แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2035


    ครั้งที่ ๒๐๓๕


    สาระสำคัญ

    ธรรม ๔ อย่างในโลกนี้ ย่อมครอบงำศัตรูได้

    การกล่าวคำจริง วิธีการที่ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น

    ประโยชน์ที่สุดก็คือได้เข้าใจเรื่องของการอบรมบารมี


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๑๒ พฤษภาาคม ๒๕๓๔


    ถ. พระยาวานรพูดกับหิน ทั้งๆ ที่ความจริงหินพูดไม่ได้ และไม่เคยพูดด้วย แต่วันนั้นทำทีว่าเคยพูดกับหินมาก่อน และจระเข้ก็เชื่อ อย่างนี้เป็นมุสาวาทหรือเปล่า

    สุ. นี่เป็นประเด็นที่ท่านผู้ฟังคงจะคิดว่า ท่านทำสิ่งซึ่งเหมือนลวง แต่ในขณะนั้นพระมหาสัตว์ดำริว่า เราไม่มีทางอื่นจะไป วันนี้เราจะเปลื้องจระเข้จาก บาปใหญ่ด้วยอาการอย่างนี้ และเราก็จะได้ชีวิตด้วย

    นี่คือผู้ที่จระเข้สรรเสริญ สัจจัง คือ วจีสัจจะ กระทำตามที่พูด ธัมโม คือ วิจารณปัญญา ได้แก่ ปัญญาที่ไตร่ตรอง ปัญญาที่เป็นไปว่า เมื่อเราทำอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้ คือ รู้ว่าถ้าพูดอย่างนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นใครก็ตามที่มีสติปัญญา และมีเหตุการณ์อะไรเฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้น ก็สามารถพิจารณาแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ แม้ด้วยคำพูด และขณะนั้นเป็นประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ จระเข้ก็พ้นจากบาปใหญ่ด้วย

    ถ. ประโยชน์ใหญ่กว่า

    สุ. วิธีจับคนโกง ต้องมี คือ ต้องเป็นผู้ที่ฉลาด ถ้าใครมีความประพฤติไม่ดี มีอุบาย หรือมีอะไรที่เป็นทุจริต และอีกผู้หนึ่งมีวิธีที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย ก็ไม่ควรคิดว่าเป็นการลวง แต่เป็นเพียงวิธีการที่ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่นด้วย

    ผู้ฟัง พระโพธิสัตว์ต้องการให้จระเข้กล่าว คือ พูดว่าวันนี้ก้อนหินทำไมไม่พูด รู้สึกว่าจะไม่คลาดเคลื่อนจากความจริง เพราะท่านพูดให้จระเข้เข้าใจเอาเองว่า ทุกวันก้อนหินคงพูด คือ ท่านเพียงกล่าวและคิดว่าจระเข้คงจะเข้าใจอย่างนี้ และคำกล่าวที่ว่า วันนี้ทำไมหินไม่พูด ก็เป็นคำกล่าวลอยๆ ขึ้นมา

    สุ. ข้อความใน อรรถกถา มีว่า พระยาวานรคิดว่า เราจักทดลองจระเข้นั้นก่อน คือ ยังไม่รู้ว่าเป็นจระเข้หรือเปล่า อยู่ดีๆ หินก็สูงขึ้น ซึ่งความจริงพระยาวานรกำหนดขอบของน้ำกับขอบของหินเป็นประจำ เมื่อมีความผิดปกติก็ต้องการจะรู้ วิธีที่จะรู้ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็ทดลองโดยการทำเป็นพูดกับ แผ่นหิน

