แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2068


    ครั้งที่ ๒๐๖๘


    สาระสำคัญ

    ความเข้าใจเรื่อง อุโบสถศีล และอาชีวัฏฐมกศีล

    เจดีย์ทั้งหมดมี ๔

    เป็นผู้มั่นคงในกรรม

    อาชีวัฏฐมกศีล คือ ศีลอันมีสัมมาอาชีวะเป็นที่ ๘


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๘ กันยายน ๒๕๓๔


    ผู้ฟัง ที่ท่านดอกเตอร์ชินวุฒิพูดว่า จะไปบอกคุณป้าไม่ต้องรักษาศีลอุโบสถ ผมคิดว่า คุณป้าของคุณชินวุฒิ วันหนึ่งคืนหนึ่งท่านไม่ได้คิดหากำไรแน่นอน ท่านคงไปอยู่วัด ใช่ไหม ท่านคงไม่ค้าขายหรอกในวันถืออุโบสถ วันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น นอกนั้นก็ค้าขายไป ถ้าหากรักษาโดยไม่เข้าใจเท่าไร ก็ได้ ก็เป็นโคปาลอุโบสถ รักษาอุโบสถอย่างคนเลี้ยงโคให้เขา เป็นลูกจ้างเลี้ยงโคให้เขา รักษาได้แค่นั้นก็ยังดี อานิสงส์ก็มีอยู่ แต่ไม่มากเหมือนอย่างอริยอุโบสถที่ท่านอาจารย์พูด นั่นเป็นการ ขัดเกลาจริงๆ เพื่อหวังมรรคผลนิพพานจริงๆ ก็ตามอัธยาศัย

    ผู้ฟัง บารมี ๑๐ ทัศ ก็ยังเป็น ๓๐ ทัศได้ อย่างทานบารมี ศีลบารมี ถ้าศีลธรรมดา ไม่เป็นศีลบารมี แต่ก็ยังดีกว่าคนไม่มีศีล ยังดีกว่าทุศีล ศีลที่มุ่ง ขัดเกลาก็เป็นศีลบารมี และยังมีศีลอุปบารมี ศีลปรมัตถบารมี มียิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่ว่าไม่มีเลยดีกว่า

    สุ. ผู้ที่รักษาอุโบสถศีล แต่โกรธ อาฆาต ไม่อภัย อุโบสถศีลนั้นจะมีประโยชน์ไหม คิดดู

    พระ เรื่องของพระภิกษุที่ออกบวชและขัดเกลานั้น จะต้องอยู่ในระเบียบของพระวินัย ไม่อย่างนั้นพระพุทธองค์ก็วางโทษโดยการปรับอาบัติ พูดถึงบรรพชิต จริงๆ แล้วก็ไม่ต่างจากคฤหัสถ์ในด้านของปัญญาที่จะขัดเกลากิเลส ถ้าบรรพชิต ไม่เข้าใจธรรม พระพุทธองค์ก็เคยแสดงไว้สูตรหนึ่ง คือ อัคคิขันธูปมสูตร พระภิกษุล่วงศีลหนัก พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องอาหาร ถ้าเลี้ยงชีพด้วยการเป็นหมอดูก็ดี หรือว่าโกงเขามาก็ดี หลอกลวงเขา พระพุทธองค์ตรัสว่า กินถ่านแดงๆ ยังดีกว่า พระวินัยเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ บางครั้งมีผู้เอ่ยชื่ออาหาร เห็นว่าพระภิกษุเลือกไม่ได้ ก็เลยบอกว่า จะถวายก๋วยเตี๋ยว หลายๆ รูปก็กลับไปนอนฝัน ญาติๆ เขาจะถวาย ทุกวันเว้นวัน ให้คนเอามาให้ บางทีคนเอาอาหารมาส่งช้า บิณฑบาตมาก่อน ก็มานั่งรออาหาร ก๋วยเตี๋ยว

    ถ. วิหิงสาวิตกคืออะไร

    สุ. ความคิดเบียดเบียน

    ถ. อุทเทสิกเจดีย์ วันนั้นฟังในวิทยุ เจดีย์มี ๓ มีธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ อุทเทสิกเจดีย์

