แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2054


    ครั้งที่ ๒๐๕๔


    สาระสำคัญ

    ปฏิปทาสูตร ทรงแสดงมิจฉาปฏิปทาและสัมมาปฏิปทา

    อถ.สุสิมสูตร มรรค ผลไม่ใช่เป็นผลของสมาธิ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๔


    บางท่านเข้าใจว่า เพียงไปสู่สำนักที่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ก็ไปปฏิบัติสิ่งซึ่งเข้าใจว่าจะทำให้หมดกิเลสโดยที่ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ท่านเข้าใจว่า นั่นเป็นมิจฉาปฏิปทา แต่ข้อความในพระไตรปิฎกก็ยังละเอียดกว่านั้นอีก

    ข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ปฏิปทาสูตร มีว่า

    พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตจักแสดงมิจฉาปฏิปทาและสัมมาปฏิปทา พวกเธอจงฟังปฏิปทาทั้ง ๒ นั้น จงใส่ใจให้ดีเถิด เราจักกล่าว

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาปฏิปทาเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่ามิจฉาปฏิปทา

    ท่านผู้ฟังก็จะได้ทราบว่า ชีวิตประจำวันทุกท่านเป็นมิจฉาปฏิปทาหรือ สัมมาปฏิปทา ที่เป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขาร คือเจตนาที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงเพราะฉะนั้น ตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่จะไม่ให้ มีสังขารคือเจตนาที่เป็นกุศลและอกุศลก็เป็นไปไม่ได้

    เมื่ออวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร มีกรรมที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรม ที่จะไม่ให้มีวิญญาณ คือ ปฏิสนธิ การเกิดอีก ก็เป็นไปไม่ได้ เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว ปฏิสนธิจิตเกิด ก็จะต้องมีเจตสิกและรูปเกิดพร้อมกัน เมื่อมีนามรูปคือเจตสิกและรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ก็มีการเจริญเติบโต มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เป็นสฬายตนะ เมื่อมีตาที่จะไม่ให้กระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วเห็น ก็เป็นไปไม่ได้

    นี่คือชีวิตของทุกคน ซึ่งมีเหตุมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น แม้แต่การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก

    เมื่อมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ก็ต้องมีผัสสะ คือ การกระทบกับอารมณ์ต่างๆ และเมื่อกระทบกับอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ที่จะไม่ให้มีเวทนา ความรู้สึกดีใจ เสียใจ สบายใจ ไม่สบายใจ หรือเฉยๆ ก็เป็นไปไม่ได้

    นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริงทุกขณะว่า เมื่อมีผัสสะแล้วก็มีเวทนา มีความรู้สึก ซึ่งเมื่อมีความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นสุขบ้าง เฉยๆ บ้าง หรือเป็นทุกข์บ้าง ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ความพอใจในความรู้สึกนั้นๆ ทำให้เกิดความต้องการ ที่จะให้เกิดความรู้สึกที่น่าพอใจนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะว่ามีความยินดี มีความติดข้องในเวทนานั้น

    เมื่อมีตัณหาคือมีความติดข้องแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้มีอุปาทาน ความยึดมั่น เมื่อมีความยึดมั่น ก็เป็นเหตุให้เกิดการกระทำต่างๆ ซึ่งเป็นกรรมภพ และเมื่อมี กรรมภพก็ต้องมีชาติคือการเกิด และเมื่อมีการเกิด จะพ้นไปจากชราและมรณะ เป็นไปไม่ได้เลย

    ด้วยเหตุนี้ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่ามิจฉาปฏิปทา ไม่ต้องมีใครทำอะไรเลย เป็นอยู่แล้ว มิจฉาปฏิปทา เพราะว่าเป็นธรรมที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น จะเป็นสัมมาปฏิปทาไม่ได้

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาปฏิปทาเป็นไฉน เพราะอวิชชานั่นแหละดับ ด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับวิญญาณจึงดับ เพราะวิญญาณดับนามรูปจึงดับ เพราะนามรูปดับสฬายตนะจึงดับ เพราะสฬายตนะดับผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ เพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับชาติจึงดับเพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ นี้เรียกว่าสัมมาปฏิปทา

