แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2037


    ครั้งที่ ๒๐๓๗


    สาระสำคัญ

    การเห็นประโยชน์ของสัจจะ

    หนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องสะสมบารมีครบถ้วนทุกประการ

    สุจจช-ชาดก การสะสมสัจจะ ความจริงใจในการกล่าววาจาที่จริง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๑๙ พฤษภาาคม ๒๕๓๔


    สุ. ท่านผู้ฟังสงสัยเรื่องสัจจกิริยาไหมว่าจะมีผลอย่างนี้จริง ซึ่งที่เป็น อย่างนี้ได้ก็เพราะว่าเป็นผลของกุศล ข้อสำคัญที่สุด คือ ก่อนที่จะกระทำสัจจกิริยา ผู้นั้นต้องระลึกถึงคุณของสัจจะ ต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ เห็นคุณของสัจจะ และ เป็นผู้ที่บำเพ็ญสัจจบารมี ไม่ใช่ว่าใครก็ตามตกทุกข์ได้ยากก็จะใช้สัจจกิริยา โดยไม่รู้ว่าสัจจะคืออะไร และไม่เข้าใจด้วยว่าสัจจะมีคุณอย่างไร เพียงแต่ได้ฟังว่า ถ้ากล่าว สัจจกิริยาแล้วผลจะเป็นไปตามความปรารถนา แต่จะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่ากำลังของกุศลต้องขึ้นอยู่กับกำลังของความรู้การเห็นประโยชน์ของสัจจะด้วย และต้องเป็นผู้บำเพ็ญสัจจะด้วย มิฉะนั้นแล้วบางท่านเวลามีปัญหาก็อาจจะลองทำอย่างท่าน ทีปายนดาบส แต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ขึ้นอยู่กับกำลังของกุศลในขณะนั้น

    ถ. พระโพธิสัตว์ก็ดี หรือบิดามารดาของบุตรที่กล่าวคำสัตย์ กล่าว สัจจวาจาด้วยความจริงใจ และเชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้นได้ จะต่างกับอธิษฐาน ที่เป็นความมั่นคงอย่างไร

    สุ. สัจจะเป็นความจริง ความจริงซึ่งคนอื่นไม่รู้ อย่างทีปายนดาบสมีความยินดีในพรหมจรรย์เพียง ๗ วัน แต่อีก ๕๐ ปีเศษ ไม่มีความยินดีในพรหมจรรย์เลย ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้เลย

    ทุกท่านที่เป็นผู้เจริญกุศล และต้องการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็เป็นหนทางที่ต้องสะสมบารมีครบถ้วนทุกประการ ถ้าเป็นผู้ที่สะสม สัจจบารมี และบารมีอื่นๆ มีกำลัง และรู้ประโยชน์เห็นคุณของสัจจะ เมื่อมีกาลที่จะ ใช้สัจจบารมี ก็ย่อมเป็นไปได้ แต่คงจะไม่ใช่สำหรับทุกคน ต้องแล้วแต่กำลังของ กุศลนั้นๆ ด้วย

    ถ. ที่พระโพธิสัตว์กล่าวว่า ท่านยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์เพียง ๗ วัน ทั้งๆ ที่บวชมาแล้วถึง ๕๐ ปี เป็นคำพูดที่จริงก็จริง แต่ตนเองไม่เคยกล่าวกับใคร คิดว่า ไม่จำเป็นต้องกล่าวก็ได้ เพราะกล่าวไปแล้ว บุคคลอื่นไม่เข้าใจ อาจจะ ไม่ศรัทธาท่าน หรือไม่บำรุงเลี้ยงดูด้วยการให้ทานเป็นต้น และบิดาของเด็กนั้นก็ กล่าวว่า ไม่ยินดีในการให้ทานกับสมณะที่มาเยี่ยมเยียนเป็นต้น ซึ่งก็ไม่เคยพูดออกมา แต่ในใจคิดทุกครั้ง ทั้งๆ ที่พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นสมณะก็อยู่ใกล้ๆ สมณะได้ยิน อาจจะไม่สบายใจ ฝ่ายมารดาของบุตรนั้นก็กล่าวว่า รังเกียจบิดาเหมือนกับพิษงูที่ กัดลูก บิดาก็อยู่ใกล้ๆ แต่คำสัตย์เหล่านั้นก็ช่วยให้เด็กนั้นหาย ดูเหมือนการกล่าวนั้นเป็นประโยชน์ เป็นคุณ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายว่า เป็นการกล่าวที่สมควรหรือ ไม่สมควรอย่างไร