    สุ. เรียนอาจารย์สมพร

    สมพร เจดีย์ทั้งหมดมี ๔

    (เป็นเสียงอ่านของท่านผู้ฟัง)

    ๑. ธาตุเจดีย์ เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

    ๒. บริโภคเจดีย์ คือ สิ่งหรือสถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย อย่างแคบหมายถึงต้นโพธิ์ อย่างกว้างหมายถึงสังเวชนียสถาน ๔ ตลอดจนสิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าเคยทรงบริโภค เช่น บาตร จีวร และบริขารอื่นๆ เป็นต้น

    ๓. ธรรมเจดีย์ เจดีย์บรรจุพระธรรม เช่น บรรจุใบลานจารึกพุทธพจน์ แสดงหลักปฏิจจสมุปปาท เป็นต้น

    ๔. อุทเทสิกเจดีย์ เจดีย์สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป

    เจดีย์เหล่านี้ ในที่มาแต่ละแห่งท่านแสดงไว้ ๓ ประเภท นับรวมที่ไม่ซ้ำ เข้าด้วยกัน จึงเป็น ๔

    สุ. มีอะไรยังสงสัยอยู่อีกหรือเปล่า

    ถ. ภพกับชาติในปฏิจจสมุปบาท

    สมพร ภพมีความหมาย ๒ อย่าง ภพจริงๆ หมายถึงที่เกิด คือ รูปภพ อรูปภพ หรือกามภพ ภพอีกอย่างหนึ่งหมายถึงเจตนาที่กระทำกรรม เรียกว่า กรรมภพ

    ชาติก็หมายถึงการเกิด มีอย่างเดียว การเกิดขึ้นของนามรูป นี่ก็ตรงตัวแล้ว

    สุ. ภพ หรือ ภวะ หมายถึงความเป็นก็ได้ ขณะที่จิตเจตสิกเกิดขึ้นเป็น แล้วแต่ว่าจะเป็นภพไหน เป็นกรรมภพ ก็ต้องหมายความเฉพาะเจตนา

    ถ. ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึงกรรมภพ ใช่ไหม

    สุ. สำหรับคำว่า ภพ ในปฏิจจสมุปบาท หมายเฉพาะกรรมภพ

    ถ. คำว่า ภาวะ เมื่อมีคำว่า สะ เติมเข้าไป เป็นสภาวะ มีความหมายแตกต่าง หรือมีคำนิยามอย่างไรไหม

    สมพร ภาวะ กับสภาวะ ต่างกันนิดหน่อย ภาวะ หมายถึงสิ่งที่มี ที่เป็น ส่วนคำว่า สภาวะ หมายถึงสิ่งที่มีที่เป็นนั้นเป็นของตน เรียกว่า ภาวะของตน สะ แปลว่า ของตน

    ถ. อนัตตสัญญาหมายถึงขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณเท่านั้นหรือเปล่า

    สุ. ก่อนจะถึงวิปัสสนาญาณ ต้องอบรมเจริญปัญญา ตั้งแต่ขั้นการฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าจะถึงวิปัสสนาจริงๆ เมื่อนั้นจึงจะประจักษ์แจ้ง

    ถ. จึงจะเป็นอนัตตสัญญา

    สุ. จึงจะประจักษ์แจ้ง ในความเป็นอนัตตสัญญา

    ถ. แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกสภาพธรรม ไม่ใช่อนัตตสัญญา ขณะที่สติปัฏฐานเกิด จะนับว่าเป็นอนัตตสัญญาไหม

    สุ. นั่นเรื่องนับ แต่เรื่องความจริง คือ สัญญา หมายถึงความจำ ได้ยิน คำว่า อนัตตา จำเสียง จำคำ ยังไม่รู้ความหมายได้ไหม

