แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83


    ครั้งที่ ๘๓


    ถ. บางอาจารย์อธิบายว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่ให้สติไปจดจ้องอารมณ์ใดๆ ให้อยู่เฉยๆ ปล่อยให้เกิดสติรู้สึกขึ้นมาเอง เพราะสติเป็นอนัตตา จะบังคับให้เกิดไม่ได้ ทำให้สงสัยว่า สติจะเกิดขึ้นได้เองหรือ

    สุ. ธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตาใช่หรือไม่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นสติ ไม่ว่าจะเป็นเห็น ไม่ว่าจะเป็นได้ยิน ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นสังขารธรรม อาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งทำให้เกิดขึ้น ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

    สติเป็นสังขารธรรมด้วย ทุกอย่างที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัย การเห็นก็ต้องมีเหตุปัจจัย โลภะก็ต้องมีเหตุปัจจัย โทสะก็ต้องมีเหตุปัจจัย

    ถ้าไม่เคยฟังธรรมเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเคยเกิดมาก่อนไหม ก็ไม่เคย และเวลาที่ฟังธรรม ในขณะที่ฟังเข้าใจ อยากจะให้สติเกิด สติจะเกิดขึ้นเพราะความอยากได้ไหม ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีการฟัง มีความเข้าใจ เห็นคุณ เห็นประโยชน์ของสติ ได้ฟังธรรมกถาเรื่องของวิริยะ เรื่องให้เกิดศรัทธา มีฉันทะในการที่จะเจริญสติแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ถึงสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟัง เมื่อมีความเข้าใจประกอบด้วยสติในขณะนั้น ก็พิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    จะให้มีใครไปทำ จะเอาตัวตนมาทำอีกหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่สามารถละการเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ การละการยึดถือสติว่าเป็นตัวตนก็ด้วยการรู้ลักษณะของธรรมชาติทั้งหลายว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ไม่ใช่มีตัวตนไปเจริญสติ

    สติเป็นอนัตตา อาศัยเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น ไม่ใช่ให้มีตัวตนไปบังคับให้สติเกิด ถ้าเป็นโดยในลักษณะนั้นแล้ว ก็ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

    ขอกล่าวถึง มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาโดยตรงจากพระสูตร ข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตรมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในแคว้นกุรุ มีนิคมหนึ่งของแคว้นกุรุ ชื่อว่า กัมมาสทัมมะ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้ว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงซึ่งความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

    พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

    พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

    พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑

    จบ อุทเทสวารคาถา

    อุทเทสวารคาถา หมายความว่า ข้อความเบื้องต้นเป็นข้อความโดยย่อ ยังไม่ใช่คำอธิบายโดยละเอียด

    ในอุทเทสวาระชัดเจนอยู่แล้วที่ว่า หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔

    สิ่งที่ปรากฏมีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ละลักษณะต้องมีสติระลึกรู้ลักษณะนั้นถูกต้องชัดเจนตามความเป็นจริง ไม่หลงเข้าใจธรรมอย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง และการที่จะรู้ชัดอย่างนี้ได้ อย่างข้อที่ว่า หนทางนี้เป็นหนทางอันเอก คือ การเจริญสติปัฏฐาน บางท่านสงสัยว่าการเจริญสตินี้เป็นมรรคมีองค์ ๘ ใช่ไหม คือ ยังคิดว่ามรรคมีองค์ ๘ กับสติปัฏฐานนั้นแยกกัน แต่ความจริงไม่แยกกันเลย

    การที่มีสติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญาเพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อยเป็นการเจริญมรรคที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะเหตุว่าการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั้นก็คือ การรู้แจ้งสภาพลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ใช่รู้อย่างอื่น มีท่านผู้ใดที่คิดว่าจะเป็นการรู้อย่างอื่นนอกจากที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึกเหล่านี้ไหม เพราะเหตุว่าบางท่านนั้นคิดว่า การรู้แจ้งอริยสัจนั้นรู้อย่างอื่น

