แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2077


    ครั้งที่ ๒๐๗๗


    สาระสำคัญ

    อธิษฐานธรรม ๔ - สัจจาธิษฐาน จาคาธิษฐาน อุปสมาธิษฐาน และปัญญาธิษฐาน

    เนกขัมมบารมี

    ขุททกนิกาย จริยาปิฎก - เมตตาบารมี

    พรหมวิหารมี ๔


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๕


    ประการต่อไป ความพอใจ

    บทว่า ฉนฺทตา คือ พอใจในกุศลด้วยความใคร่ที่จะทำ

    ต้องมีความปรารถนามาก พอใจมากในธรรมทั้งหลายที่จะทำให้ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น จะเห็นพระมหากรุณาคุณที่พวกเรา ได้มีโอกาสฟังพระธรรม

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พึงเห็นว่า บุญวิเศษอันเป็นมูลแห่งธรรมอันทำให้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งปวง เป็นความเจริญอย่างยิ่ง เป็นความงามอย่างยิ่ง เป็นความสง่าหาประมาณมิได้ โดยความเป็นไปปรารภพุทธภูมิอันเป็นอจินไตย และประโยชน์ของสัตว์โลก อันหาประมาณไม่ได้

    อนึ่ง พระมหาบุรุษพร้อมด้วยการบรรลุนั้นแล เป็นผู้ชื่อว่าหยั่งลงสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุมหาโพธิญาณ ย่อมได้สมัญญาว่า พระโพธิสัตว์ เพราะมีสภาพไม่กลับจากนั้น เพราะบรรลุความเป็นของแน่นอน

    เพราะฉะนั้น ท่านที่เป็นสาวกก็จะเห็นพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านไม่ต้องไปเหยียบย่ำจักรวาลที่ร้อนแรง หรือ ฝ่าขวากหนามรุงรังของจักรวาลที่เต็มไปด้วยไม้ไผ่หนาทึบ หรือจะต้องบำเพ็ญบารมีนานแสนนานถึงสี่อสงไขยแสนกัป แต่เป็นผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาจากบุคคลผู้เลิศ ผู้ประเสริฐ ซึ่งไม่มีผู้ใดเปรียบปาน เพียงแต่ท่านผู้ฟังจะเห็นประโยชน์ของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้เพื่อประโยชน์แก่ทุกคนที่จะให้พิจารณาเกิดปัญญาละคลาย ขัดเกลาอกุศลของตนเอง เพียงเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นสาวก

    แต่บางท่านก็ไม่ค่อยจะยอมที่จะขจัดกิเลส หรือละคลายกิเลส

    ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ และรู้ว่าพระธรรมที่ทรงพระมหากรุณาแสดงเพื่อให้ แต่ละบุคคลที่ได้ฟังพิจารณาเห็นประโยชน์เพื่อประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะทำให้จิตใจอ่อนโยน เป็นผู้ว่าง่ายที่จะประพฤติตามพระธรรมเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งขึ้น แม้ในจาคาธิษฐานซึ่งเป็นเรื่องของการสละกิเลส ในเรื่องของศีล คือ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่น่าสังเกตและน่าที่จะขัดเกลา เพราะว่า ทุกคนก็มีกาย มีวาจา แต่อาจจะไม่ได้พิจารณากายวาจาของตนเองในวันหนึ่งๆ ว่า ขัดเกลาหรือเปล่า หรือยังเหมือนเดิม แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมแล้ว

    สำหรับผู้ที่ขัดเกลาสละกิเลสทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นไปในเรื่องของศีลนั้น ก็เป็นเหตุแห่งภวสมบัติ ซึ่งเป็นความดีงามของตนเอง คือ เป็นผู้ที่สำรวมกาย สำรวมวาจา การสำรวมกายจะสังเกตได้จากผู้ที่มีมารยาทงาม เป็นผู้ที่อ่อนน้อม ไม่แสดงความโกรธ ซึ่งจะสังเกตได้ คือ ไม่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจโดยหน้าบึ้ง หรือ ดุร้ายถมึงทึง แสดงกิริยาอาการหยาบกระด้าง นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าเกิดกุศลจิตขณะใด สภาพของกิริยาการกระทำทางกายก็เปลี่ยนด้วย