    สุ. ผู้ที่กล่าวต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของสัจจะ เห็นคุณของสัจจะ และเป็นผู้เคารพในสัจจะ จึงกล่าวสัจจะ เพราะรู้ว่าพึ่งอื่นยิ่งกว่าสัจจะไม่มี ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในการเห็นประโยชน์ของสัจจะ และต้องเป็นผู้มีกายวาจาที่จริง เป็นสัจจะที่ สะสมมาแล้วด้วย เพราะว่าบางคนกล่าวคำไม่จริงง่ายมากเหลือเกิน เกือบจะเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็แสดงว่าผู้นั้นไม่เห็นคุณของสัจจะ คือ คิดว่าคำพูดที่ไม่จริงนั้นเล็กน้อยเหลือเกิน จึงพูดได้ง่ายๆ เพราะว่าไม่เห็นโทษ แม้แต่ความคิดในใจที่จะ กล่าวออกมาก็ยังไม่ตรง โดยที่ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ทำไมจึงไม่กล่าวสิ่งที่จริง

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่เห็นโทษ ก็จะไม่เห็นโทษไปตลอด และไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ตรง สิ่งที่ไม่จริง ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องกล่าวเลย

    ถ. แสดงว่าบุคคลทั้ง ๓ นั้น รวมทั้งพระโพธิสัตว์ด้วย ได้กล่าวสิ่งที่ตัวเองปกปิดซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สบายใจไว้ในใจ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า

    สุ. ไม่ทราบว่าปกปิดหรือเปล่า เพราะว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกล่าว ถ้าใครมีความรู้สึกอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเที่ยวป่าวประกาศให้คนอื่นฟังว่าเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อจิตใจเป็นอย่างไร ความจริงเป็นอย่างไร ก็กล่าวถึงสัจจะ ความจริงใจที่มีตลอดมาให้คนอื่นได้รับทราบว่า แม้จะอยู่ในเพศของสมณะ แต่ ใจจริงแล้วไม่ได้ยินดีในเพศสมณะเลยตลอดเวลาทั้ง ๕๐ ปีเศษ

    ถ. เท่ากับว่า ขณะนั้นเชื่อสัจจะ และพึ่งสัจจะ รู้ว่ากุศลจิตที่เป็นสัจจะ เป็นที่พึ่งได้ เขาจึงกล่าว

    สุ. เป็นผู้ที่เคารพในสัจจะ เห็นคุณของสัจจะ และเห็นประโยชน์ที่จะต้อง มีสัจจะเป็นบารมีด้วย

    ถ. แต่ในขณะนั้นไม่ใช่กล่าววาจานั้นเพื่อเป็นที่พึ่ง และไม่ได้มุ่งหมายที่จะพูดกับใครด้วยคำพูดเหล่านี้หรือปกปิดเอาไว้

    สุ. เพราะรู้ว่าสัจจะเป็นที่พึ่งของแม้พระโพธิสัตว์ ซึ่งบำเพ็ญบารมี ถ้าปราศจากสัจจะแล้ว แม้นั่งที่โพธิบัลลังก์ก็ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่เพราะได้อบรมบารมีมาทั้งหมด คุณของสัจจะมี ประโยชน์ของสัจจะมี การที่จะ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นคุณของสัจจะอย่างนี้ จึงระลึกถึงความจริงซึ่งเป็นสัจจะที่มีอยู่ และก็กล่าวสัจจวาจา คือ ความจริงแท้ๆ ที่เป็นความประพฤติของท่าน เป็นสภาพจิตของท่าน

