แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1491


    ครั้งที่ ๑๔๙๑


    สาระสำคัญ

    กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ระลึกลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย)

    อิริยาบถปิดบังทุกขลักษณะ

    อรรถสาลินี - ลักษณะ ๔ ของอาโปธาตุ

    สํ.สฬ.อถ.อุทกสูตรที่ ๑๐

    สํ.สฬ. อถ.ปฐมทารุขันธสูตรที่ ๔ - พิจารณาตนเอง ตามความเป็นจริง

    สํ.สฬ.อถ.อาสีวิสสูตรที่ ๑

    สํ.สฬ.สัลลัตถสูตร - ความต่างกันของปุถุชนกับพระอริยบุคคล เวลาที่เกิดทุกขเวทนา


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๘


    . ในมหาสติปัฏฐานสูตร อิริยาบถบรรพว่าด้วยอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ในการเจริญสติปัฏฐาน ส่วนใหญ่จะเจริญเกี่ยวกับธาตุทั้ง ๓ คือ ปฐวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เว้นอาโปธาตุ ใช่ไหม ยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งสักที เพราะว่าอิริยาบถเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ ขณะยืนจะไปกำหนดอาการยืน หรือ ขณะนั่งจะกำหนดอาการนั่ง ท่านั่ง ขณะนอนกำหนดอาการนอน ท่านอน อะไรอย่างนี้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงกำหนดเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้ นอกจากว่าในขณะนั่งมีอารมณ์อะไรปรากฏ มีอารมณ์ปรากฏทางตา หรือมีเสียงทางหู หรือ มีกลิ่นทางจมูก หรือมีการกระทบทางกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เราก็กำหนดอย่างนั้น แต่ในเรื่องอิริยาบถ ตัดออกไปเลย ความเข้าใจอย่างนี้จะถูกหรือเปล่า

    สุ. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพนี้แสดงแล้วว่า เป็นการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย เพื่อที่เมื่อสติระลึกแล้วจะรู้ว่า สักแต่ว่ากาย คือ เป็นแต่เพียงรูปซึ่งไม่ใช่เรา หรือไม่ใช่ของเรา เพราะเคยยึดถือกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานหมวดนี้จึงระลึกส่วนที่เป็นกายที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา แล้วแต่ว่าส่วนใดของกายจะปรากฏ

    ลมหายใจ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกาย เพราะฉะนั้น ถ้าระลึกที่ลมหายใจ ต้องมีลักษณะที่เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นรูปที่ปรากฏที่จะพิจารณาเห็นว่า ไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นแต่เพียงรูปอย่างหนึ่ง เราจึงจะไม่มี

    ไม่ใช่ว่าเมื่อระลึกโดยกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว ยังคงมีรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าอยู่ ถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่มีทางละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ แต่รูปใดๆ ก็ตามตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นสิ่งที่เมื่อระลึกแล้วจะรู้ความจริงของกายว่า เป็นแต่เพียงรูป ซึ่งไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ถ. อิริยาบถ ๔ เป็นส่วนหนึ่งของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านกล่าวว่า เมื่อเดินก็รู้ว่าเราเดิน เมื่อยืนก็ให้รู้ว่าเรายืน เมื่อนั่งก็ให้รู้ว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็ให้รู้ว่า เรานอน ที่ท่านกล่าวอย่างนี้ จุดมุ่งหมายที่แท้จริงที่ท่านต้องการให้เรารู้คืออะไร อย่างในขณะเดินอย่างนี้ ที่ให้รู้ว่าเราเดิน

    สุ. รู้สภาพความจริงของกายที่ปรากฏในขณะที่เดิน อย่าพึงยึดถือทรงจำไว้ว่ามีกายทั้งแท่งตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ในขณะที่กำลังเดิน เมื่อกายส่วนใดลักษณะใดปรากฏ ก็ให้พิจารณาจนกระทั่งรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของรูปที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น

    ถ. ไม่ใช่ไปยึดโยงถึงเรื่องว่า ตอนนี้ขณะนี้เรากำลังเดิน นี่รูปร่างกายที่กำลังเดินอยู่ ไม่ใช่นึกอย่างนั้น

