แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70


    ครั้งที่ ๗๐


    ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร มีข้อความว่า

    ขันติ คือ ความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพาน เป็นธรรมอย่างยิ่ง

    ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย

    การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑

    ๖ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    . น่าสงสัยในพระปาติโมกข์ประการแรกที่ว่า ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง เป็นความเพียรเผากิเลส หรือว่าเป็นความเพียรละกิเลส เพื่อให้มีการหน่ายบาปด้วยความเพียรนั้น เป็นตบะอย่างยิ่งอย่างไร

    สุ. คอยผลของการเจริญสติไหวไหม ต้องอดทนมากไหม การที่จะ เจริญสติ เพื่อให้ปัญญาเพิ่ม ความรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต้องอดทนมากไหมที่จะต้องรอคอยผลที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าปัญญารู้แจ้งพระนิพพานนั้นช้ายิ่งกว่าการปลูกต้นไม้ใหญ่สักต้นหนึ่ง ต้องอดทนในการรอคอยผล โดยมากคอยไม่ไหว อดทนไม่ได้ อยากได้ผลเร็วๆ ไม่อดทนที่จะพิจารณาลักษณะของนามและรูปแต่ละวัน แต่ละขณะที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ต้องอดทนจริงๆ ต้องมีความเพียรที่จะระลึกรู้ พิจารณานามที่กำลังปรากฏในขณะนี้ รูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพียรไป อดทนไป นี่เป็นคำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่จะหวังผลให้รู้แจ้งธรรมได้โดยไม่เจริญสติ ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป พิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏ ท่านย่อมรู้ลักษณะของความอดทนว่า ต้องอดทนมากน้อยแค่ไหน แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญว่า ขันติ คือ ความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง ไม่ใช่เร่งรัดให้ทำอย่างอื่นเลย แต่ทรงสรรเสริญว่า ขันติ ความอดทน เป็นตบะอย่างยิ่ง

    ตบะ คือ ความเพียรที่จะละกิเลส เพื่อให้หน่ายบาปได้ ด้วยความเพียรนั้น คลายจากอวิชชา คลายจากความไม่รู้ คลายจากความเห็นผิด ที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน

    พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยต้องอดทน ละเว้นการทำบาปทั้งสิ้น อดทนที่จะยังกุศลให้ถึงพร้อม อดทนที่จะทำจิตของตนให้ผ่องใส ขาดความอดทนไม่ได้เลย ถ้าขาดความอดทนก็เป็นอกุศล แล้วก็กระทำบาปไปทันทีได้ เพราะขาดความอดทน

    การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความ เพียรในอธิจิต ๑

    ๖ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

    การไม่กล่าวร้ายก็ต้องอาศัยความอดทนเหมือนกัน การไม่ทำร้ายผู้อื่นก็ต้องอาศัยความอดทนอีกเช่นกันเดียวกัน ความสำรวมในพระปาติโมกข์สำหรับพระภิกษุก็ต้องอาศัยความอดทนมาก ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหารก็ต้องอดทนอีก

    ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ บางท่านก็อาจจะสงสัยในพยัญชนะนี้ได้ แต่ผู้ที่เจริญสติมีความอดทนที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นที่ใด ขณะไหนก็ตาม ไม่รำคาญ ไม่กระวนกระวายที่จะไปหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอื่นใดที่ไม่มีอยู่ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ท่านสามารถอยู่ผู้เดียวได้ ในที่ใดก็ได้ จะเป็นบ้านของท่านเอง หรือสถานที่หนึ่งที่ใด ไม่มีบุคคลอื่นมากหน้าหลายตา ที่นั้นเป็นที่นอนที่นั่งอันสงัด ท่านมีฉันทะ มีความพอใจที่จะพิจารณานามและรูปตามปกติที่ปรากฏในขณะนั้น ผู้ที่ละความต้องการในนามรูปอื่นที่ไม่ปรากฏในขณะนั้น หรือผู้ที่ละความต้องการในนามรูป ใดๆ ทั้งสิ้นแล้วนั้น เป็นผู้ที่นั่งสบาย นอนสบาย มีปกติอยู่สบาย ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด ที่นั้นก็เป็นที่สงัดจากความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ มีความสงบ มีความสงัดมากขึ้น ซึ่งเป็นความสงบสงัดจากความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ได้รับทราบจากท่านที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันว่า ชีวิต ของท่านเหล่านั้นเปลี่ยนไปมากทีเดียว ตามปกติไม่สามารถจะอยู่ตามลำพังได้ ต้องแวดล้อมด้วยเพื่อนฝูงวงศาคณาญาติ บริวารทั้งหลาย แต่เมื่อท่านเริ่มเจริญสติปัฏฐานแล้ว สามารถที่อยู่คนเดียวได้ เป็นที่สงบสงัดที่หนึ่งที่ใดก็ได้ เพราะเหตุว่าพิจารณาลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ โดยที่ไม่ได้ต้องการแสวงหานามรูป รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ ที่ไม่ปรากฏในขณะนั้น