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ในสังสารวัฏฏ์ที่ผ่านมา จิตเกิดและก็ดับทีละขณะ เคลื่อนไป ไม่มีอยู่นิ่งเลย ที่จิตจะเกิดแล้วไม่ดับไม่มี ก็เคลื่อนไปๆ ทุกขณะ เป็นปฏิปทา เป็นหนทาง ซึ่งทุกท่านในขณะนี้ก็ทราบความละเอียดแล้วว่า เป็นมิจฉาปฏิปทา หรือสัมมาปฏิปทา

    ข้อความใน อรรถกถา ปฏิปทาสูตรที่ ๓ มีว่า

    บทว่า มิจฺฉาปฏิปทํ ความว่า นี้เป็นปฏิปทา ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์

    จะเกิดแล้วเกิดอีก เกิดอีกเกิดแล้ว ก็ไม่พ้นจากการเกิด เพราะฉะนั้น ก็ไม่พ้นจากการตาย ไม่พ้นจากทุกข์

    ถามว่า ก็เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีปุญญาภิสังขารบ้าง อเนญชาภิสังขารบ้าง มิใช่หรือ อภิสังขารทั้งสองนั้น เป็นมิจฉาปฏิปทาได้อย่างไร

    สำหรับอปุญญาภิสังขาร ไม่มีใครสงสัย เพราะว่าเป็นอกุศลกรรม แต่สงสัย ปุญญาภิสังขารซึ่งเป็นกามาวจรกุศลและรูปาวจรกุศล กับอเนญชาภิสังขารซึ่งเป็น อรูปาวจรกุศลจิต คือ ผู้ที่อบรมเจริญความสงบของจิตจนกระทั่งบรรลุฌานขั้น อรูปฌาน ไม่หวั่นไหว เพราะว่าไม่มีรูปเป็นอารมณ์

    แก้ว่า เพราะถือวัฏฏะเป็นสำคัญ สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งบุคคลปรารถนาวัฏฏะ กล่าวคือภพ ๓ ปฏิบัติ โดยที่สุดอภิญญา ๕ หรือสมาบัติ ๘ สิ่งทั้งหมดเป็นไปในฝ่ายวัฏฏะ จัดเป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะถือวัฏฏะเป็นสำคัญ

    ส่วนสัมมาปฏิปทานั้น ข้อความในอรรถกถามีว่า

    สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันบุคคลปรารถนาวิวัฏฏะคือพระนิพพาน ปฏิบัติ โดยที่สุด ถวายทานเพียงข้าวยาคูกระบวยหนึ่งก็ดี เพียงถวายใบไม้กำมือหนึ่งก็ดี สิ่งทั้งหมดนั้นจัดเป็นสัมมาปฏิปทาโดยแท้ เพราะเป็นฝ่ายวิวัฏฏะ

    ... คำว่า ปฏิปทานี้ เป็นชื่อของมรรค ๔ พร้อมด้วยวิปัสสนา เพราะท่านแสดงปฏิปทาโดยผลว่านำไปสู่อะไร

    คือ ถ้าเป็นมิจฉาปฏิปทาก็นำไปสู่กองทุกข์ การเกิด การตาย แต่ถ้าเป็น สัมมาปฏิปทาก็นำไปสู่การดับทุกข์ทั้งหมด

    สำหรับผู้ที่ปรารถนาวิวัฏฏะ คือ พระนิพพาน ไกลมาก เพราะฉะนั้น ที่จะ รู้แจ้งพระนิพพานได้ ก็คืออบรมเจริญปัญญาละคลายอกุศลธรรมคืออวิชชา และความติดข้องที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งการที่จะ ละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น ไม่ง่ายเลย เพราะ ต้องในขณะที่ทางตากำลังเห็นและรู้ความจริงว่า ปรมัตถธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นจึงจะเป็นหนทางละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และยังจะมีอกุศลอื่นอีกมากมาย ซึ่งดูเหมือนว่าละไม่ยากเท่ากับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เช่น ความผูกโกรธ หรือการไม่อภัย