    สำหรับการสำรวมวาจา ก็จะต้องสละวาจาที่ไม่ดี เพราะว่าบางคนเป็นคนตรง ก็จริง แต่ตรงโดยที่ไม่พูดคำที่ไม่น่าฟังก็ได้ คือ ทั้งๆ ที่ตรง แต่ก็พูดคำที่น่าฟัง แทนที่จะพูดคำที่ไม่น่าฟังก็ได้ แต่บางคนก็ลืม สะสมมาที่จะเป็นคนตรงจนพูดคำที่ ไม่น่าฟังเพราะเผลอ และลืมที่จะสำรวมวาจา ลืมที่จะขัดเกลากิเลส ซึ่งถ้าขณะใด ที่มีทิฏฐุชุกรรม มีความเห็นถูกว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศลที่ควรละ ก็จะทำให้สะสมเป็นอุปนิสัยเพิ่มขึ้น

    ขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยสำหรับเรื่องของการสละกิเลส ในเรื่องของจาคาธิษฐาน ในเรื่องของศีล คือ กาย วาจา แล้วยังต้องเป็นผู้สำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    แม้เป็นชีวิตประจำวันและคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ให้เห็นว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด จะต่างกับขณะที่อกุศลจิตเกิด ถ้าอกุศลจิตเกิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่น่าดู เป็นไปในอกุศล แต่เวลาที่กุศลจิตเกิด จะสำรวม เรียบร้อย น่าดู ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    อย่างตาก็จะรู้ได้ว่า เวลาที่อกุศลจิตเกิด ล่อกแล่ก หลุกหลิก สอดส่าย หรือไม่ก็หาเรื่อง เป็นได้จริงๆ ตามองเห็นทุกอย่าง ถ้าเป็นผู้สำรวมตาก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นแม้แต่การดู ก็ดูอย่างไม่ล่อกแล่ก ไม่หลุกหลิก ไม่สอดส่าย และไม่หาเรื่อง เรื่องที่จะเกิดนี่ก็เพราะตาเห็น และเมื่อไม่สำรวมก็เห็นผิด เข้าใจผิด และเรื่องทั้งหมด ก็เลยผิด ทำให้เป็นเรื่องที่ใหญ่โตขึ้น นี่ก็แสดงให้เห็นถึงการไม่สำรวมตา

    สำรวมหู ก็จะสังเกตได้อีก ในชีวิตประจำวันมีเรื่องที่หูต้องได้ยินบ่อย ได้ยิน ได้ฟัง หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นผู้สำรวมหูก็ไม่สนใจซอกแซกฟังเรื่องไร้สาระ นี่ก็สังเกตได้ในชีวิตประจำวัน แต่ละคนต้องรู้จักตนเอง และเกิดสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ว่าขณะนั้นสำรวมหรือเปล่า ถ้าไม่สำรวม ซอกแซกแน่นอน สนใจที่จะฟังเรื่อง ไร้สาระ

    สำหรับจมูก ก็มีการสำรวมได้เช่นเดียวกัน คือ เป็นผู้ที่ไม่หมกมุ่น ไม่ติดข้อง ไม่แสวงหากลิ่นที่เย้ายวน หรือทำให้เดือดร้อนใจ บางคนติดกลิ่น และชอบกลิ่นมาก แม้แต่กลิ่นดอกไม้ จะต้องขวนขวายเดือดร้อน ทุกอย่างจะสังเกตได้ว่า ถ้ามีความสำรวมเพิ่มขึ้น ความเดือดร้อนทั้งหมดก็จะค่อยๆ เบาบางลง

