แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103


    ครั้งที่ ๑๐๓


    ท่านพระสารีบุตรกล่าวต่อไปว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ อันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว ชนทั้งหลายยังเห็น ยังได้ฟังอยู่ แม้เธอจะได้อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ ทรงคฤหบดีจีวร ถึงอย่างนั้นเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น

    เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ เป็นของหมดจดผ่องใส เจ้าของใส่ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ที่เลือกเอาของดำออกแล้ว แกงและกับหลายอย่างจนเต็มภาชนะสัมฤทธิ์นั้น ปิดด้วยภาชนะสัมฤทธิ์อื่น แล้วเอาไปยังร้านตลาด ชนเห็นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า

    ดูกร ท่านผู้เจริญ สิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร คล้ายของที่น่าพอใจยิ่ง พึงลุกขึ้นเปิดภาชนะสัมฤทธิ์นั้นดู พร้อมกับการเห็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีขาวสะอาด มีแกงและกับหลายอย่างนั้น ก็เกิดความพอใจ ความไม่เกลียดชัง แม้คนที่บริโภคอิ่มแล้ว ก็ยังปรารถนาบริโภค ไม่ต้องกล่าวถึงคนหิว ฉันใด

    ภิกษุที่แม้จะอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ ทรงคฤหบดีจีวร แต่ว่าละ อิจฉาวจระที่เป็นบาปอกุศลได้แล้ว เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น

    เป็นเรื่องของสถานที่หรือไม่ เป็นเรื่องของการละกิเลสทั้งนั้นที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ

    ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย เถรีคาถา เอกนิบาต ซึ่งเป็นเถรีคาถาแรกในเถรีคาถาเอกนิบาต มีข้อความว่า

    ได้ยินว่า ภิกษุณีรูปหนึ่งผู้ไม่ปรากฏชื่อ ได้ภาษิตคาถาไว้อย่างนี้ว่า

    ดูกร พระเถรี ท่านจงทำไตรจีวรด้วยท่อนผ้า แล้วนุ่งห่มให้สบายเถิด เพราะว่าราคะของท่านสงบระงับแล้ว ดุจน้ำผักดองอันแห้งในหม้อ ฉะนั้น

    ประวัติของท่านมีว่า

    นานมาแล้วท่านเป็นธิดาของตระกูลที่มีความเลื่อมใสในพระธรรม ในสมัยพระโกนาคมนสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเจริญกุศลและบำรุงพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ท่านเกิดในเทวโลก แล้วก็เกิดเป็นมนุษย์อีก ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

    หลังจากชาตินั้นท่านก็เกิดในสวรรค์อีก จนถึงสมัยของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ซึ่งในชาติสุดท้ายท่านเกิดในตระกูลมหาอำมาตย์ ในพระนคร เวสาลี ท่านเป็นภรรยาของผู้มีตระกูลสูง เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึงพระนคร เวสาลี ท่านเลื่อมใสในพระธรรม เป็นอุบาสิกา และเมื่อได้ฟังธรรมของพระมหาปชาบดีโคตมีแล้ว ก็ใคร่ที่จะได้บวชเป็นภิกษุณี แต่สามีของท่านไม่ยินยอม ท่านจึงปฏิบัติหน้าที่ของท่านต่อไปด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใส ระลึกถึงพระธรรม และเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังทำอาหารอยู่ในครัว ไฟในเตาที่ท่านตั้งหม้อแกงไว้ลุกขึ้น ทำให้น้ำผักดองในหม้อแห้งไป ขณะที่ท่านเห็นเช่นนั้น ก็เป็นสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ประจักษ์ความไม่เที่ยงของสังขารธรรมทั้งหลาย และบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ตั้งแต่นั้นท่านก็ไม่ประดับประดาตกแต่งร่างกายด้วยเพชรนิลจินดา หรือว่าเครื่องประดับประดาตกแต่งต่างๆ เลย

