แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2032


    ครั้งที่ ๒๐๓๒


    สาระสำคัญ

    อัญญติตถิยสูตร วาทะทั้ง ๔ ซึ่งเป็นความเห็นอื่นนอกจากพระพุทธศาสนา

    ทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น

    พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์พิจารณาค้นคว้า ไตร่ตรองปฏิจจสมุปปาท


    สนทนาธรรมที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๓๔


    อนึ่ง คนบางคนเมื่อทำกรรม ย่อมทำด้วยจิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ กรรมนั้นของเขาเมื่อสร้างรูป ย่อมให้ความสมบูรณ์แห่งรูปสำหรับจักษุเป็นต้น สร้างแต่รูปที่มีวัณณะงาม ทรวดทรงดี เหมือนประดับตบแต่งแล้ว เปรียบเหมือนรูปที่ช่างเขียน ผู้ฉลาดสร้างขึ้น เป็นรูปงาม ทรวดทรงดี เป็นที่น่าพอใจฉะนั้น

    นี่เป็นสิ่งที่อุปมาเพียงเล็กน้อย แต่ตามความเป็นจริง ถ้าเปรียบทุกคนเป็น ช่างเขียน ก็ดูความสามารถของตนเองว่า จะเขียนด้วยกรรมที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา

    เวลาที่เห็นรูปภาพสามารถบอกได้ว่า รูปนี้ช่างเขียนเป็นผู้ที่มีฝีมือ หรือไม่ใช่เป็นผู้ที่มีฝีมือ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของช่างเขียน แต่สำหรับชีวิตจริง ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เพราะบุญนำ และยังมีกรรมแต่งที่อุดหนุน ที่เป็นสสัมภารกรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชีวิตในวันหนึ่งๆ ของแต่ละบุคคล ต่างกันไปตามการเป็นช่างเขียนของตนเองใน แต่ละชาตินั่นเอง

    ถ. ข้อความเกี่ยวกับอาหาร ๔ ที่ว่านี้ คือ ที่ใดมีความเพลิดเพลินยินดีพอใจในกวฬีการาหาร ที่นั่นวิญญาณก็หยั่งลง ผมไม่เข้าใจ ในแง่ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน จะระลึกรู้ได้อย่างไร

    สุ. เวลาบริโภคอาหารก็รู้ว่า ยังเป็นผู้ติด ยังเพลิดเพลินในกวฬีการาหาร ต่อไปเมื่อมีความรู้ความเข้าใจละเอียดขึ้น สติปัฏฐานระลึกละเอียดขึ้นก็จะรู้ว่า ยังเป็นผู้ที่มีความยินดีพอใจในผัสสาหาร ในการเห็น ในการได้ยิน ในการได้กลิ่น ในการลิ้มรส ในการรู้โผฏฐัพพะ แม้ในการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ขณะใดที่เกิดคิดและสติปัฏฐานระลึก จะรู้ได้ว่า สภาพของจิตที่คิด เป็นความยินดีเพลิดเพลินพอใจในผัสสาหาร คือ การกระทบกับอารมณ์นั้น และคิดด้วยความเพลิดเพลินในอารมณ์นั้น

    ถ. ขณะนั้นเรียกว่า มีวิญญาณหยั่งลงแล้ว

    สุ. ต้องเกิดแน่ ตราบใดที่ยังมีกิเลส

    ถ. หมายความว่าในขณะที่เราบริโภคอาหาร ถ้าเข้าใจธรรมละเอียดแล้ว สติสามารถเกิดระลึกรู้ได้

    สุ. ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระสูตรนี้ ณ พระวิหารเชตวัน ก็มีพระภิกษุมากมายหลายรูป และท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรม เป็นผู้ที่ มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ด้วยเหตุนี้ในขณะนั้นจึงเข้าใจเรื่องกวฬีการาหาร เรื่องผัสสาหาร เรื่องมโนสัญเจตนาหาร และเรื่องวิญญาณาหาร

    ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรมประการใดก็ตาม ความเข้าใจของพระภิกษุในครั้งนั้นที่ท่านได้ฟัง และท่านเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ก็ทำให้สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ แม้ในขณะนั้น