    สำรวมกาย ก็ไม่จุ้นจ้าน ไม่ตลกคะนอง ไม่รังแก ไม่เบียดเบียน ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้จะเห็นได้ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ใจที่สำรวม คือ ใจที่ไม่กังวลหมกมุ่นคิดเรื่องที่ทำให้ใจไม่สบาย เพราะหลายคนเหลือเกินอยากจะเรียนให้ทราบว่า น่าจะมีความสุขมากๆ ไม่ควรที่จะมีอะไรที่ ไม่สบายใจเลย ดูเหมือนเป็นผู้ที่สบายพร้อม แต่กลับคิดถึงเรื่องที่ทำให้ใจไม่สบาย อยู่เรื่อยๆ ซึ่งถ้าขณะนั้นมีการรู้สึกว่าเป็นอกุศล ก็จะทำให้ไม่คิดในเรื่องที่ทำให้ ใจไม่สบาย คือ ไม่คิดเรื่องที่จะทำให้โกรธคนอื่น ไม่คิดที่จะริษยา ไม่คิดที่จะมานะ พร้อมที่จะเป็นผ้าเช็ดธุลี ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ วันหนึ่งๆ ก็เป็นผู้ที่สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเป็นการสละกิเลส เป็นจาคาธิษฐาน

    ถ้าไม่มีความมั่นคงในการสละกิเลส เพียงแต่จะให้ทานวัตถุเพื่อประโยชน์สุข แก่บุคคลอื่น แต่ลืมคิดถึงตัวเองที่จะต้องขัดเกลา ก็ยากแก่การที่จะถึงฝั่งได้ เพราะว่าเป็นผู้ที่ยังไม่มั่นคงในอธิษฐานธรรม ๔

    และถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของจาคาธิษฐาน มีความมั่นคงในการระงับ ขัดเกลากิเลสแล้ว ผู้นั้นยังต้องมีความมั่นคงในความสงบจากกิเลสซึ่งเป็น อุปสมาธิษฐานด้วย

    อธิษฐานธรรมที่ ๓ อุปสมาธิษฐาน อุปสมาธิษฐาน คือ ความพอใจในความสงบ โกรธกับไม่โกรธอย่างไหนดี เห็นโทษหรือยังว่าโกรธไม่ดีแน่ ไม่โกรธดีกว่า ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ ด้วยปัญญา ผู้นั้นจะค่อยๆ ละคลายความโกรธ และเห็นประโยชน์ของความสงบ มั่นคง ในความสงบ เป็นอุปสมาธิษฐาน

    ความสงบจิตใจจากกิเลส ต้องเป็นความสงบจากการเกี่ยวข้องวุ่นวายกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเกื้อกูลต่อเนกขัมมบารมี สำหรับเนกขัมมบารมี ซึ่งเป็นการออกจากกามนั้น ถึงแม้ว่ายังไม่ใช่เพศบรรพชิต แต่ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์นั้น ก็ค่อยๆ ปลีกออกจากการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือ การครองเรือน โดยเป็นคฤหัสถ์ที่ไม่ครองเรือนได้ เพราะเห็นโทษของภาระผูกพันเหนียวแน่นในชีวิตของครอบครัวแต่ละภพแต่ละชาติ

    ถ้าเป็นอย่างนี้จริงๆ จะทำให้ผู้นั้นเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ในความสงบ และ มีความมั่นคงในการเป็นผู้ที่พอใจในความสงบซึ่งเป็นอุปสมาธิษฐาน และจะมี ความมั่นคงพอใจในความสงบเช่นนี้ได้ ก็ต้องเป็นด้วยปัญญาธิษฐาน ซึ่งเป็น อธิษฐานธรรมที่ ๔ อธิษฐานธรรมเป็นไป ๔ อย่าง ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ เป็นสัจจาธิษฐาน ๑ เป็นจาคาธิษฐาน ๑ เป็นอุปสมาธิษฐาน ๑ และเป็นปัญญาธิษฐาน ๑