    เมื่อสามีถามท่านว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ท่านก็ตอบว่า ท่านมีชีวิตอย่างผู้ครองเรือนต่อไปอีกไม่ได้แล้ว สามีก็พาท่านไปสู่สำนักพระมหาปชาบดีโคตมี และขอให้ท่านพระมหาปชาบดีโคตมีบวชให้ เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีให้อุปสมบทแล้วก็ได้พาท่านไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

    พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์คุณธรรมที่ท่านได้บรรลุอริยสัจธรรมแล้ว ด้วยพระคาถาว่า

    ดูกร พระเถรี ท่านจงทำไตรจีวรด้วยท่อนผ้า แล้วนุ่งห่มให้สบายเถิด เพราะว่าราคะของท่านสงบระงับแล้ว ดุจน้ำผักดองอันแห้งในหม้อ ฉะนั้น

    เมื่อพระเถรีได้บรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ได้กล่าวตามพระ ดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสพยากรณ์แก่ท่าน ด้วยเหตุนี้ คาถานั้นจึงเป็นคาถาของพระเถรี

    การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน บางท่านตอนแรกๆ ก็อาจจะคิดว่า ขณะนั้นสติไม่เกิดเลย แต่อย่าคิดว่าสติจะเกิดไม่ได้ หรือว่าปัญญาจะรู้ไม่ได้ ยังไม่เกิด เพราะยังไม่ได้อบรม แล้วปกติของปุถุชนนั้นมากด้วยกิเลสจึงหลงลืมสติ แต่เป็นผู้ที่อบรมให้สติเกิดขึ้น แล้วปัญญาก็ค่อยๆ รู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏตามความเป็นจริง

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สัปปุริสสูตร มีข้อความตอนหนึ่งว่า

    ณ พระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระภิกษุ ทรงแสดงสัปปุริสธรรมกับท่านพระภิกษุเหล่านั้นว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตนข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรนั้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ส่วนสัตบุรุษแลย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรม คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติต่อภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรนั้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม

    ข้อความต่อไปเป็นเรื่องที่อสัตบุรุษทรงผ้าบังสกุลเป็นวัตร ซึ่งกิเลสนั้นย่อมไม่หมดไปเพราะความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

    อสัปบุรุษเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ซึ่งกิเลสก็ย่อมไม่หมดไป เพราะความเป็นผู้ เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

    อสัปบุรุษอยู่โคนไม้ กิเลสย่อมไม่หมดไปเพราะความเป็นผู้อยู่โคนไม้

    อสัปบุรุษอยู่ป่าช้า กิเลสย่อมไม่หมดไปเพราะความเป็นผู้อยู่ป่าช้า

    นอกจากนั้นเป็นเรื่องของธุดงค์ การขัดเกลานานาประการ และพระผู้มีพระภาคยังได้ตรัสถึง อสัปบุรุษที่ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานไปจนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แล้วตรัสว่า

    กิเลสย่อมไม่หมดไป เพราะปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เรื่อยไปจนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

    กิเลสเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ลึกมาก ถึงแม้ว่าจะอยู่ป่าเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกลเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร อยู่ป่าช้าเป็นวัตร แต่ถึงอย่างนั้นกิเลสย่อมไม่หมด เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ทรงผ้าบังสกุลเป็นวัตร บิณฑบาตเป็นวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร อยู่ป่าช้าเป็นวัตร หรือแม้จะได้ ฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานไปจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็ไม่ทำให้กิเลส หมดไปได้

    ถ้าเช่นนั้นประพฤติปฏิบัติเช่นไร กิเลสจึงจะหมดไปได้ เพราะเหตุว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ละเอียดแล้วก็ลึกมาก ถ้าไม่รู้ชีวิตจริงๆ เป็นปกติ ที่มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นเป็นไปแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะละคลายกิเลสได้เลย