    ถ. ได้

    สุ. แต่จำแล้ว คำที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย แต่ก่อนอาจจะเคยได้ยิน คำโน้นคำนี้ แต่คำว่า อนัตตา เมื่อได้ยินคำแล้ว สัญญาจำคำก่อน และเมื่อได้ฟังจนกระทั่งเข้าใจความหมายว่าอนัตตสัญญาคืออะไร ก็เป็นความเข้าใจขั้นการฟัง ถ้าไม่มีชื่อ ไม่มีคำที่จะเรียก หรือไม่มีความเข้าใจความหมายของอนัตตาเลย ก็ไม่สามารถถึงอนัตตสัญญาซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณได้

    เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า จะนับตอนไหนอย่างไรๆ เลิกนับ เลิกคิด แต่ ให้ทราบว่า สัญญา คือ ความจำ ถ้าจำเพียงชื่อก็คือจำคำ จำเสียง แต่เมื่อเข้าใจความหมายก็สามารถรู้ว่า หมายความถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพที่ไม่มีเจ้าของ ได้แก่ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    นี่คือความจำที่ค่อยๆ เพิ่มความสมบูรณ์ของความเข้าใจในลักษณะของ อนัตตาขึ้น จนกว่าเมื่อไรที่สติเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรม เมื่อนั้นยังต้องมีปัญญาที่รู้ ค่อยๆ รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า ไม่มีอนัตตสัญญาเลย และไปมีตอนที่เป็น วิปัสสนาญาณก็ไม่ได้ ปัญญาทั้งหมดต้องค่อยๆ เริ่มมี และจะกล่าวว่าตอนนั้น เป็นไหม ตอนนี้เป็นไหม ทำไมจะต้องมีเครื่องวัด ทำไมจะต้องมีตอนนี้ ตอนนั้น แต่หมายความว่า ขณะที่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น และจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ เพราะว่าวิปัสสนาญาณเป็นความสมบูรณ์ของปัญญาที่เมื่ออบรมแล้วก็ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ผิดจากที่เคยได้ยินได้ฟังและ เข้าใจแล้ว

    ถ. ขอบคุณ

    สุ. ธรรมเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ และเป็นเรื่องของเหตุผล เพราะฉะนั้น เวลาที่บางท่านมีเคราะห์ร้ายและไปหาผู้ที่ท่านเลื่อมใส ซึ่งท่านผู้นั้นก็อาจจะให้ รักษาศีลบ้าง อาจจะเป็นถึงศีล ๘ เป็นเวลา ๓ วัน ๕ วัน หรืออาจจะสั่งให้ทำกุศล เช่น ให้ปล่อยปลา ปล่อยนก ๓ สี ๕ สี ต้องเป็นอย่างนี้ด้วย ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟัง คิดอย่างไรในการที่จะทำตามสั่ง โดยที่ไม่เข้าใจในเหตุผลเลยว่า ทำไมต้องนก ๕ สี หรืออะไรอย่างนั้น ไม่คิดเลย สั่งอย่างไรก็ทำอย่างนั้น อย่างนี้จะชื่อว่าเป็นผู้นับถือ ในเหตุผล นับถือพระธรรม นับถือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม ในเมื่อ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด โดยตลอด ทั้งในสิ่งที่ เป็นเหตุ และเป็นผล

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเคราะห์ร้าย หรือมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้น จะมีท่านผู้ใด ซึ่งท่านเลื่อมใส ท่านไปหา และท่านผู้นั้นจะบอกให้ฟังพระธรรม ให้พิจารณาพระธรรม ให้เห็นโทษของอกุศล และให้เห็นประโยชน์ของการละเว้นจากทุจริตอกุศล ถ้าเป็นอย่างนี้ อย่างไหนจะเป็นประโยชน์กว่ากัน อย่างไหนเป็นไปเพื่อการติด เป็นสีลัพพตปรามาส อย่างไหนเป็นไปเพื่อการละ