    ถ. แสดงว่าเป็นผู้ที่สะสมสัจจะและความจริงใจที่จะรู้ว่า จริงต่อตัวเอง ทำสิ่งใดมาก็กล้ากล่าวสิ่งนั้นได้

    สุ. ทุกท่านพิสูจน์ได้ว่า เป็นผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของสัจจวาจาหรือ ความจริงแค่ไหน ถ้ายังคงเป็นผู้ที่ไม่เพียรที่จะมีสัจจะ แสดงว่าผู้นั้นไม่เห็นประโยชน์ของสัจจะ ไม่เคารพในสัจจะด้วย

    ถ. เข้าใจแล้ว

    สุ. เพื่อที่จะให้เห็นชีวิตของพระโพธิสัตว์ ซึ่งกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม พระองค์ต้องอบรมเจริญพระบารมีในทุกภพทุกชาติ และบารมีที่พระองค์ได้อบรม สะสมมา แม้สัจจะ ความจริง ในอดีตกาลที่ผ่านมาแล้ว ก็คงจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้ พุทธบริษัทในครั้งนี้ได้พิจารณาถึงชีวิตประจำวันของท่านเองซึ่งเป็นผู้ที่กำลังฟัง พระสัทธรรมเพื่ออบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    สำหรับชีวิตตามความเป็นจริงในวันหนึ่งๆ จะมีการสะสมบารมีไปมากน้อยอย่างไร ก็เทียบเคียงกับเรื่องในอดีต ซึ่งขอกล่าวถึง ชาตกัฏฐกถา อรรถกถา จตุกกนิบาตชาดก สุจจชชาดกที่ ๑๐ ที่มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกฎุมพี คนหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้

    ได้ยินว่า กฎุมพีนั้นคิดว่า จักสะสางหนี้สินในหมู่บ้าน (มีลูกหนี้หลายคน ก็คิดที่จะไปที่หมู่บ้านเพื่อสะสางหนี้สินเหล่านั้น) จึงไปในหมู่บ้านนั้นพร้อมกับภรรยา ครั้นชำระสะสางแล้วคิดว่า เราจักนำเกวียนมาขนไปภายหลัง จึงฝากไว้ในตระกูลหนึ่ง และกลับไปยังเมืองสาวัตถีอีก ในระหว่างทางนั้นได้เห็นภูเขาลูกหนึ่ง

    เป็นชีวิตประจำวัน และเห็นการปรุงแต่งของเจตสิกต่างๆ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ในแต่ละชาติ เป็นปัจจัยให้เกิดการนึกคิดที่เป็นกุศลและอกุศล โดยที่ไม่มีบุคคลใดสามารถบังคับบัญชาได้ แม้แต่ความคิดของภรรยาของกฎุมพีผู้นั้น หรือกฎุมพีผู้นั้น ก็เป็นไปตามการสะสม

    ครั้งนั้นภรรยากล่าวกะกฎุมพีนั้นว่า ถ้าภูเขานี้จะพึงเป็นทองไซร้ ท่านจะให้อะไรฉันบ้าง

    กฎุมพีกล่าวว่า เธอเป็นใคร ฉันจักไม่ให้อะไรเลย

    นี่เป็นความจริง ที่พูดอย่างนี้ ก็พูดจริงๆ คือ แทนที่จะกล่าวว่า จะให้อะไรๆ ถ้าภูเขานี้เป็นทอง แต่กฎุมพีนั้นก็พูดตามความจริงในขณะนั้นว่า เธอเป็นใคร ฉันจักไม่ให้อะไรเลย

    ฝ่ายภรรยานั้นได้น้อยใจว่า สามีของเรานี้มีหัวใจกระด้างนัก นัยว่าเมื่อภูเขา แม้เกิดเป็นทองไปทั้งลูก ก็จักไม่ให้อะไรแก่เราเลย

    สามีภรรยาทั้งสองนั้นเดินมาใกล้พระเชตวัน คิดว่าจักดื่มน้ำ จึงเข้าไปยัง พระวิหารเพื่อจะดื่มน้ำ

    ในเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่งนั้นแล แม้พระศาสดาก็ทรงได้เห็นอุปนิสัยแห่ง โสดาปัตติผลของคนทั้งสองนั้น เมื่อจะทรงรอคอยการมา จึงประทับนั่งในบริเวณ พระคันธกุฎี ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี

    ฝ่ายสามีภรรยาทั้งสองนั้นดื่มน้ำ แล้วมาถวายบังคมพระศาสดา แล้วนั่งอยู่

    พระศาสดาทรงทำปฏิสันถารกับสามีภรรยาทั้งสองนั้น แล้วตรัสถามว่า

    ท่านทั้งสองไปไหนมา

    สามีภรรยาทั้งสองกราบทูลว่า

    ไปสะสางหนี้สินในหมู่บ้าน

    พระศาสดาตรัสถามภรรยาของเขาว่า

    อุบาสิกา สามีของเธอหวังประโยชน์เกื้อกูลแห่งเธอ ทำอุปการะแก่เธออยู่หรือ

    ภรรยากฎุมพีกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีความสิเน่หาในสามีนี้ แต่สามีนี้ไม่มีความสิเน่หาในข้าพระองค์ วันนี้เมื่อข้าพระองค์เห็นภูเขาแล้วพูดว่า ถ้าภูเขาลูกนี้จะเป็นทอง ท่านจะให้อะไรแก่ฉันบ้าง เขากลับพูดว่า เธอเป็นใคร ฉันจักไม่ให้อะไร สามีผู้นี้เป็นคนมีหัวใจกระด้างอย่างนี้ พระเจ้าข้า

    พระศาสดาตรัสว่า

    อุบาสิกา กฎุมพีนี้ย่อมกล่าวอย่างนี้เอง แต่เมื่อใดเขานึกถึงคุณความดีนั้น ของเธอ เมื่อนั้นเขาจะให้ความเป็นใหญ่ทั้งหมด

    อันภรรยาของกฎุมพีนั้นทูลอาราธนาว่า

    ขอพระองค์จงตรัสบอกเถิด พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคจึงทรงตรัสเล่าเรื่องในอดีต

    จะเห็นได้ว่า แม้แต่คำที่อุบาสก กฎุมพีคนนั้นกล่าวกับภรรยา พระผู้มีพระภาคเมื่อได้ฟังแล้วก็ตรัสว่า กฎุมพีนี้ย่อมกล่าวอย่างนี้เอง คือ ตามการสะสมที่สะสมมา ที่จะคิดอย่างนี้และกล่าวอย่างนี้ ซึ่งก็เป็นความจริง กฎุมพีคนนี้ในอดีตก็ได้เคยคิดอย่างนี้มาแล้ว และได้เคยกล่าวอย่างนี้มาแล้ว แสดงให้เห็นถึงความยาวนานของสังสารวัฏฏ์ ก่อนที่ท่านทั้งสองจะเป็นพระโสดาบัน ก็ได้เคยผ่านอดีตชาติ ซึ่งแล้วแต่เจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์จะปรุงแต่งให้แต่ละชาตินั้นมีความคิดนึกอย่างไร แต่ความ คิดนึกที่ได้เคยคิดนึกมาแล้ว ถ้าไม่ละทิ้งอกุศลเจตสิกที่คิดนึกในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็จะทำให้คิดนึกแต่ในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าสะสมแม้คำที่ฟังเสมือนไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นคำจริง แสดงว่าคนนั้นเคยสะสมสัจจะ ความจริงใจในการกล่าววาจาที่จริง

    พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า

    ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์ผู้สำเร็จราชการของพระเจ้าพรหมทัตนั้น อยู่มาวันหนึ่งพระราชาเกรงว่าพระราชโอรสจะประทุษร้ายในฝ่ายในของพระองค์ จึงให้พระโอรสออกจากพระนครไปที่อื่นก่อน เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว จึงให้กลับมาครองราชสมบัติ