    เรื่องของความทุกข์เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งทุกคนที่เกิดมาจะบอกว่า ไม่มีทุกข์เลย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และขณะที่มีความทุกข์ ก็ขอให้พ้นจากความทุกข์นั้น หรือ ขออย่าให้มีความทุกข์นั้น ไม่ต้องถึงกับให้มีสุข เพียงแค่พ้นทุกข์ก็เป็นที่พอใจ แต่ เวลาที่พ้นทุกข์แล้วเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หรือปรารถนาเพิ่มขึ้นอีกว่า ขอให้มีความสุข ลืมเรื่องของความทุกข์ที่ว่าเพียงแค่พ้นไปก็พอแล้ว แต่เมื่อพ้นจริงๆ ก็หวังความสุขต่อไปอีก

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านควรพิจารณาให้เกิดความรู้ขึ้นอีกว่า แท้จริงแล้ว ความทุกข์นั้นมาจากไหน ถ้าทรงแสดงโดยปฏิจจสมุปปาท ทุกคนก็สามารถกล่าวตามได้ครบหมดทุกองค์ แต่ว่าเป็นเพียงกล่าวตามเท่านั้น เพราะฉะนั้น ต้องฟังพระธรรม เรื่องเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ เพื่อจะได้พิจารณาให้ใกล้ชิดขึ้นอีก

    สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อัญญติตถิยสูตร ความเห็นอื่นนอกจากพระพุทธศาสนา

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปสู่ กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้มีความคิดดังนี้ว่า เวลานี้ยังเช้าเกินไปที่จะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เถิด

    ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ครั้นแล้วได้สนทนาปราศรัยกับพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น ครั้นผ่าน การปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ท่านพระสารีบุตรพอนั่งเรียบร้อยแล้ว พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ได้กล่าวกะท่านดังนี้ว่า

    ดูกร ท่านสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเอง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ผู้อื่นทำให้ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย อนึ่ง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดขึ้นเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำ

    ดูกร ท่านสารีบุตร ก็ในวาทะทั้ง ๔ นี้ พระสมณโคดมกล่าวไว้อย่างไร บอกไว้อย่างไร พวกข้าพเจ้าพยากรณ์อย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่ พระสมณโคดมกล่าวแล้ว จะไม่กล่าวตู่พระสมณโคดมด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะพึงติเตียนได้

    นี่เป็นการสนทนาธรรมในอดีต ในยุคนี้สมัยนี้ก็คงจะมีการสนทนาหลายแห่ง และในขณะที่สนทนาเรื่องทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ท่านเหล่านั้นจะคำนึงถึง พระดำรัสของพระผู้มีพระภาคหรือไม่ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ว่าอย่างไร อาจจะเป็นการแสดงความคิดเห็นของแต่ละท่าน ซึ่งในที่นี้มี ๔ วาทะ คือ ทุกข์ตนทำเอง ๑ ทุกข์ผู้อื่นทำให้ ๑ ทุกข์ตนเองทำด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ๑ ทุกข์เกิดขึ้นเองเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่คนอื่นกระทำ ๑

    วาทะไหนจะถูก ทั้ง ๔ วาทะนี้

    ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

    ดูกร ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยอะไรเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น บุคคลผู้กล่าวดังนี้จึงจะชื่อว่า เป็นผู้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ ก็จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้

    ดูกร ท่านทั้งหลาย ในวาทะทั้ง ๔ นั้น แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็น ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเอง ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ผู้อื่นทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะ เป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย แม้ทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า เกิดเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ ก็ย่อมเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย

    ดูกร ท่านทั้งหลาย ในวาทะทั้ง ๔ นั้น พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเอง เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ผู้อื่นทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ แม้พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ถึงพวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ทุกข์เกิดเอง ก็เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยทุกข์ดังนี้ ก็มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ดังนี้

    มีใครปฏิเสธได้ไหม เมื่อกี้มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย ไม่ผิด แต่ว่าไกลไป จะต้องย้อนไปทีละองค์ๆ แต่ใกล้ชิดที่สุด คือ เว้นผัสสะ ทุกข์ย่อมมีไม่ได้

