แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1488


    ครั้งที่ ๑๔๘๘


    สาระสำคัญ

    อส.รูปกัณฑ์ ทุกนิทเทส - แสดงกายายตนะ

    การศึกษาธรรม - เป็นการศึกษาชีวิตแต่ละขณะ

    รูปที่เรียกว่ากายายตนะเพราะเหตุว่าเป็นถิ่นเกิดหรือว่าเป็นที่ประชุมของธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๒๘


    . พระพรหมมีกายปสาทไหม

    สุ. ไม่มี

    . พระพรหมรู้โผฏฐัพพะไหม

    สุ. ไม่รู้

    . ไม่รู้เลยหรือ

    สุ. พรหมบุคคลในพรหมโลกไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท ไม่มี กายปสาท มีกาย แต่ไม่มีกายปสาท สบายไหม พ้นทุกข์ไปมาก

    . ท่านไม่อาจรู้ทางใจได้หรือ

    สุ. พระพรหมรู้โผฏฐัพพะไม่ได้

    . ไม่มีทางเลย

    สุ. โผฏฐัพพะมีจริงๆ ลักษณะที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน ที่ตึง ที่ไหว มีจริง แต่จะปรากฏเมื่อมีกายปสาทเท่านั้น ถ้าไม่มีกายปสาทก็ไม่มีการประจักษ์ หรือรู้ในลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวได้เลย แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่ง จะไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็ต้องเกิด

    ใครที่ไม่อยากมีกายปสาท แต่ถ้าไม่ได้เหตุที่สมควรแก่ผล คือ ไม่ใช่ พรหมบุคคล ก็ต้องมีกายปสาท

    . ทุกข์ที่เกิดจากกรรม เป็นผลของกรรมที่เรียกว่า วิบาก เป็นทุกขเวทนาทางกาย หรือสุขเวทนาทางกาย เกิดจากผลของกรรมอย่างเดียว ใช่ไหม

    สุ. ที่ทรงแสดงไว้ มีปัจจัยอื่นด้วยได้ คือ อาจจะเกิดเพราะจิต หรือ เพราะอุตุ หรือเพราะอาหารได้ แต่โดยตรง กายปสาทต้องมีกรรมเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น กายวิญญาณโดยขณะจิตแล้ว ต้องเป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรม

    . ส่วนทุกข์ที่ว่ามีกันมากๆ ที่เกิดทางใจ ที่ทุกคนบ่นว่า ทุกข์เหลือเกิน ก็เป็นทุกข์ที่เกิดจากกิเลสทั้งนั้น ใช่ไหม ถ้าเกี่ยวกับทางใจเป็นทุกข์ที่เกิดจากกิเลสทั้งนั้น

    สุ. วันนี้มีทุกข์ไหม ต้องถามตามความเป็นจริง คือ การศึกษาธรรมเป็นการศึกษาชีวิตแต่ละขณะ ถ้าถามว่า วันนี้มีทุกข์ไหม จะตอบว่าอย่างไร ถ้าตอบว่า มี ก็พิจารณาดูว่า ที่ว่าเป็นทุกข์นี่เรื่องอะไร เจ็บตรงไหน ปวดตรงไหน คันตรงไหน หรือเป็นเรื่องอื่น

    . ส่วนใหญ่ที่ว่าทุกข์เท่าที่สังเกตตัวเองรู้สึกว่า จะเนื่องมาจากความกังวลในสิ่งต่างๆ

    สุ. เพราะฉะนั้น เห็นได้เลยว่า ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต เป็นอกุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต นี่เป็นความสำคัญที่จะต้องรู้ชัดว่า จิตประเภทใดเป็นชาติใด จิตที่ เป็นเหตุ คือ กุศลจิตและอกุศลจิต จิตที่เป็นผล คือ กุศลวิบากจิตและอกุศลวิบากจิต เพราะฉะนั้น สภาพที่กังวลไม่ใช่ทุกขกายวิญญาณ จึงไม่ใช่วิบาก

