แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1576


    ครั้งที่ ๑๕๗๖


    สาระสำคัญ

    องฺ.อฏฺฐกนิบาต ปัญญาสูตร - เหตุ ๘ ประการ เป็นไปเพื่อได้ปัญญา

    หิริโอตตัปปะ

    ธรรมที่เป็นพละ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๙


    เวลาฟังพระธรรมแล้ว หลายท่านต้องการประเมินผล ใช่ไหม อยากทราบว่าผลของการฟังพระธรรมนี้ถึงแค่ไหนแล้ว หรือว่าถึงขั้นไหนแล้ว มีประโยชน์มากมาย สักเพียงไร บางท่านอาจอยากประเมินด้วยจำนวนของผู้ฟังว่ามีผู้ฟังมากน้อยเท่าไร ซึ่งนั่นไม่ใช่ผลที่แท้จริง หรือผลที่ต้องการจากการฟังพระธรรม แต่ผลที่ทุกท่านควรประเมินตัวเองจากการฟังพระธรรมแล้ว คือ เป็นผู้ที่สงบกายและสงบจิตหรือยัง หรือว่าสงบกายและสงบจิตเพิ่มขึ้นไหม

    ก่อนฟังพระธรรม ชีวิตประจำวันกายก็สงบบ้าง ไม่สงบบ้าง วาจาก็สงบบ้าง ไม่สงบบ้าง เพราะฉะนั้น ประเมินผลจากการฟังพระธรรมด้วยตนเอง คือ เมื่อฟังแล้วสงบกายและสงบจิตขึ้นหรือเปล่า นี่เป็นประโยชน์เฉพาะตน ถ้าไม่สงบกายสงบจิต ปัญญาจะเจริญไหม ยังเหมือนเดิม ใช่ไหม แต่ประโยชน์จากการได้ฟังพระธรรม ที่เข้าใจแล้ว จะพิสูจน์ได้จากตนเอง

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

    เมื่อฟังพระธรรมแล้ว สงบกายและสงบจิตแล้ว ก็มีการสำรวมระวังเพิ่มขึ้น เพราะว่าเป็นผู้มี ปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย

    นี่สำหรับผู้ที่ละเอียดมากที่จะเป็นผู้ที่เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย คิดถึงคนอื่นด้วยอกุศลจิตนิดเดียว สติระลึกได้หรือยัง เห็นหรือยัง เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย คือ แม้เพียงชั่วความคิดก็ยังเห็นว่าเป็นโทษ แต่ถ้ายังไม่เห็น ปัญญาก็ยากที่จะเจริญได้

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ทรงจำไว้ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งาม ในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

    การที่ปัญญาจะเจริญ จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่ง่ายเลย แม้เป็นผู้ที่มีศรัทธา เป็นผู้ที่สอบถามข้อสงสัยเพื่อความเข้าใจชัดเจนขึ้น เป็นผู้ที่พิจารณาผลจากการฟังพระธรรมของตนเอง เป็นผู้ที่สำรวมระวัง และเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อยแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่อาศัยการฟังต่อไปอีก ต้องเป็นผู้ที่ เป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ทรงจำไว้คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น คือ ในขั้นศีล งามในท่ามกลาง คือ ในขั้นสมาธิ งามในที่สุด คือ ขั้นปัญญา ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ

    นี่เป็นการเกื้อกูลกัน เป็นการเสริมสร้างปัญญาของตนเองให้เพิ่มขึ้นด้วยการสนทนาธรรมหรือการแสดงธรรม ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้ามีการสนทนาธรรมหรือแสดงธรรม ในขณะนั้นปัญญาของท่านเองย่อมแตกฉานเพิ่มขึ้น

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เธอย่อมปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๖ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

    ขาดอีกไม่ได้ คือ ความเพียร เพราะว่าหนทางดับกิเลสเป็นหนทางที่ไกลมาก เพราะฉะนั้น กว่าจะถึง หรือก่อนจะถึงหนทางนั้น ก็ต้องเจริญกุศลทุกประการโดย ไม่ท้อถอย

