แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2051


    ครั้งที่ ๒๐๕๑


    สาระสำคัญ

    วิญญาณธาตุ ๗

    ธาตุสังยุตต์ นานัตตวรรคที่ ๑ ธาตุสูตร - ความต่างแห่งธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๔


    สุ. ในคราวก่อน มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านถามถึงเรื่องของวิญญาณธาตุ ซึ่งท่านผู้ฟังใหม่ก็สามารถฟังเรื่องของวิญญาณธาตุได้ และท่านผู้ฟังเก่าที่รู้เรื่อง ของจิตแล้วก็สามารถฟังเรื่องวิญญาณธาตุเป็นการทบทวนได้ โดยพิจารณาให้ ละเอียดขึ้นถึงสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ เพราะถ้าไม่ได้รับฟังบ่อยๆ ก็ทำให้หลงลืมที่จะพิจารณา ไม่เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านผู้ฟังท่านนั้นถามถึงความต่างกันของวิญญาณธาตุ มโนธาตุ และ มโนวิญญาณธาตุ

    ถ้าพูดถึงเรื่องของวิญญาณ ก็คือเรื่องของจิตใจ เพราะจะใช้คำว่า จิต ก็ได้ หรือที่ภาษาไทยเราใช้คำว่า ใจ หรือบางท่านก็ใช้คำว่า วิญญาณ แต่ท่านที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจะเข้าใจคำว่า วิญญาณ ผิด คือ คิดว่าวิญญาณมีหลังจากที่ ตายแล้วเท่านั้น โดยไม่รู้ว่า คำว่า วิญญาณ ก็ดี หรือคำว่า จิต ก็ดี มีความหมายเหมือนกัน คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง มีวิญญาณ แต่ถ้ารู้เพียงสั้นๆ อย่างนี้ว่า มีวิญญาณ มีจิต ก็ไม่สามารถละคลายการยึดถือวิญญาณหรือจิตว่าเป็นตัวตน เป็นเรา ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพระธรรมเรื่องของสภาพธรรม แม้ในเรื่องของจิต หรือเจตสิก หรือรูป ตลอด ๓ ปิฎกใน ๔๕ พรรษา เป็นธรรมประการต่างๆ ทั้งในพระสูตรบ้าง ในพระอภิธรรมบ้าง ซึ่งบางท่านที่ได้ศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะอาจจะคิดว่า เรื่องของวิญญาณธาตุ มโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ มีในพระอภิธรรมเท่านั้น แต่ความจริงแม้ในพระสูตร พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดง

    ซึ่งข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ธาตุสังยุต นานัตตวรรคที่ ๑ ธาตุสูตร ข้อ ๓๓๓ มีว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความต่างแห่งธาตุแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง จงกระทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว ณ บัดนี้

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    อย่างนั้น พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ความต่างแห่งธาตุเป็นไฉน

    จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ นี้เราเรียกว่า ความต่างแห่งธาตุ

    จบ ธาตุสูตรที่ ๑

    พระผู้มีพระภาคตรัสย่อสำหรับผู้ที่สามารถพิจารณาธรรมและเข้าใจธรรม ในขณะนั้น และในขณะนี้ถ้าจะนับดูตามจำนวนที่ได้เคยศึกษามาเรื่องของธาตุ ๑๘ ในพระสูตรนี้ก็ครบที่ว่า

    จักขุธาตุ ๑ รูปธาตุ ๑ จักขุวิญญาณธาตุ ๑ ทางตา ๓ ธาตุ

    โสตธาตุ ๑ สัททธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑ ทางหู ๓ ธาตุ

    ฆานธาตุ ๑ คันธธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑ ทางจมูก ๓ ธาตุ

    ชิวหาธาตุ ๑ รสธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ ทางลิ้น ๓ ธาตุ

    กายธาตุ ๑ โผฏฐัพพะธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑ ทางกาย ๓ ธาตุ

    รวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๑๕ ธาตุ

    นอกจากนั้นก็มีมโนธาตุ ๑ ธรรมธาตุ ๑ มโนวิญญาณธาตุ ๑ อีก ๓ ธาตุ รวมเป็น ๑๘ ธาตุ

    ธรรมทั้งหมดถ้าไม่กล่าวโดยนัยของธรรม จะกล่าวโดยนัยของธาตุก็ได้ เพราะคำว่า ธาตุ หรือคำว่า ธรรม ก็คือสภาพธรรมที่มีจริง