    อย่างท่านที่จะปล่อยนก ปล่อยปลา ๕ สี ตามสั่ง เพราะอะไร เพราะว่า ติดในความเป็นตัวตนของท่านที่ไม่ต้องการจะได้รับผลที่ไม่ดี หรือท่านเห็นโทษเห็นภัยของอกุศล และท่านก็เจริญกุศล ขณะใดที่มีโยนิโสมนสิการก็พิจารณาจริงๆ และ ละเว้นทุจริต โดยไม่ต้องมีใครสั่ง โดยไม่ต้องมีใครบอก แต่เพราะท่านพิจารณาด้วยปัญญาและรู้ตามความเป็นจริงในเหตุในผล

    นี่เป็นสิ่งซึ่งแม้ชาวพุทธเองก็ต้องพิจารณาถึงการกระทำทางกาย ทางวาจา ของท่านในวันหนึ่งๆ ให้เป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ ในกรรม ถ้าท่านทำทุจริตกรรม และ จะอ้อนวอนขอร้องให้ได้ผลดี เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ไหม หรือถ้าท่านทำกุศลกรรมแล้ว ก็อ้อนวอนขอร้องอย่าให้กุศลนั้นให้ผลที่ดีเลย ให้กุศลนั้นให้ผลที่ไม่ดีทั้งหมด จะอ้อนวอนขอร้องสักเท่าไรก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ถ้าเหตุคือกุศลจิตเกิดขึ้นทำกุศลกรรมก็เป็นเหตุให้กุศลวิบากเกิด ถ้าอกุศลจิตเกิดขึ้นกระทำอกุศลกรรม ก็เป็นเหตุให้อกุศลวิบากเกิด เพราะฉะนั้น การจะไปปล่อยนก ๕ สี เกี่ยวข้องอะไร กับกุศลกรรมบ้าง นอกจากว่าท่านไม่เข้าใจในเรื่องโทษภัยของอกุศล และเป็นผู้ที่ ทำกุศลตามสั่ง โดยที่ไม่เข้าใจ

    เมื่อเป็นชาวพุทธ ก็ควรเข้าใจเรื่องของศีลให้ถูกต้อง ให้เห็นโทษของอกุศล และเป็นผู้รักษาศีลเป็นนิจศีล ได้แก่ ศีล ๕ เมื่อไม่สามารถรักษาอุโบสถศีลได้

    สำหรับปกติศีลที่เป็นกุศล ๕ ข้อ ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะพิจารณาเห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรละเว้นจริงๆ ก็คือ

    ๑. ละเว้นการฆ่า รวมทั้งการเบียดเบียนด้วย ไม่ใช่ละเว้นเพียงการฆ่า อย่างเดียว

    ๒. ละเว้นการถือสิ่งที่ไม่ใช่ของท่าน เอามาเป็นของท่าน แสดงให้เห็นว่า แม้เพียงความคิด ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ บางคนชอบของของคนอื่น แต่คิดดู สิ่งที่ท่านชอบ เจ้าของเขาต้องชอบด้วยหรือเปล่า ในเมื่อท่านยังชอบของของเขา เขาก็ต้องชอบของของเขาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ แม้ความคิดก็ไม่ควรที่จะคิดต้องการถือเอาสิ่งของที่ไม่ใช่ของท่านมาเป็นของท่าน

    ๓. ละเว้นการประพฤติผิดในกาม

    ๔. ละเว้นมุสาวาท คือ คำพูดที่ไม่จริง เพราะว่าคำพูดที่ไม่จริงไม่มีใครชอบเลย แม้แต่ธรรมที่ไม่จริงก็ไม่มีใครชอบ ถ้าเป็นธรรมที่ไม่มีเหตุผล เป็นมุสาวาท เพราะว่าไม่ใช่ความจริง พูดสิ่งที่ไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีใครชอบสิ่งที่ไม่มีเหตุผล และไม่เป็นความจริงด้วย