    เวลาที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานอยู่คนเดียวอยู่ยาก จะต้องมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ แวดล้อมพัวพันด้วยความต้องการ ไม่ใช่เป็นผู้ที่สงบสงัด เพราะฉะนั้น ที่นั้นถึงแม้ว่าจะเงียบสงบสงัด ก็ไม่ใช่ที่สงบสงัดจริงๆ เพราะเหตุว่ามีความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏัพพารมณ์อยู่ด้วย แต่ที่ใดที่ผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้จะอยู่ตามลำพัง ก็ไม่เดือดร้อน มีฉันทะมีความพอใจในที่นอนที่นั่งอันสงัดได้

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อลคัททูปมสูตร ข้อ ๒๗๔ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    บุรุษเปล่าบางพวกในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ บุรุษเปล่าเหล่านั้น เล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นย่อมไม่ควรซึ่งการเพ่งแก่บุรุษเปล่าเหล่านั้น ผู้ไม่ไตร่ตรองเนื้อความด้วยปัญญา บุรุษเปล่าเหล่านั้นเป็นผู้มีความข่มผู้อื่นเป็นอานิสงส์ และมีการเปลื้องเสียซึ่งความนินทาเป็นอานิสงส์ ย่อมเล่าเรียนธรรม ก็กุลบุตรทั้งหลาย ย่อมเล่าเรียนธรรมเพื่อประโยชน์อันใด บุรุษเปล่าเหล่านั้นย่อมไม่ได้เสวยประโยชน์นั้น แห่งธรรมนั้น ธรรมเหล่านั้นอันบุรุษเปล่านั้นเรียนไม่ดีแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน

    ข้อนั้น เป็นเพราะอะไร เพราะธรรมทั้งหลายอันตนเรียนไม่ดีแล้ว

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการด้วยงูพิษ เสาะหางูพิษ เที่ยวแสวงหางูพิษ เขาพึงพบงูพิษตัวใหญ่ พึงจับงูพิษนั้นที่ขนดหรือที่หาง งูพิษนั้นพึงแว้งกัดเขาที่มือ ที่แขน หรือที่อวัยวะใหญ่น้อย แห่งใดแห่งหนึ่ง เขาพึงถึงความตาย หรือความทุกข์ปางตาย มีการกัดนั้นเป็นเหตุ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุอะไร เพราะงูพิษตนจับไม่ดีแล้ว ฉันใด

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกบุรุษเปล่าบางพวกในพระธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้น นั่นแล

    คือ ผู้ที่เรียนแล้วไม่ไตร่ตรอง พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่ยาวและมีข้อความที่แสดงให้เห็นความอดทนของพระผู้มีพระภาคว่า แม้พระผู้มีพระภาคจะทรงถูกกล่าวตู่ด้วยมุสาวาทเปล่าๆ อันไม่มีจริง อันไม่เป็นจริงว่า พระสมณโคดมเป็นผู้ให้สัตว์พินาศ ย่อมบัญญัติความขาดสูญ ความพินาศ ความเลิกเกิดแห่งสัตว์ผู้มีอยู่ พระองค์จะกล่าวอย่างใด และไม่กล่าวอย่างใดก็หาไม่ ท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นก็ยังกล่าวตู่พระองค์ นี่เป็นเรื่องที่มีในครั้งพุทธกาล

