แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1447


    ครั้งที่ ๑๔๔๗


    สาระสำคัญ

    อรรถสาลินี - จิตเป็นปัจจัยให้เกิดรูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน

    รูป ๒๘ กัมมปัจจยอุตุสมุฏฐาน

    อาหารปัจจยอุตุสมุฏฐาน


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๘


    . กรณีที่ผู้ที่ได้ฌานสมาบัติ มีอิทธิวิธีต่างๆ ทำร่างให้เป็นหลายคน หรือเสกสิ่งที่มีชีวิตขึ้นมาก็ตาม อยากทราบว่า รูปต่างๆ เหล่านั้นมาจากไหน

    สุ. แสดงให้เห็นว่า รูปที่มีปรากฏอยู่ ถ้าเป็นของจริงย่อมมีสมุฏฐานให้เกิด คือ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏต้องมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไม่มีเหตุปัจจัยเลย ก็สามารถกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เกิดขึ้น

    ตามหลักของสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ คือ สภาพธรรมใดก็ตามที่จะเกิดมีขึ้นได้ ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง เพราะฉะนั้น แม้รูปที่เกิดขึ้นเพราะอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ นั้น ข้อความใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    จิตเป็นปัจจัยให้เกิดรูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน

    ไม่ใช่ว่ารูปนั้นจะเกิดโดยที่ไม่มีอะไรเป็นสมุฏฐาน ใช่ไหม แต่รูปแต่ละกลุ่ม ที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องรู้ว่า รูปนั้นเกิดขึ้นเพราะจิต หรือเกิดขึ้นเพราะกรรม หรือเกิดขึ้นเพราะอาหาร หรือเกิดขึ้นเพราะอุตุ สำหรับกัมมชรูปของแต่ละคน สุดปัญญาที่ใครจะไปทำให้เกิดขึ้นได้ แม้จักขุปสาทรูปที่ว่าจะเปลี่ยนจักขุปสาทหรืออะไรก็ตามแต่ ก็ไม่ใช่รูปที่เกิดจากกรรมทั้งสิ้น เพราะว่ารูปที่เกิดจากกรรมต้องมีกรรมเท่านั้นเป็นปัจจัย

    เพราะฉะนั้น สำหรับรูปที่เกิดจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ เป็นสุทธัฏฐกรูปที่เกิดขึ้นแต่จิต สุทธัฏฐกรูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ รูปล้วนๆ ไม่มีรูปอื่นเกิดร่วมด้วย จึงชื่อว่าสุทธัฏฐกรูป หรือสุทธัฏฐกกลาป

    รูปที่มาดังนี้ว่า แสดงเป็นช้างบ้าง แสดงเป็นม้าบ้าง แสดงเป็นรถบ้าง แสดงจัดกระบวนทัพต่างๆ บ้างในอากาศ

    แสดงให้ดูเหมือนเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่สร้างช้างขึ้นมาจริงๆ ให้มีกัมมชรูปเกิดขึ้น แต่ความจริงเป็นรูปที่เกิดจากอุตุทั้งนั้น ซึ่งอุตุที่ทำให้เกิดรูปนั้นมีจิตเป็นสมุฏฐานให้เกิดเพราะอาศัยอิทธิคือฌานจิต เพราะฉะนั้น รูปนั้นชื่อว่า จิตตปัจจยอุตุสมุฏฐานัง คือ จิตเป็นปัจจัยให้เกิดรูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน เพราะว่าช้าง ม้าเหล่านั้น หรือกระบวนต่างๆ เหล่านั้นจะเกิดไม่ได้เลย ถ้าจิตไม่เป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดจากอุตุนั้นเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น เรื่องรูปเป็นเรื่องที่ละเอียด ในชีวิตประจำวัน แม้แต่อุตุเองก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดรูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐานได้ เช่น เมฆ ชื่อว่ามีอุตุเป็นสมุฏฐาน สายฝนชื่อว่ามีอุตุเป็นปัจจัย เมื่อฝนตกแล้ว พืชงอกงาม แผ่นดินส่งกลิ่น ภูเขาปรากฏเป็น สีเขียว ทะเลน้ำขึ้น ก็ชื่อว่าอุตุปัจจยอุตุสมุฏฐาน คือ อุตุเป็นปัจจัยให้เกิดรูปที่มี อุตุเป็นสมุฏฐาน

    นี่คือชีวิตประจำวันในวันหนึ่งๆ รูปที่ปรากฏเป็นไปเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน เพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน และแม้แต่รูปที่เกิดจากอุตุ ก็ยังมีจิตเป็นปัจจัยให้รูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐานนั้นเกิดขึ้นได้