    ด้วยเหตุนี้ ความรู้สึกกังวล ความรู้สึกไม่แช่มชื่น ความรู้สึกขัดเคือง ทั้งหมด เป็นโทสมูลจิตซึ่งเป็นอกุศลจิต เป็นทุกข์ใจ เป็นทุกข์ที่เกิดเพราะกิเลส คือ โทสะ และอวิชชา ไม่ใช่เป็นกายวิญญาณซึ่งเป็นวิบากจิต

    . พระพรหมขณะที่เดิน รู้ว่าเดินหรือเปล่า

    สุ. พระพรหมจะเดินที่ไหน

    . เกิดเป็นพระพรหม ไม่มีการเดินไปไหนหรือ

    สุ. เดินที่ไหน

    . บนรูปพรหมภูมิ

    สุ. มีซีเมนต์ มีอะไรร้อนๆ มีอะไรหรือเปล่า ก็ต้องไปท่องเที่ยวที่พรหมโลกกันอีก แต่ความจริงแล้วสำหรับผู้ที่มีกายปสาท ต้องแล้วแต่ผลของกรรม ถ้าเกิดในสุคติภูมิ เช่น ในสวรรค์ ก็ไม่เดือดร้อนทางกายเท่ากับในภูมิมนุษย์ และในภูมิมนุษย์นี้ก็ยังเดือดร้อนทางกายน้อยกว่าในนรก เป็นลำดับขั้นไป ถ้าเป็นพรหมบุคคล ไม่ต้องกระทบเย็นร้อนทางกาย อ่อนแข็งทางกายเลย

    . ถ้าพระพรหมเดิน ก็ไม่รู้ว่าตัวเองเดิน

    สุ. มีจิตหรือเปล่า

    . ถ้าอย่างนั้นต้องรู้ได้ทางจิต

    สุ. ยกมือโบกไปในอากาศ รู้ไหม

    . ต้องอาศัยทางมโนทวารเท่านั้น

    สุ. ไม่พูดถึงทางไหนทั้งสิ้น พูดถึงว่า โบกมือไปในอากาศเป็นทุกข์ไหม เจ็บปวดที่ไหนหรือเปล่า

    . ปกติปุถุชนก็ไม่เจ็บปวด พระพรหมไม่มีกายปสาท ก็ไม่รู้ว่า…

    สุ. คนที่มีกายปสาท โบกมือไปในอากาศนี่เจ็บปวดไหม

    . ไม่เจ็บปวด

    สุ. ทำไมไม่เจ็บปวด ในเมื่อมีกายปสาท ยังไม่เจ็บปวดได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิสนธิในสวรรค์ยังไม่ต้องถึงพรหม ยังมีกายปสาท แต่กุศลวิบาก มีมากกว่าภูมิมนุษย์ มนุษย์โบกมือในอากาศก็ไม่เดือดร้อน นี่ขั้นภูมิมนุษย์ ทั้งๆ ที่ต้องมีอกุศลวิบากกายวิญญาณ และมีกุศลวิบากกายวิญญาณด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดในสุคติภูมิสูงขึ้น กุศลวิบากกายวิญญาณก็มีมากตามลำดับขั้น และถ้าเกิด ในภูมิที่ต่ำ อกุศลวิบากกายวิญญาณก็ต้องมีมาก ตามลำดับขั้น

    ทำไมพระพรหมจะไม่รู้ว่า ไปไหนมาไหน ในเมื่อคนที่มีกายปสาท โบกมือไป ในอากาศก็รู้ แต่ไม่เจ็บ ไม่ปวด

    . พระพรหมคงไม่รู้อ่อน รู้แข็งแล้ว เพราะว่า ...

