แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2043


    ครั้งที่ ๒๐๔๓


    สาระสำคัญ

    ปฏิสัมภิทามรรค พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงประกาศพระธรรม คือทรงแสดงธรรมละความวิปลาส

    ความวิจิตรของสภาพธรรมที่คิด


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๔


    สำหรับที่จะพิจารณาว่าโมหมูลจิตวิปลาสไหม ซึ่งโมหมูลจิตก็ดี โทสมูลจิตก็ดี ดูเหมือนว่าไม่เกี่ยวข้องกับความเห็นว่าเที่ยง หรือว่าสุข หรือว่า เป็นตัวตน หรือว่างาม แต่ความจริงขณะใดที่อกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นไปกับความเห็นอย่างนี้ แม้ขณะนั้นไม่ใช่ความเห็น เพราะถ้าเป็นความเห็นก็ต้องเป็น ทิฏฐิวิปลาส แต่ถ้าเป็นสัญญาวิปลาสและจิตตวิปลาส ก็ต้องหมายความถึงในขณะที่อกุศลจิตเกิด แม้เพียงโมหมูลจิตอุทธัจจสัมปยุตต์ ไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีอกุศลเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย นอกจาก อกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ และ สัพพจิตตสาธารณเจตสิกตามสมควร ซึ่งข้อความใน อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า

    อีกอย่างหนึ่ง เพราะสัญญาเป็นตัวนำ ท่านจึงกล่าวสัญญาวิปลาสด้วยบท ๔ แห่งทิฏฐิก่อน

    เนื่องจากสัญญาวิปลาสนั่นเอง ทิฏฐิ ความเห็น จึงวิปลาส แสดงให้เห็นว่า เพราะโมหะ เพราะอวิชชา จึงทำให้สัญญาวิปลาส ไม่สามารถเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้เกิดความเห็นผิดต่างๆ เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์

    บทว่า ขิตฺตจิตฺตา จิตกวัดแกว่ง เป็นจิตตวิปลาส

    นี่ก็ไม่ได้บอกจำนวนไว้เลย เมื่อไม่บอกจำนวนไว้ก็พิจารณาได้ว่า ควรได้แก่อกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง เพราะเมื่อเป็นอกุศลก็กวัดแกว่งทั้งนั้น แล้วแต่ว่าจะกวัดแกว่ง ไปในลักษณะใด

    บทว่า วิสญฺญิโน มีสัญญาผิด คือ ถึงโมหะปราศจากสัญญาปกติด้วยการ ถือวิปลาส ๓ ดุจในบทนี้ว่า สลบเพราะกำลังพิษ ถึงวิสัญญี

    นี่คือสภาพจิตของแต่ละคนในชีวิตประจำวัน ซึ่งน่าจะเปรียบเทียบ เวลาที่ อกุศลจิตเกิด ไม่รู้เลยว่าเป็นอกุศล ทุกคนตื่นเช้ามา อกุศลเกิดขึ้นในระหว่างนี้ก็ได้ แต่อกุศลไม่สามารถรู้อกุศล เวลาที่โลภะเกิด โลภะไม่สามารถรู้ว่า เป็นโลภะ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น ขณะใดที่วิปลาสหรืออกุศลจิตเกิดขึ้น ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า