    . มีกัมมปัจจยอุตุสมุฏฐานไหม

    สุ. มี เช่น จักรรัตนะ อุทยานและวิมานเป็นต้นของเทวดาทั้งหลาย ชื่อว่า กัมมปัจจยอุตุสมุฏฐาน คือ กรรมเป็นปัจจัยให้รูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐานเกิดขึ้น

    ซับซ้อนมาก แล้วแต่กรรม คงเคยได้ฟังเรื่องๆ หนึ่งในครั้งอดีตที่ว่า ท่านผู้หนึ่งท่านไปไถนา ปรากฏว่าดินที่ท่านไถเป็นทองทั้งหมด แต่เวลาที่พระเจ้าแผ่นดินให้คนมาขนทองนั้นไป ทองนั้นก็กลายเป็นดินอีก เพราะกรรมของบุคคลนั้น

    ถ้าไม่ใช่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้จะไม่มีใครรู้ว่า ทุกอย่างที่ดูเป็นสิ่งประหลาดมหัศจรรย์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้น ต้องมีสมุฏฐาน มีปัจจัยให้เกิดทุกสิ่งทุกอย่าง เกินวิสัยที่จะมีตัวตนหรือสัตว์บุคคลที่จะมีอำนาจเด็ดขาดทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของสมุฏฐานทั้งหมด หรือเหตุปัจจัยทั้งหมด ย่อมรู้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะนี้ต้องอาศัยปัจจัยมากเพียงไร ทั้งปัจจัยที่เป็นอดีต หรือแม้แต่กรรมก็ยังต้องอาศัยอุตุเป็นสมุฏฐานจึงจะเกิดพวกวิมานต่างๆ ของเทวดาได้ ไม่ต้องมีการก่อสร้างบนสวรรค์ นายช่าง วิศวกรทั้งหลายไม่จำเป็น เพราะว่ากรรมเป็นปัจจัยให้เกิดรูปที่เกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน

    . อาหารปัจจยอุตุสมุฏฐานมีไหม

    สุ. มี สำหรับอาหารเป็นปัจจัยให้เกิดรูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน ข้อความในอัฏฐสาลินี มีว่า บางคนรับประทานอาหารที่เป็นวิสภาคะ คือ อาจจะไม่เหมาะกับร่างกาย และเดินไปกลางแดด ทำให้เกิดไฝ ตกกระ และเรื้อนเป็นต้น เพราะว่ารับประทานอาหารอย่างนั้น และไปถูกอุตุอย่างนั้น ก็ทำให้เกิดรูป เช่น ไฝ ฝ้า ตกกระขึ้น ก็เป็นอาหารปัจจยอุตุสมุฏฐาน คือ อาหารเป็นปัจจัยให้เกิดรูปที่มีอุตุ เป็นสมุฏฐาน

    มากมายหลายเรื่องในชีวิตประจำวัน ถ้าคิดพิจารณาจะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมแต่ละอย่าง และจะรู้ว่า ถ้ายังเต็มไปด้วยความไม่รู้ก็จะหลงยึดถือสภาพธรรมที่เกิดและดับไปอย่างรวดเร็วว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เสมอ โดยเฉพาะจะยึดถือรูปภายในว่าเป็นตัวตนของเราอย่างเหนียวแน่น เมื่อมีตัวตน มีของเรา ก็มีสัตว์บุคคลอื่น ไม่เห็นความจริงว่าเป็นเพียงรูปที่เกิดขึ้นเพราะสมุฏฐานต่าง ๆ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    รูปมีอาทิอย่างนี้ คือ ผม หนวด งาช้าง ขนหางม้า ขนหางจามรี ชื่อว่า กัมมปัจจยัง รูปมีกรรมเป็นปัจจัย

    ไม่เหมือนกับรูปที่มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ใช่ไหม ถ้ารูปมีกรรมเป็นสมุฏฐาน เช่น จักขุปสาทรูป เฉพาะที่กลางตาซึ่งสามารถรับกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปนั้น กลุ่มนั้น กลาปนั้น มีรูป ๑๐ รูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ส่วนอื่นจะเป็นผม หรือจะเป็นหนวด จะเป็นงาช้าง ขนหางม้า หรือขนหางจามรี เป็นต้น ส่วนต่างพิเศษออกไปของแต่ละบุคคล ก็เป็นรูปที่มีกรรมเป็นปัจจัย ทำให้รูปร่างลักษณะสัณฐานของแต่ละหญิงแต่ละชายต่างๆ กันไป ตามกรรมที่วิจิตรมากเป็นปัจจัย