    แสดงให้เห็นว่า ทุกเรื่องที่เป็นมุสาวาท คือ คำไม่จริง แม้เพียงเล็กน้อย ต้องเป็นผู้เห็นโทษจริงๆ และมีวิริยะที่จะวิรัติ ไม่พูดคำที่ไม่จริง แม้เป็นเรื่องที่ ท่านอาจจะเห็นว่าไม่เป็นโทษกับคนอื่น แต่การเสพคุ้นบ่อยๆ จะทำให้เป็นผู้ที่คุ้นเคยกับการกล่าวมุสาวาทได้ง่าย และยิ่งเห็นว่าไม่เป็นโทษเป็นภัย ก็จะยิ่งกล่าวไปเรื่อยๆ บ่อยๆ เพราะฉะนั้น ปกติจะเป็นผู้ที่ไม่มีใครเชื่อในคำพูดของท่าน และขอให้คิดถึงความจริงว่า ในเมื่อท่านต้องการสัจจะคือความจริง คนอื่นก็ต้องการด้วยเช่นเดียวกัน

    สำหรับศีลข้อที่ ๕ ที่เป็นนิจศีล คือ ละเว้นการดื่มสุรา หรือของเสพติด ของมึนเมาทุกประเภท เพราะเห็นโทษว่า ผู้ที่ขาดสติย่อมทำสิ่งซึ่งปกติแล้วจะทำไม่ได้ แม้แต่การฆ่ามารดาบิดาก็ทำได้ ซึ่งนั่นต้องเป็นผู้ที่ขาดสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ที่มึนเมา ไม่มีความรู้สึกตัว

    นี่คือชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นผู้ที่รักษาศีล ๕ เพราะเห็นโทษ ไม่ใช่เพราะคิดว่า เมื่อเป็นข้อห้ามก็จะไม่ทำ ซึ่งในพระพุทธศาสนาไม่มีคำใดที่เป็นข้อห้ามเลย แต่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเหตุและผลของธรรมทุกอย่างเพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา จริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ และอบรมเจริญกุศลเพิ่มขึ้น เป็นผู้ที่นับถือในเหตุผล เข้าใจในเหตุและในผลให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

    สำหรับผู้ที่รักษาศีล ๘ ซึ่งอาจจะกระทำตามๆ กันมาเป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว และก็เช่นเดียวกับศีล ๕ ซึ่งบางคนรักษาตามสั่งก็มี เพราะฉะนั้น ก็ควรเปลี่ยนจาก การทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่เข้าใจในเหตุผล เป็นการพิจารณาตนเอง รู้จักตนเอง ตามความเป็นจริง

    สำหรับศีล ๕ ท่านเป็นผู้ที่มีความสมบูรณ์ รักษาโดยไม่ยาก โดยไม่ลำบาก โดยเป็นปกติหรือยัง พร้อมที่จะเห็นโทษภัยของอกุศล และขัดเกลายิ่งขึ้นโดยการ รักษาศีล ๘ หรือยัง คือ ไม่ใช่เพียงอยากรักษา หรือคนอื่นเขารักษาก็รักษา หรือมีใครมาบอกเรื่องอานิสงส์ของศีล ๘ อยากจะได้อานิสงส์ของศีล ๘ ก็รักษา ก็เป็นการติดในผลในอานิสงส์ของศีล ๘ อีก

    จะเห็นได้ว่า โลภะเป็นสมุทัยของวัฏฏะ ไม่ใช่ของวิวัฏฏะ การที่จะออกจากวัฏฏะได้ต้องเพราะปัญญา และปัญญานั้นต้องเห็นโลภะคือเห็นสมุทัยที่ทำให้ ทุกคนยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เพราะบางคนบอกว่า อยากจะออกจากสังสารวัฏฏ์ อยากจะ อีกแล้ว ปัญญายังไม่มากพอที่จะเห็นโทษภัย แต่อาจจะพิจารณาบ้าง เล็กๆ น้อยๆ และเห็นว่าการมีชีวิตในวันหนึ่งๆ ก็ผ่านไป โดยที่ไม่เหลืออะไรสัก อย่างเดียว จากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง และก็ผ่านมาแล้วในแสนโกฏิกัปป์ชาติ ก็ไม่มีอะไรเหลืออีก และก็ต้องผ่านไปอีกตลอดเวลาที่เห็นแล้วก็หมดไป ได้ยินแล้วก็หมดไป ถ้าพิจารณาอย่างนี้บ้าง และมีความคิดว่า ไม่น่าจะต้องเกิดอีก น่าจะต้องจบสิ้นสังสารวัฏฏ์ ก็จะเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในเหตุผลและเห็นสมุทัย