    พระ ที่อาตมาสนทนากับเพื่อนภิกษุเรื่องการพูดด้วยเจตนาที่ดี ที่ไม่หักรานประโยชน์บุคคลอื่น ท่านสนทนากลับมาว่า ในครั้งที่ท่านพระสารีบุตรจะแสดงธรรมให้โจรเคราแดงฟัง แต่โจรเคราแดงโทมนัสเรื่องการฆ่ามาก ท่านพระสารีบุตรเลยถามว่า เขาใช้ให้ท่านฆ่ามิใช่หรือ ทำให้โจรเคราแดงเข้าใจว่า การฆ่าของท่านนั้นไม่มีบาป ซึ่งท่านพระสารีบุตรก็ไม่ได้กล่าวบิดเบือนจากความจริงเลย เพื่อนภิกษุก็กล่าวว่า นี่แหละ เจตนาในขณะนั้นไม่ตรง แต่อาตมาคิดว่า เจตนาเราดีเพื่อให้เป็นประโยชน์ และวาจาก็กล่าวตรงกับที่เราเข้าใจด้วย ไม่เห็นว่ากล่าวไม่ตรงกับใจตรงไหนเลย เพราะขณะที่พูดก็พูดตรงตามที่ตั้งใจเอาไว้เหมือนกัน

    สุ. ผู้กล่าวย่อมรู้ว่า พูดคลาดเคลื่อนจากความจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่กล่าวคำไม่จริง คนอื่นยังไม่รู้เลยว่าคำนั้นจริงหรือเปล่า แต่คนกล่าวนั้น รู้ก่อนว่า คำที่จะกล่าวนั้นจริงหรือไม่จริง แสดงให้เห็นว่า ขึ้นอยู่กับเจตนา

    ถ. ในกรณีที่พระยาวานรทราบแล้วว่าเป็นจระเข้ และก็พูดว่าให้อ้าปาก และก็รู้ว่า เมื่ออ้าปากแล้วจะหลับตา ตัวเองก็จะโดดเหยียบศีรษะจระเข้ข้ามไปได้ ในลักษณะอย่างนี้ เป็นเจตนาของพระยาวานรหรือเปล่าที่จะลวงให้จระเข้อ้าปาก

    สุ. เพราะว่าเป็นผู้มีปัญญาที่สะสมมา เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ภพภูมิว่า จะเกิดที่ไหน ก็ยังสามารถเอาตัวรอดไปได้ แม้แต่ในภูมิที่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน

    ถ. ตามความเห็นของผมเข้าใจว่า อยู่ที่สภาพจิตของผู้พูดเองในขณะที่พูด สมมติว่าอยู่ในกลุ่มของสุภาพสตรี เขาชมอีกท่านหนึ่งว่า สวยจริง ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรื่อง ได้ราวเลย เราฟังอยู่ถ้าสติเกิดก็รู้ว่าโทสะเกิดแล้ว พูดกันไม่ได้เรื่องได้ราว ทั้งๆ ที่ ดูไม่ได้ ก็ยังชมว่าสวย ว่างาม ใจจริงอยากจะพูดออกไปว่า ไม่สวย ลักษณะอย่างนี้เราไม่สมควรพูดใช่ไหม

    สุ. พูดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

    ถ. ให้เขารู้ความจริงว่า เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น

    สุ. เขาก็คงจะรู้อยู่แล้ว บางคนก็อาจจะชอบหลอกตัวเอง แต่จริงๆ แล้วใครเป็นอย่างไรก็น่าจะรู้ดี

    ถ. สรุปว่า เจตนาเป็นตัวชี้ว่าจะเป็นสัจจะหรือไม่ ผมยังมองไม่เห็นว่า ที่พระโพธิสัตว์ท่านกล่าวว่า ทำไมวันนี้แผ่นหินไม่พูดล่ะ จะเป็นสัจจะได้อย่างไร เจตนาก็รู้ว่า สงสัยว่านี่ไม่ใช่แผ่นหิน ต้องลองดู และที่พูดว่า ทำไมเจ้าไม่พูดล่ะ ก็แสดงว่าไม่จริง เจตนาพูดไม่จริง จะลวงเขา เป็นสัจจะได้อย่างไร

