แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2070


    ครั้งที่ ๒๐๗๐


    สาระสำคัญ

    รักษาอุโบสถศีลเพื่อการขัดเกลากิเลส

    ทุติยราชสูตร ประโยชน์สูงสุดของผู้รักษาอุโบสถศีล

    เทวตาสูตร ผลของบุญตามขั้นของบุญนั้นๆ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๔


    นี่แสดงให้เห็นถึงการสะสมที่ต่างๆ กันของแต่ละบุคคลที่มีการรู้แจ้ง อริยสัจจธรรม ต่างกาล และต่างฐานะด้วย คือ สำหรับพระเจ้าอุทัยภายหลังได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนช่างกัลบกนั้น ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในสมัยนั้น และบุรุษรับจ้างที่เป็นพระเจ้าอัฑฒมาสกราชนั้นได้เป็นท่านพระอานนท์

    ท่านผู้ฟังอยากจะได้อานิสงส์ของศีลอุโบสถศีลอย่างนี้ไหม

    และท่านที่รักษาศีลอุโบสถโดยที่ยังไม่ได้พิจารณาจริงๆ ว่า ท่านรักษา เพื่ออะไร หวังอะไร หรือรักษาทำไม ไม่ทราบว่าท่านฟังเรื่องผลของอุโบสถศีลแล้ว อยากจะได้ผลของอุโบสถศีลอย่างนี้ หรือจะรักษาอุโบสถศีลตามที่พระผู้มีพระภาค ตรัสกับพวกอุบาสกที่รักษาอุโบสถศีลก่อนที่พระองค์จะตรัสเล่าเรื่องของพระเจ้าอุทัย ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อุบาสกทั้งหลาย ท่านทั้งหลายทำอุโบสถกรรมให้สำเร็จดีแล้ว ผู้ที่รักษา อุโบสถควรให้ทาน รักษาศีล ไม่โกรธ เจริญเมตตา อยู่รักษาอุโบสถ ก็บัณฑิต ครั้งก่อนได้ยศใหญ่เพราะอาศัยอุโบสถกรรมที่รักษาครึ่งวัน ดังนี้

    เมื่ออุบาสกเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรื่องในอดีตของพระองค์เมื่อเป็นพระเจ้าอุทัย

    เพราะฉะนั้น ควรฟังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสสำหรับผู้ที่รักษาอุโบสถศีลว่า ควรให้ทาน รักษาศีล ไม่โกรธ เจริญเมตตา อยู่รักษาอุโบสถ เพราะผู้ที่จะรักษาอุโบสถศีลต้องเป็นคนดี คือ ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล และต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา มีปกติรักษาศีล ๕ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้รักษาศีล ๕ เป็นปกติ และจะรักษาอุโบสถศีล คิดดู จะรักษาเพื่ออะไร ในเมื่อปกติก็ไม่ได้เป็นผู้ที่รักษาศีล ๕

    ผู้ใดก็ตามที่รักษาอุโบสถศีล แต่พูดไม่จริง มีการกระทำที่หลอกลวง มีมายา มีวาจาหยาบคาย หรือมีความคิดไม่สุจริต ผู้นั้นควรไหมที่จะรักษาอุโบสถศีล

    ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการกระทำความดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงศีล ๕ ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ยังจะต้องขัดเกลาตัวเองและรู้ว่า ที่จะหมดจดจากอกุศลได้นั้นไม่ใช่เพียงขั้นศีล ด้วยเหตุนี้การรักษาอุโบสถศีลจึงต้องเป็นผู้ที่เจริญกุศล และขัดเกลากิเลสด้วยการอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้ที่มีความจริงใจ มีสัจจะต่อตนเอง ไม่ใช่รักษา เพราะต้องการอานิสงส์หรือผลของอุโบสถ โดยที่ตัวเองก็ยังเป็นผู้ที่ไม่มีสัจจะ ไม่มีความจริงใจ หรืออาจจะเป็นผู้ที่มีมายา หลอกลวง แข่งดี โอ้อวด และก็จะรักษาอุโบสถศีล