    บทว่า วิสญฺญิโน มีสัญญาผิด นี้เป็นเพียงเทศนา

    เพราะใช้ข้อความว่า ดุจสลบเพราะกำลังพิษ ถึงวิสัญญี

    ทุกคนอกุศลมากมายเหลือเกิน จึงเป็นผู้ที่สลบไสลด้วยความมัวเมา ด้วยกำลังพิษของอกุศลทั้งหลาย ให้นึกถึงภาพที่อกุศลจิตเกิดมากในวันหนึ่ง ตั้งแต่เช้าถึงเดี๋ยวนี้สลบไสลไปมากแค่ไหน ไม่ได้ฟื้นคืนสติที่จะเกิดเป็นกุศลขึ้น ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นถ้าไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่เป็นไปในการระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏที่จะรู้ว่าเป็นเพียงสภาพนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นที่กุศลจิตเกิดก็เหมือนคนที่เพิ่งเริ่มจะฟื้น แต่ยังไม่ใช่ ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะที่จะสามารถเห็นสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านให้นึกถึงตัวเอง ดูเหมือนเป็นผู้ที่สนุกสนาน รื่นเริง เมื่อเห็นแล้วก็คิดวิจิตรต่างๆ สารพัด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ให้ทราบว่า ขณะเหล่านั้นทั้งหมดที่เป็นอกุศล ดุจผู้ที่สลบเพราะพิษของกิเลส เมื่อกุศลเกิดขึ้นขณะหนึ่งก็เริ่มที่จะฟื้น คิดดูก็แล้วกันว่า เมื่อไรจะฟื้นเต็มที่ มีกำลังที่สามารถเห็นสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงได้

    ข้อความใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มีว่า

    พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงประกาศพระธรรม คือ ทรงแสดงธรรมละความวิปลาส ผู้มีปัญญาฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นกลับได้ความคิด คือ เว้นความวิปลาส ได้เห็นสภาพไม่เที่ยงโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง เห็นสภาพที่ มิใช่ตัวตนโดยความเป็นสภาพมิใช่ตัวตน เป็นผู้ถือมั่นสัมมาทิฏฐิ คือ ถือความเห็นชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิเพราะละมิจฉาทิฏฐิทั่วแล้ว เป็นพระโสดาบัน

    แต่แม้กระนั้นสัญญาและจิตก็ยังวิปลาส ในขณะที่เห็นสภาพธรรมว่างาม และเห็นสภาพธรรมว่าเป็นสุข เพราะว่าผู้ที่จะละการเห็นสภาพธรรมว่างามต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล และผู้ที่ละการเห็นสภาพธรรมว่าเป็นสุขต้องเป็นพระอรหันต์ นี่แสดงถึงความละเอียดจริงๆ และให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ขณะใดที่ กุศลจิตเกิดบ้างในวันหนึ่งๆ คือ ขณะที่เพิ่งเริ่มจะฟื้น คือ เพิ่งเริ่มรู้สึกตัว เพื่อที่จะได้อบรมเจริญกุศลให้ถึงการเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงโดยละวิปลาสตามลำดับ คือ ละทิฏฐิวิปลาสก่อน จากนั้นละจิตตวิปลาสกับสัญญาวิปลาสที่เห็นว่างามในสิ่งที่ ไม่งามเมื่อเป็นพระอนาคามีบุคคล และละวิปลาสที่เห็นสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ว่า เป็นสุข เมื่อเป็นพระอรหันต์

    ฟังดูเหมือนไม่ยากที่จะละ สำหรับท่านที่ได้อบรมเจริญเหตุมาพอที่จะละได้ แต่ถ้านึกถึงท่านซึ่งยังไม่ได้เจริญเหตุพอที่จะให้ปัญญารู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรม ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และไม่งาม ก็จะเห็นได้ว่า ยังห่างไกลอีกมากทีเดียว เพราะวันหนึ่งๆ เป็นผู้สลบ และรู้สึกตัวฟื้นขึ้นบ้างชั่วขณะที่เป็นกุศลเล็กๆ น้อยๆ และสลบต่อไปอีก เป็นอย่างนี้ทุกวันในสังสารวัฏฏ์ จนกว่ากุศลจะเจริญและอบรมเจริญปัญญาจนสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    เพราะฉะนั้น แต่ละท่านเป็นผู้ที่พิจารณาตนเองจริงๆ เพื่อจะได้รู้ว่า ความคิดของท่านเป็นไปในการอบรมเจริญกุศลขั้นไหน ระดับใด เพราะสำหรับผู้ที่ไม่มีการฟังพระธรรม และไม่มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งแม้แต่เพียงความคิดที่ว่าจะเจริญกุศล ซึ่งบางคนไม่มีเลย ไม่มีการฟังธรรม มีแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน สลบตลอดเวลา และกุศลอาจจะมีเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ แต่สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมจาก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ และมีการพิจารณา มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็มีความคิดที่จะเจริญกุศล

