แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2081


    ครั้งที่ ๒๐๘๑


    สาระสำคัญ

    ปัญญาเจตสิก หรือปัญญินทรีย์

    ปัญญินทรีย์ ๓ ขั้น


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษา

    มหามกุฏราชวิทยาลัยวันอาทิตย์ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๕


    สำหรับอัปปมัญญาเจตสิก ๒ ดวง ได้แก่ กรุณาเจตสิก และมุทิตาเจตสิก ซึ่งไม่ได้เกิดทุกครั้งที่เป็นกุศลจิตหรือโสภณจิต

    โสภณเจตสิกดวงสุดท้าย คือ ปัญญาเจตสิก หรือปัญญินทรีย์

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ดวงแรก คือ ผัสสเจตสิก ที่เป็นอัญญสมานาเจตสิก เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง และทางฝ่ายอกุศลดวงแรก คือ โมหเจตสิก แต่ดวงสุดท้ายของโสภณเจตสิก คือ ปัญญา หรือปัญญินทรีย์ เป็นเจตสิกที่ยากที่จะเกิด ซึ่งควรจะอบรมให้มี เพราะว่าเป็นธรรมที่สามารถรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่ธรรมที่เกิดง่ายเหมือนอย่าง ผัสสเจตสิก หรือธรรมฝ่ายอกุศลซึ่งได้แก่ โมหเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก อุทธัจจเจตสิก โลภเจตสิก โทสเจตสิกเหล่านั้น แต่ปัญญาเป็นสิ่งที่จะต้องอบรม และปัญญามีระดับขั้นต่างๆ กัน ตั้งแต่ขั้นเล็กๆ น้อยๆ จนถึงขั้นที่สามารถดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า

    ที่ชื่อว่าปัญญา เพราะรู้ทั่ว

    ถามว่า รู้ทั่วซึ่งอะไร

    ตอบว่า รู้ทั่วซึ่งอริยสัจจ์ ๔ โดยนัยว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา รู้ทั่วสภาพธรรมซึ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และ สภาพของพระนิพพานซึ่งเป็นธรรมที่ดับทุกข์

    ก็ปัญญานั้น ชื่อว่าเป็นอินทรีย์ เพราะอรรถว่าเป็นใหญ่ในการครอบงำอวิชชาเสียได้

    คิดดู อยู่ในสังสารวัฏฏ์มานานถึงแสนโกฏิกัปป์ แต่สามารถจะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ด้วยโสภณเจตสิกดวงสุดท้าย คือ ปัญญินทรีย์ หรือปัญญาเจตสิก

    หรือชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครอบครองความเป็นใหญ่ในการเห็นถูกต้องตาม ความเป็นจริง ปัญญานั่นแหละเป็นอินทรีย์ จึงชื่อว่าปัญญินทรีย์

    ก็ปัญญานี้นั้น มีความส่องสว่างเป็นลักษณะ และมีการรู้ทั่วเป็นลักษณะ

    แสดงให้เห็นว่า ก่อนนี้ไม่ได้มีปัญญาคือความสว่างเลย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมและไม่ได้อบรมจนกระทั่งรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ลักษณะของปัญญานั้น มีความส่องสว่างเป็นลักษณะ และมีการรู้ทั่วเป็นลักษณะ

    ที่ว่าปัญญามีความส่องสว่างเป็นลักษณะ ข้อความในอรรถกถามีว่า

    เหมือนอย่างว่า เมื่อเขาตามประทีปไว้ในตอนกลางคืนในบ้านที่มีฝา ๔ ด้าน ความมืดย่อมหมดไป แสงสว่างย่อมปรากฏฉันใด ปัญญามีการส่องสว่างฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมดาแสงสว่างที่เสมอด้วยแสงสว่างคือปัญญานั้นไม่มี เมื่อปัญญาเกิดขึ้นย่อมขจัดความมืดคืออวิชชาเสียได้ ย่อมยังแสงสว่างคือวิชชาให้เกิดขึ้น ย่อมยังแสงสว่างคือญาณให้สว่างแจ้ง และย่อมกระทำอริยสัจจะทั้งหลายให้ปรากฏ ปัญญามีความส่องสว่างเป็นลักษณะอย่างนี้แล