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมบัญญัติทุกข์และความดับทุกข์ ทั้งในกาลก่อน และในกาลบัดนี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าบุคคลเหล่าอื่นย่อมด่า ย่อมบริภาษ ย่อมโกรธ ย่อมเบียดเบียน ย่อมกระทบกระเทียบตถาคต ในการประกาศสัจจะ ๔ ประการนั้น ตถาคตก็ไม่มีความอาฆาต ไม่มีความโทมนัส ไม่มีจิตยินร้าย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าชนเหล่าอื่นย่อมสักการะ ย่อมเคารพ ย่อมนับถือ ย่อมบูชาตถาคต ในการประกาศสัจจะ ๔ ประการนั้น ตถาคตก็ไม่มีความยินดี ไม่มีความโสมนัส ไม่มีใจเย่อหยิ่ง ในปัจจัยทั้งหลาย มีสักการะเป็นต้นนั้น

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าชนเหล่าอื่นย่อมสักการะ ย่อมเคารพ ย่อมนับถือ ย่อมบูชาตถาคต ในการประกาศสัจจะ ๔ ประการนั้น ตถาคตมีความดำริอย่างนี้ ในปัจจัยทั้งหลาย มีสักการะเป็นต้นนั้นว่า สักการะเห็นปานนี้บุคคลกระทำแก่เรา ในขันธปัญจกที่เรากำหนดรู้แล้วในกาลก่อน

    ซึ่งในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสโอวาทพระภิกษุทั้งหลายว่า แม้ภิกษุก็ควรเป็นเช่นเดียวกับพระองค์ด้วย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย แม้ถ้าว่า ชนเหล่าอื่นพึงด่า พึงบริภาษ พึงโกรธ พึงเบียดเบียน พึงกระทบกระเทียบท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายไม่พึงกระทำความอาฆาต ไม่พึงกระทำความโทมนัส ไม่พึงกระทำความไม่ชอบใจในชนเหล่าอื่นนั้น

    เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย แม้ถ้าว่า ชนเหล่าอื่นพึงสักการะ พึงเคารพนับถือ พึงบูชาท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายไม่พึงกระทำความโสมนัส ไม่พึงกระทำความเย่อหยิ่งแห่งใจ ในปัจจัยทั้งหลาย มีสักการะเป็นต้นนั้น

    ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นท่านทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ท่านทั้งหลายสิ้นกาลนาน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเล่า ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย

    รูป ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นท่านทั้งหลายละได้แล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน

    ต่อไปก็เป็นข้อความโดยนัยเดียวกัน คือ

    เวทนา ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย

    สัญญา ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย

    สังขาร ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย

    วิญญาณ ไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย

    และข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น เป็นไฉน

    ชนพึงนำไป พึงเผา หรือพึงกระทำหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ในพระวิหารเชตวันนี้ ตามความปรารถนา

    ท่านทั้งหลายพึงดำริอย่างนี้บ้างหรือหนอว่า ชนย่อมนำไป ย่อมเผา หรือย่อมกระทำเราทั้งหลาย ตามความปรารถนา

    ซึ่งพระภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบทูลว่า

    ไม่เป็นได้เลย พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ข้อนั้น เป็นเพราะเหตุแห่งอะไร

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะว่านั้นไม่ใช่อัตตา หรือบริขารที่เนื่องด้วยอัตตาของข้าพระองค์ทั้งหลาย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อย่างนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสีย

    แล้วพระผู้มีพระภาค ก็ได้ตรัสซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า

    รูปไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย เวทนาไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย สัญญาไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย สังขารไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย วิญญาณไม่ใช่ของท่านทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ก็ไม่พึงที่จะยึดถือว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นเป็นตัวตน

    สุ. เป็นความอดทนมากไหม

    . อดทน เป็นนามหรือเป็นรูป

    สุ. อดทน เป็นนามหรือเป็นรูป พระพุทธเจ้าที่ยังไม่ปรินิพพาน มีนามมีรูปไหม มี และความอดทนเป็นคุณธรรม เมื่อเป็นคุณธรรม พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีคุณธรรม ทรงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ มีอะไรสงสัยบ้างไหม