    ถ้าตั้งแต่เกิดมาจนเดี๋ยวนี้ ไม่ได้คิดเรื่องเจริญกุศลเท่าที่จะเจริญได้เป็นบารมี ก็ให้ทราบว่า เพราะไม่มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งแม้เพียงความคิด ยังไม่ได้ทำ เพียงแต่จะคิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ว่าจะเจริญกุศล เช่น จะสงเคราะห์คนอื่น บางท่านก็อาจจะ ไม่คิดเลย หรืออาจมีความเห็นผิดว่า สงเคราะห์คนอื่นทำไมให้เหนื่อยยาก อาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของจิตที่สะสมมาในแต่ละวัน หรือบางท่านก็ยังไม่เคยคิดที่จะอภัย แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมอยู่นั่นเอง แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ที่จะต้องปรุงแต่งต่อไป ที่จะดัดจิตและปรับจิตให้ตรงต่อการที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น คือ เริ่มคิด แม้อภัย ไม่หมั่นไส้คนอื่น

    ความคิดมีหรือยัง ถ้ายังไม่แม้แต่จะคิด ก็แสดงให้เห็นว่า เพียงแต่จะคิดก็ยัง ไม่มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้เพียงคิด แล้วเรื่องการเจริญกุศลจริงๆ จะยาก สักแค่ไหน หรือบางท่านก็ยังไม่คิดที่จะลดคลายมานะ ความสำคัญตน นี่ก็แสดง ให้เห็นอีกว่า เพราะอะไร ทำไมบางคนคิด บางคนทำ แต่บางคนไม่คิดและไม่ทำ ก็เพราะว่าบุคคลที่ไม่คิด แม้เพียงจะคิดก็ไม่คิด ไม่มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้เกิดคิดที่จะเห็นโทษของมานะและลดคลายมานะ หรือบางคนก็เจริญกุศลด้านอื่น แต่ยังไม่มีสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้คิดที่จะอบรมเจริญปัญญา

    แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของจิตซึ่งละเอียดมาก เพราะว่าทางตาก็เห็นทุกชาติ แต่ทันทีที่เห็น สลบ เป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ใช้คำว่า หมกมุ่น มัวเมา เพลิดเพลิน ติดข้องในเรื่องต่างๆ ทางตา ในวิชาการต่างๆ หรือในบุคคล ต่างๆ ด้วยความรู้สึกต่างๆ แม้ว่าไม่ใช่วิชาการต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความวิจิตร ของสภาพธรรมที่คิดหลังจากที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร จะพ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้ ในภูมิที่ เป็นกามาวจรภูมิ คือ ภูมิที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะว่า ไม่ได้อบรมจิตจนกระทั่งเกิดความสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิซึ่งเป็น ฌานจิต เป็นจิตอีกระดับขั้นหนึ่งหรืออีกภูมิหนึ่งซึ่งไม่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ไม่ว่าจะเป็นวิชาการใดๆ ที่จะพ้นจากทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์แขนงใด ก็ตาม ทุกอย่างจะไม่พ้นจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ในสังสารวัฏฏ์ สลบแล้วสลบอีก ไม่มีการที่จะ ฟื้นขึ้นมาจริงๆ เพียงแต่เพิ่งเริ่มจะรู้สึกตัวบ้าง