    ในเรื่องอกุศลไม่ท้อถอย ใช่ไหม ในวันหนึ่งๆ ขอให้พิจารณาดู เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นไปในเรื่องกุศล ก็ควรจะเป็นเช่นเดียวกัน คือ ไม่ควรท้อถอยในเรื่องกุศลด้วย

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อนึ่ง เธอเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดงบ้าง ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่าง พระอริยเจ้า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

    เป็นเรื่องของหิริโอตตัปปะ แม้พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงว่า นี่เป็นหิริโอตตัปปะ แต่ขอให้พิจารณาว่า เมื่อเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่องไม่เป็นประโยชน์ ถ้าไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ ก็ต้องพูดเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดงบ้าง ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า นี่เป็นหิริโอตตัปปะทั้งหมด ซึ่งจะเป็นเหตุให้ เป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

    บางคนเห็นใครนิ่ง อาจจะบอกว่า คนนั้นไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ถ้าจะให้มีหิริโอตตัปปะเรื่อยๆ คือ หายใจเป็นธรรมเลย

    สุ. หิริโอตตัปปะเป็นกุศลสาธารณะ เพราะฉะนั้น ต้องเกิดกับกุศลจิต ทุกประการ

    ผู้ฟัง นั่งประชุมกัน และสนทนาธรรม แสดงธรรม ตามพระสูตรนี้ที่ว่ามา ต้องหายใจเป็นธรรมเลย

    สุ. ดีไหม

    ผู้ฟัง ดี แต่ทำไม่ได้

    สุ. ทำไม่ได้ เพราะยังมีอหิริกะและอโนตตัปปะจึงทำไม่ได้ ฉะนั้น ให้รู้เหตุผลว่าทำไม่ได้เพราะอะไร จะได้เห็นอหิริกะและอโนตตัปปะของตนเองชัดเจนขึ้นว่า เป็นไปในขณะนี้ๆ เพื่อจะได้รู้ความต่างกันเวลาที่หิริโอตตัปปะเกิด ซึ่งจะเป็นไปในทางที่ตรงกันข้าม แม้ในเรื่องของกายและวาจา เช่น ในการเชื้อเชิญให้ผู้อื่น แสดงธรรม หรือแม้แต่ในความคิดนึก เช่น ไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า แสดงให้เห็นว่า ไม่ควรที่จะคิดถึงคนอื่นในทางอกุศล บางคนไม่ระวัง คิดติเตียน คนอื่นได้โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะที่กำลังคิดติเตียนนั้น ขณะนั้นเป็นอกุศลจิตของตนเอง

    ถ. อกุศลไม่ต้องเจริญ แต่ก็เกิดอยู่ตลอดเวลาโดยที่เราไม่ค่อยจะรู้ด้วย การทำก็ดี การพูดก็ดี ถ้าไม่มีหิริโอตตัปปะก็เป็นไปในฝ่ายอกุศลทั้งนั้น รู้สึกว่า ในชีวิตประจำวันของเรา เราสั่งสมแต่อกุศลจริงๆ ทั้งๆ ที่เราก็ไม่อยากจะสั่งสม เป็นเพราะเราขาดอะไร จึงเป็นอย่างนั้น

    สุ. ไม่รู้เหตุ ไม่รู้ผล ของการเป็นผู้ที่มีกายวาจาเป็นอกุศล เมื่อไม่มีความรู้ ไม่มีปัญญา อกุศลธรรมอื่นๆ ก็เกิด ทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ทั้งอหิริกะ อโนตตัปปะ

    ถ. การที่เราจะเจริญกุศล เป็นเรื่องของการทวนกระแส จึงต้องสร้าง ความเพียร สร้างหิริโอตตัปปะ และอะไรๆ อีก ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ต้องสร้างขึ้นอย่างมากมายและจริงจังด้วย