    และถ้ากล่าวว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปัญญาควรพิจารณาตั้งแต่ต้นว่า ไม่ควรยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน ถ้าเข้าใจความหมายของธรรมหรือเข้าใจลักษณะของธาตุจริงๆ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง จะแสดงเรื่องของธรรมดา ธรรมชาติ แต่ปัญญาของผู้ฟังจะต้องใคร่ครวญ พิจารณา ไตร่ตรอง ระลึก ศึกษา จนกระทั่งสามารถเข้าใจแม้เพียงคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสสั้นๆ ว่า ธรรม หรือธาตุ ให้รู้จริงๆ ว่า เป็นธาตุ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ไม่ใช่เพียงแต่จำชื่อว่าธาตุ ๑๘ มีอะไรบ้างแล้วก็จบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของธาตุว่าเป็นธาตุ ตราบนั้นยังไม่จบ และก็มีธรรมที่จะ ให้พิจารณา

    ธาตุ ๑๘ เป็นวิญญาณธาตุ ๗

    สำหรับธาตุ ๑๘ ขอกล่าวถึงตามลำดับ คือ

    จักขุธาตุ ได้แก่ จักขุปสาทรูป ซึ่งขณะนี้ทุกคนมี เป็นธาตุ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถบันดาลให้ธาตุเหล่านี้เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะ ให้จักขุธาตุซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเกิด รูปที่เกิดเพราะกรรมซึ่งเป็นจักขุธาตุในขณะนี้ก็เกิด ตราบใดที่กรรมยังไม่หมดก็จะทำให้จักขุธาตุเกิด จนกว่าเมื่อไรจักขุธาตุไม่เกิด เมื่อนั้นก็ตาบอด ไม่มีปัจจัยทำให้เกิดการเห็น

    เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ถ้าพิจารณาถึงสภาพธรรม อย่างหนึ่งซึ่งเป็นรูปธาตุ ซึ่งมีจริง อยู่ที่กลางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และที่รู้ว่ามีจักขุธาตุซึ่งเป็นปสาทรูปแน่นอน ก็คือในขณะนี้มีรูปธาตุกระทบและปรากฏ เป็นเครื่องยืนยันให้รู้ว่า จักขุธาตุมี รูปธาตุมี จักขุวิญญาณธาตุมี

    ในขณะนี้ พิจารณา ถ้าขณะใดที่กำลังพิจารณาและค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมขึ้น นั่นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะทำให้สามารถเข้าใจธรรม ไม่ใช่ เพียงคำที่พระผู้มีพระภาคตรัส แต่ธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรม เป็นสภาวธรรมที่มี ลักษณะจริงๆ ที่สามารถเข้าใจได้หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมและพิจารณาแล้ว

    จักขุธาตุ รูปธาตุ และจักขุวิญญาณธาตุคือจิตเห็น ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ล้วนเป็นธาตุแต่ละอย่าง ๓ ธาตุ ไม่ใช่ธาตุเดียวกัน จักขุธาตุ ไม่ใช่รูปธาตุ ไม่ใช่จักขุวิญญาณธาตุ

    เพียงแค่เห็น ก็มีมากมายที่ปัญญาจะต้องเจริญขึ้น ที่จะต้องศึกษา จนกระทั่ง รู้จริงๆ มิฉะนั้นแล้วเห็นตลอด วันนี้ก็มากมายหลายครั้ง และหลังจากนั้นมีการตรึก นึกคิด ซึ่งความคิดทุกขณะนั้นก็เกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ไม่รู้เลยตลอดมา ต่อเมื่อได้ฟังธรรมและค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจขึ้น แต่ในขณะที่กำลังพิจารณา เรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่ในขณะที่สติระลึกและรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งในขณะที่ สติระลึกและค่อยๆ รู้ลักษณะสภาพธรรมนั่นเอง จะเป็นการเริ่มรู้ตรงลักษณะของ ธรรมที่เป็นธาตุ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มิฉะนั้นก็จะเป็นการพูดเรื่องธาตุ แต่ไม่รู้ลักษณะของธาตุแท้ๆ ธาตุจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งเป็นรูปธาตุและนามธาตุ ในขณะที่กำลังเห็น

    ต่อไป ทางหู ๓ ธาตุ คือ โสตธาตุ ๑ สัททธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑

    ทางจมูก ๓ ธาตุ คือ ฆานธาตุ ๑ คันธธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑

    ทางลิ้น ๓ ธาตุ คือ ชิวหาธาตุ ๑ รสธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑

    ทางกาย ๓ ธาตุ คือ กายธาตุ ๑ โผฏฐัพพธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑

    ก็เป็นสภาพธรรมในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะลิ้มรส ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นธาตุทั้งหมดแต่ละธาตุๆ ซึ่งจะรู้ได้ถูกต้องตามความเป็นจริงเมื่อสติระลึกที่ธาตุนั้นๆ จึงจะรู้ว่า แต่ละธาตุมีลักษณะเฉพาะของธาตุนั้นๆ ซึ่งไม่ปะปนกัน และไม่ใช่ธาตุประเภทเดียวกัน

    สำหรับทางใจ มีมโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ

    แสดงให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้ผู้ที่ฟังแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจ ได้พิจารณาต่อไปอีก ฟังต่อไปอีก จนกว่าจะเข้าใจขึ้น เพราะถ้าพระองค์ตรัสเพียงว่า มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ก็ไม่ทราบว่าหมายความถึงอะไร ทราบแต่ว่าวิญญาณธาตุมี เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ รูปธาตุมี ไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่ใช่สภาพรู้ ก็เท่านั้น แต่ไม่ได้ละการยึดถือสภาพนั้นๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังเรื่องธาตุต่อไป พร้อมทั้งเรื่องอื่นๆ ในพระไตรปิฎก ก็ต่อกันทั้งหมด ไม่ได้แยกกันเลย

    สารัตถปกาสินี อรรถกถา ธาตุสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

    พึงทราบวินิจฉัยในธาตุสูตรที่ ๑ แห่งนานัตตวรรค ดังต่อไปนี้

    ความที่ธรรมมีสภาพต่างกันได้ชื่อว่าธาตุ เพราะอรรถว่า เป็นสภาวะ กล่าวคือ มีอรรถว่า มิใช่สัตว์ และอรรถว่า เป็นของสูญ ดังนี้ ชื่อว่าความต่างแห่งธาตุ

    ไม่มีธาตุใดเลยที่จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่มีธาตุใดเลยที่เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วจะไม่ดับไป หมดไป เพียงแต่เมื่อไม่รู้ชัด ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ก็ยังมีความเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต่อเมื่อใดแยกออกเป็นแต่ละธาตุโดยละเอียด ทั้งๆ ที่กำลังนั่งอยู่ ปัญญาก็สามารถค่อยๆ เข้าใจ และแยกธาตุแต่ละธาตุที่มีที่ตัว ออกเป็นแต่ละส่วน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในบทเป็นต้นว่า จกฺขุธาตุ ความว่า จักขุปสาท ชื่อว่าจักขุธาตุ รูปารมณ์ ชื่อว่ารูปธาตุ จิตที่มีจักขุปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่าจักขุวิญญาณธาตุ

    เพิ่มความละเอียดขึ้นอีก

    ข้อความที่ว่า จิตที่มีจักขุปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่าจักขุวิญญาณธาตุ แสดงให้เห็นว่า จิต ๘๙ ประเภท แยกออกเป็นวิญญาณธาตุ ๗ คือ จักขุวิญญาณธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑ มโนธาตุ ๑ และมโนวิญญาณธาตุ ๑

    จิตมีปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป และทำกิจการงานหน้าที่ต่างกัน การที่จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวตนต้องเข้าใจละเอียดขึ้น เช่น จิตที่มีจักขุปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่า จักขุวิญญาณธาตุ เพียงแค่นี้ผู้ที่ศึกษาก็เข้าใจได้แล้วว่า จิตอื่นนอกจากนี้ไม่ใช่ จักขุวิญญาณธาตุ ต้องเฉพาะจิตที่มีจักขุปสาทเป็นที่อาศัย ๒ ดวงเท่านั้น คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง และจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง เพราะว่า วันหนึ่งๆ เห็น ถ้าจะใช้ภาษาบาลีก็คือจักขุวิญญาณธาตุทำกิจเห็น จิตอื่นไม่ได้ทำ กิจเห็นเลย เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นจักขุวิญญาณธาตุ และยังแสดง ให้เห็นว่า จักขุวิญญาณธาตุนี้ เพียงอาศัยจักขุปสาทรูปเกิดขึ้นทำกิจเห็นและดับไป

    เมื่อไรที่ปัญญารู้อย่างนี้ เมื่อนั้นจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต้องรู้ว่าเป็นเพียงชั่วขณะที่ธาตุชนิดหนึ่งซึ่งอาศัยจักขุปสาทรูปเกิดขึ้นทำกิจเห็น และดับไป



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐๖ ตอนที่ ๒๐๕๑ – ๒๐๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 152
    21 มี.ค. 2565

    ซีดีแนะนำ