    ห้องนี้สว่าง แต่ถ้าปัญญาไม่เกิดก็อยู่ในความมืด เพราะว่าไม่เห็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังเกิดดับตามปกติ ตามความเป็นจริง จนกว่าเมื่อใดปัญญาเกิด เมื่อนั้นจะเป็นความสว่างที่สามารถรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    ที่ว่าปัญญามีการรู้ทั่วเป็นลักษณะ ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นย่อมรู้ทั่วซึ่งธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ทั้งเลวและประณีต ทั้งดำและขาว ทั้งที่เข้ากันได้ และเข้ากันไม่ได้ เช่นเดียวกับหมอผู้ฉลาดย่อมรู้จักเภสัชเป็นต้น ฉะนั้น เพราะรู้ทั่วถึง จึงเรียกว่า ปัญญา

    ถามว่า รู้ทั่วถึงซึ่งอะไร

    ตอบว่า รู้ทั่วว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

    ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ ชื่อว่ารู้ทั่วไม่ได้ เพราะว่าปัญญายังไม่สมบูรณ์ แต่ปัญญา ที่ค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย จะถึงความสมบูรณ์อย่างพระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่ท่านถึงความสมบูรณ์แล้ว

    ชื่อต่างๆ ของปัญญา ตามภาวะต่างๆ ของปัญญา ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีว่า

    ที่ชื่อว่าปัญญา เพราะความหมายว่าทำให้ปรากฏ คือ ทำอรรถลักษณะนั้นๆ ให้กระจ่างแจ้ง

    สภาพธรรมในขณะนี้เป็นจริงอย่างไร ปัญญาเท่านั้นที่สามารถรู้ความเป็นจริงของสภาวะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

    อีกอย่างหนึ่งที่ชื่อว่าปัญญา เพราะรู้ธรรมทั้งหลายโดยประการนั้นๆ มีสภาวะที่ไม่เที่ยงเป็นต้น อาการที่รู้ทั่งชื่อว่าปชานนา สภาวะที่ค้นคว้าอนิจจลักษณะ เป็นต้นชื่อว่าวิจยะ

    บางแห่งจะใช้คำว่า ปวิจยะ

    สภาวะที่ค้นคว้าจตุสัจจธรรมชื่อว่าธัมมวิจยะ สภาวะที่พิจารณา รู้อนิจจลักษณะได้ชื่อว่าสัลลักขณา

    บางแห่งจะเติมคำเป็นอุปลักขณาบ้าง ปัจจุปลักขณาบ้าง

    ความเป็นบัณฑิตชื่อว่าปัณฑิจจะ ความเป็นผู้ฉลาดชื่อว่าโกสัลละ ความเป็นผู้ละเอียดลออชื่อว่าเนปุญญะ ภาวะที่ประกาศคือรู้แจ้งอนิจจลักษณะ เป็นต้นชื่อว่าเวภัพยา ภาวะที่คิดอนิจจลักษณะเป็นต้นชื่อว่าจินตา อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่าจินตา เพราะเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ทำให้ผู้นั้นคิดอนิจจลักษณะเป็นต้น ภาวะที่ใคร่ครวญอนิจจลักษณะเป็นต้นชื่อว่าอุปปริกขา

    ปัญญาชื่อว่าภูริ เพราะเป็นดุจแผ่นดิน แผ่นดินเรียกว่า ภูริ บุคคลชื่อว่า มีปัญญาดุจแผ่นดิน เพราะปัญญานั้นกว้างและไพบูลย์เสมอด้วยแผ่นดิน

    อนึ่ง ปัญญาชื่อว่าภูริ เพราะยินดีอรรถที่เป็นจริง

    ท่านทั้งหลายที่ประสงค์จะรู้แจ้งความจริง เป็นผู้ที่สะสมปัญญา เพราะว่า เป็นผู้ที่ยินดีในสภาพธรรมที่เป็นจริง

    ปัญญา ชื่อว่าเมธา เพราะทำลาย คือ ห้ำหั่นกิเลสเหมือนสายฟ้าผ่าภูเขาหิน อีกอย่างหนึ่งที่ชื่อว่าเมธา เพราะเรียนและจำไว้ได้ฉับพลัน

    ปัญญา ชื่อว่าปริณายิกา เพราะเกิดแก่ผู้ใด นำผู้นั้นไปในการปฏิบัติที่เกื้อกูล และนำสัมปยุตตธรรมไปในการแทงตลอดลักษณะตามเป็นจริง