    สำหรับการที่จะสะสมปัญญานั้น ก็ต้องฟังพระธรรม พิจารณา สอบถาม อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ จำแนกกรรม ผลของกรรม เมื่อฟังพระธรรมแล้วก็พิจารณาในเหตุผล ในสภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริง ตามแต่โอกาสที่สามารถรับฟังพระธรรมได้ในชาติหนึ่งๆ

    ถ้าเป็นผู้ประมาทในการฟังธรรม ถึงแม้ว่ากาลครั้งหนึ่งคิดที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ ก็เป็นเพียงกาลครั้งหนึ่ง ครั้งเดียว หรือสองครั้ง สามครั้งเท่านั้น ยังไม่มั่นคงพอ ต้องเพิ่มปัญญาธิษฐานด้วย จึงสามารถมีความมั่นคงขึ้น

    บารมี ๑๐ ต่อจากอธิษฐานบารมีที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ เมตตาบารมี ซึ่งก็ได้กล่าวถึงแล้วมากทีเดียว และเมื่อได้พูดถึงอธิษฐานบารมี ก็จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ดำรงมั่น ในการเจริญกุศลเพื่อขัดเกลากิเลสเป็นผู้ที่มีอธิษฐานบารมีนั้น เป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา นี่คือข้อความในอรรถกถา ซึ่งเป็นเครื่องตรวจสอบความมั่นคงในการเจริญกุศลของตนเองจริงๆ ที่ว่า ผู้ที่มีอธิษฐานบารมี มีความมั่นคงที่จะขัดเกลากิเลส เป็นผู้ที่มีปกติอยู่ด้วยเมตตา

    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามเป็นผู้ไม่โกรธ และมีปกติอยู่ด้วยเมตตา ก็แสดงว่า ผู้นั้นเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการไม่โกรธ เห็นประโยชน์ของการเจริญบารมีเพื่อที่จะ ขัดเกลากิเลสด้วย

    สำหรับเมตตาที่จะต้องเข้าใจให้ถูก คือ เป็นสภาพของจิตที่มีความเป็นมิตร เพราะฉะนั้น ไม่เกี่ยวกับการท่อง ไม่เกี่ยวกับการแผ่เมตตา แต่เป็นขณะที่มีสัตว์ มีบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ณ สถานที่ใดก็ตาม และบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม ถ้าเป็นผู้ที่ มีปกติอยู่ด้วยเมตตา ก็เป็นผู้ที่พร้อมจะเกื้อกูลบุคคลนั้น

    ด้วยเหตุนี้เมตตาจึงเป็นพรหมวิหาร หมายความว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่ ที่ประเสริฐ และสำหรับจิตของผู้ที่มีเมตตาที่จะตรวจสอบว่ามีความมั่นคงเพียงใดนั้น ใกล้ที่จะมีความประพฤติตามพระโพธิสัตว์หรือไม่ ข้อความใน ขุททกนิกาย จริยาปิฎก มีว่า

    อนึ่ง จิตของมหาบุรุษนั้นถึงความสงัดตั้งมั่นโดยไม่ยาก ความเป็นผู้มีจิตเมตตาย่อมตั้งอยู่แม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว

    แสดงว่าไม่มีใครที่จะเป็นศัตรูได้ ท่านอาจจะคิดขุ่นเคืองใจ และคิดว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นผู้ที่ตัดรอนประโยชน์ของท่านด้วยประการใดๆ ก็ตาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ สะสมกุศลและมีความตั้งมั่นในการขัดเกลากิเลสแล้ว จิตของบุคคลนั้นจะสงบตั้งมั่น ได้ไม่ยาก และจะเป็นผู้ที่มีจิตเมตตาแม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว

    ถ้าเกิดโกรธใครนิดหนึ่งขึ้นมาแล้ว สักครู่หนึ่งก็หมดแล้ว หายแล้ว เปลี่ยนเป็นความเมตตา นั่นคือผู้ที่สะสมบารมีเหมือนกับจิตของพระโพธิสัตว์ ซึ่งตั้งมั่นโดยไม่ยาก และมีจิตเมตตาตั้งอยู่แม้ในฝ่ายที่เป็นศัตรูอย่างเร็ว

