แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2067


    ครั้งที่ ๒๐๖๗


    สาระสำคัญ

    จุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๘ กันยายน ๒๕๓๔


    ถ. ที่ผมพูดว่า ถ้าเกินกำลังของเรา เราก็ไม่ควรจะให้ หมายถึงกำลังสติปัญญาของเรา อย่างพระเวสสันดร ท่านให้แล้วท่านสบาย ท่านไม่เสียดาย แต่ถ้าเรามีของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีอยู่สิ่งเดียว และเป็นของที่เรารัก มันเกินกำลังสติปัญญาของเราที่จะพิจารณาไม่ให้เกิดความเสียดายได้ เมื่อให้แล้วก็เดือดร้อนภายหลัง จึงคิดอย่างท่านดอกเตอร์ว่า ไม่ให้ดีกว่า ทำกุศลอย่างอื่นดีกว่า

    สุ. ไม่ใช่ฝืนใจ เมื่อเป็นสิ่งที่ยาก ก็แล้วแต่ว่าจะให้หรือไม่ให้ เพราะว่า ผู้ที่จะละคลายความยินดีติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะจริงๆ ต้องเป็น พระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ความเป็นตัวตนยังมีอยู่เต็มที่

    ที่จะไม่ให้อกุศลเกิด พยายามเป็นอย่างผู้ที่ไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม จะทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ยังเป็นผู้ที่มีกิเลส และ กิเลสทั้งหมดจะหมดไปไม่ได้เลย ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ยังไม่ประจักษ์ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    สบายใจไหม คือ เป็นตัวเองจริงๆ และระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นี่เป็นจุดที่สำคัญที่สุด ความเสียดายเป็นของจริง เป็นสัจจธรรม เป็นสภาพของจิตประเภทหนึ่งซึ่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นและดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะเสียดาย ก็มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด

    เสียใจดับไหม เสียดายดับไหม ก็ดับหมด และก็มีสภาพธรรมอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุด คือ การรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ก่อนที่กิเลสอื่นจะดับหมดได้ มิฉะนั้นแล้วก็เป็นเรื่องเดือดร้อนด้วยความ ไม่เข้าใจ แต่จริงๆ แล้วก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะ ให้หรือไม่ให้ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นเรื่องกังวลมาก

    มีท่านผู้หนึ่งอยากจะขัดเกลากิเลสของท่าน และท่านรู้ว่าศีล ๕ ท่านก็รักษาได้เป็นประจำส่วนใหญ่ ท่านก็อยากจะเพิ่มการขัดเกลาขึ้นเฉพาะตัวท่าน คือ พยายาม ที่จะรักษาศีล ๘ แม้ว่าจะไม่ครบ

    แต่ธรรมดาของผู้ที่รักษาศีล ๘ ควรจะมีจุดมุ่งว่าเพื่ออะไร

    สำหรับบุคคลในครั้งโน้นไม่มีวันอาทิตย์ที่จะเป็นวันหยุดพักผ่อน และกิจ การงานของบุคคลในครั้งโน้นก็เป็นชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ ซึ่งก็ควรจะมีวันที่ ไม่กระทำการงาน โดยการรักษาอุโบสถศีล และการรักษาอุโบสถศีลที่มีจุดมุ่งคือ พระนิพพานนั้น ต้องเป็นผู้ที่ไม่สนใจในอย่างอื่น ในเรื่องโลก ต้องไม่เหมือนในวันอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่วันอุโบสถ

    สำหรับวันอื่นๆ ที่ไม่ใช่วันอุโบสถ ทุกคนก็อ่านหนังสือพิมพ์บ้าง ไปมาหาสู่เพื่อนฝูงบ้าง มีการเล่นรื่นเริงสนุกสนาน ยุคนี้สมัยนี้ก็ดูโทรทัศน์ มีธุรกิจการงานการค้าต่างๆ นั่นคือชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นวันหนึ่งซึ่งเพื่อพระธรรม เพื่อมุ่งต่อ พระนิพพาน จะเห็นได้ว่า วันนั้นไม่ควรมีเรื่องอื่น ไม่ใช่เรื่องธุรกิจการค้า ไม่ใช่เรื่องการบ้านการเมือง หรือการบันเทิงต่างๆ จึงจะเป็นอุโบสถศีล ไม่ใช่อุโบสถศีลและก็ไปทำธุระ หรืออ่านหนังสือที่ไม่ใช่เป็นไปในการขัดเกลา

    เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงต้องการรักษาอุโบสถศีล แต่ไม่มุ่งพระนิพพาน และ ทำสิ่งอื่น จะตรงกับจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลไหม

    หลายท่านทีเดียวที่คิดว่า ท่านจะพยายามรักษาศีลให้เพิ่มขึ้น เป็นการขัดเกลาตัวท่านเอง โดยบริโภคอาหารภายในเที่ยง นอนที่นอนบางๆ ตามอุโบสถศีลและ ศีลข้ออื่น แต่ตราบใดที่ท่านยังสนใจในเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่ในทางธรรม ในการขัดเกลา จะชื่อว่าเป็นอุโบสถศีลได้ไหม ได้โดยข้อ คือ นับดูว่ามีกี่ข้อ แต่ไม่ใช่โดยการประพฤติเพื่อมุ่งต่อพระนิพพานในวันหนึ่ง

    ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่สนใจพระธรรมและฟังพระธรรมเช้าค่ำ ก็เกือบจะเหมือนกับวันอุโบสถ เพียงแต่ว่าชีวิตของคฤหัสถ์มีกิจการงานมาก มีอย่างอื่นมาก แต่ท่านก็ไม่ได้ทอดทิ้งในการฟังธรรมหรือศึกษาธรรม เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่อัธยาศัย แต่ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ที่จะรู้ว่า ท่านทำเพื่ออะไร มิฉะนั้นแล้วก็ไม่ตรงกับจุดประสงค์ ถ้ารักษาอุโบสถศีลและทำอย่างอื่นซึ่งไม่เป็นไปในการขัดเกลากิเลส ไม่เป็นไปเพื่อการเข้าใจสภาพธรรมขึ้น

    ถ. ชีวิตตามปกติของผมก็ไม่เคยสมาทาน เพลงผมก็ไม่ชอบฟัง เป็นนิสัย ปกติของผม ที่นอนสูงผมก็ไม่ชอบนอน ผมชอบนอนเสื่อ อย่างนี้จะเป็นศีลไหม จะเป็นหรือไม่เป็นก็ไม่รู้ แต่ผมคิดว่า ผมจะสะสมความพอใจอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แม้แต่ศีล ๕ ผมก็ยังกระพร่องกระแพร่ง แต่ชีวิตจริงๆ เพลงไม่ชอบฟัง หนังไม่ชอบดู ที่นอนไม่ชอบนอนสูง ประดับตบแต่งก็ไม่ชอบ แต่ไม่ได้สมาทานอุโบสถ ชีวิตก็ทำ การงานตามปกติ และฟังธรรมท่านอาจารย์ทางเทปทางวิทยุทุกวันๆ อย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะเป็นศีลไหม

    สุ. นี่ก็เป็นชีวิตจริง เพราะฉะนั้น ไม่คำนึงถึงข้อจะดีไหม คือ ไม่ต้องมา นับกันหรอกว่ามีกี่ข้อ แต่เป็นชีวิตที่พร้อมจะขัดเกลาและออกห่างจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามกำลังความสามารถที่จะเป็นไปได้ สะสมเป็นอุปนิสัย โดยไม่คำนึงถึงข้อก็คงจะดี แต่ถ้าเป็นศีล ๘ อีกแบบหนึ่งซึ่งเพิ่มวจีสุจริต อีก ๓ ประการแทนในชีวิตประจำวัน ก็เป็นสิ่งที่เหมาะควร

    ถ. ฟังท่านอาจารย์พูดแล้ว ทำให้คิดไปกว้างไกล ไม่เคยนึกเลยว่า การถืออุโบสถศีลนั้นต้องมุ่งนิพพานจริงๆ จะไปทำอะไรๆ ก็ไม่ได้ ค้าขายก็ไม่ได้ คิดจะสงเคราะห์ใคร หรือการบ้านการเมืองก็ไม่ได้ ก็งงไปหมดแล้วว่า ถือไปทำไมอุโบสถศีล ต้องมุ่งนิพพานจริงๆ หรือ ไม่ใช่เป็นการขัดเกลาให้มากขึ้นกว่าศีล ๕ หรือ