    ต้องเป็นผู้ที่รู้ตนเองว่า มากมายด้วยอกุศล และการที่จะละคลาย การที่จะดับต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ และไม่ใช่เพียงคิด คิดแล้วไม่ทำก็มีหลายคน ซึ่งเป็นเรื่องกำลังของกุศลที่ยังไม่พอให้เป็นผู้ที่ตรงและเป็นสัจจะ คือ คิดอย่างไร ทำอย่างนั้น ตรงทั้งกายทั้งวาจาต่อความคิดที่เป็นกุศล ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ต้องอาศัยสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งต่อไปอีกที่จะทำให้ไม่เพียงเพิ่งจะคิด แต่ไม่ทำ เพราะฉะนั้น จากคิด ก็ยังต้องอบรมสะสมบารมีด้วยการกระทำจริงต่อกุศลธรรมนั้นๆ ด้วย จนกว่าจะเป็นกุศลที่มีกำลังขึ้น เพราะฉะนั้น บารมีจึงมีมาก กว่าจะเป็นผู้ที่มั่นคงใน บารมีทั้งหลายได้จริงๆ

    ถ. อาจารย์กล่าวเน้นถึงทวารเข้ามากมาย ซึ่งผลจากทวารเข้าคือทวารออก อาจารย์ไม่ได้กล่าวถึงเลย ผลคือปัญญาจะจำกัดทวารออก คือ กายทวาร วจีทวาร มโนทวาร

    สุ. ก็เหมือนกัน เพราะถ้ามีอกุศลจิตเกิดขึ้นทางใจ จะไม่หยุดอยู่เพียงแค่ทางใจ ก็ต้องมีการกระทำและคำพูดตามจิตประเภทนั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น อกุศลเป็นวิปลาสแน่ๆ และยิ่งเทียบกับวิสัญญีคือสลบไปเพราะพิษของอกุศลจะเห็นชัดว่า กว่าจะค่อยๆ ฟื้นขึ้นได้ทีละเล็กทีละน้อยในวันหนึ่งๆ แต่ไม่ใช่ฟื้นขึ้นจริงๆ เพียง ค่อยๆ จะรู้สึกตัว เพราะถ้าฟื้นก็เป็นผู้ที่สามารถเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น ต้องอบรมอีกมากทีเดียว

    ถ. คำว่า ฟื้นขึ้นนี่ ก็ฟื้นขึ้นเป็นบางขณะ คงไม่ฟื้นขึ้นโดยตลอด

    สุ. ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด

    ถ. หรือในขณะที่เป็นกุศล

    สุ. ในขณะที่เป็นกุศลน่าจะใช้คำว่า กำลังจะฟื้น นี่ก็เป็นสภาวะที่ต่างกัน ของคนสลบกับคนที่กำลังจะฟื้นแล้ว เพราะว่ากำลังจะฟื้นเป็นกุศลที่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีลได้ นี่เป็นเพียงคำอุปมาที่สอดคล้องกับพยัญชนะที่ว่า เหมือนคนสลบ วิสัญญี

    ผู้ฟัง เรื่องวิปลาสพูดกันมายาว ทั้งในเทปที่กำลังออกอากาศอยู่ สรุปได้ว่า เทปที่อาจารย์ออกไว้เดิมคงจะถูกต้องแล้ว ไม่คลาดเคลื่อน ประกอบกับที่ท่านอาจารย์ สมพรได้ค้นคว้าเทียบเคียงตัวพระบาลีเอง ข้อความก็ไม่มีอะไรเพิ่มเติมขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่า อกุศลจิตทั้ง ๑๒ ต้องวิปลาสแน่