    สุ. เพราะฉะนั้น หิริโอตตัปปะจึงเป็นธรรมที่เป็นพละ ธรรมดาวันหนึ่งๆ อหิริกะและอโนตตัปปะเกิดมาก แต่หิริโอตตัปปะที่จะมีกำลังเกิดมากได้อย่าง อหิริกะและอโนตตัปปะ ต้องอาศัยการสะสมกุศลจนกว่าสภาพธรรมที่เป็นพละเหล่านี้จะเป็นพละได้ ศรัทธานิดหน่อยยังไม่เป็นพละ สติเล็กน้อยยังไม่เป็นพละ หิริ มีนิดๆ หน่อยๆ บ้าง ไม่มีบ้าง ก็ยังไม่เป็นพละ แต่ด้วยการอบรมเจริญปัญญาที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ย่อมทำให้กุศลทั้งหลายเจริญขึ้น และถึงความเป็นพละ คือ เป็นสภาพที่มีกำลังได้

    เพราะฉะนั้น หิริ ความละอาย จะเห็นได้จริงๆ ว่า มีกำลังขึ้นได้เมื่อได้ฟัง พระธรรมแล้ว เพราะสามารถเห็นลักษณะของอหิริกะซึ่งเป็นธรรมที่ตรงกันข้าม

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อนึ่ง เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้ ... สัญญาเป็นดังนี้ ... สังขารทั้งหลายเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้น แห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์เจริญบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

    ท่านผู้ฟังพิจารณาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสที่ว่า อนึ่ง เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปเป็นดังนี้ วันหนึ่งๆ แค่นี้เอง ที่ตรัสไว้ พิจารณาแล้วหรือยัง รูปเป็นดังนี้ ในขณะนี้เองทางตา รูปเป็นดังนี้ ทางหู รูปเป็นดังนี้ ทางจมูกรูปเป็นดังนี้ ทางลิ้นรูปเป็นดังนี้ ทางกายรูปเป็นดังนี้ พิจารณาหรือยัง แม้แต่เพียงพยัญชนะที่ตรัสว่า อนึ่ง เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้

    พิจารณาแล้วหรือยัง มีอยู่แล้วทุกขณะ แม้ในขณะนี้ ความรู้สึกดีใจ เสียใจ หรืออทุกขมสุข พิจารณาหรือยัง ... สัญญาเป็นดังนี้ ... สังขารทั้งหลายเป็นดังนี้ ... วิญญาณเป็นดังนี้

    ไม่มีอะไรนอกจากนี้เลยที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

    เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้ อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่ เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ก็เป็นไปเพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

    หิริโอตตัปปะ แม้การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เรื่องชีวิตประจำวันทั้งหมด ถ้าไม่พิจารณาก็ไม่เห็นว่า มีความสำคัญอะไร หรือว่าเป็นหิริโอตตัปปะอย่างไร ที่จะเพื่อความเป็นความหนึ่งใจเดียวกัน

    ที่จะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ ขอให้คิดดูว่า ถ้าเป็นอกุศล จะเป็นน้ำหนึ่ง ใจเดียวกันได้ไหม

    เมื่อเป็นอกุศล ก็ไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะอหิริกะและอโนตตัปปะ ไม่ละอาย ไม่กลัวอกุศลในขณะนั้นที่ยังคงไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ขณะใดที่มีการแบ่งพวก มีหิริโอตตัปปะไหม ไม่เสมอกันกับทุกคน แม้เรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน ก็เป็นการชี้ให้เห็นถึงการสะสมของอหิริกะและอโนตตัปปะ หรือหิริและโอตตัปปะ เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณา ย่อมจะเห็นธรรมทั้งหมดตามการสะสมไปทุกๆ ขณะ

    ถ. พระผู้มีพระภาคตรัสให้พิจารณาอุปาทานขันธ์ นี้รูป นี้เวทนา นี้สัญญา นี้สังขาร นี้วิญญาณ เวลาเราพิจารณานามรูป ย่อลงมาว่าพิจารณานามรูป บางครั้งสติเกิดพิจารณาที่รูปที่นาม แต่บางครั้งสติไม่เกิด แต่เป็นวิตกเจตสิกที่ตรึกไปในนิมิตบ้าง ในอนุพยัญชนะบ้าง เรียนถามว่า จะพิจารณานามรูปอย่างไรจึงจะเป็นสติปัฏฐาน และอย่างไรเป็นเพียงวิตกเจตสิกที่ตรึกไปในนิมิตและอนุพยัญชนะ