    สุ. ถ้าไม่มีลักษณะปรากฏ จะเป็นสติปัฏฐานไม่ได้ ต้องมีลักษณะของรูปจริงๆ ที่ปรากฏ ทางทวารหนึ่งทวารใด

    ถ. เพราะฉะนั้น เรื่องอิริยาบถ เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้

    สุ. เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพื่อให้รู้ว่า ไม่มีกายที่เป็นรูปร่างตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่จะพึงยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ เพราะว่าตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเป็นรูปจริง แต่ว่ารูปใดปรากฏ ขณะที่รูปนั้นปรากฏต้องเพิกอิริยาบถจึงจะรู้ว่าไม่มีเรา ถ้าตราบใดยังคงเป็นอิริยาบถ ยังทรงจำไว้อยู่ ไม่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ จะละความยึดถือว่าเป็นเราไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าในขณะนี้ จะยืนหรือนั่งก็ตาม ลักษณะของรูปใดปรากฏ กำลังยืนอยู่แล้ว ไม่ต้องไปยืนที่ไหนอีก กำลังเดินอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำเดินที่ไหนอีก ขณะนั้นลักษณะของรูปใดที่กายปรากฏในขณะที่ยืน ในขณะที่เดิน ก็จะได้รู้ว่า ในขณะนั้นไม่ใช่เรา

    ถ. จุดมุ่งหมายของท่าน ก็เพื่อต้องการให้เพิกอิริยาบถอย่างนั้นหรือ

    สุ. แน่นอนที่สุด ถ้ายังไม่เพิกอิริยาบถ อิริยาบถก็ปิดบังทุกขลักษณะ ถ้ายังมีกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าจะบอกว่า ไม่มีตัวตน หรือไม่มีเรา ไม่มีอัตภาพ ไม่มีร่างกาย ก็ไม่ได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง พยัญชนะชวนให้เข้าใจผิด นอกจากที่กล่าวว่า เมื่อเดินให้รู้ว่าเราเดิน ยังมีว่า เมื่อเคี้ยวก็ให้รู้ว่าเราเคี้ยวอีก

    สุ. ทุกขณะ

    ผู้ฟัง พยัญชนะชวนไปจริงๆ อาจารย์

    สุ. ถ้าอย่างนั้น แต่ละคนเวลาเดิน นึกหน้าตาคนอื่นกำลังเดินไม่ได้ ใช่ไหม นอกจากจะนึกท่าทางแล้ว ยังต้องนึกหน้าของเราอีกเท่าที่เราพอมองเห็นในกระจกว่า หน้าเราเป็นอย่างไร ก็ต้องมีรูปหน้าตาอย่างนั้น หูอย่างนั้นด้วยที่กำลังเดิน จะเอาแต่เพียงท่าทางเท่านั้นหรือ แต่ตามความเป็นจริงที่จะรู้ว่าไม่มีตัวตน ก็เมื่อปัญญาประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่างและอย่างอื่นไม่ปรากฏ เกิดแล้วดับแล้ว จึงไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ถ้ายังไม่ประจักษ์ว่า ไม่มีอิริยาบถ ยังไม่เพิกอิริยาบถ จะละความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนไม่ได้

    ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเป็นมหาภูตรูป สำหรับที่เป็นโผฏฐัพพะนั้น มีเพียง ๓ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม สำหรับธาตุน้ำไม่ใช่โผฏฐัพพารมณ์ เพราะว่าลักษณะของธาตุน้ำหรืออาโปธาตุ คือ

    บทว่า อาโป ความเอิบอาบเป็นการแสดงสภาวะ อาโปนั่นแหละเรียกว่า อาโปคตัง ธรรมชาติที่เอิบอาบ

    ที่ชื่อว่าสิเนโห ความเหนียว ด้วยอำนาจที่เป็นยางใยแห่งความเหนียวนั่นแหละ เรียกว่า สิเนหคตัง ธรรมชาติที่เหนียว

    บทว่า พันธนัตตัง รูปัสสะ ธรรมชาติเครื่องเกาะกุมรูป ได้แก่ ธรรมชาติเป็นเครื่องประกอบภูตรูปมีปฐวีเป็นต้น

