม่ขัดกันเอง และตรัสคำหน้าไม่ขัดแย้งกับคำหลัง ด้วยพระองค์เอง เพราะเหตุนั้น จึงสมด้วยคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย และพระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลายในปัจจุบันตรัสไว้แล้วด้วยพระองค์เอง เมื่อก่อนเป็นฉันใด พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ก็ตรัสคำนี้ไว้ฉันนั้น

    ท่านกล่าวคำว่า วุตตัง ไว้ ๒ ครั้ง เพื่อแสดงว่า คำสอนของพระพุทธเจ้ามี นัยเดียวกับที่พระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ตรัสไว้ และมีนัยเดียวกับที่พระองค์เองตรัสไว้ในพระสูตรอื่นๆ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ความไม่ขัดแย้งกันแห่งเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในที่ทุกแห่ง เป็นอันท่านแสดงไว้แล้วด้วยคำนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๖ ตอนที่ ๑๔๕๑ – ๑๔๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564