    สุ. ขณะใดที่เป็นสติปัฏฐาน ขณะนั้นต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์

    ถ. อยากให้ละเอียดกว่านี้

    สุ. นี่เป็นเหตุที่เราต้องเข้าใจความหมายหรือสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม แม้ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่เริ่มศึกษาว่า ปรมัตถธรรมหมายถึงสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่แม้กระนั้นการที่เคยเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ทำให้ไม่สามารถเห็นปรมัตถธรรมว่าเป็นปรมัตถธรรมตามความเป็นจริงได้ เช่น ในขณะนี้ ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่ไม่ต้องใช้ชื่อ แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นปรากฏ แล้วแต่ว่าจะปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    เพราะฉะนั้น ขณะที่สภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรมปรากฏ ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. ถ้าเรากำลังระลึกที่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา อุปาทานขันธ์ทรงแสดงไว้ต่างกันเป็นลักษณะถึง ๑๑ ประการ ถ้าสติเกิดจริงๆ เราจะเห็นความต่างของลักษณะอย่างนั้นหรือไม่ หรือว่าขณะที่สติเกิดแล้ว ไม่ว่ารูปธรรมนั้นจะเป็นสีที่ปรากฏทางตา จะเป็นสีอะไรก็ตาม ก็เป็นปรมัตถธรรมเหมือนกันหมด เวลาสติเกิดก็ไม่เห็นต่างกันอย่างนั้นหรือ

    สุ. ปรมัตถธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏ เกิดขึ้นปรากฏตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น จะต่างหรือจะเหมือนกัน

    ถ. น่าจะต่างกัน

    สุ. ต้องต่างกัน แต่เป็นปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะเป็นเสียงสูง เสียงต่ำ เสียงแหลม เสียงห้าว เสียงเบา เสียงลึก เสียงอย่างไรก็ตาม เวลาที่ปรากฏไม่ได้เปลี่ยนสภาพของเสียงซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น ๆ แต่ลักษณะของปรมัตถธรรม คือ เป็นสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ. เวลาที่สำคัญผิด เห็นผิดไปว่าเป็นสติ แต่จริงๆ เป็นเพียงความนึกคิดในนิมิตอนุพยัญชนะ อย่างนั้นจะเป็นตัวตน ใช่ไหม

    สุ. ขณะที่ไม่ใช่ปรมัตถอารมณ์ เป็นสติปัฏฐานไม่ได้

    ถ. แต่บางครั้งวิถีจิตทางมโนทวารที่เห็นแล้ว ก็ยังเป็นปรมัตถอารมณ์อยู่ แต่ว่าตรึกไปในสัณฐานบ้าง

    สุ. ตรึก หมายความถึงคิดหรือเปล่า

    ถ. ขณะนั้นไม่ใช่สติ ใช่ไหม

    สุ. มิได้ ขณะที่ตรึกไปในสังขาร ขณะนั้นคิดหรือเปล่า เห็นแล้วทางตา และทางใจตรึกไปในสังขาร หมายความถึงคิดหรือเปล่า หรือไม่ได้คิด ถ้าคิด ในขณะนั้นเป็นนามธรรมที่คิด นามธรรมที่คิดเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น สติระลึกที่สภาพที่คิด

    ถ. ที่เป็นนิมิตนี้เป็นอย่างไร ที่เป็นนิมิตอนุพยัญชนะ

    สุ. หมายความถึงเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ซึ่งจะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิต ที่นึกถึงรูปร่างสัณฐาน มิฉะนั้นจะถ่ายถอนความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล จากสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้เลย ถ้าไม่รู้ว่าปรมัตถธรรม คือ สภาพที่เพียงปรากฏทางตาโลกหนึ่ง และทางใจก็คิดนึกสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เพราะว่าปรมัตถธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ทางใจเมื่อเห็นแล้วก็ตรึกนึกคิดในสิ่งที่ปรากฏ ในรูปร่างสัณฐาน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕๘ ตอนที่ ๑๕๗๑ – ๑๕๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 93
    28 ธ.ค. 2564