    จริงอยู่ อาโปธาตุควบคุมวัตถุทั้งหลายมีแท่งเหล็กเป็นต้นไว้ แล้วย่อมทำให้ติดกัน ธรรมชาติทั้งหลายมีก้อนเหล็กเป็นต้นเหล่านั้น ชื่อว่าติดกันอยู่ เพราะความที่อาโปธาตุนั้นเป็นเครื่องเกาะกุมไว้ แม้ในแผ่นหิน ภูเขา ต้นตาล หน่อไม้ งาช้าง และเขาโคเป็นต้น ก็นัยนี้เหมือนกัน

    ก็อาโปธาตุเท่านั้นเกาะกุมวัตถุเหล่านั้นทั้งหมด กระทำให้ติดกัน ธรรมชาติเหล่านั้นชื่อว่าเป็นธรรมชาติติดกัน ก็เพราะถูกอาโปธาตุควบคุมไว้

    ด้วยเหตุนี้ เมื่อกระทบสัมผัสทีไรก็จึงเป็นแต่เพียงปฐวี หรือเตโช หรือวาโย แต่ไม่สามารถกระทบสัมผัสอาโปธาตุซึ่งไหลเอิบอาบซึมซาบเกาะกุมธาตุที่เกิดร่วมด้วย

    ลักษณะของอาโปธาตุ ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    ปัคฆรณลักขณา มีการไหลเอิบอาบซึมซาบเป็นลักษณะ

    อุปัพรูหณรสา มีความพอกพูนเป็นรส คือ ติดกันๆ ทำให้เป็นชิ้นใหญ่ ส่วนใหญ่ขึ้น

    สังคหปัจจุปัฏฐานา มีการเกาะกุมไว้เป็นอาการปรากฏ

    มีธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ติดกันอยู่ ก็แสดงให้รู้ว่า มีอาโปธาตุที่เกาะกุม รูปนั้นๆ ไว้

    การที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นรูปร่างกายที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน ย่อมจะต้องรู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กายตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นแหล่งที่เกิดของอายตนะทั้ง ๖ อายตนะทั้ง ๖ ไม่ได้เกิดนอกกายเลย แต่เมื่ออายตนะเกิดที่กาย ก็ต้องรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย จึงจะสามารถดับกิเลสได้

    สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถาอุทกสูตรที่ ๑๐ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อุทกดาบสยังเป็นผู้ไม่จบเวท ก็กล่าวว่าเป็นผู้จบเวท ยังไม่เป็นผู้ชนะทุกอย่าง ก็กล่าวว่าชนะทุกอย่าง ยังขุดมูลรากแห่งทุกข์ไม่ได้ ก็กล่าวว่าขุดมูลรากแห่งทุกข์ เสียแล้ว ส่วนพระองค์นั้นเป็นผู้จบเวทโดยส่วนเดียว คือ โดยสิ้นเชิง ไม่เหลือส่วนที่ยังไม่จบ เป็นผู้ชนะทุกอย่างโดยส่วนเดียว เป็นผู้ขุดมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว

    ซึ่งถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงหนทางข้อปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งสภาพธรรม ใครๆ ก็ ไม่สามารถที่จะขุดรากแห่งทุกข์ได้

    สำหรับอุทกดาบส ท่านเป็นผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาได้ฌานจนกระทั่งถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งเป็นอรูปฌานที่สูงที่สุด แต่เมื่อไม่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ก็ยังชื่อว่าผู้ไม่จบเวท ยังไม่จบความรู้จริงๆ และยังไม่ชนะทุกอย่างจริงๆ

    ข้อความตอนหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คำว่า "คัณฑะ" นี้ เป็นชื่อของกายนี้อันเป็นที่ประชุม แห่งมหาภูตรูป ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นเพราะข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสี นวดฟั้น แตกสลาย กระจัดกระจาย เป็นธรรมดา

    นี่คือตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงที่สุดของภพหนึ่งชาติหนึ่ง ซึ่งข้อความในอรรถกถาอธิบายว่า

    กายนี้ชื่อว่ามีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะมีแล้วกลับไม่มี

