แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2038


    ครั้งที่ ๒๐๓๘


    สาระสำคัญ

    ผู้ดำรงมั่นอยู่ในวจีสัจจะ

    วัฏฏกโปตกจริยา สัจจบารมีของนกคุ่ม

    ที่พึ่งจริงๆ คือกุศลธรรม


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๑๙ พฤษภาาคม ๒๕๓๔


    ข้อความใน อรรถกถา มีว่า

    คำอันเป็นคาถานั้นมีใจความว่า ก็คนที่เป็นบัณฑิตกระทำสิ่งใดด้วยกาย พึงพูดถึงสิ่งนั้นด้วยวาจา แม้สิ่งใดไม่ได้กระทำ ก็ย่อมไม่พูดสิ่งนั้น

    อธิบายว่า ประสงค์จะให้ก็ควรพูดว่าจะให้ เมื่อไม่ประสงค์จะให้ก็ไม่ควรพูดว่าจะให้ เพราะเหตุไร เพราะบุคคลใด แม้พูดว่าจักให้ ภายหลังกลับไม่ให้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมกำหนดรู้บุคคลนั้นว่าไม่ทำ ดีแต่พูดเท็จอย่างเดียว แต่คนเขลาทั้งหลายย่อมยินดีชอบใจโดยสักแต่คำพูดเท่านั้น

    นี่เป็นเรื่องละเอียดที่จะพิจารณาแม้บุคคลอื่นหรือแม้แต่ตัวของท่านเอง เพื่อจะได้เป็นผู้ที่ดำรงอยู่ในสัจจวาจายิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้วจะรู้สึกเหมือนกับว่า พูดได้ ไม่ทำก็ไม่เป็นไร มีความรู้สึกว่าอย่างนั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง บารมีที่จะสะสมอบรมไปซึ่งทำให้เป็นผู้ตรงทั้งกายทั้งใจ ก็ย่อมห่างไกลจากการที่จะสมบูรณ์ได้

    พระเทวีได้ทรงสดับดังนั้น จึงประคองอัญชลีแล้วตรัสคาถาที่ ๓ ว่า

    ข้าแต่พระราชบุตร ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์ พระองค์ทรงประสบความพินาศ แต่พระทัยยังทรงยินดีอยู่ในสัจจะ พระองค์ชื่อว่าดำรงมั่นอยู่ในวจีสัจจะ และสภาวธรรม

    เมื่อพระเทวีได้ยินอย่างนี้ก็หมดความน้อยใจ เพราะรู้ว่าแม้พระราชาจะออกไปอยู่ป่า แต่ก็ยังทรงยินดีอยู่ในสัจจะ เป็นผู้ที่ดำรงมั่นอยู่ในวจีสัจจะ

    พระโพธิสัตว์ได้ฟังพระเสาวนีย์ของพระเทวี ผู้ตรัสคุณความดีของพระราชา อยู่อย่างนั้น เมื่อจะประกาศคุณความดีของพระเทวีนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า

    หญิงใด เมื่อสามีขัดสนก็ขัดสนด้วย เมื่อสามีมั่งคั่งก็พลอยมั่งคั่งมีชื่อเสียงด้วย หญิงนั้นแหละ นับว่าเป็นยอดภรรยาของเขา เมื่อสามีมีเงิน หญิงภรรยาก็ย่อมมีเงินเหมือนกัน

    ก็แหละ พระโพธิสัตว์ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวความดีของพระเทวีว่า

    ข้าแต่มหาราช พระเทวีนี้ เวลาเมื่อพระองค์มีความทุกข์ ก็ทรงเป็นผู้ร่วมทุกข์อยู่ในป่า ควรจะทรงกระทำความยกย่องพระเทวีนี้

    พระราชาทรงระลึกถึงคุณความดีของพระเทวี เพราะคำพูดของพระโพธิสัตว์นั้น จึงตรัสว่า

    ดูก่อนบัณฑิต เราระลึกถึงคุณของพระเทวีได้เพราะถ้อยคำของท่าน

    จึงพระราชทานอิสริยยศทั้งปวงแก่พระเทวีนั้น แล้วตรัสว่า

    ท่านทำให้ฉันระลึกถึงคุณความดีของพระเทวี

    จึงได้พระราชทานสักการนับถืออย่างใหญ่หลวงแก่พระโพธิสัตว์

    พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วประชุมชาดก

    ในเวลาจบสัจจะ สามีและภรรยาทั้งสองได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พระเจ้าพาราณสีในครั้งนั้น ได้เป็นกฎุมพีนี้ พระเทวีในครั้งนั้น ได้เป็นอุบาสิกานี้ ส่วนอำมาตย์ผู้เป็นบัณฑิตในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล

    คิดถึงพระผู้มีพระภาคเมื่อพระองค์ประทับ ณ พระวิหารเชตวัน เวลาที่ใคร เดินทางเข้าไปสู่พระวิหารเชตวัน พระองค์ย่อมทรงสามารถระลึกแม้ในอดีตชาติ ซึ่งกฎุมพี ๒ คน ในกาลครั้งหนึ่งเป็นพระเจ้าพาราณสีและพระเทวี เมื่อกาลสมัยล่วงมาก็ได้เป็นกฎุมพี ๒ คน ที่ไปเก็บหนี้สิน และได้มาดื่มน้ำในพระเชตวัน และเมื่อเป็นผู้ที่สะสมบารมีที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม จบสัจจะ สามีภรรยาทั้ง ๒ ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

    เพราะฉะนั้น ถ้าทุกท่านอบรมเจริญปัญญาบารมี และบารมีอื่นๆ ไปเรื่อยๆ ชีวิตประจำวันก็เป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ โดยไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ในกาลใดจะได้ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะว่าแม้ความคิดก็เป็นไปตามการสะสมของเจตสิกต่างๆ ซึ่งเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งไปแต่ละขณะ แต่ละชาติ ที่จะทำให้คิดไปต่างๆ แต่การสะสมปัญญาจะทำให้สามารถปรับสังขารขันธ์ให้ตรงต่อการที่จะประพฤติ ตามพระสัทธรรมจริงๆ

    ถ. ที่ว่า เมื่อจบสัจจะและประชุมชาดกในตอนท้าย หมายความว่าอย่างไร

    สุ. ทรงแสดงอริยสัจจธรรม ซึ่งทุกท่านก็รู้ว่า แต่ละคนกว่าจะได้รู้แจ้ง อริยสัจจธรรมก็ได้เคยสะสมบารมีในแต่ละชาติ แม้แต่ในเรื่องที่พระเจ้าพาราณสี กล่าวคำสัตย์ ก็แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมในอดีตในแต่ละชาติที่ผ่านมา ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมก็ยังอีกหลายแสนชาติ แล้วแต่ว่าจะถึงกัปไหน ซึ่งสังขารขันธ์ทั้งหลาย ก็ปรุงแต่งทำให้เกิดความคิดหลังจากเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้บ้าง

    การสะสมกุศลบารมี ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดความคิดในทางที่เป็นกุศล แม้ในยามที่มีอันตรายคับขัน สำหรับสัจจบารมีที่ทุกท่านได้ยินบ่อยๆ คือ สัจจบารมีของนกคุ่ม ก็ขอกล่าวถึงชีวิตของพระโพธิสัตว์ในพระชาติที่เป็นลูกนกคุ่ม ซึ่งข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก วัฏฏกโปตกจริยา ข้อ ๒๙ พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าว่า

    อีกเรื่องหนึ่ง ในกาลเมื่อเราเป็นลูกนกคุ่ม ขนยังไม่งอก ยังอ่อนเป็นดังชิ้นเนื้อ อยู่ในรัง ในมคธชนบท ในกาลนั้น มารดาเอาจะงอยปากคาบเหยื่อมาเลี้ยงเรา เราเป็นอยู่ด้วยผัสสะของมารดา กำลังกายของเรายังไม่มี

    ในฤดูร้อนทุกๆ ปี มีไฟป่าไหม้ลุกลามมา ไฟไหม้ป่าเป็นทางดำลุกลามมา ใกล้เรา ไฟไหม้ป่าลุกลามใหญ่หลวง เสียงสนั่นอื้ออึง ไฟไหม้ลุกลามมาโดยลำดับ เข้ามาใกล้จวนจะถึงเรา มารดาบิดาของเราสะดุ้ง ใจหวาดหวั่น เพราะกลัวไฟที่ ไหม้มาโดยเร็ว จึงทิ้งเราไว้ในรัง หนีเอาตัวรอดไปได้ เราเหยียดเท้าและกางปีกออก รู้ว่ากำลังกายของเราไม่มี เรานั้นไปไม่ได้ อยู่ในรังนั่นเอง จึงคิดอย่างนี้ในกาลนั้นว่าเมื่อก่อนเราสะดุ้งหวาดหวั่น พึงเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในระหว่างปีกของมารดาบิดา บัดนี้มารดาบิดาทิ้งเราหนีไปเสียแล้ว วันนี้ เราจะทำอย่างไร ศีลคุณ ความสัตย์ พระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยความสัตย์ เอ็นดูกรุณามีอยู่ในโลก ด้วยความสัตย์นั้น เราจักกระทำสัจจกิริยาอันสูงสุด เราคำนึงถึงกำลังพระธรรม ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้พิชิตมารอันมีในก่อน ได้กระทำสัจจกิริยา แสดงกำลังความสัตย์ว่า

