แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2062


    ครั้งที่ ๒๐๖๒


    สาระสำคัญ

    ชราสุตตนิทเทสที่ ๖ - ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งมวล เป็นธรรมประกอบกันเสมอด้วยจิตดวงเดียว

    ชีวิตน้อย มีความหมาย ๒ อย่าง


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๔


    ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวรรค ชราสุตตนิทเทสที่ ๖ มีข้อความว่า

    ชีวิต อัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งมวล เป็นธรรมประกอบกันเสมอด้วยจิตดวงเดียว

    ที่คิดว่าทุกข์มาก เพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง แต่ละคนจะมีจิต ๒ ขณะ ๓ ขณะ ไม่ได้เลย ทุกข์ใหญ่หลวงสักเท่าไร โทมนัสอย่างไรๆ ก็ตาม ให้ทราบว่า เพียง ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ขณะย่อมเป็นไปพลัน เทวดาเหล่าใดย่อมตั้งอยู่ตลอด ๘๔,๐๐๐ กัป แม้เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่เป็นผู้ประกอบด้วยจิต ๒ ดวงเป็นอยู่เลย ขันธ์เหล่าใดของสัตว์ ที่ตาย หรือของสัตว์ที่ดำรงอยู่ในโลกนี้ดับแล้ว ขันธ์เหล่านั้นทั้งปวงเทียว เป็นเช่นเดียวกันดับไปแล้ว มิได้สืบเนื่องกัน

    คือ เมื่อสิ้นชีวิตจากชาตินี้แล้ว จะเป็นคนนั้นอีกต่อไปไม่ได้เลย ไม่มีทางที่จะเป็นคนนั้นอีกได้เลย ถ้าศึกษาจากพระชาติต่างๆ ของพระผู้มีพระภาค จะเห็นได้ว่า แต่ละพระชาติก็คือการปรุงแต่งของจิตเจตสิก ซึ่งจะไม่กลับไปเป็นบุคคลนั้นอีกเพราะฉะนั้น ในชาติก่อนๆ ท่านผู้ฟังจะเคยเป็นใครอยู่ที่ไหน แม้เพียงชาติก่อนชาตินี้ ก็สิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง และชาตินี้ก็กำลังใกล้ต่อการสิ้นสภาพของความเป็นบุคคลนี้ และจะไม่กลับเป็นบุคคลนี้อีก

    แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้สืบเนื่องต่อไปที่จะเป็นบุคคลนั้นในชาติต่อไป

    ขันธ์เหล่าใดแตกไปแล้วในอดีตเป็นลำดับ และขันธ์เหล่าใดแตกไปแล้ว ในอนาคตเป็นลำดับ ความแปลกกันแห่งขันธ์ทั้งหลายที่ดับไปในปัจจุบันกับ ขันธ์เหล่านั้น มิได้มีในลักษณะ

    คือ ไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าเป็นขันธ์ในชาติหนึ่งชาติใดในแสนโกฏิกัปป์ หรือ ในปัจจุบันชาติ หรือในชาติต่อไปข้างหน้า ขันธ์ทุกขันธ์เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ไม่มีขันธ์ใดที่เกิดขึ้นมาแล้วจะพ้นจากลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

    สัตว์ไม่เกิดด้วยอนาคตขันธ์ ย่อมเป็นอยู่ด้วยปัจจุบันขันธ์ สัตว์โลกตายแล้วเพราะความแตกแห่งจิต นี้เป็นบัญญัติทางปรมัตถ์

    ขันธ์ทั้งหลายแปรไปโดยฉันทะ ย่อมเป็นไปดุจน้ำไหลไปตามที่ลุ่มฉะนั้น ย่อมเป็นไปตามวาระอันไม่ขาดสาย เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัย

    เหมือนกระแสน้ำไหม ที่ไหลไปเรื่อยๆ ไม่มีการหยุดชะงักเลย จิตเกิดดับสืบต่อ เดี๋ยวก็เป็นภวังค์ เดี๋ยวก็เป็นวิถีจิตวาระต่างๆ แล้วก็เป็นภวังค์ และก็เป็นวิถีจิต วาระต่างๆ ย่อมเป็นไปตามวาระอันไม่ขาดสาย เพราะอายตนะ ๖ เป็นปัจจัย