    ถ้าไม่เห็นสมุทัย ไม่มีทางออกจากสังสารวัฏฏ์ เพราะแม้จะรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีลมากกว่านั้นอีก ถึง ๒๒๗ โดยเพศของพระภิกษุ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถออกจากสังสารวัฏฏ์ได้

    เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่เห็นโทษของอกุศล และใคร่ที่จะขัดเกลา โดยไม่คำนึงถึงวันอุโบสถ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์ประชุมกันเพื่อสวดพระปาติโมกข์และแสดงธรรม และเป็นโอกาสที่พุทธศาสนิกชน ได้ไปวัดวาอาราม มีโอกาสได้ฟังธรรมด้วย ถ้าท่านจะไม่คำนึงถึงวันนั้นเพราะว่า วันนั้นอาจจะเป็นวันที่ท่านไม่ว่าง หรือมีกิจธุระ มีความจำเป็น ไม่สามารถจะกระทำอย่างนั้นได้ และท่านเห็นประโยชน์ของการที่จะขัดเกลาเพิ่มขึ้น ก็ยังมีศีล ๘ อีกอย่างหนึ่ง คือ อาชีวัฏฐมกศีล ศีลอันมีสัมมาอาชีวะเป็นที่ ๘ ซึ่งได้แก่ การละเว้นอกุศลกรรมบถทางกาย ๓ อย่าง คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ทางวาจา ๔ อย่าง คือ นอกจากไม่มุสาแล้ว ก็ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดคำส่อเสียด ไม่พูดคำเพ้อเจ้อ และมีสัมมาอาชีวะเป็นที่ ๘

    นี่ก็เป็นการขัดเกลาซึ่งสามารถจะกระทำได้ เพราะว่าเห็นประโยชน์จริงๆ ของการประพฤติในทางที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ควรจะเข้าใจศีล ๘ ที่ไม่ใช่ในวันอุโบสถ คือ จะเป็นอาชีวัฏฐมกศีลก็ได้ หรือบางท่านอยากจะรักษาแบบศีล ๘ แม้ไม่ใช่ วันอุโบสถ จะได้ไหม คิดดู

    มีท่านผู้หนึ่ง ท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติรักษาอุโบสถศีล ที่ใช้คำว่า อุโบสถศีล เพราะว่าเป็นศีลที่รักษาในวันอุโบสถ แต่ถ้าเป็นศีล ๘ ในวันอื่นๆ ที่ไม่ใช่วันอุโบสถ ก็เหมือนกับศีลของอุโบสถ แต่เนื่องจากไม่ใช่วันอุโบสถ จึงไม่ชื่อว่าศีลอุโบสถ

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านถ้าศึกษาในพระวินัยบัญญัติ บางทีจะเห็นได้ว่า ท่านมีศีลมากกว่า ๘ ก็ได้ เพราะว่าพระวินัยบัญญัตินั้นเป็นเรื่องของศีลซึ่งเป็นเบื้องต้นของการขัดเกลากิเลส และยังมีศีลซึ่งเป็นการประพฤติปฏิบัติในทางที่เหมาะ ที่ควรทางกาย ทางวาจา เป็นเสขิยวัตรด้วย ถ้าท่านอ่านไปๆ ท่านจะพบว่า ถ้าท่านเป็นผู้มีกายวาจาดี ท่านมีมากกว่า ๘ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรนับศีลที่เหลือ ที่มากกว่า ๘ เพราะว่าเป็นความประพฤติทางกายทางวาจาที่เหมาะที่งามทั้งนั้น ถ้าท่านจะศึกษาดู แต่อย่างน้อยที่สุดก็คือ ศีล ๘ เป็นหลักของการที่จะพิจารณาว่า ท่านเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลจริงๆ ไม่ใช่เป็นผู้ติดในผล หรือในอานิสงส์ของศีล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๗ ตอนที่ ๒๐๖๑ – ๒๐๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    8 เม.ย. 2565

    ซีดีแนะนำ