    สุ. ถ้าไม่มีกายปสาท รู้ไม่ได้เลย

    . อย่างพระพรหมเวลาลงมา

    สุ. เคยเห็นพระพรหมที่ไหน

    . ในพระสูตร ที่พระพรหมสนังกุมารพรหมไปแสดงธรรมที่พระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ พระพรหมก็ไปเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คงต้องมีการเดินบ้าง การนั่งบ้าง แต่ไม่รู้ ถ้าไม่มีกายปสาท

    สุ. ท่านผู้ฟังกำลังนั่ง เห็น และได้ยิน ในขณะที่เห็นไม่รู้หรอกว่า เก้าอี้นั่นอ่อนหรือแข็ง ถูกไหม ในขณะที่ได้ยินเสียงก็ไม่รู้อีกเหมือนกันว่า กระทบสัมผัสสิ่งที่เย็นหรือร้อน เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละขณะ ไม่ใช่ว่าทุกท่านที่กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้มีแต่กายปสาทเป็นปัจจัยให้กายวิญญาณเกิด แต่ยังมีปัจจัยให้ โสตวิญญาณเกิดได้ยินเสียงและทางใจรับรู้คำที่ได้ยิน ทางตาก็เห็น และตรึกนึกไปตามสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ควรมีกายวิญญาณเกิดในวันหนึ่งๆ มาก แต่ จะมีทวารอื่นมากกว่า ถ้าขณะใดที่ไม่มีกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ทำให้กระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ ก็จะเป็นเรื่องความนึกคิดทางตา ทางหู ทางอื่นๆ

    . ถ้าอย่างนั้น พระพรหมต้องอาศัยแต่ทางมโนทวารเท่านั้นรู้อารมณ์ เว้นรู้ทางกาย ที่ว่าเดินไป นั่งไป การนั่ง การเดิน

    สุ. รูปพรหมบุคคลมีจักขุปสาทจึงเห็น มีโสตวิญญาณจึงได้ยิน และ มีมโนทวาร

    . ถ้าเป็นอรูปพรหม จะมีอะไรบ้าง

    สุ. ไม่มีรูปทั้งหมด เพราะฉะนั้น มีแต่จิตและเจตสิก

    . ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า เวลายกมือขึ้นไหวไปในอากาศ ไม่มีทุกขเวทนาเกิดขึ้นก็สามารถรู้ตัวได้ ขณะนั้นน่าจะรู้ตัวได้เพราะกายวิญญาณรู้วาโยธาตุ

    สุ. แล้วแต่ว่ากายวิญญาณจะเกิดหรือเปล่า แล้วแต่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหรือเปล่า ถ้าโบกมือไปในอากาศเฉยๆ รู้สึกเป็นอย่างไร

    . ถ้าโบกมือไปในอากาศเฉยๆ และกายปสาทไม่มี ถ้าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ก็ไม่น่าจะรู้ตัวว่าเคลื่อนไหวไป การเคลื่อนไหวไปน่าจะปรากฏได้เพราะกายวิญญาณ รู้ลักษณะ ถึงแม้จะไม่รู้ลักษณะของทุกขกายวิญญาณ แต่น่าจะรู้ลักษณะของ วาโยธาตุ ธาตุตึงไหว

    สุ. เพราะฉะนั้น จะรู้ลักษณะของธาตุตึงหรือธาตุไหวได้ด้วยอะไร สภาพธรรมใดเป็นสภาพที่รู้ตึงหรือไหว

    ถ. กายวิญญาณ

    สุ. กายวิญญาณ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับกายวิญญาณ ถ้ากายวิญญาณไม่เกิด จะไม่รู้

    . ถ้าไม่มีกายปสาท กายวิญญาณก็เกิดไม่ได้

    สุ. แน่นอนที่สุด

    . แล้วอย่างนี้ปัญหาที่ถามเมื่อกี้ ตามการศึกษา พรหมบุคคลมีแต่เฉพาะจักขุปสาทและโสตปสาท กายปสาทไม่มี เวลาพรหมบุคคลเคลื่อนที่ไปไหน เวลารู้ตัวน่าจะรู้ตัวด้วยปสาทอื่น ใช่ไหม

    สุ. รู้ตัว หมายความว่ารู้อะไร

    . รู้ตัวว่าเคลื่อนไหวไป

    สุ. นั่นสิ เพราะฉะนั้น ต้องจำกัดให้แคบลงอีกว่า รู้ตัวนั้น รู้อะไร

    . สมมติว่าพรหมบุคคลรู้ตัวว่า เคลื่อนไหวไป ขณะนั้นจะรู้โดยอาศัยปสาทใด

    สุ. ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ขณะนั้นไม่ใช่โดยกายปสาท พระพรหมไม่มีทางรู้ว่าอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวเลย เพราะเหตุว่า ...