    ขณะนี้ใครยังมีรูปเหลือบ้างจากเมื่อวานนี้ และจากวันก่อนๆ หรือจากวัยนี้ ไม่มีเลย ทุกอย่างที่คิดว่ามี แท้ที่จริงแล้วมีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะว่ามีแล้วกลับไม่มี วัยเด็กตอนนี้มีไหม ไม่มี เมื่อวานนี้ เมื่อกี้นี้อีก ก็ไม่มี ถ้าพิจารณาละเอียด จริงๆ จะเห็นได้ว่า กายนี้ชื่อว่ามีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เจริญขึ้นจากวัยเด็กและ สู่ความเสื่อมในวัยชรา

    ชื่อว่าอบเป็นธรรมดา เพราะลูบไล้ด้วยของหอม เพื่อประโยชน์แก่การกำจัดกลิ่นเหม็น

    ชื่อว่ามีการอาบนวดเป็นธรรมดา เพราะใช้น้ำและนวดเพื่อประโยชน์จะบรรเทาความเจ็บปวดอวัยวะน้อยใหญ่

    อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามีการประคบประหงมเป็นธรรมดา โดยหยอดยาตาและการดัดเป็นต้น เพื่อความสมบูรณ์แก่ทรวดทรงแห่งอวัยวะนั้นๆ ที่ทรวดทรงไม่ดี เพราะอยู่ในครรภ์ คลอดแล้วก็ให้อยู่ที่ระหว่างขาเพื่อดัดเวลาเป็นทารกเป็นต้น

    กายแม้เขาบริหารอย่างนี้ ก็แตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา อธิบายว่า มีสภาวะเป็นอย่างนั้น

    ในพระสูตรนั้น ตรัสถึงความเจริญด้วยบทว่า กายเกิดแต่มารดาบิดา การเติบโตด้วยข้าวสุกและขนมสด และการประคบประหงม ตรัสถึงความเสื่อม ด้วยบทว่า ไม่เที่ยง แตก และกระจัดกระจาย

    อีกอย่างหนึ่ง ตรัสการเกิดขึ้นด้วยบทก่อนๆ และการดับไปด้วยบทหลังๆ

    ทรงแสดงความต่างแห่งการเจริญ การเสื่อม และการบังเกิดแห่งกาย ซึ่งประชุมด้วยมหาภูตรูป ๔ ด้วยประการฉะนี้

    เกิดมาแล้วก็โต แก่ และก็ตาย และกายนี้วันหนึ่งต้องแตกกระจัดกระจาย ไม่สามารถจะควบคุมทรงอยู่เป็นรูปร่างกายนี้ต่อไปได้เมื่อจุติจิตดับ เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาให้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ทุกขณะ และควรเห็นโทษของความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ เพราะถ้าปัญญาไม่อบรมเจริญจนประจักษ์ความไม่เที่ยง แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงโทษหรือการไม่เที่ยง การเจริญขึ้นและการเสื่อมไปของกายนี้สักเท่าไร ก็ไม่สามารถดับกิเลสได้

    ข้อความในพระสูตรและในอรรถกถา เป็นเครื่องเตือนให้พิจารณาตนเอง ตามความเป็นจริง ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถาปฐมทารุขันธสูตรที่ ๔ มีคำอธิบายความหมายของผู้เน่าในว่า

    บทว่า อันโตปูติ ความว่า ชื่อว่าความเป็นผู้เน่าใน เพราะเป็นความเน่าของคุณความดี แม้ของบุคคลผู้ไม่เน่าในอาการ ๓๒ มีไตและหัวใจเป็นต้น

    โดยมากทุกคนจะพิจารณาแต่ร่างกายภายนอก และเวลาที่ร่างกายภายนอกเป็นโรคภัยชนิดหนึ่งชนิดใด จะเห็นความน่ารังเกียจของร่างกายซึ่งเน่าภายนอก แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของผู้เน่าในแม้ว่าอาการ ๓๒ เช่น ไตและหัวใจ เป็นต้นไม่เน่า แต่ภายในที่ชื่อว่าผู้เน่าใน เพราะเป็นความเน่าของคุณความดี แม้ของบุคคลผู้ไม่เน่า