    ต่อไปนี้ก็สังเกตได้ โกรธใครนานหรือเปล่า ถ้าเปลี่ยนเป็นเมตตาได้เร็ว ก็แสดงว่าเป็นผู้ที่สะสมการขัดเกลากิเลส

    สำหรับเมตตาที่เป็นพรหมวิหาร เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพรหม ซึ่งพรหมวิหารมี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

    เมตตา ได้แก่ อโทสเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ระงับสงบโทสะ

    กรุณา ได้แก่ กรุณาเจตสิก เป็นขณะที่มีเมตตา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ระงับความเบียดเบียน

    มุทิตา ได้แก่ มุทิตาเจตสิก เป็นสภาพที่พลอยยินดีกับความสุขของคนอื่น

    อุเบกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตา เป็นสภาพธรรมที่ระงับโลภะและโทสะ

    ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้นตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ขณะที่ มีเมตตาก็เป็นอโทสเจตสิก ขณะที่มีความกรุณา มีความอาทรห่วงใยใคร่เกื้อกูลผู้ที่กำลังเป็นทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นกรุณาเจตสิก ขณะที่บุคคลอื่นมีความสุข ได้ลาภ ได้ยศ สรรเสริญ เป็นต้น ขณะนั้นมีความยินดีด้วย ก็เป็นมุทิตาเจตสิก และขณะที่ ระงับโลภะ โทสะ มีความเป็นกลาง เสมอในสัตว์ทั้งปวง ขณะนั้นก็เป็น ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร

    นอกจากอโทสเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ไม่โกรธแล้ว ก็ยังเป็นเบื้องต้นสำหรับ ผู้ที่คิดจะเมตตาต่อบุคคลที่ทำสิ่งที่ขุ่นเคืองใจได้

    ความหมายของเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาที่เป็นพรหมวิหาร ข้อความ ในอรรถกถามีว่า

    เพราะเป็นธรรมที่ไม่มีโทษ และเพราะอรรถว่า ประเสริฐ

    คนที่มีเมตตาจะไม่มีโทษใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นผู้ประเสริฐด้วยในขณะที่มีเมตตาต่อคนอื่น รวมทั้งกรุณา มุทิตา และอุเบกขาด้วย

    เพราะเป็นการปฏิบัติชอบในสัตว์ทั้งหลาย พวกพรหมทั้งหลายมีจิตปราศจากโทษอยู่ฉันใด ผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้เสมอกันกับพรหม ดังนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า พรหมวิหาร

    มีเครื่องอยู่ ๔ อย่างนี้ เป็นความสงบเย็นจริงๆ ไม่มีความเดือดร้อน และปราศจากโทษ พรหมวิหารมี ๔ เพราะเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์เป็นต้น คือ ตั้งแต่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

    อนึ่ง ลำดับของพรหมวิหารเหล่านั้นย่อมมีเพราะอาการมีความเกื้อกูลเป็นต้น และพรหมวิหารเหล่านั้น ย่อมเป็นไปในอารมณ์อันหาประมาณมิได้ จึงเรียกว่า อัปปมัญญา

    แสดงให้เห็นว่า เพียงความไม่โกรธนิดหน่อยอย่าเพิ่งพอใจ หรือเพียงความเมตตาต่อบางบุคคลได้ก็อย่าเพิ่งพอใจ เพราะว่ายังไม่พอ ยังมีคนอีกมากที่เมื่อประสบพบเห็นแล้ว บางกาลก็ควรจะเมตตา บางกาลก็ควรจะกรุณา บางกาลก็ควรจะมุทิตา และบางกาลก็ควรจะอุเบกขา โดยหาประมาณมิได้ ไม่จำกัดเฉพาะบางบุคคล ซึ่งแต่ละท่านสามารถพิสูจน์จิตใจของท่านเองได้ว่า ท่านพร้อมที่จะมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขากับบุคคลอื่นๆ เพิ่มขึ้นๆ ได้ไหม ถ้าเพิ่มขึ้นได้ก็เป็นทางที่จะทำให้ มีความเป็นอยู่อย่างพรหม