    อิตถีภาวรูปและปุริสภาวรูป ไม่เห็น อย่าลืม แต่ทางใจสามารถนึกถึงรูปร่างสัณฐานของทรวดทรงที่เกิดเพราะอิตถีภาวรูปและปุริสภาวรูปได้

    สำหรับบางบุคคลมีเครื่องหมายเพศ ๒ อย่าง แต่มีภาวรูปอย่างเดียว เป็นสิ่งที่เกิดไม่บ่อย แต่เป็นไปได้ ซึ่งในพระไตรปิฎกใช้คำว่า อุภโตพยัญชนกะ หมายความว่า เป็นผู้ที่มีภาวรูปรูปเดียว แต่มีเครื่องหมายเพศ ๒ อย่าง

    มีคำถามว่า ก็อุภโตพยัญชนกะมีอินทรีย์เดียว หรือ ๒ อินทรีย์

    ตอบว่า มีอินทรีย์เดียว

    สำหรับอินทรีย์เดียวนั้น ถ้าเป็นอิตถีอุภโตพยัญชนกะ ก็คืออิตถินทรีย์ ถ้าเป็นปุริสอุภโตพยัญชนกะ ก็คือปุริสินทรีย์

    เพราะฉะนั้น ความเข้าใจของเราเรื่องกะเทย ไม่เหมือนกับที่ทรงแสดงไว้ว่า อเหตุกปฏิสนธิจิต คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์ทำให้เป็นคนพิการ หรือบ้า ใบ้ บอด หนวกแต่กำเนิด หรือว่าเป็นกะเทย ซึ่งผู้ที่เป็นกะเทยนั้นต้องไม่มีภาวรูปเลย ดังนั้น ผู้ที่ไม่มีภาวรูป ไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์ก็ได้ สัตว์ตัวเล็กๆ หรืออะไรก็ตามแต่ที่เวลาเกิดมามีกัมมชรูปอื่นๆ แต่ไม่มีภาวรูป

    ฉะนั้น ตามความเป็นจริงต้องทราบว่า ที่ใช้คำว่ากะเทย ต้องไม่มีภาวรูปเลย ถ้ามีภาวรูปหญิง หรือว่าภาวรูปชาย แต่มีความโน้มเอียงที่จะพอใจในอากัปกิริยา ต่างๆ ก็เป็นเพราะการสะสมในหลายๆ ชาติ ซึ่งทุกคนก็เคยเกิดเป็นทั้งหญิงและ ชายมาแล้ว เพราะฉะนั้น หญิงบางคนก็อยากเป็นชาย ทั้งๆ ที่เป็นผู้หญิงแท้ๆ หน้าตาสะสวย แต่พูดทีไรก็บอกว่า ชาติหน้าขอให้เกิดเป็นผู้ชาย ไม่ทราบว่า เพราะอะไรจึงอยากเป็นชาย ในเมื่อชาติก่อนๆ โน้นก็เคยเป็นมาแล้ว และอาจจะบอกว่าเมื่อไรจะเกิดเป็นหญิงก็ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งมีอยู่แล้วในชาตินี้ คือ ถ้าชาตินี้เป็นหญิง ก็เป็นหญิงไปไม่เท่าไรก็หมด และกรรมหนึ่งก็จะทำให้เกิดซึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นหญิงหรือเป็นชาย ถ้าเป็นชายและรู้สึกว่าลำบาก เดือดร้อน มีภาระมาก ก็คงอยากจะเป็นหญิง และไม่นานก็จะเป็นหญิงได้ เมื่อจุติจิตดับปฏิสนธิเกิด แล้วแต่ว่ากรรมใดจะทำให้เป็นหญิง

    เพราะฉะนั้น สัญญาความจำของเราจำผิดๆ มามาก คือ ไม่ได้รู้ความจริงว่า อิตถีภาวรูปนั้นเป็นอย่างไร และปุริสภาวรูปนั้นเป็นอย่างไร เพียงแต่ดูจากลักษณะอาการทรวดทรงสัณฐานบ้าง ก็คาดคะเนว่า เป็นอาการของอิตถีภาวรูป หรือ ปุริสภาวรูป แต่ถ้าผู้หญิงตัดผมสั้นและนุ่งผ้าจูงกระเบนเหมือนกันหมดตามทุ่งนา ก็ดูยากใช่ไหม เพราะว่าผู้ชายก็แต่งตัวอย่างนั้นเหมือนกัน ถ้าแต่งตัวเหมือนกันแล้ว ก็เกือบจะไม่รู้ นอกจากเป็นผู้ที่มีสัญญาความจำที่ละเอียดก็สามารถรู้ได้ แต่บางครั้งก็ต้องถามว่า ผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็เป็นไปได้ เพราะว่าสัญญาความจำของเราไม่พอ เพราะว่าอิตถีภาวรูปไม่ใช่รูปที่ปรากฏ ไม่ใช่รูปหยาบที่จะรู้ได้ เพียงอาการหรือทรวดทรงที่ทำให้สีสันวัณณะปรากฏ และสัญญาก็จำไว้เท่านั้นเอง