    ปัญญา ชื่อว่าวิปัสสนา เพราะเห็นแจ้งธรรมทั้งหลายโดยไม่เที่ยงเป็นต้น

    ปัญญา ชื่อว่าสัมปชัญญะ เพราะรู้อนิจจลักษณะเป็นต้นโดยชอบ โดยทั่วถึง

    ปัญญา ชื่อว่าปโตทะ เพราะแทงจิตที่คดโกงซึ่งวิ่งไปนอกทางให้วิ่งไปตรงทาง

    ปัญญา ชื่อว่าอินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่ในลักษณะที่เห็น อินทรีย์ คือ ปัญญา ชื่อว่าปัญญินทรีย์

    ปัญญา ที่ชื่อว่าปัญญาพละ เพราะไม่หวั่นไหวในเพราะอวิชชา

    ศาสตรา คือ ปัญญา ชื่อว่าปัญญาสัตถะ โดยความหมายว่า ตัดกิเลส

    ปราสาท คือ ปัญญา ชื่อว่าปัญญาปาสาทะ โดยความหมายว่า ตั้งสูงขึ้นไป

    แสงสว่าง คือ ปัญญา ชื่อว่าปัญญาอาโลกะ โดยความหมายว่า สว่าง

    โอภาส คือ ปัญญา ชื่อว่าปัญญาโอภาสะ โดยอรรถว่า ส่อง

    ปัญญา คือ ประทีป ชื่อว่าปัญญาปัชโชตะ โดยอรรถว่า โชติช่วง

    รัตนะ คือ ปัญญา ชื่อว่าปัญญารัตนะ โดยความหมายว่า นำมาซึ่ง ความพอใจ ให้ความพอใจ ให้เกิดความพอใจ นำมาซึ่งความปลื้มใจ ปรากฏว่า หาได้ยาก ไม่มีสิ่งเปรียบ สำหรับผู้ไม่ต่ำทรามบริโภค

    ปัญญา ที่ชื่อว่าอโมหะ เพราะเป็นเหตุให้สัตว์ไม่ลุ่มหลง หรือตัวปัญญาเองย่อมไม่ลุ่มหลงไปในอารมณ์ หรือเป็นเพียงความไม่ลุ่มหลงนั่นเอง

    บทว่า ธัมมวิจยะ มีเนื้อความดังได้อธิบายมาแล้ว คือ สภาวะที่ค้นคว้า จตุสัจจธรรม

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไรจึงตรัสคำว่า ธัมมวิจยะไว้อีก

    ตอบว่า เพื่อแสดงว่า อโมหะเป็นปฏิปักษ์ต่อโมหะ ดังนั้นจึงทรงแสดงคำนี้ไว้ อโมหะนั้นไม่ใช่เป็นธรรมแผกไปจากโมหะอย่างเดียว แต่เป็นปฏิปักษ์ต่อโมหะด้วย อโมหะ คือ ธัมมวิจยะ ทรงประสงค์ในที่นี้

    ทิฏฐิที่เป็นจริง เป็นเครื่องนำออกจากภพและเป็นกุศล ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิ

    นี่เป็นชื่อต่างๆ ตามภาวะต่างๆ ของปัญญา ซึ่งแต่ละท่านที่กำลังสะสมปัญญาบารมีก็จะมีอาการภาวะต่างๆ ของปัญญาเหล่านี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เริ่มจากเจตสิกที่เป็นปกิณณกะคือผัสสะ มาจนตลอดถึงปัญญาที่จะต้องอบรม จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกในลักษณะของ สภาพธรรมที่เป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ จนกระทั่งถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็น ปัญญินทรีย์ ๓ ขั้น คือ อนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ ได้แก่ โสตาปัตติมรรคจิต ๑ ขณะ เป็นปัญญินทรีย์ขั้นที่ ๑ ที่เป็นโลกุตตระ ปัญญินทรีย์ขั้นที่ ๒ ที่เป็น โลกุตตระ คือ อัญญินทรีย์ ได้แก่ โสตาปัตติผลจิต ๑ สกทาคามิมรรคจิต ๑ สกทาคามิผลจิต ๑ อนาคามิมรรคจิต ๑ อนาคามิผลจิต ๑ และอรหัตตมรรคจิต ๑ และปัญญาสุดท้ายที่เป็นอินทรีย์ที่เป็นโลกุตตระ คือ อัญญาตาวินทรีย์ ได้แก่ อรหัตตผล ซึ่งเป็นจิรกาลภาวนาที่ทุกคนอบรมไปก็จะต้องถึงอัญญาตาวินทรีย์ แต่ไม่ทราบว่าวันไหน จนกว่าเมื่อมีเหตุที่สมควร ผลก็ต้องเกิดขึ้นตามลำดับ