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วิรัทธสูตร ข้อ ๘๐๑ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ไม่ปรารภอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ปรารภอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

    แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงสติปัฏฐาน ๔ คือ การพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรมนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น บางท่านสงสัยนักว่า การเจริญสติปัฏฐานปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันนั้นจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจได้หรือ เป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือ ซึ่งท่านก็คงจะหมดความสงสัยได้เมื่อได้อ่านและพิจารณาข้อความในวิรัทธสูตรนี้ว่า ทางที่จะบรรลุอริยสัจจธรรม รู้แจ้งสภาพของนิพพานได้นั้นต้องมีปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก่อน และถ้ามีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องของการเจริญสติว่า เป็นการเจริญภาวนาเพื่อให้เกิดปัญญารู้ลักษณะของธรรมชาติที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ปนกับการเจริญสมาธิ ก็จะไม่มีปัญหาเลย

    บางท่านคงจะอ่านมหาสติปัฏฐานสูตร แต่ด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้นมีอานาปานสติด้วย มีกายคตาสติด้วย มีจตุธาตุววัฏฐาน คือ การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ และมีอสุภะด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหมวดของสมถภาวนา ก็ทำให้คิดว่า อานาปานสติก็ดี กายคตาสติก็ดี จตุธาตุววัฏฐานก็ดี อสุภกัมมัฏฐานก็ดีเหล่านั้น ท่านต้องเจริญสมาธิเสียก่อน ต้องให้ได้ฌานจิตเสียก่อน แล้วจึงจะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ นี่เป็นความเข้าใจของท่านเอง

    ในพระไตรปิฎกได้บัญญัติศัพท์แยกกัน สำหรับการเจริญอานาปานสติที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานในหมวดของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ใช้พยัญชนะอย่างหนึ่ง แต่พอถึงการเจริญอานาปานสติที่เป็นการเจริญสมถภาวนาใช้คำว่า อานาปานสติสมาธิ แยกกัน เพราะในการเจริญอานาปานสติโดยนัยของสมถภาวนานั้น สมาธิเป็นประธาน ถือสมาธิเป็นใหญ่ ถือความตั้งมั่นของจิตที่ลมหายใจเพื่อให้สงบจนกระทั่งเกิดนิมิตบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จนถึงปัญจมฌาน

    แต่ในการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้น เวลาที่ถึงข้อความนิทเทสวาระของ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะพบว่าไม่มีข้อความอย่างนั้นเลย และในพระสูตรอื่นๆ ทรงแสดงไว้ชัดว่า อานาปานสติสมาธินั้นเจริญอย่างไรจึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หมายความว่าเมื่อผู้ใดเคยเจริญอานาปานสติโดยนัยของสมถภาวนาแล้ว การเจริญ อานาปานสติสมาธินั้นจะมีผลมาก มีอานิสงส์มากด้วยการเจริญอย่างไรต่อไป นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ กายคตาสติ หรืออสุภะก็ตาม การระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจของส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือของความเป็นอสุภะนั้น ต่างกับสมถภาวนา เพราะเพียงเป็นเครื่องระลึกเท่านั้น เมื่อลมหายใจเป็นส่วนของกาย ก็รวมอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วย

    ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้ทรงแสดงส่วนของกายตั้งแต่ที่ละเอียดที่สุด คือ ลมหายใจ เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ทุกคนที่ยังมีชีวิต ยังยึดถือรูปร่างกายว่าเป็นตัวตนนั้น ส่วนของกายที่ละเอียดที่สุด คือ ลมหายใจ

    เพราะฉะนั้น ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทรงแสดงทุกส่วนของกายที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นบรรพต่างๆ เริ่มตั้งแต่ลมหายใจ อานาปานะ ไปจนกระทั่งถึงอสุภะที่เป็นกระดูกที่ป่นเป็นผงก็ยังเป็นส่วนของกาย กระดูกของใคร ไม่พิจารณาก็เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น ทุกส่วนที่เนื่องกับกายรวมอยู่ในกายานุปัสสนาทั้งสิ้น แต่การพิจารณานั้นไม่ใช่โดยลักษณะของสมถภาวนา แต่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน

    ถ้าท่านเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็คงจะไม่สงสัยข้องใจว่า ธรรมชาติใดๆ ก็ตามที่มีจริงเป็นเครื่องให้สติระลึกรู้ลักษณะสภาพนั้นถูกต้องตามความเป็นจริงได้ทั้งสิ้น ไม่ยับยั้งปัญญาว่า อย่ารู้ รู้ไม่ได้ ไม่ควรจะรู้ นั่นไม่ใช่เรื่องของการเจริญปัญญาแต่เป็นเรื่องของอวิชชา พอกพูนอวิชชาไม่ให้รู้สิ่งนั้นไม่ให้รู้สิ่งนี้ ก็ยังคงไม่รู้ต่อไป

    เพื่อที่จะขยายความในมหาสติปัฏฐาน ขอกล่าวถึง พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังค์ ซึ่งเป็นการขยายมหาสติปัฏฐานในสติปัฏฐานวิภังค์ที่ว่า เราทุกคนมีกาย และการเจริญสติระลึกที่กาย เห็นกายในกายนั้นคืออย่างไร คำอธิบายมีว่า

    เห็นกายในกาย คือ ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องต่ำ

    เว้นส่วนหนึ่งส่วนใดไหม ไม่เว้น นอกจากนั้นในสติปัฏฐานวิภังค์ยังได้กล่าวถึงการเห็นกายในกายที่เป็นภายใน คือที่ตน กับที่เป็นภายนอก คือที่บุคคลอื่น ก็เป็นเครื่องให้สติระลึกได้

    เพราะฉะนั้น มหาสติปัฏฐานสูตร ชื่อก็บอกแล้ว กว้างขวางมาก ทุกสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ สามารถที่จะเป็นเครื่องให้สติระลึกได้ทั้งสิ้น กายของตนเองตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไปเบื้องบน ตั้งแต่ปลายผมลงมาเบื้องต่ำ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้สติระลึกได้ ถ้าได้ฟังได้เข้าใจ ก็สามารถระลึกได้ถูกต้อง

    นอกจากนั้น กายของคนอื่นสามารถที่จะทำให้สติเกิดขึ้น ระลึกถึงความเป็น อสุภะ ความเป็นปฏิกูล ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ นี่เป็นข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ควรที่จะได้ศึกษาด้วยความละเอียด

    อย่างที่กายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง สติเกิด จะระลึกขึ้นมาที่ผมได้ไหม ก็ได้ ผมคนอื่นได้ไหม ก็ได้ เล็บของตัวเองได้ไหม ก็ได้ เล็บคนอื่นได้ไหม ก็ได้อีกเหมือนกัน และการระลึกนั้นเป็นกุศล เพราะฉะนั้น อย่าจำกัดสติ

    ที่ว่า สำหรับหนทางนี้ เป็นที่ไปอันเอก คงจะไม่มีความสงสัย และที่ว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ

    ไม่ได้ระลึกได้บ่อยเลย ทั้งๆ ที่กายไม่เคยห่าง ไม่ว่าจะไปที่ไหน นั่งที่ไหน นอนที่ไหน ยืนที่ไหน เดินที่ไหน ก็มีกายอยู่ตลอดเวลา แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ระลึก เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกรู้ลักษณะของกาย จึงต้องอาศัยความเพียร ความเพียรที่นี่ไม่ใช่ความเพียรที่ไปทำให้ผิดปกติ ไม่ใช่ความเพียรจดจ้อง เพื่อจะให้รู้การเกิดดับตามความต้องการ แต่เพียรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่กาย ถ้าเป็นในหมวดของกาย ก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏที่กายบ่อยๆ เนืองๆ เพิ่มขึ้นมากขึ้นตลอดชีวิตจนกว่าปัญญาจะรู้ชัด