    สิ่งที่ปรากฏทางตาสำหรับสิ่งที่มีชีวิต สัตว์ บุคคลที่มีชีวิต รูปจะต่างกับ รูปภายนอกซึ่งไม่มีชีวิต

    เรื่องของรูป ละเอียดกว่านี้มาก ซึ่งจะศึกษาได้จากพระไตรปิฎกและอรรถกถา และที่กล่าวถึงนี้ก็เพียงสังเขป เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกลักษณะของรูปที่ปรากฏให้ถูกต้อง ให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาสามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะของรูปแต่ละรูปที่เกิดดับ

    สำหรับรูป ๒๘ รูป ที่จะพิจารณาว่าแต่ละบุคคลมีรูปเท่าไร การกล่าวถึง รูป ๒๘ รูป กล่าวได้หลายนัย แล้วแต่ว่าจะเป็นทางทวารต่างๆ หรือจะเป็นประเภทของรูปที่แยกกันไม่ได้ หรือจะเป็นรูปที่มีใจครอง ไม่มีใจครอง แต่รวมแล้วต้องได้ ๒๘ รูป ซึ่งจะขอกล่าวถึงปะปนกันไป

    สำหรับรูป ๒๘ รูป รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน คือ มหาภูตรูป ๔ ได้แก่ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑

    เมื่อมีมหาภูตรูป ๔ แล้ว ต้องมีอุปาทายรูป คือ รูปซึ่งเกิดร่วมด้วย แยกกันไม่ได้เลยอีก ๔ รูป คือ สี ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ โอชา ๑ รวมเป็น ๘ รูป

    รูปทุกรูปที่เกิดขึ้นยังไม่ดับทันที ยังมีการสืบต่อและการเสื่อมจนถึงขณะที่ดับ เพราะฉะนั้น ลักษณะของรูปทุกรูปที่เกิดขึ้นจะมีลักขณรูป ๔ คือ อุปจยรูป ขณะที่เกิด ๑ สันตติรูป ขณะที่เจริญขึ้น ๑ ชรตารูป ขณะที่เสื่อมลง ๑ อนิจจตารูป ขณะที่ดับ ๑ เป็นลักษณะ ๔ รวมเป็น ๑๒ รูป

    ถ้าพูดถึงกลุ่มของรูปๆ หนึ่งรูปใด อย่าคิดถึงเพียง ๘ เพราะต้องมีลักขณรูป ๔ นี้ด้วย รวมเป็น ๑๒ รูป แต่ว่าลักษณะการเกิดดับของรูปนั้นก็เร็วมาก ไม่มีใครจะไปจับสันตติรูป หรือชรตารูปได้ แต่สามารถที่จะแยกได้ว่า สำหรับอุปจยรูปและ สันตติรูปนั้น คือ ขณะที่เกิดแล้วยังไม่ดับ ส่วนชรตารูปและอนิจจตารูป ก็คือขณะที่ใกล้จะดับ คือ ขณะที่เสื่อมและขณะที่ดับ ๑๒ รูปแล้ว

    นอกจากนั้น ยังมีปริจเฉทรูป คือ อากาศรูป คั่นอยู่ในทุกๆ กลาปซึ่ง เล็กที่สุดอีก ๑ รูป ทำให้รูปไม่ติดกัน ถ้ารูปติดกันหมดจะไม่มีการแตกย่อย กระจัดกระจายรูปแต่ละรูปออกเป็นส่วนย่อยที่ละเอียดที่สุดได้ แต่รูปที่ปรากฏเป็น รูปใหญ่โตทั้งหมด สามารถแตกย่อยได้อย่างละเอียดที่สุดเพราะมีอากาศธาตุ หรืออากาศรูป คือ ปริจเฉทรูป คั่นอยู่ทุกๆ กลาป หรือทุกๆ กลุ่มของรูป เพราะฉะนั้น อากาศธาตุหรืออากาศรูป เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่นามธรรม เป็นรูปธรรมอีก ๑ รูป รวมเป็น ๑๓ รูป