    สำหรับปัญญินทรีย์ ๓ ขั้น โสตาปัตติมรรคจิต ๑ ขณะ เป็นอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์ และปัญญินทรีย์สุดท้าย คือ อัญญาตาวินทรีย์ ได้แก่ อรหัตตผลจิต ส่วนตรงกลางที่เหลือ ได้แก่ โสตาปัตติผลจิต สกทาคามิมรรคจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิมรรคจิต อนาคามิผลจิต และอรหัตตมรรคจิต เป็นอัญญินทรีย์ เพราะว่าอนัญญาตัญญัสสามีตินทรีย์เป็นปัญญินทรีย์ที่เกิดขึ้นเป็นขณะแรกที่เป็นโลกุตตระ ในสังสารวัฏฏ์ คือ โสตาปัตติมรรคจิต รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ปัญญินทรีย์ต่อไป คือ โสตาปัตติผลจิต สกทาคามิมรรคจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิมรรคจิต อนาคามิผลจิต และอรหัตตมรรคจิตนั้น รู้ตามที่เคยรู้ จึงเป็นอัญญินทรีย์ ยังไม่ได้หมดกิเลส ต่อเมื่อดับกิเลสหมดจึงถึงความเป็นพระอรหันต์เป็น อัญญาตาวินทรีย์ ซึ่งก็เป็นจิรกาลภาวนา

    ไม่ทราบว่าผ่านมาแล้วกี่แสนโกฏิกัปป์ และจะถึงอัญญาตาวินทรีย์เมื่อไร อาจจะไม่ถึงแสนโกฏิกัปป์ก็ได้ แล้วแต่การสะสมของแต่ละท่าน

    ถ. ผู้ที่เริ่มต้นเข้ามาศึกษาพระธรรม และเริ่มมีศรัทธา มีหนทางกี่แนวทาง ที่จะศึกษาพระธรรมได้อย่างถูกต้อง

    สุ. ฟัง อ่าน คิด

    ถ. การฟัง การอ่าน การคิด จากทั่วๆ ไป เราก็ไม่แน่ใจว่า พระธรรมที่แสดงนั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เพราะแสดงตามปัญญาของผู้ที่แสดง

    สุ. ถ้าเขาพูดเรื่องจริง เราเข้าใจได้ก็ถูก

    ถ. แต่เราก็ไม่รู้ เพราะปัญญายังไม่ถึง

    สุ. พูดเรื่องจริง ถ้าเข้าใจได้ก็ถูก ถ้าไม่ได้พูดเรื่องจริง ไปเห็นวงกลม ตรงโน้นตรงนี้ จะเป็นไปได้อย่างไร

    ถ. คือ ฟังให้เข้าใจก่อน ถ้าไม่เข้าใจก็เลิกกัน

    สุ. ไม่เข้าใจ ก็ต้องคิดพิจารณาหาสิ่งที่เข้าใจได้ที่เป็นความจริง

    ถ. ถ้าคนที่ไม่เข้าใจ แล้วไปทำสมาธิ

    สุ. เรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว

    ถ. เราต้องดูตัวของเราเป็นหลัก

    สุ. แน่นอน ใครเขาจะทำอะไร เราจะไปทำอะไรได้

    ถ. หมายถึงว่าเราศึกษาโดยทั่วๆ ไป วิธีการ …

    สุ. แต่ถ้าใครจะทำอะไร เราจะไปทำอะไรเขาได้ไหม

    ถ. โดยทั่วๆ ไปที่เขาศึกษาพระธรรม มีการสอนวิธีการนั่งสมาธิ เราควรจะไปนั่งตามเขาก่อน หรือว่าทำอย่างไรดี

    สุ. ก็แล้วแต่จุดประสงค์ของเราว่า เราทำเพื่ออะไร ถ้าเราจะทำอะไร โดยไม่มีจุดประสงค์เลย ใครเขาทำอะไร เราก็ทำด้วย นั่นก็แปลก

    ถ. ถามแทนให้เพื่อนรุ่นน้อง ชื่อน้องเล็ก เป็นพยาบาล คือ ชีวิตของเขาราบเรียบมากจนไม่มีปัญหาอะไร เขาเลยไม่รู้ว่าจะเจริญสติอย่างไร