    แสดงให้เห็นว่า การกระทำทุกอย่างควรจะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญารู้เหตุผลในกุศล ที่จะกระทำ ไม่ใช่เพียงต้องการได้รับอานิสงส์หรือผลของอุโบสถศีลเท่านั้น

    รักษาอุโบสถศีล ถ้าจำเป็นมีกิจธุรการงาน ก็กระทำด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ด้วยความคิดทุจริต เพราะบางคนบอกว่า รักษาศีล ๘ ในวันอุโบสถ แต่มาวัดไม่ได้ เพราะต้องกระทำกิจการงาน เช่น ทำธุรกิจ หรือทำมาค้าขายต่างๆ ก็ต้อง เป็นผู้ที่ตรง คือ แม้จะกระทำกิจเหล่านั้น ก็ไม่เป็นไปในทางทุจริต และถ้าสามารถเป็นไปได้ก็ควรรักษาอุโบสถศีลอย่างอริยอุโบสถ ไม่ใช่อย่างโคปาลกอุโบสถ คือ เพียงแต่รักษาว่าได้กี่ข้อ แต่ใจก็คิดไปในเรื่องต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นไปในทางกุศล หรือ ในการอบรมเจริญปัญญา

    ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ศีลอุโบสถหรือศีล ๘ เป็นปกติชีวิตประจำวันของพระอนาคามีบุคคล เป็นปกติโดยคุณธรรมของผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงขั้น พระอนาคามี แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงขั้นความเป็นพระอนาคามี ก็ต้องเป็นคนดีก่อน และจะดีขึ้นเมื่อเห็นโทษของอกุศล และจึงจะควรเป็นผู้ที่รักษาอุโบสถศีล

    ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะรักษาอุโบสถศีล และก็มีกายวาจาที่ไม่เหมาะไม่ควร เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็ต้องเป็นที่แปลกใจว่า รักษาอุโบสถศีลได้อย่างไร และรักษาอุโบสถศีลไปทำไม

    สำหรับประโยชน์สูงสุดของผู้รักษาอุโบสถศีลนั้นควรเป็นอะไร

    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยราชสูตร ข้อ ๔๔๗ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ เมื่อจะแนะนำ พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ได้ตรัสคาถาในเวลานั้นว่า

    แม้นรชนใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ และอุโบสถปาฏิหาริยปักษ์เถิด

    อุโบสถปาฏิหาริยปักษ์ คือ อุโบสถที่รักษาติดต่อกันตลอดไตรมาส ๓ เดือน ภายในพรรษา เมื่อไม่สามารถรักษาได้ทั้งพรรษาคือตลอด ๓ เดือนนั้น จะรักษาตลอดเดือนหนึ่งหรือกึ่งเดือนหนึ่งก็ได้ เมื่อรักษาติดต่อกันก็เป็นปาฏิหาริยปักขอุโบสถ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็คาถานี้แล ท้าวสักกะจอมเทพขับผิด ไม่ถูก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท้าวสักกะจอมเทพยังไม่ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจที่ควร ทำแล้ว ปลงภาระลงแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว สิ้นเครื่องร้อยรัดในภพแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้โดยชอบ จึงควรที่จะกล่าวคาถาว่า

    แม้ผู้ใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ และอุโบสถปาฏิหาริยปักษ์เถิด

    ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ โมหะแล้ว

    แม้แต่พระอินทร์จอมเทพซึ่งรักษาอุโบสถศีล แต่เมื่อพระองค์แนะนำเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์โดยตรัสว่า แม้ผู้ใดพึงเป็นเช่นเรา ก็พึงเข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ แสดงให้เห็นว่า ไม่ถูกจุดประสงค์ เพราะจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถไม่ใช่เพื่อให้เป็นพระอินทร์ หรือให้ได้สมบัติในเทวโลก เพราะฉะนั้น ที่พระอินทร์กล่าวอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ท้าวสักกะจอมเทพตรัสผิด ไม่ถูก เพราะว่าจุดประสงค์ของการเป็นคนดีที่จะมีปกติศีล ๘ ได้อย่างพระอนาคามีนั้น เมื่อยังไม่สามารถ ก็รู้ว่าควรจะ มีบางวันหรือบางกาลที่จะสามารถรักษาอุโบสถศีลคือศีล ๘ ข้อ ซึ่งมากกว่าเพียง ๕ ข้อ เพื่ออบรมอุปนิสัยให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง แต่ไม่ใช่เพื่อได้สมบัติของเทพ หรือเป็นพระอินทร์