    . ขึ้นม้า ทำไมนายฉันนะไม่หล่น

    สุ. ขึ้นม้า ทำไมนายฉันนะไม่หล่น น่าสงสัยเหลือเกิน ม้าก็ออกเร็ว นายฉันนะก็น่าจะตกไปกองอยู่ที่ไหน นายฉันนะจะนั่งอย่างไร จะเกาะหางม้า หลังม้าอย่างไรก็ช่าง แต่ว่าไม่ตก

    นอกจากพระผู้มีพระภาค บรรดาพระภิกษุ ภิกษุณี ก็ต้องมีความอดทนมาก ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมต้องมีความอดทนมากจริงๆ

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรคภิกขุณีสังยุตโสมาสูตรที่ ๒

    ครั้งนั้น เวลาเช้า โสมาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาป ใคร่จะให้โสมาภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาโสมาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกับโสมาภิกษุณี ด้วยคาถาว่า

    สตรี มีปัญญาเพียง ๒ นิ้ว ไม่อาจถึงฐานะ อันจะพึงอดทนได้ด้วยยาก ซึ่งท่านผู้แสวงทั้งหลาย จะพึงถึงได้

    ลำดับนั้น โสมาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ทันใดนั้น โสมาภิกษุณีได้ดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา

    ครั้นโสมาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาป ด้วยคาถาว่า

    ความเป็นสตรีจะทำอะไรได้ เมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อญาณเป็นไปแก่ผู้เห็นธรรมอยู่โดยชอบ ผู้ใดจะมีความคิดเห็นแน่อย่างนี้ว่า เราเป็นสตรี หรือเราเป็นบุรุษ หรือจะยังมีความเกาะเกี่ยวว่า เรามีอยู่ มารควรจะกล่าวกะผู้นั้น

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า โสมาภิกษุณี รู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง

    ต้องอดทนไหม ไม่ว่าในกาลใดๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าที่ไหน ไม่ว่าใครก็ต้องอดทน ถ้าเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรม อดทนทั้งของคำพูดของบุคคลอื่น แล้วก็อดทนที่จะมีความเพียร พิจารณานามและรูป อบรมปัญญาให้แก่กล้า อดทนต่อการที่จะคอยผล ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย

    ทั้งๆ ที่โสมาภิกษุณีนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง แล้วมารก็ได้ไปกล่าวคาถากับโสมาภิกษุณี ทำไมรู้เรื่อง เจริญสติรู้เรื่องได้ไหม รู้เรื่องได้ ไม่น่าสงสัยแล้วใช่ไหม เป็นปกติธรรมดาทุกอย่าง แม้ขณะที่รู้นั้นก็เป็นนามชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ติด ไม่ยึด ไม่ถือว่า เป็นสตรีหรือเป็นบุรุษ เป็นแต่เพียงสภาพของนามธรรมแต่ละชนิด ในพระสูตรมีข้อความซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับพุทธบริษัทในสมัยนี้ที่จะช่วยให้มีความอดทนมากๆ

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรคภิกขุณีสังยุต วิชยาสูตร ที่ ๔ ข้อความก็คล้ายคลึงกัน คือ

    ครั้งนั้นเวลาเช้า วิชยาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวร แล้วไปบิณฑบาต ปัจฉาภัตแล้ว กลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง

    ลำดับนั้นมารผู้มีบาป ใคร่ที่จะให้วิชยาภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหา

    วิชยาภิกษุณี ถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกับวิชยาภิกษุณีด้วยคาถาว่า

    เธอยังเป็นสาว มีรูปงาม และฉันก็ยังเป็นหนุ่มแน่น มาเถิด เรามาอภิรมย์กัน ด้วยดนตรีมีองค์ ๕

    ลำดับนั้น วิชยาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ ทันใดนั้น วิชยาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ความขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงได้กล่าวคาถา

    ครั้นวิชยาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวคาถากะมารผู้

    มีบาปด้วยคาถาว่า

    ดูกร มาร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอันน่ารื่นรมย์ใจ เราขอมอบให้ท่านผู้เดียว



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