    . แต่จะรู้ว่า ตัวเองเคลื่อนไหวไป รู้ได้ใช่ไหม

    สุ. แต่ไม่ใช่รู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว

    . อาจจะรู้โดยเห็น ใช่ไหม โดยจักขุปสาท หรือเสียง ใช่ไหม

    สุ. ขอประทานโทษ ยกมือขึ้น ยังไม่ได้เป็นรูปพรหม รู้ แต่ไม่ใช่รู้อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เพียงแต่รู้ ใช่ไหม

    . ใช่ แต่รู้นั่นต้องเนื่องกับกายปสาท ถ้าไม่มีกายปสาท ...

    สุ. ถ้ารู้โดยกายปสาท ต้องรู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวเท่านั้น ที่เป็นโผฏฐัพพะ

    . แต่ขณะที่ยกมือขึ้น ถ้าเห็นก็รู้เหมือนกัน ถ้าเห็น เราก็รู้ได้ว่าเรากำลังยกมือขึ้น โดยจักขุปสาท แต่ขณะนั้นไม่ได้รู้เพราะกายปสาท

    สุ. พรหมมีกายวิญญัตติรูปไหม พรหมมีวิการรูป ๓ ไหม

    . ถ้ามีวิการรูป ๓ ต้องมีมหาภูตรูป ๔

    สุ. วิการรูป ๓ เกิดจากจิตได้ เกิดจากอุตุได้ พรหมไม่ต้องบริโภคอาหาร เพราะฉะนั้น วิการรูปของพรหมจึงเกิดจากจิตและเกิดจากอุตุจึงเคลื่อนไหวได้ แต่ไม่มีกายปสาทรูปที่จะรู้อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แต่เคลื่อนไหวได้

    . เข้าใจแล้ว

    . พรหมไม่รู้จักอ่อนแน่ๆ เลย ใช่ไหม

    สุ. พรหมไม่มีฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท มีเพียงจักขุปสาท และโสตปสาท เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ารูปจะมีจริง แต่ถ้าไม่มีปสาทที่จะกระทบกับ รูปนั้น รูปนั้นก็ปรากฏไม่ได้ อย่างคนที่ตาบอด สีสันวัณณะมีจริง แต่เมื่อไม่มี จักขุปสาท ก็ไม่สามารถให้รูปนั้นปรากฏได้

    . พระพรหมที่ระลึกชาติได้ก็มี ใช่ไหม

    สุ. ไม่เกี่ยวกับกายปสาท

    . ไม่เกี่ยว แต่ถ้าระลึกถึงชาติที่เคยเกิดในนรก ท่านก็ไม่ทราบถึงสภาวะ ที่ร้อน

    สุ. เป็นเรื่องคิด เป็นเรื่อง ไม่ใช่เป็นลักษณะที่ปรากฏกับพรหมบุคคล. ลักษณะที่ร้อนจะไม่ปรากฏหรือ

    สุ เวลานี้จะนึกถึงเรื่องการกระทบในอดีตก็ย่อมนึกได้ แต่โผฏฐัพพะไม่ได้กำลังกระทบกับกายปสาทในขณะนี้

    . แสดงว่า ท่านไม่รู้จักเลยว่า ร้อนเป็นอย่างไร เย็นเป็นอย่างไรหรือ

    สุ. ไม่มีกายปสาท เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะรู้โผฏฐัพพะ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมที่มีได้ เมื่อไม่กระทบกับกายปสาทก็ไม่สามารถปรากฏได้ แม้ว่ามี

