แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2045


    ครั้งที่ ๒๐๔๕


    สาระสำคัญ

    อกุศลธรรม ๙ กอง อกุศลธรรมกองที่ ๔ ได้แก่ อุปทาน ๔


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๔


    สำหรับอกุศลธรรมที่เป็นอาสวะ ๔ ผู้ที่ละได้ต้องเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับ คือ พระโสดาบันดับทิฏฐาสวะ พระอนาคามีดับกามาสวะ พระอรหันต์ดับภวาสวะ และอวิชชาสวะ

    ถ้ายังไม่รู้เลย ดับได้ไหม ไม่รู้เรื่องของอาสวะเลยในวันหนึ่งๆ และจะดับ อาสวะ ย่อมเป็นไปไม่ได้

    และอาสวะ ๔ ก็เป็นโอฆะ ๔

    โอฆะ หมายความถึงห้วงน้ำหรือกระแสน้ำ ซึ่งแต่ละคนตกลงไปทุกขณะที่ อกุศลจิตเกิด คิดดู คนตกน้ำสามารถทำอะไรได้ และห้วงน้ำนั้นก็กว้างใหญ่จริงๆ ซึ่งทุกขณะที่ตกลงไปจะทำให้ห้วงน้ำนั้นกว้างออกๆ กว่าจะถึงอีกฝั่งหนึ่ง คือ ฝั่งดับกิเลส เพราะว่าฝั่งนี้ในชีวิตประจำวันเป็นฝั่งกิเลส กิเลสทั้งนั้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นอกจากจะหมักดองให้มัวเมาแล้ว ทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิดก็จะเป็นโอฆะ เป็นห้วงน้ำใหญ่ที่ขยายออกจากห้วงน้ำในวันหนึ่งๆ เนิ่นนานมา ในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ห้วงน้ำนี้ก็กว้างใหญ่จนกว่าจะถึงอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งจะต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ

    สำหรับอาสวะ ๔ โอฆะ ๔ สภาพธรรมหรือองค์ธรรมเหมือนกัน คือ กามโอฆะ ๑ ภวโอฆะ ๑ ทิฏฐิโอฆะ ๑ อวิชชาโอฆะ ๑ และนอกจากสภาพธรรม ๔ อย่างจะเป็นอาสวะ ๔ โอฆะ ๔ แล้ว ยังเป็นโยคะ ๔ ด้วย คือ เป็นธรรมเครื่องประกอบไว้ในภพ ตรึงไว้ ยากที่จะออกไปได้ เกือบจะเรียกได้ว่า กระดุกกระดิก ยากเหลือเกินที่จะกลับจากอกุศลเป็นกุศลจิตในวันหนึ่งๆ เพราะว่าปกติก็เป็นผู้ที่ มัวเมา และเป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอยู่เรื่อยๆ

    สำหรับอกุศลธรรมกองที่ ๔ คือ อุปาทาน ๔ ได้แก่ กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑

    นี่เปลี่ยนแล้ว อาสวะ ๔ โอฆะ ๔ โยคะ ๔ องค์ธรรมเหมือนกัน คือ ได้แก่ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามาสวะ ความยินดีในภพ ในขันธ์เป็นภวาสวะ ความยินดีความพอใจในความเห็นผิดเป็นทิฏฐาสวะ และความ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นอวิชชาสวะ รวมเป็นอาสวะ ๔ โอฆะ ๔ โยคะ ๔

    สำหรับอุปาทาน ๔ ได้แก่ ความยึดมั่น ในวันหนึ่งๆ มีความยึดมั่น ๔ อย่าง ผู้ที่ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นกามุปาทาน ใครมีมากหรือน้อย ก็ตามความเป็นจริง แต่ถ้าไม่รู้ตัวก็ไม่มีทางรู้ว่า มีความยึดมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะแค่ไหน ซึ่งทุกขณะที่อกุศลจิตเกิด ก็เพิ่มกำลัง คือ นอกจากจะ มัวเมาแล้ว ยังยึดมั่นไม่ปล่อยความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    นอกจากกามุปาทาน ก็มีทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน

    ทิฏฐุปาทาน เป็นความเห็นผิด ยึดมั่นในความเห็นผิดต่างๆ บางคนทั้งๆ ที่สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไป แต่คิดว่าเที่ยง หรือเมื่อไม่รู้ว่าเป็นเรื่องของกรรม เป็นเรื่องของวิบากซึ่งเป็นผลของกรรม ก็อาจจะคิดว่าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ซึ่งนี่เป็นทิฏฐุปาทาน ความเห็นผิด และถ้าพิจารณาความเห็นผิดในโลกนี้ ที่เป็นลัทธิ ความเชื่อ ความเห็นต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่า มีมาก

    สีลัพพตุปาทาน เป็นการลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด และเข้าใจว่า เป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูก เช่น ความเข้าใจเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ถ้าเข้าใจผิด ก็เป็นมิจฉามรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่สัมมามรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ละคลายความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีการยึดถือในข้อปฏิบัติที่ผิด ขณะนั้นเป็นสีลัพพตุปาทาน

    ละยากไหม บางคนไม่ทราบว่าติดในข้อปฏิบัติที่ผิด เวลาได้ฟังข้อปฏิบัติที่ถูก จะมีคำว่า แต่ อยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเคยปฏิบัติผิด เคยพอใจในหนทางผิด และ คิดว่าหนทางนั้นจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจรรมได้

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านไม่ได้พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ขณะที่นั่ง นอน ยืน เดิน ท่านเข้าใจว่า ขณะนั้นท่านรู้ลักษณะของวิการรูป ซึ่งเป็นสุขุมรูป รูปละเอียด โดยที่ ไม่มีการศึกษาให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า เพราะเหตุใดรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งมีทั้งหมด ๗ รูป เป็นรูปที่ปรากฏอยู่เป็นประจำ ส่วนรูปอื่นนั้น ไม่ได้ปรากฏตามปกติเลย ทั้งๆ ที่มี แต่ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความจริงของรูปหยาบ เพราะว่าปรากฏทางตาจึงเป็นรูปหยาบ และจะไปรู้สุขุมรูป รูปที่ละเอียดได้อย่างไร

    คือ ไม่ได้พิจารณาในเหตุผลหลายๆ อย่างประกอบกัน ท่านผู้นั้นก็ มีความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ เข้าใจว่าตัวเองรู้ลักษณะของวิการรูป ทั้งๆ ที่ไม่รู้รูปที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    รูปที่ปรากฏทางตา คือ วัณณรูป รูปที่ปรากฏทางหู คือ สัททรูป รูปที่ปรากฏทางจมูก คือ กลิ่น คันธรูป รูปที่ปรากฏเมื่อกระทบลิ้น คือ รส รูปที่ปรากฏทางกาย คือ โผฏฐัพพะ ได้แก่ สภาพที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ชื่อว่ารูปหยาบ ซึ่งปัญญาก็ยังไม่ได้รู้รูปหยาบตามปกติตามความเป็นจริง และจะไปรู้รูปละเอียด ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้ามีความยึดมั่นในความเห็นอย่างนั้น ก็ยากเหลือเกินที่จะกลับมาพิจารณาลักษณะของรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ เพราะฉะนั้น บุคคลใดก็ตามที่ยึดติดมั่นในหนทางที่ผิด ไม่มีทางที่จะออกมาจากหนทางที่ผิด เพราะเป็นความยึดมั่น เป็นอุปาทาน

    หนทางเดียวที่จะออกจากอุปาทานหรือข้อปฏิบัติที่ผิดได้ ก็คือเริ่มพิจารณาศึกษาเหตุผล และเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การติด กามาสวะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ปัญญาจะต้องละคลายด้วยการรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    และขณะที่เข้าใจว่ามีวิการรูปเป็นอารมณ์ ปกติธรรมดายึดมั่นหรือมีความยินดีพอใจในสิ่งนั้นหรือเปล่า เหมือนกับความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในชีวิตประจำวันไหม

    เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะออกจากความเห็นผิด คือ เริ่มพิจารณาให้เกิดความเห็นถูกในหนทางที่ถูก เริ่มอบรมหนทางที่ถูกเมื่อไร เมื่อนั้นจึงจะค่อยๆ ถ่ายถอนตนเองจากความเห็นผิด แต่ตราบใดที่การอบรมความเห็นถูกยังไม่เกิด จะให้ออกจากข้อปฏิบัติที่ผิดหรือความเห็นผิดนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาในชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะอกุศลมีมากมายเหลือเกิน และเป็นประจำวันด้วย

    ผู้ฟัง อย่างที่ปฏิบัติกัน เช่น เพ่งลูกแก้วก็ดี พุทโธก็ดี เหล่านี้เป็น สีลัพพตุปาทานทั้งสิ้น

    สุ. ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง นั่งเฉยๆ และจิตตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา มีสมาธิมากๆ ประเดี๋ยวปัญญาก็จะเกิดเอง และจะได้ดวงตาเห็นธรรม นี่ก็เป็นสีลัพพตุปาทาน

    สุ. เพราะไม่มีการฟังพระธรรม ไม่มีการพิจารณาให้เข้าใจสภาพธรรม เพราะว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องความละเอียดของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง อย่างการปฏิบัติพุทโธ ที่อาจารย์บรรยายในวิทยุเรื่องพระเจ้าปุกกุสาติ คำว่า พุทโธ ของท่าน กับพุทโธในสมัยนี้ ต่างกันมากทีเดียว พุทโธของท่านปุกกุสาติเป็นประโยชน์ จนท่านได้บวชและพบพระพุทธเจ้า ได้เป็นพระอนาคามี พุทโธปัจจุบันก็เป็นสีลัพพตุปาทาน

    สุ. ขณะใดที่เป็นความเห็นผิด ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา แต่เข้าใจว่าเป็นหนทางอบรมเจริญปัญญาเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั่นก็ต้องเป็นการเห็นผิด

    ถ. นั่งเฉยๆ ไม่ได้ฟังธรรม จะไม่รู้ธรรม แต่ทำไมพระพุทธเจ้านั่งเฉยๆ ใต้ต้นไม้ และตรัสรู้ได้

    สุ. ไม่มีที่ไหนแสดงไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ทรงตรัสรู้ นั่งเฉยๆ แล้วรู้ธรรม เป็นไปไม่ได้

    ถ. พระองค์ตรัสรู้ได้อย่างไร

    สุ. พุทธวิปัสสนาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ทรงมีอานาปานสติเป็นอารมณ์จนถึงจตุตถฌาน เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว ก็พิจารณาปฏิจจสมุปปาท ปัจจยาการต่างๆ ตอนที่จะทรงตรัสรู้ก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ได้มีกล่าวไว้ว่านั่งเฉยๆ

    ถ. อะไรคือปฏิจจสมุปปาท

    สุ. เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร ขณะนี้เมื่อมี ความไม่รู้ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ แต่ละคนก็มีอกุศลจิต กุศลจิต ซึ่งเกิดจากความ ไม่รู้ ไม่ใช่เป็นเรื่องชื่อ ธรรมไม่ใช่เป็นการเก็บชื่อต่างๆ และมาคิดเอง แต่เป็นเรื่องที่ต้องฟังอย่างละเอียด พิจารณาให้เข้าใจตามความเป็นจริง ถ้ากำลังพูดถึงเรื่องอกุศล ก็จะต้องพิจารณาว่า อกุศลเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท และเกิดขึ้นเป็นประจำ และอกุศลแต่ละประเภทก็มีกิจหน้าที่ตามประเภทของอกุศล นั้นๆ เช่น ความยินดีพอใจในรูป เป็นอาสวะ เป็นโอฆะ เป็นโยคะ เป็นต้น

    นี่กำลังพูดเรื่องจริง ชีวิตประจำวัน ขณะที่ได้ยินเสียง มีความพอใจ ชอบใจ ในเสียง ขณะนั้นก็เป็นกามาสวะ เป็นกามโอฆะ เป็นกามโยคะ