    ที่ว่าเป็นสัมมาวายามะ เป็นความเพียรชอบ เป็นความเพียรอย่างยิ่งนั้น คือเพียรทุกขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดอารมณ์

    สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กำลังเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางหู กำลังได้ยิน สิ่งที่กำลังปรากฏทางจมูก กำลังได้กลิ่น มีความเพียรอย่างนี้ชื่อว่า เป็นความเพียรอย่างยิ่ง

    และกว่าจะรู้ได้ จะนานไหมที่จะประจักษ์การเห็นที่กำลังเห็นนี้ว่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เสียงที่ปรากฏเกิดแล้วก็ดับ ได้ยินลักษณะอีกชนิดหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ การรู้เรื่องของความหมายนั้นเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ความชอบความไม่ชอบเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไป

    ต้องเป็นความเพียรอย่างยิ่งจริงๆ จึงจะสามารถรู้ชัดในสิ่งที่ปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้

    ไม่ว่าจะเป็นในบรรพใด ในอนุปัสสนาหมวดใด มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเพียรที่จะระลึกพิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ กี่ภพกี่ชาติก็ไม่ประจักษ์ในสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม ก็จะต้องมีความเพียรอย่างนี้แหละ คือ เพียรรู้

    กำลังเฉยๆ ความรู้สึกเฉยๆ เป็นของจริง เคยระลึกได้บ้างไหมว่า เป็นแต่เพียงความรู้สึกลักษณะหนึ่งเท่านั้น หรือเวลาที่เป็นสุข เคยระลึกได้บ้างไหมว่า ก็เป็นเพียงสภาพความรู้สึกชนิดหนึ่งเท่านั้น เวลาที่ความทุกข์เกิดขึ้นเคยระลึกได้บ้างไหมว่า เป็นสภาพความรู้สึกชนิดหนึ่งเท่านั้น

    เพียรระลึกรู้ความรู้สึกที่เกิดปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเฉยๆ ความรู้สึกดีใจ ความรู้สึกเสียใจว่า สภาพความรู้สึก ลักษณะในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพื่อจะได้รู้ชัดในความเกิดขึ้นและดับไปของความรู้สึกต่างๆ

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเจริญสมาธิ หลายท่านที่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐานแล้วก็เสียดายเวลาของท่านที่ไปนั่งหลับตา และกล่าวว่า แทนที่จะไปนั่งหลับตาจดจ้องอยู่ที่อารมณ์เดียวแล้วไม่รู้อะไร ทำไมไม่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะถ้าจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดอารมณ์เดียวแล้วก็ไม่รู้อารมณ์อื่น

    เป็นของที่แน่นอนว่า การที่จะมีปัญญารู้ชัด สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏมากจึงจะเป็นมหาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น การเจริญสมาธิรู้ที่ลมหายใจเท่านั้น เป็นอานาปานสติสมาธิ ไม่รู้อย่างอื่นเลย แต่เวลาที่อานาปานสติสมาธิเจริญอย่างไรจึงมีอานิสงส์มาก อานาปานสติสมาธินั้นจะต้องมีสติ เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมจึงจะเป็นการเจริญอานาปานสติสมาธิที่มีผลมากมีอานิสงส์มาก มิฉะนั้นก็จะเป็นการเจริญเพียงอานาปานสติสมาธิที่บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน

    แต่อาปานสติสมาธิที่เป็นสติปัฏฐาน จะต้องเห็นกายในกาย ขณะหายใจออกขณะหายใจเข้า เห็นเวทนาในเวทนาขณะหายใจออกขณะหายใจเข้า

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานและคิดว่าต้องรู้อารมณ์เดียว จะเป็นการเจริญปัญญาได้ไหม ไม่มีหนทางเลยที่ปัญญาจะเจริญขึ้น ละอะไรก็ไม่ได้ ยังยินดีพอใจจดจ้องต้องการ ไม่ใช่เป็นการเจริญมหาสติปัฏฐานแน่



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