    . แต่ถ้าท่านระลึกถึง แม้ในขณะนี้เราไม่ได้กระทบกับร้อน แต่ก็รู้จักร้อน อาจจะนึกถึงร้อนที่เป็นอดีตที่เคยกระทบมา

    สุ. แต่ในขณะนี้ โผฏฐัพพะไม่ได้ปรากฏด้วยการนึก การนึกถึงร้อนกับ การที่ลักษณะของร้อนกำลังปรากฏ ไม่เหมือนกัน ใช่ไหม

    . แต่ท่านรู้จักร้อนได้ ใช่ไหม

    สุ. มีสัญญา ความจำได้ แต่ไม่ใช่ว่ามีปสาทที่จะให้รูปนั้นๆ ปรากฏ

    . แสดงว่า มีร้อนเป็นอารมณ์ได้ ใช่ไหม

    สุ. นึกถึงเรื่อง

    . นึกถึงเรื่องหรือ

    สุ. ใช่ เวลานี้นึกถึงอะไรที่เย็นๆ ก็ยังนึกได้ แต่ลักษณะเย็นนั้นไม่ได้กระทบกับกายปสาทเลยในขณะที่กำลังคิด

    เรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ ขณะนี้ทุกท่านต้องการอะไร ต้องการสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องการเสียง ต้องการกลิ่น ต้องการรส ต้องการโผฏฐัพพะ จึงมีปสาทที่กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้น ขอให้คิดดูจริงๆ อย่างคราวก่อนมีท่านที่ถามว่า พรหมจะไม่รู้สึกตัวหรือว่ากำลังเดิน หรือกำลังมีอาการกิริยาต่างๆ ไม่ต้องพรหม แม้แต่ทุกท่าน ในขณะนี้ การที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นต้องตรงตามความเป็นจริง ในขณะนี้รู้ตรงแข็ง หรือรู้ท่าทางกิริยาอาการ มีความปรารถนาเย็นๆ ถ้าอากาศร้อน ใช่ไหม อย่างเช่น ดื่มน้ำเย็น หรือน้ำแข็ง มีความต้องการธาตุนั้น โดยที่ว่า ไม่ใช่ต้องการให้มือเคลื่อนไหวไปและไม่กระทบกับสิ่งนั้น แต่ขอให้ดูว่าสิ่งที่ต้องการนั้นคืออะไร คือ ลักษณะที่เย็น บางครั้งอาจจะต้องการสภาพที่แข็ง บางครั้งอาจจะต้องการสภาพที่อ่อน เป็นเหตุให้รูปไหวไปเพื่อจะได้มีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์เท่านั้น

    ซึ่งความติดหรือความต้องการจริงๆ ไม่ใช่อย่างอื่น แต่ติดหรือพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ส่วนการเคลื่อนไหวไป เพียงเพื่อให้ได้กระทบสัมผัสสิ่งนั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องการเคลื่อนไหว แต่ความจริงแล้วต้องการที่จะกระทบสัมผัสรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ใครรู้ว่า กำลังนั่ง

    . ทุกคน

    สุ. นึก ใช่ไหม แต่ขณะจริงๆ ที่ปรากฏ คือ ทางตา สีสันวัณณะกำลังปรากฏ ต้องการเห็น ไม่สนใจเลยว่าจะนั่ง จะนอน ถูกไหม ในเมื่อกำลังมีความต้องการรูปที่ปรากฏทางตา หรือต้องการเสียงที่ปรากฏทางหู อย่างเวลาที่ฟังเพลง ไม่สนใจอีกเหมือนกันว่าจะนั่งหรือจะนอน เพราะต้องการเสียง ใช่ไหม แต่การที่จะให้เสียงนั้นเกิดขึ้น แล้วแต่ว่ากิริยาอาการในขณะนั้นจะเคลื่อนไหวไปอย่างใด แต่ที่ต้องการจริงๆ คือ เสียง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าจะมีรูปร่างท่าทางอะไรที่จะต้องรู้ ที่จะต้องปรากฏ เพราะความมุ่งหมายอยู่ที่ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๙ ตอนที่ ๑๔๘๑ – ๑๔๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564