    ท่านผู้ฟังคิดว่า ง่ายกว่าการละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนหรือเปล่า เพราะว่าบางคนสละวัตถุง่าย ไม่ยากเลย มีฉันทะสะสมมาเป็นผู้ที่มีทานุปนิสัย พร้อมที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น แต่แม้กระนั้นการที่จะละการยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตนต้องยากกว่า เพราะว่าเป็นเรื่องของปัญญา หรือบางท่านก็อาจจะเป็นผู้ที่มีจิตใจดี มีเมตตากรุณา แต่ถึงอย่างนั้นการละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลก็ยาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่ละเอียดและลึกมาก สละอื่น ก็ยังสละได้ แต่จะให้สละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ถ้าไม่ใช่ปัญญา ที่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ขณะนั้นไม่สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    เรื่องของการอบรมเจริญกุศล เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ก็จะต้องประกอบพร้อมกันไปทุกอย่างเท่าที่สามารถจะเกิดได้ มิฉะนั้นก็จะเป็นผู้ที่หนาแน่น ด้วยอกุศล และยากจริงๆ ที่จะละคลายอกุศลนั้นได้

    สำหรับมิจฉาปฏิปทา มีข้อสงสัยไหม เมื่อไหร่ ขณะไหน

    ขณะนี้ ขณะที่คิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เป็นมิจฉาปฏิปทาหรือเปล่า

    ถ. พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะที่บำเพ็ญบารมีมา ๔ อสงไขยแสนกัป ขณะนั้นเป็นมิจฉาปฏิปทาหรือเปล่า

    สุ. ขณะใดที่เป็นการอบรมเจริญปัญญา เป็นหนทางที่จะดับ ขณะนั้น ไม่ใช่มิจฉาปฏิปทา

    ถ. ถึงแม้ว่ายังมีปฏิจจสมุปปาทเกิดอยู่

    สุ. แม้แต่การให้ข้าวยาคูเพียงกระบวยเดียวเพื่อที่จะละกิเลส เพราะว่า ผู้ที่รู้ว่ากว่าจะถึงนิพพาน หมายความว่าเป็นผู้ใคร่ที่จะดับกิเลส ถ้าใครเป็นผู้ที่ อยากจะถึงพระนิพพานโดยไม่อยากดับกิเลส มีกิเลสและยังชอบกิเลส อยากจะ เก็บกิเลสไว้ ไม่ยอมที่จะดับกิเลส ผู้นั้นไม่มีวันถึง แต่ผู้ใดก็ตาม อาจจะไม่ต้องคำนึงถึงพระนิพพาน แต่รู้ว่าตนเองมีกิเลสจากความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม และอบรมเจริญปัญญาเพื่อจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม และเจริญกุศลต่างๆ เป็นบารมีเพื่อที่จะละอกุศลทั้งหลาย นั่นคือผู้ที่ปฏิบัติหนทางที่จะทำให้ดับกิเลส เป็นสัมมาปฏิปทา

    ถ. ในขณะที่จิตเป็นกุศล จะเป็นทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ขณะนั้นก็ เป็นสัมมาปฏิปทา

    สุ. เป็นผู้ที่ใคร่จะดับกิเลส เพราะบางคนทำกุศลเพราะอยากได้ผลของกุศล

    ถ. ยังเป็นวัฏฏคามินีกุศล

    สุ. เรื่องของธรรม เป็นเรื่องละทั้งหมด

    ถ. การกระทำอย่างเดียวกัน คือ ให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี หรือ เจริญกัมมัฏฐานก็ดี ที่ท่านกล่าวว่า ให้ทานรักษาศีล แต่มีจุดประสงค์ไม่ออกไปจากวัฏฏะ แม้จะให้ทานสักเท่าไหร่ รักษาศีลสักเท่าไหร่ แม้แต่การให้ทานรักษาศีล ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา ก็จัดเป็นมิจฉาปฏิปทา