    เพราะฉะนั้น ทุกคนพิจารณาตัวเองว่า เน่าหรือเปล่า ข้างนอกไม่เน่าจริง ร่างกายไม่เน่าเลย แต่ข้างใน เน่าไหม

    บทว่า อวัสสุโต แปลว่า ผู้อันราคะชุ่มแล้ว

    ขณะใดที่เป็นผู้มีความยินดีพอใจ ยังมีกิเลส ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เกิดเป็นหยากเยื่อเพราะกิเลส เศร้าหมองเหมือนกับโรคภัยที่ ค่อยๆ เริ่มเกิดขึ้นและเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทุกคนก็ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังชุ่ม ไปด้วยกิเลส ก็เป็นผู้ที่เน่าใน

    ข้างนอกไม่เน่า แต่ข้างในเน่าทุกครั้งที่กิเลสเกิด

    ช่วยไม่ได้เลยที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจะกระทบกับอารมณ์ต่างๆ ทุกวัน ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ลักษณะของการกระทบ ถ้ากระทบอารมณ์แล้วไม่หวั่นไหว เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นจะเหมือนกับโจรที่เข้าไปสู้บ้านร้างที่ไม่มีอะไรจะให้ปล้น จึงไม่สามารถเอาอะไรไปได้ ถ้าขณะนั้นกระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะไม่เหมือนกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะว่าขณะใดที่หลงลืมสติ ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อรรถกถาอาสีวิสสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

    เมื่อพวกโจรพากันปล้นฆ่าชาวบ้านในที่นั้น เขาก็จะดำเนินกิจ ๕ ประการ คือ พวกโจรยืนล้อมบ้าน ยืนจุดไฟเผาบ้าน ทำเป็นส่งเสียงทะเลาะกัน พอคนแตกตื่น ก็ถือเอาสิ่งของสำคัญถือติดมือออกไปนอกบ้าน ต่อจากนั้น พวกโจรก็เอามือ รวบทรัพย์สิ่งของพร้อมด้วยผู้คนแม้เหล่านั้น บางพวกก็ต้องประหารในที่นั้นเอง บางพวกก็ล้มลงในที่ประหาร ส่วนผู้คนที่ไม่บาดเจ็บนอกนั้น ก็พานำไปสู่ที่อยู่ของตน มัดด้วยเครื่องผูกคือเชือกเป็นต้น ใช้สอยเยี่ยงทาส

    นี่คือชีวิตในแต่ละภพแต่ละชาติที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วแต่ว่ากิเลสจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน ถ้ากิเลสเกิดขึ้นมากสำหรับพระภิกษุพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ต้องปาราชิก หมดสภาพของภิกษุ แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ การกระทำอนันตริยกรรมก็เหมือนกับต้องประหารในที่นั้น เพราะว่าไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินั้นได้ บางพวกก็ล้มลงในที่ประหาร อย่าง เมื่อเป็นพระภิกษุก็เหมือนกับการลาสิกขาบทสู่เพศคฤหัสถ์ ส่วนคนที่ไม่บาดเจ็บ พวกโจรก็ นำไปสู่ที่อยู่ของตนและมัดด้วยเครื่องผูกคือเชือกเป็นต้น ใช้สอยเยี่ยงทาส คือ ไปสู่ภพภูมิตามกำลังของอกุศลกรรมนั้นๆ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมที่ไปสู่ภูมินรก หรือภูมิเปรต ภูมิอสุรกาย ภูมิดิรัจฉาน ก็จะต้องได้รับผลของกรรมตามที่ได้กระทำแล้ว

    ผู้ที่เกิดมาแล้วที่จะพ้นจากทุกขเวทนาทางกาย ไม่มีเลย ไม่ว่าใคร ซึ่งใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สัลลัตถสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความต่างกันของผู้ที่เป็นปุถุชนกับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เวลาที่เกิดทุกขเวทนาขึ้น มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง

    ไม่ต่างกันเลย ระหว่างผู้ที่เป็นปุถุชนกับผู้ที่เป็นพระอริยสาวกสำหรับการที่จะ มีสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๐ ตอนที่ ๑๔๙๑ – ๑๕๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564