    สุ. พระผู้มีพระภาคทรงรู้อัธยาศัยของสัตว์บุคคลโดยละเอียด เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ใคร่ต่อการรักษาอุโบสถศีล มีวันที่ทรงแสดงไว้ แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่วิสัยของคฤหัสถ์ที่ครองเรือนที่จะกระทำได้เป็นปกติ ถ้าบุคคลนั้นไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล

    ทำไมพระผู้มีพระภาคไม่ส่งเสริมให้ทุกคนรักษาอุโบสถศีลทุกวัน ก็เพราะว่า เป็นการฝืนอัธยาศัย ไม่ใช่อัธยาศัยอันแท้จริง และเมื่อไม่ใช่อัธยาศัยอันแท้จริง ทุกวันทุกคนก็หมกมุ่นแต่ในเรื่องโลก ในเรื่องของชีวิตที่จะต้องประกอบอาชีพทำงาน เพราะฉะนั้น จะมีสักวันหนึ่งไหมที่จะสละเรื่องต่างๆ เหล่านั้น เพื่อมุ่งต่อพระนิพพาน เพราะว่าข้อความในพระไตรปิฎกสำหรับผู้ที่รักษาอุโบสถศีลมีว่า ผู้นั้นปฏิบัติ ตามอย่างพระอรหันต์ในวันหนึ่งและคืนหนึ่ง

    การที่จะปฏิบัติตามพระอรหันต์ในวันหนึ่งและคืนหนึ่ง พระอรหันต์ท่านไม่มีกิเลสที่จะไปทำธุรกิจ เพราะฉะนั้น การที่จะปฏิบัติตามพระอรหันต์ในวันหนึ่งก็คือ วันนั้นเป็นวันฟังพระธรรม เป็นวันพิจารณาธรรม เป็นวันสนทนาธรรม ทั้งวัน เป็นเรื่องของพระธรรม เพื่อที่จะได้สะสมเป็นอุปนิสัย

    ในยุคนั้นสมัยนั้นไม่เคยทราบว่า มีวันอาทิตย์ เพราะว่าไม่มีการนับตาม สุริยคติ แต่นับตามจันทรคติ เพราะฉะนั้น ในเดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ก็ควรจะมีวัน ซึ่งแต่ละบุคคลจะได้สะสมกุศลมากๆ เพื่อมุ่งต่อพระนิพพาน ด้วยเหตุนี้จึงมีวันอุโบสถ ซึ่งปกติแล้วก็เป็นวันพระ หรือวันโกน หรือบางทีก็เป็น ๓ วัน คือ รับวันหนึ่ง รักษา วันหนึ่ง ส่งวันหนึ่ง แล้วแต่อัธยาศัยว่าใครจะสามารถปฏิบัติตามได้มากน้อยเท่าไร จนกว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคลเมื่อใด เมื่อนั้นก็เป็นปกติของท่าน

    พระผู้มีพระภาคทรงทราบอัธยาศัยว่า ฝืนไม่ได้ ในเมื่อทุกคนเป็นคฤหัสถ์ ครองเรือนก็ย่อมมีธุรกิจ เมื่อมีธุรกิจแล้วจะทำอย่างไร วันหนึ่งในวันอุโบสถ หรือ วันพระตามจันทรคติ ก็ควรเป็นวันที่จะได้สะสมกุศล

    ถ. ถ้าเขาทำได้ ๘ ข้อ ทำได้ทุกข้อ แต่ไม่ถึงกับมุ่งนิพพาน จะได้ไหม ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่บอกให้ชัดเจนว่า ศีล ๘ ห้ามไปนึกคิดเรื่องธุรกิจการค้า ห้ามไป นึกคิดทำกิจการราชการ ให้มุ่งภาวนาไปนิพพานอย่างเดียว ก็ระบุเป็นศีล ๑๑ ไปเลย

    สุ. นั่นไม่ใช่อริยอุโบสถ ถ้ารักษาอุโบสถศีลแล้วยังคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้