    ขันธ์ทั้งหลายแตกแล้ว ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ กองขันธ์มิได้มีในอนาคต ขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้วนั่นแล ย่อมตั้งอยู่เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ก็ความแตกแห่งธรรมขันธ์ทั้งหลายที่เกิดแล้ว สกัดอยู่ข้างหน้าแห่งสัตว์เหล่านั้น ขันธ์ทั้งหลายมีความทำลายเป็นธรรมดา มิได้เจือปนกับขันธ์ที่เกิดก่อนตั้งอยู่ ขันธ์ทั้งหลายมาโดยไม่ปรากฏ แตกแล้วไปสู่ที่ไปไม่ปรากฏ ย่อมเกิดขึ้นและเสื่อมไปเหมือนสายฟ้าแลบในอากาศ ชีวิตน้อยเพราะตั้งอยู่อย่างนี้

    เพราะเหตุว่าที่ใช้คำว่า ชีวิตน้อย คือ ชีวิตสั้นเล็กน้อย โดยเหตุ ๒ ประการ คือ ชีวิตน้อยเพราะตั้งอยู่น้อย ๑ ชีวิตน้อยเพราะมีกิจน้อย ๑

    ชีวิตน้อยเพราะมีกิจน้อย

    ก็เกิดมาเพียงชั่วขณะเดียว จะให้ทำกิจอะไรกันหนักหนา ใช่ไหม จิตขณะหนึ่งก็ทำกิจได้เฉพาะกิจของจิตนั้นๆ เท่านั้น จะก้าวก่ายไปทำกิจอื่นไม่ได้เลย อย่างจิตเห็นก็กระทำกิจเห็น จะคิดนึกด้วยไม่ได้ จิตได้ยินก็ทำกิจเพียงได้ยิน คิดนึกด้วยไม่ได้ จิตคิดนึกก็เห็นไม่ได้ เพราะว่าเพียงคิดชั่วขณะและดับไป

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ชีวิตน้อยเพราะมีกิจน้อยอย่างไร ชีวิตเนื่องด้วยลมหายใจเข้า เนื่องด้วย ลมหายใจออก เนื่องด้วยลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เนื่องด้วยมหาภูตรูป เนื่องด้วยไออุ่น เนื่องด้วยกวฬิงการาหาร เนื่องด้วยวิญญาณ

    บอบบางเหลือเกิน ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้ชีวิตดำรงอยู่ ขณะนี้ทุกคนนั่งอยู่รู้สึกว่า ร่างกายก็ครบถ้วนสมบูรณ์ดี แต่ชั่วขณะเดียวเท่านั้นอาจจะ หมดสิ้น หรืออาจจะเสียส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายก็ได้ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่จะทำให้ชีวิตดำรงอยู่มีทั้งลมหายใจ ไออุ่น กวฬิงการาหาร และวิญญาณ

    กรัชกายอันเป็นที่ตั้งแห่งลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเหล่านี้ก็ดี อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน และภพ อันเป็นเหตุเดิมแห่งลมหายใจเข้าและ ลมหายใจออกก็ดี ปัจจัยทั้งหลายก็ดี ตัณหาอันเป็นแดนเกิดก่อนก็ดี รูปธรรมและอรูปธรรมที่เกิดร่วมกันก็ดี อรูปธรรมที่ประกอบกันก็ดี ขันธ์ที่เกิดร่วมกันแห่ง ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเหล่านี้ก็ดี ตัณหาอันประกอบกันก็ดี ก็มีกำลังทราม

    แสดงว่า มีกำลังอ่อน ทุกอย่างพร้อมที่จะเสื่อมหรือแตกทำลาย

    ธรรมเหล่านั้นมีกำลังทรามเป็นนิตย์ต่อกันและกัน

    ไม่ได้รับประทานอาหารหลายๆ วันเป็นอย่างไร หรืออากาศไม่ดี หายใจ ไม่สะดวกหลายๆ วันเป็นอย่างไร แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังมีปัจจัยที่ทำให้ชีวิตดำรงไปด้วยดี ตราบนั้นก็ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพธรรมทั้งหลายต้องอาศัย ปัจจัยแต่ละอย่างดำรงอยู่

    ธรรมเหล่านั้นมีกำลังทรามเป็นนิตย์ต่อกันและกัน มิได้ตั้งมั่นต่อกันและกัน ย่อมยังกันและกันให้ตกไป เพราะความต้านทานมิได้มีแก่กันและกัน