    ปีกของเรามีอยู่ แต่ยังบินไม่ได้ เท้าของเรามีอยู่ แต่ยังเดินไม่ได้ มารดาบิดาก็พากันบินออกไปแล้ว แน่ะไฟ จงกลับไป (จงดับเสีย)

    พร้อมกับเมื่อเราทำสัจจกิริยา ไฟที่ลุกรุ่งโรจน์ใหญ่หลวง เว้นไว้ ๑๖ กรีส ไฟดับ ณ ที่นั้น เหมือนจุ่มลงในน้ำ

    ผู้เสมอด้วยความสัตย์ของเราไม่มี นี้เป็นสัจจบารมีของเรา ฉะนี้แล

    จบ วัฏฏกโปตกจริยาที่ ๙

    เวลาที่ประสบภัยอันตราย จิตขณะนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศลแล้วแต่กำลังของการสะสม หลายท่านคงจะขอ ขอให้พ้นภัย ขออย่าให้ได้รับอันตรายต่างๆ แต่จะเป็นกุศลจิตที่ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย หรือแม้แต่กุศลจิตที่คิดถึงผู้มีคุณ เช่น มารดาบิดาหรือเปล่าในขณะนั้น แสดงให้เห็นว่า การที่จะคิดนึกอย่างไรในยามที่มีภัยอันตราย แล้วแต่การสะสม และสำหรับนกคุ่มตัวนี้ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ต้องต่างจากนกธรรมดา

    เรื่องของกุศลจิต เรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก เป็นเรื่องที่รู้ยาก ไม่มีใครสามารถรู้ถึงวิบากในขณะนี้ ซึ่งกำลังมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นไปแต่ละขณะได้ และสำหรับกุศลจิตซึ่งเป็นกุศลกรรม แม้ในขณะที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ หรือระลึกถึงคุณของ ผู้มีคุณนั้น ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่ว่าจะมีกำลังที่จะทำให้วิบากประเภทใดเกิดขึ้น

    ข้อความใน อรรถกถา มีว่า

    จริงอยู่ในกาลนั้น พระมหาสัตว์ได้มีร่างกายใหญ่ประมาณเท่าตะกร้อลูกใหญ่ มารดาบิดาไม่สามารถจะพาลูกนกนั้นไปได้ด้วยวิธีใดๆ และเพราะความรักตนครอบงำ จึงทิ้งบุตรหนีไป

    ขณะที่ไฟป่าใกล้เข้ามานั้น พระมหาสัตว์มิได้หลงลืมสิ่งที่ควรทำ ยืนคิดอย่างนี้ว่า ในโลกนี้คุณของศีลยังมีอยู่ คุณของสัจจะยังมีอยู่ ธรรมดาพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต บำเพ็ญบารมี นั่ง ณ พื้นโพธิมณฑล ตรัสรู้แล้ว ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัศนะ ประกอบด้วยสัจจะความเอ็นดู กรุณาและขันติ บำเพ็ญเมตตาในสรรพสัตว์ยังมีอยู่ พระธรรมอันพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเหล่านั้นแทงตลอดแล้ว เป็นคุณอันประเสริฐโดยส่วนเดียวยังมีอยู่

    อนึ่ง ความสัตย์อย่างนี้แม้ในเราก็ยังมีอยู่ สภาวธรรมอย่างหนึ่งยังมีอยู่ ย่อมปรากฏ เพราะฉะนั้น เราควรระลึกถึงพระพุทธเจ้าในอดีต และคุณธรรมที่พระพุทธเจ้าเหล่านั้นแทงตลอดแล้ว ถือเอาสภาวธรรมอันเป็นสัจจะซึ่งมีอยู่ในตน แล้วทำสัจจกิริยาให้ไฟกลับไป แล้วทำความสวัสดีแก่ตนเองและแก่สัตว์ที่เหลือ ซึ่งอยู่ ณ ที่นี้ ในวันนี้

    พระมหาสัตว์ได้นอนทำสัจจกิริยาว่า หากความที่เรามีปีก ความที่เหยียดปีกบินไปในอากาศไม่ได้ ความที่เรามีเท้า ความที่เรายกเท้าเดินไปไม่ได้ และความที่มารดาบิดาทิ้งเราไว้ในรังแล้วหนีไป เป็นความสัตย์จริง แน่ะไฟ ด้วยความสัตย์นี้ ขอท่านจงหลีกไปเสียจากที่นี้