    ที่พูดเรื่องอุปาทาน ๔ ก็เพื่อให้ทราบว่า แต่ละคนไม่ใช่มีเพียงอาสวะ สภาพของอกุศลที่หมักดอง เป็นโอฆะ เป็นโยคะ สภาพที่ตรึงไว้ แต่ยังเป็นอุปาทาน คือ ยากที่จะสละออก ลองคิดที่จะสละกามวันนี้ จะสละความยินดีพอใจในรูปสวยๆ ในวัตถุเครื่องใช้ ในเครื่องประดับอาภรณ์ต่างๆ สละได้ไหม นี่คือเรื่องจริง ชีวิตจริงๆ

    เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวถึงอุปาทาน ๔ ว่า ได้แก่ กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอุปาทานสุดท้าย คือ อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่น เห็นผิดว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    นี่คือความจริงของทุกชีวิต ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมโดยละเอียด ก็ไม่สามารถพิจารณาและเข้าใจได้ว่า ตัวตนไม่มี มีแต่สภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัยและดับไปในขณะนี้เอง

    สภาพธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าใครได้อบรมสะสมบารมีมาพร้อม ในขณะนี้เองที่ฟัง เป็นพระโสดาบันก็ได้ เป็นพระสกทาคามีบุคคลก็ได้ เป็นพระอนาคามีบุคคลก็ได้ เป็นพระอรหันต์ก็ได้ ส่วนใครที่ยังไม่เป็น ก็จะได้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ยังอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ เพราะว่าปัญญาที่เกิดจากการฟัง ยังไม่พอที่จะทำให้ความคิดในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลวิตกเป็นกุศลวิตกมากขึ้น

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา และรู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    แม้ว่าอกุศลมี แต่ถ้าไม่ชี้ให้เห็นว่าอกุศลแต่ละชนิดเป็นสภาพธรรมกองไหน ประเภทไหน ก็ไม่สามารถรู้ว่า ความเพียรที่จะต้องอบรมเจริญปัญญาในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ จนกว่าจะดับกิเลสได้จริงๆ นั้น ไม่ใช่เพียงในวันสองวัน เดือนสองเดือน ปีสองปี หรือชาติสองชาติ

    ถ. เราจะทราบได้อย่างไรว่า เรามีความเห็นถูก

    สุ. ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ หรือเปล่า

    ถ. หมายความถึงพิจารณาตามความเป็นธรรมชาติ ใช่ไหม

    สุ. ทุกขณะจิตเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้ายังไม่รู้อย่างนี้ ก็ฟังเพื่อจะได้เข้าใจ และเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้มีการระลึกได้ และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ท่านไปปฏิบัติ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ท่านบอกว่า ท่านมีความรู้สึกว่าท่านละคลายความยึดมั่นในขันธ์ ๕ แต่สำหรับท่าน ขันธ์ ๕ รวมกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อนทั้ง ๕ ขันธ์ ท่านเข้าใจว่า ขณะนั้นมีการละคลายความยึดมั่นใน ขันธ์ ๕ แต่ท่านไม่ได้เข้าใจว่า สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของรูปขันธ์ เมื่อรู้จึงละคลายการยึดถือรูปขันธ์แต่ละรูป แต่ละลักษณะที่ปรากฏ รู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของเวทนาขันธ์ ความรู้สึก ในขณะนี้มีความรู้สึก ก่อนนี้ก็มี ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยปราศจากความรู้สึกเลย ทุกขณะจิตที่เกิดต้องมีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดร่วมด้วย คือ รู้สึกเฉยๆ รู้สึกเป็นสุขหรือรู้สึกเป็นทุกข์ รู้สึกดีใจหรือรู้สึกเสียใจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกจะไม่รู้เลยว่า ความรู้สึกเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เกิดแล้ว ดับแล้ว หมดแล้ว เปลี่ยนแล้วจากความรู้สึกอย่างหนึ่งเป็นความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง

    แต่ไม่ใช่รวมกันเป็นขันธ์ ๕ และรู้สึกละคลายการยึดถือขันธ์ ๕ โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงของแต่ละขันธ์