    สุ. ถ้าไม่เป็นไปเพื่อการละคลายอวิชชาที่จะดับการเกิด ที่จะออกจากวัฏฏะ ไม่ใช่สัมมาปฏิปทา

    ถ. ส่วนใหญ่ที่ทำกันอยู่ ให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ก็ทำเป็นประเพณี สืบต่อๆ กันมา โดยไม่มีวัตถุประสงค์จะขัดเกลากิเลส ให้ก็ให้ไป รักษาศีลก็รักษา ตามๆ กันไป ส่วนใหญ่ก็เป็นมิจฉาปฏิปทา

    สุ. เพราะข้อความในอรรถกถาแสดงไว้แล้วว่า ถึงแม้จะเป็นปุญญาภิสังขาร ซึ่งได้แก่กามาวจรกุศลหรือรูปาวจรกุศล และอเนญชาภิสังขาร

    ถ. แม้จะเป็นมหากุศล หรือเป็นรูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล ได้รูปฌาน อรูปฌาน ถ้าไม่เป็นไปเพื่อออกไปจากวัฏฏะ ก็ถือว่าเป็นมิจฉาปฏิปทา

    สุ. ข้อความที่ว่า ถามว่า ก็เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีปุญญาภิสังขารบ้าง อเนญชาภิสังขารบ้าง มิใช่หรือ อภิสังขารทั้งสองนั้น เป็นมิจฉาปฏิปทา ได้อย่างไร

    ต้องเป็นญาณสัมปยุตต์จึงจะเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งได้รูปฌาน และอรูปฌาน แต่แม้กระนั้นถ้ายังปรารถนาวัฏฏะ คือ ภพ ๓ ก็จัดเป็นมิจฉาปฏิปทา

    ถ. ถ้าโดยองค์ธรรม ปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ก็เป็นฝ่ายของ มหากุศล ๘ รูปาวจรกุศล และอรูปาวจรกุศล แต่จะกล่าวรวมอย่างนี้ไม่ได้ ต้องเว้น สติปัฏฐาน ถูกไหม

    สุ. ขณะใดที่เป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อจะออกจากวัฏฏะ

    ถ. แม้กระทั่งกุศลขั้นอื่นๆ ที่จะออกจากวัฏฏะเป็นบารมี

    สุ. เป็นสัมมาปฏิปทา แม้แต่การให้ข้าวยาคูเพียงกระบวยเดียวเพื่อที่จะสละอกุศล

    ข้อความใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อรรถกถา สุสิมสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร สุสิมะ มรรคก็ตาม ผลก็ตาม ไม่ใช่เป็นผลของสมาธิ ไม่ใช่เป็นอานิสงส์ของสมาธิ ไม่ใช่เป็นความสำเร็จของสมาธิ แต่มรรคหรือผลนี้เป็นผลของวิปัสสนา เป็นอานิสงส์ของวิปัสสนา เป็นความสำเร็จของวิปัสสนา

    เพราะฉะนั้น ใครที่อยากจะทำฌาน รู้ได้เลยว่าทำไมถึงอยาก แสดงให้เห็น อยู่แล้วว่า ไม่ได้มุ่งหมายที่จะออกจากวัฏฏะ

    โสตาปัตติมรรคจิต โสตาปัตติผลจิต สกทาคามิมรรคจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิมรรคจิต อนาคามิผลจิต อรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต ไม่ใช่เป็นผล ของสมาธิ ไม่ใช่เป็นอานิสงส์ของสมาธิ ไม่ใช่เป็นความสำเร็จของสมาธิ แต่มรรค หรือผลนั้นเป็นผลของวิปัสสนา เป็นอานิสงส์ของวิปัสสนา เป็นความสำเร็จของวิปัสสนา ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจหนทางที่จะอบรมเจริญวิปัสสนา การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ

    ถ. เรื่องมิจฉาปฏิปทา สัมมาปฏิปทา เป็นเรื่องละเอียด สมมติว่าในขณะที่เจริญสติปัฏฐาน มีสภาพธรรมปรากฏ และเราระลึกในสภาพธรรมนั้น การระลึก ในสภาพธรรมนั้นขณะเจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ กำลังของปัญญาก็ยังไม่มี ขณะนั้น จะหวังออกจากวัฏฏะหรือ