    สุ. ถ้าไม่เข้าใจธรรม ก็ไม่ต้องเจริญสติ

    ถ. ที่จริงเขาเพิ่งเริ่ม

    สุ. เพิ่งเริ่ม จะเจริญสติได้อย่างไร ต้องเข้าใจก่อน

    . เข้าใจอะไรบ้าง

    สุ. เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเพิ่มขึ้น อยู่ๆ จะเจริญสติ ไม่ได้

    ถ. อาชีพของหนูต้องกระทบกับคน และคนนั้นทำให้เราโกรธ เรารู้แค่ว่า เราโกรธ อยู่แค่นี้ และลักษณะที่เราจะเห็นความโกรธเป็นอย่างไร แต่เราทราบนะว่า ตอนนี้เราโกรธ อยู่แค่นี้

    สุ. ก็อยู่แค่นี้ ถ้าไม่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็อยู่แค่นี้ ขณะนี้ไมโครโฟนที่จับ แข็งไหม

    ถ. แข็ง

    สุ. รู้แค่นี้ ก็อยู่แค่นี้ โกรธเกิด รู้ว่าโกรธ รู้อยู่แค่นั้น ก็แค่นั้น เพราะ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ต้องเป็นความเข้าใจ เพราะว่าส่วนมาก คนจะทำสติ แต่ไม่ได้รู้ว่าต้องเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เคยคิดอย่างนี้ไหมว่า กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จะเข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปคิดว่า จะเจริญสติ จะทำสติ

    ถ. มีคำถามจากท่านผู้หนึ่ง ท่านถามว่า สิ่งที่ปรากฏ เช่น สีเป็นรูป เสียงเป็นรูป การรู้สีก็ดี รู้เสียงก็ดี เป็นนามธรรม เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะให้ทำอย่างไรต่อไปในการพิจารณาธรรม

    สุ. หมายความว่า คนนั้นไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ความเข้าใจที่จะนำไปสู่การพิจารณาต่อไป ควรจะได้รับคำแนะนำอย่างไรบ้าง

    สุ. ต้องเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ไม่ใช่ทำอย่างไรต่อไป นั่นคือไม่เข้าใจ สติปัฏฐาน

    ถ. เมื่อพูดถึงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏว่า ทางตา เห็นเป็นรูป รู้เป็นนาม

    สุ. ท่อง แต่ไม่ได้รู้

    ถ. แต่เวลาที่เราจำได้อย่างนี้

    สุ. จำ ไม่ใช่เข้าใจ

    ถ. แล้วเวลาเห็น จะช่วยให้เราเกิดการ ...

    สุ. ไม่มีทาง ก็ท่องเฉยๆ ถามทุกคนเวลานี้ตอบได้ เห็นเป็นนาม สีเป็นรูป มีใครบ้างในที่นี้ที่ตอบไม่ได้ แต่มีใครรู้ลักษณะของเห็นซึ่งเป็นสภาพรู้

    ถ. เพราะฉะนั้น ควรจะเป็นการคิดต่อ ใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ ไม่ได้มีข้อแนะนำให้ทำอย่างนี้ หรือให้ทำอย่างนั้น ข้อแนะนำ จะมีไม่ได้เลย แต่หมายความว่าคนนั้นจะต้องมีความเข้าใจ เพราะฉะนั้น ที่ถามว่า จะเจริญสติปัฏฐานให้ทำอย่างไร ทางตา เห็นเป็นนาม สีเป็นรูป จะให้ทำอย่างไร นั่นไม่ใช่ความเข้าใจเลย ใช้ไม่ได้เลยทั้งหมด

    ต้องมีความเข้าใจขั้นการฟัง สติระลึกอะไร ระลึกทำไม ระลึกเพื่ออะไร อย่างทางตาที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ทุกคนเห็น ใช่ไหม หลงลืมสติ ทุกคนก็รู้ว่าเป็นอกุศล ขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นอวิชชา และ มีโลภะ มีอกุศลมากมาย ซึ่งทุกคนก็ไม่ชอบ คือ ไม่ชอบอกุศล แต่ชักจะชอบกุศล จริงหรือเปล่า แต่ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น คนที่ชักจะชอบ ก็พยายามหาทางที่จะให้เป็นกุศล จะเจริญสติอย่างไร จะทำอย่างไร ต้องการแต่ จะเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้คิดเลยว่า เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้หรือเปล่า นี่ไม่ได้คิด แต่จะเจริญสติปัฏฐาน คือ เขารู้ว่าถ้าสติไม่เกิดเป็นอกุศล เมื่อรู้อย่างนี้ เขาชักจะชอบกุศล แต่ไม่ใช่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    นี่ต่างกันหรือเปล่า มีสภาพธรรมในขณะนี้กำลังปรากฏแต่ไม่เข้าใจว่า เป็นรูปธรรม ต่างกับความคิดนึก ต่างกับเห็นอย่างไร นี่ไม่เข้าใจ