    สุ. ขณะนั้นพระโพธิสัตว์ไม่ทราบว่าเป็นจระเข้หรือเปล่า วิธีที่จะรู้ว่า เป็นจระเข้ใช่ไหม ก็ต้องมีหนทาง วิธีที่จะทราบก็คือพูด ก็จะรู้ว่าเป็นก้อนหินหรือ ไม่ใช่ก้อนหิน ธรรมดาเราไม่ควรเดา ทุกสิ่งทุกอย่างอย่าคิดเดา ต้องพิสูจน์

    ถ. แต่วิธีพิสูจน์นั้นก็ควรรักษาสัจจะ การที่ไปพูดลอยๆ ว่า ทำไมเจ้าหิน ไม่พูด จระเข้ก็เขวเหมือนกัน

    สุ. ความฉลาดของพระโพธิสัตว์ที่พระองค์ได้สะสมมาที่จะรู้ว่า วิธีไหนที่จะทำให้รู้แน่ ถ้าบอกว่า จระเข้มานอนที่นี่ทำไม จระเข้จะไม่กระดุกกระดิกเลยก็ได้

    ถ. ผมไม่เถียงเรื่องความฉลาด แต่ความฉลาดจะเป็นเครื่องอ้างว่า เราไม่เสียสัจจะนั้นคงไม่ได้

    สุ. ข้อสำคัญที่สุด ไม่ได้ทำลายประโยชน์ใครเลย

    ถ. ทำลายประโยชน์จระเข้ ไม่ได้กินหัวใจลิง

    สุ. แต่ประโยชน์ใหญ่กว่านั้น คือ ช่วยไม่ให้จระเข้ทำทุจริตกรรม

    ถ. ที่ท่านอาจารย์บอกว่า พระโพธิสัตว์มีความฉลาด สามารถพูดให้เกิดประโยชน์ได้ คือ จระเข้ไม่ต้องทำบาปฆ่าสัตว์ คือ ฆ่าพระโพธิสัตว์ และพระโพธิสัตว์ก็ไม่ตายเพราะถูกจระเข้กัด ความฉลาดที่พูดนี้ ผมยังมองเห็นว่า ไม่ใช่สัจจะ ประเด็นสำคัญ พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่ก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าไม่จริงทำไมจึงพูด ปกติแล้วควรจะพูดในสิ่งที่จริง

    ผู้ฟัง ความจริงแล้ว พระโพธิสัตว์ไม่ได้โกหก ท่านถามว่า ทำไมวันนี้ก้อนหินไม่พูด ท่านไม่ได้บอกว่า ทุกวันหินจะพูด ท่านถามว่า ทำไมวันนี้ก้อนหินไม่พูด เป็นคำถามเฉยๆ

    พระ อาตมาเข้าใจว่า การกล่าวนั้นเป็นกล่าวด้วยกุศล เพราะเป็นคุณ

    สุ. เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่รู้ยาก แต่ถ้าเป็นจิตของพระโพธิสัตว์แล้วย่อมเป็นไปในกุศล เวลาที่มีกุศลเจตนาที่จะเปลื้องผู้ที่มีอกุศลจิตไม่ให้กระทำอกุศลกรรม ขณะนั้นก็ต้องเป็นกุศล

    พระ เพราะฉะนั้น คำพูดใดๆ ต้องมุ่งหมายถึงจิตด้วย ไม่ใช่เราจะเน้นเพียงคำพูดนั้นๆ เท่านั้น ถ้าจิตนั้นเป็นกุศลและกล่าววาจาออกไป เป็นประโยชน์ได้ ก็เป็นกุศล ใช่ไหม

    สุ. สำคัญที่จิตซึ่งกล่าว

    ถ. จะเป็นอย่างนี้ได้ไหม คือ วันนี้เจ้าหินไม่พูดกับเราจริงๆ จึงกล่าวว่าวันนี้เจ้าหินไม่พูดกับเรา ก็ไม่ได้เป็นการกล่าวโกหก

