แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2017


    ครั้งที่ ๒๐๑๗


    สาระสำคัญ

    ผู้ร่วมเดินทางมานมัสการสังเวชนียสถานครั้งนี้แสดงทัศนะทางธรรม ความเข้าใจธรรมและประสบการณ์การศึกษาธรรมของตนเอง (ต่อ)

    ลักษณะของปรมัตถธรรม - สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ - สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นร้องเพลงได้หรือเปล่า - ปัญญาต้องรู้ทั่ว - สติเป็นอนัตตา


    สนทนาธรรมที่พุทธคยา

    วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๓


    ผู้ฟัง ดิฉันคิดว่าตัวเองมีโทสะเกิดขึ้นเพราะวจีกรรม เมื่อก่อนนี้ที่ยังไม่ได้ฟัง คำบรรยายของท่านอาจารย์ ก็อยากจะตอบโต้ หรือพูดกันไปพูดกันมา จากเดิมที่ ไม่เป็นเรื่องก็เป็นเรื่องขึ้นมาได้ เมื่อได้ฟังคำบรรยายของอาจารย์แล้ว บางทีก็ ระลึกขึ้นมาได้ว่า คำพูดที่ได้ยินเป็นเพียงเสียงที่กระทบทางหู เป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ ที่ดิฉันเกิดโทสะหรือไม่พอใจอะไร โทสะก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เช่นกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จากการหยุดระลึกรู้ บางทีก็ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ เพราะว่าดิฉันจะเป็นคนที่หยุด และเหตุการณ์นั้นก็ไม่ยาว รู้สึกว่า อกุศลวิบากที่เกิดขึ้นเมื่อระลึกได้ก็เป็นเพียงเสียงที่กระทบทางโสตปสาท ทำให้ไม่คิดปรุงแต่งต่อไป ช่วยขจัดหรือคลี่คลาย ความยุ่งยากขัดแย้งต่างๆ ได้มาก และไม่คิดเป็นตัวตนมาก ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ที่ทำความสว่างอันนี้ให้เกิดขึ้น ถ้าดิฉันไม่ได้ฟังคำบรรยายของอาจารย์ คงไม่มีวันคิดถึงคำพูดที่ว่า เป็นเพียงเสียงกระทบทางหูเท่านั้น

    ถ. อาจารย์เคยอธิบายว่า ขณะที่เรารู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หลังจากที่รู้อารมณ์นั้นมีความคิดเรื่องเกิดขึ้นด้วย ในชีวิตประจำวันรู้สึกว่า จะมีความคิดเรื่องสิ่งที่เราเห็นเราได้ยินมากกว่าขณะที่เห็นกับได้ยิน ผมสงสัยเรื่องนี้ เพราะว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านเน้นเรื่องมีสติทางตา ทางหู มากกว่าเรื่อง สติเกิดขึ้นทางใจ ในเรื่องความคิด

    สุ. ก็เป็นความจริง เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏทางตา แต่ ทุกคนกำลังคิดถึงเรื่อง ไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม ข้ามปรมัตถธรรมไปจำเป็นเรื่องราวต่างๆ

    ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงให้ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม เพื่อจะได้รู้ว่า ตามความเป็นจริงแล้ว ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่คิดนึก เพื่อแยก สมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะออก มิฉะนั้นทุกคนก็จะนึกเป็นเรื่องราวตลอดเหมือนเดิม เมื่อวันก่อนเห็นอะไรก็นึกเรื่องราวต่างๆ ทางตาที่เห็น แม้แต่ในขณะนี้เอง แต่ละคน ก็ยังนึกถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงเรื่องสติระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรื่อง สิ่งที่กำลังปรากฏมี ลักษณะปรากฏ ซึ่งไม่ใช่เรื่อง

    เพราะฉะนั้น เรื่องจึงเป็นความคิดนึก ถ้ายังไม่ระลึกถึงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็แยกสิ่งที่ปรากฏทางตากับการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ไม่ได้ และถ้าไม่แยก สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏลักษณะที่ดับไปไม่ได้เลย เพราะว่าเรื่อง กำลังติดต่อไม่ให้ปรากฏลักษณะที่เกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้