    อย่างสัญญาขันธ์ก็เหมือนกัน ที่จะรู้ได้ว่าเป็นสัญญา เป็นขันธ์ ไม่ใช่เรา แม้แต่เพียงขณะที่นั่งและคิด เพียงเกิดความคิดขึ้นมาก็รู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพจำคำ ที่คิด ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น จึงรู้ลักษณะของความจำ แม้ในขณะที่กำลังเห็นและรู้ว่าเป็นอะไร ในขณะที่ได้ยินและมีความเข้าใจเรื่องที่ได้ยิน ในขณะที่ได้กลิ่น ในขณะที่ลิ้มรส ในขณะที่กระทบสัมผัส ในขณะที่ คิดนึก คือ สามารถรู้ลักษณะของสัญญาเจตสิกว่า เป็นเพียงสัญญาขันธ์ เป็น แต่เพียงสภาพจำ เพราะทุกวันนี้ก็จำหมด ตั้งแต่เกิดมาก็จำๆ จำไปเรื่อยจนถึงตาย แต่ละชาติก็จำเรื่องของชาตินั้นไปจนถึงตาย คิดก็คิดๆ คิดทุกชาติ คิดจน ไม่สามารถบอกได้ว่า คิดอะไรกันบ้าง

    ในวันหนึ่งๆ ลองเอาความคิดของแต่ละคนมาบอกซิว่า วันนี้คิดอะไรบ้าง บอกไม่ไหว มากเหลือเกิน และบางทีก็จำไม่ได้ด้วยว่าคิดอะไรบ้าง เพราะว่าความคิดเกิดขึ้นตามสิ่งที่ปรากฏทางตา เห็นสิ่งใดก็คิดในเรื่องสิ่งที่เห็น ได้ยินเสียงอะไรก็คิด ในเรื่องที่ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และถึงแม้ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสัมผัส ก็ยังคิด และขณะใดที่คิด ขณะนั้นสามารถรู้แม้ สัญญาขันธ์ที่จำเรื่องที่คิด

    คิดถึงใครก็เพราะจำคนนั้น แม้เขาสิ้นชีวิตไปแล้ว แต่ยังคิดถึงคนนั้นได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงสัญญาที่จำเรื่อง ขณะนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และขณะที่คิดโศกเศร้า หรือดีใจ หรือเป็นสุข ขณะนั้นก็เป็นสังขารขันธ์ คิดเป็นกุศลหรือคิดเป็นอกุศล นั่นก็เป็นสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งฟังดูเหมือนธรรมดา อาจจะพูดว่า ธรรมด๊า ธรรมดา สำหรับแต่ละคน แต่ก็เป็นธรรมทั้งหมดที่ปัญญาจะต้องรู้ตรงตามความเป็นจริง

    วิญญาณขันธ์ ก็คือสภาพรู้ อาการรู้ ที่กำลังเห็นทางตา ที่กำลังได้ยินทางหู ที่กำลังได้กลิ่นทางจมูก ที่กำลังลิ้มรสทางลิ้น ที่กำลังกระทบสัมผัสทางกาย และ ทางใจก็คิดนึก

    แสดงให้เห็นว่า มีสภาพธรรมมากมายซึ่งปัญญาจะต้องเจริญจนกว่าจะละ การยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ไม่ใช่มีใครนั่งเฉยๆ และจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    อาสวะ ๔ โอฆะ ๔ โยคะ ๔ อุปาทาน ๔ มากมายหรือยัง

    ยังไม่หมด เพราะนี่เป็นอกุศลธรรมเพียง ๔ กองเท่านั้น กองที่ ๑ อาสวะ ๔ กองที่ ๒ โอฆะ ๔ กองที่ ๓ โยคะ ๔ กองที่ ๔ อุปาทาน ๔

    ต่อไปกองที่ ๕ คันถะ ๔

    ในอกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง ที่เป็นคันถะ ๔ ได้แก่ อภิชฌากายคันถะ ๑ พยาปาทกายคันถะ ๑ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ ๑ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ๑

    เพียงชื่อเท่านั้นที่ใหม่ แต่เป็นสภาพธรรมที่ตัว และที่ใช้ภาษาบาลีก็เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเป็นภาษาบาลี



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๕ ตอนที่ ๒๐๔๑ – ๒๐๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    9 มี.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