    สุ. เจตนาของคนที่จะพูดความจริง เช่น หินวันนี้ไม่พูด หรือหินไม่พูด ก็คือหินไม่พูด เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตในขณะนั้นว่า มุ่งตรงต่อความจริงหรือเปล่า เพราะไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ถ้ามีเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องใช้คำพูด ผู้พูดย่อมรู้ดีว่า ขณะนั้นคำพูดนั้นตรงกับความจริงหรือเปล่า ไม่ว่าคนฟังจะเข้าใจอย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วพระโพธิสัตว์เพียงแต่ต้องการจะรู้ว่า ที่เข้าใจว่าเป็นจระเข้นอนบนหินนั้นจริงหรือเปล่า เพราะว่าความคิดทุกคนคิดได้ แต่ความจริงนั้นจะเป็นอย่างไรก็สมควรที่จะต้องพิสูจน์ ไม่ใช่เพียงแต่คิดเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีทางพิสูจน์ด้วยวิธีใดๆ ก็พิสูจน์ด้วยวิธีนั้น แต่คำที่ใครจะกล่าว บุคคลนั้นเป็นผู้ที่รู้ดีว่าเป็นผู้ที่กล่าวคำจริงหรือไม่ อย่างที่กล่าวว่า หินไม่พูด ผู้นั้นก็รู้ความจริงว่า หินไม่พูด และก็กล่าวว่า หินไม่พูด ไม่ได้กล่าวว่า หินพูด และในขณะที่กำลังพูดนั้น จิตของบุคคลนั้นก็รู้ว่าพูดในสิ่งที่จริง อย่างพูดกับต้นไม้วันนี้ว่า ต้นไม้ไม่พูด ต้นไม้ไม่พูดก็จริง ไม่ใช่ว่าต้นไม้ไม่พูดแล้วไม่จริง เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับเจตนาของคนที่พูดในขณะนั้นว่า มีจิตที่คิดจะพูดคำจริงหรือเปล่า ถ้ามีจิตที่คิดจะพูดคำจริง ก็แล้วแต่ว่าคนอื่นฟังแล้วจะตอบอย่างไรที่จะทำให้ตนรู้ว่า เป็นจระเข้จริงๆ ไม่ใช่ก้อนหิน

    ถ. เพราะฉะนั้น บุคคลที่ฟังไม่เกี่ยว เกี่ยวกับเจตนาของผู้พูด

    สุ. ผู้ที่กำลังพูดรู้ว่าคำนั้นจริงไหม เพราะฉะนั้น ทุกท่านซึ่งเป็นผู้ที่จะกล่าววาจาจริง ไม่ว่าจะพูดในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด ย่อมทำให้ เป็นผู้ที่รู้สึกตัวในขณะนั้นว่า แม้คำพูดที่จะกล่าว คำนั้นจริงหรือเปล่า อย่างต้นไม้ ไม่พูด ก็เป็นคำจริงสำหรับผู้ที่กำลังกล่าวอย่างนั้น เป็นคำจริงสำหรับผู้พูดที่ว่า ต้นไม้ไม่พูด เพราะฉะนั้น ถ้าก้อนหินไม่พูด ก็เป็นคำจริงสำหรับผู้ที่ในขณะนั้นรู้ว่า ก้อนหินไม่พูด

    ถ. ที่อาจารย์พูดว่า สัจจะ ทมะ ธิติ จาคะ ฟังคล้ายๆ กับฆราวาสธรรม

    สุ. ธัมมะ ไม่ใช่ทมะ

    ถ. และ ธิติ

    สุ. ข้อความใน อรรถกถา มีว่า บทว่า ธิติ ได้แก่ความเพียรที่ไม่ขาด แม้ความเพียรนี้ก็มีแก่ท่าน ซึ่งหมายถึงพระโพธิสัตว์

    เพียรหรือเปล่า เพียรที่จะพิสูจน์ดูซิว่า ก้อนหินหรือจระเข้ เพียรที่จะใช้กำลัง ที่จะกระโดดไปบนหลังจระเข้