    ถ. แต่คิดอยู่เสมอ แต่งเรื่องบ่อยๆ ถ้ามีสติเกิดขึ้นในขณะนั้น อาจจะช่วยความเข้าใจว่า เป็นความคิด ไม่ใช่การเห็น

    สุ. เราทุกคนได้ยินได้ฟังเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา และจะได้ฟังเรื่องนี้ ต่อไปอีกจนกว่าสติจะระลึกและปัญญารู้ชัดจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เราคิดนึก แต่เป็นสภาพที่มีลักษณะปรากฏ ส่วนความคิดนึกไม่มีลักษณะปรากฏ เป็นแต่เพียงความจำเพ้อฝันไปตามสิ่งที่ ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นเห็น ไม่มีจิตเกิดขึ้นได้ยิน ไม่มีจิตเกิดขึ้น ได้กลิ่น ไม่มีจิตเกิดขึ้นลิ้มรส ไม่มีจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะคิดนึกเรื่องอะไร

    แต่ก็ยังมีความคิดนึกสำหรับอรูปพรหม

    สำหรับบุคคลที่ไม่ใช่อรูปพรหม ยังอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส คิดดู จะคิดเรื่องอะไร ก็ต้องคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่ได้คิดตามความเป็นจริง คือ ไม่ได้คิดว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แต่จำเรื่อง อย่างในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตามี แต่ทุกคนจำเป็นเรื่อง เพราะฉะนั้น วันนี้บางคนอาจจะฝันถึงพระศรีมหาโพธิ์ ฝันถึงพุทธคยา ฝันได้ แต่จะจำทุกสีที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ไหม ลองดู สีเทา สีทอง สีดำ สีเหลือง สีส้ม สีต่างๆ เหล่านี้ เราไม่ได้จำสีครบ เพราะว่าเราจำเพียงเรื่อง แม้ในขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ เราก็จำเพียงเรื่อง สำหรับคิดเรื่องเท่านั้นเอง

    ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงว่า เรื่องไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏ ปรากฏ ให้เราจำเรื่อง และยึดถือเรื่องว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง เป็นคน เป็นสัตว์ ซึ่งไม่เกิดดับ และหมุนเวียนไปกับเรื่องต่างๆ ตั้งแต่เด็ก ตอนเป็นเด็กก็มีเรื่องเยอะ เรื่องเพื่อนสมัยเด็ก สมัยนักเรียน และเติบโตขึ้นมาก็เป็นเพื่อนฝูงสมัยทำงาน จนกระทั่งถึงวัยศึกษาธรรม ก็มีเพื่อนธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องราวทั้งหมด ทั้งๆ ที่ปรมัตถธรรมเกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด แต่เรื่องยังมีอยู่ในความคิดนึก

    ถ. หมายความว่า เรื่องคิดนึกไม่ใช่ปรมัตถ์ ถูกไหม ที่อาจารย์บอกว่า เราจำแต่เรื่อง ส่วนรายละเอียดนั้นเราไม่สามารถบอกได้ ผมเองก็เคยสังเกต สภาพ คิดนึกผมก็สนใจ ผมเคยหลับตาและคิดไปที่มือ มองเห็นเป็นภาพว่านิ้วก้อย งออย่างนั้น นิ้วชี้ชี้ไปทางโน้น แต่ลืมตาทีไรผมแปลกใจว่า ไม่เหมือนกับที่ผมคิดเลย ...

    สุ. เวลาคุณธงชัยคิดถึงนิ้วก้อย คิดถึงเล็บที่มีอยู่ที่นิ้วก้อยด้วยหรือเปล่า เห็นไหม ความละเอียดไม่มีเลย มีแต่สัญญา ความจำเรื่องนิ้วก้อย แต่จริงๆ เวลาที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่สามารถกระทบตาและก็เห็นเท่านั้นเอง แต่ความจำเรื่อง เป็นเรื่องของทางใจที่คิดนึก ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ

    ถ. และจำผิดๆ ไม่ตรง แสดงว่าที่คิดไม่จริง ผมเคยสังเกตบ่อยๆ เช่น ผมนอนไขว่ห้างและคิดถึงภาพหัวเข่าว่า งออย่างนั้น เท้ายืดอย่างนี้ เมื่อลืมตา ต้องแปลกใจทุกทีเลย นี่เป็นประสบการณ์จากการสังเกต

    สุ. ไม่ทราบว่าเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานหรือยัง ที่ว่านอนและก็นึกถึงหัวเข่างอ เข้าใจเรื่องสติปัฏฐานแล้ว ใช่ไหม แต่ตามความเป็นจริงในขณะที่หลับตา อาจจะนอน ยกเข่าอย่างที่ว่า และลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏคือแข็ง แต่ขณะนั้น คุณธงชัยไม่ได้ระลึกตรงลักษณะที่แข็ง แต่ไปนึกถึงท่าทาง เช่น อาการงอเข่า เพราะฉะนั้น จึงไม่มีลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่าไม่ใช่ตัวตน เพราะว่านึกถึงเข่า แต่เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน แม้ไม่นึกอะไรเลย สภาพธรรมก็ปรากฏตามความเป็นจริง

    แข็งที่กำลังปรากฏส่วนหนึ่งส่วนใดของทุกคนในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่มี จริงๆ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาให้เกิดขึ้น และจะให้แข็ง ไม่ปรากฏก็ไม่ได้ ในขณะที่กายปสาทกระทบกับแข็งในขณะนั้น แต่อวิชชาไม่สามารถ รู้ความจริง ด้วยเหตุนี้จึงต้องอบรมเจริญวิชชา ความรู้ ในสภาพที่แข็ง ซึ่งไม่ใช่หัวเข่า ไม่ใช่อะไรเลย เป็นลักษณะเพียงแข็ง และปรากฏเพียงเล็กน้อยด้วย ไม่ใช่ว่าทั่วทั้งตัว

    เพราะฉะนั้น ย่อส่วนของความทรงจำที่เป็นอัตตสัญญาว่ามีร่างกายตั้งแต่ศีรษะ ตลอดเท้ามาเหลือแต่เพียงลักษณะแข็ง จึงจะเห็นว่า แข็งนั้นหรือคือเรา เพราะว่า เป็นแต่เพียงลักษณะแข็งเท่านั้นเอง ถ้าเอาความทรงจำเรื่องร่างกายตั้งแต่ศีรษะ ตลอดเท้าออก ขณะนั้นจะไม่มีเรา เพราะว่าเราไม่ได้ปรากฏให้มี แต่ความจำที่เป็นอัตตสัญญาจำไว้เท่านั้นเอง

    ในขณะที่สติระลึกลักษณะที่แข็ง และไม่สนใจที่จะไปจำอัตตสัญญา แต่รู้ลักษณะที่แข็ง ซึ่งต่างกับสภาพที่กำลังรู้แข็ง นั่นเป็นหนทางที่จะทำให้ค่อยๆ คลายความเห็นผิดว่ามีตัวตนได้

    ถ. นึกกับที่เห็น ไม่ได้แข็ง

    สุ. สติปัฏฐานไม่ใช่เปรียบ แต่มีลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งลักษณะปรากฏ และสติระลึกตรงนั้นเพื่อที่จะได้เข้าใจว่า ลักษณะสภาพนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา เพราะว่าแข็งนิดเดียวตรงนี้มีเราอยู่ที่ไหน มีแต่แข็ง

    ความจำของเรายังทรงจำไว้ว่า มีเราที่กำลังรู้ตรงแข็ง ความทรงจำที่เป็น อัตตสัญญานั้นจะต้องค่อยๆ ถอนไปให้หมด ไม่ให้เหลือ และจำแต่เฉพาะ อนัตตสัญญาที่แข็ง ซึ่งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ถ. ก่อนที่จะมาที่พุทธคยา มีการสนทนาธรรมกัน มีผู้สงสัยถามว่า สิ่งที่ปรากฏทางตากล่าวว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่มองไปทีไร ก็ยังเป็นคน เป็นสัตว์อยู่ตลอดเวลา เขาสงสัยว่า เมื่อไรจึงจะเห็นว่าเป็นเพียง สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ผมก็นึกถึงคำที่ท่านอาจารย์เคยตั้งคำถามให้กับผู้ฟังว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาร้องเพลงได้หรือเปล่า