    ถ. ผมไม่ทราบ เรียนถามด้วยความไม่ทราบแท้ๆ เลย ผมเอาตามตัวหนังสือว่า ศีล ๘ มีอะไรบ้าง และทำตามนี้ก็จบ นึกไม่ถึงว่าจะเลยไปเรื่องคิดนั่นคิดนี่

    สุ. แต่ก็มีอริยอุโบสถ

    ถ. ถ้าอุโบสถธรรมดา ไม่ต้องหรือ

    สุ. หมายความว่าอุโบสถนั้นเพื่อความเป็นพระอริยะ

    ถ. ตกลงอุโบสถมี ๒ อย่าง

    สุ. อุโบสถรักษากันทำไม ในเมื่อนอกพระพุทธศาสนาก็มี สำหรับพระพุทธศาสนานั้น ถ้ารักษาแล้ว ต้องเพื่อมุ่งต่อพระนิพพาน หรือประพฤติตาม พระอรหันต์ในวันหนึ่งและคืนหนึ่ง เพื่อสะสมเป็นอุปนิสัยต่อการที่จะเป็นพระอรหันต์

    ถ. ถ้าทำด้วยจุดประสงค์เพื่อขัดเกลาตัวเอง ให้ละ ให้ลด ไม่มุ่งอะไร ทำงานเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์ แค่นั้นไม่ได้หรือ

    สุ. เพราะฉะนั้น ก็อย่านับเป็นข้อ ดีไหม ไม่ต้อง ๘ ข้อ ๗ ข้อ ๑๐ ข้อ มีอัธยาศัยที่จะขัดเกลาอย่างไร ก็ขัดเกลาไปเรื่อยๆ มากๆ ก็ดี โดยไม่คำนึงถึงข้อ ถ้าไม่คำนึงถึงข้อก็จะดี

    ผู้ฟัง ในครั้งพุทธกาลคงไม่มีเสาร์อาทิตย์ วันหยุดทำงาน สำหรับตัวผมเอง คิดว่า เสาร์อาทิตย์เป็นวันที่เรามาวัดฟังธรรม ก็ง่ายต่อการถืออุโบสถมากกว่าวันพระ ซึ่งผมเคยถือวันพระ ต้องคอยดูปฏิทิน ขณะที่ดูก็นึกว่า เราถืออุโบสถทำไม เหมือนกับนับวันว่าถึงหรือยัง ก็เลยคิดว่า เสาร์อาทิตย์น่าจะเหมาะ สำหรับตัวผมเอง

    สุ. เรื่องของการขัดเกลากิเลส ไม่ว่าจะเป็นวันไหนก็น่าอนุโมทนา ถ้าไม่ทำให้เกิดความกังวลใจ

    ผู้ฟัง เรื่องความกังวลนี่สำคัญ และเรื่องความเข้าใจ

    สุ. เพราะว่าความไม่รู้มีมาก และสมัยก็ผ่านมา อย่างสมัยเดิมนับอย่างจันทรคติ สมัยปัจจุบันก็นับอย่างสุริยคติ แต่ท่านผู้ใดที่รักษาอุโบสถศีลก็น่าอนุโมทนาในศรัทธาของท่านผู้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธา แต่ขอให้เข้าใจให้ถูกต้อง

    ผู้ฟัง อุโบสถศีลจริงๆ ที่จะให้ตรงตามอริยอุโบสถ ก็ลำบากมาก

    สุ. เป็นวันที่จะขัดเกลากิเลส เป็นวันที่ทำสิ่งที่เป็นกุศล โดยรู้จักตนเอง ตามความเป็นจริงว่า วันอื่นๆ ยุ่งนัก วันนี้ไม่ยุ่ง คือ เป็นวันสบายๆ และเป็นไป ในเรื่องกุศล ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ควรมาก อย่างในอดีตไม่ว่าจะเป็นบ้านท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี คนในบ้านของท่านก็รักษาอุโบสถศีลด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง คือ ตื่นแต่เช้า ผู้ที่มีหน้าที่ทำการงาน หุงหาอาหาร ก็รีบหุงหาอาหารสำหรับคน ในบ้านที่จะได้บริโภค เพื่อที่วันนั้นจะได้ไม่ต้องทำอะไรให้วุ่นวายอีก และต่อจากนั้น ทุกคนก็ระลึกถึงศีล ระลึกถึงพระรัตนตรัย และอบรมเจริญปัญญาของตนไป ไม่มีเรื่องวุ่นวาย เป็นวันไม่วุ่นวาย แต่ถ้ารักษา ๘ ข้อ และไปโน่นมานี่วุ่นวาย ก็เป็นแต่ข้อๆ และยังยุ่งอยู่เหมือนวันอื่นๆ