    นี่ก็เป็นประเด็นซึ่งท่านผู้ฟังมีโอกาสที่จะคิดใคร่ครวญ แต่ประโยชน์ที่สุด คือ ได้เข้าใจเรื่องของการอบรมบารมี ซึ่งเราทุกคนก็ไม่รู้ว่าจะเกิดที่ไหน ถ้ายังไม่เป็น พระโสดาบันบุคคลก็มีปัจจัยทำให้เกิดในอบายภูมิได้ คือ เกิดในนรกได้ เกิดเป็น เปรตได้ เกิดเป็นอสุรกายได้ เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานได้ แต่การสะสมปัญญา การพิจารณา การสังเกต การไตร่ตรองเหล่านี้ ไม่ว่าจะไปเกิดในภพภูมิใด แม้แต่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็แสดงให้เห็นว่า มีความคิดต่างกัน และมีมนสิการในเหตุการณ์ ต่างๆ กันด้วย

    ท่านผู้ฟังเคยเห็นสัตว์ฉลาดๆ ไหม มีบ้างไหมที่ต่างกับสัตว์อื่น แม้เป็น สัตว์ดิรัจฉานก็ต่างกันตามกำลังสติปัญญา แต่ไม่มีใครสามารถอ่านความคิดของ สัตว์ดิรัจฉานได้ ซึ่งจริงๆ แล้วหลังจากเห็นก็คิด หลังจากได้ยินก็คิด หลังจากได้กลิ่น ก็คิด หลังจากลิ้มรสก็คิด และปกติความคิด ก็คิดไปตามเรื่องของแต่ละภพแต่ละชาติ ถ้าใครมีโอกาส มีความสามารถ มีญาณวิเศษ ก็สามารถล่วงรู้ถึงความคิดของ สัตว์ดิรัจฉานต่างๆ ได้

    ที่บ้านมีบ่อปลาเล็กๆ และมีปลาตัวเล็กๆ วันหนึ่งเมื่อไปดูปลา ก็เห็นปลาทองตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง เตะก้อนกรวดด้วยปากเล่น ตัวอื่นไม่ทำอย่างนั้นเลย แต่ตัวนี้ ไม่ทราบว่าเคยเป็นนักฟุตบอลหรือเปล่า เขาทำอย่างนั้น ใช้ปากดันก้อนกรวดเล็กๆ เท่าที่กำลังของเขาจะดันไปได้ ดันไปแล้ว เขาก็ตามไปอีก และดันไปอีก ดันไปอีก เล่นอยู่ตัวเดียว ส่วนอีกตัวหนึ่ง ในบ่อนั้นก็มีปลาพิการ ทรงตัวไม่ค่อยได้ กินอาหารลำบาก อีกตัวหนึ่งจะคอยมาดันให้ตัวของเขาตรง ซึ่งตัวอื่นก็ไม่ทำ แต่ตัวนี้มีจิตเมตตา ใจดีเห็นว่าเพื่อนกินอาหารลำบาก ก็พยายามประคับประคองให้เขาทรงตัวได้

    แสดงให้เห็นถึงชีวิตที่วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ และทุกชีวิตมีความคิด จะคิดสนุก หรือคิดทุกข์ หรือคิดกังวล คิดห่วงใย คิดดี คิดชั่ว ก็แล้วแต่สติปัญญา แม้แต่เป็นปลาตัวเล็ก อย่าคิดว่าไม่มีความคิด แต่เราไม่สามารถรู้ความคิดของเขาได้

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีตัวอย่างของสัตว์ฉลาดๆ ที่เป็นชีวิตจริงๆ ที่ท่านพบเห็น บ้างไหม แต่สัตว์ที่ฉลาดถึงระดับขั้นของพระโพธิสัตว์ ต้องเป็นพิเศษเหนือกว่าสัตว์ธรรมดาอื่นๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๔ ตอนที่ ๒๐๓๑ – ๒๐๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    25 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