    สิ่งที่ปรากฏทางตาร้องเพลงได้หรือเปล่า นี่เป็นการเน้นของท่านอาจารย์ เพื่อให้ทราบว่า ลักษณะของทางตาจะมีเสียงปรากฏไม่ได้ ต้องเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ได้ทางตา นี่เป็นความเข้าใจของผม จะผิดถูกอย่างไร ขอให้ท่านอาจารย์อธิบายด้วย

    ผู้ฟัง ลองให้คนอื่นตอบ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏได้เฉพาะทางตา เป็นได้เพียงอารมณ์ ทำมากกว่านั้นไม่ได้

    ถ. อย่าคิดว่าเป็นการทดสอบ เป็นการคุยกัน จากที่คุณประวิทย์ตอบ ไม่ทราบว่าตอบเพราะศึกษา จำได้ หรือเพราะเคยมีสภาพธรรมนั้นปรากฏจริงๆ อย่างที่ตอบนั้น

    ผู้ฟัง ผมเคยสังเกตจากโทรทัศน์ เห็นว่าสิ่งที่เห็นในจอกับที่พูดนั้น คนละเรื่องจริงๆ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังมีอยู่เดี๋ยวนี้ ถ้าไม่เพียงอ่าน หรือไม่เพียงคิด ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาอยู่

    สุ. มาถึงคำถามที่มีคนถามคุณศุกลว่า เมื่อไรจะรู้ว่าเป็นแต่เพียง สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตน เพราะเห็นทีไรก็เป็นตัวตนทุกครั้ง คำถามนี้ เป็นแต่เพียงต้องการทราบว่าเมื่อไร แต่ไม่ได้เจริญเหตุ

    เมื่อไม่มีเหตุ คือ ไม่มีสติที่กำลังระลึกในขณะที่กำลังเห็น และถามว่า เมื่อไร ไม่มีเมื่อไรแน่ๆ ถ้าขณะนี้สติไม่ระลึก ต่อเมื่อใดที่ขณะนี้กำลังเห็น และเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังมีจริงๆ ปรากฏ และสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรม คือ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกระทบกับจักขุปสาท ค่อยๆ พิจารณา ไม่กระทบกับส่วนอื่นใดๆ ในร่างกายเลยจึงปรากฏ เท่านั้นเอง เป็นสิ่งหนึ่งที่ปรากฏเมื่อกระทบกับ จักขุปสาท เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะละคลายการเห็นว่า เป็นคน เป็นสัตว์ ต้องเริ่มตั้งแต่ระลึกได้ว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ค่อยๆ ระลึกไป ค่อยๆ เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย

    ส่วนที่ถามว่า เมื่อไร ต้องแล้วแต่เหตุ ถ้าไม่มีเหตุเลย ฟังมาว่า สิ่งที่ปรากฏ ทางตาเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และถามว่าเมื่อไรตัวเองจะรู้อย่างนี้ โดยที่ไม่มีเหตุเลย สติไม่เกิดไม่ระลึกเลย คำถามนี้ก็ต้อง เป็นโมฆะ เพราะเมื่อเหตุไม่มี ผลก็มีไม่ได้

    ต่อเมื่อใดที่เข้าใจ สติเริ่มระลึกขณะที่กำลังเห็น แม้เป็นเพียงความเข้าใจ ที่เล็กน้อยที่สุด ก็ต้องเริ่มมาจากเล็กน้อยที่สุดว่า สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ปรากฏทางตา จริงไหม เมื่อเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ให้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จะให้เป็นเกินกว่านั้นถูกต้องหรือ

    ต้องค่อยๆ พิจารณาไป ระลึกไป เข้าใจไป สะสมไป จนกว่าจะมีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง

    ส่วนที่ถามว่า เมื่อไรจะละการเห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรื่องเฉพาะตัว ปัญญาของใครเกิดพร้อมสติที่ระลึกและเข้าใจเพิ่มขึ้น คนนั้นก็ไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องบอกใคร หรือคนอื่นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสงสัยว่า คนนี้เป็นอย่างไร สติวันนี้ของเขาเกิดแค่ไหน ของเราเกิดแค่ไหน ของคนโน้นแค่ไหน นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะไปรู้สติและปัญญาของคนอื่นได้ เป็นเรื่องเฉพาะตนเองที่จะรู้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดระลึกทางไหน ขณะใดเริ่มเข้าใจแม้เพียงนิดเดียว ทีละเล็กทีละน้อย จะทำให้เห็นจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ถ. ผมได้ตอบไปตามความเข้าใจของผมว่า ให้สังเกตขณะที่มีสติกับขณะที่สติไม่เกิด เพื่อให้เห็นความต่างกัน เพราะถ้าพูดถึงสติ ก็ต้องเป็นเรื่องการระลึก สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าสติไม่เกิดหรือหลงลืมสติ ก็ต้องเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นสิ่งใด สิ่งหนึ่ง เหมือนอย่างที่เราเห็นตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ผมตอบไปอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะผิดถูกอย่างไร

    (เสียงแตร)

    สุ. เวลานี้มีใครได้ยินอะไรบ้างไหม มี ถ้าใส่ใจในขณะที่ได้ยิน สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าขณะนั้นกำลังใส่ใจในเสียง ที่ปรากฏ แต่ความรวดเร็วของการที่จะระลึกทางตา และระลึกทางหู และระลึกทางใจ ยังไม่มีความชำนาญ จึงไม่สามารถรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเพียงปรากฏจริงๆ ต่อเมื่อใดสติปัฏฐานระลึกลักษณะของสภาพธรรมอื่นตามปกติ เช่น ขณะที่เสียงปรากฏระลึกที่เสียง และก็รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอย่างหนึ่ง เสียงก็เป็นอย่างหนึ่ง ในที่สุดก็จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ปัญญาต้องประกอบกันอย่างมากทีเดียว จะมุ่งไปทางเดียวไม่ได้ แล้วแต่ว่า สติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของนามธรรมใด รูปธรรมใด เพราะว่าปัญญาต้องรู้ทั่ว ไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะตั้งต้นระลึกทางตาก่อน และจะต่อไปทางหู ไม่มีการวางกฎเกณฑ์เลย เพราะว่าสติเป็นอนัตตา มีความเข้าใจจริงๆ ว่า ถ้าสติทางตายังไม่เกิดเป็นเดือน เป็นปี ก็เป็นเรื่องของสติปัฏฐานที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมอื่น จนกว่าจะ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น และจะเกื้อกูลทำให้สติเริ่มระลึกทางตา หรือถ้าสติยังไม่ได้ระลึกทางอื่นนอกจากทางตา ก็จะค่อยๆ ระลึกทางอื่นทีละเล็กทีละน้อยต่อๆ ไป โดยไม่หวั่นไหว เพราะว่าความเป็นตัวตนจะมาอยู่เรื่อยๆ ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น อยากจะจัดการอย่างนี้ อยากจะจัดการอย่างนั้น ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสติจริงๆ

    ถ้าปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสติจริงๆ หมายความว่า ผู้นั้นมีปัญญาวางเฉย ไม่เดือดร้อนเพิ่มขึ้น แต่เมื่อยังมีความเป็นตัวตนก็ต้องเดือดร้อนอย่างนี้ อยากจะจัดการกับสติเสียจริง อย่างที่ว่า โทสะออกไป สติขึ้นมา แต่อย่างไรๆ ก็สำเร็จไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาต้องเข้าใจความหมายของภาวนา

    ภาวนาไม่ใช่ท่อง ภาวนาไม่ใช่ทำ แต่ภาวนาเป็นการอบรมเจริญ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะสมบูรณ์ขึ้น ให้สิ่งที่ไม่เกิด เกิดขึ้น ให้สิ่งที่เกิดแล้ว มีมากขึ้น เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น นั่นคือความหมายของภาวนา



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๒ ตอนที่ ๒๐๑๑ – ๒๐๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    2 ก.ย. 2565

    ซีดีแนะนำ