    แค่นี้ แล้วจะทำอย่างไร คำถามนี้แสดงว่า ไม่เข้าใจเรื่องลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือที่ถามว่า เห็นเป็นนาม สีเป็นรูป แล้วอย่างไรต่อไป คือ ไม่เข้าใจเลยว่า จะต้องเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ซึ่งนานนักหนาเรื่องเห็น เป็นนามธรรม และยังขยายความออกไปอีกว่า ที่เป็นนามธรรม คือ เป็นสภาพรู้ เป็นลักษณะรู้ เป็นอาการรู้ เพื่อให้รู้จริงๆ ว่า กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ แต่เขาไม่เข้าใจ คำเหล่านี้เลย เขาเข้าใจแต่ภาษา คือ คำนี้พูดอย่างนี้ แปลว่าอย่างนี้ แต่ไม่เข้าใจ อรรถว่า ลักษณะรู้จริงๆ คืออย่างไร เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังเห็น ไม่พยายาม ที่จะเข้าใจว่า เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ แต่ถามว่า แล้วอย่างไรต่อไป

    จะมีอย่างไรต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นสภาพรู้เท่านั้น เป็นอาการรู้เท่านั้น และเมื่อเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน ก็ต้องเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ กำลังคิดนึกก็เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ และมีหรือ ที่จะถามว่า แล้วอย่างไรต่อไป ในเมื่อเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมแต่ละอย่าง ตลอดไปหมด ไม่ต้องถามเลยว่า แล้วอย่างไรต่อไป ในเมื่อจะต้องรู้สิ่งอื่นๆ ที่กำลังเกิดขึ้นสืบต่ออยู่เรื่อยๆ พอคิดนึก ไม่ใช่แล้วอย่างไรต่อไป คิดนึกก็เป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ ขณะที่จำเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ เป็นลักษณะรู้ พวกนี้ไม่เข้าใจเลย แต่ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป แสดงว่าไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ท่านอาจารย์พูดถึงว่า จะต้องเข้าใจสภาพหรือลักษณะ

    สุ. อย่างเวลานี้เป็นต้น

    ถ. เวลานี้ สมมติมีการพิจารณาทางตา จะให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่า เป็นเพียงการเห็น หรือเป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ จะต้องอาศัยอะไร

    สุ. ไม่ใช่ว่าใครจะไปบอกให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ และเราก็จะรู้เพราะเขาบอก แต่จะต้องรู้ว่า ที่ไม่รู้เพราะอะไร ทั้งๆ ที่ผู้รู้แล้วสามารถรู้ทันทีที่เห็นว่า เป็นเพียง สิ่งที่ปรากฏ นี่คือผู้รู้แล้ว กว่าผู้รู้แล้วจะรู้แล้ว ท่านเจริญอย่างไร ท่านก็ค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง จนกว่าจะรู้จริงๆ แต่ไม่ใช่ทำอย่างไร ให้บอก และคนนั้นก็จะทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเรื่องของตัวเองที่จะรู้ว่า รู้ขึ้นบ้าง หรือยัง ขณะนี้ที่กำลังเห็น กำลังมีความเพียรที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏจริงๆ หรือยัง ต้องเป็นปัญญาของตัวเอง

    ถ. ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้ ท่านอาจารย์หมายถึงสติเกิดกับหลงลืมสติ ใช่ไหม

    สุ. ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้น ขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา สติไม่ต้องพูดถึง ขณะนั้นต้องมีแน่ ถ้าไม่มีจะกำลังค่อยๆ เข้าใจได้อย่างไร

    ถ. ถ้าสติไม่เกิด คงไม่มีสิทธิที่จะพูดถึงลักษณะของสภาพธรรม

    สุ. ขณะนี้ที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ต้องมีสติแน่นอน ถ้าไม่มีสติ จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้อย่างไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    2 มิ.ย. 2565

    ซีดีแนะนำ