    สุ. ก็เป็นผู้มีความเพียรที่รู้ว่า ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นก็ค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าเป็นธรรมทั้งหมด ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียวที่ไม่ใช่ธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม อวิชชาไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่าง เป็นธาตุแต่ละชนิด

    ถ. ก็รู้ในสภาพธรรม ระลึกในสภาพธรรม รูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้าง เล็กๆ น้อยๆ กำลังของปัญญาก็ยังไม่ทราบหรอกว่า จะออกจากวัฏฏะได้หรือไม่

    สุ. ถ้าระลึกแล้ว เข้าใจขึ้น จะไม่ถึงหรือ

    ถ. ถึง นั่นแน่นอน แต่ตอนเจริญใหม่ๆ ยังไม่มีกำลังที่จะออกไปไหน

    สุ. ไม่มีกำลัง แต่ก็ไม่ทำหนทางที่ผิด ไม่ไปสู่ทางผิด

    ถ. ก็สะสมไป

    สุ. ไม่ใช่เรื่องเร่งรัด แต่เป็นเรื่องอบรม และเป็นเรื่องสัจจะ คือ ความจริง เป็นความตรงต่อตัวเอง ถ้าปัญญายังอยู่ในขั้นของการฟัง ก็จะให้ถึงขั้นประจักษ์แจ้งไม่ได้ ถ้าสติเริ่มระลึก เพียงการเริ่มต้นที่อบรม ก็จะให้ถึงขั้นประจักษ์แจ้งไม่ได้ อีกเหมือนกัน แต่เมื่อเหตุมีสมควรแก่ผลเมื่อไร การประจักษ์แจ้งลักษณะของ สภาพธรรมก็ไม่มีใครที่จะยับยั้งได้ เป็นเรื่องของการรอคอยกาลเวลาด้วยการอบรมเจริญความรู้โดยไม่ต้องสนใจกับผล เพราะไม่ว่าจะสนใจหรือไม่สนใจก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไร นอกจากการหวังรอด้วยความเป็นตัวตน แต่ถ้ารู้ว่าเป็นสภาพธรรมทั้งหมด ทุกขณะ ไม่ว่าจะเห็นเมื่อไร ได้ยินที่ไหน คิดนึกอะไร สติปัฏฐานก็สามารถ เกิดและรู้ได้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ตราบใดที่ยังมีอกุศลอยู่ มีปัจจัยที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด ก็ต้องเกิด แต่ก็ มีปัจจัยที่จะให้กุศลจิตเกิดและมีปัญญาที่รู้หนทางซึ่งจะทำให้ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ชีวิตตามความเป็นจริงก็ต้องมีทั้งอกุศลและกุศล โดยผู้นั้นเองเป็นผู้รู้ตามความเป็นจริง มีอกุศลประเภทใดเกิดก็รู้ มีกุศลประเภทใดเกิดก็รู้ เมื่อมีปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นก็รู้ตามความเป็นจริง ไม่หลอกตัวเอง หรือจะถามว่า แล้วเวลาวิปัสสนาญาณเกิดนั้นรู้หรือเปล่า ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าปัญญาคือวิปัสสนาญาณ ที่ปัญญาจะไม่รู้นั้น เป็นไปไม่ได้

    ถ้าเป็นการอบรมเจริญในทางที่ไม่ทำให้เกิดความรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็จะสงสัย แม้แต่ลักษณะของวิปัสสนาว่า แล้วเวลาที่ เป็นวิปัสสนาญาณจะรู้หรือเปล่า ซึ่งนั่นก็เพราะไม่เคยรู้อะไรเลย และเข้าใจว่า เมื่อนั่งไปๆ วิปัสสนาญาณก็จะเกิด จึงทำให้สงสัยว่า เมื่อเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว จะรู้ไหม เพราะว่าระหว่างนั้นไม่มีการรู้อะไรทั้งสิ้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๖ ตอนที่ ๒๐๕๑ – ๒๐๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    21 มี.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