    จะช่วยกันพยุงไว้ว่า จิตอย่าดับ เจตสิกอย่าดับ รูปอย่าดับ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่างจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

    ธรรมเหล่านี้จึงไม่ดำรงกันและกันไว้ได้ ธรรมใดให้ธรรมเหล่านี้เกิดแล้ว ธรรมนั้นมิได้มี ก็แต่ธรรมอย่างหนึ่งมิได้เสื่อมไปเพราะธรรมอย่างหนึ่ง ก็ขันธ์เหล่านี้แตกไปเสื่อมไปโดยอาการทั้งปวง ขันธ์เหล่านี้อันเหตุปัจจัยมีในก่อนให้เกิดแล้ว แม้เหตุปัจจัยอันเกิดก่อนเหล่าใด แม้เหตุปัจจัยเหล่านั้นก็ดับแล้วในก่อน ขันธ์ที่เกิดก่อนก็ดี ขันธ์ที่เกิดภายหลังก็ดี มิได้เห็นกันและกันในกาลไหนๆ ฉะนั้นชีวิตจึงชื่อว่าเป็นของน้อย เพราะมีกิจน้อยอย่างนี้

    จักขุวิญญาณเมื่อกี้ไม่เห็นจักขุวิญญาณขณะนี้เลย จิตแต่ละขณะที่ดับไป ก็ไม่เจอกัน ไม่เห็นกันทั้งนั้น ล้วนแต่เกิดขึ้นทำกิจและดับไป เกิดขึ้นทำกิจของตนๆ และดับไป

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อายุของพวกมนุษย์นี้น้อย จำต้องละไปสู่ปรโลก มนุษย์ทั้งหลายจำต้องประสบความตายตามที่รู้กันอยู่แล้ว ควรทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ ไม่มีมนุษย์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตาย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดอยู่นาน ผู้นั้นก็เป็นอยู่ได้เพียง ๑๐๐ ปี หรือที่เกินกว่า ๑๐๐ ปี ก็มีน้อย

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    อายุของพวกมนุษย์น้อย บุรุษผู้ใคร่ความดีพึงไม่ประมาทอายุที่น้อยนี้ พึงรีบประพฤติให้เหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะฉะนั้น เพราะความตายจะไม่มาถึงมิได้มี วันคืนย่อมล่วงเลยไป ชีวิตก็กระชั้นเข้าไปสู่ความตาย อายุของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมสิ้นไป เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยย่อมสิ้นไปฉะนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ชีวิตนี้น้อยหนอ

    ข้อความต่อไป

    ข้อ ๑๘๕

    คำว่า มนุษย์ผู้นั้นย่อมตายเพราะชราโดยแท้แล มีความว่า เมื่อใดมนุษย์ เป็นคนแก่ เจริญวัย เป็นผู้ใหญ่โดยกำเนิด ล่วงกาลผ่านวัย มีฟันหัก ผมหงอก ผมบาง ศีรษะล้าน หนังย่น ตัวตกกระ คด ค่อม ถือไม้เท้าไปข้างหน้า เมื่อนั้นมนุษย์นั้นย่อมเคลื่อน ตาย หาย สลายไป เพราะชรา การพ้นจากความตายไม่มี สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

    สัตว์ที่เกิดมามีภัยโดยความตายเป็นนิตย์ เหมือนผลไม้ที่สุกแล้วมีภัย โดยการหล่นในเวลาเช้าฉะนั้น ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิดมีความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นฉันนั้น มนุษย์ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โง่ และฉลาด ทั้งหมดย่อมไปสู่อำนาจมัจจุ มีมัจจุสกัดอยู่ข้างหน้า เมื่อมนุษย์เหล่านั้นถูกมัจจุสกัดข้างหน้าแล้ว ถูกมัจจุครอบงำ บิดาก็ต้านทานบุตรไว้ไม่ได้ หรือพวกญาติก็ต้านทานญาติไว้ไม่ได้ เมื่อพวกญาติกำลังแลดูกันอยู่นั่นแหละ กำลังรำพันกันอยู่เป็นอันมากว่า ท่านจงดู ตนคนเดียวเท่านั้นแห่งสัตว์ทั้งหลายอันมรณะนำไปได้ เหมือนโคถูกนำไป ฆ่าฉะนั้น สัตว์โลกอันมัจจุและชราครอบงำไว้อย่างนี้ ...

    พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ชีวิตนี้มีน้อยหนอ มนุษย์ย่อมตายภายใน ๑๐๐ ปี แม้หากว่ามนุษย์ใด ย่อมเป็นอยู่เกินไป มนุษย์ผู้นั้นย่อมตายเพราะชราโดยแท้แล

    ข้อ ๑๘๖

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ชนทั้งหลายย่อมเศร้าโศกในเพราะวัตถุเป็นที่ถือว่าของเรา ความยึดถือทั้งหลาย เป็นของเที่ยงมิได้มีเลย การยึดถือนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุดทีเดียว กุลบุตร เห็นดังนี้แล้ว ไม่ควรอยู่ครองเรือน

    ยากแสนยากต่อการสละเพศคฤหัสถ์ไปสู่เพศบรรพชิต ซึ่งความจริงแล้ว ก็เป็นเพียงการค่อยๆ ห่างออกจากกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยปัญญาและสติปัฏฐาน เพราะถึงแม้จะออกจากเรือนไปสู่เพศบรรพชิต แต่ถ้า ไม่อบรมเจริญปัญญา ก็ไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าไม่สามารถออกจากกาม คือ การติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ได้อย่างแท้จริง

    เพราะฉะนั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะออกจากบ้านไปสู่เพศบรรพชิต ต้องเป็นผู้ที่ มีอัธยาศัยมุ่งตรงต่อพระวินัย เพราะว่าการเป็นบรรพชิตนั้นไม่ใช่ด้วยเพียง การอุปสมบท แต่ต้องเป็นผู้มีจิตมุ่งตรงที่จะรักษาพระวินัยบัญญัติ คือ ข้อควรประพฤติปฏิบัติของบรรพชิต

    ถ. ปาติโมกขสังวรศีล กับอินทริยสังวรศีล หมายความว่าอย่างไร

    สุ. ปาติโมกขสังวรศีลเป็นเรื่องบทบัญญัติตามพระวินัย ซึ่งพระภิกษุต้องรักษา

    ถ. เป็นพระวินัยบัญญัติของพระภิกษุหรือ

    สุ. พระภิกษุมีบทบัญญัติตามพระวินัยที่ท่านจะต้องศึกษา ในเรื่อง ที่อยู่อาศัย ในเรื่องปัจจัยความเป็นอยู่ที่ท่านจะต้องประพฤติปฏิบัติตาม แต่สำหรับ อินทริยสังวรศีลนั้น ไม่ใช่เฉพาะภิกษุ ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความเข้าใจเรื่องสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะของธรรมตามความเป็นจริง ถ้าสติไม่มีการระลึกที่จะรู้ในขณะที่กำลังเห็น และพิจารณาให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ. เวลาเจ็บป่วยขึ้นมาก็มีความปรารถนาที่จะให้หายเจ็บป่วย เป็น อกุศลจิตใช่หรือเปล่า

    สุ. ถูกต้อง

    ถ. ถ้าอย่างนั้นพระอรหันต์เวลาเจ็บป่วย พระอรหันต์มีความปรารถนา จะหายเจ็บป่วยด้วยหรือเปล่า

    สุ. ไม่มีโลภะ เมื่อไม่มีโลภะจะมีความปรารถนาไม่ได้ ไม่ต้องมีความปรารถนาเลย

    ถ. พระอรหันต์รู้สึกว่า เจ็บก็ช่างมัน ป่วยก็ช่างมัน ไม่เป็นไรอย่างนั้นหรือ

    สุ. พยายามจะให้พระอรหันต์เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วพระอรหันต์ ก็คือผู้ที่มีขันธ์ ๕ ซึ่งยังจะต้องดำรงชีวิตตราบใดที่ยังไม่จุติ คือ ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ก็มีการเห็น แต่ไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหวไปด้วยโลภะ โทสะ และอกุศลทั้งหลาย

    พระอรหันต์มีการได้ยิน ไม่เดือดร้อน พระอรหันต์มีการเจ็บป่วย ไม่เดือดร้อน แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ทนไม่ได้ เดือดร้อน เพราะฉะนั้น ก็มีโทมนัส ความรู้สึกที่เดือดร้อน และมีความต้องการที่จะรักษาโรคนั้นๆ พระอรหันต์ท่านก็รักษาโรค แต่ท่านไม่มีความติดข้องซึ่งเป็นโลภะที่จะยึดถือนามธรรมและรูปธรรม