    ข้อความตอนท้ายมีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

    ทรงกล่าวให้ไปอยู่ป่าหรือไม่ บางทีท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่า ในขณะที่เจริญสติปัฏฐานนั้นพูดไม่ได้ คิดอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ในขณะที่พูดเป็นนามหรือเปล่า เป็นรูปหรือเปล่า ปกติคิดหรือเปล่า หรือใครคิดจะห้ามใครว่าไม่ให้คิด หรือบางท่านอาจจะคิดว่า ถ้าคิดแล้วก็ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น ขณะใดที่คิดขึ้นมาจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นเป็นอนัตตา ความคิดเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ใครรู้ ผู้เจริญสติจึงจะรู้ ผู้หลงลืมสติไม่รู้ ผู้ที่บังคับไว้ก็ไม่รู้ เป็นตัวตนที่บังคับ ที่กั้นไว้

    ขุททกนิกาย เถรีคาถา อัญญตราเถรีคาถา ซึ่งเป็นคาถาของมารดาท่านพระสุมังคละ มีข้อความที่จะให้เห็นว่า มารดาของท่านพระสุมังคละนั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะไหน ท่านเป็นผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้วในอดีต

    ในสมัยพระผู้มีพระภาคสมณโคดมพระองค์นี้ ท่านเกิดในตระกูลยากจนขัดสน ในพระนครสาวัตถี ท่านมีบุตรชายคนโต ซึ่งภายหลังได้เป็นพระอรหันต์ คือ ท่านพระสุมังคละเถระ สำหรับตัวท่านเองนั้นไม่ปรากฏนาม นอกจากเรียกกันว่า มารดาท่านพระสุมังคละ

    ภายหลังที่ท่านบวชเป็นภิกษุณีแล้ว วันหนึ่งขณะที่ท่านระลึกถึงความทุกข์ยาก เมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ ท่านรู้สึกเศร้าใจ ขณะนั้นเกิดญาณปัญญา บรรลุอรหันต์ แล้วได้กล่าวคาถาว่า

    เราพ้นแล้ว พ้นแล้วด้วยดี เป็นผู้พ้นดีแล้วจากสาก จากสามีผู้หาความละอายมิได้ซึ่งเราไม่ชอบใจ จากการทำร่มของสามีที่เราไม่ชอบใจ จากหม้อข้าว จากความขัดสน เราได้ตัดราคะ และโทสะขาดแล้ว เราเข้าไปอาศัยโคนไม้ เพ่งฌานอยู่โดยความสุขว่า สุขหนอ คิดถึงอดีตเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ เมื่อครั้งที่ได้รับความทุกข์ยากนานาประการ แล้วก็บรรลุอรหันต์ในขณะนั้น

    สำหรับคาถาของท่านพระสุมังคลเถระ ซึ่งเป็นบุตรของอัญญตราเถรีภิกขุณี มีข้อความว่า

    เราพ้นดีแล้ว เราพ้นดีแล้ว เราเป็นผู้พ้นดีแล้วจากความค่อมทั้ง ๓ คือ เราพ้นแล้วจากการเกี่ยวข้าว จากการไถนา จากการถางหญ้า ถึงแม้ว่ากิจมีการเกี่ยวหญ้าเป็นต้น จะอยู่ในที่ใกล้ๆ เรานี้เอง แต่ก็ไม่สมควรแก่เราทั้งนั้น ท่านจงเจริญฌานไปเถิด สุมังคละ จงเจริญฌานไปเถิด สุมังคละ ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เถิด สุมังคละ

    ฟังผิวเผินก็อาจจะสงสัยว่า ใครเป็นผู้พูด พูดกับใคร แล้วทำไมพูดกับตัวเองอย่างนี้ และข้อความนั้นก็ดูเหมือนกับให้เป็นผู้ที่เจริญฌาน

    เป็นชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน ไม่ว่าผู้นั้นจะเคยเจริญอบรมอานาปานสติ หรือเป็นมหัคคตจิต เคยเจริญฌาน ได้ฌาน อบรมมาแล้วอย่างไร สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว เป็นปกติธรรมดา จะกล่าวว่าเจริญสติปัฏฐานอย่างเดียวไม่ได้ ให้ทาน รักษาศีล กระทำกิจการงานทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ในขณะนั้นเจริญสติด้วย

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สัตติสูตรที่ ๑ (ข้อ ๕๖) มีข้อความว่า

    เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่แล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

    ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่อละกามราคะ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอกมุ่งถอนเสีย และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะมุ่งดับไฟ ฉะนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า

    ภิกษุพึงมีสติ เว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ

    เทวดาเข้าใจว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบเพื่อละกามราคะ พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ

    บางคนกลัวเหลือเกินว่า นี่เป็นโลภะ กิจการใดที่กระทำไป เพราะเป็นปัจจัยที่สะสมมาให้กระทำเช่นนั้นก็กระทำ แต่เจริญสติรู้ลักษณะของนาม รู้ลักษณะของรูปตามความเป็นจริง เพื่อละสักกายทิฏฐิ

    ไม่ว่าท่านผู้ใดจะเคยเข้าใจอย่างไร ก็ขอให้ได้พิจารณาธรรม ที่เทวดากล่าวคาถาทูลพระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาซึ่งมีความต่างกันกับเทวดา แต่โดยความเพียรแล้วเหมือนกัน

    เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ เป็นผู้ที่ถูกประหารด้วย ราคะ โทสะ โมหะ อยู่เสมอในวันหนึ่งๆ

    แต่ถ้าไม่เจริญสติก็ไม่รู้ เพียงเห็นวัตถุ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความชอบ โลภะ อีกอย่างหนึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความไม่ชอบ โทสะ รวดเร็วเหลือเกิน ทางตา ไปทางหู ไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นผู้ที่ถูกประหารด้วยโลภะ โทสะ โมหะอยู่ตลอดเวลา จึงควรมีสติเพื่ออันละสักกายทิฏฐิ เหมือนบุรุษที่ถูกประหารด้วยหอก และเหมือนบุรุษที่ถูกไฟไหม้บนศีรษะ

    แสดงให้เห็นว่า ไม่ควรรีรอ สติควรเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มหาสุญญตสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอานนท์มีข้อความว่า

    ดูกร อานนท์ หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะจงกรม เธอย่อมจงกรมด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสจักไม่ครอบงำเราผู้จงกรมอยู่อย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการจงกรม

    ในขณะเดิน รู้นามอะไร รู้รูปอะไร เป็นปกติธรรมดาทุกอย่าง คนกำลังเดิน เห็นไหม ได้ยินไหม ได้กลิ่นไหม รสอาจจะปรากฏได้ไหม เย็น ร้อน อ่อน แข็ง คิดนึก สุขทุกข์ ซึ่งเป็นของจริงมีไหม เธอย่อมจงกรมด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสจักไม่ครอบงำเราผู้จงกรมอยู่อย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการจงกรม

    ขอให้สังเกตพยัญชนะที่ว่า อกุศลธรรมลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสจักไม่ครอบงำเรา ไม่ใช่ว่าไม่เกิด เกิดได้ สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น จึงจะชื่อว่า อภิชฌาและโทมนัสไม่ครอบงำ

    แต่ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะนั้น ก็เป็นด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ก็ถูกครอบงำด้วยอภิชฌาและโทมนัส เพราะฉะนั้น เวลาที่กำลังเดิน แล้วให้รู้สึกตัวในขณะที่เดิน ในมหาสติปัฏฐานก็มี แต่เพื่อให้เข้าใจว่า การรู้สึกตัวในขณะเดินนั้นคืออย่างไร ข้อความในสูตรนี้ ก็ได้แสดงให้ทราบแล้ว

    สำหรับข้อความต่อไป ก็โดยนัยเดียวกัน มีข้อความว่า

    หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะนอน เธอย่อมนอนด้วยใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามก คือ อภิชฌาและโทมนัสจักไม่ครอบงำเราผู้นอนอยู่อย่างนี้ได้ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการนอน

    ในขณะที่นอน รู้นามอะไร รู้รูปอะไร จะเป็นทางตาก็ได้ หูก็ได้ จมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ ใจก็ได้ แต่เป็นผู้ที่อภิชฌาและโทมนัสไม่ครอบงำ เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    สำหรับเรื่องการยืน การนั่ง ก็โดยนัยเดียวกัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑ ตอนที่ ๑๐๑ – ๑๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