    ผู้ฟัง ผมเพิ่งจะมา ผมฟังทางวิทยุมานานพอสมควรแล้ว สิ่งที่ผมไม่ชอบนั้น เช่น ถามปัญหามากมาย ซึ่งฟังวิทยุเวลามีค่ามาก ๓๐ นาที มาถามปัญหากัน เราก็ไม่ได้เนื้อหาจากธรรมที่แท้จริง

    สำหรับปัญหาหลายๆ ปัญหาที่ผมฟังมาเมื่อสักครู่นี้ ผมขอเรียนอาจารย์ว่า สำหรับการลดละอย่างเมื่อกี้ เสียสละ การให้ รู้สึกว่า คำว่า เสียสละ ก็น่าจะพอแล้ว เสียสละแล้วเราก็สบายใจ ถ้าเราให้ ยากแก่การให้ เช่น ให้มเหสี เราก็นึกถึง พระเวสสันดร ท่านเป็นตัวอย่างที่ดี ต่อมาเรื่องการปฏิบัติ ผมอยากให้พวกเราที่ ปฏิบัติธรรมด้วยกัน อย่าไปนึกถึงวันเสาร์ วันพระ วันอุโบสถเลย ปฏิบัติได้ทุกขณะจิตดีกว่า

    สุ. ขอขอบพระคุณท่านผู้ฟังที่ได้แสดงความคิดเห็น ซึ่งความคิดเห็นทั้งหมดเป็นประโยชน์สำหรับการพิจารณาต่อๆ ไปด้วย ไม่ทราบท่านผู้ใดจะมีความเห็นอย่างไรอีก

    ท่านผู้ฟังที่ได้ฟังการบรรยายที่นี่ จะเห็นได้ว่า ต่างกับทางวิทยุ เพราะว่า การบรรยายมุ่งจะให้ท่านผู้ฟังสอบถามได้ทุกเรื่องที่ท่านสนใจ และแสดงความคิดเห็นต่างๆ ของท่าน แต่เมื่อคำนึงถึงประโยชน์สำหรับท่านผู้ฟังใหม่บ้าง เก่าบ้าง บางอย่างก็ตัดออกไป แต่ว่าจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ควรจะเป็นทั้งพระอภิธรรม พระสูตร และพระวินัย

    และจุดประสงค์จริงๆ ก็คือเพื่อให้มีความเข้าใจในพระพุทธศาสนา และ ถ้าเป็นไปได้ ทั้ง ๓ ปิฎก ย่อมเป็นสิ่งที่สมควร ไม่ควรจะทิ้งปิฎกหนึ่งปิฎกใด เพราะว่าจะเป็นการเกื้อกูลต่อพระวินัยด้วย ทั้งอุบาสกอุบาสิกาก็เกื้อกูลต่อพระภิกษุสงฆ์ และพระภิกษุท่านก็เกื้อกูลต่ออุบาสกอุบาสิกาด้วย

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน หรือเรื่องของพระอภิธรรม ก็ได้กล่าวถึงมามาก แต่เรื่องของการที่จะขัดเกลากิเลส และหยิบยกข้อความต่างๆ ในชาดกหรือในพระไตรปิฎกมา เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงทั้งหมด บางคนอาจจะคิดว่า ข้อความตอนนี้ ในขุททกนิกายชาดกบ้าง หรืออะไรบ้างนั้น เล็กน้อย ไม่น่าสนใจ แต่ความจริง ทุกข้อความมีประโยชน์ เพราะอย่างที่ได้เรียนให้ทราบ เอาชื่อออก เปลี่ยนชื่อเสีย ก็คือแต่ละคนในแต่ละชาตินั่นเอง