    ผู้ฟัง จะไปเอาชาตะ ก็ไกลไป ความจริงก่อนจะมีผัสสะได้ต้องมีสฬายตนะ ก่อนจะมีสฬายตนะก็มีนามรูปก่อน ไล่ไปตามลำดับ พูดย้อนออกไป ตัวปัจจัยก็เป็นอย่างอื่นไปตามลำดับ แล้วแต่จะไปเริ่มตรงไหน ท่านพระสารีบุตรท่านเริ่มตรงผัสสะ เริ่มตรงไหนก็ถูกทั้งนั้น

    สุ. แต่ที่ใกล้ชิดที่สุด คือ

    ผู้ฟัง อาจารย์ถามอย่างนี้ ผมก็รู้ว่าอาจารย์ใบ้ให้ตอบว่า ผัสสะ

    สุ. เว้นผัสสะแล้วจะมีทุกขเวทนาได้ไหม

    ผู้ฟัง ถูกแล้ว อาจารย์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ท่านพระอานนท์ได้ยินท่านพระสารีบุตรสนทนาปราศรัยกับพวกปริพาชก อัญญเดียรถีย์เหล่านั้นแล้ว ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ในกาลภายหลังภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลถ้อยคำสนทนาของ ท่านพระสารีบุตรกับพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ ซึ่งได้มีมาแล้วทั้งหมดแด่ พระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดีละๆ อานนท์ ตามที่สารีบุตรพยากรณ์ ชื่อว่าพยากรณ์โดยชอบ ดูกร อานนท์ เรากล่าวว่า ทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยอะไรเกิดขึ้น ทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น บุคคลผู้กล่าวดังนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตาม วาทะที่ถูกไรๆ ก็จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าให้ท่านพระอานนท์ฟังว่า แม้พระองค์เองก็ได้เสด็จไปยังอารามของพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ และมีการสนทนาธรรมในเรื่องนี้เช่นเดียวกับที่ท่านพระสารีบุตรสนทนากับพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้น

    ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า

    น่าอัศจรรย์ พระเจ้าข้า ไม่เคยมี พระเจ้าข้า ในการที่เนื้อความทั้งหมดจักเป็นอรรถอันพระองค์ตรัสแล้วด้วยบทๆ เดียว เนื้อความนี้ เมื่อกล่าวโดยพิสดารจะเป็นอรรถอันลึกซึ้งด้วย เป็นอรรถมีกระแสความอันลึกซึ้งด้วย พึงมีไหมหนอ พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ถ้ากระนั้นเนื้อความในเรื่องนี้จงแจ่มแจ้งกะเธอเองเถิด

    พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ท่านพระอานนท์เป็นผู้ที่เข้าใจในอรรถในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ก็ใคร่ที่จะให้ท่านพระอานนท์กล่าวให้พระองค์ฟัง

    ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าชนเหล่าอื่นจะพึงถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ ชราและมรณะ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกร ท่านทั้งหลาย ชราและมรณะมีชาติเป็นเหตุ มีชาติเป็นที่ตั้งขึ้น มีชาติเป็นกำเนิด มีชาติเป็นแดนเกิด

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าชนเหล่าอื่นพึงถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ ก็ชาติเล่า มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ดังนี้ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกร ท่านทั้งหลาย ชาติมีภพเป็นเหตุ มีภพเป็นที่ตั้งขึ้น มีภพเป็นกำเนิด มีภพเป็น แดนเกิด

    ท่านผู้ฟังก็คงจะตามท่านพระอานนท์ไปได้ตลอด เพราะเป็นผู้ที่คล่องแคล่วในปฏิจจสมุปปาท

    ข้อความต่อไป ท่านพระอานนท์กล่าวว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าว่าชนเหล่าอื่นพึงถามข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ท่านอานนท์ ก็ภพเล่า มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นที่ตั้งขึ้น มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด ดังนี้ ข้าพระองค์ถูกถามอย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกร ท่านทั้งหลาย ภพมีอุปาทานเป็นเหตุ มีอุปาทานเป็นที่ตั้งขึ้น มีอุปาทาน เป็นกำเนิด มีอุปาทานเป็นแดนเกิด

    สำหรับองค์ของปฏิจจสมุปปาทข้อต่อไป คือ อุปาทานมีตัณหาเป็นเหตุ ตัณหามีเวทนาเป็นเหตุ เวทนามีผัสสะเป็นเหตุ ผัสสะมีสฬายตนะเป็นเหตุ