    สำหรับพรหมวิหาร ๔ มีข้ออุปมาว่า เมตตาอุปมาเหมือนลูกที่ยังเล็ก กรุณาอุปมาเหมือนลูกที่ป่วยไข้ มุทิตาอุปมาเหมือนลูกที่กำลังเป็นหนุ่มสาว อุเบกขาอุปมาเหมือนลูกที่กำลังประกอบการงาน

    ลูกที่ยังเล็ก เด็กเล็กๆ ทุกคนก็มีความหวังดีต่อเด็กที่จะให้เจริญเติบโตขึ้นในทางที่ดี เพราะฉะนั้น ความเมตตาต่อเด็ก ไม่ควรมีเฉพาะกับเด็กเท่านั้น ทุกคนก็เสมือนเด็กที่ควรจะเกื้อกูล จึงจะเป็นความรู้สึกที่มีเมตตาจริงๆ กับบุคคลนั้น

    นี่เป็นเพียงการเปรียบเทียบให้เห็นลักษณะของเมตตาว่า เหมือนกับผู้ที่มีความรู้สึกต่อบุตรคนเล็กที่ต้องการให้เจริญเติบโตขึ้น คือ เกื้อกูลต่อบุตรคนเล็กฉันใด ก็เกื้อกูลต่อบุคคลอื่นฉันนั้น

    สำหรับกรุณา อุปมาเหมือนกับบุตรที่ป่วยไข้ ผู้ที่มีบุตร และบุตรป่วยไข้ คงจะทราบว่า ต้องพยายามบำบัดให้บุตรหายป่วยจากความทรมาน จากโรคภัย ต่างๆ ฉันใด เวลาที่เห็นคนอื่นทั่วไปหมดแม้ไม่ใช่บุตร ก็มีความหวังดีที่จะให้ บุคคลนั้นพ้นจากทุกข์ นั่นคือกรุณา ซึ่งควรจะหาประมาณมิได้ คือ ไม่ได้จำกัด แต่เฉพาะบางบุคคลเท่านั้น

    สำหรับมุทิตา คือ ความพลอยยินดีด้วย อุปมาเหมือนมารดาบิดาที่มีบุตรกำลังเป็นหนุ่มสาว ก็หวังที่จะให้บุตรที่เป็นหนุ่มสาวนั้นมีความสมบูรณ์ เป็นหนุ่ม เป็นสาวนานๆ เป็นที่ชื่นชมยินดีในความเจริญเต็มที่ของบุตรนั้น

    สำหรับอุเบกขา อุปมาเหมือนบุตรที่กำลังประกอบการงาน ซึ่งมารดาบิดา ก็หมดธุระ ไม่ต้องขวนขวายในกิจธุระทุกอย่างให้แก่ลูกที่ประกอบกิจการงานแล้ว

    เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคนมีจิตอย่างนี้ แสดงว่าได้ขัดเกลากิเลสและได้อบรม เจริญปัญญาที่จะรู้ว่า สิ่งใดมีประโยชน์ และสิ่งใดมีโทษ เพราะบางคนแม้ได้ยินคำว่า พรหมวิหาร รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่มีเมตตาได้ไหม มีกรุณาได้ไหม มีมุทิตาได้ไหม มีอุเบกขาได้ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นถึงจิรกาลภาวนาว่า ต้องเป็นเรื่องของการขัดเกลา ต้องเป็นเรื่องของการอบรม ด้วยเหตุนี้เมตตาจึงเป็นบารมี ซึ่งควรจะได้พิจารณาว่า เพราะเหตุใดเมตตาและอุเบกขาจึงเป็นบารมี แต่กรุณาและมุทิตาไม่เป็นบารมีด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๘ ตอนที่ ๒๐๗๑ – ๒๐๘๑
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    13 เม.ย. 2565

    ซีดีแนะนำ