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็คาถานี้นั่นแล ท้าวสักกะจอมเทพขับผิด ไม่ถูก ภาษิตไว้ผิด ไม่ถูก ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท้าวสักกะจอมเทพยังเป็นผู้ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ เรากล่าวว่า ยังไม่พ้นจากทุกข์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เสร็จกิจที่ ต้องทำแล้ว จึงควรกล่าวคาถาว่า

    แม้ผู้ใดพึงเป็นเช่นเรา ผู้นั้นพึงเข้าจำอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ในดิถีที่ ๑๔ ที่ ๑๕ และที่ ๘ แห่งปักษ์ และถืออุโบสถปาฏิหาริยปักษ์เถิด

    ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้พ้นแล้วจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ เรากล่าวว่า พ้นไปจากทุกข์แล้ว

    การกระทำทุกอย่างต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผล มิฉะนั้นแล้วไม่ถึงการที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท ถ้ายังคงทำดีเพื่อหวังผล ไม่ใช่เพื่อขัดเกลากิเลสจนกระทั่งดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท

    สำหรับผู้ที่ไม่ได้รักษาอุโบสถตลอดไตรมาส ก็แล้วแต่เหตุการณ์ เพราะว่า บางท่านมีอัธยาศัยในการรักษาอุโบสถ แต่ไม่สามารถรักษาได้ เช่น นางอุตตราอุบาสิกา ซึ่งเป็นผู้ที่บรรลุถึงความเป็นพระสกทาคามีเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบ ในครั้งที่ ๒ นางเองก็รักษาอุโบสถเพียงครึ่งเดือนของปลายพรรษา ทั้งๆ ที่นางเป็นอุบาสิกาที่เป็นพระอริยบุคคล และมีความประสงค์จะให้ทานและฟังธรรม แต่ ท่านปุณณเศรษฐีบิดาของนาง ได้ให้ธิดาแก่บุตรราชคหเศรษฐีในวันเพ็ญเดือน ๘ ตั้งแต่นั้นมาอุตตราธิดาก็ไม่ได้เข้าไปหาภิกษุหรือภิกษุณีถวายทาน หรือฟังธรรมเลย

    เมื่อเวลาล่วงไป ๒ เดือนครึ่งจึงส่งข่าวให้บิดาทราบ เมื่อบิดาทราบก็ได้ส่ง ทรัพย์มาให้ ๑๕,๐๐๐ กหาปณะ ให้นางนำทรัพย์นั้นไปจ้างนางสิริมาหญิงงามเมือง มาปรนนิบัติสามีตลอดครึ่งเดือนนี้ และนางอุตตราก็ได้นิมนต์พระผู้มีพระภาค และพระภิกษุมารับภัตตาหารและแสดงธรรมจนถึงก่อนวันมหาปวารณา

    นางสิริมาเป็นผู้ที่ริษยานางอุตตรา เมื่อเห็นสามีมองและหัวเราะนางอุตตรา เพราะสามีคิดว่า นางอุตตรานี่โง่จริง ควรจะได้อยู่สบายๆ ก็ไปเข้าครัวทำการงาน ทำครัวเหน็ดเหนื่อย ไม่น่าดู จึงคิดว่าเป็นผู้หญิงที่โง่มากที่ทำอย่างนั้น แต่นางสิริมาเข้าใจผิด ทั้งๆ ที่ตนเองรับจ้างมาปรนนิบัติสามีแต่ก็เกิดความริษยา เอาเนยใสเดือดราดบนศีรษะของนางอุตตรา แต่ก็ไม่เป็นอันตรายกับนางอุตตรา เพราะว่านางอุตตรามีเมตตาจิตในขณะนั้น ทำให้นางสิริมาเห็นคุณของนางอุตตรา และได้อาศัย นางอุตตรานั้นเองจึงได้เกิดศรัทธาให้ทานและฟังธรรม เมื่อทั้งสองท่านสิ้นชีวิต นางอุตตราอุบาสิกาเกิดในภพดาวดึงส์ ส่วนนางสิริมานั้นเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี

    ถ้าเป็นเทวดาหรือนางฟ้า ๒ องค์และเจอกัน คงจะคิดถึงอดีตชาติว่า ช่างกระไรเลย ก่อนที่จะได้เป็นเทพธิดานางฟ้า ก็มีเรื่องในชาติก่อนที่แสนเป็นเรื่องประหลาด และแต่ละชีวิตก็ไปพบกันในที่ต่างๆ ได้ ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงอดีตชาติ ก็จะเห็นได้ว่า ต่างคนก็ต่างมีกรรมที่ทำให้เกิดในที่ต่างๆ กัน

    ขอกล่าวถึงอีกสูตรหนึ่ง แสดงให้เห็นผลของบุญตามขั้นของบุญนั้นๆ

    อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต เทวตาสูตร ข้อ ๒๒๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ในราตรีนี้เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาเป็นอันมาก มีผิวพรรณงดงาม ยังวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้ามาหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เรา แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะเราว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลาย เมื่อเป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ แต่ไม่กราบไหว้ ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานยังไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว

    ทุกคนกำลังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ และจะจากโลกนี้ไปสู่โลกต่างๆ ถ้าเป็นผล ของกุศลก็จะเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ แต่แม้กระนั้นถ้านึกถึงอดีตกรรมที่ได้กระทำ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เช่น ในชาตินี้ ก็จะเห็นกรรมที่เป็นกุศลที่ได้กระทำต่างๆ กัน ซึ่งให้ผลต่างๆ กัน ซึ่งเทวดาท่านหนึ่งได้กล่าวว่า เวลาที่บรรพชิตเข้ามายังเรือนของท่านเมื่อเป็นมนุษย์นั้น ท่านลุกรับแต่ไม่กราบไหว้ เพราะยังมีความกินแหนงใจ ทำให้มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง จึงทำให้เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวดาอีกพวกหนึ่งเป็นอันมากเข้ามาหาเราแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อ เป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ แต่ไม่ให้อาสนะ ข้าพระองค์เหล่านั้นมีการงานไม่สมบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตาม ในภายหลัง เข้าถึงหมู่เทวดาชั้นเลว

    ไม่ทราบมีใครเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า ก็พิจารณาตามไปว่า กุศลสูงสุดนั้น คืออย่างไร เมื่อได้มีโอกาสได้พบพระภิกษุ

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวดาอีกพวกหนึ่งเป็นอันมากเข้ามาหาเราแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อ เป็นมนุษย์อยู่ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ และให้อาสนะ แต่ไม่แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง ฯลฯ

    อีกพวกหนึ่งได้กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายเมื่อยังเป็นมนุษย์ในกาลก่อน ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ และแบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง แต่ไม่เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม ฯลฯ

    เพราะฉะนั้น ผลของกุศลก็เพิ่มขึ้นตามลำดับของกุศลกรรมนั้นๆ ด้วย

    เทวดาอีกพวกหนึ่งกราบทูลว่า

    ... ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง และเข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม แต่ไม่เงี่ยโสตลงสดับธรรม ฯลฯ

    ก็น่าเสียดาย มีโอกาสเข้าไปนั่งใกล้ และมีการแสดงธรรม แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังไม่เงี่ยโสตสดับธรรม คือ ไม่ตั้งใจจริงๆ ที่จะฟังให้เข้าใจ