    พระโอรสพร้อมกับพระชายาก็ออกจากพระนครไปยังชายแดน ไปสร้างบรรณศาลาอยู่ในป่าชายแดน

    ต่อมาเมื่อพระราชาเสด็จสวรรคตแล้ว พระราชโอรสก็ได้เสด็จกลับมายัง พระนครพาราณสี ในระหว่างทางได้เห็นภูเขาลูกหนึ่ง ลำดับนั้น พระชายาตรัสกะพระราชโอรสนั้นว่า

    ข้าแต่เทวะ ถ้าภูเขานี้จะเป็นทอง พระองค์จะประทานอะไรแก่หม่อมฉันบ้าง

    ภูเขานี้อายุเท่าไรก็ไม่ทราบ ไม่ว่าใครจะเกิดมานานสักเท่าไร ตายไปแล้ว เกิดอีก ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็คงจะเห็นภูเขาทั้งนั้น และความคิดนึกที่เกี่ยวกับภูเขาก็คงจะมีต่างๆ แต่สำหรับพระราชโอรสกับพระชายา เมื่อได้เห็นภูเขานี้ พระชายาก็ได้ตรัส กับพระโอรสว่า ข้าแต่เทวะ ถ้าภูเขานี้จะเป็นทอง พระองค์จะประทานอะไรแก่หม่อมฉันบ้าง

    พระราชโอรสตรัสว่า

    เธอเป็นใคร ฉันจักไม่ให้อะไรเลย

    พระชายานั้นได้น้อยพระทัยว่า เพราะความสิเน่หาในพระสวามีนี้ เราไม่อาจละทิ้งจึงเข้าไปสู่ป่าด้วย แต่พระสวามีนี้ตรัสอย่างนี้ เป็นผู้มีพระทัยกระด้างยิ่งนัก พระสวามีนี้ได้เป็นราชาแล้ว จักไม่กระทำความดีงามแก่เรา

    พระราชโอรสนั้นเสด็จมาแล้วดำรงอยู่ในราชสมบัติ จึงทรงตั้งพระชายานั้นไว้ ในตำแหน่งอัครมเหสี ได้ประทานเพียงยศนี้เท่านั้น ส่วนการนับถือยกย่องที่ยิ่งขึ้นไป ไม่มี แม้ความที่พระนางมีอยู่ ก็ไม่ทรงสนพระทัย

    พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นอำมาตย์ผู้สำเร็จราชกิจทั้งหมดของพระเจ้าพรหมทัตนั้น ก็คิดว่า พระเทวีนี้มีอุปการะแก่พระราชา มิได้คำนึงถึงความลำบากได้เสด็จอยู่ ในป่าด้วย แต่พระราชานี้มิได้ทรงคำนึงถึงพระเทวีนี้เลย เที่ยวอภิรมย์อยู่กับนางสนมอื่นๆ เราจักกระทำโดยประการที่พระเทวีนี้ได้อิสริยยศทั้งปวง วันหนึ่ง จึงเข้าไปเฝ้าพระเทวีนั้นแล้วกราบทูลว่า

    ข้าแต่มหาเทวี ข้าพระองค์ไม่ได้แม้ก้อนข้าวจากสำนักของพระองค์ เพราะเหตุไร พระองค์จึงทรงละเลยข้าพระองค์ มีน้ำพระทัยกระด้างยิ่งนัก

    พระเทวีนั้นตรัสว่า

    ถ้าตัวเราได้ เราก็จะให้ท่านบ้าง แต่เราเมื่อไม่ได้ จักให้ได้อย่างไร จนบัดนี้ แม้พระราชาก็มิได้ประทานอะไรเลยแก่เรา

    และได้ตรัสเล่าเรื่องในระหว่างทาง

    เมื่อเรากล่าวว่า เมื่อภูเขานี้เกิดเป็นทอง พระองค์จักประทานอะไรหม่อมฉันบ้าง พระราชานั้นยังตรัสว่า เธอเป็นใคร ฉันจักไม่ให้อะไรเลย แม้ของที่บริจาคได้ ง่ายๆ พระองค์ก็ไม่ทรงบริจาคเลย

    พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า

    ก็พระองค์จักอาจตรัสเรื่องนี้ในสำนักของพระราชาหรือ

    พระเทวีตรัสว่า

    ทำไมฉันจักไม่อาจเล่า

    พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า

    ถ้าอย่างนั้น ข้าพระองค์อยู่ในสำนักของพระราชาจักทูลถาม พระองค์พึง ตรัสขึ้นเถิด

    ในเวลาที่พระเทวีเสด็จไปยังที่เฝ้าพระราชา แล้วประทับยืนอยู่ พระโพธิสัตว์ ได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระแม่เจ้า ข้าพระองค์ไม่ได้แม้อะไรๆ จากสำนักของพระองค์เลย มิใช่หรือ

    พระเทวีตรัสว่า

    ท่านอำมาตย์ เราเมื่อได้จึงจะให้ท่าน เราเองก็ไม่ได้อะไรเลย บัดนี้ แม้พระราชาก็จักประทานอะไรแก่เราบ้าง เพราะว่าในเวลามาจากป่า พระราชานั้นทรงเห็นภูเขาลูกหนึ่ง เมื่อเราทูลว่า ถ้าภูเขานี้จะเป็นทอง พระองค์จะประทานอะไรแก่หม่อมฉันบ้าง พระองค์ยังตรัสว่า เธอเป็นใคร ฉันจักไม่ให้อะไรเลย แม้ของที่สละ ได้ง่าย พระองค์ก็ไม่ทรงเสียสละ

    เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้ จึงตรัสคาถาที่ ๑ ว่า

    พระราชาเมื่อไม่พระราชทานภูเขาด้วยพระวาจา ชื่อว่าไม่ทรงสละสิ่งที่ควรสละได้ง่าย เมื่อพระราชานั้นพระราชทานอะไรบ้าง ก็ชื่อว่าได้พระราชทานภูเขา ด้วยพระวาจา

    ควรที่จะได้พิจารณาข้อความในคาถาที่ ๑ ซึ่งมีข้อความว่า พระราชา เมื่อไม่พระราชทานภูเขาด้วยพระวาจา ชื่อว่าไม่ทรงสละสิ่งที่ควรสละได้ง่าย

    สิ่งที่สละง่ายๆ ก็คือเพียงพูดว่าจะประทานอะไรให้ แต่ก็ไม่ตรัสอย่างนั้น เพราะว่าเป็นการไม่ยากเลยที่จะบอกใครว่าจะให้อะไร โดยเฉพาะถ้าภูเขานั้น เป็นทองก็น่าที่จะบอกได้ว่าจะให้อะไรบ้าง เพราะเป็นทองหมดทั้งภูเขา แต่ก็ยังไม่บอกว่าจะให้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ให้ง่ายๆ คือเพียงพูดว่าจะให้ พระราชาก็ยังไม่สละสิ่งที่ควรสละได้

    และข้อความต่อไปที่ว่า เมื่อพระราชานั้นพระราชทานอะไรบ้าง ก็ชื่อว่า ได้พระราชทานภูเขาด้วยพระวาจา

    เพราะว่าการที่จะให้จริงๆ นั้น ยากกว่าการที่จะพูดว่าจะให้ เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงให้อะไรก็เท่ากับว่า เหมือนกับให้ภูเขาทองซึ่งเป็นสิ่งที่ยาก เปรียบให้เห็นว่าการที่จะให้จริงๆ เหมือนกับการที่จะให้ภูเขาทอง เพราะเป็นการยากที่จะเสียสละ ให้ใครได้

    พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า

    บัณฑิตกระทำสิ่งใด พึงพูดสิ่งนั้น ไม่กระทำสิ่งใด ไม่พึงพูดสิ่งนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อมกำหนดรู้คนที่ไม่ทำ ดีแต่พูด

    นี่คือผู้ที่สะสมที่จะเป็นผู้ที่พูดคำจริง เมื่อไม่ให้ ก็บอกว่าไม่ให้ ไม่ใช่บอกว่า ให้ และภายหลังก็ไม่ให้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๔ ตอนที่ ๒๐๓๑ – ๒๐๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    25 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