    ถ. ถ้าคนธรรมดาเจ็บป่วย ก็มีความปรารถนาจะรักษาให้หาย และเขาก็ ไม่เดือดร้อน

    สุ. เขามีปัญญาที่จะรู้ไหมว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวเขา

    ถ. อาจจะมีบางคนที่มีสติ …

    สุ. เขาสามารถที่จะรู้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ

    ถ. บางคนรู้

    สุ. ถ้ารู้จะเดือดร้อนไหม

    ถ. ไม่เดือดร้อน

    สุ. ถ้าไม่เดือดร้อนขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศล เพราะแต่ละท่านจะพ้นจากความเจ็บป่วยไม่ได้ แต่ให้สังเกตว่า ถ้าปราศจากปัญญาขณะใด ขณะนั้นจะต้องเป็นอกุศล แต่ถ้ามีการระลึกได้แม้ในขณะที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และสามารถพิจารณา รู้ลักษณะสภาพความรู้สึกที่เป็นทุกขเวทนา รู้ชัดว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ขณะนั้นเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เป็นปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตนเลยในขณะนั้น

    สำหรับผู้อบรมเจริญปัญญา และสำหรับผู้ที่รู้แล้ว ดับกิเลสแล้ว จาก พระโสดาบันไปสู่ความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ปัญญาของท่านจะมากสัก เพียงไหนที่จะรู้สภาพธรรมทุกอย่างตามปกติโดยที่ไม่หวั่นไหวเลย เพราะว่าไม่เหลืออกุศลที่จะทำให้หวั่นไหวไปได้ แม้แต่คนธรรมดาที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็ยังเป็นกุศลขณะที่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

    ถ. ทุกข์ทางกายเป็นวิบากจิต ทุกข์ทางใจเกิดกับอกุศลจิต ทุกข์ทางกายเป็นผลของอกุศลกรรมที่ทำมาแล้วในอดีต แต่ทุกข์ทางใจไม่ใช่ผลของกรรมที่ทำมาแล้วในอดีต

    สุ. ไม่ใช่วิบากจิต เป็นอกุศลจิต เป็นโทสมูลจิต เพราะว่าเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา ซึ่งโทมนัสเวทนาเป็นชาติเดียว คือ ชาติอกุศล

    ถ. ชาติอกุศล ก็ไม่ใช่ชาติวิบาก

    สุ. ถูกต้อง

    ถ. การทำบาปให้ผลเป็นทุกข์ เฉพาะทุกข์ทางกาย ไม่ใช่ทุกข์ทางใจ

    สุ. พระอรหันต์ได้ทำอดีตอกุศลกรรมมาแล้ว และตราบใดที่ยังไม่เป็น พระอรหันต์ก็ยังมีอกุศลจิต ถ้าเป็นพระอนาคามีบุคคลก็ไม่มีโทสะมูลจิตเลย แต่เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว หมดทั้งโลภะและอกุศลอื่นๆ ด้วย

    ถ. คนธรรมดาทั่วๆ ไป ถ้าทำบาปก็มีผลเป็นทุกข์ แต่เป็นทุกข์เฉพาะ ทางกาย ไม่ได้เป็นทุกข์ทางใจ

    สุ. ใช่ ถ้าเป็นวิบากต้องเป็นผลของกรรม แต่ถ้าเป็นอกุศลชวนจิต เป็นผลของการสะสม คนที่โกรธบ่อยๆ เวลาที่โกรธเกิดขึ้น ให้ทราบว่าขณะนั้นไม่ใช่เป็นผลของอกุศลกรรมที่โกรธ แต่เป็นผลของการสะสมความโกรธ

    ถ. เกี่ยวกับโยนิโสมนสิการ หรืออโยนิโสมนสิการ ใช่ไหม

    สุ. ขณะใดที่เป็นโยนิโสมนสิการ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ขณะใดที่เป็น อกุศลจิต ขณะนั้นอโยนิโสมนสิการ ไม่ได้พิจารณาโดยความแยบคาย

    ถ. ขณะที่เขามีความทุกข์ทางใจ หมายความว่าเขาอโยนิโสมนสิการ

    สุ. ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเป็นอโยนิโสมนสิการ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๗ ตอนที่ ๒๐๖๑ – ๒๐๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    8 เม.ย. 2565

    ซีดีแนะนำ