    ... ดูกร ท่านทั้งหลาย ก็เพราะผัสสายตนะ ๖ นั่นแหละดับ ด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะโสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ถูกถามแล้วอย่างนี้ พึงพยากรณ์อย่างนี้ ดังนี้แล

    ผัสสะดับอย่างเดียวได้ไหม ไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า เมื่อผัสสะดับ ทุกอย่างต้องดับหมดด้วย นี่เป็นเรื่องที่ได้ยินบ่อยๆ เรื่องของปฏิจจสมุปปาท ซึ่งก็เตือนให้ระลึกรู้ลักษณะของผัสสะในขณะนี้ ในขณะที่มีสภาพธรรมปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตขั้นใดเกิด ขั้นพิจารณาเรื่องของสภาพธรรม หรือขั้นที่แม้กำลังนึกเรื่องของปฏิจจสมุปปาท สติปัฏฐานก็รู้ว่า ขณะนั้นสัญญาจำ สังขารขันธ์ปรุงแต่ง วิญญาณขันธ์กำลังนึกคิดใน ขณะนั้น ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ พิจารณา ค้นคว้า ไตร่ตรองปฏิจจสมุปปาท ถ้า ท่านผู้ฟังอ่านในพระสูตร ไม่ว่าจะเป็นพระวิปัสสีพุทธเจ้าก็ได้ไตร่ตรองค้นคว้า เรื่องของปฏิจจสมุปปาทในสมัยที่เป็นพระโพธิสัตว์ด้วย เพราะเป็นสภาพธรรมที่ เป็นเหตุเป็นผล ถ้าไม่มีการพิจารณาเรื่องเหตุเรื่องผลจะไม่รู้ความเป็นมาของชีวิต ของขณะจิตในขณะนี้ว่า เป็นอย่างไร ไปอย่างไร มาอย่างไร ถึงได้เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าสามารถพิจารณาย่อมจะเห็นความเป็นมา ความเป็นไป จากภพหนึ่งสู่อีกภพหนึ่งได้

    ผู้ฟัง สมัยพุทธกาลท่านสนทนาธรรมกันเรื่องหนักๆ สมัยเราไม่สนทนา เรื่องหนักๆ ขนาดนั้น แค่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ค่อยๆ ไปอย่างที่อาจารย์ว่า ค่อยๆ ระลึกไปทีละเล็กทีละน้อย สังเกตรูปธรรม นามธรรม ที่ท่านสนทนาเรื่องปฏิจจสมุปปาท ฟังก็ยังตามไม่ค่อยจะทัน เรื่องการหยั่งลงของวิญญาณ ผมก็ได้อ่านแล้วเหมือนกัน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ทั้งเล่มเลย ยาก จริงๆ ขนาดอาจารย์นำมาพูดในวันนี้ก็ยังตามไม่ค่อยทัน เรื่องปฏิจจสมุปปาทเป็นเรื่องหนักทีเดียว

    สุ. เรื่องของสภาพธรรมก็ว่าหนัก แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ที่ปัญญาจะต้องรู้จริงๆ เป็นสิ่งที่จะต้องอาศัยความเพียร ความพยายาม ไปแต่ละภพแต่ละชาติ เพราะว่าจุดประสงค์ของการฟัง ก็เพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม คือ ตัวจริงของธรรมนั่นเอง

    ถ. อาจารย์กล่าวว่า พระโพธิสัตว์จะพิจารณาปฏิจจสมุปปาท ได้มีการสนทนากันเรื่องสติปัฏฐานที่จะเกิดขึ้นก็เนื่องจากการได้ฟังธรรม พระโพธิสัตว์ท่านสามารถแสดงธรรมหรือพิจารณาปฏิจจสมุปปาทได้ โดยในชาตินั้นไม่ได้ฟังธรรมจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เมื่อจำธรรมในอดีตได้และพิจารณาถึงธรรมนั้นๆ จะชื่อว่าเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าคิดธรรมตาม

    สุ. ไม่มีกล่าวไว้ ต้องขอความกรุณาที่จะไม่แสดงความคิดเห็น เพราะว่าการสะสม เรื่องของปัญญาก็ตาม เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดการคิดนึกไตร่ตรองตามคลองของพระธรรม แล้วแต่กำลังของสติปัญญาของแต่ละบุคคล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๔ ตอนที่ ๒๐๓๑ – ๒๐๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    25 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