    พร้อมด้วยสัจจกิริยาของพระมหาสัตว์นั้น ไฟได้หลีกไปในที่ประมาณ ๑๖ กรีส และเมื่อไฟหลีกไปก็มิได้ไหม้กลับเข้าป่าไป ดับ ณ ที่นั้น ดุจคบเพลิงที่จุ่มลงไปในน้ำ ฉะนั้น

    ก็สัจจกิริยาของพระโพธิสัตว์นั้น มีการระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นเบื้องต้น ในสมัยนั้น ไม่ทั่วไปแก่คนอื่น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ผู้เสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี

    ... ด้วยเหตุนี้พระมหาสัตว์ ด้วยอำนาจสัจจกิริยา จึงทำความปลอดภัยให้แก่ตนและแก่สัตว์ทั้งหลายผู้อยู่ในที่นั้น เมื่อสิ้นอายุก็ได้ไปตามยถากรรม

    มารดาบิดาในครั้งนั้น ได้เป็นมารดาบิดาในครั้งนี้ ส่วนพระยานกคุ่ม คือ พระโลกนาถ

    ผู้ฟัง ในอรรถกถาที่บอกว่า ไม่ทั่วไปกับบุคคลอื่น คือ ไม่ใช่ว่าใครๆ นึกจะทำสัจจกิริยาได้ การระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต เวลานี้เราเป็น ผู้สดับฟังธรรมของพระพุทธองค์ เราก็อาจจะระลึกได้ แต่กำลังของการระลึกคงไม่เท่าของพระโพธิสัตว์อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ใครอย่าเอาเรื่องสัจจกิริยาเป็นเรื่องเล่นๆ

    สุ. แต่ก็เป็นผู้ระลึกถึงกุศล เวลาที่มีอันตรายที่พึ่งจริงๆ ไม่มีอื่นนอกจากกุศลธรรม ถ้าใครกำลังตกอยู่ในอันตรายและระลึกถึงพระธรรม จิตในขณะนั้นย่อม เป็นกุศล จะไม่มีความหวาดกลัวหรือหวั่นเกรงภัย เพราะสิ่งใดจะเกิด สิ่งนั้นก็ต้องเกิด และถ้าเกิดในขณะที่ผู้นั้นสามารถมีกุศลจิต ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยด้วยความมั่นคง คือ เป็นผู้ที่เชื่อในเรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก จิตในขณะนั้นผ่องใสเป็นกุศล ก็ต้องเป็นสิ่งที่ดี

    และสิ่งที่ประเสริฐกว่านั้น คือ สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ระลึกถึงพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นสัจจธรรม เป็นความจริง แต่ยังรู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมของสภาพธรรม ในขณะนั้นด้วย เพราะว่าแม้ในขณะนี้เองก็มีปรมัตถธรรม ไม่มีสักขณะเดียวที่จะ ขาดปรมัตถธรรม เพียงแต่ว่ากำลังฟังเรื่อง กำลังคิดนึกตามเรื่องที่ได้ฟัง กำลังเห็น กำลังได้ยิน แต่ก็จะมีขณะที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมได้ แม้เพียงชั่วเล็กน้อยสลับกับทางใจที่คิดนึก ซึ่งก็เป็นเพียงชั่วขณะที่คิดขณะเดียว และขณะที่เห็นก็ไม่ใช่ ขณะที่คิด เพราะฉะนั้น ทุกขณะเป็นปรมัตถธรรมที่ระลึกได้ทั้งหมด

    ถ. ตอนที่พูดถึงสัจจกิริยาที่บอกว่า ลูกนกคุ่มระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าและกระทำสัจจวาจา โดยบอกความจริงทั้งนั้นว่า ปีกก็ยังไม่แข็งแรง เท้าก็ยัง ไม่แข็งแรง และขอให้สัจจวาจานี้ทำให้รอดพ้น ตรงนี้เข้าใจ ไม่ใช่พูดสัจจวาจา ความจริงเท่านั้น ต้องระลึกถึงคุณพระพุทธด้วย เป็นเรื่องสำคัญ ๒ จุด แต่ตอนหลังที่ท่านอาจารย์อธิบายว่า ตอนนั้นสติปัฏฐานระลึกรู้ด้วย ตรงนี้ไม่เข้าใจ

    สุ. มิได้ สำหรับทุกท่านในขณะนี้ ไม่ใช่สำหรับนกคุ่ม นกคุ่มจบไปแล้ว เรื่องของนกก็เรื่องของนก แต่ให้เห็นนกที่เป็นพระโพธิสัตว์ว่า ต่างกับนกอื่น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๔ ตอนที่ ๒๐๓๑ – ๒๐๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    25 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