    ถ. ผมยังสงสัย ท่านอาจารย์บอกว่า ศีลอุโบสถนั้นสำหรับขั้นพระอนาคามี

    สุ. มิได้ เป็นปกติของพระอนาคามี

    ถ. อย่างพระภิกษุสงฆ์ ท่านถือ ๒๒๗ ยิ่งกว่าศีล ๘ อีก ก็ใช้ไม่ได้หรือ

    สุ. มิได้ นี่เป็นเรื่องของผู้รักษาอุโบสถศีล ประพฤติตามพระอรหันต์ใน วันหนึ่งและคืนหนึ่ง คำนี้มีในพระไตรปิฎก

    ถ. และศีลสำหรับพระภิกษุสงฆ์ล่ะ

    สุ. ขอประทานโทษ พูดถึงเรื่องอุโบสถศีลก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์นั้นยากแสนยาก วันไหนก็ไม่รู้ที่จะถึง อีกนานสักเท่าไรก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้น ขณะนี้รู้จักจิตใจของตนเอง และพยายามที่จะศึกษาพระธรรม เข้าใจพระธรรม ขัดเกลากิเลส เป็นวันเตือนที่จะขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์แน่ นี่สำหรับอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งไม่ใช่เพศบรรพชิต

    แต่สำหรับผู้ที่มีศรัทธาถึงกับละอาคารบ้านเรือน เพื่ออบรมเจริญปัญญาใน เพศของบรรพชิต ท่านยังเป็นผู้ที่มีกิเลส แต่ถ้าท่านประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ ไม่มีใครสามารถแยกได้ว่า ท่านรูปใดเป็นพระอรหันต์ และท่านรูปใด ไม่เป็นพระอรหันต์ ด้วยกายวาจาที่ปรากฏภายนอก และเมื่อเป็นอย่างนี้ คฤหัสถ์ จึงต้องมีความนอบน้อมในเพศบรรพชิตอย่างสูง เพราะว่าท่านสามารถละอาคารบ้านเรือนและประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยได้ ส่วนเรื่องเฉพาะตนคือเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ก็เป็นเรื่องที่ท่านต้องขัดเกลาด้วยการศึกษาและการประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว แต่กายวาจาของท่านต่างกับคฤหัสถ์

    ถ. อย่างนั้นผมจะไปบอกป้า ผมมีป้าอยู่คนหนึ่งมีอาชีพค้าขาย เขาถือ ศีล ๘ ผมไปบอกเขาดีไหมว่า อย่าถือเลยศีลอุโบสถ ยังคิดค้าขายหากำไร ไปถือทำไม

    สุ. ไม่สมควรที่จะบอก เพราะท่านผู้นั้นมีศรัทธา แต่ท่านไม่เข้าใจจุดประสงค์ว่า การรักษาอุโบสถศีลของท่านควรจะเป็นในลักษณะใด เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีทางเกื้อกูลเป็นไปได้ ก็ช่วยอธิบายให้เข้าใจถึงจุดประสงค์ของการรักษา อุโบสถศีล

    ถ. อธิบายจบแล้ว ก็บอกว่า คุณป้าอย่าถือเลยศีล ๘ ถือแค่ศีล ๕ ก็พอ ดีไหม

    สุ. ไม่สมควร คือ ใครจะมีศรัทธามากน้อยแค่ไหนก็เป็นเรื่องของเขา แต่อธิบายให้เขาเข้าใจถูกต้อง

    ถ. อาจารย์สรุปอย่างนี้แปลว่า คุณป้าถือศีล ๘ ก็ดีแล้ว

    สุ. ท่านจะถือแบบไหน เป็นเรื่องของท่าน แต่ท่านถือด้วยความเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ถ้าเรารู้ว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดถือด้วยความไม่เข้าใจ เราจะเกื้อกูลไหม ให้เขาเข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ไม่ใช่ถือไปเปล่าๆ หรือถือแล้วเดือดร้อนใจ

    ถ. ถ้าเกื้อกูลได้ก็จะเกื้อกูล ถ้าเกื้อกูลไม่ไหว คงไม่กล้าเกื้อกูล



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๗ ตอนที่ ๒๐๖๑ – ๒๐๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    8 เม.ย. 2565

    ซีดีแนะนำ