    สุ. ถ้าเห็นว่าอกุศลจิตทั้ง ๑๒ วิปลาส โทสมูลจิตก็แสนที่จะวิปลาส มากทีเดียวถึงระดับขั้นที่แสดงกิริยาอาการต่างๆ ที่วิปลาส แม้น้อยลงไปกว่านั้นอีกจนถึงเพียงโมหมูลจิต ซึ่งไม่ได้มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ได้มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพียงโมหมูลจิต พระอรหันต์ก็เห็นว่าเป็นทุกข์ มิฉะนั้นแล้วจะไม่เห็นเลยและจะไม่มี การดับอกุศลนั้นด้วย เพราะว่าโทสะก็ดับหมดแล้ว โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ก็ดับหมดแล้ว เหลือเพียงโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ที่ไม่ใช่ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งก็ยังเป็นวิปลาสที่เหลืออยู่

    ถ้ารู้จักตัวเองจากการฟังพระธรรม และเห็นภัยของอกุศลซึ่งไม่ได้นำอะไรมา ให้เลยนอกจากความสลบไปเพราะพิษของกิเลสต่างๆ เท่านั้น แล้วเมื่อไรจะฟื้นขึ้นมาสักที ซึ่งก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานมากในการอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่ง รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ความยาวนานของการสะสมอบรมปัญญา จะเห็นได้ในชาดกต่างๆ ในข้อความต่างๆ ในพระไตรปิฎก จากการฟังพระธรรมและการพิจารณาข้อความ ที่เป็นสุภาษิตต่างๆ

    ถ. มีปัญหาที่สนทนาค้างไว้อยู่ ๒ – ๓ อาทิตย์ เกี่ยวกับเรื่องของบัญญัติ ซึ่งเป็นสภาพของความคิดนึกที่เป็นปัจจัยให้ไม่เข้าใจและเกิดความวิปลาส

    ในหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปขยายความบัญญัติไว้หมวดใหญ่ๆ มี ๒ นัย คือ คณบัญญัติ กับสัททบัญญัติ เมื่ออาศัยข้อความในอภิธัมมัตถสังคหะก็เห็นแต่ข้อความ ๒ อย่าง คือ อรรถบัญญัติกับนามบัญญัติ ขอให้อาจารย์อธิบายความแตกต่างกันระหว่างบัญญัติที่กล่าวมานี้

    สุ. ถ้าจะเข้าใจง่ายๆ สำหรับทุกคนก็คือว่า ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ แล้วแต่ว่าจะเป็นความหมายของสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือจะเป็นความหมายของเสียงที่ปรากฏทางหู หรือการรวมกันเป็นกลุ่มก้อนของอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และจะไม่ผิดเลย เพราะว่าปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรม ๔ เป็นอารมณ์ ขณะนั้นไม่ว่าจะเป็นบัญญัติประเภทใดก็ตาม ขณะนั้นเป็นบัญญัติอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะว่าไม่ได้มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

    ถ. มีคนบอกว่า อยู่เฉยๆ เป็นอกุศล หมายความว่าอย่างไร

    สุ. ขณะใดที่ไม่ใช่กุศลจิต ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นการอบรมเจริญความสงบของจิต ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็น วิปัสสนาภาวนา ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล ถ้าไม่กล่าวถึงวิบากจิตและกิริยาจิต

    ถ. ไม่เจริญภาวนา

    สุ. ขณะใดที่จิตไม่สงบจากอกุศลโดยระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วสงบขึ้น หรือว่าแล้วรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ. ถ้าสงบก็ไม่เป็นวิปลาส วิปลาสคืออะไร

    สุ. กุศลจิตเกิดขณะใด ขณะนั้นไม่เป็นวิปลาส วิปลาสคืออะไร วิปลาส ได้แก่ สัญญาเจตสิก และจิต และทิฏฐิ ๓ อย่าง

    ถ. ที่คลาดเคลื่อน

    สุ. ที่คลาดเคลื่อน จำคลาดเคลื่อน คิดคลาดเคลื่อน มีความเห็นคลาดเคลื่อนในลักษณะของสภาพธรรม คือ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงชื่อว่าคลาดเคลื่อน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๕ ตอนที่ ๒๐๔๑ – ๒๐๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    9 มี.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