    เทวดาอีกพวกหนึ่งกราบทูลว่า

    ... ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง และเงี่ยโสตลงสดับธรรม แต่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ ฯลฯ

    เทวดาอีกพวกหนึ่งกราบทูลว่า

    ... ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เงี่ยโสตลงฟังธรรม และฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ แต่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ฯลฯ

    หลายท่านอาจจะเป็นอย่างนี้ จำได้ว่า จิตมีกี่ดวง เจตสิกมีเท่าไร รูปมีเท่าไร กุศลกรรมมีเท่าไร ธรรมที่เป็นสังโยชน์มีเท่าไร ที่เป็นอาสวะมีเท่าไร จำได้หมดเลย แต่ไม่ได้พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ แสดงให้เห็นถึงกุศลของแต่ละคนที่ต่างกันจริงๆ แม้แต่ในขณะที่กำลังฟังพระธรรม

    เทวดาอีกพวกหนึ่งกราบทูลว่า

    ... ข้าพระองค์เหล่านั้นลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามสามารถ ตามกำลัง เข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังธรรม และพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ ทรงจำไว้ แต่หารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ ข้าพระองค์เหล่านั้น มีการงานไม่บริบูรณ์ มีความกินแหนงใจ มีความเดือดร้อนตามในภายหลัง เข้าถึง หมู่เทวดาชั้นเลว

    ก็ยังคงเป็นเทวดาที่ไม่ประณีต เพราะว่าแม้จะได้ฟังธรรม แต่ไม่ได้รู้อรรถรู้ธรรม และไม่ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

    การฟังพระธรรม จะเห็นได้ว่า ยิ่งฟังยิ่งเห็นประโยชน์ และรู้ว่าพระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ทุกคนเจริญกุศลธรรมจริงๆ ไม่ทรงให้บุคคลใดเกิดโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ และชี้แจงโทษของโลภะ โทสะ โมหะโดยละเอียด ชี้แจงประโยชน์ของกุศลธรรมโดยละเอียด แต่ใครจะประพฤติปฏิบัติตามได้ ต้องเป็นผู้ที่ พิจารณาแล้วเข้าใจ รู้ในอรรถ รู้ในธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจแล้วก็ยังไม่ปฏิบัติ เพราะอะไร ดูเป็นเรื่องที่น่าแปลก คือ ฟังแล้ว และเข้าใจด้วย แต่เวลาจะปฏิบัติ ปฏิบัติไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตา ซึ่งควรจะพิจารณาหาเหตุว่า เพราะอะไร ทำไมจึงไม่สามารถ ประพฤติปฏิบัติตามธรรมนั้นๆ ได้ แม้เพียงกุศลในขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นความสงบ ของจิต

    และทุกคนก็ถามลักษณะของโยนิโสมนสิการ ลักษณะของอโยนิโสมนสิการว่าเป็นอย่างไร

    ถ้ารู้จักแต่เรื่อง รู้จักแต่ชื่อ แต่ไม่เห็นตัวจริงของธรรม จะไม่รู้เลยว่า ขณะใดเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใดเป็นอโยนิโสมนสิการ ซึ่งไม่ยากเลย ถ้าสติเกิด

    ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือประเภทใดก็ตาม ขณะนั้นไม่ต้องไปถามใครว่า อโยนิโสมนสิการเป็นอย่างไร เพราะว่าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นเป็นอโยนิโสมนสิการ เพราะพิจารณาโดยไม่แยบคาย ไม่เห็นโทษ ของอกุศลในขณะนั้น จึงเป็นอกุศลในขณะนั้น

    และขณะใดก็ตามที่เกิดอกุศล และสติเกิด กุศลจิตเกิด ก็ไม่ต้องถาม ใครอีกเหมือนกันว่า โยนิโสมนสิการนั้นขณะไหน ก็คือขณะที่เป็นกุศล ขณะใด ที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นสภาพของโยนิโสมนสิการ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๗ ตอนที่ ๒๐๖๑ – ๒๐๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    8 เม.ย. 2565

    ซีดีแนะนำ