    และสำหรับรูปที่มีใจครอง ก็มีจักขุปสาทรูป ๑ โสตปสาทรูป ๑ ฆานปสาทรูป ๑ ชิวหาปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ อีก ๕ รูป เป็นปสาทรูป ๕ รวมเป็น ๑๘ รูป

    นอกจากนั้น ยังมีหทยรูป คือ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตอีก ๑ รูป รวมเป็น ๑๙ รูป

    และรูปที่เกิดจากกรรม ต้องมีชีวิตินทริยรูปที่จะรักษากลุ่มของรูปที่เกิดจากกรรมให้ดำรงอยู่เป็นรูปที่มีชีวิตอีก ๑ รูป รวมเป็น ๒๐ รูป

    นอกจากนั้น ยังมีภาวรูปอีก ๒ รูป คือ อิตถีภาวรูป ๑ ปุริสภาวรูป ๑ รวมเป็น ๒๒ รูป แต่ในแต่ละบุคคลจะมีภาวรูปเดียว

    และที่มีการเคลื่อนไหวเดินเหิน เหยียดคู้ ทำกิจการงานต่างๆ เพราะมีวิการรูป ๓ คือ รูปที่มีลักษณะเบา ลักษณะอ่อน ลักษณะควรแก่การงานอีก ๓ รูป รวมเป็น ๒๕ รูป

    ที่ทุกคนกำลังนั่งอยู่ และเหลียวซ้ายแลขวาบ้าง ต้องมีวิการรูป ๓ จึงจะมีการเคลื่อนไหวเหยียดคู้แลเหลียวได้ ไม่เหมือนพวกรูปที่ไม่มีวิการรูป อย่างรูปภายนอกที่ ไม่มีใจครอง ไม่มีวิการรูปเลย รูปที่มีใจครองเท่านั้นจึงจะมีวิการรูป

    และยังมีวิญญัตติรูป คือ ในขณะที่ต้องการแสดงความหมายให้บุคคลอื่นรู้ ด้วยกาย เวลาที่อยากให้กายปรากฏอาการที่เป็นเครื่องหมายรู้ขึ้น ขณะนั้นเป็น กายวิญญัตติรูป ๑ รูป ถ้าเป็นทางคำพูด เวลาที่จะพูดแต่ละคำ ไม่ใช่อยู่ดีๆ นั่งเฉยๆ ไม่มีการขยับเขยื้อนเลยเสียงจะออกมาได้ แต่ต้องมีวจีวิญญัตติรูป คือ รูปที่ทำให้มีการกระทบกันของฐานที่เกิดเสียง ทำให้เสียงเกิดขึ้นปรากฏตามที่ใจคิด เพราะว่า ใจต้องคิดก่อน มีวิตก มีวิจาร บางครั้งไม่พูด คิดในใจ ก็เป็นลักษณะของวิตกและวิจาร แต่ขณะใดที่ไม่ได้อยู่เพียงในใจ มีเสียงออกมาด้วย ก็ต้องมีวจีวิญญัตติรูปด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อมีวิญญัตติรูปอีก ๒ คือ กายวิญญัตติรูป ๑ และวจีวิญญัตติรูป ๑ ก็รวมเป็น ๒๗ รูป

    และเมื่อมีวจีวิญญัตติรูป ต้องมีสัททรูป คือ เสียง อีก ๑ รูป รวมเป็น ๒๘ รูป

    นี่คือทุกคนที่กำลังนั่งอยู่ในที่นี้ เวลาเคลื่อนไหวแต่ละครั้งลองพิจารณาลักษณะของรูปในขณะนั้นที่กำลังเคลื่อนไหว เป็นวิการรูป ในขณะที่ต้องการให้คนอื่นรู้ความหมาย ในขณะนั้นสติก็เกิดระลึกได้ว่า ลักษณะอาการของรูปนั้นเป็น กายวิญญัตติรูป หรือในขณะที่กำลังพูดก็ให้รู้ว่า ขณะนี้มีรูปที่ทำให้เกิดเสียงโดย กระทบกันที่ฐานทำให้เกิดเสียง เป็นแต่ละขณะจริงๆ ที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว ถ้าสติระลึกบ่อยๆ จะสามารถรู้ว่า ในขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔๕ ตอนที่ ๑๔๔๑ – ๑๔๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 91
    28 ธ.ค. 2564